นิการากัวลีก : ลีกฟุตบอลที่ต้องเล่นภายใต้สถานการณ์โควิดเพราะ “ความกลัว”

นิการากัวลีก : ลีกฟุตบอลที่ต้องเล่นภายใต้สถานการณ์โควิดเพราะ “ความกลัว”

นิการากัวลีก : ลีกฟุตบอลที่ต้องเล่นภายใต้สถานการณ์โควิดเพราะ “ความกลัว”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทั้งที่ความกลัวน่าจะทำให้พวกเขายุติการแข่งขันเหมือนลีกอื่น แต่ทำไมมันยังดำเนินต่อไป

“นักเตะของเราไม่ได้อยากเล่นต่อ พวกเขากลัวมาก” 

สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงไปทุกภาคส่วน ไม่เว้นแม้แต่การแข่งขันกีฬา ที่ทำให้ลีกฟุตบอลทั่วโลก ต้องพักเบรกชั่วคราวเกือบทุกลีก

อย่างไรก็ดี นิการากัว เป็นเพียงไม่กี่ลีกในโลก ที่ยังไม่พักการแข่งขัน โดยเกมนัดล่าสุดของพวกเขา เพิ่งจะเตะไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา และยังเหลือการแข่งขันอีกหลายนัดกว่าจะจบฤดูกาล

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand 

ชัตดาวน์ทั่วโลก 

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 กลายเป็นภัยคุกคามไปทั่วโลก โดยปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อรวมสูงถึงมากกว่า 1.3 ล้านคน และเสียชีวิตไปราว 75,000 คน (อัพเดทวันที่ 7 เมษายน 2020) ขณะที่ สหรัฐอเมริกา กลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก หลังมีผู้ติดเชื้อสะสมสูงกว่า 300,000 คน รองลงมาคือ สเปนที่ราว 140,000 คน และอิตาลีที่ราว 130,000 คน


Photo : The Wall Street Journal

ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้กิจกรรมที่มีผู้คนมารวมกลุ่มเป็นจำนวนมากต้องถูกพักไว้ชั่วคราว แน่นอนว่าสำหรับการแข่งขันกีฬาซึ่งมีแฟนบอลจำนวนมากมารวมกลุ่มในสนาม ก็จำเป็นต้องระงับเช่นกัน ซึ่งทำให้ทัวร์นาเมนต์กีฬาเกือบทั้งหมด ต้องเลื่อนการแข่งขันออกไปก่อน 

เริ่มตั้งแต่ ยูโร 2020 ที่ชิงประกาศเลื่อนแข่ง 1 ปี ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการที่ไวรัสระบาดใหญ่ไปทั่วโลก, เทนนิส วิมเบิลดัน ที่ยกเลิกเป็นครั้งแรกในรอบ 75 ปี หรือมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ อย่างโอลิมปิก เกมส์ 2020 ที่ยื้อมานาน ก่อนสุดท้ายจะตัดสินใจย้ายไปจัดในปี 2021 

“ในสถานการณ์ปัจจุบัน และจากข้อมูลที่ได้รับจากองค์การอนามัยโลก ประธานไอโอซี และนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ข้อสรุปว่าการแข่งขันจะเลื่อนออกไปจากปี 2020 แต่ไม่เกินช่วงหน้าร้อนปี 2021 เพื่อปกป้องสุขภาพของนักกีฬา ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน และประชาคมโลก” แถลงการณ์ของคณะกรรมการโอลิมปิกสากลให้เหตุผลถึงการที่ไม่สามารถจัดแข่งโอลิมปิกในปี 2020 ตามกำหนดได้ 

ในขณะลีกกีฬาโลกก็ได้ผลกระทบไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการแข่งขันฟุตบอล ไม่ว่าจะเป็นลีกดังในยุโรปที่เพิ่งผ่านพ้นครึ่งฤดูกาล อย่างพรีเมียร์ลีก บุนเดสลีกา ลาลีกา หรือเซเรียอา ที่พักแข่งไปตั้งแต่เดือนมีนาคม หรือลีกในเอเชียอย่าง เจลีก และไทยลีก ที่เตะไปได้ไม่กี่นัด ต่างถูกระงับแทบทั้งสิ้น เพื่อป้องกันการระบาดที่อาจจะแพร่กระจายในสนาม 


Photo : Liverpool offside

“ผมเคยพูดว่าฟุตบอลสำคัญที่สุดเสมอ แต่วันนี้ฟุตบอลและการแข่งขันฟุตบอลไม่จำเป็นอีกต่อไป” เจอร์เกน คล็อป กุนซือของลิเวอร์พูลกล่าวไว้ในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของสโมสร

สิ่งสำคัญที่สุดคือดูแลสุขภาพคุณให้ดี และอย่าเสี่ยงอะไร โปรดจงดูแลตัวเองและผู้อื่น และคุณจะไม่มีวันเดินเดียวดาย” 

อย่างไรก็ดี กลับมีลีกฟุตบอลของประเทศหนึ่งในอเมริกากลางที่ยังจัดการแข่งขันต่อไป

1 ใน 4 ลีกของโลก 

ก่อนหน้านี้ นิการากัว อาจจะไม่ชื่อที่คุ้นหูแฟนบอลมากนัก เพราะพวกเขาเป็นเพียงประเทศขนาดกลาง ที่ตั้งอยู่ในแถบอเมริกากลาง และไม่ได้มีชื่อเสียงในด้านเกมลูกหนัง ในขณะที่ทีมชาติก็รั้งอยู่ในอันดับ 151 ของโลก (ข้อมูลล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2020) 


Photo : The Guardian

ทว่าภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้ประเทศนิการากัวถูกพูดถึงในวงกว้าง เมื่อ ลีกา พรีเมรา เด นิการากัว หรือลีกสูงสุดของพวกเขา กลายเป็น 1 ใน 4 ลีกของโลกที่ยังแข่งต่อในปัจจุบัน ร่วมกับลีก เบลารุส, บุรุนดี และทาจิกิสถาน 

“เราสามารถบอกได้จากการมอนิเตอร์ว่า ผู้คนกำลังให้ความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเว็บไซต์พนัน” โฆเซ มาเรีย เบอร์มิวเดซ เลขาธิการสมาคมฟุตบอลนิการากัวกล่าวกับ Reuters 

“มันไม่ได้มีผลกระทบทางการเงินกับเรา ผู้คนได้หรือเสียเงิน เราก็ไม่ได้เงินอยู่แล้ว แต่เราสามารถเห็นว่าผู้คนกำลังติดตามเรา เพราะเราเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังแข่งฟุตบอลต่อ” 

ลีกา พรีเมรา เด นิการากัว เป็นลีกที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1993 และมี 10 ทีมเข้าร่วมการแข่งขัน โดยพวกเขาจะแบ่งการแข่งขันเป็นฤดูกาลปกติ ก่อนจะเอาทีมที่ทำแต้มได้ดีที่สุด 6 อันดับแรกผ่านเข้าไปเล่นในรอบเพลย์ออฟชิงแชมป์ ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนเมษายน

เบอร์มิวเดซ ยืนยันว่าการแข่งขันของพวกเขาจะยังดำเนินต่อไป เท่าที่จะทำได้ และจะไม่มีการตัดจบอย่างแน่นอน โดยเขามองว่า นิการากัว ไม่ใช่ประเทศพื้นที่เสี่ยง และมีผู้ติดเชื้อเพียงไม่กี่รายเท่านั้น 


Photo : The Guardian

“สถานการณ์ที่นี่เกือบจะปกติ เรามีผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสแค่ 4 ราย และ 3 คนมาจากต่างประเทศ” เบอร์มิวเดซ กล่าวกับ Reuters 

“เราส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และตัดสินใจจากสิ่งนั้น เราไม่ใช่รัฐบาล เราทำฟุตบอล” 

“ถ้ามันแย่ลงหรือควบคุมไม่ได้ เราจะพักการแข่งขันชั่วคราวเพื่อรักษาชีวิต” 

ในขณะที่ผู้เล่นหลายคน ต่างก็เห็นพ้องกับ เบอร์มิวเดซ เมื่อพวกเขารู้สึกว่าสถานการณ์ในประเทศไม่ได้อยู่ในขั้นวิกฤติ หรือน่าเป็นห่วงแต่อย่างใด 
   
“มันไม่มีอะไรต้องกังวลสำหรับผม” ดชอน ฟอร์บส์ กองหน้าของ วอลเตอร์ เฟร์เรตติ กล่าวกับ The Guardian  

“งานของผมคือการเล่นฟุตบอล ในขณะที่สถาบันดูแลเรื่องสุขภาพก็ไม่ได้สั่งระงับกิจกรรมนี้ ทุกสิ่งจึงดำเนินต่อไปตามปกติ”  


Photo : The Guardian

ส่วน ปาโปล กัลเลโก ปีกชาวสเปนของ มานากัว กล่าวว่า “ถ้าผมรู้สึกว่าร่างกายที่สมบูรณ์ของผมเริ่มเสี่ยง แน่นอนว่าผมจะบอกพวกเขา แต่ตอนนี้ผมปลอดภัย ผมต้องขอบคุณมาตรการที่มี” 
 
ทว่า ไม่ใช่ทุกคนที่คิดแบบนั้น

ความกลัวของนักเตะ 

แม้ว่าเบอร์มิวเดซ จะยืนยันว่าการที่ลีกนิการากัวยังคงแข่งขันกันต่อ มาจากความเห็นชอบในที่ประชุมของเหล่าบรรดาประธานสโมสรในฝ่ายจัดการแข่งขันของลีก แต่ไม่ใช่ว่าทุกทีมจะเห็นด้วยกับแนวทางนี้ 

หนึ่งในนั้นคือ ดิเรียนเจน เอฟซี สโมสรที่เก่าแก่ที่สุดของนิการากัว ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1917 ที่โหวตสวนมติ และมองว่าการแข่งขันควรระงับไว้ชั่วคราว เพื่อความปลอดภัยของเหล่านักเตะ 

“นักเตะของเราไม่ได้อยากเล่นต่อ” เซอร์จิโอ ซาลาซาร์ ผู้จัดการทั่วไปของ ดิเรียนเจน กล่าวกับ The Guardian 

“พวกเขากลัวมาก และเราก็เข้าใจเขา เราอยากจะยกเลิกการแข่งขัน แต่สโมสรส่วนใหญ่โหวตกันว่าจะยังเล่นกันต่อไป” 


Photo : The Guardian

ในขณะเดียวกัน นักเตะบางคนก็ยืนยันว่ามันเป็นการตัดสินใจโดยพลการของเหล่าเจ้าของสโมสรกับลีก และไม่มีการนำเรื่องนี้มาปรึกษาเหล่าผู้เล่นในทีม ทั้งที่พวกเขาคือคนที่เสี่ยง ไม่ใช่พวกประธานสโมสร 

อย่างไรก็ดี แม้จะไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว แต่ด้วยมติเสียงส่วนใหญ่ที่ออกมาแล้ว ทำให้นักเตะเหล่านี้ต้องยอมลงเล่นด้วยความจำเป็น แม้ว่าในใจจะเต็มไปด้วยความกลัว และความกังวลก็ตาม 

ด้วยเหตุนี้ ทำให้พวกเขาต้องปรับตัวอย่างหนักในสถานการณ์นี้ ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัยก่อนลงสนาม สวมถุงมือตอนลงเล่น ไปจนถึงพยายามไม่สัมผัสตัวคู่แข่งให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

“เราพยายามเลี่ยงที่จะสัมผัสผู้เล่นคนอื่น” คาร์ลอส มอสเกรา ผู้รักษาประตู เดปอร์ติโว ลาส ซาบานาส กล่าวกับ Reuters

“ฟุตบอลเปลี่ยนไปแล้ว เพราะคุณไม่ต้องเข้าไปในจังหวะ 50-50 ด้วยความแรงเหมือนเก่า” 

“ความกลัวในสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกมักมีอยู่เสมอ ด้านจิตใจ คุณจะไม่มีสมาธิกับเกม คุณจะคิดเสมอว่าคู่แข่งของคุณอาจจะติดเชื้อ” 


Photo : The Times

มันจึงกลายเป็นภาพที่ดูตลก ในขณะเดียวกันก็ดูทุลักทุเล กับการต้องฝืนลงเล่นภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกติ จากนโยบายของสมาคมฟุตบอล 

อย่างไรก็ดี มันกลับมีอะไรมากกว่านั้น

เสถียรภาพทางการเมือง 

นิการากัว ถือเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในแถบอเมริกากลาง พวกเขามีอัตราการว่างงานและความยากจนที่สูงมาก จากการตกอยู่ภายใต้การปกครองของเหล่าผู้นำเผด็จการมานับ 30 ปี 

แม้ปัจจุบัน พวกเขาจะมี ดาเนียล ออร์เตกา ผู้นำวัย 75 ปีเป็นประธานาธิบดี แต่ปัญหาเหล่านี้ก็ยังไม่หมดไป แถบนับวันยิ่งทวีความรุนแรง และมันก็กลายเป็นเหตุผลว่าเพราะเหตุใด ลีกา พรีเมรา เด นิการากัว ยังคงดำเนินต่อไป 


Photo : CNN

ฟังดูอาจจะซับซ้อน แต่ในความเป็นจริง การยินยอมให้ลีกในฟุตบอลในประเทศแข่งต่อ มาจาก “ความกลัว” ของออร์เตกา เขากลัวว่าการสั่งพักการแข่งขันลีกฟุตบอล อาจจะทำให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมาประท้วงเขาอีกครั้ง 

ออร์เตกา เพิ่งเจอกับการประท้วงครั้งใหญ่เมื่อปี 2018 หลังเขามีแผนปฏิรูประบบประกันสังคม ด้วยการเพิ่มภาษีเงินได้และค่าจ้าง แต่จะลดอัตราการจ่ายบำนาญลง จนทำให้มีประชาชนออกมาประท้วงนับหมื่นราย 

อย่างไรก็ดี การประท้วงในครั้งนั้น ออร์เตกา กลับใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามผู้ชุมนุม และบานปลายกลายเป็นการปะทะอย่างรุนแรงของกลุ่มผู้ประท้วง ตำรวจ และผู้สนับสนุนรัฐบาล จนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 500 ราย และบาดเจ็บกว่า 2,800 ราย ซึ่งมันเป็นความขัดแย้งกลางเมืองที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่การปฏิวัตินิการากัว ระหว่างปี 1978-1990 

“การที่ลีกไม่หยุด เป็นผลจากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เห็นว่าทุกอย่างยังคงปกติ แต่ความปกตินั้นมันมีอยู่จริงซะที่ไหน” คามิโญ เวลาสเกวซ นักข่าวท้องถิ่นกล่าวกับ The Guardian   

“นับตั้งแต่ปี 2018 พวกเขาพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะแสดงให้เห็นว่าทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ และการแข่งขันกีฬา คือส่วนหนึ่งของความพยายามเหล่านั้น”

“โคโรนาไวรัสกลายเป็นภัยคุกคามครั้งใหญ่ เพราะเขากลัวว่าจะเกิดการหยุดงานประท้วง และการหยุดทุกอย่าง (พักลีก) อาจจะทำให้เกิดสิ่งนั้น” 

นอกจากนี้ ด้วยการที่ทีมส่วนใหญ่ ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ ไม่ว่าจะเป็น วอลเตอร์ เฟร์เรตติ ที่มีกรมตำรวจเป็นเจ้าของ หรือ มานากัว ทีมประจำเมืองหลวงของประเทศ ซึ่งมีสำนักงานเทศมนตรีของเมืองเป็นผู้จ่ายเงินเดือนให้ ทำให้พวกเขาเลือกที่จะนิ่งเงียบ แม้อาจจะไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ก็ตาม 

“ผู้เล่นกลัวมากๆ เมื่อรายได้ของพวกเขาคือฟุตบอล และรัฐก็เป็นคนจ่ายเงินเดือนพวกเขา คุณจะเข้าใจว่าทำไมพวกเขาจึงเงียบ” เวลาสเกวซ อธิบาย 


Photo : The Times

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าจะมีเพียง ดิเรียนเจน ที่มีจุดยืนต่อต้านนโยบายของรัฐ เท่านั้น เพราะ เรอัล มาดริดซ์ ทีมอันดับ 8 ของลีกก็เคยประกาศในโซเชียลมีเดียว่าพวกเขาจะไม่ยอมลงเล่นกับ เรอัล เอสเตลี ในวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา 

ทว่า ข้อความดังกล่าวก็ถูกลบอย่างมีเงื่อนงำในเวลาต่อมา ก่อนที่ท้ายที่สุด เรอัล มาดริดซ์ จะลงเตะตามโปรแกรม และพ่ายไปด้วยสกอร์ 4-0

อันที่จริงนโยบายของลีกนิการากัว ก็ค่อนข้างย้อนแย้ง เมื่อทวิตเตอร์ของสโมสรส่วนใหญ่ ล้วนเขียนข้อความว่า “Quédate a casa” (จงอยู่บ้าน) แต่นักเตะของพวกเขาต้องออกจากบ้านเพื่อมาลงเตะในทุกสัปดาห์ แม้ว่าจะเป็นการแข่งขันแบบปิดและห้ามคนดูเข้าชมก็ตาม 

“มันน่าอึดอัดใจสำหรับนักเตะ แต่พวกเขาก็เตรียมที่จะใช้หน้ากาก” ซาลาซาร์ กล่าวกับ The Gaurdian 

มันจึงกลายเป็นความพยายามทำให้เป็นปกติ แต่ดูไม่เป็นปกติสำหรับลีกฟุตบอลของนิการากัว

กลืนไม่เข้าคายไม่ออก 

“สิ่งแรกที่เราควรให้ความใส่ใจ คือสุขภาพของประชาชนของเรา เราจึงคิดมาตลอดว่า เราไม่ควรลงเล่นอีกแล้ว” ผู้จัดการทั่วไปของ ดิเรียนเจนกล่าว

แม้ว่ามีนักเตะจำนวนไม่น้อย ที่ไม่เห็นด้วยกับการที่ลีกจะยังคงแข่งขันต่อไป ท่ามกลางการระบาดของ โควิด-19 แต่พวกเขาก็ถูกทำให้เป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ที่ต้องก้มหน้าก้มตาเล่นต่อไป ภายใต้สถานการณ์ที่กล้ำกลืนฝืนทน 

ผู้เล่นคนหนึ่งจาก เดปอติโว ลาส ซาบานาส บอกกับ The Guardian ว่า พวกเขาจำเป็นต้องลงเล่นต่อ เพื่อปากท้อง และหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว เพราะการหยุดเล่นอาจจะทำให้สโมสรขาดรายได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การลดเงินเดือน หรือเลวร้ายที่สุดคือเลิกจ้าง 


Photo : BR

ในขณะที่ผู้เล่นบางคนกล่าวติดตลกว่า การที่ลีกนิการากัว เป็นเพียงไม่กี่ลีกในโลก ที่ยังแข่งต่อ อาจจะเป็นข้อดีสำหรับพวกเขา ที่ทำให้แมวมองได้เห็นฝีเท้า และกลายบันไดในการย้ายไปเล่นในลีกที่สูงขึ้น 

แต่ถึงอย่างนั้น ในความเป็นจริง สิ่งเหล่านี้ล้วนมีราคาที่ต้องจ่าย เพราะการลงเล่นคือความเสี่ยงที่อาจจะทำให้พวกเขาติดเชื้อได้ทุกเมื่อ และความสนุกของผู้ชม อาจจะเป็นฝันร้ายของนักเตะ 

อีกทั้งมันยังเกิดคำถามไปถึงระบอบการปกครองของออร์เตกา ว่าการที่เขาพยายามทำให้โลกเห็นว่าชีวิตของคนนิการากัว ยังคงดำเนินไปตามปกติ มันปกติจริงหรือไม่? 

และที่สำคัญ ชีวิตประชาชนในสายตาของเขานั้นมีค่าแค่ไหน? 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook