"Williams" : ธุรกิจครอบครัวตระกูลสุดท้ายที่ยืนหยัดใน F1

"Williams" : ธุรกิจครอบครัวตระกูลสุดท้ายที่ยืนหยัดใน F1

"Williams" : ธุรกิจครอบครัวตระกูลสุดท้ายที่ยืนหยัดใน F1
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

400-500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 12,000-15,000 ล้านบาท.. นี่คืองบประมาณในการทำทีมแต่ละปีของทีม F1 ระดับลุ้นแชมป์ เมื่อรู้เช่นนี้ก็คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักที่รถสูตรหนึ่งจะถูกมองว่าเป็นกีฬา "ของเล่นคนรวย"

ในการแข่งขัน F1 ยุคปัจจุบัน เป็นเรื่องปกติไปแล้วในการเห็นบริษัทหรือค่ายรถยักษ์ใหญ่ เช่น Red Bull, Mercedes-Benz หรือ Ferrari ลงมาเป็นเจ้าของทีมด้วยตัวเอง เนื่องจากงบประมาณที่ต้องใช้สูงเกินกว่าคนทั่วไปจะจัดการดูแลได้ และถึงจะลงทุนจนกลายเป็นผู้ชนะ ผลตอบแทนที่ได้รับก็ดูจะไม่ค่อยคุ้มค่ากับแรงเงินแรงกายที่ทุ่มเทลงไปเท่าไรนัก

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา กลับมีครอบครัวเล็กๆครอบครัวหนึ่งที่ยืดหยัดทำทีม F1 ด้วยงบประมาณอันจำกัด ต่อสู้กับระบอบทุนนิยมอย่างไม่ยอมแพ้ ถึงแม้ว่าทีมระดับ "ชาวบ้าน" ทีมอื่นๆจะค่อยๆถอนตัวไปทีละทีมก็ตาม ชื่อของพวกเขาคือตระกูล "วิลเลี่ยมส์" ยอดนักสู้จากออกซ์ฟอร์ดเชียร์ ประเทศอังกฤษ.. ติดตามเรื่องราวหลากรสชาติของพวกเขาได้ที่ Main Stand

เด็กหนุ่มผู้บ้าความเร็ว

ถ้าคุณคิดว่าตระกูลวิลเลี่ยมส์คือครอบครัวมหาเศรษฐีเงินถุงเงินถังและใช้เงินที่มีมาต่อยอดแพชชั่นในเกมการต่อสู้ Formula 1 แล้วล่ะก็.. ต้องบอกว่าความคิดนั้นผิดโดยสิ้นเชิง ตรงกันข้าม พวกเขากลับเริ่มต้นทุกๆอย่างมาจากฐานะยากจนแทบจะกัดก้อนเกลือกินเสียด้วยซ้ำ

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นจากผู้ชายคนหนึ่งที่มีชื่อว่า "แฟรงก์ วิลเลี่ยมส์" (Frank Williams) เขาเกิดและเติบโตขึ้นมาในย่านจาร์โรว์ เมืองเซาท์ชีลด์ส ประเทศอังกฤษ มีคุณพ่อเป็นทหารอากาศหน่วยทิ้งระเบิด แต่เขาก็ทิ้งครอบครัวไปตั้งแต่ก่อนที่แฟรงก์จะจำความได้ ทำให้ภาระทั้งหมดมาตกอยู่กับผู้เป็นแม่ที่ต้องกลายเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ทั้งๆที่รายได้ทั้งหมดของเธอก็มีแค่เงินเดือนจากการเป็นครูเท่านั้น

1

ด้วยความที่ต้องทำงานหนักจนไม่มีเวลามากพอที่จะดูแลเอาใจใส่ลูก แฟรงก์จึงถูกส่งให้เข้าไปเรียนในโรงเรียนประจำตั้งแต่อายุ 5 ขวบ โรงเรียนดังกล่าวเป็นโรงเรียนคอนแวนต์คาทอลิกที่ค่อนข้างมีกฎระเบียบเข้มงวด อย่างไรก็ตาม เด็กชายแฟรงก์ก็ไม่กลัวที่จะแหกกฎดังกล่าว หนีออกมาภายนอกเป็นประจำ เพียงแต่ว่าเหตุผลในการเป็น "เด็กแหกคอก" ของเขานั้นดูจะแปลกกว่าเด็กทั่วไปเสียหน่อย

"บ่อยครั้งที่ผมหนีโรงเรียนออกมา พอโดนจับได้ก็ถูกลงโทษอย่างหนัก โดนทุบตีด้วยไม้แขวนเสื้อ ผมหนีออกมาเพียงเพื่ออยากจะนั่งรถไฟไปเรื่อยๆเท่านั้น ผมชอบการเคลื่อนที่ของมัน"

"บางครั้งที่มีรถของเพื่อนแม่มาจอดที่หน้าบ้าน ผมก็จะไปเกาะดูตลอด บางครั้งก็พาผมไปนั่งรถเล่น ตั้งแต่นั้นมา ผมชอบรถมากๆ" แฟรงก์เผยความทรงจำในอดีตผ่านสารคดี Williams (2017)

2

เรียกได้ว่าแฟรงก์ค้นพบแพชชั่นของเขาตั้งแต่วัยเยาว์ แต่ด้วยวิถีชีวิตการเป็นนักเรียนโรงเรียนประจำจึงทำให้เขาทำอะไรไม่ได้มากนัก จนกระทั่งแฟรงก์จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมปลาย.. ในตอนนั้นแหละถึงเวลาที่นกจะบินออกจากกรงมาสยายปีกให้โลกได้รับรู้แล้ว

"ผมสามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้นะ แต่ผมไม่สนใจเลยสักนิด ในตอนนั้นตัวผมค่อนข้างโหยหาความอิสระมากๆ" 

หลังจบการศึกษา แฟรงก์ก็ไม่รอช้าที่จะตัดสินใจทำตามสิ่งซึ่งหัวใจของเขาเรียกร้องมาตลอด คือการเข้าสู่โลกแห่งความเร็ว เขาย้ายจากเมืองเซาท์ชีลด์ส ไปอยู่แฟลตในเมืองฮาโรว์กับกลุ่มเพื่อนที่สนใจเรื่องความเร็วและการแข่งรถเหมือนกัน ตามประสาเด็กหนุ่มผู้เดินทางหาความฝัน

"เพื่อนของแฟรงก์ทุกคนในตอนนั้นเป็นเด็กจากตระกูลร่ำรวย มีชาติตระกูล เรียนจบจากอีตัน มาแข่งรถตามแพชชั่น ส่วนแฟรงก์ต่างออกไปโดยสิ้นเชิง เขาไม่มีทั้งเงิน ไม่มีทั้งชาติตระกูล แต่เขาก็กลมกลืนกับทุกคนได้เป็นอย่างดี" 

"เขาหลงใหลในการแข่งรถมากๆ เรียกว่าสุดโต่งไปเลย" แฟรงก์ เดอร์นี่ย์ (Frank Dernie) อดีตวิศวกรของทีม Williams และเพื่อนสนิทของแฟรงก์เผย

ขณะที่ แคลร์ วิลเลี่ยมส์ (Claire Williams) ลูกสาวของแฟรงก์ เล่าเรื่องราวของคุณพ่อตัวเองว่า "พอพ่อได้แข่งรถ โลกของพ่อก็พิเศษขึ้นมา มันเป็นที่ที่ผู้ชายมารวมกลุ่มกัน ทำสิ่งที่รักด้วยกัน และฉันคิดว่าพ่อก็รู้สึกดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มนั้น เพราะตอนเด็กๆ พ่อไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มใดมาก่อนเลย" 

3

ในขณะที่เพื่อนๆคนอื่นมีรถแข่งหรูหราราคาแพงเป็นของตัวเอง แต่แฟรงก์กลับซื้อรถ Austin A35 มือสองมาในราคาเพียงแค่ 80 ปอนด์เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยความที่ไม่มีครอบครัวทางบ้านส่งเงินมาให้ใช้เหมือนกับคนอื่นๆ แฟรงก์จึงจำเป็นต้องดิ้นรนปากกัดตีนถีบทำงานหาเงินไปด้วย 

รายได้หลักของแฟรงก์ในช่วงเวลาดังกล่าวคือการเล่นแร่แปรธาตุอะไหล่รถยนต์ ซื้อมาขายไป รวมถึงการประกอบเครื่องยนต์ให้กับนักแข่งคนอื่นๆด้วย ซึ่งฝีมือของแฟรงก์ก็จัดว่าอยู่ในระดับเซียน มีนักแข่งรถจากทั่วยุโรป โดยเฉพาะจากประเทศอิตาลีมาเป็นลูกค้าให้แฟรงก์ช่วยดัดแปลงเครื่องยนต์ให้ ทำให้เขาสามารถทำเงินได้จากอาชีพนี้พอสมควร 

"แฟรงก์เก่งถึงขนาดที่ว่ามีนักแข่งรถจากอิตาลีคนหนึ่งส่งรถคันเก่ามาให้เขาชำแหละเครื่องยนต์ และช่วยประกอบรถให้ทุกปี แต่สิ่งที่แฟรงก์ทำคือการซ่อมแซมดัดแปลงเครื่องยนต์ในรถคันเดิม และปัดฝุ่นสภาพภายนอกให้ดูใหม่เอี่ยม ก่อนที่จะส่งรถคันดังกล่าวกลับคืนไป"

"นักแข่งคนนั้นคิดว่าเขาได้รถใหม่ทุกปี ทั้งๆที่ความจริงเขาขับรถคันเดิมมา 3 ปีแล้ว" เดฟ โบเรย์ อีกหนึ่งเพื่อนสนิทของแฟรงก์เผย

แฟรงก์ใช้ชีวิตอยู่แบบนั้นเรื่อยมา บางเวลาก็เป็นนักแข่งรถ บางเวลาก็เป็นนักเล่นแร่แปรธาตุเครื่องยนต์ แต่ไม่ว่าอย่างไร แพชชั่นที่เขามีต่อความเร็วก็ไม่เคยหายไปไหน และถ้าจะเรียกเขาว่าเป็นจอมบ้าแห่งวงการก็คงไม่ผิดนัก

"ตอนผมเริ่มแข่งฟอร์มูล่าทรี มีแต่คนมาถามว่ารู้จัก แฟรงก์ วิลเลี่ยมส์ ไหม? ผมก็ตอบไป แน่นอนว่าต้องรู้จัก หมอนี่มันบ้าเกินใครเลยล่ะ ทุกสนามที่ลงแข่งเขาจะขับด้วยความเร็วแบบไม่กลัวตาย เข้าโค้งแบบอันตรายสุดๆ" ฮาวเดน แกนลีย์ (Howden Ganley) นักขับทีม Williams ช่วงยุค 70s เล่าย้อนถึงวีรกรรมของอดีตหัวหน้า

4

"ทั้งชีวิตเขามีแต่เรื่องการแข่งรถ ถ้าไม่มีใครแข่งด้วย เขาก็จะแข่งกับตัวเองโดยการจับเวลาจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่งและจดสถิติในแต่ละวันเอาไว้" เวอร์จิเนีย เบอร์รี่ ภรรยาของแฟรงก์ยืนยันถึงเรื่องนี้อีกแรง

อย่างไรก็ตาม ใจกล้าบ้าบิ่นเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ถึงจะขับเร็วยิ่งกว่าใคร แต่แฟรงก์ก็มักจะประสบอุบัติเหตุจนแข่งไม่จบในสนามอยู่บ่อยครั้ง เส้นทางในการเป็นนักแข่งรถของแฟรงก์จึงไม่ประสบความสำเร็จมากมายนัก

ในปี 1969 หลังจากอยู่ในวงการแข่งรถมาประมาณ 3 ปี แฟรงก์ก็รู้ตัวว่าเขาคงไม่มีศักยภาพพอที่จะไปถึงจุดสูงสุดของโลกความเร็วในฐานะนักแข่ง บทบาทควบคุมดูแลเบื้องหลังอาจจะเหมาะกับเขามากกว่า และก็เป็นในตอนนั้นเองที่โชคชะตานำพาให้เขาโคจรมาพบกับชายที่ชื่อว่า เพียร์ส คูเรจ (Piers Courage)

โลกแห่ง F1

"พวกเขาเข้าคู่กันได้ดีมาก ราวกับเกิดมาคู่กัน เพียร์สเป็นนักแข่งฝีมือดี มีเสน่ห์ เปี่ยมด้วยอารมณ์ขันและพรสวรรค์" เดฟ โบเรย์ ย้อนความถึงความสัมพันธ์ระหว่างแฟรงก์กับเพียร์ส 

ก่อนหน้าที่จะมาพบกับแฟรงก์ เพียร์ส คูเรจ ก็เป็นนักแข่ง F1 อยู่แล้ว เมื่อทั้งคู่สนิทสนมเป็นเพื่อนรักกันอย่างรวดเร็ว พวกเขาจึงไม่รอช้าที่จะสร้างความฝันให้เป็นจริงด้วยการสร้างทีม F1 เป็นของตัวเองในชื่อ Frank Williams Racing Cars.. ในยุคสมัยดังกล่าว F1 ยังไม่ใช่กีฬาที่ใช้เงินถุงเงินถังเป็นงบประมาณในการทำทีมขนาดนั้น ดังนั้น เมื่อมีช่างเครื่องฝีมือดี กับนักขับมือฉมังรวมกัน การสร้างทีมจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ 

5

เรียกได้ว่า แฟรงก์กับเพียร์สเป็นคู่หูที่ราวกับหลุดมาจากภาพยนตร์ ทั้งคู่กำลังเดินตามความฝันของตัวเอง คนหนึ่งในฐานะเจ้าของทีม อีกคนในฐานะนักแข่ง

ผลงานของ Frank Williams Racing Cars ในฤดูกาลแรกแห่งการเริ่มต้นในปี 1969 ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากมาย ถึงแม้จะมีบางสนามที่ขึ้นโพเดี้ยมได้สำเร็จ แต่สุดท้ายเมื่อฤดูกาลสิ้นสุดลง คะแนนรวมของพวกเขาไม่อยู่ในข่ายลุ้นแชมป์แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม สำหรับทีมของเด็กหนุ่มผู้เปี่ยมความฝัน เท่านี้มันก็ยอดเยี่ยมมากแล้วสำหรับการเริ่มต้น พวกเขามีความสุขมากๆกับมัน และกำลังมองไปยังอนาคตข้างหน้าด้วยความตื่นเต้น

ว่ากันว่าช่วงเวลาแห่งความสุขมักจะผ่านไปเร็วเสมอ แต่แฟรงก์เองก็คงไม่คาดคิดว่ามันจะผ่านไปเร็วขนาดนี้.. ในฤดูกาลถัดมา ณ การแข่งขันรายการ ดัตช์ กรังด์ปรีซ์ สนามลำดับที่ 5 ของฤดูกาล 1970 เพียร์ส คูเรจ เสียชีวิตลงอย่างกะทันหันด้วยอุบัติเหตุรุนแรงในสนาม

"ผมไม่อยากเชื่อสิ่งที่เกิดขึ้นจนต้องถามย้ำกับผู้จัดการแข่งขัน 3 ครั้งว่า เพียร์สตายแล้วจริงๆใช่ไหม" แฟรงก์เล่าเหตุการณ์

แฟรงก์เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก เขาคิดว่าการตายของเพื่อนรักคนนี้เป็นความรับผิดชอบของเขา ในงานศพของเพียร์ส หลังจากที่ทุกคนกลับไปแล้ว ลูกผู้ชายอกสามศอกผู้ไม่กลัวสิ่งใดอย่าง แฟรงก์ ถึงขั้นทรุดลงไปนั่งกับพื้นสุสาน พร้อมร้องไห้สะอึกสะอื้นราวกับเด็ก.. แต่ F1 คือโลกแห่งการแข่งขัน แม้จะเสียใจแค่ไหน แต่แฟรงก์ก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากปาดน้ำตาออกและยืนหยัดสู้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม การสูญเสียเพียร์สนั้นส่งผลกระทบกับ Frank Williams Racing Cars พอสมควร พวกเขาไม่ใช่ทีมร่ำรวยเงินทอง ตรงกันข้าม นี่อาจจะเป็นทีมที่เบี้ยน้อยหอยน้อยที่สุดในบรรดาทุกทีมด้วยซ้ำ เมื่อขาดนักขับมือดีไป ผลงานในสนามก็แย่ลงไปด้วย

ในช่วงต้นยุค 70s Frank Williams Racing Cars รวมถึงตัวแฟรงก์เองประสบปัญหาด้านการเงินอย่างหนัก พวกเขาไม่มีเงินแม้จะซื้อยางดีๆมาเปลี่ยนด้วยซ้ำ และต้องใช้ยางมือสองในการแข่งขัน ส่งผลให้ผลงานในสนามแย่ลงเรื่อยๆ 

6

"ในช่วงนั้นถึงขั้นมีมุกตลกในวงการพูดกันว่า ถ้าอยากทำลายอาชีพนักแข่งของตัวเอง ก็ไปขับให้ทีม Williams สิ มันเจ็บปวดนะ และแฟรงก์ก็น่าจะเป็นคนที่เจ็บปวดที่สุด" 

"ครั้งหนึ่ง จินนี่ (ภรรยาของ แฟรงก์) เคยให้เงินแฟรงก์ 8 ปอนด์ เพื่อให้เขาไปซื้อฟิชแอนด์ชิปมากิน แต่ปรากฏว่าเขากลับนำเงินที่ได้ทั้งหมดไปซื้อหัวเทียนรถ พวกเขาอับจนกันถึงขั้นนั้นเลยแหละ" เดฟกล่าว

อีกหนึ่งคนที่ต้องชื่นชมและให้เครดิตเป็นอย่างยิ่งในตำนานของทีม Williams ก็คือ เวอร์จิเนีย เบอร์รี่ หรือ จินนี่ ภรรยาของแฟรงก์ เธอคือหญิงแกร่งที่พร้อมจะสนับสนุนสามีในทุกๆด้าน ถึงแม้ว่าแฟรงก์จะเป็นสามีจอมห่วย ที่วันๆสนใจแต่การแข่งรถ ไม่ได้ให้เวลากับครอบครัวเท่าไรนักก็ตาม

และเมื่อสถานการณ์ของทีม Frank Williams Racing Cars เข้าตาจนจริงๆ ก็เป็นจินนี่นี่แหละที่ตัดสินใจทุบหม้อข้าวตัวเอง ขายแฟลตที่อาศัยเพื่อนำเงินมายื้อชีวิตของทีมให้เดินต่อไปได้

"ถ้าคุณไม่ชนะก็จะไม่มีเงิน แต่ถ้าไม่มีเงินคุณก็จะไม่ชนะ นี่แหละโลกของ F1" จินนี่กล่าว

ถึงจะทำทุกอย่างเต็มที่แล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่อาจยื้อ Frank Williams Racing Cars ได้ไหว แฟรงก์ต้องจำใจยอมให้นักธุรกิจหนุ่มนาม วอลเตอร์ วูลฟ์ (Walter Wolf) เข้ามาซื้อหุ้นของทีมเป็นจำนวน 60% ก่อนจะเปลี่ยนชื่อทีม Wolf-Williams Racing ในปี 1976

7

ในตอนแรก วูลฟ์ก็ดูเป็นนักธุรกิจที่เฉลียวฉลาด ไว้ใจได้ แต่สุดท้ายไม่รู้อะไรดลใจให้เขาปรับโครงสร้างของทีม ถอดแฟรงก์ออกจากตำแหน่งผู้จัดการทีม ซึ่งเรื่องนี้ทำให้แฟรงก์ไม่พอใจเป็นอย่างมาก

"วันหนึ่ง แฟรงก์ไปที่โรงงาน แต่ปรากฏว่าที่นั่นห้ามเขาเข้า ทั้งๆที่มันเคยเป็นโรงงานของเขาแท้ๆ เขาคงเจ็บปวดมาก แต่สิ่งที่เจ็บปวดยิ่งกว่านั้นคือการนำชื่อ Williams ออกจากตัวรถ และใส่คำว่า Wolf ไปแทนนั่นแหละ" เดฟ โบเรย์ กล่าว

เมื่อโดนกีดกัน แฟรงก์ก็ตัดสินใจถอนหุ้นและเก็บข้าวของทุกอย่างออกจากทีมที่เขาเป็นคนสร้างมันขึ้นมาเอง เขาเสียใจกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ถึงขั้นที่ว่าเก็บตัวอยู่ที่บ้านไม่ออกไปไหนเป็นเดือนๆ 

"จินนี่โทรมาหาผม บอกว่ามาดูแฟรงก์หน่อย เขาไม่ยอมออกไปไหน และใส่แต่ชุดนอนตัวเดิมติดกันมา 6 สัปดาห์แล้ว"

"พอผมไปถึงก็เจอแฟรงก์ในชุดนอน ผมก็พูดกับเขาว่า นี่มันกี่โมงแล้ว เปลี่ยนชุดได้แล้วเพื่อน แฟรงก์ ตอบกลับมาสั้นๆ ว่าเขาไม่มีแรงจะทำอะไรเลย" เดฟเล่าเหตุการณ์ในวันนั้นให้ฟัง

เดฟกับแฟรงก์เป็นเพื่อนรักที่สนิทสนมกันมาตั้งแต่เด็ก ดังนั้น เดฟจึงทนไม่ได้ที่เห็นเพื่อนในสภาพแบบนี้ เขาจึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อจะพาแฟรงก์กลับเข้าสู่การแข่งขัน F1 ให้ได้ จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ เดฟก็ยกหูโทรไปหาแฟรงก์เพื่อบอกข่าวสำคัญ

8

"เรามีโอกาสได้เงิน 185,000 ปอนด์จากบริษัทเบียร์เบลเยียมที่ชื่อ เบลล์วิว ถ้าเราสามารถดึงตัวนักแข่งชาวเบลเยี่ยม ปาทริก เนเว มาร่วมกับเราได้ รู้แบบนี้ก็ไปแต่งตัวและออกมาทำงานได้แล้ว!"

อยากให้เรื่องนี้ไม่มีโชคร้าย

สุดท้าย แฟรงก์ก็ได้เงินทุนก้อนนั้นมาก่อตั้งทีม และในปี 1977 Williams Grand Prix Engineering บริษัทที่เปรียบเสมือนบริษัทแม่ของทีม Williams Racing ใน F1 ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งแน่นอนแฟรงก์ต้องขึ้นเป็นประธานทีม ดูแลทั้งหมดด้วยตัวเอง

นอกจากจะมีทีมใหม่เป็นของตัวเองแล้ว แฟรงก์ยังมีข่าวดียิ่งกว่านั้นอีก ซึ่งจริงๆเกิดขึ้นก่อนหน้าการออกมาตั้งทีมใหม่หลายปี คือการที่เขาได้พบกับ แพทริก เฮด (Patrick Head) ชายร่างใหญ่ นิสัยโผงผางโวยวายในช่วงต้นยุค 70s ผู้เข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าวิศวกรให้กับทีม และจะเป็นคนที่จะเปลี่ยนแปลงทีม Williams ไปตลอดกาล

"ถ้าไม่นับการแต่งงานกับภรรยา การเจอแพทริกคือเรื่องราวที่ดีที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตผม เขาเป็นวิศวกรที่มีพรสวรรค์" แฟรงก์เผย

9

สิ่งที่แฟรงก์พูดไม่ใช่เรื่องเกินจริงเลยแม้แต่น้อย แพทริกคือวิศวกรที่มีฝีมือร้ายกาจราวปีศาจ เขาเข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกอย่างของทีม Williams ให้ดีขึ้นทันตาเห็น โดยเฉพาะผลงานการออกแบบระบบอากาศพลศาสตร์ใหม่ให้กับตัวรถ ส่งผลให้รถของ Williams เร็วกว่าของทีมอื่นๆแบบเห็นได้ชัด

"เราทำความเร็วได้เหนือกว่าทีมอื่นๆรอบละ 1-2 วินาที” แพททริก เฮด หัวหน้าทีมวิศวกรผู้สร้างกล่าว

"ผมไม่รู้เรื่องเทคนิคมากนักหรอก แต่ทุกอย่างของรถมันดีขึ้นจริงๆ" อลัน โจนส์ อดีตนักขับของทีมเสริมอีกแรง

หลังจากที่ล้มลุกคลุกคลานมานับสิบปี ในที่สุด แฟรงก์ก็ได้ลิ้มรสของชัยชนะอันดับหนึ่งเป็นครั้งแรก หลังจากที่ เคลย์ เรกัซโซนี (Clay Regazzoni) นักแข่งของทีมขึ้นโพเดี้ยมอันดับที่ 1 ในรายการบริติช กรังด์ปรีซ์ ฤดูกาล 1979

จากที่เคยเป็นม้านอกสายตา ในตอนนี้ Williams Racing มีแฟรงก์กับแพทริกช่วยกันดูแล และได้นักแข่งฝีมือดีแห่งยุคอย่าง อลัน โจนส์ (Alan Jones), เกเก้ รอสเบิร์ก (Keke Rosberg), ไนเจล แมนเซลล์ (Nigel Mansell) และ เนลสัน ปิเกต์ (Nelson Piquet) มาเสริมทีม ทำให้ทีม Williams พุ่งทะยานอย่างไม่มีใครฉุดได้อยู่ 

ทีม Williams กลายเป็นราชาแห่ง F1 ในช่วงยุค 80s อย่างที่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธ พวกเขาคว้าแชมป์ประเภทนักขับในปี 1980, 1982, 1987 และแชมป์ประเภทผู้ผลิตในปี 1980, 1981, 1982 และ 1987

แต่เหตุการณ์ก็เหมือนภาพฉายซ้ำ เมื่อทุกอย่างมันดีเกินไป ก็ต้องมีเรื่องร้ายๆตามมาเสมอ..

ก่อนที่ฤดูกาล 1986 จะเริ่มขึ้น แฟรงก์เดินทางไปประเทศฝรั่งเศสพร้อมกับทีมเพื่อทดสอบรถแข่งคันใหม่ก่อนการแข่งขันจริงที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในอีกไม่นาน ทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี แฟรงก์พอใจกับผลการทดสอบมากๆ แต่ในขณะที่กำลังขับรถยนต์มุ่งหน้าไปยังสนามบินเพื่อเดินทางกลับประเทศอังกฤษ เรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น

รถ Ford Sierra ที่แฟรงก์เป็นคนขับประสบอุบัติเหตุรุนแรงจนสภาพพังยับเยิน แต่ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือตัวของแฟรงก์.. เขาได้รับบาดเจ็บสาหัส

เมื่อมาถึงโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษา ความจริงที่ไม่มีใครอยากได้ยินก็ปรากฏ กระดูกสันหลังของแฟรงก์หัก รวมถึงกระดูกคอด้วย ซึ่งส่งผลให้ถึงแม้แฟรงก์จะรอดตาย ก็ทำให้เขาไม่สามารถกลับมาเดินเหินได้เหมือนปกติอีกแล้ว แฟรงก์เป็นอัมพาตตั้งแต่ช่วงคอลงมาและต้องใช้ชีวิตที่เหลืออยู่บนรถเข็น

10

ทีม Williams จำเป็นต้องเริ่มฤดูกาลใหม่โดยไม่มีเจ้าของทีมมานั่งเฝ้าดูใกล้ชิดติดขอบสนามเหมือนที่ผ่านมา ส่วนแฟรงก์ก็นอนรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียูนานหลายเดือน แต่ในที่สุดเขาก็เอาชนะความตาย และคืนชีพกลับขึ้นมาอีกครั้ง 

จากที่เคยเป็นนักกีฬาตัวยง ใช้ชีวิตผาดโผนสุดเหวี่ยง เมื่อต้องมานั่งอยู่บนรถเข็น แน่นอนว่ามันคือความเจ็บปวดที่ไม่สามารถอธิบายได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะช่วยเยียวยาเขาได้ไม่ใช่การพักผ่อนอยู่บ้าน แต่เป็นการออกมาทำงานที่โรงงาน รวมถึงตามไปควบคุมดูแลทีมอย่างใกล้ชิดติดขอบสนามเหมือนอย่างที่เคย

"แฟรงก์ทำทุกอย่างเหมือนอย่างที่เคย เพราะเขาอยากให้โลก F1 เห็นว่าเขายังอยู่ตรงนี้" เดฟกล่าว

"ผมเคยเสียใจกับเรื่องนี้มากๆ แต่ตอนนี้ผมเลิกคิดถึงเรื่องนั้นไปแล้ว ผมมีสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าอย่างการดูแลทีม F1 ที่ต้องสร้างสิ่งใหม่ๆให้เกิดขึ้นตลอดเวลา นี่คืองานที่คนทั้งโลกอิจฉา" แฟรงก์กล่าว

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา

ถึงแม้ว่าตัวเจ้าของทีมจะต้องนั่งบนรถเข็น แต่ทีม Williams ก็ยังคงครองความยิ่งใหญ่จากยุค 80s สู่ยุค 90s กับการคว้าแชมป์โลกประเภทนักขับเพิ่มอีก 4 สมัย (1992, 1993, 1996, 1997) และแชมป์โลกประเภททีมผู้ผลิตอีก 5 สมัย (1992, 1993, 1994, 1996, 1997) แม้ความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ได้เกิดขึ้นกับทีมอีกครั้ง เมื่อ ไอร์ตัน เซนน่า (Ayrton Senna) หนึ่งในนักขับ F1 ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล เสียชีวิตในรถ Williams ขณะลงแข่งรายการซานมาริโน่ กรังด์ปรีซ์ เมื่อปี 1994

11

แต่เมื่อเข้าสู่ยุค 2000s เงินตราก็เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อการแข่งขัน F1 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลต่อทีมขนาดเล็กอย่าง Williams โดยตรง เรียกได้ว่านับตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมา Williams ก็ไม่เคยสัมผัสกับคำว่าแชมป์โลกอีกเลย ตรงกันข้าม ผลงานของทีมยังย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีช่วงที่พอเห็นแสงสว่างอยู่บ้างก็ตาม

"งบประมาณของทีมอยู่ที่ 110 ล้านปอนด์ต่อปี ในขณะที่ทีมอื่นๆมีมากกว่านี้ 2-3 เท่า" แคลร์ ลูกสาวของแฟรงก์ที่ขึ้นมารับตำแหน่งรองประธานทีมในปี 2012 ซึ่งหากว่ากันตามตรง ก็เหมือนประธานทีมกลายๆกล่าว

ในฤดูกาล 2019 ที่ผ่านมา Mercedes แชมป์ประจำซีซั่นคือทีมที่มีงบประมาณสูงที่สุดด้วยจำนวน 484 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนทีมที่งบประมาณน้อยที่สุดน่ะเหรอ?.. แน่นอนว่าคือ Williams พวกเขามีงบประมาณจำกัดจำเขี่ยเพียงแค่ 132 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น นี่แหละคือความแตกต่างที่ทีมจากตระกูลเล็กๆนี้ต้องเผชิญ และก็ไม่น่าแปลกใจที่อันดับของพวกเขาหลังจบฤดูกาลคืออันดับที่ 10 จาก 10 ทีม โดยเก็บได้เพียง 1 คะแนนเท่านั้น

12

ทีม Williams ประสบปัญหาด้านการเงินหนักถึงขั้นที่ว่า พวกเขาต้องใช้เงินจากสปอนเซอร์ส่วนตัวของนักแข่งภายในทีมเพื่อให้มีเงินพอในการทำทีมไปจนจบฤดูกาล เรียกได้ว่าท่ามกลางโลกแห่งทุนนิยมอันเชี่ยวกราด ทีม Williams เปรียบเสมือนท่อนไม้เล็กๆที่ยังยืนหยัดต่อสู้อย่างกล้าหาญ ไม่ยอมให้กระแสน้ำพัดพาไปได้เด็ดขาด

แต่สุดท้ายงานเลี้ยงก็มีวันเลิกรา..

ถึงใจจะสู้สักเพียงใด แต่ด้วยการเกิดขึ้นของวิกฤต COVID-19 ที่ส่งผลโดยตรงต่อการเงินของทีม จากที่ติดตัวแดงอยู่แล้วยิ่งแดงขึ้นไปอีก ถึงแม้ว่าในฤดูกาล 2021 ทางฝ่ายจัดการแข่งขันจะปรับกติกาใหม่ ให้แต่ละทีมมีงบประมาณในการทำทีมไม่เกินฤดูกาลละ 145 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯก็ตาม แต่ดูเหมือนว่ากฎนี้จะไม่ช่วยให้สถานการณ์ของทีม Williams ดีขึ้นเท่าไรนัก

ในที่สุด หลังจากที่ต่อสู้มากว่า 40 ปี.. 21 สิงหาคม 2020 ตระกูลวิลเลี่ยมส์ก็ได้ขายทีม Williams ให้กับ Dorilton Capital กลุ่มทุนจากประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมกับตัดสินใจอำลาวงการ F1 อย่างเป็นทางการ โดยในการแข่งขันอิตาเลียน กรังด์ปรีซ์ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2020 ถือเป็นวันสุดท้ายที่ตระกูลวิลเลี่ยมส์คุมทีมซึ่งเปรียบเสมือนธุรกิจครอบครัวแห่งนี้ด้วยตัวเอง

13

"เพื่ออนาคตของทีม นี่คือเวลาที่เหมาะสมที่พวกเราจะก้าวออกจากวงการกีฬา เราอยู่ในวงการนี้มากว่า 4 ทศวรรษ และพวกเราภูมิใจอย่างมากกับมรดกที่พวกเราได้สร้างเอาไว้"

"เรารักมันมากๆ ดังนั้น นี่จึงเป็นการตัดสินใจที่คิดไตร่ตรองมาเป็นอย่างดีแล้ว" แคลร์เผยกับ Reuters

ครอบครัววิลเลี่ยมส์ให้ความเชื่อมั่น Dorilton Capital เป็นอย่างมากว่าจะดูแลทีมต่อไปเป็นอย่างดี นอกจากนั้น เจ้าของทีมรายใหม่ยังทำการซื้อใจ ด้วยการสัญญาว่าจะไม่มีการเปลี่ยนชื่อทีม.. Williams Racing จะยังคงอยู่เหมือนเช่นเคย สิ่งที่เปลี่ยนไปคือทีมผู้บริหารเท่านั้น

ในขณะที่ แมทธิว ซาเวจ ผู้บริหารแห่ง Dorilton Capital ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า

"เราเคารพการตัดสินใจที่ยากลำบากของแคลร์และครอบครัววิลเลี่ยมส์อย่างเต็มที่ เราภูมิใจที่จะนำชื่อทีม Williams ก้าวต่อไปสู่อนาคต"

14

ชนะการแข่งขัน 114 สนาม คว้าแชมป์ประเภทนักแข่งและผู้ผลิตรวม 16 สมัย แต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าถ้วยรางวัลเหล่านี้คือการที่ทีม Williams ได้พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าพวกเขารักและทุ่มเทให้กับกีฬาชนิดนี้มากมายขนาดไหน และเรื่องราวของพวกเขาน่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี

"ผมมั่นใจอย่างยิ่งว่าพวกเขาคือคนที่เหมาะสมที่จะพาทีมนี้ก้าวไปข้างหน้า"

"นี่อาจเป็นจุดสิ้นสุดของ Williams ในฐานะทีมที่ดำเนินกิจการโดยครอบครัว แต่มันเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ของ Williams Racing และเราหวังว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จอย่างมากในอนาคต"

"50 ปีในฟอร์มูล่าวัน ผมไม่อาจกล่าวได้ว่าทุกวินาทีเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับผม ผมสูญเสียนักขับที่เปรียบเสมือนเพื่อนรักตลอดจนภรรยาไป แต่ไม่ว่ายังไง ฟอร์มูล่าวันก็เป็นเรื่องที่ดีสำหรับผมจริงๆ" แฟรงก์ วิลเลี่ยมส์ กล่าวทิ้งท้าย

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ "Williams" : ธุรกิจครอบครัวตระกูลสุดท้ายที่ยืนหยัดใน F1

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook