ซาร์ลันท์ : ทีมชาติเยอรมันที่ 3 ที่ถูกลืมเลือนไปจากประวัติศาสตร์

ซาร์ลันท์ : ทีมชาติเยอรมันที่ 3 ที่ถูกลืมเลือนไปจากประวัติศาสตร์

ซาร์ลันท์ : ทีมชาติเยอรมันที่ 3 ที่ถูกลืมเลือนไปจากประวัติศาสตร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พวกเขาคือชาติหลังสงครามที่ได้รับการรับรองโดยฟีฟ่า มีลีกภายในของตัวเอง และมีสโมสรที่เคยไล่ถล่มยอดทีมแห่งยุโรปอย่าง ลิเวอร์พูล และ เรอัล มาดริด จนพังพาบ 

และที่สำคัญ พวกเขายังเป็นทีมที่ 3 จากประเทศเยอรมัน ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากเยอรมันตะวันตก และเยอรมันตะวันออก ที่ได้ลงเตะในเวทีระดับนานาชาติ และมีลุ้นผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย

อย่างไรก็ดี วันนี้ "ทีมชาติซาร์ลันท์" กลับเหลือเพียงแค่อดีต เกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา ? ย้อนดูจุดกำเนิดและการล่มสลายของทีมนี้ได้ที่นี่

รัฐอิสระหลังสงคราม 

สงครามโลกครั้งที่ 2 คือหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของโลกที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการแตกตัวออกเป็นประเทศน้อยใหญ่มากมาย หลังหลายชาติประกาศแยกตัวเป็นเอกราช หรือแบ่งแยกประเทศ 

เช่นกันสำหรับเยอรมัน หลังตกอยู่ในภาวะผู้แพ้สงคราม พวกเขาโดนฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งประกอบไปด้วย สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส และ สหภาพโซเวียต แบ่งประเทศออกเป็นสองส่วน คือ "เยอรมันตะวันตก" และ "เยอรมันตะวันออก" 

อย่างไรก็ดี อันที่จริงหลังสงครามโลก เยอรมัน ไม่ได้แตกตัวออกเป็นแค่ 2 ชาตินี้เท่านั้น เพราะยังมีอีกชาติหนึ่งที่เคยเป็นดินแดนพิพาทมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 ชื่อของพวกเขาคือ "ซาร์ลันท์" 

ซาร์ลันท์ คือดินแดนเล็ก ๆ ขนาดเพียง 2,568 ตารางกิโลเมตร ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมัน ใกล้กับพรมแดนของฝรั่งเศสและลักเซมเบิร์ก โดยแต่เดิม พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมัน แต่ถูกฝรั่งเศสยึดครองหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ก่อนจะกลับมาสู่อ้อมอกของเยอรมัน อีกครั้งในปี 1935 ในสมัยที่พรรคนาซีเรืองอำนาจ 

ทว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกเขาก็โดนฝรั่งเศสยึดครองไปอีกครั้ง ในฐานะรัฐอารักขา ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ดินแดนที่มีขนาดเท่ากับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับความสนใจ เพราะพื้นที่แห่งนี้อุดมไปด้วยถ่านหิน ซึ่งถือเป็นแร่สำคัญที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม 


Photo : sites.google.com/site/historyatidim

อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นรัฐอารักขา แต่ในเชิงปฏิบัติ พวกเขามีสถานะกึ่งเอกราช และสิทธิในการปกครอง ภายใต้การดูแลของฝรั่งเศสที่แต่งตั้ง มาเป็นข้าหลวงใหญ่ ทำให้ซาร์ลันท์ มีทั้งประธานาธิบดี รัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่สกุลเงินเป็นของตัวเอง 

และสถานะกึ่งเอกราชของพวกเขา ยังส่งผลไปยังฟุตบอลอีกด้วย

สโมสรแห่งความภาคภูมิใจ 

แม้ว่าฟีฟ่าจะพยายามเน้นย้ำว่า ฟุตบอลและการเมือง ต้องแยกออกจากกัน แต่ในความเป็นจริงมันเป็นเพียงแค่อุดมคติเท่านั้น เพราะการเมืองไม่เคยหายไปจากฟุตบอล มันเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่อดีต และ ซาร์ลันท์ ก็คือหนึ่งในตัวอย่างชั้นดี 

เพราะหลังจากที่พวกเขาแยกตัวออกจากประเทศเยอรมัน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สโมสรที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ ก็ต้องตัดความสัมพันธ์กับลีกเมืองเบียร์ และมาตั้งลีกของตัวเองที่ชื่อว่า Saarland Ehrenliga Champions  


Photo : www.spox.com

ในตอนนั้น ซาร์ลันท์ มี เอฟเซ ซาร์บรูคเคน เป็นสโมสรที่เป็นที่เชิดหน้าชูตาของดินแดนแห่งนี้ แถมยังเป็นช่วงที่พวกเขากำลังเฉิดฉายอย่างเต็มที่ เมื่อทีมอุดมไปด้วยนักเตะฝีเท้าดีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เฮอร์เบิร์ต บิงเกอร์ต, เฮอร์เบิร์ต มาร์ติน หรือ เกฮาร์ด ซิเดิล โดย บิงเกอร์ต และ ซีเดิล ถือเป็นคู่หูสุดอันตรายของในยุโรปในยุคนั้น 

การที่ทีมเต็มไปด้วยนักเตะชั้นยอด ทำให้พวกเขาแข็งแกร่งเกินไปที่จะเล่นในลีกของซาร์ลันท์ และประจวบเหมาะกับที่ กิลแบร์ กรันด์วัล ข้าหลวงใหญ่จากฝรั่งเศสที่ดูแลซาร์ลันท์ อยากจะใช้กีฬา เป็นเครื่องมือในการสั่งสอนเยอรมันพอดี จึงได้เชิญ ซาร์บรูคเคน ไปเล่นในดิวิชั่น 2 ของฝรั่งเศส (แทนที่ AS Angoulême ที่ถูกบังคับให้ถอนทีม) ในฤดูกาล 1948-1949 และเปลี่ยนชื่อเป็น เอฟซี ซาร์บรูค

อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นลีกต่างชาติ แต่ 11 ตัวจริง เอฟซี ซาร์บรูค ก็พิสูจน์ให้เห็นว่า มันไม่ใช่งานยากสำหรับพวกเขา ผู้มาเยือนจากต่างแดน สามารถเอาชนะคู่แข่งได้เกือบทุกเกมที่ลงสนาม และที่สำคัญพวกเขาอัดอย่างไม่ไว้หน้า ไม่ว่าจะเป็นเอาชนะ รูอ็อง 10-1 หรือไล่ถล่ม วาลองเซียนส์ 9-0 ก่อนจะคว้าแชมป์ดิวิชั่น 2 ฝรั่งเศส ไปอย่างง่ายดาย 

ความยอดเยี่ยมของพวกเขา ทำให้ จูลส์ ริเมต์ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศส และฟีฟ่าในตอนนั้น พยายามผลักดันให้ ซาร์บรูคเคน ย้ายมาเล่นในลีกฝรั่งเศสอย่างถาวร โดยให้เข้ามาเป็นหนึ่งในสมาชิกของสหพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศส 

ทว่าสโมสรในฝรั่งเศสส่วนใหญ่กลับไม่เห็นด้วย และโหวตต่อต้านโครงการนี้ ทำให้ จูลส์ ริเมต์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งทันที พร้อมส่งผลให้ ซาร์บรูคเคน ต้องกลับไปเล่นไปเล่นในลีกของพวกเขา 

"คนของซาร์ไม่มีทางเป็นคนฝรั่งเศสได้" นี่คือเหตุผลหลักที่สโมสรฝรั่งเศสพากันต่อต้าน 

อย่างไรก็ดี ซาร์บรูคเคน มองว่า พวกเขามาไกลเกินกว่าจะกลับไปเล่นในลีกเดิม ทำให้ในปี 1949 สโมสรได้จัดการแข่งขัน "ซาร์ลันท์คัพ" ขึ้นมา โดยเป็นการเชิญสโมสรจากทั่วยุโรป 14 ทีม และอีกหนึ่งทีมจากอเมริกาใต้ มาลงเตะแบบรอบแรกพบกันหมด ก่อนจะคัดเอา 4 อันดับแรกไปเตะน็อคเอาท์ ซึ่งรายการนี้ยังถูกมองว่าเป็นบรรพบุรุษของยูโรเปียนคัพ หรือยูฟ่า แชมเปียนส์ลีกในปัจจุบันอีกด้วย

และแน่นอนว่าแชมป์จะเป็นใครไม่ได้ นอกจาก ซาร์บรูคเคน หลังคว้าชัยเหนือทีมดังอย่าง สตองดาร์ ลีแอช (เบลเยียม), ออสเตรีย เวียน (ออสเตรีย), ไฮจ์ดุค สปลิต (ยูโกสลาเวีย) ก่อนจะเอาชนะ แรนส์ จากฝรั่งเศสได้ในนัดชิงชนะเลิศ 

หลังทัวร์นาเมนต์ดังกล่าว ซาร์บรูคเคน ยังเดินหน้าลงแข่งนัดกระชับมิตรกับทีมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และทำให้สโมสรจากซาร์ลันท์ กลายเป็นทีมที่น่าจับตามองของยุโรป เมื่อสามารถเอาชนะทีมดังมากมาย 
ไม่ว่าจะเป็นการบุกไปเอาชนะลิเวอร์พูลถึงถิ่น, คว้าชัยเหนือทีมรวมดาราคาตาลัน (ทีมรวมระหว่างบาร์เซโลนาและ เอสปันญอล) รวมไปถึงไล่อัด เรอัล มาดริด ถึง ซานติอาโก เบอร์นาเบว ถึง 4-0 

Photo : www.fc-saarbruecken.de

"เราเอาชนะ (เรอัล มาดริด) ไปได้ 4-0 บางทีพวกเขาอาจจะประเมินเราต่ำเกินไป มันเป็นความรู้สึกที่ดีเลยทีเดียว" แวร์เนอร์ ออตโต อดีตกองกลางของ ซาร์บรูคเคน ย้อนความหลังกับ UEFA.com

ในฤดูกาล 1955-56 ยูฟ่าได้จัดการแข่งขัน ยูโรเปียนคัพ เป็นฤดูกาลแรก พวกเขาได้เชิญทีมแกร่งจากแต่ละชาติ และ ซาร์บรูคเคน ก็เป็นหนึ่งในนั้น พวกเขาเป็นตัวแทนจาก ซาร์ลันท์ และทำเซอร์ไพรส์ ในเกมแรกของรอบแรก ด้วยการบุกไปเอาชนะ เอซี มิลาน ถึง ซาน ซิโร  4-3  

น่าเสียดายที่นัดต่อมา พวกเขาเปิดบ้านพ่ายให้กับมิลานไปอย่างน่าเสียดาย หยุดเส้นทางเอาไว้แค่นี้เท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็พิสูจน์ให้เห็นว่าสโมสรจากซาร์ลันท์ นั้นยอดเยี่ยมแค่ไหน 

อย่างไรก็ดี พวกเขาไม่ได้เฉิดฉายแค่ในระดับสโมสรเท่านั้น 

 

ทีมชาติซาร์ลันท์ 

ในขณะที่ผลงานของ ซาร์บรูคเคน ในฐานะตัวแทนของซาร์ลันท์ กำลังรุ่งโรจน์ การถือกำเนิดขึ้นของ ทีมชาติพวกเขาก็เริ่มไปพร้อมกัน พวกเขาก่อตั้งสมาคมฟุตบอลแห่งซาร์ลันท์ในปี 1948 และสมัครเป็นสมาชิกของฟีฟ่า พร้อมกับได้รับการรับรองในปี 1950 

และมันก็กลายเป็นปฐมบทของ "ทีมชาติซาร์ลันท์" ภายใต้การนำของ เฮอร์มันน์ นอยแบร์เกอร์ ประธานสมาคมคนใหม่ ที่เข้ารับตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม 1950


Photo : thesefootballtimes.co

22 พฤศจิกายน 1950 เกมนัดแรกในประวัติศาสตร์ของทีมชาติที่มีประชากรเพียงแค่ 950,000 คน ก็ได้อุบัติขึ้น พวกเขาเปิดสนามรับการมาเยือนของ สวิตเซอร์แลนด์ บี ซึ่งแกนหลักของทีมในวันนั้นมาจากสโมสร ซาร์บรูคเคน ที่อยู่ในสนามถึง 7 คน จาก 11 ตัวจริง และพวกเขาก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ด้วยการไล่ถล่มผู้มาเยือนถึง 5-2 

หลังจากนั้น ทีมชาติซาร์ลันท์ ได้ลงเตะนัดกระชับมิตรไม่ต่างจากชาติอื่นในยุโรป เพียงแต่ว่าทีมที่พวกเขาได้เจอล้วนเป็นทีมชุดสอง หรือชุดสำรอง ทั้ง ออสเตรีย บี และฝรั่งเศส ซึ่งพวกเขาทำผลงานได้ไม่เลว คว้าชัยไป 3 จาก 5 นัด 

ทำให้ แม้จะได้ลงเล่นในระดับนานาชาติ แต่ก็พูดได้ไม่เต็มปากว่าเป็นบทพิสูจน์ที่แท้จริง เพราะทีมที่พวกเขาได้แข่งด้วย เป็นทีมชุดบี แทบทั้งสิ้น แต่แล้วโอกาสครั้งสำคัญของพวกเขาก็มาถึงในปี 1953 

หลังจากฟุตบอลโลก 1950 ฟุตบอลโลกครั้งแรก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านไปด้วยดี 4 ปีต่อมา มันก็วนมาอีกครั้ง โดยครั้งนี้ สวิตเซอร์แลนด์ รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพ

และมันก็ทำให้ ซาร์ลันท์ ได้ลงเล่นในเกมการแข่งขันอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก หลังได้สิทธิ์ลงเล่นในรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก โดยตอนนั้นพวกเขาเพิ่งได้ เฮอร์มุต โชน โค้ชฝีมือดีจาก SV Wiesbaden เข้ามากุมบังเหียน ทว่าหลายคนก็รู้จักกับเขามาก่อนหน้านั้น 

"ในปี 1943 ผู้เล่นของเราหลายคนเคยเจอกับโชนในนัดชิงแชมป์เยอรมัน ดังนั้นเราจึงมีความสัมพันธ์ที่ยอดเยี่ยมกับเขาในฐานะโค้ช พวกเราส่วนใหญ่ต่างเรียกเขาด้วยชื่อ (แทนที่จะเป็นนามสกุล) ด้วยกันทั้งนั้น" เฮอร์เบิร์ต บิงเกอร์ต กล่าวกับ ESPN 

อย่างไรก็ดี ราวกับเขียนบทเอาไว้ เมื่อทีมชาติซาร์ลันท์ ถูกจับมาอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับ เยอรมันตะวันตก ชาติที่พวกเขาเพิ่งแยกตัวออกมา โดยมี นอร์เวย์ เป็นอีกทีมร่วมสาย โดยจะเอาแชมป์ของกลุ่มเท่านั้นที่จะได้ผ่านเข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายที่แดนนาฬิกา 

เกมแรกพวกเขาประเดิมสนามด้วยการบุกไปเยือนนอร์เวย์ แม้จะเป็นเกมอย่างเป็นทางการเกมแรกในเวทีระดับชาติที่ได้เจอกับทีมชุดใหญ่ แต่ทีมชาติซาร์ลันท์ ก็ไม่ได้เกรงกลัวศักดิ์ศรีของเจ้าถิ่น ก่อนจะบุกไปเอาชนะทัพไวกิ้งถึง ออสโล 3-2 พร้อมขึ้นนำเป็นจ่าฝูง

เกมต่อมาพวกเขาต้องบุกไปเยือน เยอรมันตะวันตก ซึ่งถือเป็นการพบกันครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของทั้งสองทีม และด้วยความที่เป็นประเทศที่เพิ่งแยกตัวออกมา ทำให้บรรยากาศในเกมวันนั้นเกมคุกรุ่นราวกับเป็นเกมดาร์บี้แมตช์เกมหนึ่ง 

แต่เยอรมันตะวันตก ก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขาแข็งแกร่งกว่า ด้วยการเอาชนะไปได้ 3-0 ก่อนที่ผลเสมอกับนอร์เวย์ ในเกมนัดที่ 3 ทำให้ทีมชาติซาร์ลันท์ ตกที่หลังลำบาก หลังหล่นลงมาอยู่อันดับ 2 ของกลุ่ม จากการที่เยอรมันตะวันตก เอาชนะ นอร์เวย์ไปได้ 5-1 


Photo : ww.uefa.com

และนัดสุดท้ายก็ปิดความหวังของพวกเขาอย่างถาวร เพราะเป็นอีกครั้งที่เยอรมันตะวันตกแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเหนือกว่า ด้วยการบุกมาเอาชนะไปได้ 3-1 ต่อหน้าแฟนบอล 53,000 คน ผ่านเข้าไปเล่นในรอบสุดท้าย ก่อนที่จะก้าวไปคว้าแชมป์โลกสมัยแรกในฟุตบอลโลกครั้งนั้น 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าซาร์ลันท์ จะพลาดโอกาสได้ไปโชว์ฝีเท้าในฟุตบอลโลก แต่ผลงานในทัวร์นาเมนต์ดังกล่าว ก็ทำให้กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วยุโรป ในฐานะชาติเกิดใหม่ที่ต่อกรกับชาติอื่น ๆ ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ

"แม้ว่าทีมของโชน จะตกรอบคัดเลือก แต่พวกเขาก็ได้ฝากผลงานไว้บนเวทีใหญ่ได้สำเร็จ" ส่วนหนึ่งของบทความ Caught in no man’s land: the fascinating story of football in Saarland ระบุ 

แต่น่าเสียดาย ที่นั่นคือผลงานท้าย ๆ ของพวกเขา 

 

มรดกที่เหลือไว้ 

อันที่จริงหนึ่งปีหลังรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก สถานะของซาร์ลันท์ น่าจะสดใส เมื่อฝรั่งเศส และเยอรมันตะวันตก ตัดสินใจปลดแอกพวกเขาออกจากการเป็นรัฐอารักขา และเปิดโอกาสให้ตั้งตนเป็นประเทศใหม่ 

อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะประชาชนในซาร์ลันท์ส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับการประกาศเอกราช ก่อนจะลงมติคว่ำโครงการนี้ด้วยคะแนนเสียงถึง 67 เปอร์เซ็นต์ และทำให้การเป็นประเทศซาร์ลันท์ต้องกลายเป็นหมัน 

อันที่จริงชาวซาร์ลันท์ก็มีความเป็นเยอรมันอยู่ในตัว ซึ่งพิสูจน์ได้จากตอนที่เยอรมันตะวันตกเอาชนะทีมชาติซาร์ลันท์ ในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก นักเตะบางส่วนกลับยินดีที่อดีตชาติของเขาได้เข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย


Photo : www.dfb.de

"ผมจำได้จนถึงทุกวันนี้ว่าหลังเราแพ้พวกเขาทั้งสองนัด ผมไม่ได้ผิดหวังขนาดนั้น ผมรู้สึกว่าผมเคยเป็นชาวเยอรมัน และไม่ได้อยากขัดขวางทีมที่ผมอยากเล่นมาตั้งแต่เด็กให้ได้ไปเล่นที่สวิตเซอร์แลนด์ เพราะเราคงไม่มีโอกาสได้เล่นฟุตบอลโลกอยู่ดี" เคิร์ต คลีเมนส์ ปีกของทีมชาติซาร์ลันท์ที่อยู่ในเกมวันนั้นกล่าว 

ทำให้หลังยืนยันว่าพวกเขาไม่ต้องการเป็นเอกราช จึงได้มีการทำประชามติขอกลับไปอยู่กับเยอรมันตะวันตก และก็ตามคาด ผู้คนส่วนใหญ่เห็นด้วย ทำให้ผลการลงคะแนนเป็นเอกฉันท์ ซาร์ลันท์ กลับไปอยู่กับเยอรมันตะวันตกอีกครั้งอย่างเสร็จสมบูรณ์ในเดือนมากราคม 1957 

แน่นอนว่ามันก็กลายเป็นจุดสิ้นสุดของ "ทีมชาติซาร์ลันท์" เพราะทันทีที่ดินแดนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมันตะวันตก สมาคมฟุตบอลฟุตบอลซาร์ลันท์ ก็พ้นจากสถานะสมาชิกของฟีฟ่าทันที และทำให้ทีมชาติของพวกเขากลายเป็นเพียงอดีต 

โดยเกมนัดสุดท้ายของ ซาร์ลันท์ คือการบุกไปพ่าย เนเธอร์แลนด์ 3-2 ในวันที่ 6 มิถุนายน 1956 และทำให้พวกเขากลายเป็นหนึ่งในทีมชาติที่มีอายุที่แสนสั้นในช่วงปี 1950-1956 เท่านั้น

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าตลอด 6 ปี ที่โลดแล่นอยู่ในวงการลูกหนัง พวกเขาจะไม่ได้ทิ้งอะไรเอาไว้ เพราะในอีก 18 ปีต่อมา เฮอร์มุต โชน อดีตกุนซือของทีมชาติซาร์ลันท์ ก็กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วทั้งโลก ด้วยการพาเยอรมันตะวันตก ผงาดคว้าแชมป์โลก เป็นสมัยที่ 2 ในประวัติศาสตร์ ในปี 1974 


Photo : de.wikipedia.org

ในขณะที่อีกหนึ่งปีต่อมา เฮอร์มันน์ นอยแบร์เกอร์  อดีตนายกสมาคมฟุตบอลซาร์ลันท์ ยังได้รับเลือกให้เป็นประธานสหพันธ์ฟุตบอลเยอรมัน โดยในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่ง เยอรมันตะวันตก สามารถก้าวไปถึงตำแหน่งแชมป์ยุโรป และแชมป์โลกอย่างละ 1 สมัย และรองแชมป์โลกอีก 2 ครั้ง 

และทำให้ชื่อของ "ซาร์ลันท์" ยังพอมีตัวตนอยู่บ้าง ในฐานะส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ฟุตบอล ทั้งของเยอรมันและของโลก  

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook