"จอร์จ บุช" ก็หยุดไม่อยู่ : เมื่อ "อาลี" เข้าประจันหน้า "ซัดดัม" เพื่อขอชีวิตตัวประกัน 15 คน

"จอร์จ บุช" ก็หยุดไม่อยู่ : เมื่อ "อาลี" เข้าประจันหน้า "ซัดดัม" เพื่อขอชีวิตตัวประกัน 15 คน

"จอร์จ บุช" ก็หยุดไม่อยู่ : เมื่อ "อาลี" เข้าประจันหน้า "ซัดดัม" เพื่อขอชีวิตตัวประกัน 15 คน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โลกมอง ซัดดัม ฮุสเซน ในฐานะหนึ่งในผู้นำเผด็จการที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ และก็โลกอีกเช่นกันที่มอง มูฮัมหมัด อาลี ในฐานะหนึ่งในนักกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล ... 2 บทบาทของทั้งคู่ดูจะต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่รู้หรือไม่ ลึกๆ แล้ว ซัดดัม และ อาลี นั้น "เหมือนกัน"

นี่คือเรื่องราวที่ย้อนกลับไปในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย ในช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกาเตรียมส่งกำลังทหารบุกอิรัก เข้าจัดการกองทัพของ ซัดดัม และพร้อมจะเล่นไม้แข็งทุกกรณี แบบไม่คิดว่าใครจะหยุดและทำให้สะดุดลงได้ด้วยการประกาศ "สงคราม"

ทว่า อาลี ตัดสินใจทำในสิ่งที่สวนทางกับรัฐบาลอเมริกัน เขาเดินหันหน้าเข้าสู่ดงกระสุน และแสดงให้ทุกคนได้เห็นว่า "สันติ ดีกว่าสงครามเป็นพันเท่า"... ด้วยวิธีที่แม้แต่ จอร์จ บุช ซีเนียร์ ถึงกับต้องโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงเลยทีเดียว ...

ติดตามทั้งหมดได้ที่นี่

ชายผู้ทำให้โลกต้องร้อนเป็นไฟ

ซัดดัม ฮุสเซน คือผู้นำเผด็จการของประเทศอิรักในช่วงปี 1979-2003 ตลอดช่วงเวลาที่มีอำนาจ เขาคือตัวจริงเสียงจริงเรื่องความโหดร้าย รุนแรง และที่สำคัญคือพร้อมจะกดขี่ทุกคน ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับแนวคิดของเขาหรือไม่ก็ตาม 

1

ซัดดัม เติบโตมาท่ามกลางความรุนแรงตั้งแต่เด็ก เขาจึงศรัทธาในวิถีไม้แข็ง อยากได้อะไรต้องได้ ไม่สนวิธีการ ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นพวกนิยมลัทธิฆราวาส (Secularism) เช่นเดียวกับผู้นำในหลายชาติอาหรับ กล่าวคือแม้จะนับถือศาสนาอิสลามในนิกายซุนนี แต่เขาไม่ชอบให้องค์กรทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง ถึงกระนั้น ก็มีเรื่องราวข่าวลือ หรือแม้กระทั่งข่าวจริงที่มีหลักฐานยืนยันว่า เขาชอบทรมานร่างกาย ใช้อำนาจในการข่มขู่ ชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ รวมถึงชาวเคิร์ด ซึ่งถือเป็นชนกลุ่มน้อยอย่างต่อเนื่อง

ตลอดช่วงเวลาที่ ซัดดัม ขึ้นครองอำนาจ เขาผลักดันให้ อิรัก รบกับ อิหร่าน อยู่เสมอ จนกระทั่งมาถึงช่วงเวลาที่สงครามยืดเยื้อและเริ่มส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของ อิรัก ขนาดหนัก ชนิดที่ว่าเดือดร้อนกันหมดตั้งแต่คนยากคนจนไปจนถึงคนใหญ่โต เมื่อนั้น อิรัก จึงประกาศยุติการยิงกับ อิหร่าน ในปี 1988 เพื่อรักษาทรัพยากรที่มีเหลืออย่างร่อยหรอเอาไว้นั่นเอง

เมื่อเป็นฝ่ายขอยุติก็ต้องแบกรับภาระหนี้สินที่มี อิรัก กู้เงินจาก ซาอุดีอาระเบีย และ คูเวต มาใช้ในช่วงที่เกิดการปะทะกับ อิหร่าน ทว่าลูกหนี้อย่างอิรักที่มีผู้นำเป็น ซัดดัม กลับเลือกเส้นที่ทางที่สมกับเป็นตัวของเขา ... สองมือชักดาบอย่างมั่นใจ ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย หนำซ้ำยังกดดันให้เจ้าหนี้ยกหนี้ให้ด้วยอีกต่างหาก 

คูเวต เป็นประเทศที่เล็กกว่าอิรักและมีพรมแดนติดกัน ดังนั้น ซัดดัม จึงเล่นกันแบบง่ายๆ ด้วยการออกคำสั่งให้กองกำลังทหารประมาณ 122,000 นาย พร้อมด้วยรถถังประมาณ 900 คัน บุกยึดประเทศคูเวต ด้วยข้ออ้างที่ว่า คูเวตได้ขโมยน้ำมันของอิรักโดยการขุดเจาะน้ำมันเข้ามาใต้ดินแดนอิรัก ทว่าข้อมูลอีกด้านที่มีการนำเสนออกมา มีการยืนยันว่า ซัดดัม ฮุสเซน เลือกใช้วิธีหักหลังเจ้าหนี้ เพราะ คูเวต เพิ่มกำลังผลิตน้ำมันดิบจนออกมาล้นตลาดทำให้ราคาน้ำมันทั่วโลกดิ่งตัวลง ซึ่งมันส่งผลกระทบทำให้ อิรัก ขาดรายได้ไปมหาศาล 

2

ดังนั้นการยิงปืนนัดเดียวนี้จึงหวังผลให้นกตาย 3 ตัว นั่นคือ ปลดหนี้, ได้น้ำมันเพิ่ม และ ได้ขายน้ำมันของตัวเองในราคาที่แพงขึ้น การใช้กองกำลังรบที่เหนือกว่าหลายเท่าปิดจ๊อบยึดประเทศคูเวตได้ภายในเวลาแค่ 2 วันเท่านั้น 

หลังจากยึดได้ทุกอย่างก็เข้าล็อก ตลอดระยะเวลา 7 เดือนหลังยึดครอง คูเวต ได้ ซัดดัม ตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดและทำให้ราคาน้ำมันปั่นป่วน จนมหาอำนาจทั่วโลกได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจกระทั่งไม่อาจอยู่เฉยได้ โดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา ที่รับบทออกมาประณามการกระทำของ ซัดดัม และ อิรัก ขณะที่ จอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ยื่นเส้นตายให้ อิรัก ถอนทัพจาก คูเวต ทันที และกดดันให้ จีน และ นาโต้ งดขายอาวุธให้กับ อิรัก เพื่อเป็นการตัดแขนตัดขาอีกด้วย

แน่นอนว่าการยึดอำนาจก็เหมือนกับการขี่หลังเสือ ขึ้นแล้วลงไม่ได้ ขณะที่ ซัดดัม เองก็ยืนยันจุดยืนของตัวเองว่า งานนี้ไม่ถอยไม่ทน อยากจะบุกก็บุกเข้ามา นั่นหมายความว่าคำตอบที่ ซัดดัม มอบให้กับมหาอำนาจของโลกอย่าง อเมริกา ก็คือ "ไม่" แน่นอน 100%

ชายผู้ทำให้โลกได้เห็นความสวยงาม

จับชาวอเมริกันในคูเวตจำนวน 2,000 คนเป็นตัวประกัน นั่นคือสิ่งที่ ซัดดัม ฮุสเซน ตอบโต้ อเมริกาผู้ยิ่งใหญ่ เป็นการส่งข้อความว่า ไม่ว่าจะเจอศัตรูตัวใหญ่แค่ไหนก็ไม่กลัว เรื่องนี้ทำให้ สหรัฐอเมริกา ไม่อาจจะเปิดฉากบุกอิรักได้ง่ายๆ 

เมื่อสถานการณ์ไม่ดีและสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดสงคราม วีรบุรุษก็ปรากฎตัว มูฮัมหมัด อาลี อดีตนักชกแชมป์โลกเฮฟวี่เวต เจ้าของฉายา "แชมป์มหาชน" ในวัย 48 ปี  เสนอตัวเข้าไปเจรจากับ ซัดดัม ฮุสเซน เพื่อให้ยกเลิกการใช้ตัวประกันเป็นโล่มนุษย์ เขาไม่ได้ไปในฐานะรัฐบาลสหรัฐอเมริกา แต่เขาไปในฐานะกลุ่มชาวอเมริกันผู้รักสันติ (American peace groups) และไม่ต้องการให้เกิดสงครามที่จะทำให้มีแต่ความสูญเสีย

3

สำหรับ มูฮัมหมัด อาลี นอกจากจะเป็นอดีตนักมวยที่ได้รับการยกย่องแล้ว อาลี ยังเป็นเหมือนกับตัวแทนแห่งความกล้าหาญในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ตลอดช่วงชีวิตของเขานั้น อาลี ไม่เคยกลัวที่จะต้องเผชิญหน้ากับทุกสิ่งที่เขาคิดว่ามันไม่ถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่นในปี 1966 ที่เขาปฎิเสธร่วมกองทัพสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมกับในสงครามเวียดนาม มันไม่ใช่เพราะความรักตัวกลัวตาย แต่ อาลี เชื่อในความคิดที่จะไม่ทำลายชีวิตคนอื่น พร้อมประโยคเด็ดที่ว่า "ผมไม่เคยมีปัญหากับพวกเวียดกง" นอกจากนี้ยังมีเรื่องการต่อต้านการเหยียดสีผิวในช่วงเวลาที่ประเด็นดังกล่าวรุนแรงกว่าทุกวันนี้มาก  

อาลี ก็เหมือนกับ ซัดดัม ในแง่มุมหนึ่ง นั่นคือเขาไม่เคยกลัวใคร และไม่กลัวใครจะมองการกระทำของเขาว่าดีหรือแย่แค่ไหน เพราะเขาเชื่อเสมอว่า ตนเองนั้นได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องที่สุดในมุมมองของตัวเองแล้ว ... ณ เวลานั้นแม้แต่ จอร์จ บุช ผู้พ่อ และสื่ออย่าง The New York Times ยังมองว่า ไม่ว่า อาลี จะเดินทางไปเจรจากับ ซัมดัม ที่กรุงแบกแดดด้วยจุดประสงค์ไหน แต่การไปครั้งนี้มีโอกาสที่จะทำให้เป็นการเติมเชื้อไฟมากกว่าจะทำให้เรื่องดีๆ เกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า อาลี ไม่สน 

"ผู้นำที่แท้จริงต้องพร้อมรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น และถ้าหากว่ามันมีค่ามากพอ คุณก็ต้องกระโดดเข้าสู่กองไฟ" นี่คือคำพูดของ อาลี ที่เคยกล่าวเอาไว้ 

4

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม รัฐบาลอิรักต้อนรับ อาลี เป็นอย่างดี ได้พักในเกสต์เฮาส์สุดหรูที่ ซัดดัม ฮุสเซน จัดให้ ได้เยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ของ อิรัก เขาทำตัวเป็นแชมป์โลกมหาชนอย่างแท้จริงตลอดช่วงเวลาที่กรุงแบกแดด แม้ร่างกายจะไม่แข็งแรง แต่เขาไม่เคยหยุดที่จะแจกลายเซ็นและถ่ายรูปกับเด็กๆ หรือผู้คนที่ อิรัก เลย เขาเชื่อว่าการแสดงออกถึงไมตรีจิตร คือทางออกที่จะทำให้การเจรจาของเขาลุล่วงไปได้ด้วยดี อีกทั้งยังมีชื่อเสียงของเขาและการที่เป็นชาวมุสลิมเหมือนกันประกอบอีกด้วย

ซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนั้น หลังจากได้คุยกับ ซัดดัม โดยตรง อาลี ได้พยายามเจรจาให้ปล่อยตัวประกันชาวอเมริกันที่ได้รับการปฎิบัติที่แข็งกร้าวต่างกับตัวประกันชาติอื่นๆ เช่นตัวประกันจากชาติในยุโรปนั้นยังสามารถมีอิสระไปไหนมาไหนได้ เพียงแต่โดนยึดพาสปอร์ตเท่านั้น 

ณ เวลาน้้น อาลี ป่วยเป็นโรคพาร์คินสัน ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากช่วงที่เป็นนักมวย มันทำให้เขาไม่สามารถพูดคุยได้ถนัดนัก ทว่าเมื่อพบซัดดัม เขาได้ขอร้องให้ซัดดัมปล่อยตัวประกัน เพราะมันจะดีต่อการรักษาสันติภาพในพื้นที่ นอกจากนี้ยังช่วยให้ภาพลักษณ์ของ อิรัก ในสายตาอเมริกาดีขึ้นด้วย 

5

"ผมจะไม่ปล่อยให้ มูฮัมหมัด อาลี กลับไปที่สหรัฐอเมริกา โดยไม่มีพลเมืองอเมริกันกลับไปพร้อมกับเขา" สำนักข่าว AP ยืนยันถึงคำพูดของ ซัดดัม ฮุสเซน 

การพบกันเพียง 50 นาที ทำให้ ซัดดัม ผู้ไม่เคยคิดยอมใครในโลกกลายเป็นผู้ฟังที่ดี เขาเชื่อที่ อาลี บอก และยืนยันด้วยตัวเองว่า เขาจะปล่อยตัวประกันชาวอเมริกันทั้งหมด 15 คนให้เป็นอิสระในวันถัดไป แม้นั่นจะไม่ใช่จำนวนคนอเมริกันทั้งหมดที่ถูกจับ แต่การกระทำของ อาลี ก็ทำให้ชาวอเมริกันหลายล้านคนเห็นด้วยกับเขาว่า ไม่จำเป็นต้องสร้างสงครามให้เกิดความสูญเสียทั้งบุคลากรและเศรษฐกิจ ซึ่งเรื่องทุกเรื่องดูจะแฮปปี้เอนดิ้ง แต่กลับมีบางคนไม่ชอบใจสิ่งนั้น

ทำเพื่ออะไร? 

เมื่อถึงสหรัฐอเมริกา ตัวประกันทั้ง 15 คนแถลงข่าวขอบคุณ มูฮัมหมัด อาลี ที่สนามบิน เจเอฟเค มหานครนิวยอร์ก อาลี และกลุ่มชาวอเมริกันผู้รักสันติ ได้รับความชื่นชมเป็นอย่างมาก และเกิดให้มีการรณรงค์ต่อต้านสงครามในหมู่ชาวอเมริกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนเรื่องดังกล่าวทำให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาอยู่เฉยไม่ได้ 

6

"อาลี ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน โดยเฉพาะจากประธานาธิบดี บุช และหนังสือพิมพ์ The New York Times พวกเขาเป็นกังวลว่า การกระทำของอาลีจะเป็นเหมือนโฆษณาชวนเชื่อให้กับประชาชน เพราะสำหรับ จอร์จ บุช แล้ว การเจรจาและการต่อรองไม่ใช่แนวทางที่ต้องทำ เขาต้องการสงครามและปฎิเสธความสงบสุข" แอนดี้ แคมป์เบลล์ ผู้เขียนจากเว็บไซต์ Huffington Post วิเคราะห์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐบาลอเมริกา ณ เวลานั้น 

มีการมองว่า สิ่งที่ บุช และรัฐบาลสหรัฐฯ กลัวไม่ใช่สงครามจาก อิรัก แต่มันคือการต่อต้านสงครามจากประชากรของตัวเองต่างหาก เรื่องเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสงครามเวียดนาม จนถูกเรียกว่ากลัวนี้ว่า "เวียดนาม ซินโดรม" 

การไป อิรัก ของ อาลี นั้น เป็นเหมือนกับการอธิบายสิ่งที่เขารู้สึกและมีต่อรัฐบาลมาอย่างยาวนาน เขาไป อิรัก โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล และสร้างความแตกต่างด้วยวิธีสันติให้เห็น ซึ่งนัยยะที่ซ่อนอยู่คือ การปลุกเร้าชาวอเมริกันทุกคนเพื่อช่วยกันต่อต้านสงครามที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่สุดท้ายเราต่างรู้ดี สหรัฐอเมริกา ส่งกองทัพไปยึด อิรัก ได้อยู่ดี และ ซัดดัม ฮุสเซน ก็ถูกปลิดชีพในท้ายที่สุด แม้เรื่องจะยืดเยื้อยาวนาน เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย 2 รอบ กระทั่งมาจบลงปี 2006 ในยุคของ จอร์จ ดับเบิลยู บุช หรือ จอร์จ บุช ผู้ลูก ก็ตาม

"บุช เปลี่ยนแผนด้วยการเจาะไปที่จุดที่แคบลงกว่าประเทศอิรัก นั่นคือการเจาะไปที่ ซัดดัม ฮุสเซน โดยตรง รัฐบาลอเมริกาใช้งานสื่อส่งข้อความของพวกเขาตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยการตีแผ่ความชั่วร้าย และใช้วาทะว่า ซัดดัม ฮุสเซน คือทรราชที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่หมดยุค อดอล์ฟ ฮิตเลอร์" ไบรอัน เบ็คเกอร์ หนึ่งในผู้ติดตาม อาลี ไปยังกรุงแบกแดด กล่าว 

7

ต่างคนก็ต่างมองกันคนละมุม และเราไม่อาจจะตัดสินได้ว่าใครถูกหรือผิด ไม่ว่าจะการกระทำของ อาลี และ รัฐบาลอเมริกัน ก็ตาม แต่ที่แน่ๆ การปรากฎตัวของ อาลี ทำให้ชาวอเมริกันรอดชีวิต 15 คน และกลายเป็นจุดเปลี่ยนในสังคมให้ทุกคนได้ตระหนักว่า ที่สุดแล้วมนุษย์ล้วนมีอิสรภาพสำหรับการยืนหยัดต่อสู้ในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ.. 

"อย่าวิ่งหนีความหวาดกลัว การช่วยเหลือผู้อื่น ก็เหมือนเป็นการจ่ายค่าเช่าพื้นที่ให้กับโลกที่คุณยืนอยู่" และนี่คือเหตุผลที่ว่าทำไม มูฮัมหมัด อาลี จึงถูกเรียกว่า "แชมป์มหาชน" ตัวจริงเสียงจริง 

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ "จอร์จ บุช" ก็หยุดไม่อยู่ : เมื่อ "อาลี" เข้าประจันหน้า "ซัดดัม" เพื่อขอชีวิตตัวประกัน 15 คน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook