โปรตุกีส คอนเน็คชั่น : เจาะนโยบายสร้างทีมชาติโปรตุเกสในแผ่นดินอังกฤษของ "วูล์ฟส์"

โปรตุกีส คอนเน็คชั่น : เจาะนโยบายสร้างทีมชาติโปรตุเกสในแผ่นดินอังกฤษของ "วูล์ฟส์"

โปรตุกีส คอนเน็คชั่น : เจาะนโยบายสร้างทีมชาติโปรตุเกสในแผ่นดินอังกฤษของ "วูล์ฟส์"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มันต้องไม่ธรรมดาแน่ ๆ เมื่อมีทีม ๆ หนึ่งในลีกสูงสุดของฟุตบอลอังกฤษ แต่กลับมีนักเตะโปรตุเกสมากกว่าทีมแชมป์โปรตุกีส ซูเปอร์ลีก อย่าง เอฟซี ปอร์โต้ อีกทั้งยังใช้ชุดแข่งขัน (ชุดที่ 3) เป็นสีเลือดหมู และ เขียว เหมือนกับเสื้อทีมชาติโปรตุเกส แบบแสดงตัวกันชัด ๆ ไปเลย

ทีมนั้นคือ วูล์ฟแฮมป์ตัน จอมล้มยักษ์แห่งยุคนั่นเอง

นี่คือเรื่องราวที่เราขุดย้อนจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันว่าอะไรที่ทำให้สโมสรที่ถูกเรียกว่า "โยโย่ทีม" ซึ่งเน้นการใช้นักเตะในสหราชอาณาจักร เปลี่ยนแปลงโมเดลการทำทีมที่ทั้งฉีกและก้าวกระโดดภายในเวลาไม่ถึง 5 ปี 

ติดตามเรื่องราวของ วูล์ฟส์ และ โปรตุกีส คอนเน็คชั่น ได้ที่นี่

โยโย่ทีม ที่ต้องเปลี่ยนแปลง

นับตั้งแต่เข้าสู่ยุคมิลเลเนียมเป็นต้นมา วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอร์เรอร์ส หรือ "วูล์ฟส์" ก็ถือเป็นหนึ่งในสโมสรที่ถูกจัดรวมไว้ในหมวดหมู่ "โยโย่ทีม" เสมอมา

1

พวกเขาขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่อย่างนั้นระหว่างเดอะ แชมเปี้ยนชิพ กับ พรีเมียร์ลีก บางครั้งก็หนักข้อกระเด็นไปถึงลีกวันเลยก็มี แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจและใหญ่โตอะไรสำหรับแฟนๆของ วูล์ฟส์ ในเวลานั้น

เหตุผลเกิดขึ้นจากช่วงที่ แจ็ค เฮย์เวิร์ด เข้ามาซื้อทีมตั้งแต่ปี 1990 หลายสิ่งที่เข้ามาพร้อมๆกับเจ้าของคนใหม่ก็ดีขึ้นกว่าที่เคยเป็นเสมอมา เฮย์เวิร์ด จ่ายเงินเท่าที่จ่ายไหว แต่ก็มากพอที่จะต่อเติมส่วนสำคัญ ๆ ของสโมสร ไม่ว่าจะสิ่งปลูกสร้างและเครื่องอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะการต่อเติมสนาม โมลินิวซ์ กราวด์ ที่สภาพทรุดโทรมสุด ๆ ในยุค 80s ให้กลายเป็นสนามที่กว้างขวางทันสมัย และโปรเจ็คต์นี้ถือเป็นโปรเจ็คต์แรกของ เฮย์เวิร์ด ที่มีต่อทีมเลยด้วยซ้ำ เขาใช้เวลาถึง 3 ปี กว่าสนาม โมลินิวซ์ ที่ใหม่เอี่ยมพร้อมต้อนรับเสียงเชียร์จากแฟนบอลจะเสร็จสมบูรณ์ 

ช่วงเวลาแห่งยุค 90s วูล์ฟส์ ก็พยายามทำทีมเหมือนกับทีมระดับล่างของลีกสูงสุดทั่วไป นั่นคือการเลือกใช้นักเตะในสหราชอาณาจักรเป็นหลัก เช่นเดียวกับการเลือกใช้โค้ชที่แทบไม่มีชาวต่างชาติเลย ย้อนกลับไปตามรายชื่อเก่า ๆ มีทั้ง เกล็น ฮอดเดิล กุนซือทีมชาติอังกฤษชุดฟุตบอลโลกปี 1998, มิค แม็คคาร์ธี่ กุนซือทีมชาติไอร์แลนด์ เป็นต้น ช่วงเวลาที่พวกเขาเป็นทีมระดับค่อนล่างเช่นนี้กินเวลามาเกือบ 20 ปี จนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเริ่มใช้โค้ชชาวต่างชาติคนแรกอย่าง สตาเล่ โซลบัคเค่น ชาวนอร์เวย์ในปี 2012 

เหตุผลในการลองใช้โซลบัคเค่น คือในตอนนั้น (ปี 2012) วูล์ฟส์ เพิ่งตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก และผลงานก่อนตกชั้นจัดว่าแย่ที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นกับทีมเลยก็ว่าได้ เพราะตลอด 38 เกม มิค แม็คคาร์ธี่ ทำทีมชนะได้แค่ 5 นัด และทำสถิติชนะใครไม่เป็น 13 เกมติดต่อกัน จนทัพหมาป่าตกชั้นทีมแรกแบบไม่ต้องลุ้นก่อนฤดูกาลจบ 

ดังนั้นพวกเขาเริ่มเข้าใจความเปลี่ยนไปของเทรนด์การใช้กุนซือต่างชาติเข้ามาทำทีม เพราะยุคนั้นกุนซือต่างชาติหลายคนเข้ามาและสร้างความสำเร็จในพรีเมียร์ลีกมากมาย 

2

ทว่าการเลือกใช้โค้ชต่างชาติคนแรกกลับเป็นอะไรที่ล้มเหลว โซลบัคเค่น คุมทีมได้ไม่ถึง 6 เดือน หลังทำผลงานได้อย่างย่ำแย่ในลีก เดอะ แชมเปี้ยนชิพ จนโดนปลดออก  และมันก็เหมือนสูตรสำเร็จของทีมที่ต้องการเอาตัวรอดจากการตกชั้น นั่นคือการเลือกโค้ชท้องถิ่นที่คุ้นมือกับฟุตบอลในประเทศมาขัดตาทัพ เพื่อทำงานให้ได้ตามเป้าตามกรอบของเวลาที่มีจำกัด ดังนั้น วูล์ฟส์ จึงไปได้ไม่เคยไกลกว่าการขึ้น ๆ ลง ๆ เสียที 

เพราะในทางกลับกัน แม้โค้ชท้องถิ่นจะคุ้นมือเหมาะกับการกู้สถานการณ์ในเวลาอันสั้น แต่การขึ้นไปสู่ลีกสูงสุดหรือการตั้งเป้าหมายไว้ที่การเป็นแชมป์ บางครั้งกุนซือท้องถิ่นก็ตกยุคเกินไป โดยเฉพาะในช่วงหลังปี 2010 เป็นต้นมา โลกของฟุตบอลเปลี่ยนไปมากนับตั้งแต่มีการให้กำเนิด ติกิ ตากา ของ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ที่ บาร์เซโลน่า ก็มีหลายทีมเริ่มใช้แนวทางนั้นมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับนักเตะที่ตัวเองมี ... ซึ่ง วูล์ฟส์ ไม่เคยคิดจะลองอีกเลยนับตั้งแต่หมดยุคของ โซลบัคเค่น เป็นต้นมา

โฟซัน พลิกชีวิต 

หลังจากตกชั้นไปตั้งแต่ปี 2012 วูล์ฟส์ ไม่เคยกลับมาเล่นในพรีเมียร์ลีกได้อีกเลย ดังนั้นแน่นอนว่าเรื่องการเงินก็เริ่มจะฝืดเคืองจากสถานการณ์ที่ตกต่ำย่ำอยู่กับที่มาหลายปี มันจึงถึงเวลาที่เจ้าของเก่าอย่างตระกูลเฮย์เวิร์ด จะเปลี่ยนแนวทางสโมสรที่เคยบริหารตามแบบฉบับของครอบครัว ให้เป็นการบริหารแบบมืออาชีพอย่างจริงจัง ในปี 2016 พวกเขาขายสโมสรให้กลุ่มทุนจากจีนที่ชื่อว่า โฟซัน อินเตอร์เนชั่นแนล (Fosun International) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีธุรกิจครบวงจรตั้งแต่ขายประกันภัย การลงทุน ไปจนถึงอสังหาริมทรัพย์ 

3

จุดนั้นเองคือจุดเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง เพราะนี่คือการบริหารจากกลุ่มนักธุรกิจแบบเต็มรูปแบบ พวกเขากำหนดทิศทางด้วยการจะทำให้ วูล์ฟส์ กลับสู่พรีเมียร์ลีกให้ได้ภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี พวกเขาจ้างซีอีโอมืออาชีพอย่าง ลอรี่ ดารีมเพิล เข้ามาเป็นผู้บริหารใหญ่ และในเมื่อ "โฟซัน" คิดแบบนอกกรอบ พวกเขาก็เลือกที่จะลงทุนกับกุนซือต่างชาติทันที ด้วยการปลดกุนซือเก่าที่ชื่อว่า เคนนี แจ็คเก็ตต์ ออก ... และมองหาคนที่สามารถตอบโจทย์วิชั่นของทีมบริหารได้ 

คนแรกคือ วอลเตอร์ เซ็งก้า อดีตนายทวารทีมชาติอิตาลี ที่ดึงตัวเข้ามาทำทีมหลังเทคโอเวอร์สโมสรได้ไม่กี่วัน หนนี้เหมือนการซื้อหวยที่พลาดเข้าจังเบอร์ วูล์ฟส์ ให้โอกาสเซ็งก้าที่ไม่ผลงานชัดเจนในการคุมทีมเข้ามาเสี่ยงรับโปรเจ็คต์ใหญ่ แต่เหลวไม่เป็นท่าเพราะหลังจากคุมทีมไปได้ 14 นัด ทีมที่ลงทุนซื้อตัวนักเตะเกือบ 30 ล้านปอนด์ ต้องลงไปอยู่ในโซนหนีตกชั้น และเมื่อนั้นพวกเขาจำเป็นที่จะต้องหามวยแทนเข้ามาแก้สถานการณ์ 

หวยไปออกที่ พอล แลมเบิร์ต อดีตกุนซือที่เคยพาเซาธ์แฮมป์ตันเลื่อนชั้น แต่หนนี้กับ วูล์ฟส์ แลมเบิร์ต ทำได้ไม่เหมือนเดิมเพราะผลงานไม่กระเตื้อง แม้จะไม่อยู่โซนแดงแต่ก็ไม่เคยหายใจพ้นโซนท็อป 10 ของลีกเลย ดังนั้นเมื่อคะแนนห่างโซนตกชั้นแน่นอนแล้ว ลอรี่ ดารีมเพิล เริ่มแก้ไขสถานการณ์ตั้งแต่ซีซั่นยังไม่จบด้วยการปลด แลมเบิร์ต ที่เป็นโค้ชคนที่ 3 ของทีมในซีซั่นนี้ออก และหนนี้คนที่มาแทนต้องเป็นของจริงเท่านั้น 

4

แม้จะคิดเร็วทำไวแต่ปัญหาคือผู้บริหารของวูล์ฟส์ยังไม่มีคอนเน็คชั่นที่กว้างขวางพอสำหรับการมองหากุนซือฝีมือดีจากต่างแดน นั่นเองเป็นเหตุผลที่ทำให้ชายคนหนึ่งเข้ามาคลุกคลีกับสโมสรอย่างจริงจัง เขาคนนั้นคือ ฮอร์เก้ เมนเดส ซูเปอร์เอเย่นต์ชาวโปรตุเกส ที่มีลูกค้าเป็นคนดังมากมาย อาทิ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ เป็นต้น

ต้องให้ถึงมือเอเย่นต์

เดิมที เมนเดส นั้นก็เข้ามาเกี่ยวข้องแบบวงนอกกับ วูล์ฟส์ ตั้งแต่ที่ โฟซัน อินเตอร์เนชั่นแนล เข้ามาเทคโอเวอร์แล้ว เรียกได้ว่าเชิญชวนให้มาซื้อทีมเลยด้วยซ้ำ แต่จุดแรกเป็นเพียงการเอานักเตะฝีเท้าดีมาเสิร์ฟให้เท่านั้น นักเตะอย่าง เอลแดร์ คอสต้า และ อิวาน คาวาเลียโร่ ซึ่งเป็นลูกค้าของ เมนเดส คือหนึ่งในจำนวนนักเตะชุดแรกที่เขานำมาอยู่กับทีม ทั้ง ๆ ที่นักเตะทั้งคู่เล่นในลีกสูงสุดของโปรตุเกส และ โมนาโก แถมยังเป็นนักเตะที่ได้ลงสนามต่อเนื่องอีกต่างหาก แต่เมนเดส นั้นมีอำนาจในการต่อรองสูงมาก นักเตะเชื่อมั่นในการตัดสินใจของเขา และนั่นทำให้เขาพาทั้งคู่มาสู่ลีกรองของอังกฤษได้นั่นเอง

5

หลังจากปลด แลมเบิร์ต เมนเดส เข้ามามีส่วนกับ วูล์ฟส์ แบบเต็มตัวทันที เนื่องจากเขาสนิทสนมกับเจ้าของชาวจีนเป็นอย่างดี ถึงขนาดที่ ดารีมเพิล เคยให้สัมภาษณ์ว่า "เขาคือเพื่อนร่วมงานและเป็นเพื่อนกับเจ้าของสโมสร บทบาทของเขาคือที่ปรึกษาของทีม และความสนิทสนมกับเจ้าของทำให้เรารับฟังความคิดเห็นและเสนอแนะจากเขา" ... หลังจากนั้นปฏิบัติการณ์โปรตุกีสแห่งเกาะอังกฤษก็ได้เริ่มขึ้น

อันที่จริงมันไม่ได้มีเงื่อนไขการซื้อตัวนักเตะชาวโปรตุเกสแบบที่ใครเข้าใจ แต่มันเป็นเพราะการเอากุนซือใหม่อย่าง นูโน่ เอสปิริโต้ ซานโต้ เข้ามาคุมทีมต่างหาก และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่แท้จริง ...

นูโน่ เป็นหนึ่งในลูกค้าของ เมนเดส มานานนม เขาเป็นโกลสำรองของ เอฟซี ปอร์โต้ และเคยเป็นลูกทีมของ โชเซ่ มูรินโญ่ มาก่อน อย่างไรก็ตาม หลายคนที่เคยทำงานร่วมกับเขาต่างกล่าวขานกันว่า ด้วยความที่เขาเป็นผู้นำในห้องแต่งตัวตั้งแต่สมัยยังเป็นผู้เล่น ทำให้เขามีบางสิ่งที่จะทำให้เส้นทางอาชีพโค้ชสดใสกว่าเส้นทางนักเตะ 

6

หลังแขวนถุงมือ นูโน่ ก็หันมาคุมทีมฟุตบอลจริงเริ่มต้นจาก ริโอ อาฟ และพาทีมไปเล่นฟุตบอล ยูโรปา ลีก เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร ก่อนจะเคยคุม เอฟซี ปอร์โต้ ทีมที่ดีที่สุดในโปรตุเกส ณ เวลานั้นอีกด้วย ดังนั้นด้วยโปรไฟล์ก่อนหน้านี้เราสามารถพูดได้เลยว่าการมาถึงของ นูโน่ นั้นมี เมนเดส เป็นผู้ตัดสินใจและผลักดันให้ดีลนี้สำเร็จลุล่วงอย่างแท้จริง ... 

ยิ่งขุดเข้าไปก็ยิ่งเจอถึงอิทธิพลของ เมนเดส เพราะสำนักข่าว The Guardian เองก็เคยเปิดเผยว่าสาเหตุที่ผู้บริหารของวูล์ฟส์ชุดเก่า ๆ ที่ทำงานมาตั้งแต่ยุค 90s ประกาศลาออกยกชุดนับตั้งแต่นายทุนจีนเข้ามาเทคโอเวอร์ ไม่ได้เป็นเพราะว่าพวกเขาไม่ถูกใจเจ้าของทีม แต่เป็นเพราะพวกเขาไม่สะดวกใจที่จะทำงานกับ เมนเดส ที่พยายามทำตัวให้มีอิทธิพลกับกลุ่มบอร์ดบริหาร เช่นเดียวกับ พอล แลมเบิร์ต ที่ไม่พอใจกับดีลแต่ละดีลที่ เมนเดส จัดให้ เพราะเขาเองไม่ได้อยากได้นักเตะจากโปรตุเกสมากมายขนาดนั้น  

ดังนั้นเพื่อความสบายใจกับทุกฝ่าย และฝั่งผู้บริหารใหม่ก็เชื่อใจ เมนเดส มากกว่า การลาออกยกชุดและสร้างทีมวูล์ฟส์ยุคใหม่แบบเต็มรูปแบบก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมานั่นเอง 

เมนเดส เอาคอตัวเองขึ้นเขียง จริง ๆ แล้วว่าด้วยเรื่องของตำแหน่งที่ปรึกษา เขาไม่สามารถลงลายลักษณ์อักษรได้เพราะผิดกฎของฟีฟ่าที่ไม่ให้เอเย่นต์เข้ามามีบทบาทในสโมสรฟุตบอล ทว่าใครๆต่างก็รู้ว่าเขาเองมีอิทธิพลกับทีม ๆ นี้เป็นอย่างมาก แม้จะไม่มีชื่อในตำแหน่งเป็นทางการก็ตาม 

การเดิมพันด้วยการเอา นูโน่ มาคุมทีม ถือเป็นความเสี่ยงครั้งใหญ่ เพราะถ้าหาก นูโน่ ทำทีมพังอีกครั้งเหมือนที่เขาเคยเอา เซ็งก้า เข้ามาคุมทีม เครดิตที่เขามีกับผู้บริหารของวูล์ฟส์ก็จะลดน้อยถอยลงไป คำแนะนำของเขาจะเสียงเบากว่าที่เคยเป็นมา แต่อย่างที่พวกเราทุกคนได้เห็นในปัจจุบันคือ เมนเดส ชนะเดิมพันครั้งนี้และกินยาวแบบผูกปิ่นโตกับวูล์ฟส์โดยแท้จริง

7

นับตั้งแต่ที่ วูล์ฟส์ แต่งตั้ง นูโน่ เอสปิริโต้ ซานโต้ ทีมดึงนักเตะชาวโปรตุกีสเข้ามาร่วมทีมแล้วแบบนับนิ้วไม่ถ้วน และแน่นอนส่วนใหญ่เป็นนักเตะที่เป็นลูกค้าของ เมนเดส ทั้งนั้น ทว่าหนนี้ เมนเดส เอาจริง นักเตะที่เขาดึงมาร่วมทีม วูล์ฟส์ นั้นไม่ใช่นักเตะครึ่ง ๆ กลาง ๆ อีกแล้ว เขาเล่นแต่ตัวเอ้ตัวใหญ่ ในแบบที่เหนือคาดยิ่งกว่าที่เคยเป็น โดยในปี 2019-20 หรือฤดูกาลที่ผ่านมานั้นมีนักเตะ 11 ตัวจริงของ วูล์ฟส์ เพียง 2 คนเท่านั้นที่ไม่ได้มีเอเย่นต์เป็น เมนเดส ได้แก่ คอเนอร์ โคอาดี้ กองหลังกัปตันทีม และ แม็ตต์ โดเฮอร์ตี้ ที่เพิ่งย้ายไปอยู่กับ สเปอร์ส แบบสด ๆ ร้อน ๆ 

ส่วนเรื่องการเสริมทัพนั้น ตัวเด่น ๆ อย่าง รูเบน เนเวส คือกองกลางดาวรุ่งของวงการฟุตบอลโปรตุเกสและ เอฟซี ปอร์โต้ ทำสถิติต่าง ๆ มากมาย ทว่าเขากลับเลือกย้ายมาอยู่กับ วูล์ฟส์ เช่นเดียวกับคนอื่นๆที่มีดีกรีเป็นแชมป์ยูโร 2016 ร่วมกับทีมชาติโปรตุเกสอย่าง รุย ปาตริซิโอ หรือ เจา มูตินโญ่ ต่างเป็นชื่อที่เหลือเชื่อทั้งนั้น นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ วูล์ฟส์ มีกุนซือดี นักเตะเก่ง และมีเอเย่นต์ที่มีอิทธิพลต่อการนำเอาแข้งเบอร์ใหญ่มาร่วมทีมได้ ... ทุกอย่างหลังจากนั้นก็มีแต่พุ่งทะยานไปข้างหน้า จากทีมเล็ก ๆ กลายเป็น 1 ใน 7 ของสโมสรแถวหน้าของลีกสูงสุดภายในเวลาแค่ 3 ปีเท่านั้น

ความสำเร็จที่โดนชิงชัง 

การเข้ามามีอิทธิพลของ เมนเดส ที่มีต่อ วูล์ฟส์ นั้นสร้างความไม่พอใจให้กับทีมอื่น ๆ สารพัด โดยเฉพาะช่วงที่วูล์ฟส์ เล่นอยู่ในเดอะ แชมเปี้ยนชิพ พวกเขามองว่าการเอาเอเย่นต์มาผูกกับสโมสรคือเรื่องที่เอาเปรียบทีมอื่นชัดเจน แต่ก็อย่างที่ได้กล่าวไว้คือ เมนเดส ไม่ได้เซ็นสัญญาอะไรกับสโมสรทั้งนั้น มีแต่การแสดงออกที่บอกว่าเขามีอำนาจในโต๊ะบริหาร ซึ่งจุดนี้เอาผิดอะไรไม่ได้เลย ...  

8

นอกจากทีมในเดอะ แชมเปี้ยนชิพ แล้ว สโมสรในโปรตุเกสหลายทีมก็ไม่พอใจกับการทำงานของ เมนเดส ที่มักจะใช้อิทธิพลที่มีบังคับให้นักเตะย้ายทีมทางอ้อม เช่นกรณีของ รุย ปาตริซิโอ ที่จริงแล้ว สปอร์ติง ลิสบอน ต้นสังกัดเดิมอยากจะขายให้กับ นาโปลี มากกว่า แต่เมนเดส ก็ใช้กำลังภายในทำให้การย้ายทีมกับวูล์ฟส์ เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม นั่นดูจะไม่สำคัญสำหรับเขาเท่าไรนัก เพราะ เมนเดส ซื้อใจผู้บริหารของ โฟซัน ได้อย่างหมดจดนับตั้งแต่เอา นูโน่ เข้ามาคุมทีมรวมถึงนักเตะระดับเกรด A เข้ามาร่วมทีม นั่นคือสาเหตุที่ทำให้ทุกวันนี้ วูล์ฟส์ ยังคงปิดดีลกับนักเตะโปรตุเกสแบบไม่หยุด จนกลายเป็นหนึ่งในนโยบายสโมสรไปแล้ว แม้กระทั่งเกมคอมพิวเตอร์อย่าง Football Manager ที่มีการอ้างอิงกับโลกแห่งความจริงยังใส่เงื่อนไขนี้ลงไปในเกมอีกด้วย 

ไม่มีอะไรบนโลกนี้ที่มีแต่ด้านดีไปเสียหมด มีการวิเคราะห์กันไปใหญ่โตว่าสิ่งที่วูล์ฟส์กำลังทำในทุกวันนี้ คือการให้ เมนเดส มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการเอานักเตะเข้าสู่ทีม อาจจะนำมาสู่ความล่มสลายได้ในอนาคต ... ว่าง่าย ๆ คือนี่คือระบบที่ไม่สามารถยืนระยะได้ในระยะยาว

ย้อนกลับไปปี 2015 เมนเดส เองก็เคยได้บทบาทผู้เชิดหุ่นให้ประธานสโมสร บาเลนเซีย อย่าง ปีเตอร์ ลิม มาแล้ว ณ เวลานั้น บาเลนเซีย ทุ่มเงินซื้อนักเตะอย่าง อัลบาโร่ เนเกรโด้, เจา กานเซโล่, อังเดร โกเมส, โรดริโก้, ซานติ มิน่า และ อายเมน อับเดนนัวร์ รวมถึงคนอื่น ๆ อีกมากมาย เป็นเงินทั้งหมดเกิน 120 ล้านยูโร โดยกุนซือของ บาเลนเซีย ในตอนเริ่มฤดูกาลก็คือ นูโน่ เอสปิริโต้ ซานโต้ นั่นเอง ...

9

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือ นูโน่ ทำทีมได้ไม่ดีเหมือนตอนนี้ และผลงานที่ตกต่ำนำไปสู่การถูกปลดออกหลังทำงานได้แค่ 3 เดือนเท่านั้น โดยมีการเปลี่ยนกุนซืออีก 3 ครั้งในปีเดียวได้แก่ โบโร่, แกรี่ เนวิลล์ และ ปาโก้ อาเยสเตราน ซึ่งเละเทะจนต้องหนีตกชั้นมาแล้ว ซึ่งนักเตะทั้งหมดที่ซื้อมาเป็นการซื้อมาเพื่อให้ นูโน่ ใช้งานเท่านั้น 

ดังนั้นหลังจากที่ นูโน่ ออกไปและมีการเปลี่ยนกุนซือใหม่ นักเตะของ บาเลนเซีย ที่มีเอเย่นต์เป็น เมนเดส ก็โดนขายทิ้งทีละคน ๆ มีเพียง อังเดร โกเมส, โรดริโก้ โมเรโน่ และ กานเซโล่ เท่านั้นที่ทำกำไร ที่เหลือขาดทุนยับเยิน 

ในขณะเดียวกัน ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าทุกวันนี้ บาเลนเซีย ประสบปัญหาขาดทุนจนต้องเทขายนักเตะในทีมอย่าง เฟร์ราน ตอร์เรส รวมถึงประกาศโต้ง ๆ ว่าใครสนใจนักเตะในทีมตอนนี้พวกเขาพร้อมขายทุกคน ซึ่งหายนะเหล่านี้ ล้วนมีจุดเริ่มต้นจากการที่ เมนเดส เป็นคนนำพาเข้ามาทั้งสิ้น 

อย่างไรก็ตาม การทำงานที่ล้มเหลวในอดีตก็ไม่สามารถเอามาตัดสินอนาคตได้ทั้งหมด เพราะตอนนี้ วูล์ฟส์ กลายเป็นทีมที่เล่นกันอย่างมีคลาส นักเตะแนวรับและแนวรุกสอดประสานกันอย่างมีจังหวะจะโคน พวกเขามีสไตล์การเล่นที่แน่นอนหวังผลได้ เรียกว่าเจอทีมเล็กก็สามารถเอาชนะได้สบาย ๆ และเจอทีมใหญ่ก็บุกสร้างเซอร์ไพรส์ได้ตลอด 

10

ดังนั้นก็ต้องถือว่า วูล์ฟส์ ในยุค โปรตุกีส คอนเน็คชั่น ยังคงเดินหน้าไปในทิศทางที่ดี สโมสรเติบโตขึ้น นักเตะเบอร์ใหญ่ก็อยากย้ายมาอยู่กับทีมมากขึ้น ทั้้งหมดนี้คือความเสี่ยงของบอร์ดบริหารและเจ้าของทีมชาวจีนที่เลือกเชื่อใจ เมนเดส อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วแม้อดีตจะตัดสินอนาคตไม่ได้ แต่ก็สามารถเป็นบทเรียนได้ หากวันใดวันหนึ่งที่วูล์ฟส์ล้ม หรือความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารกับ เมนเดส มาถึงจุดแตกหัก ซึ่งมันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ คงไม่มีใครรู้ แต่ถ้าวันนั้นมาถึง เราคงต้องมาลุ้นกันอีกทีว่าโปรตุกีส คอนเน็คชั่น จะส่งกระทบต่อทีมมากขนาดไหน ...

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ โปรตุกีส คอนเน็คชั่น : เจาะนโยบายสร้างทีมชาติโปรตุเกสในแผ่นดินอังกฤษของ "วูล์ฟส์"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook