แชมป์ชีวิตจริง : "จูเนียร์ บริดจ์แมน" นักบาสธรรมดาที่มีสินทรัพย์เป็นรองแค่ "ไมเคิล จอร์เเดน"
นักกีฬา คือ อาชีพที่ใครหลายคนใฝ่ฝัน ชีวิตที่เต็มไปด้วยชื่อเสียงและเกียรติยศ พร้อมกับเม็ดเงินมหาศาลในบัญชีเงินฝากตั้งแต่อายุน้อย ไม่มีอาชีพใดที่จะพาคุณสู่คำว่าเศรษฐี ได้รวดเร็วกว่านักกีฬา
แต่บางครั้งชื่อเสียงเงินทองคือดาบสองคม นักกีฬามากมายที่เคยประสบความสำเร็จในอดีต กลับต้องใช้ชีวิตอย่างน่าเศร้า ไม่เหลือภาพยอดนักสู้ในอดีต เนื่องจากไม่เหลือเงินให้ใช้จ่าย ช่วงบั้นปลายของชีวิต
การศึกษา และ การวางแผนชีวิต คือสองสิ่งที่นักกีฬามักละเลยที่จะใส่ใจ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นแบบนั้น ยังมีนักกีฬาคนหนึ่งที่ไม่ได้เก่งกาจอะไร แต่สามารถสร้างสินทรัพย์ได้มากถึง 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
Main Stand พาคุณมารู้จักกับ จูเนียร์ บริดจ์แมน (Junior Bridgeman) นักบาสเกตบอลตัวสำรอง ที่เริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะเจ้าของธุรกิจอาหาร จนมีทรพย์สินเป็นรองเพียง ไมเคิล จอร์เเดน
ใส่ใจในการศึกษา
ยูลิสซีส “จูเนียร์” บริดจ์แมน ไม่ใช่เด็กคาบช้อนทองมาเกิด เขาเติบโตในชุมชนแรงงาน เมืองอีสต์ชิคาโก รัฐอินเดียนา ครอบครัวมีฐานะยากจน คุณปู่และคุณพ่อของบริดจ์แมน เป็นลูกจ้างในโรงงานเหล็กกล้า ส่วนคุณแม่ทำอาชีพแม่บ้านรับจ้าง
หากเป็นครอบครัวอื่น บริดจ์แมนคงออกจากโรงเรียน เพื่อหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว
แต่ ยูลิสซีส “ซีเนียร์” พ่อของบริดจ์แมน มีมุมมองที่แตกต่างออกไป เขาเห็นความสำคัญของการศึกษา ที่ช่วยให้ชีวิตลูกชาย ก้าวไปไกลกว่าโรงงานเหล็กในเมืองอีสต์ชิคาโก
Photo : www.bizjournals.com
“กฎข้อแรกคือ ผมต้องเข้าโบสถ์เป็นประจำ ข้อสองคือ ผมต้องตั้งใจเรียน ไม่ว่าอย่างไร ห้ามมีผลการเรียนแย่กลับมาฝากแม่ที่บ้าน” จูเนียร์ บริดจ์แมน เล่าถึงกฎประจำบ้านตระกูลบริดจ์แมน
“กฎข้อที่สามคือ หากคุณทำงานเป็นทีม ไม่มีใครสนใจว่าคุณจะเล่นได้หรือไม่ สิ่งสำคัญคือคุณห้ามยอมแพ้เด็ดขาด หากคุณคือผู้เล่นอันดับสุดท้ายของทีม สิ่งที่คุณต้องทำคืออยู่ตรงนั้นตลอดทั้งปี เพื่อตะโกนเชียร์เพื่อนร่วมทีม”
กฎข้อที่สามส่งผลต่อชีวิตบริดจ์แมน เมื่อเข้าสู่ทีมบาสเกตบอลโรงเรียนอีสต์วอชิงตัน เขาลงเล่นโดยคำนึงถึงผลลัพธ์ มากกว่าฟอร์มการเล่นส่วนตัว ส่งผลให้ทีมบาสโรงเรียนอีสต์วอชิงตัน คว้าแชมป์ Indiana state high school championships ในปี 1971 พร้อมทำสถิติไร้พ่ายตลอดการแข่งขัน
Photo : www.si.com
ความสำเร็จดังกล่าว ช่วยให้บริดจ์แมนรับทุนนักกีฬา เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยลุยส์วิลล์ ในสาขาจิตวิทยา เขาแบ่งเวลาระหว่างเรื่องเรียนกับกีฬาได้อย่างยอดเยี่ยม บริดจ์แมนจบการศึกษา ในฐานะนักบาสเกตบอลทีมมหาวิทยาลัยลุยส์วิลล์ พร้อมรางวัลอันดับ 3 ในการแข่งขัน NCAA Division I Basketball Tournament ประจำปี 1975
ผลงานของบริดจ์แมนในฐานะนักบาสยอดเยี่ยมมาตลอด แต่เขาไม่เคยมั่นใจมั่นใจในความสามารถของตัวเอง บริดจ์แมนวางแผนที่จะเรียนต่อในสายกฎหมาย ถึงขั้นเข้าสอบ LSAT (Law School Admission Test) แล้วเรียบร้อย ก่อนจะทราบข่าวใหญ่ที่จะเปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล
ผู้เล่นคนที่ 6
พรสวรรค์ด้านกีฬาของ จูเนียร์ บริดจ์แมน ถูกค้นพบโดยแมวมองของทีมลอสแอนเจลิส เลเกอร์ส (Los Angeles Lakers) เขาเข้าสู่ NBA ในฐานะผู้เล่นลำดับที่ 8 ของการดราฟต์ประจำปี 1975
Photo : nba.nbcsports.com
สัปดาห์ต่อมาหลังเข้าสู่ลีก บริดจ์แมนถูกเทรดไปอยู่กับทีมมิลวอกี บักส์ (Milwaukee Bucks) ร่วมกับผู้เล่นอีกหลายคน เพื่อแลกตัวคารีม อับดุล-จับบาร์ (Kareem Abdul-Jabbar) ผู้เล่นระดับซูเปอร์สตาร์ของลีก
การตัดสินใจครั้งนั้นของเลเกอร์สถูกต้อง ไม่ใช่แค่ในแง่ของการคว้าตัว อับดุล-จับบาร์ แต่ยังรวมไปถึงการปล่อยผู้เล่นหน้าใหม่ที่ผลงานไม่ตามเป้าอย่าง บริดจ์แมน
ผลงานของเขาไม่ดีดั่งที่หลายคนคาดหวัง หลังทำแต้มเฉลี่ยต่อเกมได้เพียง 8.6 แต้ม ในฤดูกาล 1975-76
บริดจ์แมนพัฒนาขึ้นเรื่อยๆหลังจากฤดูกาลแรก แต่เขาไม่เคยดีพอสำหรับตำแหน่งตัวจริง ตลอดระยะเวลา 10 ปี ในทีมมิลวอกี บักส์ บริดจ์แมนอยู่ในฐานะผู้เล่นคนที่ 6 หรือ Sixth Men ผู้เล่นตัวสำรองขาประจำ ที่มีความสามารถใกล้เคียงกับตัวจริง จนถูกเรียกใช้งานอยู่บ่อยครั้ง
บริดจ์แมนไม่เคยคว้าแชมป์อะไรในฐานะนักบาส NBA เขาเคยได้ค่าเหนื่อยสูงสุดเพียง 350,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี สิ่งเดียวที่เขาได้รับตลอดอาชีพ คือความจากแฟนมิลวอกี บักส์ ด้วยความทุ่มเทที่มากเกินกว่าผู้เล่นตัวจริงคนไหน เสื้อเบอร์ 2 ของทีมถูกรีไทร์ เพื่อเป็นเกียรติแก่บริดจ์แมน หลังประกาศเลิกเล่น
Photo : @Bucks
ไม่ใช่แค่แฟนกีฬา บริดจ์แมนยังได้รับความเคารพจากเพื่อนร่วมลีก จนถูกเลือกให้รับตำแหน่งประธานสหภาพผู้เล่น NBA
บริดจ์แมนใช้ตำแหน่งดังกล่าวเรียนรู้เรื่องการเงินและธุรกิจ จากการเข้าพบกับเจ้าของทีมมากมาย เพื่อต่อรองรายได้ช่วยเหลือเพื่อนนักกีฬา
“มันทำให้ผมรู้ชัดเจนว่าคนรวยเหล่านี้ ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่เจ้าของทีม มันมีหลายสิ่งที่สำคัญมากกว่านั้น” บริดจ์แมนเล่าถึงบทเรียนทางธุรกิจที่เขาได้รับ
“พวกเขานำหน้าผมไป 2 หรือ 3 คำถามเสมอ มันเป็นการเรียนรู้ที่เหลือเชื่อจริงๆ”
สร้างธุรกิจจากความรัก
การคลุกคลีกับการเงินในฐานะประธานสหภาพผู้เล่น ทำให้บริดจ์แมนเขาพบว่าตัวเขา ไม่มีฐานะมั่นคงมากพอจะเลี้ยงดูครอบครัว หากไม่ประกอบอาชีพหลังเลิกเล่น บริดจ์แมนจึงเริ่มวางแผนอนาคตของตัวเองทันที
Photo : nypost.com
ด้วยความรักในแฮมเบอร์เกอร์ เขาให้ความสนใจร้าน Wendy’s แฟรนไชส์ฟาสต์ฟูดชื่อดังในสหรัฐอเมริกา (คล้ายกับ KFC หรือ McDonald บ้านเรา) บริดจ์แมนศึกษาธุรกิจนี้อย่างจริงจัง ถึงกับลงทุนสมัคเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ในร้าน Wendy’s ช่วงปิดฤดูกาล เพื่อเรียนรู้การทำงานให้มากที่สุด
ปี 1987 บริดจ์แมนประกาศรีไทร์จากอาชีพบาสเกตบอล แล้วหันมาประกอบอาชีพด้านประกันภัย ระหว่างนั้น เขาทยอยซื้อกิจการร้าน Wendy’s ในเมืองมิลวอกี ภายในปี 1988 บริดจ์แมนจึงเป็นเจ้าของร้าน Wendy’s ทั้งหมด 5 สาขา และได้ลาออกจากงานเดิมเพื่อบริหารธุรกิจเต็มตัว
กิจการร้าน Wendy’s ของบริดจ์แมน ไม่ได้มีความโดดเด่นอะไร สาขาที่ดีที่สุดของเขา ทำรายได้เพียง 800,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นรายได้เฉลี่ยของแฟรนไชส์ Wendy’s ในช่วงเวลานั้น บริดจ์แมนมองว่าเรื่องดังกล่าวคือความล้มเหลว และเขาไม่มีข้อแก้ตัวให้แก่ตัวเอง นอกจากกระตุ้นยอดขายให้เร็วที่สุด
“สิ่งที่ผมพยายามมาตลอดคือ ทำให้ทุกคนเข้าใจว่าเราคือทีมเดียวกัน เราทำงานร่วมกันในฐานะทีม เราชนะด้วยกันเป็นทีม เราแพ้ด้วยกันเป็นทีม” บริดจ์แมนเผยปรัชญาการทำงานของเขา
บริดจ์แมนปลุกใจพนักงาน ด้วยวิธีการที่ไม่ต่างจากโค้ชบาสเกตบอล เขาเรียกพนักงานทุกคนมาประชุม เพื่อบอกว่า ตัวเขาไม่ได้เชื่อมั่นในแฮมเบอร์เกอร์ของ Wendy’s สักนิด เพราะสิ่งที่เขาเชื่อมั่นคือไม่ได้อยู่ในผลิตภัณฑ์ แต่อยู่ในตัวพนักงานทุกคน
บริดจ์แมนมอบความรักและเอาใจใส่ เพื่อช่วยลูกจ้างกลายเป็นพนักงานที่ดีขึ้น เขาออกเงินค่าเช่าบ้านล่วงหน้า รวมถึงประกันตัวพนักงานที่ทำผิดกฎหมาย และให้โอกาสทำงานอีกครั้ง
Photo : fortune.com
เมื่อลูกจ้างเห็นว่าเจ้านายใส่ใจพวกเขามากแค่ไหน พนักงานในร้าน Wendy’s ของบริดจ์แมน จึงทำงานหนักหลายเท่า เพื่อตอบแทนเจ้านายของพวกเขา จนทำให้ยอดขายร้าน Wendy’s พุ่งกระฉูด
ภายในระยะเวลาไม่นาน ธุรกิจ Wendy’s ของบริดจ์แมนแต่ละสาขา สามารถทำรายได้มากถึง 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี เขานำกำไรที่ได้ทยอยซื้อธุรกิจร้าน Wendy’s จนในปี 2014 บริดจ์แมนจึงกลายเป็นเจ้าของธุรกิจร้าน Wendy’s จำนวน 240 สาขา
บริดจ์แมนก้าวต่อไปในธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟูด ปี 2015 เขาซื้อธุรกิจร้าน Chili’s อีก 125 ร้าน เมื่อรวมกับธุรกิจอื่นๆ บริดจ์แมนเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหารแบบเฟรนไชส์ 450 ร้าน เขาสามารถหารายได้ 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2015 ปีเดียว
แชมป์ชีวิตจริง
บริดจ์แมนพิชิตธุรกิจร้านอาหารแฟรนไชส์ จากความรักและความเอาใจใส่ที่มีให้แก่ลูกจ้าง แต่เขาคงไม่สามารถมีมูลค่าทรัพย์สิน 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากขาดอีกหนึ่งคุณสมบัติสำคัญที่นักธุรกิจพึงมี นั่นคือ “ความกล้า” ที่จะก้าวสู่ธุรกิจใหม่
Photo : www.bizjournals.com
ปี 2016 บริดจ์แมนทำช็อค ด้วยการประกาศขายธุรกิจร้าน Wendy’s และ Chili’s จำนวนหนึ่ง เพื่อเบนเข็มไปทำธุรกิจผลิตบรรณจุภัณฑ์ และจัดจำหน่ายเครื่องดื่ม Coca-Cola ใน 4 รัฐทางตอนเหนือของประเทศสหรัฐอเมริกา
“ผมตื่นเต้นเสมอเมื่อเจอกับความท้าทายใหม่ แม้หลายครั้งผมจะวิตกไปกับมัน เพราะยังมีบางสิ่งที่คุณไม่เคยรู้” บริดจ์แมนพูดถึงความท้าทายครั้งใหม่ แม้อายุล่วงเลย 60 ปี
“มันไม่ใช่แค่การบรรจุน้ำใส่ขวดหรือกระป๋อง แค่ไม่ใช่การวางผลิตภัณฑ์ลงในร้านค้า มันเป็นงานที่สนุกกว่านั้น และมันคือมรดกจากความพยายามทั้งหมดของผม”
บริดจ์แมนลดการครอบครองธุรกิจร้าน Wendy’s เหลือราว 160 สาขา เพื่อแลกกับผลตอบแทนที่แสนคุ้มค่า เขาทำรายได้ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทันทีที่บรรลุข้อตกลงกับ Coca-Cola พร้อมกับส่วนแบ่งมหาศาลจากการจัดจำหน่าย ส่งผลให้มูลค่าสินทรัพย์ของบริดจ์แมนปัจจุบันอยู่ที่ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นนักบาสเกตบอลที่มีทรัพย์สินมากที่สุดอันดับ 2 เป็นรองเพียง ไมเคิล จอร์แดน
แตกต่างจากเจ้าของแบรนด์เครื่องแต่งกายชื่อดัง บริดจ์แมนกล่าวเสมอว่า เหตุผลที่เขาประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ ไม่ใช่เพราะเขาใช้อิทธิพลจากการเป็นนักบาสเกตบอล แต่เป็นเพราะเขาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัว ทำให้เขาสร้างอาณาจักรธุรกิจของเขาด้วยหยาดเหงื่อของตัวเอง
Photo : myboysay.com
“ผมภูมิใจที่เติบโตขึ้นมาในอีสต์ชิคาโก เพราะผมเติบโตขึ้นมาท่ามกลางคนทุกรูปแบบ เซอร์เบีย โครเอเชีย ละติน หรือ ยิว ผมไม่ได้คิดต่อพวกเขาในแนวทางอื่น นอกจากพวกเขาเป็นคนเหมือนกันกับผม และเราเข้ากันด้วยดี”
“การเติบโตในสภาพแวดล้อมแบบนั้น ทำให้ผมรู้ว่า คุณควรมองคนอื่นอย่างไร และคุณควรมองโลกอย่างไร แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ คุณรู้ว่าโลกควรเป็นอย่างไร และโลกสามารถเป็นอะไร ในช่วงชีวิตที่เหลือของคุณ”
“ความกังวลของผมตอนนี้คือไม่มีใครทำงาน และอดทนเพื่อเป้าหมายแบบนั้นอีกแล้ว คุณมองเห็นคนธรรมดาที่กลายเป็นนักดนตรีหรือนักกีฬา พวกเขาคือนักกีฬาที่ทำเงินมหาศาล ผมมองเห็นว่าแนวคิดแบบนั้นมีอิทธิพลขนาดไหน”
“ผมหวังว่าเด็กสมัยนี้จะเข้าใจว่า ชีวิตที่ไร้การศึกษามันแย่แค่ไหน คุณไม่มีทางต่อต้านอิทธิพลด้านลบและอันตราย ที่กำลังเข้ามาในชีวิตหรือทุกสิ่งที่คุณกำลังจะทำ”
Photo : www.bizjournals.com
จูเนียร์ บริดจ์แมน ไม่ใช่นักบาสเกตบอลชื่อดัง ชื่อและตัวตนของเขาอาจหายไปจากโลกใบนี้ ขณะที่ผู้เล่นระดับซูเปอร์สตาร์หลายคนพากันถังแตก ทั้งที่เลิกเล่นไม่ถึง 10 ปี ผู้เล่นสำรองอดทนอย่างบริดจ์แมน กลับเป็นเจ้าของธุรกิจมูลค่าหลายร้อนล้าน จากความรู้การศึกษาที่ติดตัวตั้งแต่เด็ก
บริดจ์แมนเลือกสิ่งที่ดีให้แก่ตัวเอง และแบ่งปันสิ่งดีเหล่านั้นแก่คนรอบข้าง ผลสุดท้ายสิ่งดีเหล่านั้นไม่ได้หายไปไหน นอกจากวกกลับมาหาตัวของบริดจ์แมน จนทำให้เขากลายเป็นมหาเศรษฐี คว้าแชมป์ในโลกแห่งความเป็นจริงได้สำเร็จ