ลูคัส ราเดเบ : หัวหน้าแก๊งเด็กนรก ลีดส์ ยูไนเต็ด

ลูคัส ราเดเบ : หัวหน้าแก๊งเด็กนรก ลีดส์ ยูไนเต็ด

ลูคัส ราเดเบ : หัวหน้าแก๊งเด็กนรก ลีดส์ ยูไนเต็ด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากพูดถึงทีมชุดรุ่งเรืองของ ลีดส์ ยูไนเต็ด หนึ่งในนั้นต้องเป็นทีมในช่วงต้นทศวรรษ 2000 เมื่อขุนพลชุดนั้นที่เต็มไปด้วยแข้งดาวรุ่ง สามารถสร้างปรากฎการณ์ออกอาละวาดไปทั่วภาคพื้นยุโรป

และท่ามกลางเด็กหนุ่มเหล่านั้น ก็มีแข้งวัย 31 กะรัตคนหนึ่งที่เฉิดฉายไม่แพ้กัน เขาคนนี้เป็นทั้งกัปตัน และหัวใจสำคัญในแนวรับ ที่คอยผลักดันให้ทีมพลังหนุ่มประสบความสำเร็จ 

ชื่อของเขาคือ ลูคัส ราเดเบ กองหลังชาวแอฟริกาใต้ และนี่คือเรื่องราวของ กัปตันผู้เยือกเย็นที่กลายเป็นหัวหน้าแก๊งเด็กเลือดร้อน ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand

อดีตทีมชาติบ็อบฮูทัตสวันนา  

ราเดเบอาจจะเป็นที่รู้จักในฐานะนักเตะระดับตำนานของแอฟริกาใต้ แต่ย้อนกลับไปในวัยเด็ก เขาต้องใช้ชีวิตที่ผ่านความเป็นความตาย และการแบ่งแย่งสีผิวมาโดยตลอด  

เขาเกิดในปี 1969 ที่เมือง Diepkloof ทางตอนใต้ของกรุงโยฮันเนสเบิร์ก ในยุคที่แอฟริกาใต้ ยังแบ่งแยกสีผิว ทำให้เขาต้องเติบโตขึ้นมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความรุนแรง ทุกหย่อมหญ้า และความปลอดภัยเป็นเพียงแค่จินตนาการ


Photo : www.kaizerchiefs.com

"ผมเคยข้องเกี่ยวกับอาชญากรรม แก๊ง และการปล้น เราแน่ใจว่าเมื่อพรุ่งนี้มาถึง เราต้องมีอะไรตกถึงท้อง แต่ชีวิตแบบนั้น ทำให้รู้ว่าผมต้องเติบโต" ราเดเบกล่าวกับ Reuters 

"ที่นี่ไม่มีบุคคลต้นแบบให้เราได้ดู เราไม่มีทีวี หรือได้ชมการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ เราต้องอยู่แบบวันต่อวัน และผู้แข็งแกร่งเท่านั้นที่จะอยู่รอด" 

และก่อนที่ลูกชายของพวกเขาจะต้องจบชีวิตก่อนวัยอันควร ทำให้ตอนราเดเบอายุ 15 ปี พ่อแม่ของเขาตัดสินใจส่งเขาไปเรียนต่อในพื้นที่นอกเมืองที่ชื่อ "บ็อบฮูทัตสวันนา" 

มันคือหนึ่งในรัฐอิสระของคนผิวดำ ที่ถูกกีดกันจากสถานะความเป็นพลเมือง จนต้องแยกออกไปปกครองตัวเอง และมีเพียงแอฟริกาใต้ให้การรับรองในฐานะ "ประเทศ" แน่นอนว่ามันตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ

"ในปี 1987 พ่อแม่ของผมตัดสินใจว่าจะพาผมออกไปจากโซเวโต (ย่านหนึ่งของกรุงโยฮันเนสเบิร์ก) เนื่องจากความรุนแรงของการเหยียดผิว ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง" ราเดเบกล่าวกับ Forbes Africa 

"ผมต้องไปอยู่ที่บ็อบฮูทัตสวันนา ในพื้นที่ชนบทที่เรียกว่า Lehurutse การเป็นเด็กจากเมืองเมืองใหญ่ สิ่งเดียวที่ทำให้ผมอยู่ที่นั่นได้คือฟุตบอล

อย่างไรก็ดี เขากลับทำได้ดีในเกมลูกหนัง ราเดเบ ที่ตอนนั้นเล่นในตำแหน่งผู้รักษาประตู ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม จนได้เข้าไปอยู่ในทีม ไอซีแอล เบิร์ดส ทีมท้องถิ่นใน บ็อบฮูทัตสวันนา ซ็อคเกอร์ลีก รวมไปถึงติดทีมชาติบ็อบฮูทัตสวันนาอีกด้วย 

"ผมเริ่มทำผลงานได้ดีในการแข่งขันเร็วกว่าที่หลายคนคิดไว้ จนได้เล่นใน บ็อบสันลีก รวมถึงทีมชาติบอบฮูทัตวสันนา" 

ก่อนที่มันจะกลายเป็นสะพานไปสู่เส้นทางสายอาชีพ เพราะหลังจากที่เขาติดทีมชาติบอบฮูทัตสวันนา มาเตะกับทีมชาติแอฟริกาใต้ ฝีเท้าของเขาก็ไปเข้าตาแมวมองของ ไกเซอร์ ชีฟส์ ยอดทีมแห่งประเทศอย่างจัง จนได้ย้ายมาร่วมทีมในปี 1989 


Photo : spice4life.co.za

"แม้พ่อแม่ของผมไม่ได้ใส่ใจกับมันมากนัก แต่ผมกำลังจะได้เป็นนักเตะอาชีพหลังเกมนั้น ไกเซอร์ ชีฟส์ ยื่นข้อเสนอให้ผม และผมได้เซ็นสัญญากับพวกเขาในสัปดาห์แรกของการทดสอบฝีเท้า" 

ที่นั่นเขาได้เปลี่ยนมาเล่นตำแหน่งกองกลาง และกลายเป็นหนึ่งในแข้งคนสำคัญของทีม ราเดเบ ลงเล่นให้ทีมไปทั้งสิ้น 113 นัด ทำไป 5 ประตู ตลอด 4 ปี พร้อมช่วยให้ ไกเซอร์ ชีฟส์ คว้าแชมป์ลีก 3 สมัย 

และหลังจากนั้นไม่นาน โอกาสครั้งสำคัญก็มาถึง 

 

นักเตะตัวแถม 

แอฟริกาใต้ ต้องตกอยู่ภายใต้โทษแบนของฟีฟ่าเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี จากปัญหาการแบ่งแยกสีผิว ซึ่งทำให้นักเตะของพวกเขาหมดโอกาสย้ายไปโกยเงินในต่างแดน จนกระทั่งต้นทศวรรษ 1990 โทษดังกล่าวนี้ก็สิ้นสุดลง หลังกฎหมายแบ่งแยกสีผิวถูกยกเลิกไป

และมันก็ทำให้นักเตะจากแอฟริกาใต้ ได้มีโอกาสย้ายเข้ามาเล่นในยุโรปมากมาย รวมไปถึง ราเดเบ ที่ได้ย้ายมาเล่นให้ ลีดส์ ยูไนเต็ด ทีมดังแห่งเกาะอังกฤษในปี 1994 พร้อมกับ ฟิล มาซิงกา กองหน้าเพื่อนร่วมชาติ 


Photo : @90sfootball

"ในตอนนั้น ผมถูกโน้มน้าวว่าโอกาสนี้อาจจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว ผมอายุ 25 ปี ซึ่งถูกมองว่า 'สายเกินไป' ในฟุตบอลระดับโลก และเพื่อนร่วมทีมของผมส่วนใหญ่ ทั้ง ฟิล มาซิงกา, ฌอน บาร์ทเล็ตต์ และคนอื่นๆ ต่างไปเล่นที่นั่น และปรับตัวได้แล้ว" ราเดเบกล่าวกับ Forbes Africa 

แต่นั่นก็ทำให้เขารู้สึก "คิดผิด" ... การย้ายมาเล่นในต่างแดนครั้งในประเทศที่สภาพอากาศพร้อมจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้ ราเดเบ แทบบ้า แถมการถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ จากการเป็นคนผิวดำเพียงไม่กี่คนในเมือง ยังทำให้เขารู้สึกแปลกแยกไปอีก 

"อากาศมันแย่มาก การคิดถึงบ้านมันน่ากลัวและทุกอย่างก็แย่ไปหมด ผมเป็นคนผิวดำไม่กี่คนในเมืองลีดส์ และชุมชนก็ไม่ได้สงวนท่าทีต่อผม เขาทำเหมือนผมเป็นมนุษย์ต่างดาว" ราเดเบย้อนความหลังกับ Forbes Africa

นอกจากนี้ การที่ราเดเบ ไม่ใช่เป้าหมายหลักในการเสริมทัพ เนื่องจากเขาถูกซื้อเข้ามาเพียงเพราะต้องการให้ มาซิงกา มีเพื่อนอยู่ในทีม บวกกับอาการบาดเจ็บ ทำให้เขาได้รับโอกาสเพียงน้อยนิดภายใต้การคุมทีมของ โฮเวิร์ด วิลกินสัน 

4 เดือนแรกในอังกฤษ ราเดเบ ได้รับโอกาสลงสนามตัวจริงไปเพียงแค่เกมเดียว โดยที่เหลือเป็นตัวสำรอง สิ่งนี้บั่นทอนจิตใจเขาอย่างหนัก จนถึงขั้นคิดที่จะหนีกลับไปที่บ้านเกิด 


Photo : www.fourfourtwo.co.za

"ผมไม่ได้เล่นเลย จนผมอยากย้ายออกจากทีม การเบียดขึ้นมาเล่นในทีมชุดใหญ่ ภายใต้การคุมทีมของ โฮเวิร์ด วิลกินสัน เป็นเรื่องยาก ผมแทบไม่มีโอกาสเลย" อดีตกัปตันแอฟริกาใต้กล่าวกับ Reuters 

"ผมได้รับโอกาสอย่างจำกัดจำเขี่ย ผมไม่เคยได้เล่นในเกมใหญ่เลย ผมเริ่มหดหู่ใจและคิดถึงบ้าน ผมและ ฟิล มาซิงกา เคยต้องเก็บเหรียญ 50 เพนนีเพื่อโทรกลับบ้านจากตู้โทรศัพท์หยอดเหรียญ มันเลวร้ายขนาดนั้นเลย" 

"มันเป็นช่วงเดือนธันวาคมปี 1994 สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคืออากาศ มันเลวร้ายมากและผมก็คิดว่า 'กระเป๋าของผมเก็บเรียบร้อยแล้ว ตั๋วก็มีแล้ว ผมก็แค่เดินทางไป' ผมไม่ได้บอกใคร ผมแค่ออกไปเฉยๆ" 

แม้สุดท้ายเขาเปลี่ยนใจ กัดฟันสู้ต่อ แต่ถึงอย่างนั้นสถานการณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้น แถมบางครั้งเขาต้องถูกโยกไปเล่นแบ็คซ้าย ซึ่งไม่ได้เป็นตำแหน่งถนัด โดยตลอด 2 ฤดูกาลแรกในสีเสื้อของลีดส์ เขาได้ลงเล่นไปเพียง 28 นัดเท่านั้น

แต่แล้วการมาถึงของ จอร์จ เกรแฮม ก็เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล  

 

สู่แนวรับสุดแกร่ง 

แม้ว่า วิลกินสัน จะพา ลีดส์ คว้าแชมป์ดิวิชั่น 1 เดิม ในฤดูกาล 1991-92 แต่ผลงานหลังจากนั้นของทีม กับชื่อการแข่งขันใหม่อย่าง พรีเมียร์ลีก ก็ดูจะสาละวันเตี้ยลง เมื่อเขาแทบไม่เคยพาทีมเข้าใกล้คำว่าลุ้นแชมป์อีกเลย โดยอันดับดีที่สุดคืออันดับ 5 ในฤดูกาล 1993-94 และ 1994-95 แถมบางฤดูกาลยังร่วงลงไปอยู่ในโซนท้ายตาราง 


Photo : www.planetfootball.com

ก่อนที่ฟางเส้นสุดท้ายจะขาดลงในเดือนกันยายน 1996 เมื่อเขาพาทีมเปิดบ้านพ่ายต่อ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 0-4 ที่ทำให้บอร์ดบริหารปลดเขาออกจากตำแหน่ง ก่อนจะแต่งตั้ง จอร์จ เกรแฮม อดีตกุนซืออาร์เซนอล เข้ามาแทนที่ในวันต่อมา 

และการมาถึงของเกรแฮม ก็เหมือนเป็นการชุบชีวิต ราเดเบ เมื่ออดีตกุนซือปืนใหญ่ เห็นจุดเด่นในเรื่องสรีระและความเยือกเย็นของแข้งชาวแอฟริกาใต้ จึงสั่งให้เขาเปลี่ยนจากตำแหน่งกองกลางมาเป็นกองหลังตัวกลาง

อันที่จริงมันไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับราเดเบ เขาเคยเล่นตำแหน่งนี้อยู่บ้างสมัยค้าแข้งให้กับ ไกเซอร์ ชีฟส์ แต่การเปลี่ยนมาเล่นในตำแหน่งนี้อย่างจริงจัง ได้ปลุกศักยภาพที่ซ้อนเร้นของเขาให้ตื่นขึ้นมา 


Photo : www.hitc.com | Reuters

"การเข้ามาของ จอร์จ เกรแฮม คือสิ่งที่ยอดเยี่ยมอย่างสมบูรณ์แบบสำหรับผม เขาเป็นคนให้โอกาสผม และช่วงเวลาที่ยอดเยี่ยมก็เริ่มต้นตั้งแต่ตอนนั้น" ราเดเบ กล่าวกับ Reuters 

ราวกับว่าเป็นตำแหน่งที่ใช่สำหรับเขา เมื่อ ราเดเบ ค่อยๆ พัฒนาฝึเท้าจนกลายมาเป็นกองหลังที่ไว้ใจได้ และช่วยให้ลีดส์ เสียไปเพียงแค่ 38 ประตูจาก 38 นัด น้อยกว่าฤดูกาลก่อนหน้าที่เสียไป 57 ประตู และน้อยเป็นอันดับ 4 ของลีก แถมยังน้อยกว่าทีมแชมป์อย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด อีกด้วย 

นอกจากนี้ในฤดูกาลดังกล่าว เขายังมีโอกาสได้กลับมาสวมถุงมืออีกครั้ง หลัง มาร์ก บีนีย์ ผู้รักษาประตูของทีมถูกไล่ออกจากสนามในช่วง 15 นาทีสุดท้ายในเกมพบ แมนฯ ยูไนเต็ด และช่วยเซฟอย่างอุตลุต แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถป้องกันลูกยิงของ เอริค คันโตนา ได้ และพ่ายไป 0-1 

อย่างไรก็ดี มันกลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความรุ่งเรืองของราเดเบ เมื่อหลังจากนั้น เขาสถาปนาขึ้นมาเป็นหัวใจในแนวรับของทีม และช่วยให้ลีดส์ จบในอันดับ 5 ของตารางในฤดูกาล 1997-98 โดยเสียไปเพียง 43 ประตูจาก 38 นัด 


Photo : www.kickoff.com

"ชีวิตนักฟุตบอลผมเริ่มสดใสหลังจากนั้น ผมยังอยู่ในทีม บาฟานา บาฟานา (ทีมชาติแอฟริกาใต้) ที่คว้าแชมป์ แอฟริกัน เนชันส์คัพ (เมื่อปี 1996) อีกด้วย" ราเดเบ กล่าวกับ Forbes Africa 

ผลงานที่คงเส้นคงวา และความสุขุมเยือกเย็นของเขา ทำในฤดูกาล 1998-99 ราเดเบ ได้รับความไว้ใจจากเกรแฮม ให้เป็นกัปตันทีมคนใหม่ของ ลีดส์ ยูไนเต็ด 

น่าเสียดายที่เกรแฮม อยู่กับเขาได้ไม่นาน เพราะหลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือน อดีตกุนซืออาร์เซนอล ก็ตกปากรับคำย้ายไปคุม ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ อย่างกะทันหัน ก่อนที่สโมสรจะแต่งตั้ง เดวิด โอเลียรี มือขวาของเกรแฮมขึ้นมาคุมทัพแทน  

และมันกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ในฐานะกัปตันทีมของราเดเบ 

 

หัวหน้าแก๊งเด็กนรก 

โอเลียรี อาจจะเป็นกุนซือหนุ่มที่ไม่เคยมีประสบการณ์คุมสโมสรไหนมาก่อน แต่การที่เขาเคยคลุกคลีกับแข้งเยาวชนสมัยเป็นผู้ช่วยฯ ของเกรแฮม ทำให้เขาเลือกที่จะใช้นโยบายดันผู้เล่นดาวรุ่งขึ้นมาใช้งานในทีมชุดใหญ่ 

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าทีมของโอเลียรี จะเต็มไปด้วยแข้งดาวรุ่งทั้ง 11 คน เมื่อทีมของเขายังจำเป็นต้องมีนักเตะตัวเก๋าไว้คอยประคองทีม และราเดเบ ก็เป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ถูกวางไว้สำหรับบทบาทนี้ 


Photo : @LUFCDATA

มันเป็นช่วงเวลาที่เขาพัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นกองหลังระดับท็อปของลีกพอดิบพอดี ราเดเบ กลายเป็นผู้เล่นที่ขึ้นชื่อในการเข้าปะทะที่เด็ดขาดและแม่นยำ แถมยังอ่านเกมได้อย่างยอดเยี่ยม จนได้รับการยกย่องในฐานะกองหลังที่ผ่านยากคนหนึ่งของลีก

"ผมเรียนรู้การประกบตัวนักเตะด้วยรูปแบบหลากหลาย สำหรับบางคน ผมรู้ดีว่าไม่สามารถพุ่งเสียบแบบสุดตัวได้ ต้องอาศัยการยืนด้วยสองเท้า แล้วเน้นไปที่การดักทางพวกเขา" ราเดเบ เผยเคล็ดลับกับ Independent 

"ผู้เล่นอย่าง จานฟรังโก โซลา คุณไม่สามารถสไลด์เขาได้ แต่คนอย่าง อองรี นั้นต้องรู้ว่าที่ไหนและเมื่อไร (ที่จะสไลด์เขา)"

นอกจากนี้ ในฐานะกัปตันทีม ยังทำให้ ราเดเบ เปรียบเสมือนเป็นหัวหน้าแก๊งเด็กนรก ที่ช่วยดูแลทีมที่เต็มไปด้วยแข้งเลือดร้อน ในขณะเดียวกันเขาก็ยังเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้แข้งรุ่นน้องในทีม ร่วมกับแข้งจอมเก๋าคนอื่น 

"เรามีนักเตะรุ่นใหญ่ที่สุดยอดทั้ง ไนเจล มาร์ติน, เดวิด แบตตี และ ลูคัส ราเดเบ พวกเขาทำให้เรารู้สึกว่าเป็นที่ยอมรับ และทำให้เราเชื่อมั่นในตัวเองมากเป็นอย่างมาก" สตีเฟน แม็คเฟล กล่าวกับ The 42 


Photo : thesefootballtimes.co

นั่นทำให้ลีดส์ ภายใต้การนำทีมของเขาทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยการคว้าอันดับ 4 ของตารางในฤดูกาล 1998-99 และจบในอันดับ 3 ของตารางในฤดูกาลต่อมา รวมไปถึงเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ ยูฟ่า คัพ ในปีดังกล่าว 

ผลงานที่สุดยอดได้ทำให้ ราเดเบ กลายเป็นแข้งเนื้อหอม และได้รับความสนใจจากทีมดังอย่าง เอซี มิลาน, โรมา รวมไปถึง แมนฯ ยูไนเต็ด ที่เคยยื่นข้อเสนอสูงถึง 10 ล้านปอนด์ ในช่วงหน้าร้อนปี 2000 หวังจะคว้าตัวเขาไปร่วมทัพ แต่สุดท้ายต้องอกหัก เมื่อเขาตัดสินใจอยู่กับลีดส์ต่อ 

"แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อยากได้ลายเซ็นผม แต่หลังจากคิดอย่างหนัก ผมปฏิเสธพวกเขาเพราะว่าผมมองว่า ลีดส์ ยูไนเต็ด คือสโมสรที่ผมสามารถสร้างปรากฎการณ์อย่างยั่งยืน ตอนนี้ผมยังคงจงรักภักดีต่อพวกเขา" ราเดเบ ย้อนความหลังกับ Forbes Africa 

และมันก็ตอบแทน ราเดเบ ในฤดูกาลต่อมา เมื่อ ลีดส์ สร้างปรากฎการณ์เขย่าเวทียุโรป ด้วยการเข้าไปถึง รอบรองชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ในฤดูกาล 2000-01 ด้วยการเอาชนะทีมยักษ์ใหญ่ทั้ง เอซี มิลาน และ ลาซิโอ 


Photo : @LUFCDATA

"ลูคัส เป็นผู้นำทั้งในและนอกสนาม ทุกคนฟังเขา ผมคงทำไม่ได้หากไม่มีเขา และคงไม่สามารถแลกเขากับนักเตะคนไหนในพรีเมียร์ลีก เขาคือกัปตันผู้เป็นแรงบันดาลใจ" เดวิด โอเลียรี อดีตกุนซือลีดส์ กล่าว 

อย่างไรก็ดี นั่นกลับเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของเขา ที่มันจะไม่หวนกลับมาอีก 

 

กัปตันในตำนาน

น่าเสียดายที่หลังจากฤดูกาลนั้น การที่ ลีดส์ ไม่ได้ไปเล่น UCL หลังจบในอันดับ 4 (ยุคนั้น พรีเมียร์ลีกยังได้โควต้าลุยถ้วยใหญ่ของยุโรปเพียง 3 ทีม) จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความตกต่ำของทีม ด้วยปัญหาทางการเงิน และการบริหารที่ผิดพลาด ทำให้พวกเขาร่วงตกชั้นในฤดูกาล 2003-04 


Photo : www.soccerladuma.co.za

แต่ ราเดเบ ก็ไม่ไปไหน เขาอยู่กับทีมจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตนักเตะอาชีพ ก่อนจะประกาศแขวนสตั๊ด หลังฤดูกาล 2004-05 ด้วยวัย 36 ปี พร้อมกับปิดฉากช่วงเวลา 12 ปีกับทีมแห่งแคว้นยอร์คเชียร์อย่างน่าเศร้า

อย่างไรก็ดี เขายังคงได้รับการยกย่องในฐานะหนึ่งในกัปตันที่ดีที่สุดของลีดส์ในรอบ 100 ปี รวมทั้งถูกแฟนบอลหลายคนนำชื่อของเขาไปตั้งเป็นชื่อลูก แถมครั้งหนึ่งยังเคยได้รับการเชิดชูจาก เนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดี แอฟริกาใต้ ในฐานะ "ฮีโร่ของผม" 

หากมองย้อนกลับไป บางทีสิ่งเหล่านี้อาจจะไม่มีวันเกิดขึ้น หากเขาตัดสินใจออกจากทีมลีดส์ในวันนั้น และต้องขอบคุณชีวิตในวัยเด็กที่ยากลำบาก ที่ทำให้เขาตัดสินใจสู้ต่อ จนกลายมาเป็นหนึ่งในนักเตะระดับตำนานของอังกฤษ 


Photo : lucasradebe.com

"การยืนอยู่ตรงนั้น ทำให้ผมตระหนักได้ถึงโอกาสที่ผมมี และความรับผิดชอบที่ต้องทำ มันไม่ใช่แค่สำหรับตัวเอง แต่ยังหมายถึงประเทศของผม และโอกาสที่จะเปิดประตูให้กับนักเตะแอฟริกันคนอื่น" ราเดเบกล่าวกับ Reuters

"ผมเปลี่ยนใจ เพราะว่าผมคิดว่าผมควรจะผิดหวังหากพยายาม มากว่าที่จะไม่พยายามอะไร ผมผ่านช่วงเวลาอันโหดร้ายของการแบ่งแยกสีผิว ผมเคยถูกยิง ผมเคยไม่มีอะไร แต่ผมก็รอดชีวิตมาได้ สิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงตัวผม" 

"การก้าวผ่านชีวิตในวัยเด็กที่เห็นเพื่อนของผมหลายคนถูกฆ่าหรือเข้าคุก สร้างตัวตนให้ผม และมันก็ช่วยให้ผมสามารถเผชิญกับความท้าทาย รวมถึงประสบความสำเร็จที่ลีดส์ได้สำเร็จ"  ราเดเบ กล่าวทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook