เปิดความคิดและชีวิตอีกด้านของ "รัศมีแข ฟ้าเกื้อล้น" ที่คุณอาจไม่เคยรู้

เปิดความคิดและชีวิตอีกด้านของ "รัศมีแข ฟ้าเกื้อล้น" ที่คุณอาจไม่เคยรู้

เปิดความคิดและชีวิตอีกด้านของ "รัศมีแข ฟ้าเกื้อล้น" ที่คุณอาจไม่เคยรู้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รัศมีแข ฟ้าเกื้อล้น ชื่อนี้เป็นที่คุ้นหู สำหรับผู้ติดตามวงการบันเทิงไทย ในฐานะนักแสดง พิธีกร มากความสามารถ ที่สร้างความบันเทิง ความสนุก ให้กับชาวไทย ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ตัวตนของรัศมีแข แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ผ่านการปรากฎตัว บนหน้าจอโทรทัศน์ ผู้คนได้รู้จักตัวตนของเธอ แต่มีบางสิ่ง ที่คนส่วนใหญ่ ไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับเธอ นั่นคือรัศมีแข เป็นคนที่รักในการเล่นกีฬา ตั้งแต่ย้ายไปใช้ชีวิตที่สวีเดน ในวัยเยาว์

เราจะพาไปรู้จักชีวิตอีกด้านของเธอ เกี่ยวกับการเล่นกีฬา ผ่านชีวิตที่เติบโตกับสังคมรัฐสวัสดิการ ในสวีเดน และการเป็นเพศ LGBT (เพศทางเลือก) ของเธอ ทำให้เธอมีความเห็นอย่างไร กับวงการกีฬาในปัจจุบัน

จุดเริ่มต้นของคุณ กับการเล่นกีฬา เริ่มจากตอนไหน

ถ้าพูดถึงจุดเริ่มต้นจริงๆ เริ่มตอนปี 1999 ตอนย้ายไปอยู่ที่สวีเดน ด้วยความที่ย้ายไปตอนโรงเรียนปิดเทอม ช่วงหน้าร้อน เราไม่ทำอะไร ไม่มีเพื่อน มีแค่พี่สาว 

ตอนนั้นเราย้ายไปใหม่ เด็กที่อยู่ละแวกบ้าน เขาเล่นฟุตบอลกัน เขาชวนเราไปเล่น เราก็ไป เพราะไม่มีกิจกรรมอื่นให้ทำบริเวณนั้น การเล่นกีฬาคือกิจกรรมแรกๆ ที่คนสวีเดนจะทำ

เราไปเตะบอลกับเพื่อนกลุ่มนี้ จำไม่ได้ว่าเล่นตำแหน่งไหน ระหว่างปีกซ้ายหรือปีกขวา เพราะเราวิ่งเร็วมาก พอเราเล่นดี เขาจึงชวนให้ไปเล่นบ่อยๆ สุดท้ายเรากลายเป็นขาประจำ ที่จะไปเล่นฟุตบอล

หลังจากนั้น โรงเรียนเปิดเทอม เราไม่ได้เรียนวิชาอื่น นอกจากเรียนภาษาสวีเดน เรียนอยู่ 1 ปีเต็ม นั่งท่องคำศัพท์วนไปเรื่อยๆ

จะมีเรียนวิชาอื่น คือศิลปะกับพละ สองวิชานี้จึงเป็นเหมือนวิชาระบายอารมณ์ของเรา อย่างพละ เป็นวิชาที่เราเต็มที่มาก เราเล่นแทบทุกอย่าง และเล่นเก่งมาก ได้คะแนนวิชาพละ 3 ปี ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

 

ตอนอยู่ไทยคุณได้เล่นกีฬาบ้างไหม

มีเล่นบ้าง ตอนอยู่ที่ไทย คล้ายๆ เด็กไทยส่วนใหญ่ แต่เราไม่ชอบเล่นกีฬาที่ประเทศไทย เพราะเขาชอบมาล้อเรา ชอบบอกว่าเราเหมือนนักฟุตบอลต่างประเทศ ประมาณนี้ 

เรารู้สึกแบบรำคาญ คือเราจะมาเล่นกีฬา แต่มาถึงแล้วโดนล้อ คืออะไร เราไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ กับการเล่นกีฬาที่เมืองไทย

 

คุณพูดถึงเรื่องการเหยียด ที่สวีเดน กับการเล่นกีฬา เป็นภาพที่ต่างออกไปไหม

ถ้าพูดถึงเรื่องเหยียด มีเหมือนกันหมดทุกที่ อย่างคนไทยจะชอบล้อเลียน เรื่องรูปร่าง หน้าตา ภาพลักษณ์ แต่สวีเดนจะหนักไปทางเรื่องเชื้อชาติ เราเจอมาด้วยตัวเอง

อย่างที่บอกว่า เราเล่นกีฬาเก่ง เราวิ่งเร็ว เราจึงได้ไปแข่งกรีฑา กับเด็กห้องนักกีฬา ซึ่งเป็นชาวสวีเดนทุกคน ผมทอง ตาสีฟ้า ขณะที่เราเป็นคนต่างชาติ พูดภาษาสวีเดนไม่ค่อยได้

เชื่อไหม นั่งรถบัสไปแข่ง เรานั่งคนเดียวตลอดทั้งทาง กินข้าวคนเดียว ไม่มีใครคุยกับเรา ทำทุกอย่างคนเดียวหมด

แต่เราไม่ได้สนใจนะ ไม่ได้รู้สึกว่าต้องไปตอบโต้อะไร เรามาแข่งกีฬา เรามุ่งมั่นกับตรงนั้น ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด 

 

ถ้าอย่างนั้น อะไรที่ทำให้คุณ หันมาเล่นกีฬา ที่ประเทศสวีเดน

ที่นู่นคนเขานิยมเล่นกีฬา แฮนด์บอล, ฟุตบอล หรือไอซ์สเก็ต ซึ่งไอซ์สเก็ตเราไม่ได้เล่น เสียดายจนถึงทุกวันนี้ เพราะตอนนั้นกลัวล้ม กลัวเจ็บ กลายเป็นว่าโตมาเล่นไอซ์สเก็ตไม่เป็น

สำหรับเรา เรามองว่ากีฬาคือกิจกรรมหนึ่ง ที่สร้างความสนุก คือจุดเริ่มต้น มาจากตอนเรียนวิชาพละในโรงเรียน เป็นเหมือนพื้นที่ปลดปล่อยของเรา เราเล่นมาเรื่อยๆ

กีฬาแรกที่เล่นจริงจัง คือแฮนด์บอล ไปลงทีมประจำเขต แต่เล่นไปเล่นมา เราโดนกระแทก รู้สึกเจ็บ คือไม่ได้กลัวเจ็บ แต่รู้สึกว่ามันเล่นกันแบบไม่ต้องฟาวล์ได้ จึงเลิกเล่นแฮนด์บอลไป

แต่ไม่ได้เลิกเล่นกีฬานะ เราตามหากีฬาที่ชอบ นั่นคือวอลเลย์บอล ซึ่งเป็นกีฬาที่เรามีพื้นฐานอยู่แล้ว เคยเล่นที่ประเทศไทย เราเดินดุ่มๆ เข้าไปที่ทีมประจำเขต ตอนแรกเข้าไปนั่งดูก่อน หลังจากนั้นก็เข้าไปซ้อมด้วย

ตอนแรกที่เล่น เราควบคุมน้ำหนักการตีลูกไม่ได้ รู้สึกว่ามันยากมาก เราเล่นไม่ดี ไม่ได้ลงแข่งเลย 

จนกระทั่งอายุประมาณ 20 เราไปรู้จักกับรุ่นพี่คนไทย ที่สมัยอยู่ไทย เขาเคยเป็นนักกีฬา เคยแข่งกีฬาแห่งชาติ เขาชวนเราไปเล่นวอลเลย์บอล กับสมาคมของกลุ่ม LGBT ที่เปิดขึ้นมา ใครที่ชอบเล่นวอลเลย์บอล และเป็น LGBT จะมารวมตัวกันอยู่ทีมนี้

เราจำวันแรก ที่เราไปเล่นได้แม่นเลย คือให้เลือกตำแหน่งกันตามที่อยากจะเล่น ซึ่งไม่มีใครเล่นตำแหน่งตัวบล็อกตรงกลาง (คนไทยเรียกติดปากว่าตัวเล่นบอลเร็ว) เพราะต้องวิ่งเยอะมาก พี่เขาจึงให้เราไปเล่น

เราในตอนนั้น ยังงงอยู่เลย “อะไรคือตัวกลาง?” แต่เราแบบ เล่นก็เล่น จึงเริ่มเล่นวอลเลย์บอลจริงจังมาตั้งแต่นั้น

เรานั่งดูคลิปพี่หน่อง (ปลื้มจิตร์ ถินขาว) อยู่ 1 ปี เพราะพี่เขาเล่นตำแหน่งนี้ เราอยากรู้ว่าพี่เขาเล่น เขาวิ่งอย่างไร การเป็นผู้เล่นตัวบล็อกตรงกลางที่ดีเป็นแบบไหน หลังจากศึกษาวิธีวิ่ง เราหันมาศึกษาวิธีตีลูก เรียนรู้จากพี่หน่องทั้งหมด

ทุกวันนี้ เราตามเชียร์พี่ๆ นักวอลเลย์บอลทีมชาติไทยตลอด เคยไปดูพวกพี่เขาแข่งที่ญี่ปุ่น เรายืนตะโกนเชียร์ โหวกเหวกไปตามเรื่อง ซึ่งสนุกมาก มีความสุข

 

ดูเหมือนคุณจะชอบกีฬา มากกว่าที่ใครหลายคนจะคาดคิด?

คนจะไม่ค่อยรู้ มุมนี้ของเรา ในความเป็นจริงเราเล่นกีฬาเยอะมาก ฟุตบอล, บาสเกตบอล, วอลเลย์บอล, วิ่ง, วิ่งกระโดดสูง, วิ่งกระโดดไกล, วิ่งมาราธอน เราลองมาหมดแล้ว

อย่างฟุตบอลโลกเราก็ดู พอเพื่อนรู้ ว่าเราดูบอล เขาจะตกใจกัน เวลาฟุตบอลโลกแข่ง เราดูคนเดียวตลอด เพราะไม่มีเพื่อนดูบอล เราจะไปนั่งที่บาร์ นั่งดูคนเดียว คุยกับคนทางซ้าย ทางขวา ได้เพื่อนใหม่เยอะมาก

กีฬาคือความสนุก เป็นการเหนื่อยที่สนุก มีความสุขไปกับการเล่น สำหรับเรา เรามองว่ากีฬาคือเกมรูปแบบหนึ่ง ไม่ต่างจากการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ จริงๆการเล่นกีฬาต้องใช้สมอง ทุกกีฬาต้องใช้สมองเล่น

ถ้าคุณไม่ใช่สมอง คุณจะเตะลูกฟุตบอลได้อย่างไร เวลาคุณจะเลือกว่า จะแตะลูกฟุตบอลไปทางซ้ายหรือขวา, มีประตู คุณจะยิงไปทางไหน ให้หลบผู้รักษาประตู ต้องใช้สมองคิด หรือคุณจะหลับตายิงไม่ได้อยู่แล้ว

กีฬาเป็นเรื่องของการฝึกฝน และการใช้ระบบความคิด เรามองว่าสิ่งนี้ คือความสนุกของการเล่นกีฬา บางคนอาจจะพูดว่า การเล่นกีฬามันเหนื่อย ซึ่งเหนื่อยจริง แต่สนุก เราบอกได้ว่า เล่นกีฬามันเหนื่อยแต่สนุกจริงๆ

 

ประเทศสวีเดน โดดเด่นเรื่องรัฐสวัสดิการ การมีรัฐบาลสนับสนุนเรื่องสวัสดิการ ช่วยให้คนหันมาเล่นกีฬามากขึ้นหรือไม่

เรื่องของรัฐสวัสดิการ มันส่งผลดีให้กับเยาวชน เพราะเด็กที่สวีเดนเรียนฟรี และในระบบของการเล่นกีฬา ถ้าใครอยากเล่นกีฬาอะไร เขาจะมีสโมสรกีฬารองรับไว้ให้ เช่น ใครอยากเล่นฟุตบอล ไปเข้าชมรมฟุตบอล เขาจะเก็บค่าเงินไม่แพง เพราะมีรัฐคอยสนับสนุน จำนวนคนในชมรม ไม่จำกัด เข้าไปได้ทุกคน

เราชอบที่สุด คือเรื่องสถานที่ ทุกโรงเรียนจะมีโรงยิม และทุกโรงยิมได้มาตรฐาน ที่สำคัญเราไปขอยืมสนาม ใช้พื้นที่ของเขาได้

สมมติ เรามีกลุ่นคนไทยสัก 30 คน มารวมทีมตั้งเป็นสมาคมฟุตบอลคนไทยในสวีเดน เราสามารถไปขอเช่า ใช้พื้นที่สนามกีฬาของรัฐ

เราคิดว่าการสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐ เป็นเรื่องที่โอเค โดยเฉพาะเรื่องสถานที่ ที่ใช้ในการฝึกซ้อม ที่ได้มาตรฐาน เรามองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่สุด อย่างแรกคือ ช่วยเรื่องการดูแลร่างกายจากอาการบาดเจ็บ 

สองคือ พอมีพื้นที่ให้คนเล่นกีฬา ถ้ามีใครเล่นโดดเด่นขึ้นมา เราสามารถเริ่มพาเด็กคนนั้น เข้าสู่กระบวนการสร้างให้เขาเป็นนักกีฬาอาชีพ เราสามารถส่งต่อ สร้างฝันของเขาได้ทันที ช่วยให้เขาขึ้นไปเป็นนักกีฬาทีมชาติ 

เรามองว่าตรงนี้มีส่วน ที่ทำให้สวีเดนมีนักกีฬาทีมชาติ ที่ก้าวไปอยู่ในระดับโลกหลายคน 

 

คุณย้ายกลับมาที่เมืองไทย ยังคงเล่นกีฬาเหมือนตอนอยู่ที่สวีเดนไหม?

ยังเล่นอยู่ เรามีกลุ่มเล่นแบดมินตัน เล่นวอลเลย์บอล หรือวิ่งมาราธอน อย่างเรื่องวิ่ง เราจะไปกับทีมงานก้าว นัดกันไปวิ่งกับพี่ก้อย (รัชวิน วงศ์วิริยะ) พี่ตูน (อาทิวราห์ คงมาลัย)

 

คุณประกาศเข้าร่วมรายการ 10 Fight 10 ซีซั่น 2 (รายการที่นำดารา-นักแสดงมาชกมวย) ทำไมคุณตัดสินใจเข้าร่วมรายการนี้

จริงๆ ตั้งแต่ซีซั่นแรก คนอยากเห็นเราชกมวย เพราะเขาเห็นว่าเราเล่นกีฬา จึงอยากเห็นว่าถ้าเราต่อยมวยจะเป็นอย่างไร เราเคยไปถ่ายรายการกับพี่บัวขาว (บัวขาว บัญชาเมฆ) เขาบอกว่าเราแรงเยอะ เราอึดมาก 

แต่ซีซั่นแรก เราไม่ได้ชก เพราะหาคู่ไม่ได้ เนื่องจากต้องหาคนตัวใหญ่มาชกกับเรา เราเข้าใจ พอมาซีซั่น 2 เขาหาคู่ได้ เขาถามว่าชกไหม เราก็ตัดสินใจชก 

พูดถึงเรื่องหาคู่ยาก จะมีอีกมุมหนึ่ง เพราะด้วยความที่เราเป็นแบบนี้ (เพศที่สาม) ต่อยกับเรามีแต่เสมอตัว ถ้าแพ้คือแพ้ตุ๊ด 

เราไม่ได้มองแบบนั้น ยกตัวอย่าง เราไปวิ่งมาราธอน ถ้าผู้ชายคิดว่าเราเป็นเพศที่สาม ก็อย่าวิ่งแซงเราสิ แต่สุดท้ายทุกคนวิ่งแซงเราหมด หรือถ้ามีผู้ชายวิ่งอยู่ข้างหน้า เราวิ่งแซงเหมือนกัน

เพราะทุกคนซ้อมมา การเล่นกีฬาอยู่ที่การฝึกซ้อม ฝึกฝน ... สมมติ ถ้าเราวิ่งแข่งกัน 5 กิโลเมตร ถ้าคุณซ้อมมาดีกว่า คุณก็ชนะ ถ้าเราซ้อมมาดีกว่า เราก็ชนะ

กีฬาไม่ใช่สิ่งที่จะมาวัดด้วยเรื่องเพศ เพศนี้จะต้อง (เงียบไปสักพัก) พูดตรงๆ มันไม่ใช่เรื่องที่จะบอกว่า ตุ๊ดจะต้องแพ้ ไม่ใช่แบบนั้น

ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเรา ไม่ใช่คนรอบข้าง ไม่ใช่ว่าคุณเป็นตุ๊ด คุณต่อยมวยไม่ได้ ยกตัวอย่างกีฬาโอลิมปิก คนที่ห้อยเหรียญทอง ใครจะรู้ เขาอาจจะเป็นเกย์

ดังนั้น กีฬาไม่ได้วัดกันที่เพศ ความสำเร็จ ชัยชนะ วัดที่การเตรียมพร้อม ใครเตรียมตัวมาดีกว่ากัน ใครพร้อมมากกว่ากัน วันนั้นเป็นวันของใคร

เราจะไปชกมวย เราต้องซ้อม เพราะเราไม่อยากเป็นคนโง่ ในการเล่นกีฬาครั้งนี้ เราฝึกเพื่อที่จะไม่ให้เขาต่อยเรา 

 

การเป็นเพศ LGBT ต้องเจอกับเสียงต่อต้านจากสังคมเสมอ ในความเห็นของคุณ เรื่องเพศสภาพเป็นกำแพงกั้นขวาง โอกาสในการเล่นกีฬามากแค่ไหน

เท่าที่ได้ยินมา คิดว่ามีส่วนบ้าง เราเข้าใจนะ ด้วยภาพลักษณ์ของนักกีฬา จะมาแสดงออกพฤติกรรมบางอย่าง แบบตรงไปตรงมา คงจะไม่เหมาะสม

ตามที่เราเข้าใจ นักกีฬาจะภาพลักษณ์ในรูปแบบของตัวเอง ถ้าเราไปแสดงกริยาบางอย่าง อาจจะไม่ถูกจริต ไม่ถูกใจคนบางกลุ่ม

ถ้าวันหนึ่ง เราเป็นนักกีฬาทีมชาติ เราต้องรู้ในจุดที่เราเป็น ภาพลักษณ์ของเราสำคัญมาก เพราะใครที่ติดตามเรา คำตอบคือเยาวชน เขามองเราเป็นแบบอย่าง เป็นฮีโร่ เวลาเขาเล่นกีฬา เขาจะเลียนแบบเรา เขาอยากจะเติบโต เป็นนักกีฬาเหมือนเรา 

เราไม่ได้มองเรื่องปิดกั้นโอกาสหรอก เรามองเรื่องภาพลักษณ์มากกว่า สำหรับเรื่องนี้เรามองว่า 50-50 เพราะเรื่องการยอมรับ สำคัญก็จริง แต่ต้องไม่ลืมว่า LGBT คือเรื่องใหม่สำหรับคนในสังคม

 

คุณกำลังจะบอกว่า เพศ LGBT ยังคงต้องใช้เวลา ที่จะได้รับการยอมรับจากสังคม?

เรามองว่า ทั้งในไทยและต่างประเทศ LGBT คือเพศที่ใหม่มาก และเราเชื่อว่ามีบางคนที่ยังไม่คุ้นเคยกับเพศนี้ แม้แต่ในประเทศอย่างสวีเดน

สำหรับเรา LGBT เป็นเพศที่แปลกใหม่ เป็นรสนิยม ความชอบ ที่แตกต่างออกไปจากผู้ชายรักกับผู้หญิง เราพูดตลอดว่า ความใหม่ของ LGBT ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนรอบข้าง ว่าเขาจะคิดอย่างไรกับเรา

ในทางกลับกัน เราควรมองว่า เราจะปฏิบัติตนอย่างไร กับคนรอบข้าง กับสังคมที่ LGBT เป็นเรื่องใหม่ ให้เขามองมาที่เรา และเขารู้สึกโอเค

เป็นส่วนหนึ่งที่รัศมี แข จึงสนใจมาทำรายการเกี่ยวกับกีฬา? 

จริง ๆ มันก็ไม่เชิง...ตอนนี้เรากำลังรับบทเป็นพิธีกรรายการกีฬารายการหนึ่ง ชื่อว่า Sport Blood เป็นรายการที่ลงทาง True ID ซึ่งจะออนแอร์ตอนแรกวันที่ 14 มิถุนายนนี้ เราเป็นพิธีกรร่วมกับแอริณ (สิรีภรณ์ ยุกตะทัต) ตอนได้รับการทาบทามมาทีแรกก็ตกใจ ยอมรับเลยว่าตกใจ แต่ก็รู้สึกว่า เออ มันน่าจะสนุกดี เพราะเราก็มีแคแรกเตอร์ของความเป็นนักกีฬาอยู่แล้ว และเราก็อยากสนุกไปกับมันด้วย เราได้เจอพี่ ๆ ในวงการบันเทิง และได้รู้จักตัวตนของพวกเขาในอีกแง่มุมหนึ่ง ทั้งพี่เจ-เจตริน กับการเล่นเจ็ตสกี, พี่ตู่-ภพธร กับการเล่น MMA (ศิลปะการต่อสู้แบบผลสมผสาน), พี่กบ-ทรงสิทธิ์ กับอดีตที่เคยเป็นนักไอซ์ฮ็อกกี้  ที่สำคัญ คือ ที่ผ่านมาไม่มีใครรู้จักเราในในแง่มุมนี้ ในแง่มุมของคนที่รักกีฬาจริง ๆ จัง ๆ ไม่ได้เกี่ยวกับว่าอยากให้คนรู้สึกว่า LGBT เป็นเรื่องที่ธรรมดาของกีฬาไปซะทีเดียว มันเริ่มจากตัวเรามากกว่า

 

สุดท้ายการเล่นกีฬาให้อะไรกับคุณบ้าง

กีฬามีข้อดีเยอะมาก สิ่งแรกที่ได้คือ เรื่องของวินัย เรามีระเบียบวินัยเพิ่มขึ้นมาก จากการเล่นกีฬา อย่างที่สอง เรื่องของสุขภาพ เราบอกได้ว่า สุขภาพของเราแข็งแรงมาก เราได้รู้จักการดูแลตัวเอง

อีกหนึ่งสิ่งที่ตามมา เราได้สังคมที่เปิดกว้างสำหรับเราเสมอ เรามีสังคมวิ่ง สังคมวอลเลย์บอล สังคมแบดมินตัน หลากหลายสังคม จากกีฬาที่เราเล่น 

ด้านหนึ่งที่เรามองว่าเป็นเสน่ห์ของกีฬา คือการให้ความฝัน บางคนอยากเป็นหมอ บางคนอย่างเป็นตำรวจ แต่บางคนได้เล่นกีฬา จึงมีความฝันอยากเป็นนักกีฬาทีมชาติ และถึงจะไม่ได้เป็น นักกีฬาทีมชาติตามที่ฝัน แต่อย่างน้อย ก็ได้ใช้เวลากับสิ่งที่รัก    

 

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ เปิดความคิดและชีวิตอีกด้านของ "รัศมีแข ฟ้าเกื้อล้น" ที่คุณอาจไม่เคยรู้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook