รู้หรือไม่ : กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว โอลิมปิกมีจัดแข่งศิลปะ?

รู้หรือไม่ : กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว โอลิมปิกมีจัดแข่งศิลปะ?

รู้หรือไม่ : กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว โอลิมปิกมีจัดแข่งศิลปะ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อพูดถึงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก หลายคนจะมักจะนึกถึง ไมเคิล เฟลป์ส นักกีฬาว่ายน้ำเจ้าของ 22 เหรียญทอง หรือ ยูเซน โบลต์ นักวิ่งเจ้าสายฟ้าฟาด เพราะโอลิมปิกคือการแข่งกีฬาทางกายภาพที่ดุเดือด เป็นงานระดับโลกที่รวมสุดยอดนักกีฬาเจ้าของการทำลายสถิติโลกในด้านต่าง ๆ

แต่ทราบหรือไม่ว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว คุณสามารถคว้าเหรียญโอลิมปิกได้ด้วยการวาดภาพสีน้ำของนักแข่งเรือใบในเวลารุ่งสาง หรือปั้นรูปปั้นของนักมวยปล้ำชาวกรีกที่เก่งที่สุด

นี่คือ การแข่งขันศิลปะในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติอย่างโอลิมปิก มันเกิดขึ้นได้อย่างไร เหตุใดจึงหยุดชะงักไป และทำไมถึงไม่ค่อยมีคนรู้จักการแข่งขันเหล่านี้ 

ร่วมไขคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand 

ความตั้งใจของปิแอร์

ปิแอร์ เดอ กูเบอร์แตง ผู้ก่อตั้งโอลิมปิกสากล คือบุคคลผู้ชุบชีวิตกีฬาโอลิมปิกขึ้นมาใหม่ เพราะเขาคือผู้นำการแข่งขันโอลิมปิกยุคโมเดิร์น กลับมาจัดอีกครั้งในปี 1896 โดยมีกรีซ เป็นเจ้าภาพในการแข่งขันครั้งแรก 

อย่างไรก็ดี ขุนนางชาวฝรั่งเศส ยังมีความฝันอันยิ่งใหญ่อีกเรื่อง นั่นคือการนำศาสตร์แห่งศิลปะและความแข็งแกร่งทางร่างกายมาผนวกรวมกัน เขาพยายามผลักดันให้มีการแข่งขันศิลปะในโอลิมปิก 


Photo : cnosf.franceolympique.com

"ถึงเวลาแล้ว สำหรับการเข้าสู่ช่วงสมัยใหม่ ช่วงเวลาที่จะฟื้นฟูโอลิมปิกให้กลับมาสวยงามดังเดิม เพื่อสานต่อเจตนารมณ์จาก Nero ผู้พิชิตกรีซ ที่มุ่งมั่นที่จะรวบรวมงานของศิลปินผู้ผลิตศิลปะและวรรณกรรมจากริมฝั่งแม่น้ำ Alphaeus ให้เข้าร่วมกับงานกีฬานี้ เพื่อรับรองความยิ่งใหญ่ของโอลิมปิก โดยเจตนารมณ์นี้จะต้องได้รับการสานต่อต่อไปในอนาคต”

"นี่คือสิ่งที่เป็นไปได้และเป็นสิ่งที่น่าพอใจที่ควรเกิดขึ้น ในการเฉลิมฉลองในอนาคต เช่นเดียวกับในสมัยโบราณ ที่จะรวมกล้ามเนื้อและจิตใจให้เป็นหนึ่งเดียวกัน”

นี่คือคำประกาศของ ปิแอร์ เดอ กูเบอร์แตง ที่บันทึกไว้ในบทความชื่อ "the Roman Olympiad" หรือ โอลิมปิกโรมัน ซึ่งตีพิมพ์ในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ Le Figaro เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 1904  อันเป็นระยะเวลา 10 ปีหลังจากการกลับมาของเกมโอลิมปิก 

ในเดือนพฤษภาคม 1906 ปิแอร์ เดอ กูเบอร์แตง ได้จัดให้มี "การประชุมที่ปรึกษาด้านศิลปะวรรณกรรมและกีฬา" ที่ Comédie-Française ในปารีส โดยผู้เข้าร่วมประมาณ 60 คน ซึ่งประกอบด้วยศิลปิน 30 คนและสมาชิกคณะกรรมการโอลิมปิกสากล 5 คน 

ความพยายามของเขาบรรลุผล เมื่อคณะกรรมการยินยอมให้มีการแข่งขันศิลปะในโอลิมปิกได้สำเร็จ โดยจะเริ่มการประกวดงานศิลปะครั้งแรกในปี 1912 ที่สต็อกโฮล์ม โดยมีประเทศสวีเดนเป็นเจ้าภาพ  

“ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้มีการจัดการแข่งขัน 5 ประเภท ได้แก่ สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม วรรณกรรม และดนตรี ซึ่งต่อจากนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของโอลิมปิก และมีสถานะเดียวกันกับการทดสอบกีฬา โดยเงื่อนไขคือ ผลงานที่นำเสนอควรได้รับแรงบันดาลใจจากแนวคิดเรื่องกีฬาหรืออ้างถึงเรื่องกีฬาโดยตรง" มติการประชุมได้เผยแพร่ผ่าน Revue Olympique ฉบับเดือนมกราคมปี 1910 


Photo : wikipedia.org 

โดยในการแข่งขันเกี่ยวกับศิลปะทั้งหมด ผู้ชนะเลิศ อันดับ 2 และ อันดับ 3 จะมีสิทธิ์ได้รับเหรียญรางวัล พร้อมกับมีพิธีมอบเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง เหมือนนักกีฬาคนหนึ่ง 

ทั้งนี้ งานศิลปะที่จะเข้าร่วมการประกวดได้ ถูกกำหนดให้เป็นไปตามกฎของทางการโอลิมปิก นั่นก็คือจะต้อง "สัมพันธ์อย่างชัดเจนกับความเป็นโอลิมปิก" ตัวอย่างเช่น การประพันธ์ดนตรี ต้องเป็นดนตรีที่ “เชิดชูอุดมคติของการแข่งขันกีฬา หรือของนักกีฬา เป็นศิลปะที่นำเสนอที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลกีฬา" 

ส่วนข้อกำหนดที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น สำหรับรายการวรรณกรรม จำกัดให้เขียนได้ไม่เกิน 20,000 คำ โดยหมวดหมู่แบ่งออกเป็นงานละคร งานโคลงสั้น ๆ และกวีนิพนธ์ระดับมหากาพย์ หรือให้เวลาหนึ่งชั่วโมง สำหรับการนำเสนอผลงานดนตรีแต่ละชิ้น

 

ยุครุ่งเรือง

จากครั้งแรกในปี 1912 การประกวดศิลปะในโอลิมปิกยังคงดำเนินมาเรื่อย ๆ และได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ในปี 1924 ที่ปารีส พวกเขามีตัวแทนจาก 23 ประเทศ ที่ร่วมกันส่งผลงานกว่า 189 ชิ้นเข้าร่วมประกวด 

หรือในปี 1928 ในโอลิมปิกที่อัมสเตอร์ดัม มีศิลปินร่วมกันส่งผลงานถึง 1,150 ชิ้น ทั้งในสาขาสถาปัตยกรรม ภาพวาด ประติมากรรม และยังมีการประพันธ์ดนตรีและวรรณกรรม 62 รายการ รวมถึงหมวดหมู่ย่อยนอกเหนือจากห้าหมวดหมู่หลักอีกด้วย


Photo : artclasscurator.com

โดยในโอลิมปิกครั้งนั้น ผลงานดังกล่าวยังได้นำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ Stedelijk ในอัมสเตอร์ดัม ซึ่งได้ดึงดูดผู้คนให้หลั่งไหลไปชมงานศิลปะที่เป็นแชมป์โอลิมปิกจำนวนมาก 

เช่นเดียวกับในโอลิมปิก 1932 ที่ ลอสแองเจลิส เมื่อมีศิลปินจาก 31 ประเทศที่ร่วมกันส่งผลงานมากกว่า 1,000 ชิ้น ซึ่งทำให้มีคนจำนวนมหาศาลแห่กันมาชมผลงานทางศิลปะที่พิพิธภัณฑ์ลอสแองเจลิส หลังการแข่งขันสิ้นสุดลง

อย่างไรก็ดี ผู้ร่วมการแข่งขันศิลปะโอลิมปิก ใช่ว่าจะเป็นศิลปินอย่างเดียวเสมอไป หลายคนยังมีส่วนร่วมในการแข่งขันกีฬา ยกตัวอย่างเช่น วอลเตอร์ วินานส์ ชาวอเมริกัน และ อัลเฟรด ฮาญอส ชาวฮังการี ที่ต่างประสบความสำเร็จทั้งในด้านศิลปะและกีฬา

วินานส์ คือเจ้าของเหรียญทองการแข่งขันยิงกวางเรนเดียร์ประเภท double-shot ในโอลิมปิก 1908 ที่ลอนดอน และเคยคว้าเหรียญเงินประเภททีมการแข่งขัน ยิงกวางเรนเดียร์ ระยะ 100 เมตรแบบ single shot ในโอลิมปิก 1912 ที่สตอกโฮล์ม ซึ่งในครั้งเดียวกันนี้ เขายังได้รับรางวัลเหรียญทองจากประติมากรรมขี่ม้าของเขา จากผลงานที่ชื่อว่า “An American Trotter”


Photo : www.travelblog.org

ในขณะที่ ฮาญอส เขาคือแชมป์ว่ายน้ำโอลิมปิก 2 สมัยที่เอเธนส์ ในปี 1896 (ฟรีสไตล์ 100 ม. และ 1,200 ม.) ก่อนที่จะเข้าร่วมการแข่งขันสถาปัตยกรรมในปารีสในปี 1924 ซึ่งเขาได้รับรางวัลเหรียญเงินร่วมกับเพื่อนร่วมชาติอย่าง เดสโซ เลาแบร์ สำหรับการออกแบบสนามกีฬา

เท่าที่ฟังมันก็ดูราบรื่นดี แต่เพราะเหตุใด การแข่งขันศิลปะในโอลิมปิก จึงไม่ค่อยเป็นที่พูดถึง และมีเพียงไม่กี่คนที่รู้จักกับการแข่งขันเหล่านี้?

 

การแข่งขันที่โลกลืม

ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่ามองในด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ หรือ ประวัติศาสตร์โอลิมปิก ต่างเห็นตรงกันว่า นี่คือประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้มีความสลักสำคัญเท่าใดนัก 

นั่นเป็นเพราะกฎกติกาที่แปลกประหลาด อย่างการไม่อนุญาตให้ศิลปินมืออาชีพเข้าร่วม ทำให้มีศิลปินชื่อดังเพียงไม่กี่คนที่เคยเข้าร่วมการแข่งขันศิลปะโอลิมปิก 

ในบรรดาผู้ที่ได้รับรางวัลเหรียญโอลิมปิกด้านศิลปะที่เป็นที่รู้จักกันดี มีเพียงแค่ ชาร์ล ดาวนิง เลย์  สถาปนิกชาวอเมริกันและ โจเซฟ เว็บสเตอร์ โกลิงคิน ผู้ซึ่งโด่งดังจากการออกแบบแสตมป์อเมริกัน


Photo : www.wikiwand.com | Charles Downing Lay

ยิ่งไปกว่านั้น รายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการประกวดศิลปะ (และศิลปินที่ได้รับเหรียญรางวัลหลายคน) ได้ถูกลืมเลือนไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะแทบไม่ได้รับความสนใจ เนื่องจากหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับการแข่งขันนี้หายไปเป็นจำนวนมาก

แม้จะเคยมีคนพยายามตามหาข้อมูลเพิ่มเติมของการแข่ง แต่ก็ต้องพบกับความผิดหวัง แบร์นฮาร์ด เครเมอร์ นักประวัติศาสตร์โอลิมปิก ผู้ออกตามหาผลงานแชมป์ศิลปะโอลิมปิกที่หายไปเหล่านี้ กล่าวว่า “น่าเศร้าที่ศิลปินและผลงานศิลปะที่ได้รับเหรียญรางวัลจำนวนมากต้องสูญหายไปในประวัติศาสตร์” 

เอกสารบันทึกของเขา ทั้งหน้าเต็มไปด้วยข้อความที่เขียนในทำนองเดียวกันว่า "ไม่สามารถให้หลักฐานเอกสารได้ในขณะนี้" "บทกวีของเธอก็สูญหายไปเช่นกัน" และ "ไม่พบภาพวาดของ เกอร์ฮาดุส เบอร์นาดุส เวสเตอร์มานน์ ที่ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง"

อย่างไรก็ตาม มีเอกสารของการแข่งขันครั้งหนึ่งที่ยังถูกบันทึกไว้อย่างดีที่สุด นั่นคือการแข่งขันที่จัดขึ้นในเกมฤดูร้อนปี 1936 ที่กรุงเบอร์ลิน ...

 

ศิลปะโอลิมปิก ณ กรุงเบอร์ลิน

เอกสารรายงานอย่างเป็นทางการของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 11 ปี 1936 ถูกบันทึกไว้เป็นอย่างดี ซึ่งในเอกสารไม่เพียงแต่ร้อยเรียงให้ผู้อ่านได้เห็นภาพที่น่าตื่นตาของปรากฏการณ์ศิลปะโอลิมปิกที่แปลกประหลาดและน่าทึ่งนี้เท่านั้น แต่ยังบันทึกบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น


Photo : www.mutualart.com

นั่นคือการมีเจ้าภาพอยู่ในคณะกรรมการผู้ตัดสินนานาชาติ ในจำนวนที่มากเกินไป โดยในการแข่งขันครั้งนั้น พวกเขามีกรรมการชาวเยอรมันถึง 29 คน และกรรมการจากประเทศอื่น ๆ ในยุโรปเพียง 12 คน

สัดส่วนของคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยไม่เป็นธรรมเช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกประเทศ แต่ก็ต้องยกเว้นอเมริกาไว้อีกประเทศหนึ่ง เพราะในการแข่งขันศิลปะโอลิมปิกที่สหรัฐอเมริกาในปี 1932 ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการชาวอเมริกันเข้าไปถึง 24 คนจาก 30 คน 

และการมีกรรมการที่ส่วนใหญ่เป็นคนของเจ้าภาพ ก็ทำให้ผลที่ตามมาไม่ได้ผิดคาดไปมากมายนัก  เมื่อในการแข่งขันครั้งนั้น ศิลปินชาวเยอรมันได้รับเหรียญทองกันมากเป็นประวัติการณ์ โดยคว้าไปถึง 5 จาก 9 เหรียญในปีนั้น และห่างไกลจากผลงานที่ผ่านมา เพราะตั้งแต่โอลิมปิกฤดูร้อนปี 1928 และ 1932 พวกเขาเพิ่งจะคว้าเหรียญทองมาได้แค่เหรียญเดียวเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม เพื่อมิให้ดูจงใจเกินไปมากนัก ยังมีผู้เข้าแข่งขันจากประเทศอื่นที่ได้รับเหรียญอยู่บ้างประปราย หนึ่งในนั้นคือ ชาร์ล ดาวนิง เลย์ ซึ่งเป็นชาวอเมริกันคนเดียวที่ได้รับเหรียญรางวัลในปี 1936 โดยได้เหรียญเงินกลับบ้าน จากการออกแบบ  "Marine Park in Brooklyn" ในหมวดสถาปัตยกรรมสำหรับการออกแบบ


Photo : hiddenwatersblog.wordpress.com

นอกจากนี้ในการแข่งขันศิลปะโอลิมปิกครั้งนั้น ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่บันทึกไว้ คือในช่วงแรกมันเกือบจะเป็นการแข่งขันที่ไม่ได้รับความสนใจจากชาวเยอรมัน

แต่ไม่มีอะไรที่แคมเปญโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) จะแก้ไขไม่ได้ เพราะพวกเขาต้องเสียหน้าอย่างแน่นอน หากการแข่งขันศิลปะโอลิมปิกและนิทรรศการถูกเมินจากคนในชาติ

พวกเขาจึงได้ดำเนินแคมเปญประชาสัมพันธ์การแข่งขันนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญทางวัฒนธรรมของพวกเขาต่อกีฬาโอลิมปิก ทั้งในรูปแบบบทความ หรือการบรรยายทางวิทยุ เป็นประจำทุกวัน 

นอกจากนี้พวกเขายังได้ออกแบบโปสเตอร์ เพื่อให้ดึงดูดผู้เข้าชมให้ได้มากที่สุด โดยได้ วิลลี เพ็ทโซลด์ ศิลปินชาวเดรสเดน เป็นผู้ออกแบบ ซึ่งออกมาในรูปของคนโบราณ กำลังสวมเครื่องประดับที่ทำด้วยใบมะกอก และใช้ทองสัมฤทธิ์ในการพิมพ์ 

โปสเตอร์ดังกล่าวกว่า 7,000 แผ่นถูกแปะไปทั่วกรุงเบอร์ลิน สถานีของรัฐ รถไฟใต้ดิน และเทศบาล รวมไปถึงพิพิธภัณฑ์เบอร์ลิน โรงแรม โรงละคร ร้านอาหารคาเฟ่หรือร้านค้าต่าง ๆ และมันก็ทำหน้าที่ได้ดี เมื่อสามารถดึงดูดคนเป็นจำนวนมากมาชมการแข่งขันศิลปะโอลิมปิก  

เพราะแม้ว่าจะเป็นครั้งแรกของเยอรมันในการจัดโอลิมปิก แต่ในครั้งนั้นถือเป็นงานที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยจำนวนผู้คนกว่า 70,000 คนที่แวะเวียนเข้ามาชมนิทรรศการ ตลอดระยะเวลาสี่สัปดาห์ที่จัดแสดง 


Photo : www.theatlantic.com

นอกจากนี้ คนใหญ่คนโตอย่าง วิลเฮล์ม ฟริค นักการเมืองพรรคนาซี, โจเซฟ กอบเบลส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโฆษณาชวนเชื่อเยอรมัน, เบอร์นาร์ด รัสต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์แห่งพรรคนาซี, ดีโน อัลฟิเอรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของอิตาลี หรือ อิจิซาเอมอน โมริมูระ บารอนแห่งญี่ปุ่น ก็ล้วนซื้องานศิลปะจากงานติดไม้ติดมือกลับบ้านไปด้วย

 

โอลิมปิกที่สาบสูญ

หลังจากเป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติมา 7 ครั้ง ในที่สุดการแข่งขันศิลปะในโอลิมปิกก็ต้องมีอันสิ้นสุดลงในปี 1948 ที่ประเทศอังกฤษเป็นเจ้าภาพ 


Photo : www.financialexpress.com

ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า แม้จะต้องเผชิญปัญหามากมายนับไม่ถ้วน แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้การแข่งขันเหล่านี้ต้องจบลงคือ กฎที่จำกัดให้ผู้เข้าแข่งขันต้องเป็นแค่มือสมัครเล่นเท่านั้น นั่นหมายความว่า ศิลปินมืออาชีพถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการแข่งขัน

เอกสารโอลิมปิกอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมาเผยว่า "มันไม่มีเหตุผลที่มืออาชีพจะแข่งขันในนิทรรศการดังกล่าว และได้รับรางวัลเหรียญโอลิมปิก" และระบุว่าการประกวดศิลปะ นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน ในการกำหนดสถานะมือสมัครเล่นของศิลปิน

แม้ว่ากฎนี้จะเป็นตัวที่ผลักดันให้การแข่งกีฬาโอลิมปิกทางกายภาพไปได้ไกลและเป็นที่นิยม แต่มันกลับทำให้การแข่งขันศิลปะในโอลิมปิกต้องพบกับจุดจบ

“ความสมัครเล่น” ยังทำลายคุณภาพของกลุ่มผู้เข้าแข่งขันและตัวรายการเอง การสร้างผลงานศิลปะที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เป็นงานที่โหดหินใช่ย่อย ยิ่งห้ามไม่ให้มืออาชีพมีส่วนร่วมด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เป็นการยากที่งานจะผ่านไปได้อย่างราบรื่น

นอกจากนั้น คณะกรรมการโอลิมปิกในสมัยนั้น มีสิทธิ์ที่จะระงับรางวัลที่หนึ่ง สอง หรือสาม (หรือทั้งหมดข้างต้น) เมื่อผลงานไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด 

โดยคณะกรรมการเคยระงับเหรียญศิลปะไว้มากถึง 13 เหรียญในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งเดียว และมีการตัดสินที่ "ไม่มีการมอบรางวัล" ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างมากต่อกลุ่มนักวิจารณ์และอาจารย์ศิลปะชั้นแนวหน้า

ทำให้หลังโอลิมปิก 1948 การแข่งขันศิลปะโอลิมปิกได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นเทศกาลศิลปะที่จัดขึ้นพร้อมกัน ในสถานที่ซึ่งเป็นที่จัดการแข่งขันกีฬาทั้งโอลิมปิกฤดูร้อนและฤดูหนาว ก่อนที่ในเวลาต่อมามันจะกลายเป็น “โครงการวัฒนธรรมโอลิมปิก” 

จากข้อบัญญัติที่ 26 ของระเบียบวาระการประชุมโอลิมปิกปี 2020 ของ IOC ระบุว่า งานโอลิมปิกจะต้อง “เสริมสร้างการผสมผสานระหว่างกีฬาและวัฒนธรรมในกีฬาโอลิมปิกและระหว่างกันมากขึ้น” และเหนือสิ่งอื่นใดคือต้อง “พัฒนาโครงการศิลปินในถิ่นที่อยู่” ในระหว่างการแข่งขัน 

ด้วยเหตุนี้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่เมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ปี 2016 จึงเป็นครั้งแรกที่ศิลปินร่วมสมัยอย่าง JR และ Gerald Andal ศิลปินดิจิทัล ได้มาเข้าร่วมโครงการด้วย 


Photo : www.olympic.org

โดยคณะกรรมการโอลิมปิกและศิลปินรุ่นใหม่ ได้จับมือกันสร้างงานศิลปะอินสตอลเลชันขนาดใหญ่ ที่แสดงภาพนักกีฬาในท่าทางต่าง ๆ ติดตั้งอยู่บนนั่งร้าน ที่สามารถมองเห็นได้จากรอบทิศ ในย่านฟลาเมงโก, ย่านโบตาโฟโก และ ย่านบารา เดอ ทีชูกา 

นอกจากนี้ JR ยังได้สร้างโปรเจค “Inside Out” ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนจำนวนมาก ได้เข้ามามีส่วนร่วม ด้วยการให้ผู้คนจากทุกสารทิศ มาร่วมถ่ายภาพที่ระลึกกับฉากพื้นหลังลายจุดใน Photo Booth ก่อนที่ภาพหน้าของผู้เข้าร่วมนับหมื่นจะถูกพิมพ์ลงไปในการแสดงศิลปะครั้งนี้

และเมื่องานโอลิมปิกจบลง ศิลปะเชิงทดลองนี้ จะยังคงจัดแสดงอยู่ที่ The Olympic Museum ในเมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 

ในขณะที่ โอลิมปิกฤดูหนาว เมืองพยองชางเมื่อปี 2018 ก็ได้มีการทำ “Olympic Art Project” หรือ โครงการศิลปะโอลิมปิก ที่รังสรรค์ขึ้นมาด้วยการรวบรวมนักกีฬาโอลิมปิกสี่คนที่เป็นศิลปิน มารวมตัวกันสร้างวิดีโอสั้น ๆ และเป็นผู้นำการฝึกอบรมการวาดภาพในหมู่บ้านโอลิมปิก


Photo : www.olympic.org

หรือในโอลิมปิกเยาวชนในปี 2018 ที่บัวโนสไอเรส คณะกรรมการ IOC ได้มอบหมายให้ เลอันโดร เออร์ลิช ศิลปินชาวอาร์เจนตินา สร้าง “Ball Game” ผลงานศิลปะซึ่งเป็นลูกบอลขนาดยักษ์ ทั้งลูกฟุตบอล บาสเกตบอล เทนนิส ลูกกอล์ฟ หรือลูกวอลเลย์ ที่ให้ผู้คนช่วยกันกลิ้งไปตามท้องถนน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของ Olympism in Action Forum และโอลิมปิกเยาวชนในครั้งนั้น

ท้ายที่สุดแล้ว นิทรรศการงานศิลปะที่น่าตื่นตาเหล่านี้ ได้ทำหน้าที่เชื้อเชิญผู้คนจากทั่วโลก จะเห็นได้ว่างานศิลปะของโอลิมปิก ล้วนแล้วแต่นำพาผู้คนจากทั่วโลกมาร่วมมือกันทำบางสิ่งบางอย่าง ด้วยจิตวิญญาณแห่งมิตรภาพ อันเป็นคุณค่าที่แท้จริงของกีฬาโอลิมปิก

ดังนั้น แม้การแข่งขันศิลปะในโอลิมปิกจะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่วิสัยทัศน์และเจตจำนงอันแรงกล้าของปิแอร์ที่ต้องการให้ “ศิลปะและวรรณกรรมเข้าร่วมกับกีฬา เพื่อรับรองความยิ่งใหญ่ของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก” ในวันนั้น มิได้สูญเปล่าเสียทีเดียว เพราะมันยังเป็นสิ่งที่สร้างความยิ่งใหญ่ให้กับกีฬาโอลิมปิก และจะเป็นการริเริ่มทางวัฒนธรรมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นต่อ ๆ ไป

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook