Cool Runnings : ฮาปนซึ้ง.. เมื่อครั้งหนึ่ง "จาไมก้า" เข้าแข่งขันรถเลื่อนน้ำแข็งในโอลิมปิก

Cool Runnings : ฮาปนซึ้ง.. เมื่อครั้งหนึ่ง "จาไมก้า" เข้าแข่งขันรถเลื่อนน้ำแข็งในโอลิมปิก

Cool Runnings : ฮาปนซึ้ง.. เมื่อครั้งหนึ่ง "จาไมก้า" เข้าแข่งขันรถเลื่อนน้ำแข็งในโอลิมปิก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Cool Runnings คือภาพยนตร์จากค่าย Disney ที่เข้าฉายในปี 1993 ผลงานการกำกับของ จอห์น เทอร์เทิลท็อบ ที่ในปัจจุบันได้กลายเป็นหนึ่งในผู้กำกับหนังทำเงินประจำวงการไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ผลงาน National Treasure หรือล่าสุดกับหนังฉลามยักษ์อย่าง The Meg เช่นเดียวกับใน Cool Runnings ที่ถึงแม้คำวิจารณ์จะอยู่ในระดับกลาง ๆ แต่ในเรื่องรายได้ถือเป็นหนึ่งในหนังที่ประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม โดยกวาดไปถึง 153 ล้านเหรียญสหรัฐ จากทุนสร้างเพียงแค่ 17 ล้านเหรียญสหรัฐ

Cool Runnings ว่าด้วยเรื่องราวของประเทศจาไมก้า ประเทศเขตร้อนในแถบทะเลแคริบเบียนที่ไม่เคยมีหิมะตกในประวัติศาสตร์ แต่อยู่ๆ พวกเขากลับเข้าร่วมการแข่งกีฬาที่มีชื่อว่า “บ็อบสเลด” หรือรถเลื่อนน้ำแข็งในโอลิมปิกฤดูหนาวปี 1988 สิ่งที่ตามมาจึงเป็นเรื่องราวชวนเรียกเสียงหัวเราะ รวมถึงซึ้งจนเรียกน้ำตา

ถึงแม้จะเป็นภาพยนตร์ที่สร้างมาจากเค้าโครงเรื่องจริง แต่ก็ต้องมีการดัดแปลงบทหรือเหตุการณ์ต่างๆ พอสมควรเพื่อความเหมาะสม ครั้งนี้เราจึงจะนำเรื่องจริงที่ซ่อนอยู่ในแผ่นฟิล์มมาเรียบเรียงให้ได้อ่านกัน รับประกันว่าทั้งฮาทั้งซึ้ง ไม่แพ้ในภาพยนตร์เลย ติดตามได้ที่ Main Stand

บ็อบสเลด คืออะไร เฮลิคอปเตอร์หรือเปล่า?

ถึงแม้เรื่องราวในภาพยนตร์จะเริ่มต้นตามขนบฮอลลีวูด ไม่ว่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่เกิดจากสายสัมพันธ์ในครอบครัว การสร้างทีมด้วยน้ำพักน้ำแรง เรียนรู้ทุกอย่างแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นต้องยอมรับว่าทุนนิยมคือสิ่งสำคัญ เรื่องราวชวนฝันจึงยากที่จะเกิดขึ้น

 1

จอร์จ ฟิทช์ (George Fitch) และวิลเลียม มาโลนี (William Maloney) สองนักธุรกิจชาวอเมริกันผู้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศจาไมก้าคือผู้ริเริ่มเรื่องราวทั้งหมด โดยในช่วงปี 1986 พวกเขามีความคิดว่าริเริ่มว่าอยากสร้างทีมบ็อบสเลดของจาไมก้าขึ้นมา โดยในตอนนั้นประเทศจาไมก้า ยังไม่มีการจัดตั้งทีมกีฬาชนิดนี้ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ ไม่สิ...ต้องบอกว่าพวกเขานั้นแทบไม่รู้จักกีฬาชนิดนี้เลยด้วยซ้ำ

“ผมได้แรงบันดาลใจในการสร้างทีมบ็อบสเลดจาไมก้าขึ้นมาก็เพราะการแข่งขัน Pushcart Derby (กีฬาท้องถิ่นของประเทศจาไมก้า แข่งขันโดยใช้รถเลื่อนสี่ล้อขนาดเล็กไถลลงจากเขา)”

“บวกกับความคิดดั้งเดิมของผมที่คิดอยู่เสมอว่าจาไมก้าคือดินแดนที่มีนักกีฬาชั้นยอดซ่อนอยู่มากมาย พันธุกรรมของพวกเขาถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเล่นกีฬา และไม่ใช่แค่กีฬาวิ่งเท่านั้น แต่มันสามารถประยุกต์ได้กับทุกกีฬา”  ฟิทช์ เผยกับ ESPN

เมื่อคิดได้เช่นนี้ แผนขั้นต่อไปของ ฟิทช์ และ มาโลนี คือการเฟ้นหานักกีฬาเข้าสู่ทีม ซึ่งแน่นอนว่าเป้าหมายของพวกเขาคือการชักชวนนักกีฬาขาประจำที่ติดทีมชาติไปลุยศึกโอลิมปิกฤดูร้อนเป็นประจำอยู่แล้ว โดยเป็นประเภทกีฬาที่เกี่ยวข้องหรือมีรูปแบบคล้ายบ็อบสเลด

“ผมชวนนักกีฬาไปเยอะมาก แต่ส่วนใหญ่พวกเขาไม่เข้าใจว่าพวกเราทำอะไร เลยมักจะโดนตอบกลับมาว่า ‘ไร้สาระ’ ไม่ก็ ‘อันตรายเกินไป” ฟิทช์ กล่าว 

เมื่อความพยายามแรกไม่สำเร็จ สองนักธุรกิจอเมริกันจึงอาศัยความช่วยเหลือจาก เคน บาร์น (Ken Barnes) เพื่อนสนิทที่เป็นนายทหารระดับสูงของจาไมก้า เพื่อให้เขาคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมในกองทัพมาให้

เดวอน แฮริส (Devon Harris), ดัดลี่ย์ สโตก (Dudley Stokes), ไมเคิล ไวท์ (Michael White) เฟรดดี้ ‘เร็กเก้’ โพเวล (Freddie 'Reggae' Powell), แคสเวล อัลเลน (Casewell Allen)  และ ซามูเอล เคลย์ตัน (Samuel Clayton) นี่คือรายชื่อของผู้ที่ผ่านการคัดเลือก โดยแต่ละคนถึงแม้จะไม่ใช่นักกีฬาอาชีพ แต่ก็มีความสามารถที่โดดเด่น

 2

“ในตอนที่รู้ว่าต้องช่วยคัดเลือกคนเข้าทีมบ็อบสเลด สิ่งแรกที่ผมทำคือเลือกจากผู้ที่วิ่งได้เร็วที่สุดในกองทัพ เนื่องจากกีฬาบ็อบสเลด คือ การผลักวัตถุน้ำหนัก 600 ปอนด์ไปข้างหน้า ก่อนที่จะกระโดดเข้าไปนั่ง ดังนั้นความเร็วจึงสำคัญ”

“อย่างเช่น แฮริส เขาคือแชมป์นักวิ่ง 800 เมตรของกองทัพ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ผ่านการคัดเลือกไปแข่งโอลิมปิกฤดูร้อนก็ตาม” เคน บาร์น เล่าผ่าน Yahoo News

ในขณะที่หกสหายที่ได้รับการคัดเลือกมานั้น ในตอนแรกก็ไม่ได้มีความมุ่งมั่นที่สวยหรูเหมือนในภาพยนตร์ พวกเขาคิดว่าเป็นเพียงการทำหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น 

“ผมมีความฝันว่าอยากจะเข้าแข่งโอลิมปิกฤดูร้อน แต่ผมแทบไม่รู้เลยว่าโอลิมปิกฤดูหนาวคืออะไร ในตอนแรกผมจึงรู้สึกว่านี่มันคือเรื่องไร้สาระ ผมไม่รู้จักบ็อบสเลดด้วยซ้ำ ตอนที่ได้ยินครั้งแรก ผมคิดว่ามันคือชื่อเฮลิคอปเตอร์ด้วยซ้ำ”

“แต่หลังจากที่ได้ฟังเรื่องราวของโอลิมปิกฤดูหนาว และทำความเข้าใจกีฬาบ็อบสเลดมากขึ้น ความคิดพวกเราก็เปลี่ยนไป ผมรู้สึกได้ทันทีว่ามันคือโอกาสที่มหัศจรรย์” แฮริส กล่าวกับ ESPN

ไม่ได้มาเล่นๆ 

ถึงแม้ในภาพยนตร์ Cool Running เหล่าตัวเอกจะต้องเลหลังขายทรัพย์สินเพื่อระดมทุนมาใช้ในการฝึกซ้อมและการแข่งขัน แต่ในเรื่องจริงพวกเขาไม่ต้องลำบากขนาดนั้น เพราะมีนายทุนสำคัญอย่าง จอร์จ ฟิทช์ และวิลเลียม มาโลนี อยู่ โดยสองนักธุรกิจจากอเมริกันออกทุนส่วนตัวกว่า 92,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.8 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนสำหรับค่าใช้จ่ายทั้งหมด

 3

เมื่อเป็นเช่นนี้แน่นอนว่าภาพของการฝึกซ้อมย่อมแตกต่างจากในภาพยนตร์ พวกเขาไม่จำเป็นต้องนั่งซ้อมในอ่างอาบน้ำหรือในฟาร์ม แต่ทีมบ็อบสเลดได้รับความอนุเคราะห์จากกองทัพจาไมก้าในการใช้สนามฟุตบอลภายในค่ายเป็นสถานที่ฝึกซ้อม

“พวกเราฝึกซ้อมกันทุกวัน วันละ 3-4 ชั่วโมง ภายในรั้วของกองทัพนี่แหละ” ดัดลี่ย์ สโตก เล่าผ่านสื่อ Business Insider

หลังจากฝึกซ้อมกันได้ประมาณ 6 เดือน ก็จำเป็นต้องเพิ่มความสมจริงให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาพวกเขาซ้อมกันบนสนามหญ้า แต่การแข่งขันจริงในโอลิมปิกนั้น วัดความเร็วกันบนลานน้ำแข็ง ทำให้พวกเขาต้องย้ายถิ่นฐานกันไปฝึกที่ประเทศออสเตรีย ในทวีปยุโรป และเมื่อโอลิมปิกใกล้จะมาถึงทีมบ็อบสเลดก็ได้ไปที่เมือง คาลการี ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 1988 ล่วงหน้าประมาณ 4 สัปดาห์ เพื่อฝึกซ้อมในสนามจริง พร้อมกับปรับสภาพร่างกายให้คุ้นเคย

“ในหนังนำเสนอออกมาว่านักกีฬาจากจาไมก้านั้นปรับตัวเข้ากับอากาศหนาวไม่ได้ แต่ความจริงแล้วเปล่าเลย พวกเราเป็นทหารที่เคยไปประจำการในประเทศที่หนาวเย็นมาก่อน ดังนั้นเรื่องอุณหภูมิอากาศจึงไม่ใช่ปัญหา” แฮริส กล่าว 

 4

ระหว่างการฝึกซ้อม ฟิทช์ เล่าว่าพวกเขามุ่งมั่นและจริงจัง ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีเรื่องตลกชวนหัวเราะแบบที่ภาพยนตร์นำเสนอเท่าไรนัก ยกเว้นครั้งหนึ่งในขณะที่พวกเขากำลังฝึกซ้อมวิ่งบนลานน้ำแข็งอยู่ในประเทศแคนาดา

“ตอนนั้นเริ่มมืดแล้ว ผมสั่งให้พวกเขาวิ่งบนน้ำแข็ง 50 เมตรไปกลับ แต่ในตอนที่พวกเขาวิ่งกลับมาผมกลับไม่เห็นตัวของ เฟรดดี้ หาเท่าไรก็หาไม่เจอ จนตอนนั้นผมคิดว่าเขาอาจจะกลัวการแข่งขันจนหนีกลับบ้านไปแล้วก็ได้”

“แต่สุดท้ายเขาก็กลับมา พร้อมบอกว่า ‘ผมเข้าใจผิดน่ะ ผมคิดว่าคุณให้วิ่ง 500 เมตร’” 

สุดท้ายการฝึกซ้อมก็ผ่านพ้นไปด้วยดี และแล้วการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวปี 1988 ณ เมืองคาลการี ประเทศแคนาดา ก็ได้เริ่มต้นขึ้น

ความฝันที่วิ่งไปบนราง

“ในหนังทำให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างมหาศาล พวกเขานำเสนอว่าพวกเราโดนทีมบ็อบสเลดทีมอื่นๆ เหยียดเชื้อชาติ รวมถึงการสบประมาท แต่ความเป็นจริงแล้วเปล่าเลย พวกเขาต้อนรับพวกเราอย่างอบอุ่นเลยล่ะ” 

 5

“อีกหนึ่งสิ่งที่หนังนำเสนอแบบผิดๆ คือความเป็นมายาคติของชาวจาไมก้า ว่าพวกเราจะต้องเร็กเก้ตลอดเวลา ในทีมเรามีเพียง เฟรดดี้ ‘เร็กเก้’ โพเวล ที่เป็นชาวเร็กเก้ ที่ในช่วงพักการแข่งขันเขามักจะนำเทปเพลงเร็กเก้ที่ทำเองให้นักกีฬาชาติอื่นๆ ฟังเสมอ  แต่อย่างน้อยก็ยังดีที่ไม่ยัดเยียดให้พวกเราสูบกัญชา เพราะพวกเราไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดเลย” แฮริส เล่าย้อนความหลังวันวาน

แน่นอนว่าด้วยความเป็นหน้าใหม่ บ็อบสเลดจากจาไมก้าจึงจำเป็นต้องเริ่มการแข่งขันตั้งแต่รอบคัดเลือกรอบแรก ซึ่งพวกเขาก็ทำให้โลกได้เห็นว่านี่ไม่ใช่ทีมตัวตลกที่มาสร้างสีสัน แต่พวกเขามีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริง ผลลัพธ์ที่ได้คือการผ่านเข้าสู่รอบคัดเลือกรอบที่ 3 อย่างไรก็ตามก่อนที่การแข่งขันรอบคัดเลือกรอบที่ 3 จะเริ่มต้นขึ้น อุปสรรคชิ้นโตก็มาขวางทางเสียก่อน เมื่อแคสแวล อัลเลน ได้รับบาดเจ็บที่บริเวณข้อมือ และทีมบ็อบสเลดจาไมก้าก็ไม่มีตัวสำรองที่จะสับเปลี่ยน

ดังนั้นเผือกร้อนชิ้นโตจึงตกมาอยู่ที่ เจมส์ สโตก น้องชายแท้ๆ ของ ดัดลี่ย์ สโตก ที่ติดสอยห้อยตามไปให้กำลังใจพี่ชายของตัวเอง

“เฮ้ เจมส์! นายเป็นนักวิ่งของมหาวิทยาลัยใช่มั้ย นายต้องช่วยพวกเราหน่อยแล้วล่ะ” แฮริส บอกกับเจมส์ทันทีที่รู้ข่าวร้าย 

หลังจากนั้นในช่วงระยะเวลา 3 วันก่อนที่รอบคัดเลือกรอบที่ 3 จะเริ่มต้นขึ้น ทีมบ็อบสเลดจาไมก้าจึงทุ่มทุกอย่างที่มีเพื่อฝึกเจมส์ให้เชี่ยวชาญกีฬาชนิดนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งแน่นอนว่าการทำเรื่องขอใช้นักกีฬาตัวแทนในกรณีฉุกเฉินนี้ได้รับการยินยอมจากคณะกรรมการโอลิมปิกฤดูหนาว

เวลา 3 วันผ่านไปอย่างรวดเร็ว ในที่สุดการแข่งขันรอบคัดเลือกก็มาถึงท่ามกลางอุณหภูมิที่ลดต่ำเลยจุดเยือกแข็งไปไกล นักกีฬาบ็อบสเลดจาไมก้าก้าวเข้าสู่สนามด้วยจิตใจสงบนิ่ง ถึงแม้ว่าสภาพทีมจะไม่สมบูรณ์พร้อม

 6

เมื่อสัญญาณออกตัวดังขึ้น ทีมบ็อบสเลดจาไมก้าก็พุ่งไปข้างหน้าด้วยความรวดเร็ว นี่คือจุดเด่นในการช่วงชิงความได้เปรียบของพวกเขา เพราะถึงแม้ทักษะการควบคุมสเลดจะยังห่างไกลจากระดับมืออาชีพ แต่สิ่งที่พวกเขาเหนือกว่าคือความเร็วของฝีเท้า ดังนั้นในช่วงออกตัวที่วัดกันด้วยฝีเท้า ก่อนที่จะต้องกระโดดเข้าไปนั่งในสเลด พวกเขาจึงมักจะทำได้ดีเป็นพิเศษ

สเลดที่บรรทุกนักกีฬาล่าฝันจากแผ่นดินแห่งเพลงเร็กเก้ฉวัดเฉวียนไปตามลานน้ำแข็งด้วยความเร็วมากกว่า 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ความฝันในการเข้าสู่การแข่งขันรอบสุดท้ายก็ไม่ไกลเกินเอื้อม อย่างไรก็ตามนี่คือชีวิตจริง ไม่ใช่เทพนิยาย หรือบทละครที่ฮอลลีวูดเขียนขึ้น ดังนั้นตอนจบของมันจึงไม่สวยงามนัก

ก่อนที่จะเข้าเส้นชัยไม่ไกล อยู่ๆ สเลดทีมชาติจาไมก้าก็ไม่สามารถควบคุมได้ จนทำให้กระแทกเข้ากับโค้งที่ 8 ของสนามอย่างจัง

“ในตอนนั้นใจผมหล่นตุ๊บเลย ผมถึงขั้นว่าจะมีผู้เสียชีวิตเลย เนื่องจากความเร็วในตอนนั้นมันเร็วมากๆ ผมคิดว่าคงไม่มีหน้าไปบอกกับครอบครัวของพวกเขาแน่ๆ ว่าเป็นคนพาพวกเขามาตาย” ฟิทช์ กล่าว

แต่สุดท้ายเรื่องราวก็ไม่เลวร้ายถึงขั้นนั้น เมื่อเสียงของผู้ชมที่แสดงความหวาดกลัวเริ่มซาลง นักกีฬาบ็อบสเลดทีมชาติจาไมก้าก็ค่อยๆ ประคองร่างกายตัวเองขึ้นมา และพยายามเข็นสเลดที่พังไปแล้วเข้าเส้นชัย ก่อนที่จะมีเจ้าหน้าที่จัดการแข่งขันเข้ามาช่วยอีกแรง

“ในตอนนั้นผมรู้สึกอับอาย เพราะผมคือตัวแทนของประเทศชาติ ดังนั้นสิ่งเดียวที่พอจะทำได้ คือ การพาสเลดของเราเข้าเส้นชัยให้ได้”

“ระหว่างที่พวกเรากำลังเข็นกันอยู่ๆ กองเชียร์ข้างสนามก็ยื่นมือมาจับมือให้กำลังใจพวกเรา ก่อนจะตามด้วยการส่งเสียงให้กำลังใจและการปรบมือ มันช่วยให้ผมรู้สึกแย่น้อยลงนิดหน่อย แค่นิดหน่อยเท่านั้น”

 7

ภาพการช่วยเข็นสเลดเพื่อเข้าเส้นชัยของนักกีฬาทีมชาติจาไมก้ากลายเป็นอีกหนึ่งภาพคลาสสิคของโอลิมปิกฤดูหนาว เพราะนี่คือภาพถ่ายที่เต็มไปด้วยเรื่องราวการคว้าความฝันสุดมหัศจรรย์ ที่ถึงแม้ว่าสุดท้ายจะไปไม่ถึงเป้าหมาย แต่การสู้สุดใจของพวกเขาก็ได้ใจชาวโลกไปเต็มๆ 

โอลิมปิกฤดูหนาวปี 1988 จบลง ทีมบ็อบสเลดจาไมก้าเดินทางกลับบ้านด้วยผลงานอันดับที่ 30 จากทั้งหมด 51 ประเทศที่เข้าร่วม ถึงแม้อาจจะฟังดูล้มเหลว แต่สิ่งที่บรรดานักกีฬารวมถึงทีมงานทุกคนได้รับนั้นมีล้ำค่าเสียจนไม่อาจประเมินได้

“ช่วงที่ผมรู้สึกดีที่สุดในโอลิมปิกคือตอนถือธงชาติยืนเข้าแถวในพิธีเปิด ผมเคยเห็นภาพแบบนี้ในทีวี แต่ตอนนี้ตัวผมได้มายืนอยู่ที่นี่จริงๆ มันเหมือนความฝันที่เป็นจริง ผมรู้สึกภูมิใจมากๆ และตอนที่ผมรู้สึกแย่ที่สุดไม่ใช่ตอนที่สเลดของเราชน แต่เป็นตอนที่มายืนเข้าแถวในพิธีปิด เพราะผมรู้สึกเหมือนว่าโลกยูโทเปียนี้กำลังจะจบลงแล้ว ผมเป็นเด็กจากสลัม ดังนั้นการได้ออกสู่โลกกว้าง มันจึงเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ” 

“หลังจากวันนี้ผมคงต้องถอดยูนิฟอร์มนักกีฬาออก และกลับไปใส่ยูนิฟอร์มทหารเหมือนเดิม” แฮริส ย้อนเล่าความรู้สึก

หลังจากวันนั้น

ถึงแม้จะไปไม่ถึงฝั่งฝัน แต่อย่างน้อยเรื่องราวของทีมบ็อบสเลดจาไมก้าในโอลิมปิกฤดูหนาวปี 1988 ก็ได้จุดประกายให้มีการต่อยอดอีกมากมาย อย่างน้อยหลังจากนั้นในประเทศจาไมก้าก็ได้มีสมาคมกีฬาบ็อบสเลดเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ และก็ได้พาทีมเข้าร่วมโอลิมปิกในครั้งต่อๆ มา (ในปี 1992, 1996 ก่อนที่จะเกิดปัญหาภายในและห่างหายจากโอลิมปิกไปพักใหญ่ ก่อนที่จะกลับมาเข้าร่วมแข่งขันอีกครั้งในปี 2014) โดยเฉพาะในปี 1992 ที่ไปได้ไกลถึงอันดับที่ 13 เหนือยอดทีมชั้นนำมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา อิตาลี และออสเตรีย 

 8

นอกจากนั้นยังทำให้วัฒนธรรมการเล่นบ็อบสเลดในประเทศแถบแคริบเบียนและในหมู่เกาะใกล้เคียงเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น

“ทั้งตรินิแดด, เปอร์โตริโก, หมู่เกาะเวอร์จิน, เม็กซิโก, อเมริกันซามัว และล้วนแต่สร้างทีมบ็อบสเลดของตัวเองขึ้นมา และมีการแข่งขันเพื่อชิงถ้วยอย่างจริงจังในชื่อ Caribbean Cup” ฟิทช์ พูดถึงการผลิดอกออกผลของสิ่งที่เขาเป็นคนริเริ่ม โดยถึงแม้ปัจจุบันเขาจะดำรงตำแหน่ง นายกเทศมนตรีเมืองวอร์เรนตัน รัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เขาก็ยังคงให้ความสนับสนุนทีมบ็อบสเลดของจาไมก้าเรื่อยมา

ในขณะที่ เดวอน แฮริส กัปตันทีมบ็อบสเลดจาไมก้าในครั้งนั้นปัจจุบันเขาก็ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมาคมบ็อบสเลดจาไมก้า อีกทั้งเขายังได้จัดตั้งมูลนิธิ Keep On Pushing จุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ในพื้นที่ยากจนของจาไมก้าให้มีโอกาสได้ทำตามความฝัน

“ถึงแม้จะมีส่วนที่ไม่จริงอยู่เยอะ แต่ Cool Runnings ก็เป็นภาพยนตร์ที่สนุกดีนะ ผมรักภาพยนตร์เรื่องนั้น มันได้กลายเป็นตัวแทนการวิ่งตามความฝันของเด็กๆ จาไมก้าไปแล้ว”

“ในฐานะที่ผมมีส่วนร่วมในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ผมได้สร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขา ผมรู้สึกว่าผมต้องรับผิดชอบกับมัน ผมจึงจัดตั้งมูลนิธิ Keep On Pushing อย่างน้อยก็เพื่อส่งมอบโอกาสดีๆ ให้กับคนอื่น” แฮริส กล่าวทิ้งท้ายกับ ESPN

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ Cool Runnings : ฮาปนซึ้ง.. เมื่อครั้งหนึ่ง "จาไมก้า" เข้าแข่งขันรถเลื่อนน้ำแข็งในโอลิมปิก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook