กู้ก่อนเดี๋ยวค่อยหาคืน : "ฮิคส์" และ "ยิลเล็ตต์" 2 ลุงยอดนักกู้ที่ทำให้ลิเวอร์พูลวิ่งชนหายนะ

กู้ก่อนเดี๋ยวค่อยหาคืน : "ฮิคส์" และ "ยิลเล็ตต์" 2 ลุงยอดนักกู้ที่ทำให้ลิเวอร์พูลวิ่งชนหายนะ

กู้ก่อนเดี๋ยวค่อยหาคืน : "ฮิคส์" และ "ยิลเล็ตต์" 2 ลุงยอดนักกู้ที่ทำให้ลิเวอร์พูลวิ่งชนหายนะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เพราะการหาเงินเองเพื่อเข้ามาพัฒนาองค์กรนั้นคือสิ่งที่ไม่ได้ทำกันง่ายๆ ดังนั้นมันจึงมีวิธีที่ง่ายกว่าการสร้างรายได้แต่ได้เงินมาอย่างรวดเร็ว คือ "การกู้เงิน" นั่นเอง

แม้มันจะเป็นวิธีที่ง่าย แต่การกู้หมายถึงการเอาเงินในอนาคตมาใช้ ดังนั้นจึงต้องอาศัยการวางแผนเป็นอย่างมาก และผู้กู้ก็ควรมีความสามารถในระดับหนึ่งในการรับผิดชอบเงินจำนวนนี้ รวมถึงดอกเบี้ยที่จะตามมา

ครั้งนี้เราจะมาดูตัวอย่างของผู้นำที่ไร้ซึ่งระบบการทำงานและทำผิดหลักการวางแผนทุกๆ อย่าง นั่นคือ ทอม ฮิคส์ และ จอร์จ ยิลเล็ตต์ เจ้าของฉายา "ปลิงมะกัน" ที่กู้เงินสนั่นจนอดีตองค์กรของพวกเขาอย่าง ลิเวอร์พูล ... เกือบล่มจมเลยทีเดียว

เปิดรับสิ่งใหม่  

แชมป์ยุโรปสมัยที่ 5 ของ ลิเวอร์พูล เกิดขึ้นในปี 2005 จากการนำทีมของชายชาวสแปนิชชื่อว่า ราฟา เบนิเตซ ช่วงเวลานั้น ลิเวอร์พูล ถือว่าเป็นสิงห์บอลถ้วยเลยก็ว่าได้เพราะ "กึ๋น" ของ ราฟา ทำให้พวกเขาเป็นทีมเล่นบอลแบบเน้นผลนัดต่อนัดได้เก่งกาจที่สุดทีมหนึ่ง ดังนั้นถึงแม้ ลิเวอร์พูล ในช่วงนั้นยังไม่สามารถคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้ แต่ก็มีรางวัลมาประดับประดาตู้โชว์ของสโมสรอยู่เป็นระยะๆ 

ดังนั้นในแง่ของชื่อเสียงและมูลค่าทางการตลาดก็ต้องพูดว่าเกาะอันดับท็อป 10 ของโลกไม่เคยหลุดตำแหน่ง ซึ่งการเป็นทีมที่ "ทำเงิน" ได้ จึงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในช่วงปี 2007 

1

อย่างที่ทุกคนรู้กัน ลิเวอร์พูล เป็นทีมหนึ่งซึ่งมีความเป็นท้องถิ่นนิยมสูงมาก เจ้าของทีมชุดแชมป์ยุโรปสมัยที่ 5 ของพวกเขาคือ เดวิด มัวร์ ที่เป็นชาวเมือง ลิเวอร์พูล ขนานแท้และเป็นเหมือนกับสายเลือดของสโมสร เพราะครอบครัวของเขาเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นของ ลิเวอร์พูล มาตั้งแต่ปี 1950 เรียกได้ว่าเรื่องของความรักสโมสรนั้น มัวร์ ไม่เป็นรองใครแน่นอน 

ทว่าเมื่อยุคสมัยของฟุตบอลนั้นได้เปลี่ยนไป ความโบราณและประเพณีเดิมๆ อาจจะยังเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลงและเปิดรับสิ่งใหม่ที่ดีขึ้นก็ยากที่จะพาทีมไปอีกระดับได้ สิ่งที่ มัวร์ มอง ณ เวลานั้น คือความต้องการกลุ่มทุนจากภายนอกเพื่อเอาเงินเข้ามาให้กับสโมสรเพื่อสร้างสนามเหย้าแห่งใหม่ที่ใหญ่ขึ้น สร้างรายรับให้ได้มากขึ้น เหมือนกับที่ เชลซี และ แมนฯ ซิตี้ ที่ได้นายทุนต่างชาติเข้ามาเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของทีมไปในทิศทางที่ดีขึ้นนั่นเอง

และการมองหาผู้เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้แทน ก็เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่ มัวร์ และ แฟน ลิเวอร์พูล ไม่เคยคิดว่าจะต้องเจออย่างแน่นอน มัวร์ ได้พบกับนักธุรกิจชาวอเมริกัน 2 คน ที่ชื่อว่า ทอม ฮิคส์ และ จอร์จ ยิลเล็ตต์ ในฐานะแฟนบอลลิเวอร์พูลคนหนึ่ง มัวร์ ได้เข้าประชุมกับ 2 เศรษฐีชาวมะกัน และได้พบว่านโยบายของทั้งคู่จะนำสิ่งดีๆ กลับมาให้กับสโมสร โดยเฉพาะเรื่องของเงินทุนที่สโมสรกำลังต้องการนั่นเอง 

ณ เวลานั้นมีความคลางแคลงใจอยู่บ้าง เนื่องจากหากมีการขายสโมสรให้กับ ฮิคส์ และ ยิลเล็ตต์ ก็จะทำให้นี่เป็นครั้งแรกที่ ลิเวอร์พูล จะมีเจ้าของสโมสรเป็นชาวต่างชาติ มันเป็นเหมือนการเปิดรับวัฒนธรรมที่พวกเขาไม่คุ้นเคย และนั่นทำให้ใครหลายคนแอบระแวงลึกๆ ว่าอาจจะมีเรื่องที่เป็นแง่ลบเกิดขึ้น โดยเทียบกับเจ้าของชาวอเมริกันของ แมนฯ ยูไนเต็ด อย่างตระกูลเกลเซอร์ ซึ่งเข้ามาเทคโอเวอร์และกลายเป็นที่เกลียดชังในหมู่แฟนเดนตายของทีม ถึงขนาดมีการไปตั้งสโมสรแยกออกมาเลยทีเดียว 

ทว่าสุดท้ายแล้ว หลังจากการเจรจาเป็นที่สิ้นสุด ฮิคส์ และ ยิลเล็ตต์ ก็สามารถเทคโอเวอร์สโมสรได้สำเร็จ ณ เวลานั้นยังไม่มีกฎ FFP (ไฟแนนเชียลแฟร์เพลย์) หรือกฎการเงินที่บังคับให้แต่ละสโมสรใช้เงินให้ไม่เกินรายรับที่หาได้ ทำให้สามารถใช้เงินจากเจ้าของสโมสรซื้อนักเตะได้โดยตรง ฮิคส์ และ ยิลเล็ตต์ ก็ยืนยันว่าเดี๋ยวจะควักเงินจัดชุดใหญ่ให้แน่นอน เพียงแต่ว่าเงินที่จะจัดหนักครั้งนี้ ไม่ใช่เงินที่พวกเขาทั้งคู่เป็นคนหามาเอง ...

กู้ก่อนค่อยคิดที่หลัง

ฮิคส์ และ ยิลเล็ตต์ เหมือนกับจับเสือมือเปล่าสำหรับการขายฝันผ่านลมปาก พวกเขาไม่ควักเงินตัวเองสักบาท เหมือนกับ โรมัน อบราโมวิช หรือ ชีค มานซูร์ เจ้าของของ เชลซี และ แมนฯ ซิตี้...เพราะการกู้เงินคนอื่นมาใช้มันตัดสินใจง่ายกว่ากันเยอะ 

2

ทั้งคู่ใช้เวลาเพียงแวบเดียว กู้เงินมาถึง 350 ล้านปอนด์ จาก ธนาคาร รอยัล แบงค์ ออฟ สกอตแลนด์ (RBS) โดยมีกำหนดชำระหนี้ทั้งหมดในปี 2010 

การกู้นั้นไม่ผิด แต่ปัญหาคือการกู้เงินแล้วไม่วางแผนการใช้ต่างหาก คือสิ่งที่ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง เพราะเงินที่กู้มาไม่สามารถเอาไปทำให้รายรับงอกเงยได้ และไม่ได้ใช้เพื่อปรับโครงสร้างสโมสรไปในทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่โปรเจ็กต์ นิว แอนฟิลด์ ก็ถูกพูดถึงทุกปีแต่กลับไม่ได้เริ่มเลยสักปี ซึ่งในโลกของธุรกิจนั้นไม่มีเวลาให้อ้อยอิ่งทำอะไรไร้สาระ เพราะเจ้าหนี้ที่ปล่อยกู้เรียกดอกเบี้ยจาก ลิเวอร์พูล ถึงปีละ 35 ล้านปอนด์เลยทีเดียว

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เมื่อ ฮิคส์ และ ยิลเล็ตต์ เข้ามา ฟอร์มการเล่นในสนามก็มีแต่แย่ลง ราฟา เบนิเตซ ที่เคยทำทีมได้แชมป์ทุกปี กลับไม่เคยได้แชมป์อีกเลยในยุคของเจ้าของใหม่ ใกล้เคียงที่สุด คือ การเป็นรองแชมป์ลีกในฤดูกาล 2008-09 ซึ่ง ณ นาทีนั้น ราฟา ถามไถ่หาเงินเสริมทัพทันทีหลังจบฤดูกาล เพราะอีกเพียงไม่กี่ก้าวพวกเขาก็จะไล่ตาม แมนฯ ยูไนเต็ด ทันแล้ว 

ทว่าเมื่อหันกลับไปถามเจ้าของทีม กลับมีคำตอบว่า "เงินไม่มีแล้ว" ถ้าอยากจะซื้อนักเตะใหม่ก็ต้องขายนักเตะเก่าออกไป ซึ่งมันตรงข้ามกับสิ่งที่ ฮิคส์ และ ยิลเล็ตต์ บอกไว้ทั้งหมด หลังจากนั้นก็เป็นช่วงเวลาขาลงอย่างเต็มรูปแบบของ ลิเวอร์พูล นักเตะดังทยอยย้ายออกเพื่อหาเงินเข้าสโมสรทั้ง ฮาเวียร์ มาสเชราโน่ และ ชาบี อลอนโซ่  

3

ยิ่งไปกว่านั้น ตัวที่ซื้อเข้ามาใหม่ก็เป็นการซื้อที่ไร้คุณภาพ กล่าวคือจะซื้อตัวที่ดีที่สุด ก็ซื้อไม่ได้เพราะเงินไม่พอ ครั้นจะซื้อตัวที่พอมีแววมาปั้นต่อก็เหลวไม่เป็นท่าอีก เพราะเครือข่ายแมวมองและทีมวิเคราะห์ไม่เก่งพอเช่นกัน ซึ่งจุดนี้สำคัญมาก หากลองมาเปรียบเทียบกับ ลิเวอร์พูล ยุคปัจจุบันที่ "ซื้อเป็นโดน" ก็มีเบื้องหลังจากทีมงานซื้อนักเตะที่พวกเขาให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และใช้เงินกับการวิเคราะห์นักเตะรวมถึงค่าเอเย่นต์มากกว่าทุกทีมในพรีเมียร์ลีกเลยทีเดียว

ผลงานในสนามที่น่าปวดหัว บางปีหมดลุ้นแชมป์ตั้งแต่ 2 เดือนแรก ยังไม่เท่ากับเรื่องราวของทีมบริหารที่บริหารทีมแบบคนไม่เป็นงาน ขาดทุนทุกปี หลังจากนั้นเจ้าหนี้ได้เดินมาเคาะประตูสโมสร และบอกว่า ถึงกำหนดใช้หนี้แล้ว จ่ายมาเสียดีๆ.. ซึ่งคำตอบที่ลิเวอร์พูลในยุค "ปลิงมะกัน" ตอบกับเจ้าหนี้นั้น เหมือนกับตอนที่พวกเขาบอกกับ ราฟา ไม่ผิดนั่นก็คือ "ไม่มี" เท่านั้นแหละเป็นเรื่องทันที 

การไม่มีเงินจ่ายหนี้ รวมถึงการที่หลายฝ่ายชี้ชัดๆ ว่าทำอย่างไรก็ไม่มีทางหาเงินมาเพิ่มได้ในอนาคต ไม่ต้องสงสัยเลยว่า หากเจ้าหนี้อย่าง RBS นำเรื่องไปแจ้งกับ เอฟเอ ... ลิเวอร์พูล จะต้องถูกลงโทษแน่นอน ร้ายแรงที่สุดคือการปรับตกชั้นเลยทีเดียว

4

มาถึงตรงนี้ทุกคนรู้ว่า ฮิคส์ กับ ยิลเล็ตต์ ถูกบีบจากทั่วทุกสารทิศ และสุดท้ายการเข้ามาดูดเงินของสโมสรก็จบลงภายในระยะเวลา 3 ปี ด้วยการขายสโมสรต่อให้ จอห์น ดับเบิลยู เฮนรี่ เศรษฐีคนบ้านเดียวกัน ซึ่งกลายเป็นผู้เริ่มต้นยุคสมัยแห่งความเรืองรองของ ลิเวอร์พูล ณ ปัจจุบันอย่างแท้จริง

การเลือกคนผิดเข้ามาบริหาร คือสิ่งที่ ลิเวอร์พูล ไม่ยอมผิดพลาดซ้ำสอง ฮิคส์ และ ยิลเล็ตต์ เกือบทำให้สโมสรต้องด่างพร้อยในหน้าประวัติศาสตร์ ด้วยการบริหารทีมจนเรื่องการเงินเละเทะไปหมด ... แต่ความผิดร้ายแรงของพวกเขายังไม่จบแค่นั้น ที่แย่ไม่แพ้กัน คือ พวกเขาเป็นคนที่แฟนบอลลิเวอร์พูลเลือกยืนอยู่ฝั่งตรงข้าม.. นั่นก็เพราะปากของพวกเขานั้นเก่งเกินความสามารถไปเยอะ

ผิดพลาดให้ถึงขีดสุด

ฮิคส์ และ ยิลเล็ตต์ เข้ามาทำลายวัฒนธรรมและประเพณีที่ทีมภาคภูมิใจมาตลอด อย่างน้อยๆ ก็เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างแฟนบอลกับเจ้าของสโมสร ที่โดยปกติแล้วควรต้องอยู่ฝ่ายเดียวกัน ซึ่งพวกเขาทำลายมันเสียเละเทะ 

คำพูดและการกระทำ คือสิ่งที่แฟนบอลสัมผัสจากพวกเขาได้ง่ายที่สุด และสิ่งที่ ฮิคส์ และ ยิลเล็ตต์ พูดหรือทำ ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์แย่ลงทั้งนั้น 

5

"ผมยอมรับว่า ผมคิดผิดที่ขายหุ้น แต่ยืนยันว่า ผมไม่มีนอกมีใน เรื่องดังกล่าว ผมไม่รู้จริงๆ ว่าพวกเขาจะมาสร้างหนี้ให้สโมสร" เดวิด มัวร์ ผู้ขายสโมสรให้ทั้ง 2 คน ยอมรับว่าการกระทำของเขามันผิดพลาดเสียจนทำให้เสียใจกระทั่งทุกวันนี้

ฮิคส์ และ ยิลเล็ตต์ ขายคำโกหกไปวันๆ เรื่องการซื้อนักเตะดังที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง เรื่องสนามใหม่ที่เคยบอกไว้ว่า "หลังจากได้ตำแหน่ง พลั่วและจอบจะต้องอยู่ในดินภายใน 60 วัน" ซึ่งที่สุดแล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นจริงสักอย่าง

นอกจากนี้ยังมีวาจาที่เป็นดังอาวุธ แต่เป็นอาวุธที่ใช้ทำร้ายพวกเดียวกันเอง ทั้งคู่ชอบออกมาพูดอะไรที่ไม่สมควรพูด วิจารณ์นักเตะตัวเองผ่านสื่อ ซึ่งเรื่องนี้ ร็อบบี้ คีน เคยโดนไปเต็มๆ รวมไปถึงการวิจารณ์การทำงานของ ราฟา เบนิเตซ ว่าไม่เก่งจริงจึงทำให้ทีมไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่ได้ให้เงินแต่อย่างใด นอกจากนี้สำคัญที่สุด คือแซว สตีเว่น เจอร์ราร์ด แบบเลยเถิด ด้วยการบอกว่า "กัปตันทีมของเราแต่งงานกับเกย์" (ภรรยาเจอร์ราร์ดชื่อ อเล็กซ์ ซึ่งปกติแล้วมักจะเป็นชื่อผู้ชาย) 

ดังนั้นไม่ว่าอะไรก็ผิดพลาดไปทุกอย่างจนแทบหาข้อดีไม่เจอ ทุกครั้งที่มีการโหวต ทั้งคู่จะได้รับเลือกในฐานะเจ้าของทีมที่แฟนบอลเกลียดที่สุดตลอดกาล.. 

การได้เป็นเจ้าคนนายคนหรือทำงานในระดับบริหารนั้น จะบอกว่า "รัก" อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีฝีไม้ฝีมือ มีกึ๋นที่จะทำให้องค์กรเดินไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแกร่งด้วย การกู้เงิน 350 ล้านปอนด์ อาจจะเป็นสิ่งที่กดให้ ลิเวอร์พูล อยู่ในยุคตกต่ำอยู่หลายปี ทว่าสุดท้ายแล้วเงินก้อนนี้ก็สอนให้พวกเขารู้ว่า ก่อนจะเลือกใครเข้ามาเป็นผู้นำจงคิดให้ดี เพราะผู้นำโง่เราอาจจะตายกันหมดก็เป็นได้..

6

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ กู้ก่อนเดี๋ยวค่อยหาคืน : "ฮิคส์" และ "ยิลเล็ตต์" 2 ลุงยอดนักกู้ที่ทำให้ลิเวอร์พูลวิ่งชนหายนะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook