"อัลเลน ไอเวอร์สัน" : ผู้นำวัฒนธรรมฮิปฮอปเข้าสู่ NBA อย่างเป็นทางการ

"อัลเลน ไอเวอร์สัน" : ผู้นำวัฒนธรรมฮิปฮอปเข้าสู่ NBA อย่างเป็นทางการ

"อัลเลน ไอเวอร์สัน" : ผู้นำวัฒนธรรมฮิปฮอปเข้าสู่ NBA อย่างเป็นทางการ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กล่าวถึงกีฬาที่ใกล้ชิดกับดนตรีฮิปฮอปมากที่สุด คงหนีไม่พ้น บาสเกตบอล ภาพแร็ปเปอร์ชื่อดังชมการแข่งขัน NBA ไม่ใช่ข่าวแปลกตา แต่คุณรู้หรือไม่ว่า วัฒนธรรมฮิปฮอป เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับกีฬานี้ได้อย่างไร?

คำถามนี้มีคำตอบหนึ่งเดียวคือ อัลเลน ไอเวอร์สัน นักบาสเกตบอลเจ้าของฉายา "The Answer" ที่ไม่เพียงสร้างความมหัศจรรย์ในฐานะนักกีฬา แต่ตัวตนที่หล่อหลอมจากเพลงฮิปฮอป ส่งผลให้แฟชั่นของนักบาสเกตบอลทั่ว NBA เปลี่ยนไปตลอดกาล

Main Stand เสนอเรื่องราวอีกด้านของ อัลเลน ไอเวอร์สัน ถึงบทบาทการพาวัฒนธรรมฮิปฮอป เข้าเป็นส่วนหนึ่งของวงการบาสเกตบอล และยังคงส่งอิทธิพลต่อนักกีฬารุ่นหลังจนถึงทุกวันนี้

วัฒนธรรมที่หล่อหลอม

อัลเลน ไอเวอร์สัน เกิดในเมืองแฮมป์ตัน รัฐเวอร์จิเนีย ครอบครัวของเขาไม่สมบูรณ์แบบนัก ไอเวอร์สันอาศัยอยู่กับ แอน ไอเวอร์สัน คุณแม่ซิงเกิลมัมอายุ 15 ปี และพ่อเลี้ยงชื่อ ไมเคิล ฟรีแมน ที่เคยถูกจับกุมจากข้อหาขายยาเสพติดให้เด็กมัธยม

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า ไอเวอร์สันเติบโตมาในสังคมแบบใด เขาถูกจับตั้งแต่อายุ 13 ปีด้วยข้อหาทำร้ายร่างกายจากการใช้เก้าอี้ฟาดหัวผู้หญิงผิวขาวที่ลานโบว์ลิ่ง ไอเวอร์สันติดคุกอยู่ 4 เดือน หลังพ้นโทษออกมาเขาตั้งใจเปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ ในฐานะนักบาสเกตบอลที่ชาวเมืองภาคภูมิใจ

"ผมเติบโตมาจากชุมชนที่กีฬาคือราชา โดยเฉพาะกีฬาในไฮสคูล" สตีฟ เจมส์ ผู้กำกับสารคดี No Crossover: The Trial of Allen Iverson เล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองแฮมป์ตัน

1

"หากมองเด็กที่มีภูมิหลังยากลำบาก อัลเลน ไอเวอร์สัน คือผู้รอดชีวิต ผมหมายถึง มีอีกหลายคนที่มีพรสวรรค์แบบไอเวอร์สัน แต่ไม่สามารถไปได้ไกลถึงมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์และ NBA"

ปี 1994 ไอเวอร์สันเดินทางสู่กรุงวอชิงตัน ดีซี เพื่อเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ในฐานะนักบาสเกตบอลประจำสถาบัน เขาแจ้งเกิดจากการคว้ารางวัลผู้เล่นใหม่ยอดเยี่ยมประจำฤดูกาล 1994-95 ของ Big East Conference และกลายเป็นซูเปอร์สตาร์ที่น่าจับตาในบาสเกตบอลระดับคอลเลจ

อันที่จริง ไอเวอร์สันคือนักกีฬาชื่อดังตั้งแต่อยู่เมืองแฮมป์ตัน เขาอยู่ในทีมบาสเกตบอลและอเมริกันฟุตบอลของโรงเรียนประจำเมือง ไอเวอร์สันคว้าแชมป์การแข่งขันระดับรัฐเวอร์จิเนีย พร้อมตำแหน่งผู้เล่นประจำปีจากทั้ง 2 กีฬา แต่ไม่ว่าเขาจะทำดีแค่ไหน ไอเวอร์สันไม่เคยได้รับการยอมรับจากคนขาว เนื่องจากประวัติอาชญากรรมที่เคยก่อ

"เขามีชื่อเสียงมาก (ในแฮมป์ตัน) แต่มีหลายคนที่มองว่าเขาคือนักกีฬาที่หยิ่งผยอง โดยเฉพาะในชุมชนคนขาว พวกเขามองว่า ดูไอ้เด็กคนนั้นสิ นี่คือตัวอย่างที่คนพวกนี้เป็น" สตีฟ เจมส์ กล่าว

2

ความแบ่งแยกที่เกิดขึ้นในเมืองแฮมป์ตันสะท้อนกลับเป็นความภูมิใจในวัฒนธรรมคนผิวดำของไอเวอร์สัน เขาไม่ปิดบังความเป็นแก๊งสเตอร์ที่มีในตัว ไอเวอร์สันมีรอยสักเต็มสองแขน, ทำผมทรงเปียคอร์นโรว์, ใส่สร้อยเส้นใหญ่ติดตัวไปทุกที่ และแน่นอน เป็นแฟนเพลงฮิปฮอปเดนตาย

ไอเวอร์สันซึมซับวัฒนธรมฮิปฮอปอีสต์โคสต์ ซึ่งมีศูนย์กลางในมหานครนิวยอร์ก เมืองทางตอนเหนือจากกรุงวอชิงตัน ดีซี เขามีศิลปินในดวงใจเป็นแร็ปเปอร์ชื่อดังต้นยุค 90s ชื่อของ Jadakiss, The L.O.X. และ Redman คือฮีโร่ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตไอเวอร์สัน ไม่ต่างจาก ไมเคิล จอร์แดน นักบาสระดับตำนานที่เป็นแรงบันดาลใจให้หลงรักกีฬานี้

"ผมเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมฮิปฮอป เพราะว่านี่คือตัวตนของผม" ไอเวอร์สันให้สัมภาษณ์กับ Vibe

3

"ผมได้สิ่งเหล่านี้มาจาก Snoop Dogg, N.W.A, Nas, B.I.G., Tupac และคนอื่นๆ ผมเติบโตมากับเพลงของ Jadakiss, The L.O.X., Redman โดยเฉพาะ Redman ผมเป็นแฟนตัวยงของเขา ผมคือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมฮิปฮอป และเต็มใจจะเป็นใครสักคนที่เผยแพร่ฮิปฮอปออกไปในทางที่ดี"

นักบาสหัวขบถและกฎของ NBA

ปี 1996 อัลเลน ไอเวอร์สัน ถูกดราฟต์เข้าสู่ NBA ในฐานะผู้เล่นอันดับหนึ่งโดยทีม Philadelphia 76ers การเข้าสู่ NBA ของเขาสร้างความตื่นเต้นแก่แฟนบาสเกตบอลทั่วสหรัฐอเมริกา แต่ไม่ใช่กับลีกที่เริ่มมองเห็นว่าผู้เล่นหัวขบถรายนี้อาจสร้างปัญหากับพวกเขา

ย้อนกลับไปช่วงเวลานั้น วัฒนธรรมฮิปฮอปขัดแย้งกับภาพลักษณ์ที่ NBA นำเสนอ แม้กีฬาบาสเกตบอลจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่วัยรุ่นผิวดำชาวอเมริกันยึดถือมากที่สุด แต่ NBA มองว่าเพลงฮิปฮอปคือสัญลักษณ์ของการต่อต้าน พฤติกรรมเช่น พ่นสีกราฟฟิตี้, เต้นเบรคแดนซ์ หรือบทบาทดีเจ รวมถึงเอ็มซี ที่เกี่ยวข้องกับการทำเพลงแร็ปยังไม่ได้รับการยอมรับในลีก 

NBA พยายามโปรโมต ไมเคิล จอร์แดน ในฐานะนักกีฬาบาสเกตบอลที่สมบูรณ์แบบ และต้องการให้นักบาสคนอื่นเป็นแบบนั้น โชคร้ายที่ไอเวอร์สันไม่ใช่คนที่ใครจะควบคุมได้ เขาเดินทางสู่สนามบาสเกตบอลด้วยแฟชั่นที่วงการนี้ไม่เคยเห็นมาก่อน 

ไอเวอร์สันใส่เสื้อผ้าตัวใหญ่โคร่งคร่าง มีสร้อยคอเพชรวิบวับเป็นเครื่องประดับ สวมหมวก Do-rag (หมวกซึ่งมีลักษณะกึ่ง ๆ ผ้าโพกศีรษะ) พร้อมหูฟังขนาดใหญ่ เขาดูเหมือนคนที่กำลังไปชมคอนเสิร์ตฮิปฮอปมากกว่านักบาสที่เตรียมตัวลงแข่งขันในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า

4

เมื่อมีคนเปิด ย่อมมีคนตาม นักบาสรายอื่นใน NBA โอบรับวัฒนธรรมฮิปฮอปที่เข้ามาสู่วงการอย่างเต็มใจ ไม่นานนัก ทุกคนในลีกพากันใส่ Sweatsuits และหมวก Do-rag ช่วงก่อนการแข่งขัน ซึ่งขัดกับความต้องการของ NBA ที่ต้องการให้นักบาสแต่งตัวดูดีมีชาติตระกูล

ผู้เล่นมากกว่า 20 รายถูกสั่งปรับ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯจากการแต่งตัวของพวกเขาช่วงปี 2000 ถึง 2005 ซึ่งรวมถึงผู้เล่นดาวดัง เช่น แชคิล โอนีล หรือ โคบี ไบรอันท์ แต่ไม่มีใครเกินหน้าต้นตำรับอย่างไอเวอร์สัน ที่สวมกางเกงไซส์ XXL แม้มีน้ำหนัก 75 กิโลกรัม

ภาพดังกล่าวบาดตาผู้บริหารหัวอนุรักษ์ของ NBA เดวิด สเติร์น คอมมิชชันเนอร์ (กรรมาธิการ) ผู้มีอำนาจสูงสุดของลีก ตอบโต้การแต่งตัวของไอเวอร์สันด้วยการโจมตีเพลงแร็ป 40 Bars ของเขาว่ามีเนื้อหารุนแรงและต่อต้านสังคม ถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนถึงไอเวอร์สันที่เป็นหัวโจกพานักบาสคนอื่นแต่งตัวสไตล์ฮิปฮอป ซึ่งเป็นภาพที่สเติร์นเห็นว่าไม่สมควรเกิดขึ้นใน NBA

"ผมไม่ได้พยายามทำตัวให้แตกต่าง นี่คือสไตล์การแต่งตัวของผู้คนรอบตัวผม ผมไม่ได้เสแสร้งอะไร ทุกคนที่ผมเติบโตด้วยกันมาแต่งตัวแบบนี้กันทั้งนั้น" ไอเวอร์สันให้สัมภาษณ์

5

จุดแตกหักระหว่าง NBA กับ ไอเวอร์สัน มาถึงในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปี 2004 เมื่อหนังสือพิมพ์ Washington Post รายงานการแต่งกายของนักกีฬา 2 ชาติ ขณะที่ผู้เล่นทีมชาติเซอร์เบียแต่งตัวด้วยแจ๊คเก็ตกีฬาและกางเกงวอร์ม ผู้เล่น NBA ในทีมชาติสหรัฐฯสวม Sweatsuits, กางเกงยีนส์โอเวอร์ไซส์, สร้อยคอแพลทตินัม และ ตุ้มหูเพชร ทั้งที่พวกเขาแค่ลงมากินข้าวในโรงแรมที่พัก

แลร์รี บราวน์ เฮดโค้ชบาสเกตบอลทีมชาติสหรัฐอเมริกาอับอายกับสิ่งที่เกิดขึ้น ถึงกับส่งผู้เล่นบางคนกลับไปที่ห้องเพื่อแต่งตัวให้ดีขึ้น ภายหลังที่ข่าวออกไป ฟิล แจ็คสัน เฮดโค้ชของ Los Angeles Lakers ในตอนนั้นกล่าวกับ ESPN ถึงการแต่งตัวของนักบาสสไตล์ฮิปฮอปว่า

"ผู้เล่นแต่งตัวเหมือนใส่ชุดนักโทษมานานหลายปีแล้ว หากเราปล่อยให้พวกเขาทำแบบนี้ นักบาสเกตบอลก็ไม่ต่างจากแก๊งสเตอร์ หรือพวกค้ายา ถึงเวลาที่ต้องทำอะไรสักอย่าง"

NBA จึงลงดาบขั้นเด็ดขาดในฤดูกาล 2005 ด้วยการออกกฎการแต่งกาย (NBA Dress Code) ห้ามผู้เล่นใส่เสื้อไร้แขน, ห้ามใส่กางเกงขาสั้น, ห้ามใส่เสื้อเสื้อยืด เสื้อแข่ง หรือเสื้อกีฬาอื่น ก่อนลงสนาม, ห้ามใส่หมวกระหว่างการแข่งขัน ขณะสัมภาษณ์ หรือทำกิจกรรมอื่นของลีก, ห้ามใส่สร้อยรูปแบบต่างๆ, ห้ามใส่แว่นกันแดด, ห้ามใส่หูฟังขณะอยู่ในอุโมงค์ห้องแต่งตัว สำคัญที่สุด ผู้เล่นต้องแต่งตัวสุภาพก่อนการแข่งขัน รวมถึงการใส่เสื้อคอปกและแจ็คเก็ตกีฬา

กฎการแต่งกายของ NBA ถูกวิจารณ์อย่างมากจากนักกีฬา คนดังในสังคม และแฟนบาสทั่วโลก มีการเปรียบข้อบังคับดังกล่าวเข้ากับการเหยียดผิว หลังมองว่าแฟชั่นสตรีทที่มาพร้อมวัฒนธรรมฮิปฮอปของคนผิวดำคือการแต่งกายที่ป่าเถื่อน รุนแรง และสนับสนุนอาชญากรรม

ไอเวอร์สันตอบโต้กฎที่ออกมาอย่างเจ็บแสบ เขาใส่สูทระหว่างให้สัมภาษณ์หลังจากนั้น แต่หากสังเกตให้ดี ชุดสูทของเขามีขนาดโอเวอร์ไซส์ ไม่ผูกเน็คไท และยังใส่เครื่องประดับเต็มตัวเหมือนเดิม

6

"กฎการแต่งกายที่ออกมาไม่ใช่ตัวตนของผม มันไม่อนุญาตให้ผมปลดปล่อยตัวเอง นี่คือการเพ่งเล็งไปยังยุคสมัยของผม ยุคสมัยของฮิปฮอป ฆาตกรก็ใส่สูทได้ และคุณรู้อะไรไหม พวกเขายังคงเป็นฆาตกร" ไอเวอร์สันกล่าวตอบโต้กฎที่ออกมาของ NBA

อิทธิพลไม่จางหาย

กฎการแต่งกายของ NBA ยังคงมีอยู่ถึงปัจจุบัน แต่มีการผ่อนคลายบ้างตามสถานการณ์ เนื่องจากข้อบังคับที่ออกมาไปขัดขาผู้สนับสนุนหลักของนักกีฬา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบรนด์เสื้อผ้าที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมฮิปฮอป เช่น Nike, Adidas, Puma และ Converse

อย่างไรก็ตาม นักกีฬา NBA มีการปรับตัวเข้ากับแฟชั่นภายใต้ข้อบังคับใหม่ ยุคสมัยของกางเกงยีนส์ไซส์ XXL และเสื้อผ้าหลวมโคร่งคร่างจบลงไปตั้งแต่ปี 2005 นักบาสเกตบอลหันมาใส่เสื้อผ้าที่หรูหรามากขึ้น และผสมผสานเข้ากับการแต่งกายจากวัฒนธรรมอื่น จนกลายเป็นแฟชั่นที่ส่งอิทธิพลออกไปเหนือวงการกีฬา

"นักกีฬาใน NBA มีเงินมหาศาลให้ใช้จ่าย พวกเขาใช้แฟชั่นแสดงออกถึงไลฟ์สไตล์ของซูเปอร์สตาร์ การแต่งกายของคนเหล่านี้มีตั้งแต่ High-Style Swag จนถึงอิทธิพลจากดนตรี Rock & Roll" เอเดรียนเน โจนส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่นจาก Pratt Institute กล่าว

7

อย่างไรก็ดี โจนส์เชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อแฟชั่นของนักกีฬา NBA ไม่ได้มีปัจจัยจากกฎการแต่งกายเพียงอย่างเดียว เธอเชื่อว่าวัฒนธรรมฮิปฮอปที่เข้าใกล้แฟชั่นระดับสูงมากขึ้นในปัจจุบัน คือส่วนสำคัญที่ทำให้นักบาสเกตบอลในปัจจุบัน เปลี่ยนจากการใส่เสื้อยืดโอเวอร์ไซส์ มาสวมเครื่องแต่งกาย High-End ในปัจจุบัน

"หากคุณดูวัฒนธรรมฮิปฮอป และแฟชั่นของพวกเขาช่วงต้นยุค 2000s แล้วนำมาเปรียบเทียบกับปัจจุบัน คุณจะเห็นว่ามันแตกต่างกันมาก ฉันคิดว่าเรื่องทำนองเดียวกันนี้ เกิดขึ้นกับนักกีฬา NBA"

ไม่มีใครรู้ว่าแฟชั่นของนักกีฬา NBA จะเป็นอย่างไรในอนาคต แต่สิ่งหนึ่งที่มั่นใจคือ วัฒนธรรมฮิปฮอปจะไหลเวียนในกีฬาบาสเกตบอลไปอีกนาน แม้ไอเวอร์สันจะโบกมือลา NBA ในฐานะนักกีฬาตั้งแต่ปี 2011 แต่อิทธิพลของเขาในฐานะผู้ผสานวัฒนธรรม 2 ด้าน ทั้งดนตรีและกีฬาที่ส่งอิทธิพลต่อชีวิตคนผิวดำรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน 

ไอเวอร์สันอาจไม่ใช่แฟชั่น ไอคอน เหมือน รัสเซลล์ เวสต์บรูค หรือ เลบรอน เจมส์ แต่นักบาสทั้ง 2 รายคงมาไม่ไกลอย่างทุกวันนี้ หากเขาไม่กล้าเปิดเผยตัวตนที่ซ่อนอยู่ภายใน การแสดงออกของไอเวอร์สันถึงความรักที่มีต่อวัฒนธรรมฮิปฮอปผ่านการแต่งกายของเขา คือก้าวสำคัญที่ส่งอิทธิพลต่อวงการบาสเกตบอลตราบจนทุกวันนี้

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ "อัลเลน ไอเวอร์สัน" : ผู้นำวัฒนธรรมฮิปฮอปเข้าสู่ NBA อย่างเป็นทางการ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook