จากพี่ตูนถึงโตโน่ : วิเคราะห์ปรากฏการณ์คนดังกับการออกกำลังกายเพื่อสังคม

จากพี่ตูนถึงโตโน่ : วิเคราะห์ปรากฏการณ์คนดังกับการออกกำลังกายเพื่อสังคม

จากพี่ตูนถึงโตโน่ : วิเคราะห์ปรากฏการณ์คนดังกับการออกกำลังกายเพื่อสังคม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สังคมบ้านเราเคยตื่นตัวกันสุดๆ จากโครงการก้าวคนละก้าว ที่เริ่มโดย ตูน-อาทิวราห์ ซึ่งมียอดบริจาคสูงกว่า 1,300 ล้านบาท

ในปีนี้ มีอีกหนึ่งคนดังจากวงการบันเทิงอย่าง “โตโน่” ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ นักร้อง-นักแสดง ที่ผุดแคมเปญ “ONE MAN AND THE SEA / หนึ่งคนว่าย…หลายคนช่วย” เพื่อหาเงินซื้ออุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ มอบแก่โรงพยาบาลริมชายฝั่ง ในการช่วยเหลือสัตว์ทะเล

แม้โครงการของโตโน่ จะต้องมีการพักเบรก หลังจากว่ายน้ำผ่าน 9 เกาะ เป็นระยะทาง 27 กิโลเมตร ในระหว่างวันที่ 19-24 มีนาคม เนื่องจากรัฐบาลได้ออกประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทย

 

แต่ก็ถือว่านี่เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ได้รับความสนใจจากผู้คนในสังคม ผ่านการออกกำลังกาย อย่างการวิ่ง และว่ายน้ำ เพื่อช่วยเหลือสังคม โดยบุคคลที่มีชื่อเสียง 

ปัจจัยอะไรที่ทำให้โครงการของ ตูน และ โตโน่ รวมถึงคนที่มีชื่อเสียงคนอื่นๆ ถึงสามารถระดมเงินบริจาคจากผู้คนได้เป็นจำนวนมาก จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม ที่ผู้คน ได้หันมาตระหนักถึงปัญหาด้านการแพทย์และสิ่งแวดล้อม

อิทธิพลของความมีชื่อเสียง 

ต้องยอมรับว่า ความมีชื่อเสียงของบุคคลทั้งสองท่าน คือสิ่งที่ชักนำและสร้างแรงดึงดูดให้ผู้คนในสังคมวงกว้าง หันมาสนใจในโครงการของพวกเขา

 1

เพราะในประเทศไทย มีหลายๆ มูลนิธิ และองค์กรไม่แสวงผลกำไร ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือสังคม และทำกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ แต่บางครั้งโครงการเหล่านั้น ไม่สามารถเข้าถึงคนจำนวนมากได้ เนื่องด้วยข้อจำกัดต่างๆ 

ในวันแรกๆ ที่ ตูน - อาทิวราห์ คงมาลัย ประกาศว่า จะทำภารกิจ วิ่งจากกรุงเทพ ไปยังอำเภอบางสะพานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้วยระยะทาง 400 กิโลเมตร เพื่อระดมทุนจากคนไทย นำไปจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์มอบให้โรงพยาบาลบางสะพาน, โรงพยาบาลบางสะพานน้อย และมอบเงินส่วนหนึ่งให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อ.บางสะพาน เพื่อใช้ดูแลรักษาผู้ป่วยติดเตียง 

ผู้คนในสังคมก็ต่างให้ความสนใจ และตื่นตัวกับสิ่งที่ฟรอนท์แมนจากวงดนตรี “บอดี้สแลม” กำลังทำ จนต่อมาเกิดเป็นกระแสสังคม ในการส่งต่อข้อมูลของโครงการ และเมื่อถึงวันที่โครงการนี้ดำเนินไป มวลชนในพื้นที่ ต่างออกมายืนรอสองข้างทางในระยะทางที่ “ตูน อาทิวราห์” วิ่งผ่าน 

ขณะที่ผู้ติดตามผ่านทาง Facebook Live ของโครงการก้าว ก็ช่วยกัน SMS บริจาค และร่วมลุ้นให้ “พี่ตูน” (คำที่คนทั่วไปเรียก) ทำภารกิจนี้ให้สำเร็จจนสุดท้ายโครงการก้าวคนละก้าว ภาคแรก มียอดบริจาคสูงถึง 85 ล้านบาท  

หลังจากโครงการก้าว ของ ตูน บอดี้สแลม ประสบความสำเร็จอย่างมาก มีบุคคลในวงการบันเทิง ที่มีชื่อเสียงคนอื่นๆ ผุดโครงการวิ่งออกมาช่วยเหลือท้องถิ่น 

อาทิ “เชษฐ์ สไมล์บัฟฟาโล” ที่ออกมาวิ่งเพื่อวัดพระบาทน้ำพุ จังหวัดลพบุรี, “จาตุรงค์ โพธาราม” ที่ออกมาวิ่งช่วยโรงพยาบาลโพธาราม จังหวัดราชบุรี, “ก้อง ห้วยไร่” ที่วิ่งเดินปั่น 153 กิโลเมตร รับบริจาคเพื่อโรงพยาบาลในจังหวัดสกลนคร 

สิ่งที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับ ผลจากงานวิจัย “ตัวแบบความไว้วางใจที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมโครงการระดมทุนเพื่อการกุศล” ของ อภิชาติ คณารัตนวงศ์ ที่ระบุว่าอิทธิพลที่มีผลต่อความวางไว้ใจให้คนออกมาบริจาคนั้น ตัวแปรที่ผลสูงสุดคือเรื่อง “ชื่อเสียงของบุคคล” ซึ่งเป็นตัวแปรที่มีค่ามากกว่าความโปร่งใส และ “การสื่อสาร”

 2

ยิ่งเมื่อมองถึงคตินิยมของคนไทยโดยทั่วไป ที่มีต่อบุคคลที่มีชื่อเสียงจากวงการบันเทิง คนดังเหล่านี้มักถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ดี มีหน้ามีตาทางสังคม ไม่ต้องทำงานลำบากมาก 

เมื่อมีใครสักคนอย่าง ตูน-บอดี้สแลม ที่ทุกคนรู้จักเขาดีนะ ในฐานะนักร้องนำวงดนตรีที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ลุกขึ้นมาทำอะไรที่ยาก และท้าทายขีดจำกัดด้านร่างกาย โดยที่เขาไม่ใช่นักกีฬา อย่างการวิ่งจากใต้สุดถึงเหนือ เพื่อนำรายได้ไปซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ 

หรืออย่างในรายของ “โตโน่ ภาคิน” ตัดสินใจที่ว่ายน้ำด้วยระยะทางที่ไกลมากๆ ถึง 82 กิโลเมตร จากอำเภอหล่มสัก จังหวัดสุราษฏร์ธานี ไปยังเกาะสมุย เพื่อช่วยเหลือสัตว์น้ำ ย่อมเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะทั้งคู่ ลงทุนแบกรับความเสี่ยงทางด้านรางกาย และไม่ได้ผลตอบแทนกำไรเป็นตัวเลขเงินกลับมา เหมือนตอนที่แสดงละครหรือร้องเพลง 

สิ่งที่ ตูน อาทิวราห์ และ โตโน่ ภาคิน ลงมือทำแคมเปญเพื่อสังคม จึงเกิดอิมแพกต์ ได้ง่ายกว่าบุคคลธรรมดา ทำกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน อย่างเช่นในเคสของ “ครูณัฐ - ณัฐวัฒน์ โรจน์สุธี” ที่ทำโครงการ “ล้านก้าวล้านใจ” เพื่อโรงพยาบาลทองผาภูมิ แม้จะได้รับยอดบริจาคทะลุเป้ามากกว่า 3 ล้านบาท แต่ก็ต้องลงทุนด้วยการวิ่งรับบริจาคเป็นระยะทางถึง 300 กิโลเมตรเลยทีเดียว

ทุกคนมีส่วนรวม 

“ใจดีมากเลยครับ ใจดีจังเลย ขอบคุณครับ” เสียงของ ตูน บอดี้สแลม ในภาพยนตร์สารคดี “2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว” เล่าผ่านภาพเหตุการณ์จริง ระหว่างที่ อาทิวราห์ กำลังวิ่งผ่านฝูงชนสองข้างทางที่มารอให้กำลังใจ และบริจาคเงิน แม้บางคนจะเตรียมเงินมาเพียงน้อยนิดก็ตาม

 3

ปัจจัยที่รองลงมาจากเรื่องชื่อเสียง ที่ทำให้โครงการของ ตูน อาทิวราห์, เชษฐ์ สไมล์บัฟฟาโล, จาตุรงค์ โพธาราม, ก้อง ห้วยไร่ และ โตโน่ ภาคิน ได้รับการตอบดีจากผู้คนในสังคม นั่นคือการมีเปิดให้ คนทั่วไปได้เกิดความรู้สึกมีส่วนรวมและเป็นส่วนหนึ่ง

อย่างในโครงการ ก้าวคนละก้าว เฟสสอง ของ ตูน อาทิวราห์ มีการเปิดรับบริจาค ทั้งจากผู้คนจากสองข้างทาง, การโอนเข้าบัญชี และการบริจาคผ่าน SMS ภายใต้คอนเซปท์ ขอรับบริจาคจากคนไทยทั่วประเทศไทยคนละ 10 บาท (70 ล้านคน) เพื่อระดมทุนให้ได้ตามเป้าหมาย 700 ล้านบาท นำไปมอบให้แก่โรงพยาบาลศูนย์จำนวน 11 แห่งทั่วประเทศ

อาทิวราห์ เน้นการให้ทุกคนมีส่วนร่วม มากกว่าหวังเงินก้อนใหญ่จากเอกชน หรือผู้มีฐานะร่ำรวย โดยสื่อสารว่า ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการบริจาคนี้ได้ แม้เป็นเงินเพียง 10 บาทจากเด็กน้อยคนหนึ่งที่มายืนรอ ตูน บอดี้สแลม ก็ไม่ปฏิเสธการมีส่วนร่วมในการกิจกรรมเพื่อสังคม หรือมองว่าเงินจำนวนนี้ด้อยค่า 

หลักการเดียวกันนี้ ถูกนำมาใช้กับโครงการ “หนึ่งคนว่าย… หลายคนช่วย” ของโตโน่ ภาคิน ถึงแม้เขาจะไม่สามารถพบเจอกับผู้คนตลอดข้างทางได้เหมือนการวิ่งของ พี่ตูน และศิลปินดาราท่านอื่น เพราะต้องว่ายน้ำในทะเล 

 4

แต่โครงการนี้ เลือกใช้ช่องทางการรับบริจาค SMS ครั้งละ 25 บาท และโอนเข้าบัญชี มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ เพื่อโครงการเทใจ (TRRM FOR TAEJAI) เพื่อเป็นช่องทางให้ทุกคน สามารถมีส่วนร่วมกับโครงการไม่แสวงกำไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีของโครงการ ก้าวคนละก้าว ถือเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในการระดมทุนจากประชาชน ภาครัฐ และเอกชน จนได้ยอดบริจาคหลักพันล้านบาท 

ซึ่งทั้งหมดไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย หากปราศจากการความสัมพันธ์และการมีส่วนรวมกันของ ผู้ทำโครงการ กับผู้คนในสังคม ที่มีส่วนร่วม และปฏิสัมพันธ์ เพื่อสร้างคุณค่าร่วมกัน

การสื่อสารและความโปร่งใส

อย่างไรก็ดี แค่ความมีชื่อเสียงอย่างเดียวของเหล่าคนดัง อาจไม่เพียงพอให้ โครงการในการระดมทุนเพื่อการกุศลและสังคม ได้รับผลตอบรับแทนที่ดีอย่างมาก 

เพราะสิ่งสำคัญที่เชื่อมต่อระหว่าง บุคคลที่มีชื่อเสียง กับผู้คนวงกว้างที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย นั่นคือ การสื่อสารที่ดี

 5

โครงการก้าวคนละก้าว ถูกโปรโมตและประชาสัมพันธ์กันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเฟส 2 ที่วิ่งจากจุดใต้สุดไปยังจุดเหนือ ระยะทางจริง 2,215 กิโลเมตร 

โครงการนั้นถูกประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เป็นระยะๆ ประกอบกับความสำเร็จในโครงการก้าวคนละก้าว เฟสแรก ก็ทำให้ผู้คนเกิดความเชื่อมั่น และติดตามดูความเคลื่อนไหวของอย่างต่อเนื่อง

ก้าวคนละทีม มีทีมงานถ่ายทอดสด มีผู้บรรยาย และเว็บไซต์ Kaokonlakao.com ที่นำเสนอข้อมูล และตัวเลขยอดบริจาคล่าสุดให้บุคคลทั่วไป ได้รับรู้ และเกิดความรู้สึกว่า เงินของพวกเขาจะถูกนำไปใช้ตามเจตนารมณ์ของโครงการ มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ ตรวจสอบได้ 

รวมถึง Instagram ส่วนตัวของทั้ง ตูน อาทิวราห์ และ โตโน่ ภาคิน ก็ล้วนใช้ช่องทางนี้ ในการประชาสัมพันธ์ บอกเล่า สื่อสารกับผู้คนผ่านช่องทางนี้ ระหว่างที่ทำภารกิจเพื่อสังคม  

ในทางกลับกัน หากโครงการจากเหล่าคนดัง ขาดการสื่อสาร และประชาสัมพันธ์ที่ดี ก็จะทำให้ผู้คนเกิดความลังเล หรือเข้าถึงได้ยาก จนอาจส่งผลต่อยอดบริจาคที่น่าจะลดลง เมื่อเทียบกับโครงการที่มีความชัดเจน และการสื่อสารที่ดี 

 6

อีกหนึ่งข้อได้เปรียบของ บุคคลที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะจากวงการบันเทิง ในการลุกขึ้นมากิจกรรมเหล่านี้ คือการที่พวกเขา มีศิลปะในการสื่อสาร และสามารถถ่ายทอดความตั้งใจของตนออกมาเป็นคำพูดได้ดี 

ทำให้ผู้คนโดยทั่วไป สามารถเข้าใจวัตถุประสงค์ ตระหนักรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ไปจนถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้ใครสักคน หันมาการออกกำลังกาย ซึ่งล้วนเป็นผลพลอยได้นอกจากการรับบริจาคเงิน 

ปัจจัยทั้งหมดที่ว่ามา จึงล้วนเป็นส่วนประกอบที่แสดงให้เห็นว่า เหตุใดโครงการเพื่อสังคม จากบุคคลที่มีชื่อเสียง จึงสร้างอิมแพกต์ ไปจนถึงการสร้างรับรู้ ทำให้ผู้คนฉุกคิดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นรอบตัวเราได้เป็นอย่างดี 

 7

แม้วิธีการของพวกเขา อาจไม่สามารถช่วยให้ปัญหาเหล่านี้หมดไปจากสังคมอย่างถาวร แต่อย่างน้อยการที่พวกเขาใช้อิทธิพลของการเป็น บุคคลที่มีชื่อเสียง ในการออกมาทำแคมเปญ ที่ต้องใช้ทั้งพลังกาย พลังใจอย่างมหาศาล เพื่อสื่อสารอะไรบางอย่างถึงผู้คน และสังคม ก็ล้วนเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมในความตั้งใจทั้งสิ้น 

และมันคงจะดีกว่านี้ หากเราเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของพวกเขา ที่ต้องการวิ่ง “เพื่อให้ผู้คนในสังคมได้หันมาดูแลตัวเอง มีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้นไม่ต้องเจ็บป่วย” และว่ายน้ำ “เพื่อให้ผู้คนได้หันมารักษาธรรมชาติ และไม่เป็นผู้ทำร้ายสิ่งแวดล้อม” นอกเหนือจากการบริจาค และปล่อยปัญหาเหล่านั้นไว้ถูกแก้โดยปลายทาง 

“ผมมองว่ามันเป็นเรื่องของวงจร ขยะบนบกพอเวลาเผา กลายเป็น PM2.5 ขยะพอลงไปในน้ำ แตกตัวกลายเป็น ไมโครพลาสติก สัตว์กินเข้าไป เรากินสัตว์ ขยะพวกนั้นกลับมาอยู่ในท้องเรา เราป่วย เราตายกันเร็วขึ้น มีโรคต่างๆ มากขึ้น”

 8

“การว่ายน้ำมันเป็นแค่ตัวเชื่อม ที่จะทำให้ทุกคนหันมาฟังว่า ทะเลสำคัญอย่างไร ระบบนิเวศสำคัญอย่างไร สัตว์ทะเลได้รับผลกระทบมากขนาดไหน คนได้รับผลกระทบมากขนาดไหน จากสิ่งที่พวกเราไม่ช่วยกันอย่างจริงจัง”

“ถ้าเรามัวแต่คิดว่า อะไรคือสิ่งที่ดีสุด อะไรคือสิ่งที่เหมาะสมที่สุด ในระหว่างที่เราคิด ระหว่างที่เราเถียงกัน สัตว์ตายทุกวัน เด็กสูดอากาศเอาพิษเข้าไปทุกวัน ดังนั้นใครพอจะทำอะไรได้ ทำเลยครับ ช่วยกัน” โตโน่ ภาคิน กล่าว 

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ จากพี่ตูนถึงโตโน่ : วิเคราะห์ปรากฏการณ์คนดังกับการออกกำลังกายเพื่อสังคม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook