ทำไมลิเวอร์พูลถึงถูกตำหนิ เพราะพักงานสตาฟฟ์-ขอรับความช่วยเหลือรัฐบาล

ทำไมลิเวอร์พูลถึงถูกตำหนิ เพราะพักงานสตาฟฟ์-ขอรับความช่วยเหลือรัฐบาล

ทำไมลิเวอร์พูลถึงถูกตำหนิ เพราะพักงานสตาฟฟ์-ขอรับความช่วยเหลือรัฐบาล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงไปทั่วโลก และทุกวงการ ทุกภาคส่วน

แม้ปัญหาที่ชัดเจนที่สุดในวิกฤติครั้งนี้ คงหนีไม่พ้น ปัญหาทางการแพทย์และสาธารณสุข เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือโรคระบาดที่ติดต่อกันอย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง แต่ถึงกระนั้น อีกหนึ่งปัญหาที่เริ่มลุกลามรุนแรงไม่แพ้กันคือ ปัญหาเศรษฐกิจ

และสิ่งที่เกิดขึ้นจาก COVID-19 ในตอนนี้ ได้นำมาซึ่งคำถามของสังคม จากการกระทำของสโมสรดังระดับโลกอย่าง ลิเวอร์พูล ว่า สิ่งที่พวกเขาทำนั้นเหมาะสมหรือไม่ กับการให้พนักงานของสโมสรพักงาน แล้วรับเงินสวัสดิการช่วยเหลือจากภาครัฐ

ปัญหาจากวิถีชีวิตที่ต้องเปลี่ยนไป

สหราชอาณาจักร ซึ่งมี อังกฤษ เป็นดินแดนที่มีขนาดใหญ่ และถือเป็นศูนย์กลางนั้น คือหนึ่งในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ รวมถึงเสียชีวิตมากที่สุด โดยถึงตอนนี้ (5 มีนาคม 2020) มีผู้ติดเชื้อ 47,806 คน และเสียชีวิต 4,934 คน


Photo : theathletic.co.uk

ซึ่งอย่างที่เราทราบกันดีว่า COVID-19 มากับละอองฝอยจากการไอ ยิ่งอยู่ใกล้ชิดกันเท่าไหร่ โอกาสที่จะมีการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยสู่คนอื่นๆ ในสังคมก็ยิ่งมากตามไปด้วย

ด้วยเหตุดังกล่าว การใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคมจึงต้องเปลี่ยนไป ... วิถีชีวิตที่ต้องรักษาระยะห่างระหว่างกัน ที่มีคำเรียกหลากหลาย ไม่ว่าจะ Social Distancing, Physical Distancing หรือ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องจำให้ได้ขึ้นใจ 

ถึงกระนั้น มาตรการดังกล่าวก็ทำให้ในหลายภาคธุรกิจต้องหยุดงาน เมื่อรายได้ไม่เข้า แต่รายจ่ายยังมีอยู่ ปัญหาทางการเงินก็ตามมา

และเมื่อเกิดเรื่องดังกล่าวขึ้น มาตรการแก้ปัญหาแรกที่หลายๆ คนคงจะนึกออก คือการ "ปลดพนักงาน" แต่ก็แน่นอนว่า เมื่อมีคนว่างงาน ก็เท่ากับว่าพวกเขาไม่มีรายได้ และปัญหาต่างๆ ก็จะตามมา ... เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว รัฐบาลของสหราชอาณาจักร จึงต้องออกมาตรการที่ชื่อว่า "Furlough" หรือ "พักงาน" ขึ้นมา โดยรัฐบาลจะจ่ายค่าจ้างให้ 80% ของค่าจ้างที่ได้รับต่อเดือน สูงสุดไม่เกินเดือนละ 2,500 ปอนด์ หรือราว 100,000 บาท

ยิ่งแก้...ยิ่งยุ่ง

โดยปกติแล้ว สโมสรฟุตบอลจะมีการจัดจ้างบุคลากรเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ Playing Staff หรือ นักฟุตบอล กับ Non-Playing Staff หรือ เจ้าหน้าที่สโมสรในส่วนต่างๆ และแน่นอนว่า เมื่อเกิดภาวะวิกฤติจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ผลกระทบก็ย่อมเกิดกับทุกฝ่ายเป็นธรรมดา


Photo : www.liverpoolecho.co.uk

เริ่มตั้งแต่ในส่วนของนักฟุตบอล ถึงตอนนี้ ทาง พรีเมียร์ ลีก ลีกสูงสุดของประเทศอังกฤษ ได้เริ่มการขอความร่วมมือสโมสรต่างๆ ให้ลดค่าจ้างนักเตะราว 30% จากที่ได้รับอยู่เดิม เพื่อให้สโมสรต่างๆ โดยเฉพาะสโมสรเล็กที่มีรายได้ไม่สูงนักอยู่รอดได้

ทว่ามาตรการดังกล่าว กลับนำมาซึ่งเสียงคัดค้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสมาคมนักฟุตบอลอาชีพ หรือ PFA ที่มองว่า หากลดค่าเหนื่อยนักเตะลง ก็เท่ากับว่าเม็ดเงินที่จะไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจฟุตบอลย่อมลดลงตาม โดยอาจสูงถึง 500 ล้านปอนด์ หรือราว 20,000 ล้านบาท ซึ่งโดยปกติเเล้วเงินจำนวนนี้จะถูกหักเป็นภาษีให้กับรัฐบาลสหราชอาณาจักรเมื่อนักเตะได้รับค่าจ้างราว 40% เท่ากับว่า รัฐอาจสูญเสียภาษีไปมากถึง 200 ล้านปอนด์ หรือราว 8,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

ดังนั้นหากมีการลดค่าจ้างลง เท่ากับว่า สำนักงานบริการสาธารณสุขแห่งสหราชอาณาจักร หรือ NHS ที่ต้องรองบประมาณจากรัฐบาลจะต้องได้รับผลกระทบไปด้วยแน่นอน ซึ่งทาง PFA มองว่า หากจะมีการลดค่าเหนื่อยจริง ทาง NHS ก็ควรจะได้รับอานิสงส์ เป็นงบประมาณในการสู้กับ COVID-19 มากกว่าที่เป็นอยู่ โดยพวกเขาเห็นด้วยกับการบริจาคเงินเข้าไปโดยตรงมากกว่า ขณะที่ฝ่ายสโมสรก็มองว่า หากสโมสรยังต้องจ่ายค่าเหนื่อยเต็มจำนวน หลายๆ ทีมอาจต้องประสบกับภาวะล้มละลายได้เลยทีเดียว


Photo : www.liverpoolfc.com

จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้ในระหว่างที่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการลดค่าเหนื่อยนักเตะนั้นเอง ทางสโมสรก็ต้องลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่สามารถทำได้ก่อน นั่นคือการให้เจ้าหน้าที่ทีมบางส่วนพักงาน แล้วขอรับเงินสวัสดิการจากภาครัฐสำหรับคนที่ได้รับผลกระทบ

จนถึงตอนนี้ มีอยู่ 5 สโมสรในพรีเมียร์ลีก ที่ตัดสินใจขอเข้าร่วมมาตรการดังกล่าว หลังเกมพรีเมียร์ลีกถูกระงับไปอย่างไม่มีกำหนด นั่นคือ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด, ท็อตแนม ฮ็อทสเปอร์, บอร์นมัธ, นอริช ซิตี้ และ ลิเวอร์พูล ... ซึ่งชื่อสุดท้ายนี้เอง ที่ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างหนักหน่วง แม้ทีมหงส์แดงจะยืนยันว่า ถึงจะมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่บางคนต้องพักงาน แต่สโมสรยืนยันจะจ่ายค่าจ้างทุกคนครบ 100% โดยในส่วนที่เหลือจาก 80% หรือ 2,500 ปอนด์ที่ภาครัฐจ่าย ทีมจะโปะเงินส่วนที่ขาดให้ก็ตาม

ความถูกต้อง vs ความเหมาะสม

จริงอยู่ สโมสรในพรีเมียร์ลีกแทบทุกทีมที่ตัดสินใจใช้มาตรการนี้เพื่อลดค่าใช้จ่าย ต่างถูกแฟนบอลตำหนิ แต่เสียงวิจารณ์ของ ลิเวอร์พูล ดูจะหนักหน่วงกว่าเป็นพิเศษ


Photo : @Red_Neighbours

ประการแรกก็คือ ลิเวอร์พูล เป็นทีมยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ ไม่เพียงเท่านั้น ฐานะทางการเงินยังดีมากเมื่อเทียบกับอีกหลายสโมสร เพราะแม้ค่าเหนื่อยของนักเตะทุกคนในทีมจะสูงถึง 310 ล้านปอนด์ (12,500 ล้านบาท) ในฤดูกาลล่าสุด แต่ผลงานในสนามที่ยอดเยี่ยม สามารถทำให้สโมสรโกยรายได้มากถึง 533 ล้านปอนด์ (ราว 21,500 ล้านบาท) รวมถึงยังมีกำไรก่อนหักภาษีสูงถึง 42 ล้านปอนด์ (ราว 1,700 ล้านบาท) อีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น สโมสร ลิเวอร์พูล, กุนซืออย่าง เจอร์เก้น คล็อปป์ และนักเตะหลายคนในทีม ยังแสดงออกถึงการช่วยเหลือ และมีความเห็นอกเห็นใจกับผู้คนในเมือง ในประเทศมากมายที่ต้องประสบกับปัญหาจากการแพร่ระบาดของไวรัส รวมถึงยังมีส่วนร่วมในการเจรจาลดค่าเหนื่อยกับทางพรีเมียร์ลีกด้วย

ทว่าการตัดสินใจดังกล่าว ก็ทำให้ภาพลักษณ์ของสโมสรที่ดูดีนั้นพังทลาย จนแม้แต่อดีตนักเตะอย่าง เจมี่ คาร์ราเกอร์, แดนนี่ เมอร์ฟี่, ดีทมาร์ ฮามันน์ และ สแตน คอลลีมอร์ หรือแม้แต่กลุ่มแฟนบอลอย่าง Spirit of Shankly ออกมาตำหนิฝ่ายบริหารของ ลิเวอร์พูล อย่างรุนแรงว่า มีความจำเป็นขนาดไหนถึงต้องขอรับการช่วยเหลือจากภาครัฐๆ ทั้งๆ ที่สโมสรควรจะเป็นฝ่ายช่วยเหลือมากกว่า


Photo : www.liverpoolecho.co.uk

จากสถานการณ์และสิ่งที่เกิดขึ้น คงพูดไม่ได้ว่า ลิเวอร์พูล ทำผิด เพราะเมื่อมีกฎระเบียบที่เปิดทางให้ทำเช่นนั้นได้ รวมถึงสโมสรเองก็เป็นผู้จ่ายภาษีที่ดีให้กับรัฐบาลมาโดยตลอด การขอรับความช่วยเหลือนั้น จะว่าไปก็ดูสมเหตุสมผล

แต่ด้วยผลประกอบการที่ดี ตลอดจนภาพลักษณ์ของสโมสรที่เน้นถึงการช่วยเหลือสังคม การตัดสินใจดังกล่าวจึงนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ยิ่งเมื่อไปเทียบกับทีมคู่แข่งอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หรือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ยังคงจ่ายค่าจ้างให้บุคลากรในสโมสรด้วยตัวเอง 100% ตามเดิมแล้ว ความแตกต่างก็ยิ่งชัดขึ้นไปอีก

ถามว่าการกระทำของ ลิเวอร์พูล ถูกต้องหรือไม่? คำตอบแน่นอนว่า ถูกต้อง แต่หากถามว่า เหมาะสมหรือไม่นั้น? ... บางที นี่ก็เป็นเส้นบางๆ ทางคุณธรรม ที่ดูจะหาคำตอบยากมากจริงๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook