"อาลี" ยังยอมสยบ : ทำไม "อันโตนิโอ อิโนกิ" จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นนักสู้ญี่ปุ่นที่ยิ่งใหญ่สุด?

"อาลี" ยังยอมสยบ : ทำไม "อันโตนิโอ อิโนกิ" จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นนักสู้ญี่ปุ่นที่ยิ่งใหญ่สุด?

"อาลี" ยังยอมสยบ : ทำไม "อันโตนิโอ อิโนกิ" จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นนักสู้ญี่ปุ่นที่ยิ่งใหญ่สุด?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มูฮัมหมัด อาลี, แมนนี ปาเกียว, แอนเดอร์สัน ซิลวา, ชูการ์ เรย์ โรบินสัน และ บร็อค เลสเนอร์ ทั้งหมดคือนักสู้ที่คว้าชัยชนะบนเวทีมวยสากล และ MMA มาแล้วมากมาย จนได้รับการยอมรับให้เป็น สุดยอด จากแฟนกีฬาทั่วโลก

กล่าวถึง สุดยอดนักสู้ ในประเทศญี่ปุ่น มีผู้ชายคนหนึ่งที่ได้การยอมรับ แต่เขาไม่ใช่นักมวย ไม่ใช่นัก MMA และไม่เคยเอาชนะการต่อสู้ของจริงเลยสักครั้ง แต่กลับคว้าตำแหน่ง ยอดนักสู้ ไปครอบครอง

Main Stand นำเสนอเรื่องราว อันโตนิโอ อิโนกิ ผู้เคยยืนหยัดต่อหน้า มูฮัมหมัด อาลี 15 ยก โดยไม่โดนสักหมัด จนสร้างอิทธิพลแก่วงการ MMA และได้รับการขนานนามเป็น นักสู้ชาวญี่ปุ่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล

เริ่มต้นจากมวยปล้ำ

เส้นทางนักสู้ของ อันโตนิโอ อิโนกิ หรือในชื่อจริง คันจิ อิโนกิ (猪木寛至) เริ่มต้นตั้งแต่อายุ 14 ปี เมื่อกิจการค้าถ่านหินของครอบครัวในเมืองโยโกฮามาซบเซา ตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ครอบครัวของเขาจึงตัดสินใจ ย้ายถิ่นฐานออกจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ในดินแดนห่างไกลอย่าง ประเทศบราซิล

 1

เด็กชายอิโนกิ เผชิญความยากลำบากในการปรับตัวเข้ากับภาษาและวัฒนธรรมใหม่ ในใจเฝ้าคิดถึงวันและเวลาจะได้หวนคืนบ้านเกิดอีกครั้ง โอกาสของเขามาถึง เมื่อคณะทัวร์มวยปล้ำของ ริคิโดะซัง (Rikidōzan) ผู้ได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งมวยปล้ำญี่ปุ่น” เดินทางมาเปิดการแสดงที่บราซิล

อิโนกิ ตีตั๋วเข้าชมความมหัศจรรย์ของวงการมวยปล้ำ ก่อนตกหลุมรักเข้าอย่างจัง ปี 1960 อิโนกิเดินทางกลับสู่ประเทศญี่ปุ่นพร้อมกับคณะมวยปล้ำของริคิโดะซัง เขาถึงครอบครัวและทุกอย่างไว้เบื้องหลัง นำเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นจากประเทศบราซิลติดตัวมา นั่นคือชื่อ “อันโตนิโอ”

แม้อายุเพียง 17 ปี อันโตนิโอ อิโนกิ แสดงความสามารถในฐานะสุดยอดนักมวยปล้ำ เขาก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในสองศิษย์รักของริคิโดะซัง เคียงคู่ โชเฮ บาบะ หรือ ไจแอนท์ บาบะ ทั้งสองเริ่มต้นในเส้นทางแตกต่าง ไจแอนท์ บาบะ ประสบความสำเร็จที่สหรัฐอเมริกา ขณะที่ อิโนกิ สร้างชื่อเสียงในญี่ปุ่น

ปี 1963 ริโดะซัง เสียชีวิตจากการถูกสังหารโดยฝีมือของยากูซ่า ความตายแบบกะทันหันของอาจารย์ ผลักดันลูกศิษย์ทั้งสองรับช่วงต่อมวยปล้ำญี่ปุ่น บาบะ และ อิโนกิ รวมตัวสร้างแท็กทีมชื่อ “B-I Cannon” พวกเขาครองแชมป์ NWA International Tag Team รวม 4 สมัย

 2

ไจแอนท์ บาบะ และ อันโตนิโอ อิโนกิ คือคู่หูนักสู้บนเวที แต่หลังฉาก ทั้งสองคือเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด นับตั้งแต่ริคิโดะซังเสียชีวิต บาบะ ผู้เป็นรุ่นพี่ของอิโนกิ ได้สิทธิ์ครองแชมป์ NWA International Heavyweight ต่อจากผู้เป็นอาจารย์ และไม่เคยแบ่งมันให้นักมวยปล้ำญี่ปุ่นรายใดนับแต่นั้น

อิโนกิไม่พอใจกับสถานะหมายเลข 2 ปี 1971 เขาพยายามปฏิวัติแนวทางการบริหารสมาคม JWA (Japan Pro Wrestling Alliance) แต่ความพยายามของอิโนกิล้มเหลว และถูกบาบะไล่ออกจากค่าย เขาดึงแผนสองออกมาใช้ ด้วยการเปิดค่ายมวยปล้ำของตัวเอง “New Japan Pro Wrestling” (NJPW) ประกาศตัวเป็นศัตรูกับบาบะอย่างเป็นทางการ

King of Strong Style

New Japan Pro Wrestling คือค่ายมวยปล้ำปล้ำใหม่ เพื่อสร้างจุดเด่นให้ผู้ชมหันมาสนใจ อันโตนิโอ อิโนกิ จึงสร้างมวยปล้ำรูปแบบใหม่ที่แตกต่างออกไปจากที่คนญี่ปุ่นเคยเห็น แทนจะใช้แนวทางเดิมที่ได้รับอิทธิพลจากอเมริกา มวยปล้ำแบบใหม่ของอิโนกิมีชื่อว่า “Strong Style”

 3

สิ่งหนึ่งที่ต้องกล่าวให้เข้าใจ เนื่องจากผู้อ่านหลายคนอาจคิดว่ามวยปล้ำ คือกีฬาต่อสู้ “ของปลอม” หากคุณติดตามแค่ WWE แต่ในประเทศญี่ปุ่น มวยปล้ำคือกีฬาต่อสู้ “ของจริง” แม้จะมีการกำหนดผลการแข่งขันล่วงหน้า แต่ทุกท่วงท่าในกีฬามวยปล้ำสมัยนั้น ต้องอัดจริงเจ็บจริง ไม่ต่างจากกีฬาต่อสู้ชนิดอื่น

มวยปล้ำในประเทศญี่ปุ่น อยู่ในบริบทของกีฬาต่อสู้ที่แท้จริงมาเสมอ ค่าย NJPW ของอิโนกิ จึงไม่เพียงแย่งชิงความนิยมจากค่ายมวยปล้ำคู่แข่งของบาบะ (All Japan Pro Wrestling) แต่ยังต้องชิงความนิยมจากกีฬาต่อสู้ชนิดอื่น ไล่ตั้งแต่ คิกบ็อกซิ่ง, ยูโด ไปจนถึง คาราเต้

Strong Style จึงกลายเป็นรูปแบบที่นำเทคนิคการต่อสู้ของศิลปะป้องกันตัวชนิดอื่นมาใช้ในกีฬามวยปล้ำ ทั้งการทุ่มแบบยูโด, เตะตัดล่างแบบมวยไทย, รวบคู่ต่อสู้ลงพื้นเพื่อทำซับมิชชัน หรือ โจมตีย้ำไปที่จุดตายของคู่ต่อสู้ ทั้งหมดล้วนเป็นพื้นฐานของ Strong Style และสร้างให้มวยปล้ำของ NJPW ได้รับความนิยมไปอีกหลายทศวรรษ

 4

หนังสือ The MMA Encyclopedia หรือ สารานุกรมศิลปะการต่อสู้แบบผสม ให้คำนิยามรูปแบบมวยปล้ำ Strong Style ของอิโนกิไว้ว่า Shoot-Style Wrestling แปลเป็นไทยคือ มวยปล้ำรูปแบบต่อยจริง ทักษะการต่อสู้ที่สร้างขึ้นโดยอิโนกิ จึงสามารถนำไปใช้ในกีฬารูปแบบอื่น ที่ไม่ถูกจำกัดโดยการกำหนดผลการแข่งขัน เหมือนดั่งกีฬามวยปล้ำ

บางท่านอาจรู้สึกว่าผู้เขียนกล่าวเกินจริงหรือเปล่า มวยปล้ำจะสู้ศาสตร์การต่อสู้อื่นได้อย่างไร? คำตอบของคำถามดังกล่าวอยู่กึ่งกลาง อิโนกิ เอ่ยคำท้ายอดนักสู้จากทุกวงการมาเผชิญหน้ากับตนบนสังเวียน ในรูปแบบ “กึ่งจริงกึ่งปลอม” นั่นคือ กำหนดผลการแข่งขัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นบนเวทีต้องสมจริงที่สุด จนคนดูแยกไม่ออกระหว่างความจริงกับความลวง

ภาพที่ปรากฏออกมาจึงกลายเป็น อิโนกิ ล้มสุดยอดนักสู้จากหลายแขนง ไล่ตั้งแต่ วิลเลม รัสกา นักยูโดเหรียญทองโอลิมปิก, วิลลี วิลเลียมส์ แชมป์โลกคาราเต้ ไปจนถึง ชัค เว็บเนอร์ นักมวยผู้สร้างแรงบันดาลใจแก่ตัวละคร ร็อคกี บัลบัว

5

ชัยชนะทั้งหมดที่กล่าวมา พา อันโตนิโอ อิโนกิ ก้าวขึ้นสู้ตำแหน่งยอดนักสู้แห่งประเทศญี่ปุ่น แต่ไม่ใช่ระดับโลก ไฟต์ที่ทำให้เขามีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในฐานะตำนาน คือแมตช์หยุดโลกที่เขาเจอกับ มูฮัมหมัด อาลี นักชกที่กล่าวกันว่า ฝีมือดีที่สุดตลอดกาล

ไฟต์ดังกล่าวมีการกำหนดผลล่วงหน้า แต่เหตุการณ์พลิกผันให้ทั้งสองปะทะกันแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน

เกิดอะไรขึ้นกับการต่อสู้ในวันนั้นกันแน่...

บุรุษผู้สยบ “อาลี”

วันที่ 25 มิถุนายน ปี 1976 อันโตนิโอ อิโนกิ มีกำหนดพบกับ มูฮัมหมัด อาลี แชมป์โลกมวยสากลรุ่นเฮฟวีเวตของสมาคม WBC/WBA ในขณะนั้น ที่สนาม Nippon Budokan กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

6

เบื้องหลังแมตช์ดังกล่าวไม่มีอะไรซับซ้อน อาลี ได้รับค่าตอบแทนจากโปรโมเตอร์ (นั่นคือ อิโนกิ) เป็นเงินจำนวน 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อาลี ตอบตกลงข้อเสนอในทันที จนลืมพิจารณาว่า แมตช์ที่กำลังจะเกิดขึ้น มีการกำหนดผลล่วงหน้า และผู้แพ้ไม่ใช่ใครอื่นนอกจาก มูฮัมหมัด อาลี

แน่นอนว่าเขาไม่แฮปปี้ แต่จำนวนเงินมากเกินกว่าจะปฏิเสธ ดังนั้น อาลีจึงยื่นข้อเสนอสร้างกฎกติกาพิเศษขึ้นมา เพื่อทำให้อิโนกิดูเป็นคนโง่ที่ “บังเอิญ” คว้าชัยชนะ ไม่ว่าจะเป็น ห้ามอิโนกิใช้เทคนิครวบข้อเท้า, ห้ามอิโนกิใช้ท่าซูเพล็ก, ห้ามอิโนกิใช้ท่าเตะขณะยืน ขณะที่อาลีสามารถออกหมัดได้เต็มที่ แบบไม่มีผิดกติกา

ทันทีที่กฎพิเศษดังกล่าวออกมา แมตช์ที่เคยกำหนดผลล่วงหน้า จึงแปรเปลี่ยนเป็นการต่อสู้ของจริง (Shoot Match) อิโนกิ ปฏิเสธจะฝึกซ้อมแมตช์ล่วงหน้ากับ อาลี แมตช์ที่ควรจะเป็นงานง่ายของทั้งสองฝ่าย จึงกลายเป็นการต่อสู้ที่ยากลำบากที่สุดในชีวิต

เสียงระฆังดังขึ้น การต่อสู้ระหว่าง อันโตนิโอ อิโนกิ และ มูฮัมหมัด อาลี เริ่มต้น นักมวยปล้ำชาวญี่ปุ่น ทิ้งตัวลงกับพื้น และพยายามไล่เตะอาลี ตามช่องว่างที่กฎกติกาเอื้ออำนวย การต่อสู้ดำเนินไปในลักษณะนี้ตลอด 15 ยก ก่อนจบลงด้วยผลเสมอ แบบทั้งคู่แทบไม่โดนตัวกันด้วยซ้ำ

7

หลายคนเรียกแมตช์ดังกล่าว “แมตช์แห่งศตวรรษ” บางคนเรียก “แมตช์แห่งความอัปยศ” ไม่ว่าคุณจะมองมันในรูปแบบใด การต่อสู้ระหว่าง อิโนกิ และ อาลี ถูกขนานนามเป็นการต่อสู้ MMA ไฟต์แรกของโลก และทักษะมวยปล้ำแบบ Strong Style ของอิโนกิ ที่เล่นงานขาของอาลีจนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ถูกส่งผ่านสายตาคนมากกว่า 1,400 ล้านราย

ชื่อของ อันโตนิโอ อิโนกิ ถูกจดจำในฐานะสุดยอดนักสู้จากญี่ปุ่น นับแต่นั้น เขาคือผู้สร้างประวัติศาสตร์ร่วมกับ ริค แฟลร์ (Ric Flair) จากการเป็นคู่เอกศึก Collision in Korea ที่เมืองเปียงยาง ประเทศเกาหลีเหนือ ซึ่งถือเป็นโชว์มวยปล้ำที่มีจำนวนผู้ชมมากที่สุดตลอดกาล อยู่ที่ 165,000 ราย

8

9

อันโตนิโอ อิโนกิ ทำในสิ่งที่นักมวยปล้ำรายหนึ่งสมควรทำ คือดึงผู้ชมเข้าสู่สนามแข่งขัน ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของเขาในฐานะยอดนักสู้ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องพิสูจน์ แต่ถึงกระนั้น หลายคนยังสงสัยว่าเขานักสู้ที่เก่งจริงหรือไม่? ในเมื่อแทบทุกไฟต์ที่เขาคว้าชัยชนะ คือการต่อสู้แบบกำหนดผลล่วงหน้า ขณะที่แมตช์แบบสู้จริง (แมตช์กับอาลี) เขากลับคว้าชัยชนะไม่ได้

ข้อสงสัยถึงความสามารถของอิโนกิ ถูกเฉลยอีกหลายสิบปีให้หลัง เมื่อทักษะมวยปล้ำแบบ Strong Style กลายเป็นรากฐานแก่นัก MMA ชื่อดังของประเทศญี่ปุ่นในเวลาต่อมา ทั้ง Prancrase, Pride, Dream และ K-1 ล้วนได้รับอิทธิพลจากมวยปล้ำของ อิโนกิ ทั้งสิ้น

10

สุดยอดนัก MMA ชื่อดังอย่าง อากิระ มาเอดะ, มาสะคัทสึ ฟูนากิ และ มิโนรุ ซูซูกิ ต่างได้รับการถ่ายทอดวิชาต่อสู้จาก โยชิอากิ ฟูจิวาระ อันเป็นศิษย์เอกของอิโนกิ หมายความว่า ทักษะมวยปล้ำของอิโนกิ ถูกส่งต่อผ่านรุ่นสู่รุ่น จนพัฒนาเป็นศาสตร์ MMA ในญี่ปุ่น

มรดกจาก อันโตนิโอ อิโนกิ ยังมีอีกมากมาย แม้ภายหลังความคลั่งไคล้ของ MMA ในตัวเขา จะเกือบทำลายค่าย NJPW จนป่นปี้ แต่คุณงามความดีที่มีแก่วงการมวยปล้ำญี่ปุ่นไม่มีวันเสื่อมคลาย นำมาสู่ธรรมเนียมของนักมวยปล้ำรุ่นใหม่ที่เต็มใจให้อิโนกิ “ตบหน้า” ถือเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยในอาชีพของตนเอง

11

อันโตนิโอ อิโนกิ จึงไม่ใช่เพียงสุดยอดนักมวยปล้ำ เขาถูกยกย่องในฐานะ “สุดยอดนักสู้” จากประเทศญี่ปุ่น แม้ไม่เคยเอาชนะในแมตช์ต่อสู้ของจริงเพียงสักครั้ง 

แต่บทบาทการบุกเบิกและคิดค้นทักษะที่เป็นรากฐานของกีฬามวยปล้ำ และ MMA ในปัจจุบัน ทำให้ อิโนกิ ได้รับการยอมรับและความเคารพจากแฟนกีฬาทั่วโลก ตราบนานเท่านาน 

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ "อาลี" ยังยอมสยบ : ทำไม "อันโตนิโอ อิโนกิ" จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นนักสู้ญี่ปุ่นที่ยิ่งใหญ่สุด?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook