เหตุใดนักเตะบางคนเป็นสุดยอดตัวสำรอง.. แต่ไม่ได้รับโอกาสให้เป็นตัวจริง?

เหตุใดนักเตะบางคนเป็นสุดยอดตัวสำรอง.. แต่ไม่ได้รับโอกาสให้เป็นตัวจริง?

เหตุใดนักเตะบางคนเป็นสุดยอดตัวสำรอง.. แต่ไม่ได้รับโอกาสให้เป็นตัวจริง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ซุปเปอร์ซับ” คือ คำศัพท์ในกีฬาฟุตบอล ใช้เรียกผู้เล่นที่เป็นตัวสำรอง และเมื่อได้รับโอกาสเปลี่ยนตัวลงสนาม มักทำผลงานได้ดี สามารถทำประตู หรือเปลี่ยนเกมได้ตามที่โค้ชต้องการ

โอเล กุนนาร์ โซลชา, เอดิน เซโก, ดีว็อค โอริกี, ฮาเวียร์ เออร์นานเดซ, โซโลม็อง กาลู หรือแม้กระทั่ง ชาตรี ฉิมทะเล พวกเขาล้วนเป็นนักฟุตบอล ที่ถูกจดจำ ในฐานะนักเตะซุปเปอร์ซับจอมเปลี่ยนเกม

การได้ชื่อว่าเป็น สุดยอดตัวสำรอง แสดงว่า พวกเขาย่อมต้องมีดี มากกว่าผู้เล่นบนม้านั่งทั่วไป มิเช่นนั้น คงไม่ได้รับการสรรเสริญ ด้วยคำนี้จากสื่อและแฟนบอล

อย่างไรก็ตาม การเป็นสุดยอดนักเตะตัวสำรอง คือ สิ่งที่แฟนบอลหลายคนคลางแคลงใจ นักเตะพวกนี้ คือ ตัวสำรองชั้นเลิศ แต่พวกเขาดีพอหรือเปล่าที่จะเป็นตัวจริง? ทั้งที่เก่งขนาดนี้ เหตุใดจึงทำได้เพียงแค่ รอโอกาสอยู่บนม้านั่งสำรอง

ซุปเปอร์ซับ ต้องเก่งถึงจะเป็นได้

“โค้ชฟุตบอลทุกคน ในระดับฟุตบอลอาชีพ ล้วนต้องการซุปเปอร์ซับ นักเตะที่มีความสามารถ ในการเปลี่ยนรูปเกม ขณะที่ทีมกำลังประสบปัญหาอยู่”

มาร์ค วินยัลส์ โค้ชจากศูนย์พัฒนาเยาวชน กล่าวถึง ความสำคัญของผู้เล่นแบบซุเปอร์ซับ พร้อมให้เหตุผลสำคัญ ถึงคุณสมบัติที่นักเตะแบบซุปเปอร์ซับต้องมี

 1

ผู้เล่นประเภทซุปเปอร์ซับ ไม่จำเป็นต้องมีฝีเท้าชั้นเลิศ แต่ความคิด ความเข้าใจในเรื่องแทคติค คือ สิ่งสำคัญ พวกเขาต้องรู้ว่าทีมกำลังขาดอะไร จะใช้ความสามารถของตัวเอง หรือเล่นงานจุดอ่อนของทีมคู่แข่งได้อย่างไร ?

หากสังเกตให้ดี นักฟุตบอลแบบซุปเปอร์ซับ มักจะมีความสามารถเฉพาะของตัวเอง ที่เป็นจุดเด่นแตกต่างจากผู้เล่นคนอื่น 

ไม่ว่าจะเป็น ฮาเวียร์ เออร์นานเดซ กับความสามารถในการหาพื้นที่ยิงประตู, โอเล กุนนาร์ โซลชา กับการจบสกอร์ที่เฉียบขาดในกรอบเขตโทษ, เอดิน เซโก กับการเป็นผู้เล่นรูปร่างใหญ่ เก็บบอลดี และยิงประตูได้เฉียบขาด หรือโซโลม็อง กาลู ที่มีความเร็วปรอดแตก มากกว่านักบอลทั่วไป

พวกเขามีลักษณะการเล่นที่แตกต่าง จากเพื่อนร่วมทีมของเขา...โซลชา ไม่ได้เล่นเหมือนแอนดี โคล หรือ ดไวท์ ยอร์ค, เซโก เล่นคนละสไตล์กับ กุน อเกวโร และ คาร์ลอส เตเบซ รวมถึง กาลู ก็ไม่ได้เล่นฟุตบอลแบบเดียวกับ ดิดิเยร์ ดร็อกบา หรือ เฟร์นานโด ตอร์เรส

ความสามารถอันแตกต่าง ที่นักเตะซุปเปอร์ซับมี คือ สิ่งที่พวกเขาต้องใช้ เพื่อลงไปเปลี่ยนเกมให้ได้ แน่นอนว่า หากทำได้สำเร็จ ชื่อเสียงและการยอมรับ จะเข้ามาหานักเตะเหล่านี้ทันที

“ผู้เล่นอย่างเอดิน เซโก้ หรือ ฮาเวียร์ เออร์นานเดซ สามารถพิสูจน์ว่าพวกเขามีดีพอ จากการลงสนาม เปลี่ยนแปลงรูปแบบการเล่น สร้างสรรค์โอกาส หรือทำประตู ในช่วงเวลาอันน้อยนิด ที่เขาได้รับจากผู้จัดการทีม ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องของโชค แต่เป็นความสามารถล้วนๆ” เดวิด แฟร์เคาห์ ซุปเปอร์ซับรุ่นบุกเบิก กล่าวถึงข้อดีของผู้เล่นแบบซุปเปอร์ซับ

 2

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า การเป็นซุปเปอร์ซับสามารถเป็นกันได้ทุกคน เพราะสิ่งสำคัญที่ซุปเปอร์ซับต้องทำให้สำเร็จ ไม่ใช่การยิงประตู ไม่ใช่การลงไปเปลี่ยนเกม หรือโหม่งประตูชัยจากลูกเตะมุม ในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ

แต่เป็นการทำให้โค้ช เชื่อใจ และกล้าที่จะเลือกผู้เล่น ที่นั่งรอโอกาสบนม้านั่งสำรอง ลงสนาม เพื่อเปิดโอกาสให้นักเตะคนหนึ่ง ได้กลายเป็นซุปเปอร์ซับ

เซอร์ อเล็ก เฟอร์กูสัน ยอดกุนซือของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ผู้ปลุกปั้นซุปเปอร์ซับ มานักต่อนัก ได้กล่าวถึงคุณสมบัติ ที่สำคัญที่สุดของผู้เล่นแบบซุปเปอร์ซับว่า “เขาต้องเป็นคนที่สามารถตัดสินใจ ในช่วงเวลาสำคัญได้ดีที่สุด”

เก่งแค่ไหนถึงจะได้เป็นตัวจริง

มองจากคุณสมบัติหลายข้อ ของการเป็นสุดยอดตัวสำรอง ดูไม่ขี้เหร่แม้แต่น้อย ออกจะต้องเป็นนักเตะที่เก่งมากด้วยซ้ำ ถึงจะสามารถสร้างชื่อให้ตัวเอง ให้กลายเป็นที่จดจำของแฟนบอล ในฐานะยอดตัวเปลี่ยนเกมจากข้างสนาม

 3

“ผู้คนอาจจะคิดว่า เป็นซุปเปอร์ซับก็ดีอยู่แล้ว แต่เชื่อเถอะ ผมโคตรเกลียดการนั่งที่ม้านั่งสำรอง” เดวิด แฟร์เคาห์ นักเตะที่เคยดำรงตำแหน่งยอดซุปเปอร์ซับ ให้กับสโมสรลิเวอร์พูล ถึง 8 ปี ในช่วงปี 1975-83 กล่าวถึงความอัดอั้นในใจ ของผู้เล่นตัวสำรองจอมเปลี่ยนเกม

“ถ้าเกมไหนเรานำ 2-0 หรือ 3-0 ผมไม่มีทางได้ลงเล่นหรอก...เพราะการเปลี่ยนตัว มีแค่ความหมายเดียวเท่านั้น ทีมในสนามของคุณกำลังมีปัญหา”

เมื่อไม่มีใครอยากนั่งรอโอกาสอยู่ข้างสนาม สิ่งที่ตามมา เมื่อนักเตะซุปเปอร์ซับได้แจ้งเกิดสักคน คือคำถามที่ออกมาจากปากแฟนบอลว่า เมื่อไหร่พวกเขาเหล่านี้ จะได้โอกาสลงสนามในฐานะตัวจริงบ้าง และตัวนักเตะ ล้วนต้องการโอกาสพิสูจน์ตัวเองเช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม เหล่าซุปเปอร์ซับหลายคน กลับไม่สามารถก้าวผ่านกำแพงตรงนั้นได้...โซลชาเป็นตัวสำรองอดทนให้แมนฯ ยูไนเต็ด นานถึง 11 ปี จนแขวนสตั๊ด, เซโก้เบียดกุน อเกวโร ไม่ลงจนต้องอพยพไปค้าแข้งที่อิตาลี 

 4

เช่นเดียวกับ ฮาเวียร์ เออร์นานเดซ ที่แจ้งเกิดไม่สำเร็จ กับทัพปีศาจแดง หรือ กาลู ที่ต้องออกจากเชลซี ไปเล่นในลีกฝรั่งเศสและเยอรมัน เพื่อโอกาสการลงสนาม

แน่นอนว่า ผู้เล่นแนวซุปเปอร์ซับ มีข้อดีมากมาย ที่ทำให้พวกเขาแจ้งเกิดในฐานะสุดยอดตัวสำรอง แต่ข้อดีที่พวกเขามี คือปัญหาสำคัญที่ทำให้พวกเขาเป็นได้แค่ตัวสำรอง

ดร.เชลาดูไร อโศก อาจารย์ด้านสุขภาพและกีฬา จากประเทศอินเดีย ได้ศึกษาพฤติกรรมการเกิดขึ้นและคงอยู่ ของผู้เล่นแบบซุปเปอร์ซับในกีฬาฟุตบอล…

อาจารย์ท่านนี้ เสนอความเห็นว่า ในโลกฟุตบอลปัจจุบัน ตำแหน่งซุปเปอร์ซับ มีความจำเป็นอย่างมาก และด้วยความสำคัญนี้ ทำให้หลายทีม เลือกหานักเตะ เพื่อมาเล่นเป็นซุปเปอร์ซับโดยเฉพาะ 

โดยชี้ว่า ซุปเปอร์ซับ เปรียบเสมือนตำแหน่งการเล่นหนึ่งในรูปแบบใหม่ คือ รอโอกาสอยู่ข้างสนาม เมื่อได้ลงไปเล่น เขารู้ว่าต้องทำอย่างไร ให้รูปเกมดีขึ้นให้ได้มากที่สุด

ดร.อโศก มองว่า ฮาเวียร์ เออร์นานเดซ คือ ซุปเปอร์ซับที่สมบูรณ์แบบ เขามีข้อดีจริงๆ ของนักเตะรายนี้ คือหาโอกาสทำประตูได้ดี และเมื่อทีมต้องการประตู ก็แค่เปลี่ยนนักเตะรายนี้ลงสนาม เพื่อลงไปยิง

5
6

เมื่อสโมสรฟุตบอล มองหาถึงผู้เล่นโจ๊กเกอร์ ที่จะเข้ามาสร้างความแตกต่างยามทีมเกิดวิกฤติ ทำให้ทีมมักจะเลือกซื้อนักเตะที่มีสไตล์การเล่นแตกต่าง จากผู้เล่นที่เป็นตัวหลักของทีม 

เพราะผู้จัดการทีมทุกคน มีแผนการเล่นที่ตนเองต้องการใช้อยู่ในหัว และรู้ดีว่า พวกเขาต้องการใช้นักเตะแบบไหน ที่จะใช้เป็นตัวหลักในแผนของเขา 

สุดท้ายจึงนำไปสู่การเกิดซุปเปอร์ซับขึ้นมา อันเป็นนักเตะที่เล่นในรูปแบบที่แตกต่าง กับแทคติคตั้งต้น ของผู้เล่น 11 ตัวจริง หรือโค้ชบางคน อาจจะมีแทคติคเฉพาะ ที่ใช้ในช่วงท้ายเกม และต้องการนักเตะบางคน ที่เอาไว้ใช้ลงสนามในช่วงเวลานั้น โค้ชจะได้ส่งผู้เล่นที่ตัวสำรอง ลงไปสร้างความแตกต่างในสนาม

เมื่อไหร่ที่สองกองหน้าเทคนิคสูง อย่าง เตเบซ และ กุน เล่นไม่ออก แมนฯ ซิตี้ สามารถส่งกองหน้าร่างยักษ์อย่างเซโก้ ลงไปสร้างความแตกต่าง

 7

หากโคล และ ยอร์ค เล่นไม่ออก แมนฯ ยูไนเต็ด ยังมีโซลชา ลงไปปิดโป้งปัญชี หรือหากกองหน้าสายเทคนิคอย่าง ตอร์เรส และหัวหอกสายถึก อย่าง ดร็อกบา ไม่สามารถทำประตูได้ เชลซี สามารถส่งกาลู ลงไปใช้ความเร็วปั่นป่วนได้

พูดแบบตรงตรงมาก็คือ นักเตะในตำแหน่งซุปเปอร์ซับส่วนใหญ่ ถูกดึงตัวมาร่วมทีม เพื่อให้มาเป็นตัวสำรอง ไว้เปลี่ยนรูปแบบการตามแทคติคตั้งแต่ต้น ไม่ได้ซื้อมาเพื่อเล่นเป็นตัวจริง ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

สรุปเก่งหรือไม่เก่ง?

ในเมื่อหลายสโมสร หรือฟุตบอลทีมชาติก็ตาม เลือกผู้เล่นบางคนเข้าทีม เพื่อหวังใช้ประโยชน์เป็นเพียงแค่ตัวสำรอง สรุปแล้วพวกเขาดีพอ หรือดีไม่พอที่จะเป็นนักฟุตบอลตัวจริง?...คำตอบคือทั้งดีพอและดีไม่พอ

 8

แง่หนึ่งต้องยอมรับว่า ต่อให้โดนดึงตัวเข้ามาร่วมทีมเพื่อเป็นตัวสำรองก็จริง แต่ปกติของโลกฟุตบอล โค้ชย่อมต้องเลือกนักเตะที่เขาคิดว่าดีที่สุดลงสนาม ถ้าเหล่าตัวสำรอง สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่า เรามีดีพอ คุณก็สามารถเบียดยึดตัวจริงได้ 

โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี เริ่มต้นกับโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในฐานะตัวสำรองของลูคัส บาร์ริออส แต่เขาก็สามารถเอาชนะใจเยอร์เกน คล็อปป์ เบียดยึดตำแหน่งตัวจริงจากบาร์ริออสลงได้ 

ที่บาเยิร์น มิวนิค ในฤดูกาล 2012/13 มาริโอ มานด์ซูคิซ สามารถเบียด มาริโอ โกเมซ ลงเป็นเพียงตำสำรองได้ ทั้งที่ฤดูกาลก่อนหน้าโกเมซยิง 26 ประตูให้กับบาเยิร์น และคว้าตำแหน่งรองดาวซัลโวของลีกด้วยซ้ำ

หรือกรณีสดๆร้อนๆ ของโอลิวิเยร์ ชิรูด์ ที่ต้องตกเป็นตัวสำรองให้กับเชลซี ในยุคของแฟรงค์ แลมพาร์ด อันที่จริงต้องบอกว่า แข้งรายนี้ไม่ใช่ซุปเปอร์ซับด้วยซ้ำ เพราะแทบไม่ได้รับโอกาสลงสนามเลยจากแลมพาร์ด แต่สุดท้ายเจ้าตัวสามารถพิสูจน์ตัวเอง จนแลมพาร์ดยอมรับ กลับมายึดตำแหน่งตัวจริงได้อีกครั้ง

แน่นอนว่า เอกลักษณ์เฉพาะของผู้เล่นซุปเปอร์ซับ อาจทำให้สโมสรชั้นนำซื้อตัวคุณไปร่วมทีม แต่ถ้าคุณไม่สามารถพัฒนาตัวเอง ยึดติดกับรูปการเล่นเดิมๆ ไม่สามารถแสดงให้โค้ชเห็นว่า คุณมีดีมากกว่าจะเป็นแค่ตัวเปลี่ยนเกม ในแทคติครูปแบบหนึ่ง โอกาสการเป็นตัวจริงคงไม่มีวันมาถึง 

แม้แต่นักเตะอย่าง ลีโอเนล เมสซี หรือ คริสเตียโน โรนัลโด ทั้งสองคนล้วนเริ่มต้นจากการรอโอกาสจากข้างสนามทั้งสิ้น แต่สามารถพัฒนาตัวเอง จนกลายเป็นสุดยอดนักเตะของโลก

 9

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า เหล่าซุปเปอร์ซับในทีมใหญ่ พวกเขาจะดีไม่พอที่จะเป็นตัวจริงทีมไหนบนโลก…

เซโก้ กลับมาแจ้งเกิดในฐานะยอดกองหน้าอีกครั้ง กับโรม่า, กาลู ก้าวไปยึดตัวจริงที่ลีลล์ และแฮร์ธ่า เบอร์ลิน รวมถึงฮาเวียร์ เออร์นานเดซ ที่ผ่านการเป็นตัวจริง ให้ไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น และ เวสต์แฮม ยูไนเต็ดมาแล้ว

สำหรับนักเตะซุปเปอร์ซับ พวกเขาอาจไม่ดีพอที่จะเป็นตัวจริง ให้ทีมระดับหัวแถวของโลก แต่ยังมีระดับกลาง ระดับเล็กอีกมาก ที่พร้อมจะเปิดโอกาสให้นักเตะซุปเปอร์ซับเหล่านี้ ได้เป็นตัวจริงอย่างที่ฝันไว้ 

นอกจากนี้ ยังมีนักเตะอีกประเภทหนึ่ง ที่อาจเรียกได้ว่า เก่งแต่โชคไม่ดี คือนักเตะที่ได้รับบาดเจ็บง่าย โค้ชหลายคนจะเลือก ให้พวกเขาเป็นเพียงแค่ตัวสำรอง ไม่ใช่เพราะเก่งไม่พอ แต่ร่างกายดีไม่พอ ที่จะลงสนามเต็มเกม หรืออย่างน้อยก็ 70 นาที

 10

ปาโก อัลกาเซร์ คือตัวอย่างที่ดี ในกรณีนี้.. เขาย้ายมาอยู่กับโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ และเริ่มต้นในฐานะตัวสำรอง เพราะร่างกายฟิตไม่พอที่จะลงเตะตั้งแต่เริ่มเกม เขาลงมาเป็นซุปเปอร์ซับ ยิงกระจาย จนทำลายสถิติของลีกในฐานะตัวสำรอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาที่ทีมคาดหวัง ต้องการให้เขาเป็นตัวจริง เขากลับไม่สามารถก้าวข้ามผ่าน อาการบาดเจ็บของตัวเอง จนท้ายที่สุดดอร์ทมุนด์ จึงเลือกซื้อเออร์ลิง ฮาร์ลันด์มาเป็นตัวจริงแทนเขา

ทั้งนี้ นักเตะบางคน เช่น โอเล กุนนาร์ โซลชา เขาสามารถเป็นกองหน้าให้กับทีมระดับกลาง ในพรีเมียร์ลีกได้แบบสบายๆ แต่เขาไม่เคยคิดจะย้ายทีม เพราะเขาพอใจกับบทบาทสุดยอดตัวสำรองที่ทีมมอบให้ และการที่เขายอมเป็นตัวสำรอง ไม่ได้หมายความว่า เขาเป็นนักฟุตบอลที่แย่แต่อย่างใด

 qq

“ผมเป็นคนที่โชคดีมากๆ ที่เขาไม่เคยบ่นเรื่องการเป็นตัวสำรอง ผมไม่คิดว่าผมจะหานักเตะที่เก่งระดับนี้ และยอมรับการเป็นตัวสำรองได้อีกแล้ว” เซอร์ อเล็ก เฟอร์กูสัน กล่าวถึงโซลชา

ท้ายที่สุดแล้ว เราไม่สามารถกากบาทใส่นักเตะซุปเปอร์ซับทุกคน ว่าพวกเขาดีไม่พอ เก่งไม่จริง หรือไม่ใช่นักเตะระดับชั้นนำของโลก…

เวลาคือเครื่องพิสูจน์คุณค่าของคน นักเตะซุปเปอร์ซับจะได้ก้าวไปต่อ ในฐานะตัวจริง หรือจะติดหล่มกับดักของการเป็นแค่ตัวสำรอง 

ซึ่งสุดท้ายนักเตะเหล่านั้นคือผู้เลือกชะตาของตัวเอง

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ เหตุใดนักเตะบางคนเป็นสุดยอดตัวสำรอง.. แต่ไม่ได้รับโอกาสให้เป็นตัวจริง?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook