"แบล็กเบิร์น โรเวอร์ส" : ภารกิจทุ่มแหลกจนเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีก และตกต่ำไปอีก 25 ปี

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, แบล็กเบิร์น โรเวอร์ส, อาร์เซนอล, เชลซี, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, เลสเตอร์ ซิตี้ และลิเวอร์พูล คือสโมสรที่ประสบความสำเร็จอย่างหนึ่งเหมือนกัน กับการเคยเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีก ซึ่งหากมองจากชื่อเสียงของแต่ละทีม บวกกับผลงานในปัจจุบัน คงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเท่าไหร่นัก ยกเว้นแบล็กเบิร์น โรเวอร์ส
ชื่อของสโมสรแห่งนี้ไม่เป็นที่คุ้นเคยของคนรุ่นใหม่อีกค่อไป ทั้ง ๆ ที่ทีมนี้คือแชมป์พรีเมียร์ลีกทีมที่ 2 ในประวัติศาสตร์ แต่ปัจจุบันพวกเขาไม่ได้เล่นบนลีกสูงสุดนานเกือบ 10 ปี และเคยหล่นไปไกลถึงลีกระดับ 3 ของอังกฤษ
ย้อนไปเมื่อ 25 ปีก่อน แบล็กเบิร์นเคยเป็นทีมจอมทุ่มแหลก ไม่ต่างกับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในปัจจุบัน สโมสรแห่งนี้ทำลายสถิติการย้ายตัวครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อเป้าหมายเดียวคือการเป็นแชมป์ลีก โดยที่พวกเขาไม่รู้เลยว่า ความสำเร็จครั้งนั้นจะทำให้ทีมไม่สามารถกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกเลย
ภารกิจพากุหลาบไฟกลับมายิ่งใหญ่
แบล็กเบิร์น โรเวอร์ส คือสโมสรฟุตบอลเก่าแก่ จากเมืองแบล็กเบิร์น แคว้นแลงคาเชียร์ ประเทศอังกฤษ ในช่วงศตวรรษที่ 19 ทัพกุหลาบไฟคือทีมฟุตบอลที่เก่งกาจ จากการคว้าแชมป์เอฟเอคัพ ถึง 5 สมัย รวมเป็นถึงเป็นสมาชิกก่อตั้งระบบฟุตบอลลีกของแดนผู้ดี เมื่อปี 1888
แบล็กเบิร์นยังคงความแข็งแกร่งของทีม ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ด้วยการคว้าแชมป์ลีกสูงสุด 2 สมัย ในปี 1912 และ 1914 อย่างไรก็ตาม การเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ยุติยุคทองของทัพกุหลาบไฟ สโมสรแห่งนี้ค่อย ๆ พบกับความตกต่ำอย่างช้า ๆ แม้จะกลับมาคว้าแชมป์เอฟเอคัพได้ในปี 1928 แต่หลังจากนั้นพวกเขาก็หาความสำเร็จระดับแชมป์เมเจอร์ไม่เจออีกเลย
เวลาผ่านไปหลายสิบปี ชื่อของ แบล็กเบิร์น โรเวอร์ส ไม่เป็นที่จดจำในฐานะยอดทีมฟุตบอลอีกต่อไป สโมสรแห่งนี้ร่วงหล่นไปไกลถึงลีกระดับ 3 การจะกลับมายิ่งใหญ่คว้าแชมป์ลีกสูงสุด หรือฟุตบอลถ้วยเหมือนในอดีต เป็นเพียงแค่ความฝันอันเลือนลาง
แม้จะเป็นฝันที่ห่างไกลจากความเป็นจริง แต่การพาแบล็กเบิร์นกลับมายิ่งใหญ่ คือสิ่งที่แฟนบอลทุกคนต้องการให้เกิดขึ้น หนึ่งในนั้นคือ แจ็ค วอล์คเกอร์ นักธุรกิจเลือดเนื้อเชื้อไขจากเมืองแบล็กเบิร์น ที่ได้ดิบได้ดีจากการทำธุรกิจหลากหลายประเภท จนกลายเป็นเศรษฐีที่มีทรัพย์สินครอบครองหลายร้อยล้านปอนด์
แจ็ค วอล์คเกอร์ ได้เริ่มต้นการเข้ามาสนับสนุนทีมรักของเขาให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ด้วยการออกเงินสร้างอัฒจันทร์หนึ่งด้านของ อีวูด ปาร์ค สนามเหย้าของแบล็กเบิร์นใหม่ทั้งหมด เมื่อปี 1988 ... ก่อนที่จะเข้าซื้อกิจการของสโมสรในปี 1991 เพื่อเป็นเจ้าของทีมแต่เพียงผู้เดียว
ทันทีที่วอล์คเกอร์เป็นเจ้าของแบล็กเบิร์น เขาประกาศชัดเจนว่า แบล็กเบิร์น โรเวอร์ส จะต้องกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ถ้วยแชมป์จะเรียงรายเข้ามาประดับตู้โชว์ของสโมสร ผ่านการพร้อมทุ่มเงินล่านักเตะชื่อดังมาร่วมทีมแบบไม่อั้น
"สิ่งเดียวที่ผมสนใจ คือการพาแบล็กเบิร์นกลับไปอยู่ในจุดที่ทีมควรอยู่ แบล็กเบิร์นคือหนึ่งในสโมสรที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาลของอังกฤษ เราจะพาทีมนี้กลับไปเป็นแชมป์อีกครั้ง" วอล์คเกอร์กล่าว
วอล์คเกอร์แสดงให้เห็นอย่างรวดเร็วว่า เขาเป็นพวกพูดจริงทำจริง ด้วยการซื้อตัว อลัน เชียเรอร์ กองหน้าดาวรุ่งอนาคตไกลมาจาก เซาธ์แฮมป์ตัน ด้วยราคาสถิติของประเทศอังกฤษ ณ เวลานั้นที่ 3.5 ล้านปอนด์ ในช่วงก่อนเปิดฤดูกาล 1992-93 ซีซั่นแรกที่ลีกสูงสุดรีแบรนด์เป็น พรีเมียร์ลีก
รวมถึงคว้าตัว แกรม เลอ โซซ์ มาจาก เชลซี และ ทิม เชอร์วูด จาก นอริช ซิตี้ มาร่วมทีม ด้วยแนวทางซื้อแหลก แถมเน้นคว้านักเตะอายุน้อยอนาคตไกล ทำให้แบล็กเบิร์นกลายเป็นที่จับตาอย่างรวดเร็ว และพวกเขาไม่ทำให้ผิดหวัง สามารถคว้าอันดับ 4 ในพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 1992-93
ฤดูกาลถัดมา แบล็กเบิร์นยังคงกระหน่ำซื้อไม่พัก จ่าย 3.4 ล้านปอนด์ ซื้อ เดวิต แบตตี้ มาจาก ลีดส์ ยูไนเต็ด และ พอล วอร์เฮิร์สต์ จาก เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ ในราคา 3.3 ล้านปอนด์ จนช่วยให้ทีมคว้าตำแหน่งรองแชมป์ลีก ในฤดูกาล 1993-94
ความหวังที่จะได้เห็นแบล็กเบิร์น กลับไปเป็นแชมป์ลีกอีกครั้งอยู่เพียงแค่เอื้อม และ แจ็ค วอล์คเกอร์ ไม่ปล่อยให้โอกาสทองหลุดมือ เขาทุ่มอีก 5 ล้านปอนด์ ทำลายสถิติราคาซื้อขายในเกาะอังกฤษอีกครั้ง ด้วยการซื้อ คริส ซัตตัน กองหน้าอนาคตไกลมาจาก นอริช ในช่วงก่อนเปิดฤดูกาล 1994-95
การทุ่มเงินต่อเนื่องของวอล์คเกอร์ไม่สูญเปล่า เพราะเชียร์เรอร์ และซัตตัน คู่หู SAS ร่วมผนึกกำลังในฤดูกาลนั้น ยิงในพรีเมียร์ลีกรวมกัน 49 ประตู ส่งให้แบล็กเบิร์นคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกฤดูกาล 1994-95 มาครองได้สำเร็จ เท่านั้นยังไม่พอ ระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว แจ็ค วอล์คเกอร์ ได้ทุ่มทุนมากกว่า 20 ล้านปอนด์ ปรับปรุง อีวูด ปาร์ค ด้วยการสร้างอัฒจันทร์อีก 3 ด้านที่เหลือใหม่ และสร้างสนามซ้อมใหม่ให้กับสโมสร
ปี 1995 แบล็กเบิร์นคือหนึ่งในทีม ที่พร้อมจะเดินหน้าไปสู่ความรุ่งโรจน์มากที่สุด ในวงการฟุตบอลอังกฤษ ในสายตาของแฟนกุหลาบไฟ พวกเขาเห็นแต่ความสำเร็จที่กำลังจะมาถึง
จากฮีโร่สู่ผู้ร้าย
เบื้องหน้าของการทุ่มเงินตลอดหลายปีของแบล็กเบิร์น ออกดอกออกผลเป็นแชมป์ลีกสูงสุดครั้งแรกในรอบ 81 ปี แต่เบื้องหลังคือการฝากภาระการใช้เงินมหาศาลเอาไว้ให้สโมสร
แบล็กเบิร์นไม่ได้เสียเงินมาก ไปกับการซื้อนักเตะ และพัฒนาสนามเท่านั้น แต่ยังรวมถึงค่าเหนื่อยนักเตะราคาแพง บวกกับค่าจ้างแพงหูฉีกของ เคนนี ดัลกลิช กุนซือคนเก่งที่ปั้นทีมชุดนี้มาตั้งแต่ปี 1991
สิ่งหนึ่งที่ แจ็ค วอล์คเกอร์ มองข้ามมาตลอด คือการพัฒนานักเตะจากอคาเดมี ทำให้การจะหานักเตะหน้าใหม่เข้ามาเสริมทีม สิ่งเดียวที่ทำได้คือซื้อ ไม่มีการเลื่อนเด็กจากชุดเยาวชนขึ้นมา
แนวทางการทำทีมของแบล็กเบิร์น คือการใช้เงินซื้อความสำเร็จ ซึ่งพวกเขาไม่ได้มองว่ามันเป็นปัญหา จนกระทั่งมีทีมอื่นหันมาใช้วิธีเดียวกัน และมีเงินหนากว่าแบล็กเบิร์น
นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด, อาร์เซนอล, เชลซี หันมาเดินหน้าทุ่มซื้อนักเตะราคาแพงเข้ามาเสริมทีม ภายในช่วงพริบตาเดียว สโมสรเหล่านี้ก้าวขึ้นมาเป็นทีมระดับหัวตารางเหมือนกับที่แบล็กเบิร์นเคยทำได้
ในทางตรงกันข้าม แบล็กเบิร์นกลับไม่ได้ทุ่มแข่งกับทีมอื่น แต่สโมสรทำในสิ่งที่ค้านสายตาแฟนบอล คือการทยอยขายนักเตะตัวหลักออกจากทีม
แม้จะรักทีมมากแค่ไหน แจ็ค วอล์คเกอร์ คือนักธุรกิจ และเขามองว่าการที่ทีมในพรีเมียร์ลีกหันมาทุ่มซื้อนักเตะด้วยราคาสูงเป็นเท่าตัว จากสมัยที่ตัวเขาเข้ามาทำทีมใหม่ ๆ คือโอกาสดีที่จะถอนทุนคืน และสร้างกำไรจากธุรกิจฟุตบอล
เดวิด แบตตี้ ย้ายไปอยู่ นิวคาสเซิล ด้วยราคา 4.6 ล้านปอนด์, อลัน เชียเรอร์ ไป นิวคาสเซิล ทีมบ้านเกิดด้วยราคา 15 ล้านปอนด์ เป็นสถิติโลก ณ ปี 1996, แกรม เลอ โซซ์ กลับไปอยู่กับ เชลซี อีกครั้งด้วยค่าตัว 5 ล้านปอนด์ เป็นราคากองหลังที่แพงที่สุดของลีกอังกฤษ ณ ปี 1997 และอีกมากมายหลายดีลที่สร้างกำไรให้กับ แจ็ค วอล์คเกอร์ ไม่หยุด
หลังจากขายนักเตะออกจากทีมจำนวนมาก ความตกต่ำเข้ามาเยือนอย่างรวดเร็ว 2 ปีหลังจากได้แชมป์พรีเมียร์ลีก แบล็กเบิร์นหล่นไปจบอันดับ 13 ของตาราง และ 2 ปีหลังจากนั้น สโมสรแห่งนี้ตกชั้นจากลีกสูงสุดในฤดูกาล 1998-99
จากฮีโร่ผู้กอบกู้ทีมบ้านเกิด แจ็ค วอล์คเกอร์ กลายเป็นปีศาจร้ายผู้ทำลายสโมสรในพริบตา และเป็นที่เกลียดชังของแฟนบอลแบล็กเบิร์น ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในปี 2000
อย่างไรก็ดี การจากไปของ แจ็ค วอล์คเกอร์ ทำให้สโมสรแห่งนี้เลือกจะมองสิ่งดี ที่ผู้ชายคนนี้เคยฝากไว้ให้ พร้อมใจกันสู้จนได้สิทธิ์เลื่อนชั้นกลับสู่ลีกสูงสุดอีกครั้ง ในปี 2001 พร้อมกับคว้าแชมป์ลีกคัพเป็นครั้งแรกของสโมสรในฤดูกาลถัดมา
กุหลาบที่รอวันโชติช่วงอีกครั้ง
แบล็กเบิร์นสามารถประคองตัวให้อยู่รอดในลีกสูงสุดต่อไป ตลอดทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 อย่างไรก็ตาม พวกเขาต้องรับสภาพกับการเป็นทีมระดับกลางตาราง และสมาชิกครอบครัววอล์คเกอร์คนอื่นที่ดูแลสโมสรแห่งนี้ต่อ ไม่ได้มีความคิดที่จะทุ่มเงินมหาศาล พาทีมกลับมายืนอยู่แถวหน้าของลีก เหมือนที่แจ็คเคยทำ
ปี 2010 ครอบครัววอล์คเกอร์ตัดสินใจขายสโมสร ให้กับ V H Group หรือที่หลายคนคุ้นในชื่อ เวนกี กลุ่มทุนจากประเทศอินเดีย เนื่องจากพวกเขาไม่ต้องการแบกรับค่าใช้จ่าย กับการทำทีมฟุตบอลอีกต่อไป และเจ้าของใหม่จากทวีปเอเชีย ก็มาพร้อมกับแผนการมากมาย ที่จะพาทัพกุหลาบไฟกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
แต่ว่าทุกคำสัญญาที่ V H Group มีให้กับแบล็กเบิร์นคือคำลวง พวกเขาไม่มีความเข้าใจในการทำธุรกิจฟุตบอล และหลายการตัดสินใจ ทำให้แฟนบอลทีมกุหลาบไฟไม่พอใจอย่างมาก
เช่น การปลดแซม อัลลาไดซ์ กุนซือขวัญใจแฟนบอลของทีมทันที หลังจากเกิดการเทคโอเวอร์ เพราะบิ๊กแซม ไม่สามารถทำงานในแบบที่กลุ่มทุนใหม่ต้องการ, การขาย ฟิล โจนส์ กองหลังอนาคตไกลของทีมไปให้ทีมคู่ปรับในสายตาของแฟนแบล็กเบิร์น อย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในฤดูกาล 2011-12 และนักเตะที่ซื้อมาทดแทนคือ สก็อตต์ แดน กองหลังที่เพิ่งพา เบอร์มิงแฮม ซิตี้ ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก ไปในปีก่อนหน้า
เมื่อซื้อกองหลังมาจากทีมตกชั้น ผลที่ตามมาคือการตกชั้นของ แบล็กเบิร์น โรเวอร์ส จากพรีเมียร์ลีก และเมื่อร่วงจากลีกสูงสุด ทุกอย่างยิ่งแย่กว่าเดิม สโมสรขายนักเตะอนาคตไกลออกจากทีม ขณะที่ผู้เล่นที่ซื้อมาทดแทนผลงานก็ไม่ดีตามที่หวัง
เท่านั้นยังไม่พอการลงทุนที่ผิดพลาด ทำให้แบล็กเบิร์นขาดทุนถึง 93 ล้านปอนด์ ในช่วงปี 2011-2015 ยิ่งเป็นการบีบบังคับให้แบล็กเบิร์นต้องรีบปั้นนักเตะ และขายออกอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาเงินมาใช้หนี้สโมสร
นอกจากนี้ สื่อได้รายงานปัญหาสำคัญที่แบล็กเบิร์นต้องเผชิญ คือการแทรกแซงจากกลุ่มผู้บริหาร ที่ยังนำวิธีการทำงานธุรกิจจากบนลงล่างมาใช้ โดยไม่เข้าใจถึงวัฒนธรรมฟุตบอลตะวันตก การมีมือที่มองไม่เห็นเข้ามายุ่มย่ามการทำทีมของโค้ชตลอดเวลา และพร้อมจะปลดผู้จัดการทีมทุกคนที่ทำงานไม่ได้ดั่งใจ ย่อมส่งผลเสียต่อผลงานของทีมในสนามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ยิ่งเวลาผ่านไปผลงานยิ่งตกต่ำ กลุ่มทุนจากอินเดียเริ่มถอดใจ ไม่นำเงินมาลงทุนกับทีม ปล่อยให้ทัพกุหลาบไฟเผชิญหน้าโลกฟุตบอลตามมีตามเกิด สุดท้ายแบล็กเบิร์นต้องร่วงหล่น จากลีกรองของอังกฤษ ไปสู่ลีกลำดับ 3 หรือลีกวัน ในปี 2017
อย่างไรก็ตาม บทเรียนความล้มเหลวอย่างหนัก ช่วยให้กลุ่มเจ้าของทีมตาสว่าง พวกเขาหันมาทำทีมอย่างจริงจังอีกครั้ง ผ่านการพยายามแก้ไขปัญหานอกสนามด้วยการช่วยให้สโมสรมีรายได้ที่มั่นคง เพื่อเก็บนักเตะไว้กับทีมให้ได้ รวมถึงทำในสิ่งที่สำคัญที่สุด คือเลิกแทรกแซงการทำทีมโดยไม่จำเป็น
แบล็กเบิร์นสามารถกลับมาอยู่ในลีกพระรองได้อีกครั้ง ในฤดูกาล 2018-19 ซึ่งถือเป็นการแก้ตัวที่ยอดเยี่ยมของทีม และการมีผลงานที่จับต้องได้อีกครั้ง แม้จะเป็นในลีกระดับล่างก็ช่วยสร้างความหวังให้กับแฟนบอลของทีมได้เป็นอย่างดี ว่าวันหนึ่งพวกเขาจะกลับไปสู่ในจุดที่ทีมควรยืนอยู่อีกครั้ง เหมือนอย่างที่ เลสเตอร์ ซิตี้้ และ ลีดส์ ยูไนเต็ด ทำได้มาก่อนหน้านี้
ความสำเร็จของแบล็กเบิร์นยังคงเป็นที่จดจำของแฟนบอลกุหลาบไฟเสมอ แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน สโมสรแห่งนี้คือทีมที่เคยเป็นราชาฟุตบอลอังกฤษยุคใหม่ ได้ครอบครองถ้วยที่หลายทีมไม่มีโอกาสจะได้สัมผัส
อย่างไรก็ตาม แชมป์พรีเมียร์ลีกของแบล็กเบิร์น ไม่ต่างอะไรกับการทำสัญญากับปีศาจ เพราะสุดท้ายพวกเขาได้ปลุกผีทุนนิยมเข้าสู่วงการฟุตบอล และเปลี่ยนการซื้อขายนักฟุตบอลไปตลอดกาล ทว่าสโมสรแห่งนี้ไม่สามารถที่จะปรับตัวตามโลกฟุตบอลที่เปลี่ยนไปได้ ผลลัพธ์สุดท้ายชื่อของแบล็กเบิร์นจึงต้องหายไปจากการเป็นสโมสรชั้นนำของประเทศอังกฤษ ยาวนานร่วม 25 ปี
กระนั้นความหวังยังคงมีเสมอ แบล็กเบิร์นเคยรอยาวนาน 81 ปี เพื่อกลับมาเป็นแชมป์ลีกสูงสุดอีกครั้งแบบที่ไม่มีใครคาดคิด ดังนั้นอย่าแปลกใจ หากคุณได้เห็นกุหลาบดอกนี้ กลับมาเป็นกุหลาบไฟที่ลุกโชติช่วงในฐานะแชมป์พรีเมียร์ลีกในอนาคต
อัลบั้มภาพ 10 ภาพ