กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส : ทีมอเมริกันฟุตบอล ที่บริหารโดยประชาชน และไม่มุ่งแสวงหากำไร

กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส : ทีมอเมริกันฟุตบอล ที่บริหารโดยประชาชน และไม่มุ่งแสวงหากำไร

กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส : ทีมอเมริกันฟุตบอล ที่บริหารโดยประชาชน และไม่มุ่งแสวงหากำไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส ชื่อนี้เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี สำหรับแฟนกีฬาอเมริกันฟุตบอล ในฐานะทีมระดับตำนานของลีก NFL เจ้าของแชมป์ซูเปอร์โบวล์ 4 สมัย และแชมป์ NFL (ก่อนมีซูเปอร์โบวล์) อีก 11 สมัย รวมถึงเป็นทีมที่สร้างทั้งโค้ช กับผู้เล่น ระดับตำนานอีกมากมาย ขึ้นมาประดับวงการเกมคนชนคน

แต่สิ่งที่หลายคนไม่รู้ คือ กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส เป็นทีมกีฬาเพียงทีมเดียว จาก 5 ลีกกีฬายักษ์ใหญ่ของประเทศสหรัฐอเมริกา (NFL, NBA, MLB, NHL, MLS) ที่ถือครองโดยองค์กรไม่แสวงผลกำไร ซึ่งถูกก่อตั้งโดยแฟนกีฬาของทีม 

ในขณะที่โลกกีฬาอเมริกันเกมส์ เต็มไปด้วยเรื่องของผลประโยชน์ ด้านธุรกิจ ตามแบบฉบับทุนนิยม กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส ยังคงยืนหยัด แสดงจุดยืนความเชื่อตั้งแต่ในอดีตว่า กีฬาต้องถูกสร้างเพื่อแฟนกีฬา ไม่ใช่ให้นักธุรกิจเข้ามากอบโกยกำไรจากทีม 

นี่คือเรื่องราวของทีมที่ยิ่งใหญ่ จากเมืองขนาดเล็กในสหรัฐอเมริกา ที่เติบโตและยืนหยัดด้วยพลังของประชาชน

บริษัทส่งของ / วิกฤติการเงิน / ความช่วยเหลือจากท้องถิ่น

กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส คือทีมอเมริกันฟุตบอล จากเมืองกรีนเบย์ รัฐวิสคอนซิน ทางตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา มีประชาชนอาศัยอยู่เพียง 1 แสนคน แม้จะมีประชาชนไม่มาก เหมือนเมืองใหญ่ๆ แต่ผู้คนที่กรีนเบย์ หลงรักกีฬาฟุตบอลไม่แพ้ผู้คนจากเมืองอื่น


Photo : www.packers.com

ทีมอเมริกันฟุตบอลกรีนเบย์ ถูกก่อตั้งโดยกลุ่มนักกีฬาท้องถิ่น ที่หลงในเกมกีฬานี้ เมื่อปี 1919 นำโดย เคอร์ลี แลมโบ หนุ่มวัย 21 ปี ที่เป็นทั้งผู้เล่น และโค้ชให้กับทีมน้องใหม่

อย่างไรก็ตาม ทีมกรีนเบย์ที่ก่อตั้งโดยนักกีฬาคนหนุ่ม ที่อยากเล่นให้กับทีมบ้านเกิดของตัวเอง ขาดงบประมาณที่จะนำมาใช้ซื้ออุปกรณ์ และเสื้อผ้า สำหรับการแข่งขัน รวมถึงการฝึกซ้อม ทำให้ทีมประกาศหาผู้สนับสนุน 

ก่อนจะได้บริษัท อินเดียน แพ็คกิง (Indian Packing Company) บริษัทส่งพัสดุประจำเมือง เข้ามาเป็นผู้สนับสนุน เนื่องจากแลมโบ ทำงานเป็นคนจัดการ และแยกพัสดุให้กับบริษัท เขาจึงเข้าไปขอร้องประธานของอินเดียน แพ็คกิง ให้เข้ามาสนับสนุนทีม

สุดท้าย ทีมกรีนเบย์ จึงได้รับเงินมาหนึ่งก้อน เพื่อนำมาใช้ซื้อเสื้อผ้า และอุปกรณ์ ทำให้ทีมตัดสินใจตั้งชื่อว่า กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส เพื่อเป็นเกียรติให้กับบริษัท อินเดียน แพ็คกิง ที่ทำให้ทีมอเมริกันฟุตบอล อันเป็นความภูมิใจของชาวกรีนเบย์ เกิดขึ้นจริง

ปี 1921 กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส ได้รับการอนุมัติให้เข้าร่วมลีก NFL (ซึ่งเริ่มต้นเป็นฤดูกาลแรก) หลังจากใช้เวลา 2 ปีก่อนหน้านี้ เป็นทีมแข่งขันแบบไร้ลีกมาตลอด ... อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่ลีกอาชีพที่จริงจัง และมีความทะเยอทะยานสูง อย่าง NFL ทำให้สิ่งที่ตามมา คือค่าใช้จ่ายมหาศาล ที่บีบบังคับให้แพ็คเกอร์ส ต้องใช้เพื่อพัฒนาทีม ผลที่ตามมาคือทีมประสบปัญหาวิกฤติทางการเงิน ตั้งแต่ฤดูกาลแรกที่ลงแข่งขัน

หลังจากจบฤดูกาล 1922 กรีนเบย์เจอปัญหา กับการค้างค่าเหนื่อยผู้เล่นจำนวนมาก ที่ทีมดึงตัวมาเสริมความแข่งแกร่ง ขณะที่ NFL ขู่ว่า หากแก้ปัญหานี้ไม่ได้ ทีมจะเจอการลงโทษสถานหนัก นั่นคือการไล่ออกจากลีก

ภาระจึงตกมาอยู่ที่ เคอร์ลี แลมโบ อีกครั้ง เข้ารู้ดีว่าทีมในตอนนี้ แทบจะไม่มีทางรอด หากต้องพึ่งตัวเอง แต่เพื่อรักษาทีมเอาไว้ให้ได้ ดังนั้นเขาต้องหาความช่วยเหลือจากทางอื่น ทำให้แลมโบ เดินทางไปเข้าพบคนรวย และนักธุรกิจ ในรัฐวิสคอนซิน เพื่อระดมทุนมาสนับสนุนทีม


Photo : packerville.blogspot.com

แลมโบ มาพร้อมกับไอเดียว่า เขาจะตั้งบริษัทหนึ่งขึ้นมา ในชื่อ กรีนเบย์ ฟุตบอล (Green Bay Football Corporation) เพื่อให้บริษัทนี้ มาบริหารทีมกรีนเบย์ และเพื่อจะก่อตั้งบริษัทนี้ เขาจึงมาขอเงินบริจาค จากผู้มีฐานะ และจะนำเงินจำนวนนี้ มาบริหารทีม โดยให้สัญญาว่า เงินทั้งหมดจะถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ของทีม ไม่ใช่การแสวงผลกำไร ดังนั้นหากใครคิดจะให้เงินสนับสนุน เพื่อหวังผลประโยชน์ตอบแทน มันจะไม่เกิดขึ้น

แม้การไปขอเงินจากนักธุรกิจ โดยไม่มีผลตอบแทนด้านธุรกิจ จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่แลมโบประสบความสำเร็จ ในการระดมทุน จนสามารถตั้งบริษัทขึ้นมาได้สำเร็จ นอกจากนี้ บริษัท กรีนเบย์ ฟุตบอล ยังขายหุ้นของบริษัท ในราคา 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 2,200 บาทไทย ในปัจจุบัน) เพื่อระดมทุนเข้าสู่ทีม และเปิดโอกาสให้แฟน มีโอกาสเป็นเจ้าของ และมีส่วนในการตัดสินใจของสโมสร

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเรื่องราวหลังจากนี้จะสวยหรู เพราะไม่กี่ปีถัดมา สหรัฐอเมริกาต้องเผชิญหน้า กับวิกฤติทางการเงินครั้งใหญ่ (The Great Depression) ในช่วงปี 1929-1933 ซึ่งทีมกรีนเบย์ ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติทางการเงิน อย่างหนักด้วยเช่นกัน 

เนื่องจากทีมบริหารแบบไม่หวังผลกำไร ใช้เงินแบบตามมีตามเกิด และต้องพึ่งการสนับสนุน จากธุรกิจหรือบุคคลท้องถิ่น เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ คนในรัฐวิสคอนซิน เจอปัญหาด้านการเงิน ทีมแพ็คเกอร์สจึงเจอปัญหานี้ตามไปด้วย

หลายทีมอเมริกันฟุตบอล ต้องปิดฉากลง จากภาวะวิกฤติครั้งนี้ หรือหลายทีม ต้องย้ายแฟรนไชส์ ไปอยู่กับเมืองอื่น เพื่อให้ทีมมีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้น ... แต่กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส ไม่ต้องการให้ทีมฟุตบอลอันเป็นที่รัก ทีมที่มีคนท้องถิ่น ร่วมกันถือหุ้นเป็นเจ้าของทีม ต้องลาจากไป พวกเขาจึงพยายามหาวิธีการต่างๆ เพื่อให้ทีมผ่านพ้นวิกฤติทางการเงินไปให้ได้

แน่นอนว่า มีบริษัทหลายบริษัท ต้องการเข้ามาซื้อสิทธิ์ของแฟรนไชส์ แต่แพ็คเกอร์สปฏิเสธ และเลือกใช้วิธีการขายหุ้น เพื่อระดมทุนเข้าสู่ทีมเช่นเดิม สุดท้ายในปี 1935 ทีมสามารถหาวิธีได้สำเร็จ ด้วยการประกาศขายหุ้นของทีมอีกครั้ง ในราคา 25 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 14,000 บาทไทย ในปัจจุบัน) 


Photo : totalpackers.com

แม้ราคาจะไม่ถูกเหมือนครั้งก่อน แต่ทีมสามารถขายหุ้นได้มากถึง 520 หุ้น ระดมเงินให้กับทีมได้ถึง 13,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 8,600,000 บาทไทย ในปัจจุบัน) นอกจากนี้ ทีมยังดึงตัวเหล่าผู้ถือหุ้น ที่เป็นนักธุรกิจ เข้ามาเป็นผู้บริหารทีมแบบเฉพาะกิจ ดูแลด้านการเงินโดยเฉพาะ เพื่อให้ทีมผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปให้ได้

กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาด้านเงินทุนอยู่เรื่อยมา และทุกครั้งที่พวกเขาเจอวิกฤติหนัก ทีมจะแก้ปัญหาด้วยการเปิดขายหุ้น ที่ราคา 25 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อระดมทุนเข้าสู่ทีม ซึ่งกว่าทีมจะผ่านพ้นวิกฤติการเงินจริงๆ ต้องรอถึงยุค 1950's

การฝ่าฟันอุปสรรคของทีม คือการสร้างความผูกพันชั้นดี ระหว่างทีมกรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส กับ แฟนกีฬาท้องถิ่น ที่ร่วมด้วยช่วยกัน รักษาทีมให้อยู่คู่กับรัฐวิสคอนซิน ไม่ต้องยุบหรือย้ายทีม แบบที่หลายแฟรนไชส์ต้องเจอ ตลอดช่วง 30 ปี 

ความผูกพันนี้ ยิ่งสร้างความหมาย ให้กับทีมแพ็คเกอร์ส กับคนท้องถิ่น เพราะนี่ไม่ใช่แค่ทีมกีฬา แต่เป็นสมบัติอันล้ำค่า ที่ทุกคนต้องช่วยกันรักษา

 

มากกว่าทีมกีฬา

เข้าสู่ยุค 50's ลีก NFL เริ่มตั้งหลักได้ การยุบทีมหรือย้ายแฟรนไชส์เริ่มลดลง ในทางตรงกันข้าม เมืองใหญ่และมหาเศรษฐี ต้องการเป็นเจ้าของ ทีมอเมริกันฟุตบอลในลีก NFL จนนำไปสู่การเกิดลีกคู่แข่งของ NFL อย่าง AFL ในปี 1959 โดยมาจากการร่วมตัวของเหล่าเศรษฐี ที่ไม่สามารถซื้อแฟรนไชส์จากลีก NFL (ต่อมา AFL ยุบรวมกับ NFL ในปี 1970)


Photo : www.packers.com

ความต้องการที่สูง จนถึงขั้นเกิดลีกคู่แข่ง ทำให้ NFL เห็นช่องทางที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับลีก ด้วยการเปิดโอกาส ให้เหล่านายทุนเงินหนา เข้ามาเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ 

ปี 1960 NFL ประกาศออกกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการถือหุ้น การเป็นเจ้าของทีม โดยแต่ละทีม ผู้ที่ถือหุ้นต่อหนึ่งคน, ครอบครัว หรือ บริษัท ต้องถือหุ้นอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ หากเป็นครอบครัว หรือบริษัทที่ถือหุ้น ต้องมีผู้ถือหุ้นไม่เกิน 24 คน นอกจากนี้ ยังประกาศห้ามไม่ให้องค์กรไม่แสวงผลกำไร เข้ามาถือหุ้นเป็นเจ้าของอีกด้วย

กฎการเป็นเจ้าของทีมของ NFL ตรงข้ามกับความต้องการของ กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส ทุกอย่าง เพราะทีมนี้ถูกบริหารงานโดยองค์กรไม่แสวงผลกำไร มีคนมากกว่า 24 คนถือหุ้นของสโมสร แถมเปิดขายหุ้น เพิ่มจำนวนคนเข้ามาถือหุ้นอยู่ร่ำไป

โชคดี ที่ในตอนนั้น กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส ถือเป็นแฟรนไชส์ที่กำลังรุ่งเรืองสุดขีด ด้วยการเป็นแชมป์ NFL ไปแล้ว 6 ครั้ง และเป็นแฟรนไชส์เก่าแก่ ที่อยู่คู่กับเมืองมายาวนานที่สุดในเวลานั้น (รวมถึงในปัจจุบัน) ทำให้ NFL ค่อนข้างเกรงใจ ทีมแพ็คเกอร์สอยู่พอสมควร

สุดท้าย NFL จึงต้องหาช่องว่างของกฎ มายกเว้นกรณีการเป็นเจ้าของ ให้กับกรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส ด้วยการออกกฎว่า หากองค์กรไม่แสวงผลกำไร ต้องการจะเข้ามาเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ในลีก จะไม่สามารถทำได้ ยกเว้นจะเป็นสมาชิกของลีกอยู่แล้ว ซึ่งภายหลังกฎนี้ถูกเรียกในชื่อเล่นว่า กฎกรีนเบย์ (Green Bay Rules)


Photo : lombardiave.com

แม้จะรักษา กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส ในฐานะทีมของประชาชนเอาไว้ได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทีมแพ็คเกอร์ส จะยืนหยัดต่อสู้กับโลกกีฬาอเมริกัน ที่เต็มไปด้วยนักธุรกิจเขี้ยวลากดิน ที่เข้ามาบริหารทีม และสร้างความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว

แพ็คเกอร์สจากทีมที่ยิ่งใหญ่ในยุค 60's ต้องมองดูทีมอย่าง ซานฟรานซิสโก โฟร์ตีไนเนอร์ส, ดัลลัส คาวบอยส์, พิตส์เบิร์ก สตีลเลอร์ส, โอคแลนด์ เรดเดอร์ส หรือ วอชิงตัน เรดสกินส์ ประสบความสำเร็จ ตลอดช่วงยุค 70's และ 80's ขณะที่กรีนเบย์ เข้าสู่รอบเพลย์ออฟ เพียง 2 ครั้ง ในรอบ 20 ปี

อย่างไรก็ตาม แพ็คเกอร์ส ไม่เคยมีความคิดแม้แต่นิด ที่จะยกแฟรนไชส์ให้เศรษฐีพันล้าน นำทีมไปบริหาร เพราะสำหรับคนในรัฐวิสคอนซิน กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส เป็นเหมือนวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับเมือง สร้างความผูกพันมากมาย ระหว่างทีมกับท้องถิ่น

ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ที่เมื่อผู้เล่นทำทัชดาวน์ ต้องดีใจท่าบังคับ ด้วยการวิ่งไปกระโดด ดีใจกับแฟนๆ ด้านหลังเอนด์โซน หรือ Lambeau Leap รวมถึงในช่วงปรีซีซั่น ที่ผู้เล่นต้องนำจักรยานของแฟนๆ (ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กๆ) ซึ่งมายืนรอมอบให้ ปั่นเข้าสู่สนามซ้อม 


Photo : lombardiave.com

กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส คือสิ่งที่มีความหมายอย่างมาก กับชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะเมืองกรีนเบย์ ที่มีประชาชนเพียง 1 แสนคน เป็นเมืองที่เล็กที่สุด ที่มีทีม NFL ... แต่แพ็คเกอร์ส คือสิ่งที่ทำให้กรีนเบย์เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และแฟนๆ มากกว่า 7 หมื่นคน เดินทางเข้าชมเกมที่สนามเหย้าของทีม ในทุกเกมการแข่งขัน ไม่ว่าผลงานทีมจะดีหรือร้าย ไม่ว่าสภาพอากาศจะเลวร้ายขนาดไหน (มีหลายครั้งหลายหนที่เกมต้องแข่งท่ามกลางอุณหภูมิติดลบ) จนได้รับการยกย่องว่า เป็นสุดยอดแฟนอันดับ 1 ของลีก NFL จากหลายสำนักข่าว

ทีมอื่นจะเป็นอย่างไร ประสบความสำเร็จแค่ไหน กับการมีเศรษฐีหนุนหลัง ก็ไม่สำคัญสำหรับแฟนกรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส เพราะสุดท้ายพวกเขามีทีมที่แฟนได้เป็นส่วนหนึ่ง ไม่ได้เป็นเพียงแค่แฟนกีฬา แต่เป็นเจ้าของทีม ที่สร้างความผูกพันระหว่างทีม กับ แฟนๆ ขึ้นมา

 

ภูมิใจในสิ่งที่เป็น

ปัจจุบันทีม กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส มีคนถือหุ้นทั้งสิ้น 360,760 คน จากทั่วสหรัฐอเมริกา และในประเทศแคนาดา (การขายหุ้นถูกจำกัดให้เพียงแค่คนใน 2 ประเทศ) ซึ่งครั้งล่าสุดที่มีการเปิดขายหุ้น ในช่วงปี 2011 ถึง 2012 การขายหุ้นสร้างรายได้ให้กับทีม สูงถึง 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1,950 ล้านบาทไทย) และมีเจ้าของทีมเพิ่มมากขึ้นอีกหลายหมื่นคน


Photo : www.turfshowtimes.com

นอกจากนี้ กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส ยังต้องการแสดงให้เห็นว่า ใครๆ ก็สามารถเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลได้ ด้วยการมอบ 1 หุ้น ให้กับ บารัค โอบามา หลังจากที่ทีมเดินทางเข้าพบ อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐฯ หลังจากคว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์ ในปี 2011

อันที่จริง การมอบหุ้นให้กับโอบามา คือความต้้งใจที่จะต้องการแกล้งประธานาธิบดีรายนี้ ของทีมแพ็คเกอร์ส เพราะโอบามา เป็นแฟนตัวยงของทีม ชิคาโก แบร์ส ทีมคู่ปรับไม่เผาผีของแพ็คเกอร์ส (จากการที่เขาเคยเป็นวุฒิสมาชิกรัฐอิลลินอยส์ ที่เมืองชิคาโกตั้งอยู่) พวกเขาจึงให้โอบามา กลายมาเป็นเจ้าของทีมแพ็คเกอร์สเสียเลย

นอกจากจะพิสูจน์ว่า ใครๆ ก็เป็นเจ้าของทีมฟุตบอลได้ ... กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส ยังแสดงให้เห็นว่า ต่อให้บริหารในฐานะองค์กรไม่แสวงผลกำไร และมีแฟนกีฬาเป็นเจ้าของ ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ ด้วยการคว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์ ได้ 2 ครั้ง นับตั้งแต่ 30 ปีหลังสุด 

อาจจะดูน้อยไปหน่อย แต่ 30 ปีหลังสุด แพ็คเกอร์สเข้าสู่รอบเพลย์ออฟ ถึง 20 ครั้ง และเป็นแชมป์กลุ่มอีก 13 ครั้ง แสดงถึงความสำเร็จที่แท้จริงของทีม

นอกจากนี้การบริหารของทีม ในการเพิ่มมูลค่า ถือว่าไม่เป็นสองรองใคร ... ในปี 2019 นิตยสารการเงินชื่อดังอย่าง Forbes ได้จัดให้ กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส เป็นทีมที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 27 ของโลก สูงกว่าสโมสรฟุตบอลอย่าง เชลซี, อาร์เซนอล และลิเวอร์พูล

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าความสำเร็จของกรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส จะมีแต่คนชื่นชม เพราะบ่อยครั้งที่แฟนทีมตรงข้าม จะโจมตีแพ็คเกอร์ส ในฐานะ "ทีมของพวกคอมมิวนิสต์"

ปฏิเสธไม่ได้ว่า จุดยืนของทีมแพ็คเกอร์ส ยืนอยู่ตรงข้ามกับหลักแนวคิดทุนนิยม ที่ชาวสหรัฐฯภูมิใจโดยสิ้นเชิง และนำหลักแบบสังคมนิยม ให้ความสำคัญกับชุมชน และท้องถิ่นมาปรับใช้ ... แม้ว่าแนวคิดสังคมนิยมจะไม่ใช่คอมมิวนิสต์ แต่สำหรับชาวอเมริกัน อะไรที่ดูตรงข้ามกับแนวคิดเศรษฐกิจแบบทุนนิยม พวกเขาก็เหมารวม ให้เป็นคอมมิวนิสต์เสียหมด 

ด้วยเหตุนี้ แม้กระทั่งในปัจจุบัน ทีมแพ็คเกอร์สจึงมักถูกค่อนขอดว่า เป็นทีมของพวกคอมมิวนิสต์ ศัตรูของชาติอเมริกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะกับการที่ทีมยืนหยัด เป็นทีมกีฬาหนึ่งเดียว จาก 5 ลีกกีฬาใหญ่ของสหรัฐฯ ที่ถูกบริหารโดยองค์กรที่มีแฟนกีฬาเป็นผู้ถือหุ้น

อย่างไรก็ตาม หากไปถามแฟนแพ็คเกอร์สว่า พวกเขาคิดอย่างไร กับการที่ทีมบริหาร ด้วยแนวทางแบบคอมมิวนิสต์ (ที่ชาวอเมริกันบางส่วนทึกทักไปเอง) คำตอบที่จะได้กลับมาคือ พวกเขาไม่สนใจ เพราะแฟนกีฬาทีมนี้ ภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าของทีม ไม่ว่าใครจะมองอย่างไร แต่พวกเขาชื่นชอบวัฒนธรรมนี้ ที่เปิดโอกาสให้ทีมกีฬา ได้เป็นส่วนหนึ่ง กับชุมชน และสังคม


Photo : theonlinephotographer.typepad.com

"คุณรู้อยู่แล้วว่า ทีมอื่นใน NFL สนใจแต่เรื่องหาเงินให้ตัวเอง หาเงินให้กับเจ้าของ แต่เราไม่มีเจ้าของ เงินทั้งหมดถูกส่งคืนให้กับชุมชน และแฟนคลับ นี่คือสิ่งที่เราสร้างขึ้น" แฟนทีม กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส รายหนึ่งให้สัมภาษณ์ในปี 2018

นับตั้งแต่ปี 1923 จนถึงปี 2020 กว่า 97 ปี ที่ทีม กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส ทำหน้าที่เป็นความภูมิใจ เป็นจิตวิญญาณ เป็นสมบัติอันเป็นที่รัก ของชาวกรีนเบย์ ชาววิสคอนซิน และแฟนของทีมแพ็คเกอร์สทุกคน ผ่านการให้แฟนกีฬา สามารถเป็นเจ้าของทีม เพื่อสร้างผลประโยชน์ตอบแทน ให้กับแฟนของทีมทุกคน 

เชื่อว่าต่อให้ผ่านไปเป็น 100, 200 หรือ 300 ปี ทีมกรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส จะยังคงยึดหลักการของตัวเองต่อไป แม้จะแตกต่างจากทีมกีฬาอื่นในสหรัฐฯ แต่สำหรับทีมกีฬา ไม่มีความยิ่งใหญ่ใด จะยิ่งใหญ่ไปกว่า การได้เป็นทีมกีฬาเพื่อแฟนกีฬาอีกแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook