บุคคลสาธารณะ ? : เมื่อนักกีฬาก็ต้องการขอบเขตความเป็นส่วนตัว

บุคคลสาธารณะ ? : เมื่อนักกีฬาก็ต้องการขอบเขตความเป็นส่วนตัว

บุคคลสาธารณะ ? : เมื่อนักกีฬาก็ต้องการขอบเขตความเป็นส่วนตัว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การถูกลืม คือสิ่งที่น่ากลัวที่สุดของมนุษย์โดยสัญชาตญาณอย่างหนึ่ง หลายคนจึงอยากมีชื่อเสียงโด่งดัง เพราะต้องการเป็นที่ยอมรับของสังคม

ยิ่งในสมัยนี้ นอกจากจะเป็นที่จดจำแล้ว พอเป็นคนดัง สิ่งที่ตามมาคือเงินทองมหาศาล นำมาซึ่งไลฟ์สไตล์หรูหราชวนฝัน และคำสรรเสริญเยินยอ

แต่ในอีกด้าน เพื่อแลกมาซึ่งชื่อเสียงเงินทอง คนดังต้องยอมถูกจับจ้องด้วยสายตานับล้านคู่ ที่คอยออกความเห็นและตัดสินพวกเขาในทุกย่างก้าวอยู่เสมอ 

เช่นเดียวกับคนดังในวงการกีฬา การถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เห็นได้อย่างชัดเจนในโลกออนไลน์ที่หลายคนไม่จำเป็นต้องแสดงตัว 

แต่การที่นักกีฬาชื่อดังถูกพาดพิงด้วยถ้อยคำที่รุนแรงทั้งเรื่องในสนามและนอกสนาม ควรเป็นเรื่องที่ปกติธรรมดาจริงหรือ ?

ดาบสองคม

บุคคลสาธารณะ (Public Figure) เป็นบุคคลตัวอย่าง ที่ถือว่ามีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อพฤติกรรม วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของประชากรทั่วไป ซึ่งนั่นรวมถึงเหล่านักกีฬาที่มีชื่อเสียง ... แต่ชื่อเสียงที่ว่านี้ พวกเขาได้แต่ใดมา ?

ไม่ใช่ว่านักกีฬาแค่มีฝีมือดีเยี่ยมแล้วจะดังได้เลย แต่ความดังต้องมาจากการที่สื่อให้ความสนใจและทำข่าวเกี่ยวกับเขา 

สื่อต่าง ๆ ก็ได้ประโยชน์จากการบอกเล่าเรื่องราวของนักกีฬา ยิ่งสื่อใด "เอ็กซ์คลูซีฟ" มาก คนก็ยิ่งเสพ ในทางเดียวกัน เมื่อนักกีฬากลายเป็นที่รู้จัก ก็มีโอกาสมากที่เขาจะได้รับการติดต่อจากสปอนเซอร์ สร้างโอกาสทางธุรกิจมากมาย 

แต่แน่นอน ไม่ได้มีเพียงเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจจากเหล่านักกีฬาฝีมือเยี่ยมเท่านั้น ที่โลกให้ความสนใจ เพราะเรื่องฉาวโฉ่นอกสนาม บางครั้งก็เป็นข่าวดังยิ่งกว่า

ในปี 2009 ไทเกอร์ วู้ดส์ นักกอล์ฟชาวอเมริกัน ผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกเรียกว่าเป็น "เบอร์ 1 ของโลก" ตัดสินใจออกมายอมรับความผิดเรื่องการนอกใจภรรยาที่ตกเป็นข่าวอื้อฉาว และประกาศจะหยุดลงแข่งขันกอล์ฟอย่างไม่มีกำหนด

หลังจากออกมาขอโทษถึงประเด็นดังกล่าวต่อภรรยาและ แฟน ๆ เขากล่าวว่า "เรื่องส่วนตัว แม้จะเป็นเรื่องผิดบาป ก็ไม่ควรต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ และปัญหาภายในครอบครัวไม่ควรต้องมีการการสารภาพบาปในที่สาธารณะ"

เรื่องฉาวของโปรกอล์ฟชาวอเมริกันได้ผ่านมาแล้ว 11 ปี แต่จนถึง ค.ศ.2020 แล้ว ปัญหาความสับสนของสังคม ต่อขอบเขตความเป็นส่วนตัวของบุคคลสาธารณะก็ยังคงไม่จางหายไป

ยิ่งในปัจจุบัน โซเชียลมีเดียทำให้ความเป็นส่วนของนักกีฬายิ่งหดหาย (หลายครั้งก็ด้วยความสมัครใจ) ซึ่งข้อดีคือแฟน ๆ กับนักกีฬาได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่บางครั้ง นั่นก็เป็นการเปิดประตูให้แฟน ๆ แสดงความไม่พอใจต่อนักกีฬากันอย่างไร้ขอบเขต

นักวิจารณ์ออนไลน์

ทุกคนย่อมเข้าใจดีว่า หนึ่งในเสน่ห์ของการดูกีฬา คือ บรรยากาศอันเป็นเอกลักษณ์ ที่เกิดจากการที่แฟน ๆ ในสนามร้องเพลง, ส่งเสียงเชียร์, เสียงโห่ หรือแม้กระทั่งทั้งตะโกนด่าผู้เล่นทีมตัวเองและทีมฝ่ายตรงข้าม

บรรยากาศเหล่านี้ทำให้สนามกีฬากลายเป็นพื้นที่ปลดปล่อย ชวนให้ใครก็ตามได้แสดงทุกความรู้สึกออกมาอย่างไม่มีอะไรมากั้น ซึ่งหาไม่ได้จากที่ไหนนอกจากในการแข่งกีฬา

การล้อเลียนหรือข่มทีมคู่แข่งอย่างพองาม ทำให้การแข่งขันกีฬาสนุกและมีอรรถรส แต่นั่นก็เป็นการเปิดช่องให้นักกีฬาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงอยู่บ่อยครั้ง

ทุกวันนี้ แม้แต่นักกีฬามืออาชีพที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ก็โดนวิจารณ์อยู่ตลอดในโลกออนไลน์ 

แม้ว่าบางครั้งนักกีฬาจะโพสต์สิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับอาชีพของเขาก็ตาม "สุขสันต์วันแม่ ขอบคุณผู้หญิงที่สวยที่สุดที่ทำให้ผมมีวันนี้" เขามักจะถูกถล่มด้วยคำดูถูกที่ไร้สาระที่สุดจากแฟนบางกลุ่มอย่าง "แม่ของคุณรู้ไหม ลูกชายฝีเท้าห่วยแค่ไหน"

นักกีฬาควรปล่อยวาง และไม่ให้ความสนใจเหล่าเกรียนออนไลน์ ซึ่งดีต่ออาชีพของเขามากกว่า แต่อย่าลืมว่าแม้จะร่างกายแข็งแรงเหนือมนุษย์แค่ไหน แต่นักกีฬาก็เป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึก 

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เวลานักวิจารณ์ออนไลน์ล้ำเส้น ยั่วโมโห นักกีฬาจะมีการตอบโต้กลับอย่างดุเดือดให้ได้เห็นกันเป็นระยะ ๆ

เมื่อปี 2017 หลังจากกลับบ้านไปด้วยความพ่ายแพ้ ริคาร์โด อัลเลน ผู้เล่นตำแหน่งเซฟตี้ ทีม แอตแลนตา ฟอลคอนส์ ในศึกอเมริกันฟุตบอล NFL เลื่อนดูข้อความต่าง ๆ ในทวิตเตอร์ที่เมนชั่นมาถึงเขา อัลเลนหยุดดูข้อความจากแฟนคนหนึ่ง

"@Ricardo37 อัลเลน คุณดูถูกพวกเราอย่างแรง ฉันไม่ไปดูเกมของลูกชายฉัน เพื่อไปดูพวกคุณที่เล่นได้ห่วยบรม"


Photo : www.yardbarker.com

อัลเลนไม่สามารถปล่อยผ่านข้อความนี้ไปได้ เขารวบรวมความคิดของเขาใน 280 ตัวอักษร และตอบกลับไป

"คุณดูถูกลูกชายของคุณด้วยการไม่ไปดูเกมของเขา เพียงเพื่อมาเสียเวลากับทีมที่คุณก็ไม่ได้ผูกพันอะไรด้วยต่างหาก จัดลำดับความสำคัญให้ถูกก่อนจะมาด่าผม"

อัลเลนกล่าวให้สัมภาษณ์หลังเกิดเหตุ "โดยปกติถ้าต้องตอบโต้ ผมพยายามตอบกลับด้วยข้อเท็จจริง และพยายามไม่ด่าหยาบคาย แต่บางครั้งผมก็ต้องด่ากลับแบบเนียน ๆ"

การตอบโต้เวลาถูกโจมตี เป็นเรื่องปกติที่แสดงถึง "ความเป็นมนุษย์" แต่นักกีฬามักจะถูกคาดหวังให้ไม่ตอบโต้ต่อคำด่าเสีย ๆ หาย ๆ แม้จะจี้ปมแค่ไหนก็ตาม

นั่นเหมือนการคาดหวังให้นักกีฬาต้องกดทับ "ความเป็นมนุษย์" ของตัวเอง แต่บางครั้งการฝืนธรรมชาติเช่นนี้ก็ทำได้ยาก ยังไงก็คงต้องมีหลุดกันบ้าง ...

 

ด่ามาด่ากลับไม่โกง

นอกจากด่ากลับแบบเนียน ๆ แล้ว บางครั้งนักกีฬาก็ด่ากลับเหล่าเกรียนอินเตอร์เน็ตโต้ง ๆ เมื่อทนไม่ไหว 

แบร์นาร์โด ซิลวา กล่าวว่าแฟนลิเวอร์พูลที่มาด่าทอเขาในทวิตเตอร์นั้น "น่าสมเพช" หลังจาก แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ตกรอบ 8 ทีมสุดท้าย ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก หลังจากแพ้ โอลิมปิก ลียง 3-1 

ในทวิตเตอร์ ซิลวาโพสต์ถึงแฟน ๆ ว่า "ฤดูกาล 2019-20 จบลงด้วยความผิดหวังสำหรับเรา สำหรับแฟน ๆ ทุกคนเราขอโทษสำหรับฤดูกาลที่น่าผิดหวังนี้"

"สิ่งเดียวที่เราสัญญาได้ก็คือในฤดูกาล 2020-21 เราจะสู้ให้ดีขึ้น และกลับไปคว้าชัยชนะให้พวกคุณ!"

และจุดพีคของเรื่อง คือเมื่อดาวเตะชาวโปรตุเกสตอกกลับเหล่าแฟนหงส์ฝีปากกล้า อย่างเจ็บแสบว่า "และสำหรับแฟน ๆ ลิเวอร์พูลที่ไม่มีอะไรจะทำ นอกจากการเข้ามาด่าผู้เล่นแมนฯ ซิตี้ ผมสงสารพวกคุณ ... ที่ต้องทำตัวน่าสมเพช … ทำไมไม่ไป ไปฉลองแชมป์ หรือลองหาแฟนสักคน, ดื่มเบียร์กับเพื่อน หรืออ่านหนังสือแทนสิ ... มีอะไรให้ทำตั้งหลายอย่าง"

แน่นอนว่าการทิ้งระเบิดแบบนี้ สร้างความไม่พอใจให้กับแฟนลิเวอร์พูล และทำให้สังคมตั้งคำถามถึงความเป็นมืออาชีพของแข้งเรือใบ

หรือแม้แต่ในสนามจริง การกระทบกระทั่งหวังจะเอาคืนแฟนกีฬาฝีปากกล้า ก็มีให้เห็นประปราย 

หนึ่งในนั้นคือเหตุการณ์ในเกมเดเอฟเบ โพคาล ฤดูกาล 2020-21 นัดที่ ดินาโม เดรสเดน ชนะ ฮัมบูร์ก 4-1 โทนี ไลส์ทเนอร์ ปราการหลังทีมเยือน ถูกแฟนบอลทีมเจ้าถิ่นตะโกนด่าทอภรรยาและลูกสาวเขาเสีย ๆ หาย ๆ 

"ผมโดนด่าอย่างหนักจากอัฒจันทร์ฝั่งเจ้าบ้าน ตอนหลังจบเกม" ไลส์ทเนอร์ ซึ่งเกิดที่เมืองเดรสเดน แถมยังเคยเล่นให้กับทีมคู่แข่งในวันนั้นเมื่อครั้งอดีตกล่าว


Photo : www.insider.com

"โดยปกติแล้วผมสามารถรับมือกับเรื่องพรรค์นี้ได้ แต่แล้วมันเกิดการด่าที่รุนแรงเกินรับได้ พาดพิงถึงครอบครัวของผมภรรยาและลูกสาวของผม ฟิวส์ผมเลยขาด"

สุดท้าย ดูเหมือนนักกีฬาดังที่โดนด่าจะตกเป็นจำเลยสังคม เมื่อ โทนี ไลส์ทเนอร์ กลับต้องเป็นฝ่ายออกมาขอโทษที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ และทำตัวไม่เหมาะสม

"เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้น ผมเป็นพ่อคนที่ต้องการเป็นแบบอย่างที่ดี ผมขอโทษสำหรับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และทำได้เพียงสัญญาว่า ไม่ว่าต่อไปจะมีคำสบประมาทอะไรมาอีกก็ตาม เรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก" ไลส์ทเนอร์กล่าวในแถลงการณ์ของเขาผ่านอินสตาแกรม

หลายครั้ง วิธีตาต่อตา ฟันต่อฟัน กลับทำให้เหล่านักกีฬาดังถูกมองว่าเป็นตัวร้าย จนต้องออกมาขอโทษสังคมต่อการที่เขาอดทนไม่พอต่อคำด่า

ปุถุชนคนธรรมดาที่ไม่ใช่พระอรหันต์อย่างเรา ๆ คงอยู่นิ่งไม่ไหวแน่ ๆ หากโดนพาดพิงด้วยถ้อยคำรุนแรง รุกล้ำไปถึงครอบครัวแบบนี้ แล้วนักกีฬาควรต้องปล่อยให้ตัวเองถูกด่ายังไงก็ได้โดยห้ามตอบโต้จริงหรือ ?

 

นักกีฬาเป็นแค่ผลิตภัณฑ์ ?

ขึ้นชื่อว่าบุคคลสาธารณะแล้ว นักกีฬาย่อมถูกคาดหวังให้เป็นตัวอย่างที่ดีต่อสังคมในทุก ๆ ด้าน ร่างกายต้องแข็งแรง จิตใจก็ยังต้องเข้มแข็งอดทนต่อการโดนโจมตี 

สโมสรเองได้ประโยชน์จากการที่แฟน ๆ ชื่นชอบนักกีฬา ทำให้ต้องรักษาภาพลักษณ์นักกีฬาทั้งในสนามและนอกสนามไปโดยปริยาย การตอบโต้แฟนกีฬาก็เหมือนมีปากมีเสียงกับลูกค้า ซึ่งย่อมไม่ดีต่อกิจการเป็นแน่


Photo : www.independent.co.uk

การคาดหวังให้นักกีฬาเป็นเพียงผลิตภัณฑ์ ที่มีไว้เพื่อทำทุกสิ่งทุกอย่างที่แฟนคลับหรือลูกค้าจะพอใจ กลายเป็นค่านิยมแสนโหดร้ายที่คอยกดทับความเป็นมนุษย์ของเหล่านักกีฬา 

ค่านิยมนี้ยอมให้การวิพากษ์วิจารณ์นักกีฬาอย่างรุนแรง ทั้งในโลกออนไลน์และในสนาม กลายเป็นเรื่องที่เห็นได้ทั่วไป 

แต่เมื่อใดที่นักกีฬาตอกกลับเหล่าแฟนกีฬาฝีปากกล้าขึ้นมา ดูเหมือนว่าสังคมหลายฝ่ายจะระคายผิวขึ้นมาทันที ราวกับไม่ทราบว่า นักกีฬาคือมนุษย์ที่มีความรู้สึกเหมือนกัน

สุดท้ายแล้ว การพร่ำบอกให้แฟน ๆ พูดจาเพราะ ๆ กับนักกีฬาคงจะเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์และน่าขัน นักกีฬาเองก็ย่อมเตรียมใจไว้ตั้งแต่แรกว่าขอบเขตของตนจะต้องถูกละเมิดบ้าง เมื่อก้าวเข้ามาตรงนี้

แต่ทุกคนย่อมมีฟางเส้นสุดท้าย และเมื่อไหร่ที่เหล่าคนดังตบะแตกขึ้นมา แฟนกีฬาฝีปากกล้าอาจจะต้องยอมรับความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีกลับในระดับความเดือดแบบเดียวกับที่ไปด่าเขา

ถ้ารับความเสี่ยงไม่ได้ แฟนกีฬาก็สามารถใช้วิธีพูดถึงนักกีฬาอย่างมีขอบเขตทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์แทน หรือถ้าไม่ชอบนักกีฬาคนไหน จงเลิกติดตามเขาเหล่านั้นไปเสีย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook