"รักชาติยิ่งชีพ" : แนวทางการสร้างอุดมการณ์ชาตินิยมผ่านฟุตบอลตุรกี

"รักชาติยิ่งชีพ" : แนวทางการสร้างอุดมการณ์ชาตินิยมผ่านฟุตบอลตุรกี

"รักชาติยิ่งชีพ" : แนวทางการสร้างอุดมการณ์ชาตินิยมผ่านฟุตบอลตุรกี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชาตินิยม (Nationalism) และ ความรักปิตุภูมิ (Patriotism) สองอุดมการณ์หลักที่มีอิทธิพลภายใต้รัฐบาลฝ่ายขวา ด้วยแนวคิดยึดถือผลประโยชน์ของประเทศ และส่งเสริมให้ประชาชนรักชาติยิ่งชีพ ผ่านทุกการกระทำที่ยึดถือรัฐชาติเป็นที่ตั้ง

อุดมการณ์ทั้งสอง แทรกซึมเข้าไปในทุกสิ่งรอบตัว ไม่เว้นแม้แต่กีฬา การต่อสู้จำลองภายใต้กฎกติกาและความมีน้ำใจ ที่ถูกแนวคิดชาตินิยมแทรกซึมเข้ามา เกิดเป็นการอวดเบ่งความภาคภูมิใจในชาติ เหนือความพ่ายแพ้ของคู่แข่งขัน

 

Main Stand จะพาไปทำความรู้จักแนวทางการสร้างอุดมการณ์ชาตินิยมผ่านฟุตบอลตุรกี เพื่อผู้อ่านรับรู้ถึงการทำงานของแนวคิดสำคัญ ที่แทรกซึมเข้ามามีอิทธิพลในระดับที่ทุกคนสัมผัสได้ และกลืนกินเข้าไปโดยไม่รู้ตัว

ประธานาธิบดีแอร์โดอัน

ประเทศตุรกี ดินแดนต้นกำเนิดอารยธรรมแห่งคาบสมุทรอนาโตเลีย ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับตั้งแต่จักรวรรดิไบแซนไทน์ ก่อนเปลี่ยนแปลงเป็นจักรวรรดิออตโตมัน อาณาจักรอิสลามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

 1

ความรุ่งเรืองในอดีตของชนชาติเติร์ก ยุติลงนับแต่ความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 จักรวรรดิอันเกรียงไกรถึงคราวล่มสลาย ชาวเติร์กกระจายไปทั่วยุโรป สาธารณรัฐตุรกี ถือกำเนิดขึ้นมาแทนที่ ท่ามกลางความหวังของประชาชน ว่าจะได้เห็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยในเร็ววัน

โชคร้ายที่เรื่องราวไม่ได้เป็นอย่างหวัง ความวุ่นวายทางการเมืองปะทุในตุรกีขึ้นเป็นระยะ แม้กระทั่งในปัจจุบัน จากความไม่พอใจต่อรัฐบาลผูกขาดของพรรค AKP ภายใต้การนำของประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน (Recep Tayyip Erdoğan)

เส้นทางก้าวสู่อำนาจของแอร์โดอัน เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งตุรกี ในปี 2003 เขาครองตำแหน่งดังกล่าวอยู่ยาวนาน 12 ปี ส่งผลให้แอร์โดอันสามารถกุมอำนาจในการบริหารประเทศเบ็ดเสร็จ ไม่มีใครขัดขวางแนวทางการพัฒนาประเทศตามวิสัยทัศน์ของผู้นำรายนี้ได้

แอร์โดอัน คือผู้นำที่มีแนวคิดชาตินิยม เขาละเลยวิธีการแบบเคมาลิสม์ ที่กล่าวไว้ว่าตุรกีต้องเป็นสาธารณรัฐ และศาสนาต้องถูกแยกขาดจากการเมือง แอร์โดอันนำหลักศาสนาอิสลามกลับมาสู่การบริหารประเทศอีกครั้ง ภายใต้นโยบายต่างประเทศที่มีชื่อว่าออตโตมันใหม่

ตำแหน่งผู้นำประเทศของแอร์โดอัน เริ่มสั่นคลอนในปี 2013 หลังรัฐบาลวางแผนยกเลิกวันประกาศเอกราช และเปลี่ยนให้การทำแท้งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ชาวตุรกีมากกว่า 3 ล้านราย ออกประท้วงในพื้นที่ 90 แห่งทั่วประเทศ รัฐบาลสั่งสลายการชุมนุม จนมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 22 ราย

 2

อำนาจของแอร์โดอันเข้มแข็งขึ้น หลังก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2014 จากการเลือกตั้งที่ขาดอิสระและไม่ยุติธรรม ปี 2016 รัฐบาลประกาศว่าตุรกีคือประเทศมุสลิม และปฏิเสธแนวคิดฆราวาสนิยม (Secularism) อันเป็น 1 ใน 6 พื้นฐานสำคัญของตุรกี นับแต่ก่อตั้งประเทศด้วยระบอบสาธารณรัฐ

ความขัดแย้งครั้งนี้ ก่อให้เกิดการรัฐประหารในปี 2016 รัฐบาลสามารถควบคุมความขัดแย้งครั้งนี้ไว้ได้ แอร์โดอันรู้ตัวว่าอำนาจของเขาไม่มั่นคงอีกต่อไป 

รัฐบาลสั่งกวาดล้างผู้เห็นต่าง หลังรัฐประหารจบสิ้น นักข่าว 120 คนถูกจับเข้าคุก รวมถึงปล่อยให้มีการสังหารนักข่าวชาวซาอุดิอาระเบีย อันถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในทศวรรษที่ผ่านมา

ปี 2018 แอร์โดอันขึ้นสู่จุดสูงสุดของอำนาจ จากคำสั่งยุบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรวบอำนาจบริหารเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี ทำให้แอร์โดอันกลายเป็นประมุขแห่งรัฐและหัวหน้ารัฐบาลแต่เพียงผู้เดียว

ทีมชาติอยู่ในสายเลือด 

เหตุผลสำคัญที่ช่วยให้แอร์โดอันอยู่ในอำนาจยาวนานเกือบ 20 ปี คือ ความเข้าใจในวัฒนธรรมของชนชาติเติร์ก ที่ให้ความสำคัญกับแนวคิดชาตินิยม บวกกับวัฒนธรรมที่ถือตนเป็นนักรบแต่กำเนิด ผลักดันให้แอร์โดอัน หาช่องทางปลุกแนวคิดชาตินิยมของคนในชาติให้กลับคืนมาอีกครั้ง หนึ่งในช่องทางเหล่านั้นคือ ฟุตบอล

 3

"ทีมชาติสำคัญเป็นอันดับแรกเสมอ" แฟนสโมสรเฟเนร์บาห์เชรายหนึ่ง ให้สัมภาษณ์กับสื่อ DW Sports

"ผมยอมตายเพื่อสโมสรของผม แต่สำหรับทีมชาติตุรกี มันคือชาติของคุณ พวกเขาเป็นชนชาติที่ใช้อารมณ์เป็นหลัก เพราะฉะนั้น ทีมชาติต้องมาก่อน"

ความบาดหมางของของแฟนบอลระหว่างสโมสรในตุรกีเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก แต่ความขัดแย้งเหล่านั้น แปรเปลี่ยนเป็นพลังที่แข็งแกร่งทุกครั้งที่ทีมชาติตุรกีลงสนาม ชาวเติร์กทุกคนอาจมีสโมสรในดวงใจที่แตกต่าง แต่พวกเขามีทีมฟุตบอลที่รักมากที่สุดเป็นทีมเดียวกันคือ ทีมชาติตุรกี

Ay Yıldızlar หรือ ทัพไก่งวง มีช่วงเวลาที่รุ่งเรืองในต้นทศวรรษ 2000’s พวกเขาก้าวไปจบตำแหน่งอันดับสามในฟุตบอลโลก 2002 ก่อนเข้าสู่รอบรองชนะเลิศในศึกยูโร 2008 พร้อมกับสร้างนักเตะฝีมือดีมากมายขึ้นมาประดับวงการลูกหนัง ทั้ง ฮาคาน ซูเคอร์, รุสตู เร็คเบอร์ และ ฮามิต อัลตินท็อป

กาลเวลาหมุนเข้าสู่ทศวรรษใหม่ ทีมชาติตุรกีไม่ประสบความสำเร็จอีกต่อไป แฟนบอลที่เหนื่อยหน่ายต่อความผิดหวัง หันหลังให้แก่ฟุตบอลทีมชาติ แล้วไปทุ่มความรักทั้งหมดให้แก่ฟุตบอลระดับสโมสร ส่งผลให้สงครามระหว่าง 3 สโมสรแห่งอิสตันบูล กาลาตาซาราย, เฟเนร์บาห์เช และ เบซิคตัส รุนแรงขึ้นเป็นทวีคูณ

"หากคุณมองผ่าน ดูเหมือนว่าผู้คนในตุรกีเชียร์ฟุตบอลอย่างเอาจริงเอาจัง แต่ถ้าคุณดูอย่างใกล้ชิด ผู้คนไม่ได้สนใจทีมชาติเท่ากับสโมสร พวกเขาไม่สนใจติดตามเกมทั่วไป" Ugur Karakullukcu นักข่าวกีฬาชาวตุรกีให้ความเห็น

"พวกเขาจะติดตามเมื่อทีมชาติทำผลงานดีในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ ยกตัวอย่าง ยูโร 2008 ผู้คนทั่วประเทศบ้าฟุตบอลทีมชาติมากกว่าตอนนี้เยอะมาก"

 4

ศรัทธาที่เหือดหายจากใจแฟนบอลตุรกีอยู่ในสายตาของแอร์โดอันเสมอ เขาคือหนึ่งคนที่รักกีฬาฟุตบอล ถึงขนาดลงฟาดแข้งในลีกกึ่งอาชีพมาแล้ว แอร์โดอันไม่ต่างจากประชาชนคนทั่วไป ที่ต้องการเห็นทีมชาติที่กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งในช่วงเวลาที่ทุกอย่างในประเทศกำลังมืดมน

แอร์โดอันรู้ดีว่า หากเขาสามารถทำให้ผู้คนในประเทศกลับมาสนใจฟุตบอลทีมชาติตุรกีได้ แนวคิดรักชาติอันเป็นพื้นฐานของรัฐบาลชาตินิยม จะกลับมามีบทบาทต่อประชาชนอีกครั้ง 

แอร์โดอันจึงเริ่มดำเนินการคืนความสุขแก่ชาวตุรกี ด้วยการทวงคืนความยิ่งใหญ่สู่ฟุตบอลทีมชาติอีกครั้ง

ในนามของตุรกี

สหพันธ์ฟุตบอลตุรกี เริ่มโครงการทวงคืนความยิ่งใหญ่แก่ฟุตบอลทีมชาติ ด้วยการดึงนักเตะเยาวชนเชื้อสายตุรกีที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วยุโรป กลับมาเล่นให้แก่ดินแดนบ้านเกิดชาวเติร์ก

 5

ฮาคาน ชัลฮาโนกลู และ เซงค์ โทซุน จากเยอรมัน, เมิร์ต มัลดูร์ จากออสเตรีย, เอ็มเร มอร์ จากเดนมาร์ก ทั้งหมดนี้คือนักเตะเกิดจากครอบครัวชาวเติร์กอพยพ ที่กระจัดกระจายไปทั่วยุโรปตั้งแต่หลายสิบปีก่อน 

นักเตะกลุ่มนี้หลายคนประสบความสำเร็จในลีกระดับสูง และคงไม่มีโอกาสหวนคืนดินแดนแห่งชาติกำเนิด หากไม่ถูกหยิบยื่นโอกาสติดทีมชาติตุรกี

แข้งพลัดถิ่นหลายคน อาจไม่อินกับทีมชาติที่ลงเล่น แต่เรื่องดังกล่าวไม่เกิดขึ้นกับทีมชาติตุรกี รัฐบาลตุรกีปลูกฝังนักเตะเหล่านี้ด้วยแนวคิดรักปิตุภูมิ (Patriotism) อันเป็นแนวคิดหลักเคียงคู่กับแนวคิดชาตินิยม ที่ถูกนำมาใช้ปลูกฝังทหารแทบทุกประเทศ

แนวคิดรักปิตุภูมิ ทำงานอย่างดีกับนักเตะตุรกีพลัดถิ่น เนื่องจากความรักปิตุภูมิเป็นแนวคิดทางอารมณ์ที่สร้างความรัก ความภาคภูมิใจ ต่อชาติอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของปัจเจกบุคคล 

เมื่อแนวคิดดังกล่าวแทรกซึมเข้าไปในหัวของนักเตะตุรกีผลัดถิ่น พวกเขาจึงรู้สึกกับรัฐตุรกีเป็นบ้านเกิดเมืองนอนที่มีความรู้สึกผูกพันกันมา แม้นักเตะรายนั้นจะไม่เคยก้าวเท้าเหยียบแดนไก่งวงมาก่อนเลยก็ตาม

 6

ประธานาธิบดีแอร์โดอัน ให้ความสำคัญแก่แนวคิดนี้มาก เขาเดินทางเข้ามาให้กำลังใจนักเตะทีมชาติก่อนลงสนามถึงห้องแต่งตัว ไม่ต่างจากผู้บังคับบัญชาให้กำลังใจทหารก่อนออกรบ 

การปลูกฝังความรักปิตุภูมิใส่นักเตะตุรกี จึงไม่ได้สำเร็จในแง่ของแนวคิดทางการเมือง แต่ยังสอดคล้องกับวัฒนธรรมของชาวเติร์กที่คิดว่าตนเองเป็นนักรบแต่กำเนิด

ความรักที่มีต่อชาติตุรกี หรืออีกนัยหนึ่ง ต่อรัฐบาลชาตินิยมของแอร์โดอัน ถูกแสดงขึ้นอย่างอื้อฉาว ในเกมรอบคัดเลือกยูโร 2020 ทีมชาติตุรกี เอาชนะ ทีมชาติแอลเบเนีย จากประตูชัยของ เซงค์ โทซุน 

ก่อนนักเตะตุรกีพลัดถิ่นรายนี้จะนำทีมฉลองด้วยท่าวันทยาหัตถ์ อันเป็นท่าประจำตัวของแอร์โดอัน ยามพบปะกับประชาชนชาวตุรกี

นักเตะของทัพไก่งวงทำท่าวันทยหัตถ์อีกครั้ง ในเกมเสมอฝรั่งเศส 1-1 โดยผู้ยิงประตูในเกมดังกล่าวคือ คาน อายฮาน นักเตะตุรกีจากเยอรมันเช่นเดียวกับโทซุน อันเป็นเครื่องยืนยันว่า การปลูกฝังแนวคิดรักปิตุภูมิของแอร์โดอัน ประสบความสำเร็จอย่างมากต่อนักเตะพลัดถิ่นเหล่านี้

 7

ยูฟ่าสั่งลงดาบปรับเงินสหพันธ์ฟุตบอลตุรกี 50,000 ยูโร ถือเป็นจำนวนที่คุ้มค่ามากหากเทียบกับเสียงตอบรับที่ได้กลับคืนมา แนวคิดรักปิตุภูมิกระจายตัวออกไปยังนักเตะสายเลือดเติร์ก แม้จะเล่นให้แก่ทีมชาติอื่น อย่าง เอ็มเร ชาน และ อิลคาย กุนโดกาน ที่มือลั่นกดไลค์ภาพวันทยหัตถ์หมู่ของนักเตะตุรกี

นักเตะตุรกีกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลแอร์โดอัน ด้วยภาพของนักรบที่จงรักภักดี และพร้อมเสียสละหยาดเหงื่อเพื่อชาติ แนวคิดชาตินิยมจึงหวนคืนสู่ประชาชน ชาวตุรกียึดถือท่าวันทยหัตถ์ยามทีมชาติตุรกีทำประตูได้ 

ส่งนัยยะสำคัญว่าประตูนี้สร้างความภูมิใจอันยิ่งใหญ่ให้แก่พวกเขา ไม่ใช่ในแง่ของเกมกีฬา แต่ความภูมิใจในการบดขยี้ชาติคู่แข่งในนามของตุรกี

การปลูกฝังแนวคิดชาตินิยมผ่านฟุตบอลในตุรกี คือหนึ่งในเครื่องมือสร้างภาพลักษณ์ หลังรัฐบาลตุรกีเข้าสนับสนุนกองกำลังต่อต้านรัฐบาลในสงครามกลางเมืองซีเรีย ส่งผลให้ถูกประณามจากนานาชาติ จากการก่อสงครามอันส่งผลให้ชาวซีเรีย 300,000 ราย ต้องอพยพจากบ้านเกิดเมืองนอน

 8

แนวคิดชาตินิยมในตุรกี คือ ข้ออ้างที่หลอกล่อให้เห็นว่า รัฐบาลแอร์โดอัน ทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของชาติตุรกีเป็นสำคัญ แม้จะเป็นการเข่นฆ่าเพื่อนร่วมโลก หรือละเมิดสิทธิคนในชาติ แต่หากผลลัพธ์ช่วยให้ความเป็นชาติคงอยู่ไว้เขาก็ตัดสินใจทำ

ภาพของนักฟุตบอลที่เปรียบเสมือนนักรบ จึงเป็นภาพตัวอย่างของการต่อสู้เพื่อชาติ ที่ช่วยให้ชาวตุรกีมองการละเมิดสิทธิหรือก่อสงคราม ในมุมมองที่อ่อนลง เพราะการกระทำในนามของชาติที่ช่วยรักษาศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจของบ้านเกิดเมืองนอน ย่อมเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะถูกต้องหรือไม่ก็ตาม

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ "รักชาติยิ่งชีพ" : แนวทางการสร้างอุดมการณ์ชาตินิยมผ่านฟุตบอลตุรกี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook