ก่อนจะถึงเมสซี่? : อัลลัน ซิโมนเซ่น แข้งบัลลงดอร์บาร์ซ่า ที่ช็อคโลกย้ายไปลีกรองอังกฤษ

ก่อนจะถึงเมสซี่? : อัลลัน ซิโมนเซ่น แข้งบัลลงดอร์บาร์ซ่า ที่ช็อคโลกย้ายไปลีกรองอังกฤษ

ก่อนจะถึงเมสซี่? : อัลลัน ซิโมนเซ่น แข้งบัลลงดอร์บาร์ซ่า ที่ช็อคโลกย้ายไปลีกรองอังกฤษ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ก่อนจะถึงเมสซี่ ? : อัลลัน ซิโมนเซ่น แข้งบัลลงดอร์บาร์ซ่า ที่ช็อคโลกย้ายไปลีกรองอังกฤษ

บาร์เซโลน่า สร้างนักเตะระดับโลกมาก็ไม่น้อย แม้นักเตะเหล่านั้นหลายคนจะไม่ได้แขวนสตั๊ดกับสโมสร แต่หลายคนที่ย้ายออกไปก็ได้ไปอยู่ทีมใหญ่ ๆ ที่รอต่อคิวขอลายเซ็นเต็มไปหมด

ริวัลโด้ และ โรนัลดินโญ่ ไป เอซี มิลาน, โรนัลโด้ และ ซามูเอล เอโต้ ไป อินเตอร์ มิลาน หรือแม้กระทั่งเจ้าของข่าวลือหนาหูช็อคโลกฟุตบอลที่สุดในเวลานี้อย่าง ลิโอเนล เมสซี่ ก็มีวี่แววที่อาจจะได้ลงเอยกับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ... แต่ไม่มีใครในนี้ที่จะสร้างความประหลาดใจได้เท่ากับนักเตะดีกรีรางวัลบัลลงดอร์อย่าง อัลลัน ซิโมนเซ่น

ย้อนกลับไปไม่ไกลนัก สุดยอดนักเตะที่เก่งที่สุดในโลกอยู่กับ บาร์เซโลน่า ได้ 3 ปี และวันที่เขาย้ายออก เขาเลือกไปเล่นในทีมรองของลีกอังกฤษอย่าง ชาร์ลตัน แอธเลติก ... ทั้ง ๆ ที่อายุตัวเองก็ไม่ได้แก่เกินแกงขนาดนั้น 

อะไรที่ดึงดูดแข้งบัลลงดอร์มาสู่ทีมเล็ก ๆ ในกรุงลอนดอน ติดตามกับ Main Stand ที่นี่

เดนมาร์กสไตรเกอร์ 

ชื่อของ อัลลัน ซิโมนเซ่น อาจจะไม่ได้คุ้นหูแฟนบอลยุคปัจจุบันมากนัก แต่อย่างที่เราได้เคยเกริ่นไปก่อนหน้านี้ เขาคือยอดนักเตะในช่วงปลายยุค 70s ช่วงเวลาเดียวกับนักเตะอย่าง มิเชล พลาตินี่, โยฮัน ครัฟฟ์ และ เควิน คีแกน ที่เป็นดาวเตะระดับแถวหน้าของโลก ซึ่งแน่นอนว่าเขานำหน้าทุกคนทะลุจนขึ้นมาคว้ารางวัลนักเตะที่เก่งที่สุดในโลกอย่าง "บัลลงดอร์" ได้อย่างยิ่งใหญ่


Photo : www.transfermarkt.com

เรื่องราวของเขาเริ่มต้นจากการลงเล่นในลีกเดนมาร์กอย่าง เวจเล่ ก่อนที่จะย้ายมาอยู่กับ โบรุสเซีย มึนเช่นกลัดบัค ในปี 1972 และหลังจากนั้นตำนานดาวยิงชาวเดนิชที่สูงแค่ 165 เซนติเมตรก็เริ่มกระฉ่อนโลกลูกหนัง

ย้อนกลับไปช่วงเวลาแรก ๆ ด้วยร่างกายที่เป็นรอง เขาตัวเล็กเกินกว่านักเตะหลาย ๆ คน อีกทั้งยังเป็นการออกไปเล่นในต่างประเทศครั้งแรกทำให้ ซิโมนเซ่น ต้องปรับตัวอยู่ถึง 2 ฤดูกาล ตามการบอกเล่าจาก ชาร์ลี สต็อก นักกายภาพบำบัดประจำทีมสิงห์หนุ่มในเวลานั้นว่า ตัวของ ซิโมนเซ่น เล่นไม่ออกจนทำให้กุนซือ ฮานส์ ไวส์ไวเลอร์ โดนวิจารณ์ในการซื้อตัวที่ล้มเหลว แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้นเขาก็เถียงแทนทุกคนให้รอเวลาอีกสักนิด เดี๋ยวจะได้เห็นความยอดเยี่ยมที่แท้จริง

"ตอนแรก อัลลัน เล่นในบุนเดสลีกาไม่ได้เลย ปรับตัวได้ยากมาก แต่ในช่วงเวลาเดียวกันมีคนที่ไว้ใจเขา นั่นคือ ไวส์ไวเลอร์ ที่ยืนยันกับทุกคนว่าเด็กอายุ 19 ปีคนนี้จมูกไวในกรอบเขตโทษที่สุดเท่าที่เขาเคยเห็นมา" สต็อก กล่าวกับ wz.de

ทุกอย่างบนโลกนี้มีช่วงเวลาของตนเองทั้งสิ้น หลังจากผ่านพ้นไป 2 ปี ซิโมนเซ่น ที่เริ่มเก็บประสบการณ์และฉายแสงก็เริ่มทำให้เพื่อนร่วมทีมกลัดบัคประหลาดใจ หนึ่งในนั้นคือ กุนเธอร์ เน็ตเซอร์ นักเตะเพื่อนร่วมทีมที่เคยแซว ซิโมนเซ่น ตอนที่ย้ายมาว่า "นี่เราถึงขั้นต้องซื้อเด็กอนุบาลมาเล่นเป็นกองหน้าแล้วเหรอ ?"


Photo : lvironpigs.wordpress.com

แม้คนอื่นจะมองข้าม แต่ อัลลัน ซิโมนเซ่น เป็นนักเตะประเภทที่ถ่อมตัว ชอบทำตัวให้น้อยกว่าชื่อเสียงที่มีและหาทางพัฒนาตลอด เขาเล่าย้อนกลับไปว่าในวันที่ทุกคนบอกว่าเขาไม่ได้เรื่อง เขาไม่ได้รู้สึกขัดใจอะไร เพราะเขารู้ดีเหมือนกับที่ ไวส์ไวเลอร์ ว่า นั่นคือ ขอเวลาอีกพักเดียว เดี๋ยวเขาจะระเบิดฟอร์มได้แน่ 

"มันเป็นเรื่องของเวลา เมื่อเวลาผ่านไปผมเริ่มเจอสิ่งที่ทำให้ผมสนุกกับฟุตบอล ผมเชื่อมั่นเรื่องความสนุกกับสิ่งที่ทำ อย่าทำให้ทุกอย่างซับซ้อนเด็ดขาด ผมบอกตัวเองเสมอว่า เอ็งน่ะมันมีของ และทุกอย่างต้องการเวลาสำหรับปะทุ ผมมั่นใจในตัวเองลึก ๆ ว่าผมจะระเบิดมันทั้งหมดออกมาได้แน่" 

ทุกอย่างระเบิดออกมาจริงเมื่อเวลาของเขามาถึง ซิโมนเซ่น กลายเป็นดาวยิงจอมถล่มประตู และที่สำคัญยิ่งกว่าผลงานส่วนตัวคือการพาทีมคว้าแชมป์บุนเดสลีกา 3 สมัย, เดเอฟเบ โพคาล 1 สมัย, ยูฟ่า คัพ 2 สมัย และ รองแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ อีก 1 ครั้ง ในปี 1977 ซึ่งในปีนี้เองที่เขากลายเป็นเจ้าของรางวัลบัลลงดอร์ ด้วยการเฉือนชนะอันดับ 2 อย่าง คีแกน โดยมีอันดับ 3-4-5 เป็น มิเชล พลาตินี่, โรแบร์โต้ เบตเตก้า และ โยฮัน ครัฟฟ์ ตามลำดับ 


Photo : ekstrabladet.dk

กลัดบัค ณ ช่วงเวลานั้นคือทีมระดับหัวแถวของลีกเยอรมัน ด้วยศักดิ์และศรีอาจจะมากกว่า บาเยิร์น มิวนิค ในยุคนั้นด้วยซ้ำ ทว่าความสำเร็จทั้งหมดที่ผ่านมาทำให้ ซิโมนเซ่น รู้สึกกระหายมากขึ้น ซึ่งมันประจวบเหมาะกับที่ บาร์เซโลน่า ติดต่อเข้ามาซื้อตัวเขา ความสนใจจะย้ายทีมของเขาก็เริ่มขึ้น เหตุผลสำคัญเพราะความยิ่งใหญ่ของสโมสรเป็นข้อแรก และข้อที่ 2 คือ ไวส์ไวเลอร์ อดีตเจ้านายเก่าของเขาเป็นกุนซือของ บาร์ซ่า ในเวลานั้นอีกด้วย ...

 

ราชาแห่งคัมป์นู 

"ผมโดนติดต่อมาตั้งแต่ปี 1978 แล้ว ผมได้นั่งคุยกับ บาร์เซโลน่า และยังมีปัญหาเรื่องย้ายออกจนต้องรออีก1 ปี สุดท้ายก็อย่างที่ทุกคนรู้กัน เมื่อครบสัญญาผมก็กลายเป็นนักเตะของ บาร์เซโลน่า ในทันที" เขาเล่าย้อนกลับไปในการย้ายทีมปี 1979 ซึ่ง ณ เวลานั้นในลีกสเปนมีโควต้านักเตะต่างชาติที่ใช้ลงสนาม 11 คนแรกได้เพียง 2 คนเท่านั้น นั่นหมายความว่าคนที่จะสอดแทรก 2 ตำแหน่งนี้ได้ต้องเป็นคนที่มีดีและสร้างความแตกต่างเหนือนักเตะท้องถิ่นได้จริง ๆ 


Photo : www.information.dk

บาร์เซโลน่า คือความทะเยอทะยานใหม่สำหรับ ซิโมนเซ่น เขามีทีมอื่นติดต่อมาเยอะแยะมากมายแต่ก็เลือกที่นี่ เพราะมนต์ขลังของสโมสร ความยิ่งใหญ่ของสนาม คัมป์ นู และ ภาพแวดล้อมของเมืองที่อากาศดีติดกับทะเลเมดิเตอเรเนียน ทำให้การย้ายทีมราบรื่นไม่มีสะดุด 

"วันที่ผมย้ายมา มีภารกิจต้องไปเปิดตัวนักเตะใหม่ที่สนามคัมป์นู ในวันเปิดตัวของผมก็เหลือเชื่อ มีคนมาดูการเซ็นสัญญาของผมถึง 20,000 คน สำหรับคนที่เพิ่งมาถึงเป็นวันแรกนี่คืออะไรที่มหัศจรรย์มาก"

การเริ่มต้นกับ บาร์เซโลน่านั้นไม่ได้ยากเย็นเหมือนกับที่ กลัดบัค เพราะ ซิโมนเซ่น ในตอนนี้ไม่ใช่เด็ก ๆ อีกต่อไปแล้ว นักเตะดีกรีบัลลงดอร์อย่างเขาเข้ามาสร้างผลกระทบทันที สิ่งที่หลงเหลือเอาไว้เป็นหลักฐานคือคลิปวิดีโอการเล่นของเขาที่ดูยังไงก็คล้าย ลิโอเนล เมสซี่ ในยุคนี้ชัด ๆ มีการดึงจังหวะช้าเร็วในการเลี้ยงบอล ใช้การโยกและขยับหลอกในการเอาชนะคู่แข่ง และเมื่อถึงพื้นที่สังหารเท้าของของ ซิโมนเซ่น ก็อัดเข้ามุมตลอด นั่นคือสิ่งที่เขาแสดงให้แฟน ๆ หลักแสนใน คัมป์ นู ได้เห็นในทุกสัปดาห์


Photo : @footballmemorys

"การเล่นในสนามนี้มันบ้ามาก เหมือนกับภาพจิ๊กซอว์ที่มีชิ้นส่วนเล็ก ๆ เต็มไปหมด คุณลงไปยืนบนสนามและมองขึ้นไปบนอัฒจันทร์ คุณจะรู้สึกทันทีว่าเมื่อไหร่มันจะพ้นระยะสายตาเสียที เพราะมันใหญ่และสูงมาก ในวันที่คนดูเต็มสนามและคุณเล่นอยู่ที่นั่น มันคือประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในความทรงจำของผม" ซิโมนเซ่น เล่าถึงช่วงเวลานั้น 

ปีแรกกับ บาร์เซโลน่า เขากลายเป็นดาวซัลโวอันดับ 1 ของสโมสร หลังจากนั้นก็ใช้เวลา 3 ปี ที่ถิ่น คัมป์ นู สร้างความสำเร็จด้วยการเป็นแชมป์ฟุตบอลถ้วยโคปา เดล เรย์ ในฤดูกาล 1980-81 ก่อนต่อยอดด้วยถ้วยยุโรปอย่าง คัพ วินเนอร์ส คัพ ในฤดูกาล 1981-82 

อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ระหว่างเขาและ บาร์เซโลน่า ก็จบลงเพียงแค่นั้น เพราะในฤดูกาล 1982-83 ทีมมีการเปลี่ยนแปลงโควต้านักเตะต่างชาติใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าการจะหาใครมาแทนที่ของ ซิโมนเซ่น ได้ในจำนวนโควต้า 2 คนจาก 11 ตัวจริง จะต้องเป็นนักเตะที่พิเศษมาก ๆ และเขาคนนั้นที่เข้ามาคือ ดิเอโก้ มาราโดน่า นักเตะอาร์เจนติน่าที่ว่ากันว่าเก่งที่สุดในโลก ณ เวลานั้น 


Photo : m.b.dk

เมื่อ มาราโดน่า มา ซิโมนเซ่น ก็ต้องไป เรื่องมันง่าย ๆ แบบนั้น เนื่องจากเขารู้ดีว่าโควต้านักเตะอีกต่างชาติ 2 ที่คงไม่เหลือว่างสำหรับเขา เพราะคนหนึ่งคือกระดูกสันหลังของทีมอย่าง แบรนด์ ชูสเตอร์ และอีกคนคือคนที่เก่งที่สุดในโลกอย่าง มาราโดน่า ทางเลือกของเขามีอยู่ 2 ทาง นั่นคือการนั่งสำรองเพื่อรอโอกาสลงสนาม หรือการย้ายออกจากทีมที่เขาคิดว่า "ยิ่งใหญ่ที่สุด" ทีมนี้ 

ในทีมที่กดดันที่สุดเพราะต้องการความสำเร็จทุกปี ความคาดหวังจากแฟนบอลและผู้บริหารเติบโตขึ้นเรื่อยในทุกโมงยาม นั่นทำให้ ซิโมนเซ่น รู้ดีว่า เวลาของเขาหมดลงแล้ว หากฝืนอยู่ต่อไปอาจจะทำให้เขาจบไม่สวยก็เป็นได้

"แฟน ๆ ที่นี่หลงใหลในชัยชนะอย่างที่สุด เวลาแพ้พวกเขาก็จะโกรธสุด ๆ เหมือนเช่นกัน การเล่นให้กับบาร์เซโลน่านั้นเป็นความรู้สึกที่กึ่งดีกึ่งยากลำบาก ถ้าฟอร์มของคุณไม่เป็นแบบที่พวกเขาอยากจะเห็น พวกเขาพร้อมจะอัดคุณให้เละ แต่ถ้าคุณระเบิดฟอร์มได้เมื่อไหร่ คุณจะเดินแอ็คทั่วทั้งแคว้นได้ด้วยทางเดินที่เต็มไปด้วยดอกกุหลาบ" ซิโมนเซ่น เล่าถึงวัฒนธรรมของสโมสร ที่ดูแล้วทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนไปเลยแม้แต่น้อย 

 

การย้ายทีมสุดช็อค 

มันจะไม่แปลกอะไรเลยหาก ซิโมนเซ่น ย้ายออกจาก บาร์เซโลน่า และไปอยู่กับทีมระดับแถวหน้าของลีกอื่น ๆ เพราะด้วยอายุอานามของเขาก็เหลืออายุการใช้งานอีกไม่น้อย อีกทั้งผลงานของเขากับ บาร์เซโลน่า ก็รับประกันว่าใครได้ไปรับรองยิงระเบิดแน่นอน ณ เวลานั้นมีความสนใจจาก ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ และ เรอัล มาดริด รวมถึงสโมสรอีกหลายสโมสรในอิตาลี 

อย่างไรก็ตามวันที่เขาย้ายทีมแบบเป็นทางการ ทุกอย่างก็ช็อคโลก เขาเลือกจะย้ายไปอยู่ลอนดอน แต่ไม่ใช่สเปอร์ส หรือทีมในลีกสูงสุดอย่าง อาร์เซน่อล กลับเป็น ชาร์ลตัน แอธเลติก ทีมจาก ดิวิชั่น 2 หรือลีกรองของประเทศอย่างไม่น่าเชื่อ และนี่คือเบื้องหลังที่ทำให้เกิดดีลนี้ 


Photo : Michael H

ช่วงเวลาดังกล่าวเจ้าของสโมสรของ ชาร์ลตัน กำลังคิดโปรเจ็คสร้าง "กาลาติกอส" หรือทีมรวมดาราในแบบฉบับของพวกเขาขึ้นมา และนั่นทำให้ ชาร์ลตัน กล้ายื่นเงินให้กับบาร์เซโลน่า 325,000 ปอนด์ เพื่อขอแลกกับ ซิโมนเซ่น 

เมื่อข่าวออกไปแบบนั้น ทุกคนในวงการฟุตบอลขำก๊ากและเย้ยหยันว่าทีมอย่าง ชาร์ลตัน จะเอาเงินจากไหนมาซื้อนักเตะที่เก่งที่สุดในโลกเมื่อไม่กี่ปีก่อนอย่าง ซิโมนเซ่น ... เพราะในฤดูกาล 1981-82 ชาร์ลตัน จบอันดับที่ 13 ของดิวิชั่นสอง ได้เงินค่าผ่านประตูน้อยที่สุดในบรรดาทุกทีมของลีกนี้ อีกทั้งมองจากสภาพทีมโดยรวม และสภาพสนามอันเป็นสิ่งที่ ซิโมนเซ่น หลงใหลแล้วก็ติดลบ เพราะสนามของ ชาร์ลตัน นั้นมีคนดูเบาบางมาก เฉลี่ยราวเกมละ 6 พันคนเท่านั้น ถ้าเทียบกับ มาดริด และ สเปอร์ส ที่ต้องการตัวเขาเล้ว ชาร์ลตัน แพ้ทุกประตูอย่างไม่ต้องสงสัย 

อย่างไรก็ตามความคิดของมนุษย์ก็เปลี่ยนไปทุกปีเมื่อเราโตขึ้น และดูเหมือนว่า ซิโมนเซ่น ที่วิ่งไปถึงจุดสูงสุดของอาชีพนักเตะจะมาถึงช่วงการเปลี่ยนแปลงทางความคิดแล้ว ... ว่ากันว่าเหตุผลที่เขาเลือกมาเล่นให้กับ ชาร์ลตัน เพราะมันทำให้เขาได้ใช้ชีวิตในลอนดอน เมืองหลวงของอังกฤษที่มีความสะดวกสบาย และการเล่นในดิวิชั่น 2 ก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรนัก เนื่องจาก ซิโมนเซ่น เชื่อว่าเขาจะได้พบวิถีอาชีพที่ผ่อนคลายลงจากเดิมเยอะ อย่างน้อยก็ถือเป็นการพักสมองจากความเครียดที่เคยเจอมากับช่วงที่เล่นให้กับ บาร์ซ่า ได้ 


Photo : Michele Janes

และอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ชาร์ลตัน ชนะใจ ซิโมนเซ่น คือการจ่ายเงินค่าเหนื่อยแบบโปรเหมา ๆ ถึง 82,000 ปอนด์ต่อปี ย้ำอีกครั้งนี่คือ 40 ปีก่อน ราคาขนาดนี้หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คงเหมือนกับที่ อเล็กซิส ซานเชซ เคยรับเงินจาก แมนฯ ยูไนเต็ด สัปดาห์ละ 500,000 ปอนด์นั่นแหละ หากเทียบตามหลักเงินเฟ้อทั่วไป 

มุมมองของคนทำทีมอย่าง มาร์ค อัลเยอร์ ประธานสโมสรป้ายแดงของ ชาร์ลตัน ที่ยอมทุบกระปุกทลายทุกเพดานครั้งนี้ เพียงแค่เขาอยากจะให้แฟนบอล ชาร์ลตัน กลับมาเป็นพวกฟุตบอลฟีเวอร์อีกครั้ง เนื่องจากสนามของพวกเขาสามารถจุผู้ชมได้มากกว่า 50,000 คน (อย่าลืมว่ายุคนั้นไม่บังคับติดเก้าอี้เหมือนสมัยนี้) แต่การขายตั๋วได้แค่เกมละ 6,000-7,000 ที่นั่งช่างเป็นอะไรที่น่าละเหี่ยใจ เรื่องราวการเปย์แหลกในรูปแบบของ "ไม่เสียสละ ชัยชนะไม่เกิด" ทั้งหมดก็เป็นเช่นนี้เอง

สิ่งที่ตามมาจากการเดิมพันครั้งสำคัญของสโมสรนี้คือ ... ฮัลเยอร์ คิดถูก แฟนบอลกลับมาบ้าคลั่งฟุตบอลแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ยอดการเข้าสนามเติบโตขึ้นกว่า 300% จากที่มีคนดูแค่ 6 พัน ยอดขายตั๋วแต่ละเกมของ ชาร์ลตัน เมื่อมี ซิโมนเซ่น ลงสนามขยับสูงเป็น 40,000 ใบต่อ 1 เกม เรียกได้ว่าขยับทั้งกระแสของผู้คน และตัวเลขที่จับต้องได้เลยทีเดียว ... จะบอกว่าคิดถูกก็คงใช่ แต่โลกนี้มันไม่มีอะไร 100% อยู่แล้ว 


Photo : www.telegraph.co.uk

ทุกอย่างล้วนมีราคาที่ต้องจ่าย เมื่อช่วงเวลาฮันนีมูนระหว่าง ชาร์ลตัน และ ซิโมนเซ่น จบลง ฉากของภาพยนตร์ชีวิตเรื่องนี้ก็เปลี่ยนสีเป็นโทนมืด ปรับจังหวะเพลงให้ดูหดหู่ลงอย่างรวดเร็ว เพราะการประเมินของ ฮัลเยอร์ ถูกต้องแค่ตอนเริ่ม แต่ระยะยาวดีลแข้งบัลลงดอร์เขย่าโลกครั้งนี้เป็นดาบสองคมที่ส่งผลร้ายมากกว่าผลดี 

ตัวเลขคนเข้าสนาม 40,000 คน ทีมถูกพูดถึงบนหน้ากระดาษอย่างแพร่หลาย ยังไม่มากพอที่จะกลับมุมแย่ของดีลนี้ได้ และความแย่นี้เกิดจากการประเมินที่ผิดพลาดและการซื้อขายที่เกินตัว 

เงินค่าตัวของ ซิโมนเซ่น ที่แต่เดิมมีราคา 324,000 ปอนด์ และค่าเหนื่อยระดับแพงระยับ ทำให้ ชาร์ลตัน ประสบปัญหาการเงินในเวลาต่อมา พวกเขาจ่ายเงินแบบผ่อนให้กับ บาร์เซโลน่า เพียง 270,000 ปอนด์เท่านั้น แม้จะรีดเลือดทุกหยดก็ยังไม่พอ ซ้ำยังมีค่าเหนื่อยที่ต้องจ่ายทุกสัปดาห์ รายรับของทีมระดับดิวิชั่น 2 ยังไงก็ไม่มีทางคืนทุนอยู่แล้ว 

ฝันหวานของแฟน ๆ เดอะ แอดดิกส์ ก็เดินทางมาถึงตอนจบอย่างรวดเร็ว สุดท้าย ชาร์ลตัน ยอมแพ้ด้วยการประกาศยกเลิกสัญญา ซิโมนเซ่น ผู้สร้างอิมแพ็คต์ต่อทั้งโลกหลังจากย้ายมาอยู่กับทีมได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น ขณะที่เงินค่าตัวที่เหลือนั้น พวกเขาได้ขอผ่อนผันไปก่อนและบอกกับบาร์เซโลน่าว่า เมื่อวันใดที่สถานการณ์การเงินของทีมดีขึ้น พวกเขาจะกลับมาจ่ายหนี้เดิมให้หมด ... ซึ่งในส่วนนี้ไม่มีใครบอกว่าพวกเขาจ่ายหมดตามสัญญาตอนไหน หรือจ่ายหมดหรือไม่ แต่สิ่งที่ยืนยันว่าดีลนี้พังจริง ๆ คือทีม ชาร์ลตัน เกือบตกชั้นในฤดูกาลดังกล่าว ด้วยการจบอันดับ 17 ... 

16 นัด 9 ประตู คือตัวเลขที่สวยมาก ๆ สำหรับตำแหน่งดาวยิงอย่างเขา แต่ปัญหาที่มากมายหลายด้านทำให้ ซิโมนเซ่น ยอมยกเลิกสัญญาแต่โดยดี ก่อนจะย้ายกลับไปเล่นให้ เวจเล่ สโมสรที่ดันเขาแจ้งเกิดอีกครั้ง ก่อนจะแขวนสตั๊ดในปี 1989


Photo : thesefootballtimes.co

การย้ายทีมของ ซิโมนเซ่น จากบาร์เซโลน่าสู่ชาร์ลตัน ยังคงเป็นหนึ่งในตำนานการย้ายทีมสุดช็อคของโลกฟุตบอลในทุกวันนี้ และหากจะเหลืออะไรให้คิดตามจากเรื่องนี้ เราจะพบได้ว่าที่ บาร์เซโลน่า นั้นมีความกดดันกับนักเตะมากแค่ไหน โดยเฉพาะในวันที่ทีมแพ้และตกต่ำ แฟนบอลจะแสดงออกกับพวกเขาแบบไม่ปราณี 

และแน่นอนอีกข้อหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือการย้ายทีมของ ซิโมนเซ่น สอนให้รู้ว่า เมื่อฟุตบอลเป็นธุรกิจการทุ่มซื้อเอามันและการหวังความสำเร็จทางลัดแบบไม่มีแบบแผนคือการฆ่าตัวตายอย่างช้า ๆ ... เหมือนกับที่ ชาร์ลตัน เป็น พวกเขาทุบเพดานทุกอย่างเพื่อซื้อนักเตะที่เก่งที่สุด ผู้มาพร้อมกับหายนะแบบที่พวกเขาคิดน้อยเกินไป 

ดังนั้นหากมองย้อนกลับมา สถานการณ์ของ ลิโอเนล เมสซี่ ณ เวลานี้ หลายทีมคงใช้เรื่องของ ซิโมนเซ่น เป็นคำเตือนได้ ... เมสซี่ จะต้องได้รับการเปย์ค่าเหนื่อยสูงที่สุดในโลกแน่สำหรับการย้ายทีมครั้งนี้ (แม้เงื่อนไขสัญญากับบาร์ซ่า อาจทำให้สามารถย้ายทีมแบบไม่มีค่าตัวได้ก็ตาม) ดังนั้นทีมที่จะซื้อตัวเขาต้องคิดทางหนีทีไล่ เล่นแร่แปรธาตุให้ดี ๆ มิเช่นนั้น เมสซี่ อาจจะเป็น ลูกอมเคลือบยาพิษ ที่มาพร้อมกับความวุ่นวายด้านตัวเลขการเงิน หรือแม้กระทั่งกฎ FFP ก็เป็นได้ ... 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook