ทำไมคิวบาจึงเคยรุ่งเรืองในกีฬาวอลเลย์บอล? และเกิดอะไรขึ้นในปัจจุบัน?

ทำไมคิวบาจึงเคยรุ่งเรืองในกีฬาวอลเลย์บอล? และเกิดอะไรขึ้นในปัจจุบัน?

ทำไมคิวบาจึงเคยรุ่งเรืองในกีฬาวอลเลย์บอล? และเกิดอะไรขึ้นในปัจจุบัน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำหรับแฟนกีฬาที่ติดตามวอลเลย์บอลมาอย่างยาวนาน เชื่อได้ว่า "คิวบา" คือหนึ่งในชาติที่หลายคนน่าจะจำได้อย่างแน่นอน

เพราะไม่เพียงแค่ชุดแข่งของทีมหญิงจะสะดุดตาแล้ว ผลงานบนเวทีระดับโลกในช่วงหนึ่งยังถือว่าโดดเด่นเอามากๆ ชนิดที่เรียกว่า "เบอร์ 1" ได้อย่างเต็มภาคภูมิ ... แต่แล้วชื่อของดินแดนแห่งเกาะในทะเลแคริบเบียนนี้ก็หายไปจากความจำของแฟนกีฬาตบลูกยางอย่างน่าสงสัย

เหตุใดคิวบาถึงได้รุ่งเรืองในกีฬาวอลเลย์บอล และจู่ๆ ความเก่งกาจที่มีนั้นหายไปได้อย่างไร?

เด็กสาวแห่งแคริบเบียน

ไม่มีหลักฐานปรากฎอย่างแน่ชัดว่า กีฬาวอลเลย์บอลเข้ามายังคิวบาเมื่อปีใด แต่หากอ้างอิงจากประวัติศาสตร์ของกีฬานี้ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็พอมีความเป็นไปได้ว่า น่าจะถูกนำเข้ามาในช่วงเวลาใกล้เคียงกับกีฬามวยสากล จากอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจที่แผ่มายังที่นี่เมื่อครั้งอดีตกาล


Photo : www.findingdulcinea.com

และก็เช่นเดียวกับกีฬามวยสากล เพราะทันทีที่ ฟิเดล คาสโตร, เอร์เนสโต้ "เช" เกวาร่า ตลอดจนกลุ่มนักศึกษาและประชาชน ปฏิวัติคิวบาสู่การปกครองในระบอบสังคมนิยมในปี 1959 พร้อมกับออก "กฤษฎีกา 83A" กฎหมายที่ตราให้การแข่งขันกีฬาอาชีพเป็นสิ่งผิดกฎหมายของประเทศคิวบาในปี 1962 ... กฎหมายดังกล่าว ทำให้ ทีมชาติคิวบา กลายเป็นความสำคัญอันดับ 1 ของวงการกีฬาในดินแดนแห่งซิการ์ชั้นดีทันที

แนวคิดจากโลกคอมมิวนิสต์ ที่เน้นการสร้างระเบียบวินัย, ความพยายาม และความเสียสละ สู่นักกีฬาที่ต่อสู้เพื่อเกียรติยศ, ความรักในกีฬา และความรักชาติยิ่งชีพ คือสิ่งที่ทำให้นักกีฬาที่มีธงชาติคิวบาติดอยู่ที่หน้าอกซ้าย ประสบความสำเร็จมาแล้วนักต่อนัก ซึ่งทีมวอลเลย์บอลก็เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทีมหญิง ที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ตั้งแต่ช่วงปลายยุค 70's ... 

นับตั้งแต่มีการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลกในปี 1952 และกีฬาตบลูกยาง ได้รับการบรรจุให้เป็นหนึ่งในชนิดกีฬาโอลิมปิกในปี 1964 วงการวอลเลย์บอลหญิงก็ถูกผูกขาดด้วยความยิ่งใหญ่ของ 2 ชาติมหาอำนาจอย่าง สหภาพโซเวียต (รัสเซียในปัจจุบัน) กับ ญี่ปุ่น เจ้าของฉายา "แม่มดแห่งตะวันออก" หรือ ''Oriental Witches'' มาโดยตลอด

ทว่าในศึกชิงแชมป์โลกในปี 1978 ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ก็ได้เกิดขึ้น เมื่อ คิวบา ชาติที่เป็นเกาะเล็กๆ ในทะเลแคริบเบียน สามารถคว้าแชมป์ได้แบบหักปากกาเซียน ด้วยการถล่มญี่ปุ่น แชมป์เก่าและแชมป์โลก 3 สมัยในขนาดนั้นแบบยับเยิน 3 เซตรวด

และตำนานของ "เด็กสาวแห่งแคริบเบียน" หรือ "The Caribbean Girls" ก็เริ่มต้นนับแต่นั้น ...

 

ร่างกาย...อาวุธลับ

"ต้องขอบคุณระบอบการเมืองของประเทศเรา ผู้สนับสนุนหลักทีมวอลเลย์บอลด้วยค่ะ ที่ทำให้พวกเราสามารถตั้งและไปถึงเป้าหมายซึ่งหลายคนมองว่าไกลเกินฝันได้" มิเรย่า หลุยส์ (Mireya Luis) ตัวตบระดับตำนานของทีมชาติคิวบา เผยในสารคดีของ โอลิมปิก ที่ว่าด้วยเรื่องราวของเด็กสาวแห่งแคริบเบียน


Photo : www.fivb.org

จากคำพูดข้างต้น ไม่ต้องสงสัยว่าระบอบการเมืองแบบคอมมิวนิสต์ของคิวบา ที่ผู้นำสูงสุดในขณะนั้นอย่าง ฟิเดล คาสโตร ให้การสนับสนุนนักกีฬาทีมชาติ ซึ่งรวมถึงทีมวอลเลย์บอลอย่างเต็มที่ คือปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่นำมาซึ่งความสำเร็จในระดับนานาชาติ

แต่ในมุมมองของ แชมป์ - สมชาย ดอนไพรยอด ผู้จัดการทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย และแฟนพันธุ์แท้วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ปี 2012 มองว่า ผู้หญิงคิวบา ยังมีอีกหนึ่งความลับสำคัญ ที่นำมาซึ่งอาวุธเด็ดในการลงสนามจริง

"สิ่งหนึ่งที่สำคัญ และทำให้คิวบายิ่งใหญ่ในวงการวอลเลย์บอล โดยเฉพาะผู้หญิงคือ สรีระแบบคนละติน คนผิวดำ สะโพกคนคิวบาจะทุยๆ เหมือนสะโพกม้า ทำให้พวกเธอกระโดดได้สูงกว่าปกติ ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากในการเล่นวอลเลย์บอล"

ด้วยสรีระที่พระเจ้าประทานให้นี้เอง ทำให้ ยูเจนิโอ จอร์จ ลาฟิต้า ยอดโค้ชวอลเลย์บอลหญิงระดับตำนานของคิวบา คิดค้นสไตล์การเล่นที่เปรียบเสมือนลายเซ็นของชาติ นั่นคือ "ตบหนัก บล็อกใหญ่" ... เนื่องจากในอดีต การแข่งขันวอลเลย์บอลยังนับคะแนนเฉพาะทีมที่ได้สิทธิ์เสิร์ฟ ต่างจากปัจจุบันที่นับแต้มแบบแรลลี่ ชาติใดก็ตามที่มีตัวบล็อกดีๆ จะกุมความได้เปรียบในเกมมาก เพราะหากบล็อกได้ โอกาสที่อีกฝ่ายมีโอกาสได้เสิร์ฟเพื่อทำแต้มก็แทบไม่มี และหากทีมตัวเองได้เสิร์ฟ หากบล็อกบอลที่อีกฝ่ายโต้ลงได้ ก็ได้แต้มทันทีเช่นกัน


Photo : www.radiorebelde.cu

จุดเด่นทางสรีระ และแนวทางการเล่นที่ถูกพัฒนาให้สอดคล้องกับสิ่งที่พระเจ้าให้มา ทำให้คิวบาสามารถสร้างยอดนักตบลูกยางสาวของประเทศขึ้นมาได้มากมาย นำโดย มิเรย่า หลุยส์ ตัวตบจอมโหด ที่แม้จะมีความสูงเพียง 175 เซนติเมตร แต่สามารถกระโดดตบ (Spike) ได้สูงถึง 339 เซนติเมตร กระโดดบล็อกสูง 325 เซนติเมตร รวมถึง เรกลา ตอร์เรส ตำแหน่งบอลกลางที่โดดเด่นทั้งการตบและการบล็อก

และเหตุผลเหล่านี้เอง ที่ทำให้ทีมวอลเลย์บอลหญิงคิวบา ไร้เทียมทานในยุค 90's จากการคว้าเหรียญทองโอลิมปิก 3 สมัยซ้อน ในปี 1992, 1996 และ 2000 รวมถึงแชมป์วอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก 2 สมัยซ้อน ในปี 1994 และ 1998 เรียกได้ว่าในยุคดังกล่าว ไม่มีใครสู้ทัพเด็กสาวแห่งแคริบเบียนได้เลย


Photo : www.fivb.org

ขณะที่ทีมชาย แม้จะไม่มีผลงานความสำเร็จ อย่างการคว้าเหรียญทองโอลิมปิก หรือแชมป์โลกได้เลยก็ตาม เนื่องจากวงการวอลเลย์บอลชายนั้นมีความสูสีเป็นอย่างมาก แต่ผลงานในการคว้าแชมป์ NORCECA (วอลเลย์บอลชิงแชมป์อเมริกาเหนือ, กลาง และแคริบเบียน) อย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับทีมหญิง ก็คงเป็นหลักฐานที่เห็นชัดจนเกินพอว่า คิวบา คือหนึ่งในชาติมหาอำนาจของวงการตบลูกยางอย่างแท้จริง

 

แปรพักตร์

ผลงานความสำเร็จในเวทีระดับโลก แม้จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าคิวบาคือชาติที่เก่งในกีฬาวอลเลย์บอลชนิดหาตัวจับยาก แต่กระนั้น กลับมีสิ่งที่ค้างคาในใจของเหล่าผู้เล่นอยู่

และสิ่งนั้นก็หนีไม่พ้น เรื่องเงินๆ ทองๆ นั่นเอง ...


Photo : www.canalcaribe.icrt.cu

"การเป็นนักกีฬาทีมชาติคิวบา อาจจะมีสวัสดิการ ตามมาเป็นผลประโยชน์จำนวนมากก็จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา, การรักษา หรือแม้แต่การเดินทาง แต่สิ่งที่ดูจะทำให้พวกเขาเสียเปรียบไม่น้อย ก็คือเรื่องของเงิน จากการได้รับเบี้ยเลี้ยงเพียงเดือนละ 16 ดอลลาร์สหรัฐฯ แม้หากนักกีฬาคนใดคว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้ จะได้รับเงินเดือนละ 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดชีวิต (เหรียญเงิน เหรียญทองแดง จะได้รับลดหลั่นลงไป) ก็ตาม แต่ก็ยังน้อยมากๆ อยู่ดี" แชมป์ - สมชาย เล่าต่อ

ไม่เพียงเท่านั้น ทางรัฐบาลคิวบายังได้ทำในสิ่งที่ทีมนักกีฬารวมถึงสตาฟฟ์โค้ชมองว่า "ไม่แฟร์" อีกหลายอย่าง โดยเฉพาะ ส่วนแบ่งเงินรางวัล ซึ่ง กิลแบร์โต้ เอร์เรร่า อดีตเฮดโค้ชทีมวอลเลย์บอลชายทีมชาติคิวบาเผยถึงเรื่องดังกล่าวว่า

"ครั้งหนึ่ง เราเคยเป็นตัวแทนทีมชาติคิวบาไปแข่งในรายการระดับนานาชาติ ปรากฎว่า จากเงินรางวัลที่ได้ถึง 400,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ รัฐบาลกลับให้ส่วนแบ่งเรามาเพียง 32,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเงินก้อนนั้นแหละ คือส่วนที่นักกีฬากับโค้ชต้องมาแบ่งกัน"


Photo : playoffmagazine.com

และแม้ในปี 1999 สถาบันกีฬา พลศึกษา และนันทนาการแห่งชาติ หรือ INDER หน่วยงานที่ดูแลวงการกีฬาของจะอนุญาตให้นักกีฬาเบสบอล รวมถึงวอลเลย์บอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เข้าสู่ช่วงบั้นปลายของการเป็นนักกีฬา ออกไปเล่นในระดับอาชีพที่ต่างประเทศได้ แต่ก็ต้องแลกมากับการที่รัฐบาลคิวบาร่วมเป็นผู้ต่อรอง และหักค่าเหนื่อยส่วนหนึ่งเข้าแผ่นดิน ซึ่งเป็นจำนวนมากเกินกว่าที่นักกีฬาหลายคนจะรับไหว

สิ่งเหล่านี้เอง จึงทำให้นักกีฬาวอลเลย์บอลของคิวบา ตัดสินใจ "แปรพักตร์" หนีออกจากคิวบาเพื่อไปตั้งรกราก รวมถึงเป็นนักกีฬาอาชีพในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในทวีปยุโรป, อเมริกาใต้ หรือแม้แต่ สหรัฐอเมริกา ชาติที่เป็นไม้เบื่อไม้เบากันมานาน

หนึ่งในเหตุการณ์ครั้งที่อื้อฉาวที่สุด เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2001 เมื่อ ยอสวานี่ เฮอร์นานเดซ, ลีโอเนล มาร์แชลล์, ฮอร์เก้ หลุยส์ เฮอร์นานเดซ, อังเคล เดนนิส, ยาสเซอร์ โรเมโร่ และ รามอน กาโต้ 6 นักวอลเลย์บอลชายคิวบาชุดแชมป์รายการ FIVB แกรนด์ แชมเปียนส์ คัพ ในปีดังกล่าว หลบหนีออกจากโรงแรมหลังจบการแข่งขันทัวร์นาเมนต์หนึ่งในประเทศเบลเยียม เพื่อขึ้นรถไฟสู่ประเทศอิตาลี เริ่มต้นชีวิตใหม่ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ กิลแบร์โต้ เอร์เรร่า ถูกรัฐบาลสั่งปลดจากตำแหน่งเฮดโค้ชทันที


Photo : www.fivb.org

และหลังจากนั้น รายชื่อของนักกีฬาวอลเลย์บอลคิวบาพลัดถิ่น ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งชายและหญิง ... ออสมานี่ ฮวนโตเรน่า, ไซมารี อเกวโร่, วิลเฟรโด้ ลีออน คือส่วนหนึ่งของนักกีฬาตบลูกยางคิวบาที่ละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอน เพื่อแสวงหาอนาคตใหม่ยังต่างแดน ซึ่งขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งเรื่องดราม่าอันแสนเศร้า ...

เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงการแข่งขันโอลิมปิก 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ไซมารี อเกวโร่ อดีตนักวอลเลย์บอลทีมชาติคิวบาดีกรีเหรียญทองโอลิมปิกปี 1996 และ 2000 ที่ทิ้งบ้านเกิด โอนสัญชาติมาเล่นให้ทีมชาติอิตาลี มีความจำเป็นต้องขอออกจากแคมป์เพื่อกลับคิวบาไปดูใจแม่ที่กำลังป่วยหนัก แม้ทางทีมชาติอิตาลีไม่มีปัญหา แต่เรื่องกลับกลายเป็นว่า ทางสถานทูตคิวบาดึงเช็ง ชะลอกระบวนการออกวีซ่าของเธอไว้ จนอเกวโร่จำยอมต้องกลับไปเข้าแคมป์ทีมชาติอิตาลีอีกครั้ง และเมื่อวีซ่าผ่าน ก็สายเกินไป เพราะคุณแม่ของเธอเสียชีวิตแล้ว ซึ่งตัวของอเกวโร่เองยอมรับว่า มันเป็นแผลในใจที่รักษาอย่างไรก็คงไม่หายอย่างแน่นอน

 

ปรับเปลี่ยนสู่ยุคใหม่

อาการ "สมองไหล" ซึ่งมีนักวอลเลย์บอลสัญชาติคิวบาละทิ้งถิ่นฐานเพื่อโอกาสชีวิตที่ดีกว่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้แม้แต่ทางสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ หรือ FIVB ยังต้องออกมาดูแลเรื่องนี้ ด้วยการตั้งหน่วยงานพิเศษ เพื่อดูแลนักกีฬาที่ต้องการออกมาเล่นอาชีพในต่างประเทศ แต่ยังไม่อยากที่จะสละสัญชาติคิวบา เพื่อโอกาสในการเดินทางกลับไปหาครอบครัว ซึ่ง ไดมี่ รามิเรซ นักตบสาวดีกรีเจ้าของเหรียญทองแดงโอลิมปิก 2004 ที่ปัจจุบันเล่นให้กับ นครราชสีมา เดอะมอลล์ วีซี ใน วอลเลย์บอล ไทยแลนด์ ลีก ฤดูกาล 2019-20 ก็อยู่ในข่ายนี้


Photo : www.volleyball.it

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เรื่องดังกล่าวส่งผลกระทบต่อวงการตบลูกยางของคิวบาอย่างสาหัส เมื่อผลงานเริ่มค่อยๆ ดร็อปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทีมหญิง ที่หลังจากคว้าอันดับ 4 ในโอลิมปิกปี 2008 พวกเธอก็ไม่เคยผ่านเข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายของมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติอีกเลย เช่นเดียวกับสถิติเวลาเจอชาติอื่นๆ ซึ่งเคยผูกปีชนะ ก็กลับตาลปัตรกลายเป็นความพ่ายแพ้ หนึ่งในนั้นคือ ทีมชาติไทย ที่สามารถเอาชนะคิวบาได้เป็นครั้งแรกในศึก เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ (เนชั่นส์ ลีก ปัจจุบัน) เมื่อปี 2011

ขณะเดียวกัน อาการสมองไหลของนักกีฬารุ่นพี่ ยังทำให้ทีมชาติคิวบาต้องไปดึงเอานักกีฬาอายุน้อยๆ ขึ้นมาเล่นทีมชาติชุดใหญ่ อย่างเช่นในวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลกปี 2014 ซึ่ง เมลิสซ่า วาร์กาส ติดทีมชาติด้วยวัยไม่ถึง 15 ปีเท่านั้น ... แน่นอนว่า ประสบการณ์ที่นักกีฬาวัยกระเตาะมีนั้นยังไม่มากพอ จนกระทบไปถึงผลงานดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น

"อันที่จริง เรามีนักกีฬาดาวรุ่งที่มีศักยภาพอยู่มากนะ แต่คุณจะปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือไม่ได้หรอก เพราะในขณะที่เราสร้างนักกีฬารุ่นใหม่ขึ้นมา ทว่ากลับต้องเสียพวกเขาไปหลายคนด้วยหลากหลายเหตุผล ซึ่งเรื่องทางการเงินก็ดูจะเป็นประเด็นใหญ่เสียด้วย" ยูมิลก้า รุยซ์ กัปตันทีมวอลเลย์บอลหญิงคิวบายุคทอง เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 2 สมัยในปี 1996 และ 2000 เผยถึงสถานการณ์ของวงการตบลูกยางคิวบาในปัจจุบัน


Photo : www.fivb.org

จากปัญหาดังกล่าว ทางการคิวบาเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พวกเขาจึงยอมอ่อนข้อ ตัดสินใจปรับแก้กฎใหม่ ด้วยการอนุญาตให้นักกีฬาวอลเลย์บอลชาวคิวบาสามารถไปเล่นในระดับอาชีพที่ต่างประเทศได้ โดยลดความยุ่งยากต่างๆ รวมถึงเงื่อนไขอันมากมายที่เกี่ยวพันกับทางรัฐบาลลง ซึ่งทำให้นักตบฝีมือดีอย่าง เมลิสซ่า วาร์กาส ได้ออกไปโชว์ผลงานในทวีปยุโรป ณ ปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังได้ทุ่มสรรพกำลังในการสร้างนักกีฬาสายเลือดใหม่ขึ้นมาประดับวงการอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

แม้ต้องยอมรับว่า กฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอยู่ตอนนี้ จะไม่เป็นที่พอใจของทุกคน เพราะข่าวการแปรพักตร์ พลัดถิ่น ของเหล่านักวอลเลย์บอลชาวคิวบายังคงเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะๆ แต่การยอมปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ก็น่าจะถือเป็นสัญญาณที่ดี

ซึ่งแฟนๆ วอลเลย์บอล ก็คงหวังให้ทีมวอลเลย์บอลของคิวบากลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง เพื่อให้สมรภูมิตบลูกยาง กลับมาดุเด็ดเผ็ดมันยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา ...

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook