ไขข้อข้องใจ : เหตุใดบุนเดสลีกาจึงเป็นลีกที่มีค่าเฉลี่ยผู้ชมมากที่สุดในโลก?

ไขข้อข้องใจ : เหตุใดบุนเดสลีกาจึงเป็นลีกที่มีค่าเฉลี่ยผู้ชมมากที่สุดในโลก?

ไขข้อข้องใจ : เหตุใดบุนเดสลีกาจึงเป็นลีกที่มีค่าเฉลี่ยผู้ชมมากที่สุดในโลก?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากใครเป็นสาวกกีฬาฟุตบอล คงรู้กันดีว่า บุนเดสลีกา ลีกฟุตบอลสูงสุดของประเทศเยอรมัน เป็นลีกที่มีความโดดเด่นในเรื่องของแฟนบอลที่แน่นขนัดในทุกเกมการแข่งขัน จนเป็นลีกฟุตบอลที่มีค่าเฉลี่ยผู้ชมสูงที่สุดในโลก

ทั้งที่มองตามความเป็นจริง บุนเดสลีกา ไม่ได้มีนักฟุตบอลซุเปอร์สตาร์ระดับโลก, ไม่ได้ทุ่มเงินซื้อนักเตะชื่อดังเข้าร่วมทีม, โค้ชส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่โค้ชมือทอง แถมยังถูกค่อนขอดจากแฟนลูกหนังบางส่วน ว่าเป็นลีกที่น่าเบื่อ จากการผูกขาดแชมป์ในประเทศ ของ บาเยิร์น มิวนิค

แม้จะมีคุณสมบัติเป็นรองหลายด้าน แต่เหตุใดบุนเดสลีกาจึงกลายเป็นลีกฟุตบอลที่ได้รับความนิยมจากคนในประเทศ ตีตั๋วเข้าชมเกมการแข่งขันอย่างล้นหลาม จนกลายเป็นลีกที่ครองความเป็นหนึ่งเรื่องผู้ชมของโลกลูกหนัง

ฟุตบอลสำหรับแฟนบอลท้องถิ่น

เราเริ่มต้นด้วยเหตุผลที่ทางบุนเดสลีกานิยมกล่าวถึงว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีแฟนบอลเข้าชมเกมในสนามมากที่สุดในโลก คือ ค่าตั๋วถูก 

1

วงการฟุตบอลเยอรมันมีความคิดที่ชัดเจนว่า หากต้องการให้คนดูเข้าสนาม การกดราคาค่าตั๋วให้ถูกที่สุดเท่าที่จะทำได้ คือเรื่องสำคัญอย่างมาก พวกเขาเชื่อว่าฟุตบอลที่ดี ต้องมาพร้อมกับบรรยากาศในสนามที่ยอดเยี่ยม และทางที่จะสร้างสุดยอดบรรยากาศในสนามฟุตบอล คือการดึงแฟนบอลเข้าสู่สนามให้มากที่สุด

วิธีที่ง่ายๆที่จะทำให้แฟนบอลซื้อตั๋วเข้าสนามคือราคาค่าตั๋วต้องถูก สามารถรองรับแฟนบอลได้ทุกชนชั้น จะรวยหรือจนต้องมีสิทธิ์เท่าเทียมกันที่จะซื้อตั๋วเข้าชมเกมในสนาม ไม่เป็นภาระของกระเป๋าเงิน

บุนเดสลีกามีค่าเฉลี่ยราคาตั๋วต่อหนึ่งเกมอยู่ที่ 5.4 ยูโรเท่านั้น (ประมาณ 188 บาท) ในขณะที่พรีเมียร์ลีก อังกฤษ มีค่าเฉลี่ยราคาตั๋วต่อเกมสูงถึง 36.4 ยูโรต่อเกม (ประมาณ 1,240 บาท) สูงกว่าถึง 6-7 เท่าโดยประมาณ 

เพราะว่าสโมสรฟุตบอลในเยอรมันต้องการที่จะให้แฟนบอลกลุ่มหลักที่จะเข้ามาชมเกมในสนามคือแฟนบอลท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในเมืองของตนเองซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นแรงงาน ค่าตั๋วจึงจำเป็นต้องถูก เพื่อให้แฟนบอลไม่ต้องกังวลเรื่องการใช้จ่ายยามเดินทางมาชมเกมการแข่งขัน

2

หากใครเคยมีประสบการณ์ชมเกมฟุตบอลในสนามย่อมรู้ดีว่าค่าใช้จ่ายในการดูฟุตบอลไม่ได้มีแค่ค่าตั๋ว แต่มีทั้งค่าเดินทาง, ค่าอาหาร, ค่าเครื่องดื่ม, ค่าของที่ระลึก.. ฟุตบอลเยอรมันมองว่า การสร้างบรรยากาศที่ดี ณ สนามฟุตบอล ไม่ใช่แค่การให้คนเดินทางมาดูฟุตบอลแล้วกลับบ้าน แต่แฟนบอลต้องมีความสุขในทุกกิจกรรมที่สนาม สิ่งสำคัญคือการได้พบปะสังสรรค์กับเพื่อนแฟนบอล กินข้าว ดื่มเบียร์ด้วยกัน

หากแฟนบอลมีความสุขกับการมาสนามฟุตบอล บรรยากาศของสนามฟุตบอลจะยอดเยี่ยมตามไปด้วย ดังนั้นการลดค่าตั๋ว นอกจากจะเป็นการดึงดูดให้แฟนบอลเดินทางมาดูบอลที่สนาม ยังช่วยให้แฟนบอลนำเงินไปใช้จ่ายซื้อความสุขด้านอื่นได้อย่างเต็มที่

ไม่เห็นแก่เงิน

อีกแง่หนึ่ง ต้องบอกว่า บุนเดสลีกาไม่ได้พยายามทำฟุตบอลให้เป็นธุรกิจทุนนิยมมากเกินไป หนึ่งในตัวอย่างที่พวกเขาเรียนรู้คือลีกบ้านใกล้อย่าง พรีเมียร์ลีก 

พรีเมียร์ลีก มีการขึ้นราคาค่าตั๋วอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเพราะลีกฟุตบอลสูงสุดของอังกฤษได้ปรับฟุตบอลให้เป็นธุรกิจ ดึงดูดให้คนต่างชาติเข้ามาชมเกมในสนาม และกลุ่มคนเหล่านี้พร้อมจ่ายเงินไม่อั้นเพื่อจะได้ชมเกมฟุตบอลในฝัน 

3

ดังนั้น ต่อให้ค่าตั๋วพรีเมียร์ลีกจะแพงทะลุเพดานไปไกล ทีมฟุตบอลยักษ์ใหญ่ยังคงมีแฟนบอลจำนวนมากเข้าสู่สนามอยู่ดี แต่สิ่งที่หายไปคือบรรยากาศฟุตบอลที่ยอดเยี่ยมไม่เหมือนในอดีต เพราะแฟนบอลแรงงานท้องถิ่นไม่มีเงินซื้อตั๋วเข้าไปดูฟุตบอล แฟนบอลที่คอยร้องเพลงส่งเสียงเชียร์ทีมมีจำนวนน้อยลงไปเรื่อยๆ จนเป็นปัญหาคาราคาซังของลีกฟุตบอลอังกฤษ

ฟุตบอลเยอรมันไม่ต้องการให้เรื่องแบบนั้นเกิดกับบุนเดสลีกา เพราะพวกเขาภูมิใจกับพลังของแฟนบอล (ดูพลังการเชียร์ของทีมอย่าง ดอร์ทมุนด์, ชาลเก้ 04 และ แฟรงค์เฟิร์ต เป็นตัวอย่าง) ดังนั้น ต่อให้ทีมจะเก่งจนสามารถโก่งราคาค่าตั๋ว เพิ่มขึ้นได้สูงขนาดไหน พวกเขาก็จะไม่ทำ

ตัวอย่างที่ดีที่สุด คือ บาเยิร์น มิวนิค ที่มีราคาค่าตั๋วเฉลี่ยต่อเกมเพียง 8 ยูโร (ประมาณ 279 บาท) ซึ่งราคาตั๋วถูกกว่าราคาตั๋วขั้นต่ำของทีมฟุตบอลในลีกเดอะ แชมเปียนชิพ หรือลีกรองของอังกฤษทีมหนึ่ง ที่ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ซื้อตั๋วด้วยตัวเองมาแล้ว

สำหรับทีมระดับโลกที่มีค่าตั๋วถูกขนาดนี้ ทำให้ทุกเกมการแข่งขัน ตั๋วของบาเยิร์นถูกขายจนหมดเกลี้ยง ผู้ชมแห่กันเข้าไปเต็มความจุร่วม 75,000 คนของอลิลันซ์ อารีนา รังเหย้าของบาเยิร์น มิวนิค

บ่อยครั้งที่เราจะได้เห็นข่าวการประท้วงค่าตั๋วแพงของแฟนบอลเยอรมัน ยามพวกเขาต้องไปเยือนทีมฟุตบอลในอังกฤษ ด้วยการเขียนป้ายด่า, โยนเงินปลอมลงสนาม หรือประท้วงด้วยการซื้อตั๋ว แต่ไม่เข้าสนามบอล

พวกเขาทำแบบนั้น เพราะว่าสำหรับแฟนบอลชาวเยอรมัน พวกเขาไม่เห็นว่าการมีราคาค่าตั๋วแพงจะส่งผลดีอะไรกับแฟนบอล นอกจากทำให้แฟนบอลท้องถิ่นเข้าสนามฟุตบอลของทีมรักได้ยากขึ้น.. ในเมื่อที่เยอรมัน แฟนบอลสามารถเข้าไปหาความสุขกับเกมลูกหนังด้วยราคาตั๋วไม่ถึง 10 ยูโร

4

ทุกวันนี้ ไม่ใช่แค่แฟนบอลชาวเยอรมันที่แห่ตีตั๋วเข้าไปชมบุนเดสลีกาทุกสัปดาห์ แต่ลีกแห่งนี้ได้รับความนิยมสูงขึ้นในหมู่แฟนบอลชาวอังกฤษที่จ่ายค่าตั๋วดูฟุตบอลพรีเมียร์ลีกไม่ไหว แล้วหันมาเป็นแฟนบอลทีมระดับรากหญ้าในเยอรมันแทน

ไอน์ทรัค แฟรงค์เฟิร์ต, เอฟซี โคโลญจน์, อูนิโอน เบอร์ลิน หรือ แฮร์ธา เบอร์ลิน กลายเป็นทีมขวัญใจชาวแดนผู้ดีที่หันมาเป็นสมาชิกสโมสรในเยอรมันแทนสโมสรในบ้านเกิด เพราะสามารถชมฟุตบอลที่มีบรรยากาศและคุณภาพระดับใกล้เคียงกัน ด้วยราคาที่ถูกกว่าหลายเท่า 

"เราต้องการให้ทุกคนมีโอกาสเข้าชมเกมในสนาม มันเป็นเรื่องง่ายที่จะขึ้นราคาค่าตั๋วแล้วสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นด้วยการเอาเงินจากแฟนบอล แต่ผมเชื่อว่า ไม่มีสโมสรไหนอยากทำแบบนั้น"

"ในแง่ของธุรกิจ คุณพูดได้ว่านี่คือเรื่องผิดพลาดอย่างมหาศาล (การไม่ขึ้นค่าตั๋ว) แต่ถ้ามองถึงภาพรวมของกีฬาฟุตบอล ผมว่าเราทำในสิ่งที่ถูกต้อง" คริสเตียน ซีเฟิร์ต ซีอีโอของลีกบุนเดสลีกา กล่าว

สโมสรของแฟนบอล

จะเห็นได้ว่า สิ่งที่วงการฟุตบอลเยอรมันให้ความสำคัญเป็นอย่างมากคือเรื่องของ แฟนบอลท้องถิ่น.. หลายการตัดสินใจในวงการฟุตบอลเมืองเบียร์ต้องใช้เรื่องของแฟนบอลเป็นตัวตั้งในการตัดสินใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะแฟนบอลเหล่านี้ คือผู้ขับเคลื่อนวงการฟุตบอลเยอรมันในฐานะเจ้าของสโมสร

5

เป็นเรื่องปกติของโลกฟุตบอลในปัจจุบันที่สโมสรจะถูกถือครองโดยมหาเศรษฐีพันล้าน แต่ที่เยอรมันกลับแตกต่างออกไป พวกเขามีกฎ 50+1 กฎที่บังคับให้แฟนบอลต้องถือหุ้นส่วนใหญ่ของสโมสร หรืออย่างน้อย 51 เปอร์เซ็นต์ และสโมสรส่วนใหญ่ในเยอรมันอยู่ภายใต้กฎนี้

เมื่อสโมสรฟุตบอลเป็นของแฟนบอล ดังนั้น แฟนบอลย่อมมีสิทธิ์ในการบริหารสโมสรเพื่อให้ตอบสนองต่อแฟนบอล เช่น การไม่ขึ้นราคาค่าตั๋วเป็นต้น

แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าสำหรับแฟนบอลที่เยอรมันคือความรู้สึกของการเป็นเจ้าของสโมสร.. เมื่อคุณถือหุ้นสมาชิกของสโมสรฟุตบอลสักทีม ความผูกพันระหว่างคุณกับสโมสรจึงไม่ได้เป็นแค่เรื่องของสโมสรกับแฟนบอล แต่เป็นสโมสรกับเจ้าของฟุตบอล

สำหรับคนเยอรมัน พวกเขามีความรู้สึกแบบนั้นกับทีมฟุตบอล.. คนเมืองดอร์ทมุนด์ไม่ได้เชียร์ดอร์ทมุนด์เพียงเพราะพวกเขาชอบ หรือเป็นแค่ทีมประจำเมือง แต่พวกเขาคือเจ้าของทีมแห่งนี้ อยากเห็นสโมสรแห่งนี้ประสบความสำเร็จไปด้วยกัน

ความรู้สึกเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอล คือส่วนสำคัญที่ทำให้บุนเดสลีกามีแฟนบอลคอยเข้าสนามจำนวนมาก เพราะความรู้สึกนี้มีความหมายอย่างมากกับแฟนบอลทีมขนาดเล็ก

6

พูดให้เห็นภาพคือ ต่อให้ผลงานของทีมจะห่วยแค่ไหน แฟนบอลส่วนใหญ่ยังคงเลือกเข้าสนาม เพราะพวกเขาคือหนึ่งในคนที่เป็นเจ้าของสโมสร.. ต่อให้ทีมผลงานแย่ เล่นไม่เอาอ่าว แต่นี่คือทีมของเรา ถ้าเราไม่สนับสนุน ส่งเสียงเชียร์ทีมที่ของเรา เราจะไปเชียร์ทีมไหน?

การมีแฟนบอลเป็นเจ้าของสโมสร คือการรับประกันได้ว่า ทุกสโมสรจะมีแฟนบอลพันธ์ุแท้ที่พร้อมร่วมหัวจมท้ายไปกับทีมไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม.. ทำให้ ลีกา 2 อันเป็นลีกระดับสองของฟุตบอลเยอรมันมีค่าเฉลี่ยผู้ชมเยอะกว่าลีกสูงสุดของประเทศโปรตุเกส, รัสเซีย และ เนเธอร์แลนด์ 

นอกจากนี้ การมีแฟนบอลเป็นเจ้าของสโมสร ช่วยสร้างคาแรคเตอร์ของสโมสรที่พัฒนามาจากคาแรคเตอร์ของกลุ่มแฟนบอล นำไปสู่การเกิดอัตลักษณ์เฉพาะ แตกต่างไม่เหมือนใครของสโมสรที่ดึงดูดให้แฟนบอลเข้ามาเป็นแฟนพันธุ์แท้ของสโมสร

ยกตัวอย่างเช่น เอฟซี ซังค์ เพาลี ที่มีคาแรคเตอร์สโมสรฝ่ายซ้ายต้านเผด็จการ หรือ อูนิโอน เบอร์ลิน สโมสรของชนชั้นแรงงาน.. อัตลักษณ์เหล่านี้ช่วยให้สนามฟุตบอลไม่เป็นเพียงสถานที่สำหรับชมกีฬาเพียงอย่างเดียวสำหรับแฟนบอล

7

แต่ยังเป็นพื้นที่แสดงออกทางความคิดต่างๆที่แฟนบอลไม่สามารถแสดงออกได้ในชีวิตประจำวัน บ่อยครั้งที่สโมสรฟุตบอลเยอรมันทำป้ายแบนเนอร์เพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งมีให้เห็นตั้งแต่ทีมระดับ บาเยิร์น หรือ ดอร์ทมุนด์ จนถึงทีมลีกระดับล่าง

ท้ายที่สุด การเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลโดยแฟนบอลได้เพิ่มคุณค่า ความหมายให้กับทีมฟุตบอลให้เป็นมากกว่าทีมกีฬา ทำให้แฟนบอลสามารถซื้อตั๋วเข้าสนามฟุตบอลด้วยวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อยอดคนดูของบุนเดสลีกา

มอบสิ่งที่ดีให้แฟนบอล

จุดสำคัญที่ทำให้บุนเดสลีกาครองความเป็นเลิศด้านแฟนบอลไม่ได้มาจากทีมหัวตาราง แต่มาจากจำนวนผู้ชมในทีมระดับกลางตารางที่มีแฟนบอลเข้าสนามไม่แพ้ทีมชั้นนำ

8

ฤดูกาล 2019-20 ก่อนที่ฟุตบอลยุโรปจะระงับการแข่งขันชั่วคราว มี 11 สโมสรในบุนเดสลีกา (จากทั้งหมด 18 ทีม) มีจำนวนผู้ชมเฉลี่ยมากกว่า 40,000 คน ขณะที่พรีเมียร์ลีกมีจำนวนเพียง 8 ทีม และลาลีกา สเปน มีเพียง 4 ทีมเท่านั้น ที่มียอดคนดูมากกว่า 40,000 คน

เป็นเรื่องปกติของทีมระดับกลางไปจนล่างที่จะไม่สามารถสร้างยอดผู้ชมได้เท่ากับทีมหัวตาราง ด้วยเรื่องผลการแข่งขันที่ไม่สามารถมอบชัยชนะหรือความสุขให้กับแฟนบอลได้บ่อยนัก และปฏิเสธไม่ได้ว่า หากทีมไม่ชนะเข้าบ่อยๆ การที่แฟนบอลจะไม่เข้าสนาม คงไม่ใช่เรื่องแปลก

แต่สโมสรฟุตบอลเยอรมัน ทดแทนความสุขจากผลการแข่งขัน ด้วยการทำกิจกรรมกับคนในชุมชน ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดคือการเปิดให้แฟนบอลเข้าชมการซ้อมของทีม

ปัจจุบัน สโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่ แทบไม่เปิดโอกาสให้แฟนบอลเข้าไปดูการซ้อมของทีม แต่ที่เยอรมัน ไม่ว่าจะเป็นทีมระดับ บาเยิร์น จนถึงทีมระดับลีกล่าง ทุกทีมล้วนมีช่วงเวลาอนุญาตให้แฟนบอลเข้ามาเกาะติดข้างสนามซ้อมเพื่อใกล้ชิดกับนักฟุตบอลในดวงใจ และได้โอกาสถ่ายรูป ขอลายเซ็นจากนักฟุตบอล โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

ทุกสโมสรประสบความสำเร็จกับการเปิดให้แฟนบอลเข้าสู่สนามซ้อม มีแฟนจำนวนมากเข้ามาชมทีมซ้อม แม้ไม่ใช่ในช่วงวันหยุด.. หากสโมสรสามารถดึงดูดให้แฟนบอลเข้ามาร่วมทำกิจกรรมกับทีมได้ในวันปกติ การจะเรียกแฟนบอลเข้าสู่สนามแข่งในวันหยุดสุดสัปดาห์ก็ไม่ใช่เรื่องยาก

9

นอกจากนี้ สโมสรฟุตบอลเยอรมัน มักทำกิจกรรมร่วมกับแฟนบอลท้องถิ่น เช่น ในช่วงระบาดโควิด-19 โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ปรับสนามเหย้าของทีมให้กลายเป็นศูนย์รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือ แวร์เดอร์ เบรเมน ทำอาหารแจกทุกวันให้กับคนไร้บ้านในเมือง เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้ที่พบกับความลำบากช่วงโรคระบาด 

เมื่อสโมสรในเยอรมันมอบสิ่งดีๆหลายอย่างให้กับชุมชน แฟนบอลจึงต้องการที่จะตอบแทนคืนให้กับสโมสรเช่นกัน ในฐานะแฟนบอล คงไม่มีวิธีใดที่จะดีไปกว่าการซื้อตั๋วเข้าไปช่วยเชียร์ทีมในสนาม ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำ กับค่าตั๋วราคาไม่กี่ยูโร

ทุกเรื่องราวความสัมพันธ์ ระหว่างสโมสรกับแฟนบอลที่เยอรมัน สิ่งหนึ่งที่พวกเขาพยายามไม่ให้ความสำคัญ คือเรื่องของเงิน ผลประโยชน์ทางธุรกิจ.. ไม่ได้หมายความว่า สโมสรฟุตบอลในเยอรมันไม่สนใจเรื่องเงิน ในทางกลับกัน พวกเขาใช้เงินอย่างประหยัดในการซื้อขายนักเตะ เพราะหลายสโมสรมีประสบการณ์เฉียดล้มละลายมาแล้ว 

แต่สโมสรเยอรมันจะไม่ยอมให้ความสัมพันธ์กับแฟนบอลว่าด้วยเรื่องของเงิน ผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ไม่มีการทุ่มเงินซื้อนักเตะ เพื่อเรียกสปอนเซอร์หรือแฟนบอลเข้ามาสนับสนุน ก่อนจะกลับมาขูดรีดแฟนบอลด้วยค่าตั๋วราคาแพง

หากทำแบบนั้น สักวันหนึ่งที่ทีมเลิกทุ่มเงินหรือผลงานไม่ดี แฟนบอลที่เข้ามาเชียร์ตามกระแส หรือผลงานจะหายไป.. แต่สิ่งที่ทำให้แฟนบอลเยอรมันยังคงสนับสนุนทีมรักไม่ว่าจะขึ้นหรือลง คือความผูกพันที่ทั้งสองฝั่งสร้างขึ้น เมื่อสโมสรฟุตบอลถูกสร้างเพื่อผลประโยชน์ของแฟนบอล แฟนบอลก็พร้อมให้การสนับสนุนสโมสร

10

แม้แต่ในวันที่โรคโควิด-19 ระบาด แฟนบอลสโมสร โบรุสเซีย มึนเช่นกลัดบัค ได้ส่งทำคัตเอาต์ เป็นรูปหน้าของแฟนบอลนำไปตั้งไว้ในสนามเพื่อให้นักบอลไม่รู้สึกเงียบเหงาและรับรู้ถึงความรู้สึกที่ยังมีแฟนบอลหนุนหลังอยู่ แม้ความจริงแฟนบอลจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสนามก็ตาม

เป็นเรื่องน่ายินดีที่ลีกฟุตบอลบุนเดสลีกากลับมาทำการแข่งขันอีกครั้ง แต่น่าเสียดายที่ต้องขาดเสน่ห์สำคัญอย่างแฟนบอลที่คอยหนุนหลังทีมจนถึงวินาทีสุดท้าย.. อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันที่แฟนบอลได้กลับเข้าสู่สนามอีกครั้ง เราจะได้เห็นฟุตบอลบุนเดสลีกาที่เต็มไปด้วยแฟนบอลอันมีจำนวนเป็นอันดับหนึ่งของโลก เหมือนเช่นวันวานที่ผ่านมา

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ ไขข้อข้องใจ : เหตุใดบุนเดสลีกาจึงเป็นลีกที่มีค่าเฉลี่ยผู้ชมมากที่สุดในโลก?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook