ทำไม "รัสเซีย" ถึงเก่งกาจเรื่องหมากรุกอย่างที่ประเทศอื่นไม่สามารถเทียบได้?

ทำไม "รัสเซีย" ถึงเก่งกาจเรื่องหมากรุกอย่างที่ประเทศอื่นไม่สามารถเทียบได้?

ทำไม "รัสเซีย" ถึงเก่งกาจเรื่องหมากรุกอย่างที่ประเทศอื่นไม่สามารถเทียบได้?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ที่ฉันกลัวน่ะคือพวกรัสเซีย"

เอลิซาเบธ ฮาร์มอน ตัวละครจากลิมิเต็ดซีรี่ส์ที่มียอดผู้ชมมากที่สุดแห่งค่าย Netflix เรื่อง The Queen's Gambit ที่รับบทโดยนักแสดงสาว อันยา เทย์เลอร์-จอย ถึงกับพูดประโยคนี้ออกมาด้วยความครั่นคร้าม ทั้งๆที่บุคลิกของเธอที่ผู้ชมเห็นมาโดยตลอดคือเด็กสาวอัจฉริยะด้านหมากรุก มั่นใจในฝีมือของตัวเองระดับหนึ่ง ไม่เกรงกลัวใคร เรียกได้ว่าถ้าเป็นเรื่องศาสตร์การต่อสู้บนกระดาน เธอคือสาวมั่นคนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเธอคิดถึงการที่จะต้องเผชิญหน้ากับนักหมากรุกระดับท็อปชาวรัสเซีย ความมั่นใจที่เคยมีก็พลันหายไปหมดสิ้น เพราะไม่ว่าจะเป็นนักหมากรุกอัจฉริยะจากมุมไหนของโลก เอาชนะคู่ต่อสู้มาแล้วกี่คน แต่ถ้านำไปเทียบกับนักหมากรุกชาวรัสเซียก็ยังดูห่างชั้นกันอยู่ดี 

ทำไมรัสเซียถึงเป็นเจ้าแห่งหมากรุกโลกอย่างที่ไม่มีประเทศไหนสามารถทัดเทียมได้? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกันได้ที่ Main Stand

ผู้ครองทำเนียบ

ถึงแม้ว่านักหมากรุกอันดับ 1 แห่งยุคนี้ ผู้ครองตำแหน่งแชมป์โลกมาตั้งแต่ปี 2013 อย่าง แม็กนัส คาร์ลเซ่น จะเป็นชาวนอร์เวย์ และนักหมากรุกชาวรัสเซียที่มี FIDE Rating (คะแนนที่ใช้ในการจัดอันดับมือวางของโลก) สูงที่สุดอย่าง เอียน เนปอมนิอัชต์ชี จะอยู่เพียงอันดับที่ 4 ของโลก แต่ถ้ากวาดสายตามองใน 100 อันดับผู้มี FIDE Rating สูงที่สุดในปัจจุบัน ผู้เล่นรัสเซียก็ยังครองพื้นที่ในตารางมากที่สุดอยู่ดีด้วยจำนวน 23 คน ทิ้งห่างสหรัฐอเมริกาที่จำนวน 11 คนมากกว่าเท่าตัว

1

นอกจากนั้น ทุกครั้งที่มีการจัดอันดับ "นักหมากรุกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล" ก็จะมีเพียง แม็กนัส คาร์ลเซ่น แชมป์โลกคนปัจจุบันชาวนอร์เวย์, บ็อบบี้ ฟิชเชอร์ อดีตแชมป์โลกชาวอเมริกัน และ วิศวนาถัน อนันท์ ตำนานนักหมากรุกชาวอินเดียเท่านั้นที่สามารถเบียดเข้ามาอยู่ในลิสต์ ส่วนอันดับที่เหลือล้วนแต่เป็นนักหมากรุกรัสเซียหรือสหภาพโซเวียตทั้งสิ้น

ถึงแม้ว่าแชมป์โลกหมากรุกชาวรัสเซียคนแรกอย่าง มิคาอิล บอทวินนิค จะคว้าตำแหน่งมาได้ในปี 1948 โดยก่อนหน้านั้นการชิงตำแหน่งแชมป์โลกมีมาตั้งแต่ปี 1834 (อย่างไม่เป็นทางการ การแข่งขันชิงแชมป์โลกอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นในปี 1886) และผู้เล่นจากประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะ ฝรั่งเศส และ ปรัสเซีย (เยอรมันในปัจจุบัน) จะคว้ามงกุฏราชาไปครองได้เป็นล่ำเป็นสันก็ตาม 

แต่หลังจากที่คว้าแชมป์ครั้งแรกได้สำเร็จ ผู้เล่นจากรัสเซียก็ครองบัลลังก์ดังกล่าวได้อย่างยาวนาน เรียกได้ว่านับตั้งแต่ปี 1948 จนถึงปี 1999 รวมระยะเวลากว่า 51 ปี ตำแหน่งแชมป์โลกแทบไม่มีการเปลี่ยนสัญชาติเลย มีเพียงครั้งเดียวในปี 1972 เท่านั้นที่ บ็อบบี้ ฟิชเชอร์ นักหมากรุกชาวอเมริกันสามารถชิงบัลลังก์มาได้

2

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัสเซียหรือสหภาพโซเวียตได้สร้างนักหมากรุกระดับตำนานขึ้นมามากมาย เช่น มิคาอิล บอทวินนิค, ติกราน เพโตรเชียน, บอริส สปัสกี้, แกรรี่ กาสปารอฟ และจวบจนปัจจุบันรายชื่อเหล่านี้ก็ยังคงถูกหยิบนำมาพูดถึงซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งในแง่สดุดีความยิ่งใหญ่ หรือเพื่อศึกษากลยุทธ์การเล่นจากพวกเขา 

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่ารัสเซียคือราชาแห่งโลกหมากรุกตัวจริง.. คำถามคืออะไรทำให้พวกเขาก้าวไปถึงจุดสูงสุดนี้ได้?

กีฬาโปรดของเลนินและสตาลิน

ถ้าเทียบกับสหรัฐอเมริกา คู่แข่งตลอดกาลในทุกด้านแล้วล่ะก็ ต้องบอกว่ากีฬาหมากรุกเข้าสู่แผ่นดินรัสเซียเร็วกว่ามาก เพราะในขณะที่ชาวอเมริกันรู้จักหมากรุกครั้งแรกในช่วงศตวรรษที่ 18 แต่รัสเซียเริ่มเล่นกีฬาชนิดนี้กันตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 โดยได้รับอิทธิพลมาจากเส้นทางการค้ากับเปอร์เซียและอินเดีย

หลังจากนั้น กีฬาหมากรุกก็ค่อยๆผนวกเข้ากับวัฒนธรรมรัสเซียอย่างแนบสนิทขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูง มีบันทึกว่าในปี 1584 พระเจ้าซาร์ อีวาน ที่ 4 ถึงขั้นเสียชีวิตคากระดานหมากรุกเลยทีเดียว

3

"หมากรุกมีความหมายสำคัญอย่างยิ่งในแง่มุมทางวัฒนธรรมของชาวรัสเซีย" เจมส์ โรเจอร์ นักข่าวจาก BBC ที่ประจำอยู่ในรัสเซียให้ความเห็น 

เมื่อก้าวเข้าสู่โลกสมัยใหม่ หมากรุกในประเทศรัสเซียก็ยิ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นไปอีก โดยหลังจากที่กลุ่มบอลเชวิค ที่นำโดย วลาดีเมียร์ เลนิน เข้ายึดครองประเทศในปี 1917 หมากรุกก็กลายเป็น "งานอดิเรกของชาติ" ไปโดยทันที

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เป็นเช่นนั้นก็เพราะตัวของ เลนิน เอง รวมไปถึง โจเซฟ สตาลิน ผู้สืบทอดอำนาจต่อจาก เลนิน มีความหลงใหลในกีฬาชนิดนี้เป็นอย่างมาก โดยพวกเขาเชื่อว่าผู้นำที่ดีจำเป็นต้องเป็นเลิศด้านเกมหมากรุก เพราะหมากรุกก็ไม่ต่างอะไรจากการบริหารปกครองผู้คน หรือทำสงคราม เพียงแต่ย่อส่วนลงมาเป็นเกมบนกระดานเท่านั้น

4

"ในขณะที่คนรอบตัวของเขาชอบเล่นบิลเลียด แต่ เลนิน กลับสนใจแต่เกมหมากรุก เพราะเขาบอกว่ามันคือเกมสำหรับผู้นำ" วลาดิเมียร์ มายาคอฟสกี หนึ่งในผู้ติดตาม เลนิน กล่าว

อีกหนึ่งข้อพิสูจน์ถึงความจริงจังในเกมหมากรุกของ 2 ผู้นำอย่าง เลนิน และ สตาลิน คือการที่ครั้งหนึ่งที่ เลนิน พ่ายแพ้ต่อ เลออน ทรอสกี้ นักการเมืองสหภาพโซเวียต เขาถึงกับโมโหกระฟัดเฟียด เพราะรู้สึกว่าตัวเองเสียหน้ามากๆ ส่วน สตาลิน นั้นก็ถึงขั้นให้ผู้ติดตามทำบันทึกการแข่งขันปลอมออกมาเผยแพร่สู่สาธารณชนในเกมที่เขาเป็นฝ่ายแพ้

นอกจาก เลนิน กับ สตาลิน แล้ว แม้แต่ผู้นำคนปัจจุบันของรัสเซียอย่าง วลาดีเมียร์ ปูติน ก็คลั่งไคล้เกมหมากรุกไม่แพ้กัน 

"หมากรุกคือเกมที่ทำให้มนุษย์ฉลาดและมองเห็นสิ่งต่างๆได้ชัดเจนขึ้น" คือคำกล่าวของ ปูติน 

5

เมื่อผู้นำชื่นชอบ ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่พวกเขาอยากจะเผยแพร่สิ่งนี้ให้กับประชาชนของพวกเขาด้วย โดยในปี 1920 รัฐบาลสหภาพโซเวียตได้มีการเปิดโรงเรียนหมากรุกระดับชาติขึ้นมาอย่างเป็นทางการ ก่อนที่ในปีต่อมาจะมีการจัดแข่งขันชิงแชมป์ประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก

ในขณะที่ประเทศอื่นๆ หมากรุกยังเป็นเพียงงานอดิเรก แต่ภายใต้การปกครองของ เลนิน และ สตาลิน ทางรัฐบาลสหภาพโซเวียตให้การสนับสนุนกีฬาหมากรุกอย่างจริงจังในทุกแง่มุม เช่น การที่นักกีฬาหมากรุกจะได้รับเงินสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถเล่นหมากรุกได้ตลอดเวลา ไม่ต้องประกอบอาชีพอื่นควบคู่ไปด้วย และมีการบรรจุวิชาหมากรุกลงในหลักสูตรการศึกษาของนักเรียนทั่วประเทศ 

ด้วยเหตุนี้ในปี 1934 ทั่วทั้งสหภาพโซเวียตจึงมีผู้ขึ้นทะเบียนเป็นนักหมากรุกมากกว่า 500,000 คน

"เกมหมากรุกเป็นที่นิยมมากในรัสเซีย ช่วงที่ผมอยู่ในมอสโก ผมแทบจะไม่รู้จักใครที่เล่นหมากรุกไม่เป็น และไม่ว่าจะเดินไปมุมไหนของเมืองก็จะเห็นคนนั่งเล่นหมากรุกกันอยู่ทุกที่" เลียม ค็อกซ์ นักเขียนชาวอังกฤษที่เคยไปใช้ชีวิตอยู่ในรัสเซียช่วงหนึ่งกล่าว

อีกหนึ่งเหตุผลที่หมากรุกได้รับความนิยมในรัสเซียคือเรื่องของสภาพอากาศ อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าอากาศหนาวจัดคือสิ่งที่ชาวรัสเซียต้องเผชิญกันเป็นปกติ ในแต่ละปีจะมีเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้นที่อากาศอบอุ่นพอจะมาทำกิจกรรมข้างนอกบ้านได้ ดังนั้น กระดานหมากรุกจึงเป็น "ความบันเทิงราคาถูก" ที่ไม่ว่าใครๆก็สามารถหาซื้อไปนั่งเล่นฆ่าเวลาในบ้านได้โดยไม่ต้องออกมาเผชิญอากาศหนาวด้านนอก

จากที่กล่าวมาคงพอตอบคำถามได้ว่า ทำไมหมากรุกจึงได้รับความนิยมในประเทศรัสเซีย แต่คำถามที่ว่า ทำไมพวกเขาต้องจริงจังขนาดนั้น? คงต้องหาคำตอบในย่อหน้าต่อไป

ตัวแทนแห่งสงครามเย็น

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า "ยุคทอง" แห่งหมากรุกรัสเซีย ที่พวกเขา (เกือบ) คว้าแชมป์โลกได้ต่อเนื่องยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษนั้นคือปี 1948-1999 ซึ่งเป็นยุคสมัยแห่งสงครามเย็น

รัสเซียในนามสหภาพโซเวียตมองหมากรุกมากกว่าการเป็นเกม เพราะสำหรับพวกเขาหมากรุกคือเกมแห่งปัญญาที่ใช้แสดงอำนาจความยิ่งใหญ่ของประเทศ และที่สำคัญพวกเขาคือผู้เชี่ยวชาญเกมชนิดนี้ที่สุด ดังนั้น เหล่านักหมากรุกรัสเซียจึงจำเป็นต้องจริงจังในเกมที่เล่นเป็นอย่างมาก เพราะถ้าเกิดแพ้ ไม่ใช่คือตัวเขาคนเดียว แต่หมายถึงเกียรติศยศแห่งรัสเซียจะต้องเสื่อมเสียไปด้วย

หนึ่งในตัวอย่างชัดเจนที่สุดที่สะท้อนความจริงว่ารัสเซียใช้หมากรุกเป็นแสดงอำนาจของพวกเขาเกิดขึ้นในเหตุการณ์ที่มีชื่อเรียกว่า "Match of the Century" 

6

Match of the Century คือการแข่งขันชิงแชมป์โลกในปี 1972 ระหว่าง บ็อบบี้ ฟิชเชอร์ อัจฉริยะหมากรุกชาวสหรัฐอเมริกา กับ บอริส สปัสกี้ ปรมาจารย์แห่งสหภาพโซเวียต ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวคืช่วงที่การห้ำหั่นกันเพื่อแสดงอำนาจระหว่างสหภาพโซเวียตกับสหรัฐอเมริกาในสงครามเย็นกำลังปะทุถึงจุดเดือด

การแข่งขันหมากรุกครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม ปี 1972 ณ เมืองเรคยาวิก ประเทศไอซ์แลนด์ โดยเหตุผลที่เลือกประเทศเล็กๆประเทศนี้เป็นสถานที่แห่งการดวล ก็เพราะไอซ์แลนด์เป็นประเทศหมู่เกาะที่อยู่ห่างไกล ไม่มีบทบาทในทางการเมืองโลก ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายไหน มันจึงเปรียบเสมือน "สนามกลาง" ที่ขั้วอำนาจฝั่งเสรีนิยมประชาธิปไตยจะโคจรมาพบกับฝั่งสังคมนิยมคอมมิวนิสต์  

หลังจากผ่านไป 21 กระดาน ก็เป็นฝ่าย สปัสกี จากสหภาพโซเวียตที่ยกธงขาวขอยอมแพ้ต่อ บ็อบบี้ ฟิชเชอร์ ก่อนที่เขาจะออกมากล่าวในภายหลังว่า

"การแข่งขันครั้งนี้เกี่ยวข้องกับทุกอย่าง ยกเว้นเรื่องของหมากรุก" ถึงจะไม่ได้สื่อออกมาอย่างชัดเจน แต่จากประโยคนี้ก็พอทำให้ตีความได้ว่า Match of the Century คือเรื่องของการเมืองล้วนๆ 

อีกหนึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นในปี 1995 เมื่อ คิรซัน อิยูชินอฟ อดีตนักการเมืองและนักหมากรุกชาวรัสเซียได้ก้าวขึ้นเป็นประธาน FIDE องค์กรหมากรุกนานาชาติ ไม่ต่างจาก FIFA ในโลกฟุตบอล ก่อนที่เขาจะครองตำแหน่งนี้ยาวนานกว่า 23 ปี 

"รัสเซียต้องการตำแหน่งนี้ จงชูธงแห่งรัสเซียขึ้นเหนือโลกแห่งหมากรุก" บอริส เยลต์ซิน ประธานาธิบดีรัสเซียในเวลานั้นกล่าวหลังจาก อิยูชินอฟ ได้รับตำแหน่ง

7

การครองตำแหน่งยาวนาน ชนะการเลือกตั้งซ้ำแล้วซ้ำเล่าของ อิยูชินอฟ ก็คงไม่มีอะไรผิดปกติถ้าในภายหลังไม่มีหลักฐานเผยออกมาว่าตำแหน่งนี้ได้มาจากการยัดเงินติดสินบน รวมถึงข่มขู่ประเทศสมาชิกอื่นๆจำนวนมาก มีบันทึกเส้นทางการเงินที่ไม่โปร่งใสจากรัสเซียเดินทางเข้ากระเป๋าผู้มีสิทธิ์ออกเสียงของประเทศอื่นๆ 

"ตลอดเวลาที่ผ่านมาหลายสิบปี รัสเซียมีอิทธิพลอย่างสูงในการเลือกตั้งประธาน FIDE" ซูรับ อัสมาพิราชิว ประธานสมาคมหมากรุกประเทศจอร์เจียให้ความเห็น

กระทั่งประธาน FIDE คนปัจุบันอย่าง อาคาดี้ โวโควิช ก็ยังคงเป็นชาวรัสเซีย และก็ยังคงมีข่าวลือหนาหูว่า วลาดีเมียร์ ปูติน ลงทุนไปไม่น้อยเพื่อให้เขาได้ตำแหน่งนี้มาครอบครอง ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานชัดเจนเหมือนครั้งก่อนก็ตาม แต่เท่านี้ก็น่าจะพอพิสูจน์ได้ว่าสำหรับรัสเซีย หมากรุกไม่ใช่แค่เกมกระดาน แต่มันคืออาวุธหลักในเกมการเมือง

กลยุทธ์แบบรัสเซีย

ในหัวข้อก่อนหน้า เราพูดถึงเหตุผลแห่งความเก่งกาจเรื่องหมากรุกของชาวรัสเซียในแง่มหภาคหรือภาพรวมขนาดใหญ่ไปแล้ว แต่ถ้าสำรวจลึกลงไปก็จะพบว่า "อุปนิสัย" ของนักหมากรุกรัสเซียนั้นมีส่งผลทำให้พวกเขายอดเยี่ยมในเกมนี้เช่นกัน

"พวกรัสเซียน่ะไม่เหมือนเรา อเมริกันมีความหยิ่งทะนงในศักดิ์ศรี พวกเราเล่นหมากรุกด้วยตัวคนเดียวไม่ปรึกษาใคร ส่วนพวกรัสเซียทุกครั้งที่ต้องเลื่อนการแข่งขัน (หมายถึงเกมไม่จบในวันเดียว และต้องมาเล่นต่อในวันรุ่งขึ้น) จะมีนักหมากรุกฝีมือดีนับสิบมานั่งช่วยกันคิดกลยุทธ์ แก้เกม เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ" เบน วัตสัน ตัวละครนักหมากรุกฝีมือดีชาวอเมริกัน จากซีรี่ส์ The Queen's Gambit กล่าวกับ เบธ ฮาร์มอน ตัวละครนางเอกของเรื่อง

8

ถึงจะเป็นคำกล่าวจากซีรี่ส์ที่ไม่ได้อ้างอิงจากเหตุการณ์จริง แต่เมื่อลองหาข้อมูลเพิ่มเติมก็พบว่าสิ่งที่ วัตสัน พูดนั้นถูกต้องทุกประการ ตัวอย่างเช่นใน Match of the Century ระหว่าง บ็อบบี้ ฟิชเชอร์ กับ บอริส สปัสกี้ ที่กินเวลาต่อเนื่องหลายวันนั้น ทุกครั้งที่มีการพัก สปัสกี้ จะมีทีมงานมากกว่า 10 ชีวิตมารวมหัวช่วยกันคิด ในขณะที่ บ็อบบี้ กลับเลือกที่จะเก็บตัวเงียบๆคนเดียว ไม่สุงสิงกับใคร

ความอยากเอาชนะของชาวรัสเซียยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ เมื่อมีการเผยออกมาจากสื่อหลายสำนักว่ามีนักหมากรุกชาวรัสเซียจำนวนไม่น้อยที่ลงทุนจ้างนักจิตวิทยาส่วนตัว และทุกครั้งที่มีการแข่งขันก็จะให้นักจิตวิทยามานั่งชิดขอบสนาม สังเกตพฤติกรรมคู่ต่อสู้ ก่อนจะส่งซิกว่าให้ทำอย่างไรถึงจะรบกวนคู่แข่งได้มากที่สุดโดยไม่ผิดกติกา 

9

จากเรื่องราวทั้งหมดที่เล่ามาในบทความนี้ คงพอที่จะทำให้นักอ่านทุกคนกระจ่างชัดในเหตุผลว่าทำไมรัสเซียถึงเป็นประเทศเจ้าแห่งกีฬาหมากรุก และถึงแม้ในปัจจุบันพวกเขาอาจจะตกต่ำลงไปบ้าง แต่เชื่อเหลือเกินว่าถ้าพวกเขายังมีทะเยอทะยานที่อยากจะเอาชนะเหมือนที่ผ่านมา การจะกลับมาผงาดครองตำแหน่งแชมป์โลกเหมือนในอดีตคงไม่ใช่อะไรที่ไกลเกินเอื้อม

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ ทำไม "รัสเซีย" ถึงเก่งกาจเรื่องหมากรุกอย่างที่ประเทศอื่นไม่สามารถเทียบได้?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook