"ฟุตบอลทีมชาติซาอีร์" : เสือดาวแห่งแอฟริกาที่ทั้งผงาดและพังพินาศเพราะเผด็จการ

"ฟุตบอลทีมชาติซาอีร์" : เสือดาวแห่งแอฟริกาที่ทั้งผงาดและพังพินาศเพราะเผด็จการ

"ฟุตบอลทีมชาติซาอีร์" : เสือดาวแห่งแอฟริกาที่ทั้งผงาดและพังพินาศเพราะเผด็จการ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทีมจากแอฟริกากลาง อาจจะเป็นที่จดจำจากความพ่ายแพ้ที่น่าอับอายในฟุตบอลโลกในเยอรมัน แต่ความเป็นจริงมันมีอะไรมากกว่านั้น

"ฟุตบอลและการเมืองต้องเป็นสิ่งที่แยกออกจากกัน" คือคำที่ฟีฟ่าพร่ำบอกมาอย่างยาวนาน แต่มันก็เป็นแค่อุดมคติเท่านั้น เมื่อการเมืองเกี่ยวพันกับชีวิตผู้คนในทุกแง่มุม ไม่เว้นแม้แต่กีฬา 

นั่นจึงทำให้เกมลูกหนังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมาโดยตลอด เช่นเดียวกับ "เสือดาว" ทีมชาติซาอีร์ ภายใต้การนำของผู้นำเผด็จการ โมบูตู เซเซ เซโก ที่เรืองอำนาจในช่วงปี 1965-1997

และนี่คือเรื่องราวของอดีตยอดทีมแห่งแอฟริกา ที่ครั้งหนึ่งเคยสร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วทวีป แต่ต้องสูญสลายลงด้วยน้ำมือของคนที่สร้างมา

กำเนิดคองโก 

ณ ดินแดนที่กว้างใหญ่ไพศาลสุดลูกหูลูกตากลางทวีปแอฟริกา ที่ผู้คนอยู่กันเป็นเผ่า ในปี 1884 มันได้ถูกจับจองจากกษัตริย์เลโอโปลด์ ผู้นำของเบลเยียม พร้อมกับตั้งชื่อดินแดนแห่งนั้นว่า "เสรีรัฐคองโก"

มันคือยุคแห่งการล่าอาณานิคม ที่มหาอำนาจในยุโรป ต่างเข้ามายึดครองพื้นที่ในทวีปแอฟริกา เพื่อตักตวงทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งทำให้ชาวคองโก ต้องทุกข์ทรมานภายใต้การปกครองของกษัตริย์เลโอโปลด์ ที่ทำให้ประชากรลดลงไปกว่าครึ่ง และไม่ได้ดีขึ้นเลยหลังรัฐบาลเบลเยียมมารับช่วงต่อในช่วงปี 1908 

ทว่าพวกเขาก็มามีความหวังเมื่อในช่วงปลายทศวรรษที่ 1950s ปาทริค ลูมุมบา อดีตเซลส์แมนที่ผันตัวมาเป็นนักการเมือง ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำในการเรียกร้องเอกราช ก่อนจะประสบความสำเร็จในปี 1960 และทำให้เขาได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของคองโก 

1

โดย ลูมุมบา ยังได้แต่งตั้ง โจเซฟ โมบูตู อดีตนายทหารยศจ่าสิบเอก และนักข่าวหนังสือพิมพ์ขึ้นมาเป็นผู้ช่วยส่วนตัวของเขาในการบริหารประเทศ 

อย่างไรก็ดี คำปราศรัยครั้งแรกของเขาในการประกาศเอกราช สร้างความขุ่นเคืองใจให้กับกษัตริย์ของเบลเยียม ที่เข้ามาเป็นสักขีพยาน เมื่อเขาเรียกชาวเบลเยียมและคนยุโรปว่าความอยุติธรรมและการเอารัดเอาเปรียบที่แอฟริกาได้รับ

"ผมขอสดุดีในนามรัฐบาลคองโก พวกเรานั้นถูกคุกคามร่วมกัน เราได้พบกับความเจ็บปวดรวดร้าว ทั้งตอนเช้า กลางวัน และกลางคืน เพียงเพราะเราคือนิโกร" ลูมุมบากล่าวในวันรับตำแหน่ง 

"ใครจะลืมได้ลงกับพี่น้องของเรามากมายต้องล้มตายจากคมกระสุน กับคนที่ไม่ทำตามคำสั่งกดขี่ข่มเหงจากรัฐบาล"

ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ เบลเยียม ยังคงยืนยันที่จะดูแลในส่วนสำคัญของประเทศ รวมไปถึงกองทัพ โดยอ้างว่า คองโก ยังไม่พร้อม และสิ่งนี้ก็ทำให้ เหล่าทหารไม่พอใจ และก่อจราจล จนเกิดเป็นความวุ่นวายในประเทศ ที่เรียกว่า "วิกฤติการณ์คองโก" 

วิกฤติการณ์คองโก ยังทำให้ เบลเยียม ส่งทหารเข้ามาโดยอ้างว่า เพื่อรักษาความสงบ ก่อนที่การไปขอการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตของ ลูมุมบา (หลังไปขอการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา แต่ถูกปฏิเสธ) จะทำให้เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ 

2

และมันก็ทำให้เขาถูกทหารเข้าทำการปฎิวัติ หลังเข้าดำรงตำแหน่งได้เพียงแค่ 3 เดือน ก่อนจะถูกประหารในเดือนมกราคม 1961 โดยคำสั่งของ โมบูตู อดีตผู้ช่วยของเขา ที่ตอนนั้นดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก โดยมี ซีไอเอ เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง  

และมันก็ทำให้ โมบูตู ขึ้นสู่อำนาจอย่างรวดเร็ว เมื่อในปี 1965 เขาได้กลายเป็นผู้นำของประเทศอย่างเป็นทางการ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น ซาอีร์ ในปี 1971 รวมถึงชื่อตัวเองเป็น โมบูตู เซเซ เซโก ในปี 1972 ก่อนจะปกครองคองโกด้วยระบอบเผด็จการอย่างโหดเหี้ยมมานับตั้งแต่นั้น 

อย่างไรก็ดี มันก็เป็นจุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่ของทีมฟุตบอลทีมชาติของพวกเขาเช่นกัน

เสือดาวแห่งแอฟริกา 

ฟุตบอลถือเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมในแอฟริกา ทำให้มันถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรวมคนแอฟริกาที่เดิมแบ่งแยกเป็นเผ่าให้เป็นหนึ่ง และหนึ่งในคนที่ทำได้สำเร็จคือ ควาเม เอ็นครูมาห์ ผู้นำคนแรกหลังได้รับเอกราชของกานา 

ในปี 1966 ทีมชาติกานาของ ควาเม ได้สร้างความเจ็บช้ำให้กับ โมบูตู เมื่อพวกเขาถูกทัพ "ดาวดำ" บุกมายัดเยียดความปราชัยถึงถิ่น แต่ถึงอย่างนั้นมันก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ โมบูตู อยากสร้างทีมฟุตบอลของเขาเองขึ้นมาบ้าง 

อันที่จริง โมบูตู ก็ชื่นชอบในเรื่องกีฬา โดยเฉพาะมวยและฟุตบอล ซึ่งครั้งหนึ่งเขาเคยจัดการแข่งขันฟุตบอลฉลองการขึ้นสู่อำนาจในปี 1965 มาก่อน 

3

แต่ครั้งนี้ เขาเอาจริงเอาจังกับมันมาก และด้วยด้วยอำนาจที่เบ็ดเสร็จ ทำให้เขาอัดงบประมาณในด้านฟุตบอลอย่างไม่ยั้ง แม้ว่าคนทั้งประเทศจะยากจนและอยู่ในภาวะอดอยากก็ตาม 

เขาเริ่มต้นด้วยการเชิญ เปเล่ ยอดนักเตะชื่อก้องโลกชาวบราซิล และ เอฟซี ซานโตส มาทัวร์แอฟริกา เพื่อปลุกกระแสฟุตบอลในประเทศ ก่อนจะสร้างทีมด้วยการเรียกตัว นักฟุตบอลเชื้อสายคองโก ที่เล่นอยู่ในเบลเยียมให้กลับมาเล่นให้ทีมชาติซาอีร์ โดยยื่นข้อเสนอว่าจะมอบรถโฟล์คสวาเกน และที่พักสุดหรูเป็นการแลกเปลี่ยน พร้อมกับจ้างโค้ชจากฮังการีเข้าคุมทีม 

ด้วยนโยบายของ โมบูตู ทำให้ ซาอีร์ พัฒนาตัวเองขึ้นมาอย่างก้าวกระโดด ก่อนที่ในปี 1968 พวกเขาจะคว้าโทรฟีแรก ด้วยการเอาชนะกานา 1-0 ในนัดชิงชนะเลิศแอฟริกัน เนชั่นส์คัพที่เอธิโอเปีย และเป็นแชมป์สมัยแรกในรายการนี้ของพวกเขา  

ความสำเร็จครั้งนี้ ทำให้โมบูตูรู้ดีว่า มันจะนำชื่อเสียงมาให้เขา ทำให้หลังจากนั้น เขาตัดสินใจเปลี่ยนฉายาของทีมจาก "สิงห์" เป็น "เสือดาว" เพื่อให้เข้ากับตัวเขาที่มักสวมหมวกเสือดาวจนเป็นเอกลักษณ์  

นอกจากนี้ โมตูบู ยังได้ออกกฎห้ามนักเตะที่เล่นอยู่ในซาอีร์ ออกไปค้าแข้งในต่างประเทศ โดยเขาอ้างว่านี่คือส่วนหนึ่งของการปฏิวัติวัฒนธรรมเพื่อสร้างอัตลักษณ์ของแอฟริกา 

"ซาอีร์ต้องไม่กลายเป็นแหล่งกำเนิดของทหารรับจ้างยุโรปในแอฟริกา" สโลแกนของโมบูตู 

4

และมันก็สะท้อนให้เห็นว่าทีมชาติคือสมบัติของรัฐบาลอย่างชัดเจน แต่เขาก็ไม่สน เพราะเขามองว่าความสำเร็จคือสัญลักษณ์ของเสถียรภาพของประเทศเท่านั้น
 
นั่นจึงทำให้เขายังคนเดินหน้าอัดงบประมาณในด้านฟุตบอลอย่างเต็มที่ โดยยังคงมอบความสะดวกสบายให้แก่นักเตะและโค้ช เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ก่อนที่มันจะทำให้พวกเขากลายเป็นมหาอำนาจของแอฟริกา ที่การันตีด้วยการคว้าแชมป์แอฟริกัน เนชั่นส์คัพสมัยที่ 2 ในปี 1974 

"เขาเป็นเหมือนพ่อของเรา เขาต้อนรับเราที่บ้านของเขา ให้รถยนต์และบ้านคนละหลังแก่นักเตะ" เอ็มเวปู อิลุงกา อดีตนักเตะทีมชาติซาอีร์ กล่าวกับ BBC เมื่อปี 2002 

ในขณะเดียว แชมป์ที่กรุงไคโร ไม่ได้ทำให้พวกเขากลายเป็นเบอร์หนึ่งของทวีปเท่านั้น แต่ยังได้โบนัสสำคัญ เมื่อมันคือตั๋วใบที่ทำให้พวกเขาได้ผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 

อย่างไรก็ดี มันกลับเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบ

โฆษณาชวนเชื่อและความอับอาย 

การได้ผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายของซาอีร์ กลายเป็นข่าวดีของ โมบูตู เพราะไม่เพียงทำให้ ซาอีร์ ได้แสดงความยิ่งใหญ่ในสายตาชาวโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสให้ ผู้นำเผด็จการได้โฆษณาชวนเชื่อระบอบการปกครองของเขา 

ทำให้ในฟุตบอลโลกที่เยอรมัน ก่อนเกมนัดที่ 2 ที่พบกับยูโกสลาเวีย เขาได้ซื้อป้ายโฆษณาที่แพงที่สุดในสนาม และเขียนคำว่า "Zaire-Peace" หรือ "ซาอีร์-สันติภาพ" แม้ว่ามันจะไม่เคยเกิดขึ้นเลยภายใต้การปกครองของเขาก็ตาม 

5

อย่างไรก็ดี แม้ว่าซาอีร์ จะเป็นแชมป์ระดับทวีปถึงสองครั้ง แต่โมบูตู ก็รู้ดีว่าทีมชาติของเขายังห่างไกลจากเวทีระดับโลก และมีโอกาสเพียงน้อยนิดที่จะเอาชนะคู่แข่ง แต่ถึงอย่างนั้นทัพ "เสือดาว" ต้องไม่สร้างความอับอายที่เยอรมันตะวันตก 

พวกเขาประเดิมสนามด้วยความพ่ายแพ้ต่อสก็อตแลนด์ ซึ่งมันเป็นผลการแข่งขันที่พอรับได้ เพราะนักเตะซาอีร์ ต่างเล่นเกมรับได้เป็นอย่างดี ก่อนจะมาเสียประตูจากการวอลเลย์ของ ปีเตอร์ ลอร์ริเมอร์ ยอดนักเตะในยุคนั้น และลูกโหม่งของ โจ จอร์แดน 

แต่ปัญหามาเกิดขึ้นในเกมนัดที่ 2 เกมที่ โมบูตู ตั้งใจจะใช้เป็นเกมประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงของเขา เมื่อซาอีร์ โดน ยูโกสลาเวีย นำไปถึง 6-0 ใน 45 นาทีแรก ก่อนจะพ่ายไปในท้ายที่สุดถึง 9-0 ที่กลายเป็นหนึ่งในความพ่ายแพ้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายจนถึงทุกวันนี้

ความพ่ายแพ้ดังกล่าวสร้างความอับอายให้กับทั้งซาอีร์ และโมบูตู รวมไปถึงแอฟริกา ทำให้ในตอนแรกมันถูกมุ่งเป้ามาที่ บลาโกเย วิดินิช โค้ชชาวยูโกสลาเวียของทีมจากซับซาฮารา โดยถึงขั้นมีทฤษฎีว่า วินิดิช รู้ว่าซาอีร์ ไม่น่าจะเอาชนะคู่แข่งได้ จึงพยายามให้บ้านเกิดของเขาเอาชนะให้ได้ มากที่สุดเพื่อเข้ารอบในฐานะแชมป์กลุ่ม

ทฤษฎีนี้ตั้งข้อสังเกตุว่า หลังจากซาอีร์ ถูกนำไปถึง 3-0 ตั้งแต่ 18 นาทีแรก วินิดิช ก็เปลี่ยน คาซาดิ เอ็มวัมบา ผู้รักษาประตูตัวจริงออกทั้งที่ไม่ได้มีอาการบาดเจ็บ ก่อนจะส่ง ทูบิลันโด เอ็นดิมบี ลงมาเฝ้าเสา และทำให้ทีมเสียไปอีก 6 ประตูหลังจากนั้น 

6

อย่างไรก็ดี ความเป็นจริงอาจไม่ได้เป็นอย่างนั้น เมื่อนักเตะซาอีร์ ในทีมชุดนั้นยืนยันว่า ความพ่ายแพ้ในเกมนั้น เป็นการประท้วง หลังจากที่พวกเขารู้ว่าจะไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยงในการเดินทางมาแข่งในฟุตบอลโลกครั้งนี้ 

เนื่องจากในปีดังกล่าว ทองแดง ที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของซาอีร์มีราคาตกต่ำ บวกกับการปฏิรูปเศรษฐกิจของโมบูตูที่เหมือนการยักยอกงบประมาณของประเทศเข้ากระเป๋าตัวเอง ทำให้เศรษฐกิจของพวกเขาต้องพังพินาศ และทำให้ทีมชาติซาอีร์ กลายเป็นเครื่องสังเวยในครั้งนี้ 

"หลังจากเกมกับสก็อตแลนด์และก่อนเกมยูโกสลาเวีย เรารู้ว่าเราจะไม่ได้รับเงิน เราเลยปฎิเสธที่จะเล่น" เอ็มเวปู อิลุงกานักเตะในทีมชุดนั้นบอกกับ BBC 

ทว่าความพ่ายแพ้อย่างมโหฬาร ต่อยูโกสลาเวีย ทำให้ โมบูตู กลัวจะเสียหน้าไปมากกว่านี้ ทำให้โดดลงมาเป็นผู้สั่งการด้วยตัวเอง พร้อมกับส่งการ์ดประธานาธิบดีไปเยอรมันตะวันตก เพื่อขู่และกดดันทีม 

ก่อนที่มันจะทำให้เกิดการประท้วงที่โด่งดังไปทั้งโลก

ประท้วงให้โลกรู้  

"หลังจากเกมกับยูโกสลาเวีย เขาส่งการ์ดประธานาธิบดีมาที่โรงแรม พวกเขาปิดทุกประตูไม่ให้นักข่าวเข้ามา และบอกว่าถ้าเราแพ้ 4-0 ในเกมสุดท้าย เราจะกลับบ้านไม่ได้" เอ็มวูเป ย้อนความหลัง 

7

ความพ่ายแพ้ในเกมนัดก่อนสร้างความเดือดดาลให้ โมบูตู ถึงขนาดมีข่าวลือว่า พวกเขาอาจจะไม่ได้กลับบ้านเกิด หรือได้เจอครอบครัว หรือแม้กระทั่งอาจถูกทรมานตอนเดินทางกลับถึงประเทศ 

และมันก็โชคร้ายเหลือเกิน ที่ในเกมนัดสุดท้าย ซาอีร์ ต้องโคจรมาพบกับ บราซิล แชมป์เก่า และยอดทีมในยุคนั้น ที่อุดมไปด้วยนักเตะชั้นยอดมากมาย ทำให้ก่อนเกมสื่อต่างคาดการณ์ว่าอาจจะได้เห็นเลข 2 หลักในฟุตบอลโลกครั้งนี้ 

อย่างไรก็ดี ซาอีร์ ก็เล่นได้อย่างยอดเยี่ยม ในเกมนั้น พวกเขามาด้วยแทคติกเข้าปะทะคู่แข่งอย่างหนัก จนทำให้นักเตะบราซิลไปไม่เป็น บวกกับความยอดเยี่ยมของ คาซาดี เอ็มวัมบา ที่เซฟอย่างอุตลุต จนทำให้ทีมตามหลังแค่ 1-0 หลังจบครึ่งแรก 

ทว่าในครึ่งหลัง บราซิล มายิงเพิ่มอีก 2 ประตูจากริเวลริโน และวัลโดมิโน ก่อนจะมาลุ้นทำประตูที่สี่ในช่วงห้านาทีสุดท้าย เมื่อมาได้ฟรีคิกหน้ากรอบเขตโทษ 

แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อขณะที่นักเตะซาอีร์ กำลังตั้งกำแพง และรอการเล่นจากนักเตะบราซิล เอ็มเวปู อิลุงกา ก็พุ่งพรวดออกมา ก่อนจะเตะบอลลิ่วไปไกล 

นั่นทำให้เขากลายเป็นตัวตลกมานับตั้งแต่นั้น วิดีโอจังหวะนี้ของเขาถูกเล่นบ่อยครั้งเมื่อฟุตบอลโลกเวียนมาบรรจบ และถูกเรียกว่าการเล่นสุดเฟลครั้งหนึ่งในฟุตบอลโลก แต่ความเป็นจริงมันไม่ใช่ 

"ผมเจตนาทำมัน ผมรู้เรื่องกฎเป็นอย่างดี ผมไม่มีเหตุผลที่จะเล่นต่อ และบาดเจ็บ ในขณะที่ผู้ได้รับผลประโยชน์เรื่องเงินนั่งอยู่บนระเบียง มันไม่ควรเป็นอย่างนั้น" เขาอธิบายกับ BBC  

"ผมตั้งใจทำในสิ่งนั้นเพื่อให้ได้ใบแดงแทนที่จะได้เล่นต่อ ผมรู้กฎเป็นอย่างดี กรรมการค่อนข้างใจดี และให้แค่ใบเหลือง แต่ผมไม่เคยเสียใจในสิ่งที่ผมทำ" 

มันคืออารยะขัดขืนที่นักเตะคนหนึ่งสามารถทำได้ เพื่อเป็นการประท้วงต่อ โมบูตู ที่กำลังดูอยู่ มันเป็นเหมือนการให้นิ้วกลางต่อผู้นำของเขา ไม่ว่าคนอื่นจะรู้หรือไม่ก็ตาม 

ก่อนที่เกมดังกล่าวจะจบลงด้วยสกอร์ 3-0 และทำให้นักเตะซาอีร์ ได้มีโอกาสกลับประเทศ แต่มันก็เป็นครั้งสุดท้ายที่ โมบูตู ยุ่งเกี่ยวกับวงการฟุตบอล ผู้นำจอมเผด็จการได้ตัดความสัมพันธ์กับทีมชาติไปตลอดกาล

"โมบูตูล้างมือจากเสือดาวและฟุตบอล ไม่มีใครมารับผมเลยที่สนามบินคินชาซา ตอนกลับมา ผู้เล่นถูกปล่อยไว้กับคนขับแท็กซี่" เอนเดเย มูลัมบา กองกลางของทีมในชุดนั้น กล่าวกับ Simba Sports 

"ทุกคนกลายเป็นบุคคลที่ไม่น่านับถือในสาธารณะที่ซาอีร์ นักเตะหลายคนหายไป และอยู่ในชุมชนแออัดที่ยากจนของเมืองในซาอีร์ เหมือนกับประเทศอื่นๆ พวกเขามีชีวิตที่ยากลำบาก" 

9

มันคือการตัดหางปล่อยวัดอย่างสิ้นเชิง และเมื่อทีมชาติซาอีร์ ที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยเงิน ไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากผู้นำ ก็ทำให้มันถึงคราวล่มสลายในพริบตาเดียว 

หลังจากนั้น ซาอีร์ ก็แปรสภาพจากมหาอำนาจลูกหนังของแอฟริกา กลายเป็นทีมธรรมดาของทวีป และหายหน้าไปจากวงการลูกหนังจนกระทั่งทศวรรษที่ 1990 ส่วนฟุตบอลโลก นั่นคือครั้งแรกและครั้งเดียวของพวกเขา 

ในขณะที่ โมตูบู แม้ว่าเขาจะเรืองอำนาจหลังจากนั้นไปอีกเกือบ 30 ปี แต่เขาก็ไม่เคยได้รับการจดจำในเวทีระดับชาติอีกเลย แถมการปกครองของเขายังถูกเรียกว่า "โจราธิปไตย" จากการปล้นทรัพย์สินของประชาชนมาเป็นของตัวเอง 

โมบูตู ถูกล้มลงจากอำนาจในปี 1997 ก่อนจะเสียชีวิตในปีเดียวกันที่โมร็อคโก โดยทิ้งมรดกสำคัญ ที่ทำให้ประเทศยังคงเป็นหนึ่งในประเทศยากจนและมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากแม้กระทั่งปัจจุบัน 

เช่นกับกับทีมชาติซาอีร์ หรือ ดีอาร์ คองโก ที่ยังไม่เคยเข้าใกล้กับความยิ่งใหญ่เหมือนในอดีตได้อีกเลย

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ "ฟุตบอลทีมชาติซาอีร์" : เสือดาวแห่งแอฟริกาที่ทั้งผงาดและพังพินาศเพราะเผด็จการ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook