"จักรพันธ์ ศรีจันทร์ทัพ" : ผู้ก่อตั้ง Space Gamer กับแนวคิด "อีสปอร์ตหญิง คือ โอกาสทางธุรกิจ"

"จักรพันธ์ ศรีจันทร์ทัพ" : ผู้ก่อตั้ง Space Gamer กับแนวคิด "อีสปอร์ตหญิง คือ โอกาสทางธุรกิจ"

"จักรพันธ์ ศรีจันทร์ทัพ" : ผู้ก่อตั้ง Space Gamer กับแนวคิด "อีสปอร์ตหญิง คือ โอกาสทางธุรกิจ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"Space Gamer ผมกดคันเร่งอย่างเดียว คือชนก็ช่างมัน หน้าที่เราคือแก้ปัญหา เกือบครึ่งหนึ่งใน 8 บริษัทของผม ผมใช้วิธีนี้มาตลอด โชคดีที่ผมเป็นคนกล้าเดิมพัน ถ้าเจ๊งก็เจ๊งให้สะใจไปเลย จะได้เรียนรู้"

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมอีสปอร์ตเติบโตขึ้น มีการแข่งขันหลายรายการเกิดขึ้นมากมาย ทั้งระดับชาติจนถึงระดับโลก จากกิจกรรมยามว่าง กลายเป็นกีฬาสร้างอาชีพ 

แต่ส่วนใหญ่ เป็นการแข่งขันของทีมนักกีฬาอีสปอร์ตชายทั้งสิ้น น้อยคนที่จะกล้าลงทุนกับตลาดอีสปอร์ตฝั่งผู้หญิง และยอมเสี่ยงกับความท้าทายของการเป็น "ผู้บุกเบิก" คนแรกๆ

1

หนึ่งในคนที่รับคำท้า คือ อ๋อง - จักรพันธ์ ศรีจันทร์ทัพ ผู้บริหารบริษัท สเปซ เกมเมอร์ จำกัด เจ้าของทัวร์นาเมนต์หญิงที่ยิ่งใหญ่สุดในไทย

อะไรคือจุดเริ่มต้นของ Space Gamer?

ผมและหุ้นส่วนผม เรียกว่าเราเป็นเด็กติดเกมด้วยกันทั้งคู่ ทุกวันนี้เราไม่ค่อยมีเวลา แต่เราก็ยังเสพเกม เกมอะไรก็ตามที่ออกในประเทศไทย ไม่ถึง 1 ชั่วโมง แผ่นจะมาอยู่ที่ผม มีเวลาเล่นไหมอีกเรื่องหนึ่ง แต่มันคือความสุขที่เราทั้งคู่ชอบเล่นเกมมาตั้งแต่เด็ก

ผมจำได้เลย วันนั้นวันอาทิตย์ ผมไปเจอคลิปของคุณเนวิน ชิดชอบ เมื่อ 2 ปีแล้ว ที่เป็นวิดีโอเปิดตัว Buriram United Esports พอผมนั่งดูเสร็จ ผมก็โทรหาหุ้นส่วนคนหนึ่งว่า "พี่พีท ลุงเนวินขยับ เรื่องนี้ต้องมีอะไรบางอย่างแน่เลย เราทำสโมสรอีสปอร์ตกันมั้ย"

2

ผมโทรไปปรึกษาหุ้นส่วนอีกท่านหนึ่งที่ดูแลเรื่องการเงินบริษัทผม คุยไปคุยมา แกก็คิดว่าน่าสนใจ เราจึงก่อตั้ง Space Gamer ขึ้นมา 

เหตุผลที่เป็น Space Gamer เพราะว่า คอนเซ็ปต์คือเราเป็นนักบินอวกาศที่อยากไปผจญภัย เพราะโลกของเกมมันใหญ่มาก ๆ คำว่า Space Gamer น่าจะเป็นสิ่งที่ตอบตัวตนของเราได้ชัดเจน เราไม่มีข้อจำกัด เราคือนักบินอวกาศที่ไปได้ทุกที่บนจักรวาลอันนี้ โดยใช้เทคโนโลยี

ทำไมถึงมาเลือกทำอีสปอร์ตฝั่งของผู้หญิง?

เมื่อ 2 ปีก่อน อีสปอร์ตผู้ชายเริ่มโต เริ่มมีทีมมืออาชีพ ทีมจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย หุ้นส่วนที่ดูแลเรื่องการเงินก็ได้ไอเดียว่า ทำไมไม่ทำอีสปอร์ตผู้หญิงล่ะ เพราะทีมหญิงที่เป็นมืออาชีพยังมีน้อยมาก เราจึงตัดสินใจว่าเราจะทำทีมอีสปอร์ตหญิง

3

ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบมองอะไรเหมือนกับคนอื่น เป็นแบบนี้มาตั้งแต่เด็กแล้วครับ ผมชอบเดิมพัน แต่การเดิมพันของเราของเรามันผ่านการวิเคราะห์และไตร่ตรองมาดีแล้ว

รู้ใช่ไหมครับ ว่าประชากรหญิงมากกว่าประชากรชายบนโลกใบนี้ 3 เท่า ประชากรเกมเมอร์ผู้หญิงเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าพูดในเชิงสถิติอีสปอร์ต ผู้หญิงมีตัวเลขที่เติบโตอันน่าตกใจมาก ผู้หญิงเล่นเกมเยอะมาก แค่เราไม่ทราบ ? 

หลายคนไม่กล้าลงทุนตรงนี้ แต่สิ่งที่ทุกคนมองผ่าน คือสิ่งที่ผมมองเห็น มันมีโอกาสในการทำอะไรได้เยอะมาก นอกจากนั้นเรายังสามารถสร้างโอกาสให้กับคนอื่นมากมาย

ผมวางแผน บวกลบคูณหารแล้วก็นั่งจินตนาการตัวเอง ว่าสิ่งที่เราทำจะเป็นอย่างไร ถ้าวิธีนี้ไม่เวิร์กเราจะทำวิธีอื่นอย่างไร ท้ายที่สุดแผนจะออกมาอย่างไร พอคิดแล้วเห็นว่ามันเป็นไปได้ แม้เหนื่อยแน่นอน แต่เราก็จะทำ

Space Gamer เราไม่มีกรอบ แต่มีทิศทางชัดเจน ผมคนขับเรือที่เลี้ยวไม่เป็น ตรงอย่างเดียว กดคันเร่งอย่างเดียว คือชนก็ช่างมัน หน้าที่เราคือแก้ปัญหา

4

ครึ่งหนึ่งของ 8 บริษัทของผม ผมใช้วิธีนี้มาตลอด ลงทุนเพื่อสร้างโอกาส แต่ด้วยการเป็นคนอย่างผม มันมีความเสี่ยงมหาศาล ซึ่งตามมาด้วยความกดดันมหาศาล โชคดีที่ผมเป็นคนกล้าเดิมพัน ถ้าเจ๊งก็เจ๊งให้สะใจไปเลย จะได้เรียนรู้ จึงเริ่มจากเข้าไปลุยกับทีมอีสปอร์ตหญิงขึ้นมาก่อน

จริงจังขนาดไหน ขยายให้เราฟังได้ไหม? 

โปรทีมชายทำยังไง ผมทำอย่างนั้นหมด เพราะเราต้องการสร้างมืออาชีพผู้หญิงขึ้นมา ตอนที่เราหาทีม เราคุยอยู่กับ 6-7 ทีมที่เข้ามาเสนอให้เราเป็นสปอนเซอร์ ผมเลือกเซ็นสัญญากับทีม Space Gamer Mamazita นี้ ด้วยการที่ผู้จัดการทีมเขามีความเป็นมืออาชีพสูงมาก

พอได้ทีมเข้ามา นักกีฬาอีสปอร์ตหญิงก็มาอยู่ในระบบการจัดการบริหารของผม ที่เป็น Sport Management 100 เปอร์เซนต์ ผมจ้างโค้ช จ้างทีมวิเคราะห์เข้ามา คอยเก็บข้อมูล คอยคุมตารางซ้อมนักกีฬา ส่งรีพอร์ทให้ผมทุกอาทิตย์ว่า แต่ละคนมีอัตราการ Success หรือ Miss การ Call เกมพลาด ตัวเลขในการซ้อมยังไง

5

ประกอบกับที่ผมทำเอเจนซี่ (นอกจาก Space Gamer อ๋อง - จักรพันธ์ ศรีจันทร์ทัพ ยังเป็นประธานบริษัท Social Media Agency ยุคบุกเบิกอย่างบริษัท Hubvisor) อยู่แล้ว ก็ใช้การทำ marketing กับทีมทุกอย่าง การออกแบบชุดยูนิฟอร์ม การออกแบบโลโก้ เพื่อช่วยให้ภาพของเขา ออกมาเป็นนักกีฬาหญิงมืออาชีพที่สุด

ในขณะเดียวกัน ภาพบนโซเชียลของทีมเริ่มเป็นจุดสนใจ เพราะไม่มีทีมหญิงไหนที่จะมีสปอนเซอร์จริงจัง ยอมลงทุนเป็นล้าน 

ส่วนเรื่องของฝีมือ ก็โฟกัสที่ทีมโค้ช ใช้ทักษะการเล่นดราฟต์ตัวแบบมืออาชีพทุกอย่าง พอโปรเพลเยอร์หญิงทีมผมถูกครอบด้วยระบบเทรนแบบมืออาชีพ น้อง ๆ ก็เริ่มฝีมือเริ่มดีขึ้นเยอะ เชื่อไหมว่า ผมเลิกเล่น RoV ไปแล้ว เพราะซ้อมกับทีมตัวเองแล้วหมดความมั่นใจ เราจ้างเขาเล่นพอดีกว่า 

หลังจากนั้น ประมาณ 3 เดือน ทีมเราได้แชมป์ติดต่อทุกทัวร์นาเมนต์ที่จัด เพราะด้วยความที่เป็นทีมมืออาชีพหญิงทีมแรกด้วย

6

จากทำทีมหญิง มาทำทัวร์นาเมนต์หญิงได้อย่างไร?

ทัวร์นาเมนต์เกิดขึ้นเพราะว่า พอเรามีทีมหญิงมืออาชีพที่มีฝีมือ กลับไม่มีผู้จัดรายการแข่งทีมหญิง ทุกคนมุ่งแต่จะจัด แข่ง RoV ของผู้ชาย จัดแต่ผู้ชายอย่างเดียวใหญ่โตมาก ไม่มีคนจับทัวร์นาเมนต์ผู้หญิงเลย ถึงมีก็น้อยและยังไม่ค่อยเป็นระดับมืออาชีพ

นั่นเพราะทัวร์นาเมนต์หญิงมีความยาก คือเราไม่รู้ว่าถ้าแข่งทางออนไลน์ เขาจะให้ผู้ชายเล่นตอนไหน ในภาษาเกมคือคำว่า Smurf ซึ่งคือการเอา Account ตัวเองให้คนอื่นเล่นแทน  

ผมนั่งคิดกับทีมว่า จะทำ Anti-Smurf Protocol หรือระบบจับโกงแบบนี้ ต้องทำยังไง การทำตรงนี้ จะใช้เงินเยอะมากในการลงทุน 1 ทัวร์นาเมนต์ ให้ทีมงานคอยเช็กทุกคนว่าจะแข่งเล่นจริงตัวจริง มีการออกแบบและลงทุนก้อนแรกเพื่อพัฒนาความรู้และเครื่องมือ

7

พอเรารู้ว่าตรงนี้มันเกิดขึ้นได้ และในเมื่อไม่มีใครจัดทัวร์นาเมนต์ผู้หญิง ไม่เป็นไร เราจัดเอง ทัวร์นาเมนต์หญิงล้วนจึงเกิดขึ้น ก็คือเพื่อให้ทีมอีสปอร์ตหญิงของเราได้มีสนามลงแข่ง

จะรู้ได้ยังไงว่าถ้าจัดทัวร์หญิงล้วนแล้วจะประสบความสำเร็จ? เพราะคนจัดกันน้อยมาก

เราลองจัดแข่งออนไลน์สามรอบเพื่อทดสอบ Feedback ว่า ถ้าเราจัดทัวร์นาเมนต์ผู้หญิงจะมีคนลงแข่งเยอะไหม ปรากฏว่าประสบความสำเร็จทั้งคู่ คนลงแข่งเยอะกว่าที่คิดไว้

นอกจากนี้ เรายังคงความเป็นเอเจนซี่ในการสร้างทัวร์นาเมนต์ของตัวเอง โปรโมท และหาพาร์ทเนอร์ ซึ่งตอนนั้นพาร์ทเนอร์น้อยมาก ไม่ค่อยมีใครอยากคุยกับเรา พูดตรง ๆ ผมโนเนม ผมไม่ใช่บริษัทยักษ์ใหญ่ สโมสรเล็ก ๆ ที่มีแต่โปรเพลเยอร์ผู้หญิง

ผมกับหุ้นส่วนจึงออกเงินกันเองทุกอย่าง ลงทุนก้อนแรก ไม่มีสปอนเซอร์ เราถือว่ามันคืองบการตลาดที่จะปูทางมาเพื่อปี 2020 นี้ พอจัดแข่งออนไลน์ประสบความสำเร็จจนรู้สึกว่า มันคุ้มที่จะเสี่ยงจัดแข่งขันรอบออฟไลน์ และโชคดีที่ผมได้ Major Cineplex เข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์

8

เราจัดทัวร์นาเมนต์ผู้หญิงล้วน ที่เงินรางวัลสูงที่สุดในประเทศไทย ที่ 1 ก็ได้แสนนึง ที่สอง ที่สาม ได้เงินรางวัลลดหย่อนไป

งานแข่งออฟไลน์ ต้องเตรียมการยังไงบ้าง?

ทัวร์นาเมนต์แข่ง RoV ประเภทหญิงล้วน รายการ "Space Gamer Battle of Angels RoV Diva Tournament" เกิดขึ้นที่เมเจอร์รัชดาฯ ที่เป็นอีสปอร์ตอารีนาอยู่แล้ว ด้วยความร่วมเป็นเอเจนซี่ การทำงานอีเวนท์ 1 ทีมันง่าย ผมมีทีมแสงและเสียงพร้อม

ผมเชิญนักพากย์เกมจาก Garena เบอร์ต้น ๆ มาหมด เพราะรู้สึกว่าคือถ้าเราจะเป็นเบอร์ 1 ก็ต้องเอาคนที่เป็นเบอร์ 1 มาในงาน

ถ้วยรางวัลเราออกแบบเองโดยน้องทีมเอเจนซี่ ด้วยความที่ตัวผมเองฟุ้ง น้องในทีมก็ฟุ้งตาม ฟุ้งไปฟุ้งมามันทำถ้วยได้ ทำ 3D Printing แล้วก็จ้างโรงงานผลิตเลย เพ้นท์มาเป็นถ้วยสีชมพู หนักห้ากิโลกรัม

9

ผมอยากมอบตรงนี้ให้กับนักกีฬา เพราะนักกีฬาเขาเคารพเรามากในการที่เขามาลงทัวร์นาเมนต์ของเราโดยที่เขาไม่รู้ว่าเราเป็นใคร 

เราเป็นโนเนม อยู่ ๆ ก็จัดทัวร์นาเมนต์หญิงใหญ่ขึ้นมา ผมเลยเคารพเขาด้วยการทำถ้วยรางวัลให้มันเหมาะสมกับที่เขาฟันฝ่าถึงตรงนี้ โดยการันตีว่า คุณได้ถ้วยนี้ไป ไม่มีใครเหมือน เพราะถ้วยไม่ใช้ซ้ำ ผมให้เลย 

ตอนจะจัดออฟไลน์ก็หวั่นเหมือนกันว่าจะประสบความสำเร็จหรือเปล่า เราใช้การคัดเลือกจากออนไลน์มาแล้ว 8 ทีมสุดท้ายมาแข่งที่งานแข่งออฟไลน์ เราจัดเวทีแข่งในโรงหนังเลย

ฟังดูยิ่งใหญ่มาก การจัดงานครั้งนั้นประสบความสำเร็จไหม และทีม Space Gamer Mamazita ได้แชมป์มาหรือเปล่า?

ประสบความสำเร็จมาก รอบชิงชนะเลิศ คนดูออนไลน์เป็นแสน แล้วพอรอบสี่ทีมสุดท้าย คนเริ่มปากต่อปากจนโรงหนังเต็มแบบต้องมีตั๋วยืน ส่วนทีมหญิง 4 ทีมสุดท้ายที่เข้ามาชิงแชมป์ประเทศไทย ผมก็พูดตรง ๆ ว่า ไม่ธรรมดา

10

ขนาดนักพากย์ยังบอกว่า เล่นกันขนาดนี้เลยเหรอ ทีมผู้หญิงจริงเหรอ ซึ่งก็ผู้หญิงแข่งจริงเพราะเขาต้องไปแข่งในตู้แข่ง ก็ประสบความสำเร็จ ทุกคนชื่นชมมาก 

ผมใช้เงินไปหลายล้าน แต่สิ่งที่ได้กลับมา มันก็คุ้มค่า คนเจอผมในงาน เขาบอกผม 'พี่อ๋องขอบคุณนะคะ' แค่นั้นผมก็แฮปปี้จนพูดไม่ออก 

มีโดนติอยู่ข้อเดียวก็คือ แอร์เย็นไม่พอ เพราะโรงหนังถูกออกแบบให้นั่งกันแค่ 200 คน แต่รอบชิงชนะเลิศคนเกือบ 400 คนอัดกันอยู่ข้างใน ผมเองก็ถอดสูทยืนเชียร์ 

งานนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รู้จักชื่อของเรา จากที่เราไปสำรวจมา คนรู้ว่า Space Gamer ชอบทำอะไรเว่อร์ ใช่ เรื่องปกติครับ เรียบง่ายพี่ไม่ทำ 

ส่วนทีมผม แพ้ในทัวร์นาเมนต์ตัวเอง ได้ที่ 4 (หัวเราะ) ที่ 1 เป็นทีมม้ามืดแบบที่เพิ่งรวมตัวกันเลย ซัดเงินรางวัลไปแสนหนึ่ง ทีมเขาเก่งกันนักใช่ไหม ? ผมก็ดึงตัวเข้ามาในทีมเรา ได้นักกีฬาใหม่จากทัวร์นาเมนต์นั้นมา 2 คน

11

พอทัวร์นาเมนต์จบ ทีมเดินต่ออย่างไร?

หลังจากการแข่งทัวร์นาเมนต์ที่เราจัดเอง แม้ทัวร์นาเมนต์เราเองได้ที่ 4 แต่ในทัวร์นาเมนต์ FSL (Female Esports League) ของสิงคโปร์มาจัดแข่ง เราให้ KPI นักกีฬาในทีมว่า ไม่รู้แหละ พี่อยากไปสิงคโปร์

ทีมที่ชนะทัวร์นาเมนต์ FSL ของแต่ละประเทศ จะถูกไปแข่งรวมกันที่สิงคโปร์ เราลงแข่งเป็นปีแรกปี 2018 เราได้ที่สอง แพ้ให้กับ EVOS x Bazaar แพ้แบบต้องแข่งกัน 5 เกม ดุเดือดมาก

แล้วก็ปี 2019 หลังจากที่ผมสั่งจัดการบริหารทีมใหม่ ทำให้ทีมดราฟต์ทีมผมแข็งแกร่งขึ้นกว่าปีที่แล้ว เลยซัดที่หนึ่งในไทยเรียบร้อย ได้ขึ้นป้ายเป็นอันดับ 1 ประเทศไทยในงานนี้ ซึ่งกำหนดการจริง ๆ เมษายนปีนี้เราต้องได้บินไปชิงแชมป์เอเชียที่สิงคโปร์ แล้ว COVID-19 มาพอดี

12

แต่ช่วงที่เราแข่งเราได้เรียนรู้ ทำให้ผมรู้สึกว่าเราก็จัดเองได้ มันก็เลยเป็นที่มาว่า ผมลงทุนไปล้านกว่าบาทในงานแข่งปีที่แล้ว เพื่อปูทางมาปี 2020 นี้ นั่นคืองานทัวร์นาเมนต์ SGL หรือ Space Gamer League

มี 3 เกมในการแข่ง เลือกมาจากความสนใจของผู้หญิง และการสำรวจว่าผู้หญิงเล่นเกมไหนกันเยอะ อย่าง PUBG ตอนแรกเราไม่กล้าทำ แต่พอเปิดทัวร์นาเมนต์ไปคนหาทีมกันเพียบ แล้วก็มี RoV และ Dead by Daylight

SGL มี 3 ลีกใหญ่คือ Minor กับ Master และที่ 1 ที่ 2 ของ RoV จะได้แข่งลีกใหญ่ Invitational League ที่เป็นลีกสากล ซึ่งผมจะจัดเอง โดยดึงทุกทีมที่ลง FSL ของสิงคโปร์ตอนนั้นมาแข่งที่เราแทน 

การแข่งลีกใหญ่ผมจะย้ายมาแข่งที่ไทย เราอยากให้ภาพประเทศไทยสนับสนุนสโมสรผู้หญิง เพราะจริงจังเกมเมอร์ผู้หญิงเยอะมาก ผู้หญิงที่อยากลงแข่งขัน ปากบอกแข่งเพื่อความสนุกสนาน พอเขาไปดู แข่งเอาจริงกันทุกคน ส่วนคนสมัครในปีนี้ เยอะมากจนตกใจ ไม่น่าเชื่อว่าจะเยอะกว่าปีที่แล้วขนาดนี้

13

ทัวร์นาเมนท์ SGL นี้ดูเป็นงานช้าง แล้ว Space Gamer มีคนสนับสนุนไหม?

ผมใช้ระบบการหาพาร์ทเนอร์ คือสโมสรต่าง ๆ พาร์ทเนอร์ต่าง ๆ ที่เป็นพันธมิตรกันกับเรา จะเข้ามาช่วยกันระดมสมอง เพราะเราคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องดังคนเดียว ในโลกใบนี้ผู้คนโตกันเพราะเพื่อน มันหมดยุคที่คุณจะเป็นที่หนึ่งคนเดียวแล้ว 

ผมเลยคุยกับทุกคน คุยกับสโมสรอื่น ๆ แล้วเขาก็สนใจ เพราะไม่มีใครจัดทัวร์นาเมนต์ผู้หญิงแบบเป็นจริงเป็นจังอย่างนี้ ให้เราลองจัดเลย แล้วทางเขาส่งทีมมาลงแข่ง พอทีมใหญ่ ๆ มาร่วมด้วย คนก็จะเริ่มสนใจแล้วว่างานนี้คืองานอะไร

อย่าง Buriram United มีทีมหญิงแล้วนะครับ Training Program เขาโหด เขาสร้างนักกีฬาได้ดีมาก ผมเลยนับถือ Buriram United มาก เพราะถ้าไม่มีเขา ก็ไม่มี Space Gamer วันนี้ เพราะผมดูวิดีโอเปิดตัวของเขา ผมเลยทำตาม 

รวมถึงเราก็ได้มืออาชีพเข้ามาช่วยก็คือทีม Hashtag, มี Sports Alliance แล้วจะมี Doyser มีแก๊งโบ๊ะบ๊ะ มีคุณเอก HRK มาช่วยซัพพอร์ต

14

เป้าหมายของการมาทำอีสปอร์ตตรงนี้ จริงๆแล้วคืออะไร?

เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นผม, MS Chonburi หรือสโมสรต่าง ๆ เราทุกคนมีจุดประสงค์เดียวกันคือดันวงการอีสปอร์ตให้เติบโต ไม่ว่าจะฝั่งหญิงหรือชาย อุตสาหกรรมอีสปอร์ตไม่ได้มอบแค่เงินอย่างเดียว มันต้องมอบโอกาสให้คนมีอาชีพ 

ผมเคยเห็นเด็กติดยาแต่เล่นเกมเก่งเลิกยา แล้วมาเอาจริงกับเกม เพราะเขารู้ว่า เขารู้สึกว่าเขากลายเป็นนักกีฬา นั่นคือสิ่งที่ทีมบุรีรัมย์ได้สร้างขึ้นมาแล้ว

คนเล่นเกมไม่ใช่แค่เด็กติดเกม เพราะอีสปอร์ตมันกลายเป็นกีฬา ที่มันเล่นบนอิเล็กทรอนิกส์โปรแกรม ทั้งเครื่องเกมเล่น ทีวี หรือบนสมาร์ทโฟน

สโมสรใหญ่ ๆ ใช้หลักการ Sport Management ในการบริหารทีมอีสปอร์ต มันคือการวิธีเดียวกับทำทีมฟุตบอลนะครับ แต่เป็นรูปแบบออนไลน์ เพราะฉะนั้น มันคือกีฬา เราเพียงต้องสร้างนักกีฬาออกมาให้ได้

15

ในประเทศไทยก็จะท้าทายหน่อย เพราะประชากรคนเล่นเกมที่เยอะที่สุดเป็นกลุ่มเด็ก อย่างกลุ่มผู้ใหญ่ก็อาจจะมีเล่นเกมบ้าง แต่ไม่ค่อยมีเวลา 

คนที่มีเวลามากกว่า มีโอกาสเก่งมากกว่า เพราะเขามีเวลาซ้อม แสดงว่า มันคือการจับกลุ่มของคน 2 กลุ่ม กลุ่มคนที่มีเงินแต่ไม่มีเวลา และคนที่มีเวลาแต่ทุนไม่หนา คนหนึ่งต้องการสร้างทีม อีกคนต้องการเป็นเกมเมอร์มืออาชีพ เรามาเจอกันตรงกลาง

อีกความท้าทายคือ เด็กติดเกมมีภาพลักษณ์ไม่ได้สวยหรูในสายตาคนนอก คนที่ทำตรงนี้ต้องปรับภาพลักษณ์ของเขา ให้เปลี่ยนจากแบบเดิม ๆ กลายเป็นนักกีฬามืออาชีพให้ได้ 

ดังนั้น เวลามีคนจัดทัวร์นาเมนต์หญิงเหมือนกัน เราจะไม่มองว่าเขาเป็นคู่แข่ง แต่เราดีใจมากทุกครั้งที่มีคนจัด เพราะยิ่งมีคนจะเยอะอุตสาหกรรมมันยิ่งโต

16

อุปสรรคที่ท้าทายที่สุด ของการมาทำเกี่ยวกับอีสปอร์ต?

อุปสรรคที่สุดเลยคือ สังคมไทยกับอีสปอร์ตไปด้วยกันลำบาก ขึ้นชื่อว่าเกม แปลว่าไม่ดีทันที แต่อีก 20 ปีข้างหน้า ความคิดนี้จะหมดไป เพราะคนรุ่นใหม่จะเข้ามาแทน เกมจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต 

เกมเคยถูกนิยามว่าเป็นความบันเทิง แต่ปัจจุบันเกมกลายเป็นกีฬา ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าใจ ผมมีส่วนหนึ่งใน Space Gamer เป็นสตรีมเมอร์ ซึ่งนอกจากปัจจัยอื่น ๆ ผมยังพิจารณาถึงครอบครัว สตรีมเมอร์ที่ผมรับมาครอบครัวเขาสนับสนุน เพราะเขามองว่ามันคือการสร้างอาชีพ 

ไม่ใช่ทุกคนจะคิดแบบนี้ มีนักกีฬาเข้ารอบออฟไลน์ทัวร์นาเมนท์ของ Space Gamer แต่มาแข่งไม่ได้เพราะพ่อแม่ไม่ให้มา นี่คือความจริงที่เกิดขึ้น และจะเป็นอีกนานจนกว่าอีสปอร์ตจะเป็นกีฬาแห่งชาติ

ทั้ง ๆ ที่นักกีฬาอีสปอร์ตไทย ถูกซื้อตัวไปอยู่ทีมเมืองนอก เงินเดือนหลายแสนด้วยอายุคนจบปริญญาตรี ชื่อเสียงระดับโลก

17

เราพลาดจุดนี้ไปหรือเปล่า เพราะเมืองไทยเด็กเล่นเกมเยอะมาก คุณสามารถส่งออกนักกีฬาได้ เขาต้องได้รับการสนับสนุน

อีสปอร์ตฝั่งผู้หญิงจะขึ้นมาทัดเทียมฝั่งชายได้หรือไม่?

ผมมองว่าเป็นไปได้ เพราะข้อดีอีสปอร์ตคือมันไม่ใช่กายใช้กายภาพ Physical Touching แบบวิ่งชนฟาดแข้งฟาดขา มันคือ การใช้สติสัมปชัญญะ, การตัดสินใจ, วุฒิภาวะ รวมถึงวิทยาศาสตร์การกีฬาที่เกี่ยวกับจิตใจ

ขนาดนักกีฬาหญิงที่ผมปั้นมาแบบสไตล์ผมเองยังได้ขนาดนี้ ถ้าคนที่เก่งกว่าผม มีเงินทุนมากกว่าผม ลงทุนร้อยล้านไปสร้างเกมเมอร์หญิงให้กลายเป็นนักกีฬา 100 เปอร์เซ็นต์ขึ้นมา ผมว่าสู้ได้ มันมีโอกาสเป็นไปได้ครับ

18

เพราะสุดท้ายโลกของอีสปอร์ต มันก็ไม่ควรถูกแบ่งแยกหรอกครับ แค่ตอนนี้มันยังเหลื่อมล้ำมากไปหน่อย แต่เมื่อความเหลื่อมล้ำทางชีววิทยามันบางลง ด้วยการที่เราฝึกอย่างมืออาชีพ จนนักกีฬาอีสปอร์ตหญิงที่มีการตอบสนองช้ากว่าเพศชายจาก 1 วินาที ถูกเทรนจนตอบสนองช้ากว่าเพียง 0.3 วินาที หรือน้อยกว่าได้เมื่อไหร่ 

เมื่อนั้น ทัวร์นาเมนต์ต่าง ๆ จะกลายเป็นทัวร์นาเมนต์ผสม

อัลบั้มภาพ 18 ภาพ

อัลบั้มภาพ 18 ภาพ ของ "จักรพันธ์ ศรีจันทร์ทัพ" : ผู้ก่อตั้ง Space Gamer กับแนวคิด "อีสปอร์ตหญิง คือ โอกาสทางธุรกิจ"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook