"Tie Dye" : ความภาคภูมิใจของ Under Armour ปี 2020 ที่แสดงถึงพลังของกลุ่ม LGBTQ

"Tie Dye" : ความภาคภูมิใจของ Under Armour ปี 2020 ที่แสดงถึงพลังของกลุ่ม LGBTQ

"Tie Dye" : ความภาคภูมิใจของ Under Armour ปี 2020 ที่แสดงถึงพลังของกลุ่ม LGBTQ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในเดือนมิถุนายนของทุกปี บรรยากาศในหลายสถานที่ทั่วทุกมุมโลกจะถูกแต่งแต้มสีสันด้วยสีรุ้ง เช่นเดียวกับขบวนพาเหรดเพื่อแสดงออกถึงความภูมิใจของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ ในชื่อ "Pride Month"

จากสิ่งที่เกิดขึ้น ย่อมไม่แปลกที่แบรนด์สินค้าต่างๆ จะออกคอลเลคชั่นเพื่อเรียกทรัพย์จากกระเป๋าตังค์ ซึ่งแต่ละเจ้าก็มีคอนเซ็ปท์ที่แตกต่างกันออกไป

และนี่คือคอลเลคชั่นล่าสุดจาก Under Armour ที่นอกจากจะเน้นการออกแบบที่สวยงามแล้ว ยังสะท้อนถึงประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของการเรียกร้องสิทธิชาว LGBTQ ด้วยเช่นกัน

เหตุเกิดที่ Stonewall

แม้ปัจจุบัน ชาว LGBTQ จะได้รับการยอมรับจากสังคมและวงการต่างๆ มากขึ้น แบบแทบไม่ต่างจากกลุ่มคนชายรักหญิง ทว่าหากย้อนกลับไปถึงยุค 60's เรื่องราวกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้นแต่อย่างใด

1

ยุคสมัยดังกล่าว นอกจากการเหยียดสีผิวจะยังคงเกิดขึ้นอย่างรุนแรงแล้ว การเหยียดกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศก็เช่นกัน ซึ่งเหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือ มีการบังคับใช้กฎหมายที่มีลักษณะต่อต้านการแสดงออกถึงความหลากหลายทางเพศ

ปัจจัยดังกล่าว ได้กลายเป็นสิ่งที่ทำให้พื้นที่ซึ่งชาว LGBTQ จะแสดงออกถึงตัวตนที่เป็นได้อย่างเต็มที่โดยไม่ถูกคุกคามนั้นมีน้อยแห่ง หนึ่งในนั้นคือบาร์ชื่อ Stonewall Inn ในกรีนวิช วิลเลจ มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งชาว LGBTQ รู้กันว่า ที่นี่คือ "บาร์เกย์" ซึ่งสามารถปลดปล่อยตัวเองได้เต็มที่

แต่ถึงจะพยายามปกปิดที่แห่งนี้ให้เป็น "บาร์ลับ" ขนาดไหน ที่สุดแล้วเสียงลือเสียงเล่าอ้างก็เข้าหูกลุ่มผู้รักษากฎหมายจนได้ และตำรวจก็บุกมาเยือนบาร์เกย์แห่งนี้เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1969

ในตอนแรก เจ้าหน้าที่รัฐได้อาศัยกฏหมายเรื่องการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนการจำหน่ายสิ่งผิดกฎหมายในการเข้าตรวจค้น แต่สิ่งที่ทำให้ครั้งนี้ไม่เหมือนอีกหลายๆ ครั้งคือ ตำรวจได้สั่งให้คนที่แต่งตัวเป็นผู้หญิงเข้าไปในห้องน้ำเพื่อทำการตรวจค้น หากใครก็ตามไม่ได้เป็นเพศหญิงแต่กำเนิด จะถูกจับกุมข้อหาแต่งกายไม่เหมาะสมตามเพศทันที

2

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า แทบทุกคนในนั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาว LGBTQ ไม่พอใจอย่างที่สุด การตอบโต้ด้วยการขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่จึงเกิดขึ้น ก่อนที่ทุกอย่างจะบานปลาย เมื่อตำรวจใช้กระบองในมือตีเข้าที่ศีรษะของหนึ่งในนักเที่ยวของบาร์ นำมาสู่เหตุจลาจลภายในบาร์ และพื้นที่โดยรอบซึ่งกินเวลาถึง 6 วัน และเรื่องราวของชาว LGBTQ ก็ได้ถูกถ่ายทอดสู่สื่อกระแสหลักที่ติดตามเหตุจลาจลในที่สุด

หลังจากเหตุการณ์สงบ กระแสการเรียกร้องสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศก็เริ่มก่อตัวขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก กระทั่ง 1 ปีหลังจากนั้น ก็ได้มีการจัดงานรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเรียกว่า "วันแห่งการปลดปล่อยที่ถนนคริสโตเฟอร์" (Christopher Street Liberation Day) รวมถึงมีการเดินขบวนในลักษณะเดียวกันที่เมืองอื่นๆ อีกด้วย จนนำมาซึ่งการกำหนดให้เดือนมิถุนายนของทุกปี คือ Pride Month เพื่อรำลึกและแสดงพลังของชาว LGBTQ กระทั่งปัจจุบัน

จากสีชมพูสู่สีรุ้ง

เมื่อมีการเดินขบวน แสดงออกถึงพลังของกลุ่มคน แน่นอนว่า ย่อมต้องมีการสร้างสัญลักษณ์ขึ้นมา เพื่อบอกว่าทุกคนในนั้นคือพวกเดียวกัน

3

ในยุคแรกๆ ของการเคลื่อนไหวของกลุ่มเรียกร้องสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้น ได้มีการใช้ "สามเหลี่ยมหัวกลับสีชมพู" เป็นสัญลักษณ์ อย่างไรก็ตาม หลายคนก็รู้สึกไม่สะดวกใจที่จะใช้ เพราะสัญลักษณ์ดังกล่าวมีเบื้องหลังอันน่าหดหู่ จากการที่พรรคนาซีเยอรมันได้คิดค้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อระบุตัวเชลยศึกที่เป็นพวกรักร่วมเพศ

เหล่าแกนนำของกลุ่มเรียกร้องสิทธิ LGBTQ ณ ขณะนั้น นำโดย ฮาร์วี่ย์ มิลค์ ได้พยายามคิดค้นสัญลักษณ์ใหม่เพื่อแสดงถึง "รุ่งอรุณใหม่ของการตระหนักและอิสรภาพ" ของชาวเกย์ กระทั่ง กิลเบิร์ต เบเกอร์ อีกหนึ่งนักเรียกร้องสิทธิเกย์ ได้แรงบันดาลใจจาก "ธงแห่งสีผิว" หรือ "Flag of the Human Race" ผสมกับเพลง Over the Rainbow อันโด่งดังของ จูดี้ การ์แลนด์ อีกหนึ่งไอคอนของชาวเกย์ 

4

ที่สุดแล้ว พวกเขาก็ได้สัญลักษณ์ใหม่ของการเรียกร้องสิทธิ LGBTQ นั่นคือ "ธงสีรุ้ง" โดยความหมายของสีต่างๆ ในธงมีดังนี้

สีแดง : ชีวิต
สีส้ม : การเยียวยา
สีเหลือง : แสงสว่าง
สีเขียว : ธรรมชาติ
สีน้ำเงิน : ศิลปะ
สีม่วง : จิตวิญญาณ

ทั้งนี้ ในอดีต ธงสีรุ้งในอดีตเคยมี สีชมพู ซึ่งหมายถึง เซ็กส์ และ สีคราม ที่หมายถึง ความสงบ แต่สีของธงได้มีการเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากในช่วงแรกที่มีการใช้ธงสีรุ้งอย่างแพร่หลาย ผ้าสีชมพูเกิดขาดตลาด จึงตัดสีชมพูออกไป ขณะที่สีคราม ถูกผนวกเข้ากับสีเทอร์คอยซ์ กลายเป็นสีน้ำเงิน และใช้นิยามความหมายของสีเทอร์คอยซ์เดิมบนธงมาจนถึงปัจจุบัน

กลับสู่จุดเริ่มต้น

กาลเวลาหมุนผ่านสู่ยุคปัจจุบัน ธงสีรุ้งได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของชาว LGBTQ โดยสมบูรณ์ แน่นอนว่าหลายแบรนด์ได้ออกคอลเลคชั่นสินค้าในสีรุ้ง เพื่อกระตุ้นตลาด รวมถึงแสดงถึงการสนับสนุนการเรียกร้องสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ

5

แต่สำหรับ Under Armour ผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาสัญชาติอเมริกัน พวกเขาได้หยิบอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ในการเรียกร้องสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ มาเป็นองค์ประกอบสำคัญของคอลเลคชั่นประจำ Pride Month ปี 2020

สิ่งนั้นคือ รูปแบบการทำสีในสไตล์ของผ้ามัดย้อม หรือ Tie Dye เนื่องจากธงสีรุ้งผืนแรก ที่นำมาโบกสะบัดเป็นครั้งแรกในงานเรียกร้องสิทธิชาว LGBTQ ที่เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมิถุนายน 1978 นั้น เกิดขึ้นด้วยฝีมือของศิลปินผู้เชี่ยวชาญงานมัดย้อมอย่าง ลินน์ ซีเกอร์บลอม และอาสาสมัครอีกหลายคน ที่ได้ร่วมกับ กิลเบิร์ต เบเกอร์ ในการมัดย้อมสีต่างๆ จนเปลี่ยนผืนผ้าสีขาวบริสุทธิ์ กลายเป็นสีรุ้งในที่สุด

"ในฐานะทีมออกแบบ เราประทับใจในความมุ่งมั่น, ความหวัง และความเชื่อที่แสดงให้โลกเห็นในเมืองซานฟรานซิสโกตั้งแต่เมื่อเกือบ 50 ปีก่อน ธงสีรุ้งผืนดั้งเดิมได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 1978 ด้วยการย้อมมือ ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องการให้เกียรติความงดงาม และนำสิ่งที่เกิดขึ้นนี้มาใช้เป็นแรงบันดาลใจในผลงานของเรา" นี่คือคำยืนยันจาก ยูริ มิอาล ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายดีไซน์ของ Under Armour ถึงเบื้องหลังโทนสีรุ้งที่ไม่เหมือนใคร

สีรุ้งสไตล์มัดย้อม ได้ถูกนำมาแต่งแต้มเป็นสีสันในไอเทมต่างๆ ของ Under Armour โดยตัวเด็ดที่สุดคงหนีไม่พ้น HOVR™ Phantom Slip รองเท้าลำลองที่สามารถใส่ได้ทั้งเดินเที่ยว หรือจะออกกำลังกายเบาๆ ก็พอไหว และสวมใส่ได้โดยไม่ต้องผูกเชือก ราคา 140 ดอลลาร์สหรัฐฯ (4,500 บาท), เสื้อยืด ราคาตั้งแต่ 25-35 ดอลลาร์สหรัฐฯ (800-1,100 บาท), เสื้อฮู้ด ราคา 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ (1,900 บาท), สปอร์ตบรา ราคา 45 ดอลลาร์สหรัฐฯ (1,500 บาท), ถุงเท้า ราคา 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ (700 บาท), รองเท้าแตะ ราคา 45 ดอลลาร์สหรัฐฯ (1,500 บาท) ไปจนถึงกระเป๋าเป้ ราคา 40 ดอลลาร์สหรัฐฯ (1,300 บาท) อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวไทย อาจจะต้องสอบถามที่ช็อปอีกทีว่า จะมีการนำคอลเล็กชั่นนี้เข้ามาขายหรือไม่

6

อย่างไรก็ตาม ใช่เพียงแต่จะหาเงินเข้ากระเป๋าอย่างเดียว เพราะทาง Under Armour เองก็มีกิจกรรมตอบแทนสังคม โดยพวกเขาได้เปิดตัวแคมเปญ UA PRIDE Grant Program ที่จะมอบเงินจำนวน 2,500-15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (79,000-480,000 บาท) ให้กับองค์กรสนับสนุนสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในถิ่นของ Under Armour ที่เมืองบัลติมอร์ รัฐแมรี่แลนด์ กับเมืองออสติน รัฐเท็กซัส อีกด้วย

การย้อนรอยแง่มุมของประวัติศาสตร์ ทำให้สินค้าที่ผลิตเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์นั้น มีความหมายเป็นที่น่าจดจำเสมอ ซึ่งกรรมวิธี Tie Dye ใช้การมัดย้อมของ Under Armour ก็เช่นกัน

เพราะนี่คือการสะท้อนเรื่องราวในอดีต ที่ทำให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศรู้ว่า ยังมีแบรนด์ที่จดจำเรื่องเหล่านั้นได้ และจะอยู่เคียงข้างพวกเขาเสมอ ...

จนกว่าจะถึงวันที่ชาว LGBTQ ได้รับการยอมรับจากสังคมทุกภาคส่วนอย่างเต็มภาคภูมิ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ "Tie Dye" : ความภาคภูมิใจของ Under Armour ปี 2020 ที่แสดงถึงพลังของกลุ่ม LGBTQ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook