ฮีโรนอกสภา : ไขข้อสงสัยทำไมรัฐบาลอังกฤษต้องใช้ทีม F1 ช่วยวิกฤต COVID-19?

ฮีโรนอกสภา : ไขข้อสงสัยทำไมรัฐบาลอังกฤษต้องใช้ทีม F1 ช่วยวิกฤต COVID-19?

ฮีโรนอกสภา : ไขข้อสงสัยทำไมรัฐบาลอังกฤษต้องใช้ทีม F1 ช่วยวิกฤต COVID-19?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"Desperate times, desperate measures" ... ในภาวะคับขัน ไม่ว่าอะไรที่ทำได้ก็ต้องทำ เพื่อให้พ้นวิกฤตินั้นไปได้ คือสิ่งที่เกิดขึ้นในการต่อสู้กับ ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ "COVID-19" ที่กลายเป็นโรคระบาดไปทั่วทุกมุมโลก

มาตรการต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้เพื่อสู้กับไวรัสนั้น เกิดขึ้นได้ภายใต้ความร่วมมือกันของหลายฝ่าย ไม่ว่าจะทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งวงการกีฬาเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทีมต่างๆ ในการแข่งขัน Formula 1 ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในนั้น

ว่าแต่กีฬาที่เร็วที่สุดในโลก มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสู้ต่อโรคที่กำลังเขย่าขวัญทุกคนบนโลกใบนี้ได้อย่างไร? ติดตามได้ที่นี่

 

ของสำคัญที่โลกต้องการ

จากจุดเริ่มต้นที่ประเทศจีนในช่วงปลายปี 2019 ไม่กี่เดือนถัดมา COVID-19 ได้กลายเป็นเชื้อไวรัสที่พัฒนาสู่โรคระบาดจนทั่วโลกต้องหวาดผวาเป็นที่เรียบร้อย

 1

เพราะถึงตอนนี้ (จันทร์ที่ 23 มีนาคม 2020) ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 จากทั่วทุกมุมโลก ได้พุ่งทะยานสู่ 339,181 คน โดยมีผู้เสียชีวิตแล้ว 14,703 คน ขณะที่ผู้ซึ่งฟื้นตัวจากการติดไวรัสนี้แล้ว มีถึง 99,014 คน

แม้โรคจากการติดไวรัส COVID-19 จะสามารถรักษาให้หายได้ แต่เพื่อการนั้น บุคลากร, ยารักษาโรค และอุปกรณ์ช่วยชีวิต คือสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการรักษาชีวิตผู้ป่วยไว้ และช่วยให้อาการดีขึ้นจนหายเป็นปกติ โดยหนึ่งในอุปกรณ์ที่จะขาดเสียมิได้ นั่นคือ เครื่องช่วยหายใจ ที่ใช้สำหรับผู้ป่วยอาการหนักซึ่งไม่สามารถหายใจได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม เครื่องช่วยหายใจ ถือเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีเทคโนโลยีสลับซับซ้อน และมีราคาสูงมาก ระดับหลายพันถึงหลายหมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ หรือหลายแสนถึงหลายล้านบาทต่อ 1 เครื่อง นอกจากนี้ ยังมีบริษัทผู้ผลิตที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ไม่มากนัก 

 2

ด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้น จึงไม่ต้องสงสัยว่า เมื่อ COVID-19 ได้กลายเป็นโรคซึ่งมีการระบาดขนาดใหญ่ หรือ Pandemic ตามคำนิยามขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ความต้องการเครื่องช่วยหายใจจากโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก จะยิ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว อันนำมาซึ่งความขาดแคลนหากจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งแม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหราชอาณาจักร (อังกฤษ, สก็อตแลนด์, เวลส์, ไอร์แลนด์เหนือ) ก็ไม่อาจหนีความจริงเรื่องนี้พ้น

"อันที่จริง อังกฤษ (หนึ่งในดินแดนของสหราชอาณาจักร) มีความพร้อมของอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่ำมากนะครับ" อันเดรียส ไวแลนด์ ซีอีโอของ Hamilton Medical บริษัทผู้ผลิตเครื่องช่วยหายใจรายใหญ่ที่สุดของโลกเปิดเผยกับ Reuters

"และเมื่อไวรัสมาถึงที่นั่นเมื่อไหร่ เชื่อได้เลยว่า พวกเขาจะประสบกับภาวะขาดแคลนอย่างรุนแรงเลยทีเดียว"

รวมพลังกู้วิกฤต

สิ่งที่ ไวแลนด์ พูดนั้นไม่ผิดเลยแม้แต่น้อย เพราะ ณ ปัจจุบัน ทวีปยุโรป ได้กลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จำนวนผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต และผู้ที่อาการอยู่ในภาวะวิกฤติ พุ่งสูงอย่างทวีคูณ

 3

แม้ อิตาลี จะเป็นประเทศในยุโรปที่มีผู้ป่วยมากที่สุด 59,138 คน และเสียชีวิตมากที่สุดในโลก 5,476 คน แต่ สหราชอาณาจักร ก็กำลังประสบปัญหาไม่ต่างกัน โดยตอนนี้ ยอดผู้ป่วยของพวกเขามากถึง 5,683 คน เสียชีวิตแล้ว 281 คน เลยทีเดียว

จากตัวเลขที่นับวันจะยิ่งสูงขึ้น แม้ทาง NHS หรือระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักร จะมีเครื่องช่วยหายใจกระจายอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศถึง 5,000 เครื่อง แต่พวกเขาก็ยอมรับว่า ความต้องการเครื่องช่วยหายใจ กำลังจะพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าในอีกไม่นานจากนี้

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร จึงมีคำสั่ง ขอความร่วมมือจากบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทผู้ประกอบการทางวิศวกรรมทั่วประเทศ ให้เตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนสายพานการผลิต จากสิ่งที่แต่ละบริษัทผลิตอยู่ สู่การผลิตเครื่องช่วยหายใจในทันที โดยมีเป้าหมายในการผลิต 20,000 เครื่องเป็นอย่างน้อย และต้องออกมาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้

ซึ่งสาเหตุที่ต้องระดมพลเช่นนี้ก็เพราะ หลายฝ่ายได้คำนวณแล้วว่า COVID-19 จะกลายเป็นวิกฤตการณ์ที่สร้างความเสียหายให้กับโลกใบนี้อย่างสาหัส และอาจร้ายแรงที่สุด ถัดจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เลยทีเดียว

เพราะความเร็วคือชีวิต

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การสู้กับ COVID-19 ถือเป็นภารกิจด่วนที่สุด ชนิดที่ไม่สามารถรอได้แม้แต่วินาทีเดียว เพราะทุกวินาทีที่ผ่านไป อาจหมายถึงชีวิตของผู้ป่วยที่กำลังจะหมดลมหายใจ หากไม่ได้รับการรักษาทันการณ์

 4

และหนึ่งในกลุ่มแรกๆ ที่ตอบรับคำขอของรัฐบาล ก็คือ เหล่าทีมผู้ผลิต ในการแข่งขัน Formula 1 การแข่งขันกีฬาที่เรียกได้ว่า เร็วที่สุดในโลก

แต่ทำไม พวกเขาถึงตอบรับเพื่อทำภารกิจอันแสนโหดหินนี้ด้วยความเต็มใจกันล่ะ?

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็คือ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อ F1 อย่างรุนแรงเช่นกัน เมื่อพวกเขาต้องประกาศยกเลิกการแข่งขันสนามแรกที่ ออสเตรเลีย ทั้งๆ ที่เหลือเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมง รถทุกทีม นักแข่งทุกคน ก็จะได้ลงสนามจริงแล้ว นอกจากนี้ ยังมีการยกเลิกการแข่งขันที่ โมนาโก รวมถึงเลื่อนการแข่งขันอีกระนาว ทั้งที่ บาห์เรน, เวียดนาม, จีน, เนเธอร์แลนด์, สเปน, อาเซอร์ไบจาน และอาจมีประกาศเลื่อนหรือยกเลิกการแข่งขันสนามอื่นๆ อีกในอนาคตอันใกล้ๆ

ไม่เพียงเท่านั้น บุคลากรของ F1 ยังตกเป็นเหยื่อของ COVID-19 เช่นกัน โดยถึงขณะนี้ มีเจ้าหน้าที่ของทีม แม็คลาเรน 1 คน และของ พิแรลลี่ ผู้ผลิตยางสำหรับการแข่งขันรายการนี้อีก 1 คน ที่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าว และแทบทุกคนที่เกี่ยวข้อง ต้องเข้าสู่ภาวะกักกันตัวเองจากการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นอีกด้วย

สถานการณ์ที่ทีมแข่ง F1 ต้องว่างงาน ไม่มีโปรแกรมแข่งขัน อาจเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวดังกล่าว แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง พวกเขาก็ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่เหมาะสมสำหรับงานนี้ที่สุดเช่นกัน

เรื่องดังกล่าว ทาง F1 ยืนยันด้วยตัวเองว่า แต่ละทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน ล้วนมีนักออกแบบชั้นยอด มีเทคโนโลยีขั้นสูง และมีความสามารถในการผลิตเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังเชี่ยวชาญในการสร้างต้นแบบ รวมถึงการผลิตอุปกรณ์ที่มีมูลค่าสูง ที่สามารถเปลี่ยนจากไอเดียสู่ของจริงได้ในเวลาอันรวดเร็วอีกด้วย

พูดให้เห็นภาพง่ายๆ ทีมแข่ง F1 มีความสามารถในการออกแบบ และผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ของรถแข่งที่มีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคันได้ในเวลาเพียงไม่กี่วัน ด้วยเหตุดังกล่าว การผลิตเครื่องช่วยหายใจ อุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับการช่วยชีวิตผู้ป่วยแบบแข่งกับเวลาจึงไม่ใช่ปัญหา 

 5

ไม่เพียงเท่านั้น การเริ่มต้นของพวกเขายังไม่ได้เริ่มจากศูนย์ เมื่อรัฐบาลสหราชอาณาจักรเองก็ได้มีการกำหนดสเปคของเครื่องช่วยหายใจ และออกเป็นเอกสารเพื่อให้บริษัทต่างๆ นำไปศึกษา ออกแบบ และสร้างแล้วด้วยเช่นกัน

แม้เวลานี้ ยังไม่มีการประกาศอย่างแน่ชัดว่า มีทีมใดบ้างที่ตอบรับภารกิจดังกล่าว แต่ก็มีรายงานออกมาว่า ทีมต่างๆ ซึ่งมีฐานบัญชาการใน สหราชอาณาจักร ต่างพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็น แม็คลาเรน, เร้ด บูล, วิลเลี่ยมส์, เมอร์เซเดส หรือแม้แต่ เฟอร์รารี่ ที่แม้จะมีฐานบัญชาการในประเทศ อิตาลี แต่ก็พร้อมให้ความร่วมมือกับทางรัฐบาลกรุงโรม ในการผลิตเครื่องช่วยหายใจเช่นกัน

ที่สำคัญคือ พวกเขาเชื่อว่า จะมีผลงานต้นแบบออกมาให้ได้เห็นใน "ไม่กี่วันจากนี้" อีกด้วย

 6

ในภาวะคับขัน ไม่ว่าอะไรที่ทำได้ก็ต้องทำ เพื่อให้พ้นวิกฤตินั้นไปได้ ... แม้จะต้องมีการทดสอบ เพื่อให้ผ่านการรับรองจากทางรัฐบาลและสามารถผลิตเพื่อนำไปใช้จริง แต่ด้วยผลงานที่ฝากเอาไว้ในสิ่งที่พวกเขาถนัดที่สุด ก็เชื่อได้ว่า นี่จะกลายเป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นโบว์แดง ที่เราจะได้เห็นเครื่องช่วยหายใจจากทีมงานคุณภาพระดับโลก ที่ถูกส่งออกไปยังโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยอีกมากมาย

เพราะภารกิจที่ต้องแข่งกับเวลา มีชีวิตของผู้ป่วยทั้งประเทศ หรือทั้งโลกเป็นเดิมพัน และทีมแข่ง F1 ถือเป็นหนึ่งในยอดฝีมือระดับหัวกะทิ ที่พร้อมสำหรับภารกิจโหดหินที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก จากสิ่งที่พวกเขารัก และทำมันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอยู่แล้วนั่นเอง

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ ฮีโรนอกสภา : ไขข้อสงสัยทำไมรัฐบาลอังกฤษต้องใช้ทีม F1 ช่วยวิกฤต COVID-19?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook