โลกหลังโควิด-19 : วิเคราะห์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นที่จะเปลี่ยน “ไทยลีก” ไม่เหมือนเดิม

โลกหลังโควิด-19 : วิเคราะห์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นที่จะเปลี่ยน “ไทยลีก” ไม่เหมือนเดิม

โลกหลังโควิด-19 : วิเคราะห์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นที่จะเปลี่ยน “ไทยลีก” ไม่เหมือนเดิม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เราทราบดีว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ ฟุตบอลลีกไทย เปลี่ยนโปรแกรมจากเดิมที่เตะแบบจบภายในปี มาเป็นแข่งคร่อมปี ตามปฏิทินยุโรป

แต่นั่นไม่ใช่การเปลี่ยนแปลง ในระดับที่เรากำลังเขียนถึง เพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่แผ่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก ได้ส่งผลกระทบถึงด้านเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตของผู้คน 

อุตสาหกรรมกีฬา ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดขึ้น อย่าง “ฟุตบอลไทยลีก” ได้มีการประกาศเลื่อนการแข่งขันออกไปราวๆ 5 เดือน 

แต่เมื่อเสียงนกหวีดนกแรกดังขึ้นในสังเวียนบอลไทย... 

นั่นเป็นสัญญาณที่จะกำลังบอกว่า “ไทยลีก” กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอีกยุคสมัย และสิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนี้ อาจทำให้ ไทยลีก ไม่มีทางหวนกลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป 

เม็ดเงินที่หายไปในอุตสาหกรรมกีฬา

“หากมองในภาพรวม เม็ดเงินที่อุดหนุนอุตสาหกรรมกีฬา มันมาจาก Sponsorship (ผู้สนับสนุน) ซึ่งก็จะเป็นพวกธุรกิจดั้งเดิม แบรนด์เก่าๆ เช่น สายการบิน, สินค้าบริการที่เกี่ยวกับทางกายภาพ” 

“เมื่อธุรกิจเหล่านี้ได้รับผลกระทบ เม็ดเงินที่เอาไปลงในอุตสาหกรรมกีฬา เพื่อทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ ก็จะลดลงน้อยลง เพราะต้องเอาเงินไปใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็น เพื่อให้ธุรกิจตัวเองอยู่รอด ยกตัวอย่าง ไทยแอร์เอเชีย ที่เป็นสปอนเซอร์ให้หลายๆ ทีมในไทย ก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก จากการที่ผู้ใช้บริการลดลง” 

“ดังนั้นอุตสาหกรรมกีฬาทั่วโลก ได้รับผลกระทบแน่นอน ไม่ใช่แค่ฟุตบอล แต่ยังรวมกีฬาอื่นๆ ด้วย ความถี่ในการจัดแข่งขัน อีเวนท์และทัวร์นาเมนต์จะลดลง ตามผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจผู้สนับสนุน สมมติ แบรนด์รถยนต์เจ้าหนึ่ง เป็นสปอนเซอร์หลักให้ เทนนิส 2 รายการระดับโลก ก็อาจลดมาเหลือสนับสนุนเพียงแค่ทัวร์นาเมนต์เดียว” 


Photo : BURIRAM UNITED

ดร.ศุภศักดิ์ เงาประเสริฐวงศ์ อาจารย์คณะมนุษย์ศาสตร์ สาขาการจัดการท่องเที่ยวและบริการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงด้านการเงิน และธุรกิจกีฬา แสดงความเห็น และวิเคราะห์ถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมกีฬา 

โดย ดร.ศุภศักดิ์ ชี้ว่า อุตสาหกรรมกีฬานั้น ถูกขับเคลื่อนและทำให้เติบโตขึ้นได้ ส่วนหนึ่งมาจากเม็ดเงินสนับสนุนจากเหล่าสปอนเซอร์ แต่เมื่อธุรกิจพวกนั้นได้รับความเสียหาย จากพิษเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก เม็ดเงินที่หลั่งไหลเข้า อุตสาหกรรมกีฬา มีแนวโน้มที่จะลดลง 20-30 เปอร์เซนต์ 

ขณะที่ธุรกิจทำเงินในสถานการณ์นี้ อย่างเช่น ธุรกิจออนไลน์ ก็ยังไม่ได้เข้ามาทำการตลาด หรือ ลงเงินในกีฬาแบบดั้งเดิม (Tradition Sport) มากนัก ดังนั้น สโมสรกีฬาอาชีพทั่วโลก จึงประสบปัญหาอย่างหนักในเรื่องรายได้ เนื่องจากแมตช์การแข่งขันทั้งหลาย ถูกเลื่อนออกไป 

จีระศักดิ์ โจมทอง ผู้อำนวยการการตลาดและสื่อสโมสรชลบุรี เอฟซี เปิดเผยกับ Main Stand ถึงผลกระทบของทีมลูกหนังไทย ภายหลังจากการแข่งขันลีก ถูกเลื่อนออกไปถึงเดือน กันยายน “สโมสรฟุตบอลไทย มีโมเดลในการหารายได้แตกต่างจากทีมในต่างประเทศ 80 เปอร์เซนต์ของงบประมาณ มาจากเงินของผู้สนับสนุน อีก 20 เปอร์เซนต์ อาจจะมาจากยอดจำหน่ายสินค้าที่ระลึก ขายบัตรเข้าชม”

“การระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อ ธุรกิจต่างๆ ทั้งรายเล็ก รายใหญ่ ที่สนับสนุนทีมฟุตบอลไทย หลายๆทีมประสบปัญหากันมาก เพราะสปอนเซอร์หยุดจ่ายเงิน เนื่องจากไม่มีการแข่งขัน ไม่มีอีเวนต์ ก็ไม่สามารถจ่ายเงินได้ บางทีมที่ได้ยินมา มีสปอนเซอร์ขอถอนตัวออกไปแล้ว เพราะเขาต้องหั่นงบที่ใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์ สร้างภาพลักษณ์ ไปเยียวยาองค์กรของตัวเองให้เข้มแข็งก่อน”

“ต้องเข้าใจก่อนว่า ฟุตบอลเป็นธุรกิจบันเทิง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ 5-6-7 ของมนุษย์ ไม่ใช่ปัจจัย 4 ตอนนี้ไม่มีใคร ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แบบนี้ อยู่ที่ว่าใครเจ็บมาก ใครเจ็บน้อย แม้แต่ธุรกิจรายใหญ่อย่าง ช้าง และ สิงห์ ที่สนับสนุนทีมบอลไทยหลายสโมสร ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน” 

“อย่าลืมว่านี่เป็นแค่ช่วงเริ่มต้นของวิกฤติเท่านั้นนะครับ ถ้าสถานการณ์ลากยาวไปอีกหลายเดือน ผมคิดว่าทีมกีฬาน่าจะต้องลำบากไปอีกหลายปี กว่าที่ทุกอย่างจะฟื้นฟูกลับมา”


Photo : Chonburi Football Club

นายใหญ่ด้านการตลาด ของชลบุรี เอฟซี อธิบายต่อว่า ในขณะที่สโมสรไม่มีรายรับเข้ามา แต่ทุกๆ เดือน ช่วงที่ไม่มีการแข่งขัน ทุกทีมกีฬาอาชีพ ยังคงต้องจ่ายเงินเดือนนักกีฬา, พนักงานอยู่ดี 

แม้จะมีแนวทางจาก สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ที่ให้สโมสร สามารถเจรจากับนักฟุตบอล เพื่อขอลดค่าเหนื่อย 50 เปอร์เซนต์ เพื่อให้ทีมสามารถอยู่รอดผ่านพ้นวิกฤติไปได้ แต่ดูว่านั่นอาจไม่เพียงพอที่รักษาสโมสรเล็กๆ ระดับรากหญ้าไว้ได้

“ผมคิดว่า หลังผ่านพ้นโควิด-19 น่าจะมีสโมสรในระดับไทยลีก 3-4 จำนวนไม่น้อย รวมถึงบางทีมในไทยลีก 2 หรืออาจจะมีสโมสรจากไทยลีก 1 แบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว จนต้องขอเปลี่ยนผู้บริหาร, ขายสิทธิ์ หรือยุบทีมไป”

“เพราะผลกระทบครั้งนี้ ค่อนข้างรุนแรง หากเป็นสโมสรใหญ่ๆ ที่ยังพอมีสายป่านยาว ก็น่าจะพอมีทุนสำรอง ยื้อชีวิตไว้ได้ แต่หากเป็นสโมสรเล็กๆ ไม่มีสายป่าน คงยื้อไว้ได้ไม่นาน เราน่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น หลังการแข่งขันกลับมาเตะอีกครั้ง อย่างแน่นอน”

“สถานการณ์ตอนนี้ แค่ประคับประคองทีม ให้อยู่ถึงวันที่จะกลับมามีการแข่งขันก็ยากลำบากแล้ว ตอนนี้หวังอย่างเดียวคือ ขอให้สถานการณ์ผ่านไปได้ด้วยดี และรีบกลับมาแข่งขันให้เร็วที่สุด”

“อย่างการขายสินค้าที่ระลึก ถึงเราจะมีช่องทางขายออนไลน์ แต่ก็ไม่ได้มากหรอกครับ เมื่อเทียบกับวันแข่งขัน เพราะคนไม่ได้มีความรู้สึก อารมณ์ร่วม ยิ่งภาวะแบบนี้ เงิน 1,000 บาทซื้อเสื้อฟุตบอล ช่วงไม่มีการแข่งขัน กับเงิน 1,000 บาท ซื้ออาหารการกิน คุณก็ต้องเลือกอย่างหลังที่เป็นปัจจัย 4”

พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป 

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คือ พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปของมนุษย์ เดิมที เราคุ้นชินกับออกไปใช้ชีวิต ทำงานอยู่นอกบ้าน แต่เมื่อสถานการณ์นี้เกิดขึ้น มนุษย์ รับรู้ถึงความไม่ปลอดภัยในการออกไปอยู่ข้างนอก การต้องออกไปอยู่ในสถานที่ที่มีคนอยู่จำวนมาก 


Photo : Ratchaburi Mitr Phol FC

ประกอบกับ มนุษย์เงินเดือน จำนวนมาก เริ่มปรับตัวเข้ากับทำงานและใช้ชีวิตอยู่ภายในที่อยู่อาศัย รับชมความบันเทิงผ่านแพลตฟอร์มดิจิตัลออนไลน์, ช็อปปิ้ง ผ่านแอพลิเคชั่น ไปจนถึงสั่งอาหารผ่านเดลิเวอรี่ ทั้งหมดคือ พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป และกำลังจะกลายเป็น ความเคยชิน หากพวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่บ้านพักอาศัยนานอีกหลายเดือน 

จนเป็นคำถามที่น่าสนใจว่า “เมื่อฟุตบอลกลับมาแข่งขันอีกครั้ง ผู้บริโภคจะยังมีความต้องการไปรับชมฟุตบอลติดขอบสนาม เหมือนก่อนที่โลกนี้จะรู้จัก โรคโควิด-19 หรือเปล่า? ”

“พฤติกรรมของคนจะเปลี่ยนไป คนจะอยู่กับบ้านมากขึ้น ธุรกิจบรอดแคสต์ แบบ Pay-per-view (จ่ายเงินเพื่อรับชม), เจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬา น่าจะได้เปรียบ เพราะผู้บริโภคมีแนวโน้มที่พฤติกรรมการรับชมกีฬา จะดูผ่านการถ่ายทอดสดมากขึ้น ส่วนการไปชมที่สนามอาจลดลง” ดร.ศุภศักดิ์ เงาประเสริฐวงศ์ กล่าว


Photo : True Bangkok United

ขณะที่ อาจินต์ ทองอยู่คง อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่สนใจและศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคฟุตบอลไทย มองว่า ปัจจัยด้านสาธารณสุข จะเป็นตัวชี้วัดว่า ทิศทางของผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ?

“ผมมองว่ามันไปได้สองทาง ขึ้นอยู่กับระบบสาธารณสุขว่าจะสามารถจัดการกับ โควิด-19 ได้แค่ไหน ? ทางที่หนึ่ง สมมติสามารถจัดการกับโควิด-19 ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด มีวัคซีนฉีดให้คนทั่วโลก ทำให้ผู้คนไม่ต้องกังวลเรื่องโควิด-19 อีก กีฬาฟุตบอล ในช่วงแรกจะกลับมาคึกคักมากๆ” 

“เพราะผู้คนจะนึกถึงชีวิตนอกบ้าน ที่ได้ใช้ร่วมกับคนอื่น ในพื้นที่สาธารณะ อย่างตอนที่เราอยู่บ้านมาเป็นเดือน ก่อนหน้านี้เราอาจไม่เคยรู้สึกอยากไปเดินห้าง อยากกินเบียร์นอกบ้าน เพราะเราสามารถเลือกทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่ตอนนี้มนุษย์โหยหาอิสรภาพที่สามารถเลือกทำได้  ดังนั้นคนจะแห่กันไปดูบอลที่สนามกันอย่างเนื่องแน่นแน่นอน”

“แต่ในความน่าจะเป็นแบบที่ 1 มีน้อยมาก ส่วนตัวผมไม่คิดว่าโรคนี้จะหายไปทันควันหรอก มันอาจจะอยู่กับเรา เป็นโรคตามฤดูกาล หรือเป็นแบบวัณโรค เพียงแต่ว่า ลักษณะในการแพร่เชื้อของโควิด-19 กลายเป็นศัตรูของปฏิสัมพันธ์ในการเข้าสังคมของมนุษย์ ถ้าเกิดโรคนี้ไม่หายไป และเราต้องเรียนรู้จะอยู่กับมัน โลกนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”


Photo : Chonburi Football Club

ในมุมมองจากคนทำทีม จีระศักดิ์ โจมทอง ผอ.การตลาดฯ สโมสรชลบุรี เอฟซี แสดงความเห็นอีกมุมหนึ่งว่า การปรับเปลี่ยนโปรแกรมฟุตบอล ไทยลีก ให้อยู่ในช่วงเวลาเดียวกับ ลีกลูกหนังระดับโลก ยิ่งทำให้ผู้บริโภค เลือกที่จะชมการถ่ายทอดอยู่ที่บ้าน เพราะสามารถชมได้หลายแมตช์ต่อเนื่องกัน

“ยอดผู้ชมในสนามน่าจะลดอย่างแน่นอน เพราะคนน่าจะอยู่กับบ้านมากขึ้น จุดที่รวมตัวคนจำนวนมากอย่าง ห้างสรรพสินค้า, สนามกีฬา, คอนเสิร์ต คงได้รับผลกระทบมาก เพราะคนน่ายังมีความกังวลกับโรคโควิด-19 เราจะเห็นได้ว่า พฤติกรรมคนของเปลี่ยนไป สั่งอาหารมากินมากขึ้น อยู่บ้านสั่งซื้อสินค้าต่างๆ เลี่ยงการออกไปที่ชุมนุมคน”

“แต่คนยังดูฟุตบอลอยู่ แค่เปลี่ยนเป็นการรับชมอยู่ที่บ้าน ผ่าน ทีวี โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ ยิ่งฟุตบอลไทยเตะพร้อมบอลยุโรป คนก็ไม่อยากออกไปที่สนามสักเท่าไหร่หรอกครับ เพราะจะกลับบ้านไปดูบอลพรีเมียร์ลีก บอลสเปนต่อไม่ทัน คนที่ยังเข้าสนามบอลไทยอยู่ น่าจะเป็นพวกแฟนพันธุ์แท้ ส่วนแฟนบอลขาจร น่าจะหายไปเยอะเลย” จีระศักดิ์ โจมทอง เผย

 

มาตรการความปลอดภัย 

“คุณลองนึกถึงอัฒจันทร์สนามฟุตบอล พวก Terrace Culture (วัฒนธรรมเชียร์บนสแตนด์) การกอดคอ ร้องเพลงเชียร์บอล หรือการดื่มเบียร์ ดูบอลในผับของต่างประเทศ ถ้าวันหนึ่งกิจกรรมเหล่านี้ ได้เป็นความเสี่ยงของการติดโควิด-19 ทั้งหมด วัฒนธรรมการดูกีฬาน่าจะต้องเปลี่ยนไป”

“อย่างเรื่องการดูฟุตบอลในสนาม สเตเดียมที่มีหน้าตาอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ มันเกิดจากไอเดียทุนนิยม ที่ต้องการล้อมรั้วทั้งหมด เพราะต้องการคนให้ซื้อตั๋วเข้ามาชม มีการบีบที่นั่งให้จุคนได้มากที่สุด ทำให้กองเชียร์จึงต้องนั่งติดกัน แต่เมื่อมีการระบาดของโรคนี้ คุณจะอยู่ในสนามได้อย่างไร และคนรอบตัวคุณ จะยินดีให้ไปดูกีฬาที่นั่งติดกับคนอื่นไหม ? ” อาจินต์ ทองอยู่คง อาจารย์คณะสังคมวิทยาฯ มธ. กล่าว 


Photo : BG Pathum United

นอกเหนือจากพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่มีแนวโน้นว่ากำลังจะเปลี่ยนไปสู่อีกยุคสมัยเต็มตัว โดยมี โควิด-19 มาเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น 

อาจินต์ ทองอยู่คง ยังมองเห็นถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในสนามฟุตบอล หากในกรณีที่เชื้อโควิด-19 จะไม่หมดไปจากโลกใบนี้ นั่นคือ มาตรการรักษาความปลอดภัยด้านสุขอนามัย ที่อาจถูกนำมาใช้เป็นกฎ ข้อปฏิบัติต่างๆ ไปจนถึงการจัดระเบียบโซนนิ่งคนดู ที่ต้องมีการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) 

“มาตรการรักษาความปลอดภัยที่สนามฟุตบอล ที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ มันพัฒนามาจากความกลัว ฮูลิแกน และคนที่จะเข้ามาก่อเหตุทะเลาะวิวาทในสนาม มันจึงถูกกำหนดออกมาเป็นข้อห้ามต่างๆ เช่น การค้นตัวเพื่อหาอาวุธ, การห้ามนำสิ่งของอันตรายเข้าสนาม มีกล้อง CCTV ติดเพื่อจับหน้า นำไปเช็คประวัติ”

“แต่โลกฟุตบอลหลังโควิด-19 อาจจะมีป้ายอื่นๆ เช่น หากไม่สวมหน้ากากอนามัย ห้ามเข้าสนาม, มีกล้องตรวจจับความร้อน เช็คอุณหภูมิในร่างกาย หรืออาจจะถึงขั้นที่ สนามกีฬาต้องลดความจุลง เพื่อให้มีระยะห่างระหว่างผู้ชมมากขึ้น ดังนั้นต้นทุนในการดูกีฬา ค่าเข้าชมคงต้องแพงขึ้นแน่ๆ คนดูก็อาจดูน้อยลงไปอีก” 

“อีกเรื่องหนึ่งในภาพรวม การจัดการกีฬาในอนาคต รัฐอาจจะเข้ามาควบคุมมากขึ้น เช่น ผู้จัด อาจต้องมีการขอใบอนุญาต ในการจัดกีฬาไม่ว่าในระดับสเกลใหญ่ หรือกีฬาท้องถิ่น เพื่อจัดการปัญหาด้านสุขอนามัย แม้แต่ฟุตบอลเดินสาย ก็อาจต้องใช้ต้นทุนในการจัดสูงขึ้นกว่าเดิม”

 

มูลค่าฟุตบอลไทยลดลงหรือไม่ ?

เมื่อเม็ดเงินที่ไหลเวียนในอุตสาหกรรมกีฬาลดน้อยลง สโมสรทั้งหลาย กำลังประสบปัญหาด้านการเงิน “นักฟุตบอล” จึงกลายเป็นอาชีพที่ต้องรับแรงกระแทกนี้ไปเต็มๆ อย่างไม่อาจเลี่ยงได้ 

ย้อนกลับไปเมื่อ 4-5 ปีหลังสุด ตลาดซื้อขายผู้เล่นไทยลีก ค่อนข้างคึกคัก มีหลายๆสโมสร มีกำลังทรัพย์ ทุ่มเงินซื้อนักเตะ พร้อมจ่ายค่าเซ็นสัญญา ค่าเหนื่อยรายเดือนกันแบบเต็มพิกัด เพื่อเติมเต็มขุมกำลังผู้เล่น 

แต่เมื่อเกิดสถานการณ์อย่างทุกวันนี้ ที่ฤดูกาลถูกเลื่อนออกไปอีก 5 เดือน ก็มีโอกาสสูงที่ ตลาดซื้อขายผู้เล่นไทยลีก จะไม่ได้คึกคัก หรือเกิดบิ๊กดีลระดับปรากฏการณ์ อย่างเช่น ธนบรูณ์ เกษารัตน์ ย้ายไป สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด ด้วยค่าตัว 50 ล้านบาท, ธีราทร บุญมาทัน ย้ายไป เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด 30 ล้านบาท


Photo : การท่าเรือ เอฟซี Port FC

“ทุกอย่างจะถูกดึงกลับเข้ามาสู่ความเป็นจริง หลังจากช่วง 4-5 ปีหลัง มูลค่านักฟุตบอลไทยเฟ้อเกินจริง เมื่อโควิด-19 ผ่านพ้นไป อาชีพที่ได้รับผลกระทบมากสุดในฟุตบอลอาชีพ คือ นักเตะ” จีระศักดิ์ โจมทอง ผอ.การตลาด ชลบุรี เอฟซี คาดการณ์ถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้น ในตลาดซื้อขายผู้เล่นไทยลีก

“เพราะสโมสรทุกทีม คงต้องปรับงบประมาณลงมา เพราะไม่สามารถจ่ายเงินเดือนแพงเกินความเป็นจริงได้นัก แม้แต่สโมสรใหญ่ที่มีกลุ่มทุนระดับประเทศหนุนหลัง อย่าลืมว่า พวกเขาก็ต้องไปดูแลธุรกิจหลักของตนเองด้วย ครั้นจะเอาเงินมาทุ่มซื้อนักฟุตบอล จ่ายค่าเซ็น ค่าเหนื่อยแพงๆ เกินจริง แบบเมื่อก่อน คงทำได้ยาก”

“บางทีมที่เคยใช้เงินปีละ 300-400 ล้านบาท มีแนวโน้มที่อาจจะลดลงมาเหลือปีละ 200-100 ล้านบาท ทีมที่ใช้เงินปีละ 100 ล้าน ก็อาจลดลงมาครึ่งหนึ่ง นักฟุตบอลที่ค่าเหนื่อยแพงมากๆ ก็อาจจะต้องลดลงมา เพื่อให้ทีมไปต่อได้” 

วิกฤติในครั้งนี้ กลายเป็นกระจกที่สะท้อนให้ สโมสรฟุตบอลในไทย ได้มองเห็นและตระหนักตื่นตัว ถึงความเสี่ยงในการลงทุนด้านฟุตบอล 

บางทีมอาจมุ่งหวังเรื่องความสำเร็จ อัดเม็ดเงินใส่ทีมลูกหนัง แต่เมื่อถึงสถานการณ์ที่ไม่มีรายรับเข้าสโมสร และต้องแบกทุนมหาศาล จากความฝันอันหอมหวานถึงถ้วยแชมป์ มันอาจเป็นหายนะของคนทำทีมฟุตบอลเลยก็เป็นได้

ถึงกระนั้นสิ่งหนึ่งที่ สโมสรในไทยลีก 1  น่าจะพอใจชื้นอยู่บ้าง ในยุคที่รายได้จากสปอนเซอร์หดหาย นั่นคือ มูลค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด น่าจะยังเป็นแหล่งรายได้ก้อนโต ที่ทำเงินให้กับสโมสรได้เหมือนเช่นเคย และไม่แน่ว่า ตัวเลขอาจเพิ่มขึ้นกว่าเดิม จากยอดผู้ชมที่เติบโตขึ้น 


Photo : Muangthong United FC.

อาจินต์ ทองอยู่คง กล่าวว่า “อุตสาหกรรมกีฬา คงไม่ถึงขั้นเจ๊งหรอกครับ เพราะมีทางออกอย่างหนึ่งเป็นมิตรแท้ของอุตสาหกรรม คือ การถ่ายทอดสด อย่างที่คนน่าจะจำได้ ช่วงก่อนที่ลีกฟุตบอลชั้นนำ จะหยุด มีความพยายามที่แข่งแบบสนามปิด เพราะคนส่วนมาก ดูบอลผ่านทีวี มากกว่าในสนาม ที่ความจุมีจำกัด” 

“สิ่งที่สโมสรกังวลมาก คงเป็นค่าลิขสิทธิ์ เพราะค่าลิขสิทธิ์ทำเงินเข้าสโมสรมากกว่าค่าตั๋วเข้าชม ต่อจากนี้โมเดลธุรกิจอาจเปลี่ยนไป คนอาจหันมาดูบอลออนไลน์ เปิดแชทคุยกับเพื่อน สโมสรคงหวังพึ่งพารายได้จากการถ่ายทอดสดมากขึ้นเรื่อยๆ มีความเป็นไปได้ว่า ค่าลิขสิทธิ์จะสูงขึ้น มากกว่าลดลง”

“แต่ทีมที่จะได้สิทธิประโยชน์พวกนี้ มีแค่ทีมระดับบนๆ พวกลีกสูงสุดเท่านั้น ที่มีค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดอยู่แล้ว ส่วนพวกสโมสรเล็กๆ ที่ไมมีการถ่ายทอดสด อยู่ในลีกล่างๆ ผมยังมองไม่เห็นทางออกเลย พวกนี้คือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากสุด และมีโอกาสที่ฟุตบอลอาชีพ จะมีขนาดเล็กลง เพราะทีมเล็กๆ เหล่านี้ มีโอกาสสลายไป”

นี่คือแนวโน้นและสัญญาณความเปลี่ยนแปลง ที่กำลังจะพลิกโฉมฟุตบอลอาชีพไทย เมื่อย่างก้าวเข้าสู่ โลกหลังโควิด-19 ที่จะแตกต่างกับ โลกก่อนโควิด-19 อย่างสิ้นเชิง 

“การปรับตัว” กลายเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับ ทุกๆทีม เพื่อความอยู่รอด เพราะบรรยากาศ สภาพแวดล้อม ทุกอย่างที่รายรอบอุตสาหกรรมฟุตบอลไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และผู้คน ได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว… ไม่เช่นนั้น วิกฤตการณ์โรคระบาดในครั้งนี้ อาจกลายเป็นจุดจบของบางสโมสร 


Photo : Chiang Rai United FC

“หัวใจสำคัญ คือ ต้องการปรับตัวให้ทัน กับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น” ดร.ศุภศักดิ์ เงาประเสริฐวงศ์ กล่าวเริ่ม 

“ในช่วงที่การแข่งขันหยุดต่อ 5 เดือน ทุกสโมสรต้องกลับมาวางแผนกลยุทธ์กันใหม่ หาจุดคุ้มทุนของตัวเองว่าอยู่ตรงไหน แฟนคลับของคุณ มากสุด ปานกลาง น้อยสุด มียอดเท่าไหร่ ? และจะสามารถหารายได้เสริมจากช่องทางไหนได้บ้าง” 

“วิกฤตินี้ทำให้สโมสรในไทย ต้องเร่งทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น เพราะธุรกิจดั้งเดิมที่สนับสนุนฟุตบอล อาจต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูพอสมควร เม็ดเงินจากตรงนี้คงหายไป”  

“แต่ถ้าหากไม่ลงมือทำอะไร คิดว่าเมื่อกลับแข่งอีก 5 เดือนข้างหน้า ทุกอย่างคงเหมือนเดิม ทีมเหล่านั้นก็คงประคับประคองสโมสรไปได้ ด้วยความลำบากแน่ๆ” 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook