"อาลี VS อิโนกิ" : การประลองจริงแห่งศตวรรษของยอดนักสู้จากสองซีกโลก.. ที่มีแต่เสียงก่นด่า

"อาลี VS อิโนกิ" : การประลองจริงแห่งศตวรรษของยอดนักสู้จากสองซีกโลก.. ที่มีแต่เสียงก่นด่า

"อาลี VS อิโนกิ" : การประลองจริงแห่งศตวรรษของยอดนักสู้จากสองซีกโลก.. ที่มีแต่เสียงก่นด่า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากเอ่ยถึงนักมวยที่เก่งกาจที่สุดของโลก ชื่อของ มูฮัมหมัด อาลี ยอดนักมวยแห่งรุ่นเฮฟวี่เวต น่าจะเป็นชื่อต้นๆ ที่ทุกคนนึกถึง เขาคือเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 1960 ที่กรุงโรม และเจ้าของเข็มขัดแชมป์โลกอีกหลายสมัย

ในขณะเดียวกัน ในอีกซีกโลกหนึ่ง ก็มีนักสู้ที่คนที่ญี่ปุ่นภาคภูมิใจนามว่าอันโตนิโอ อิโนกิ เขาคือศิษย์เอกของ “ริคิโดซัง” บิดาแห่งวงการมวยปล้ำญี่ปุ่น รวมถึงเป็นสตาร์ดังของมวยปล้ำอาชีพโตเกียว 

และครั้งหนึ่ง ทั้งสองคนได้มีโอกาสโคจรมาพบกัน ในไฟต์ที่เรียกว่า “การประลองแห่งศตวรรษ” ที่หลายคนต่างคิดว่าต้องเต็มไปด้วยความดุเด็ดเผ็ดมันอย่างแน่นอน

 

อย่างไรก็ดี มันกลับจบลงด้วยเสียงก่นด่า และขอคืนเงิน เกิดอะไรขึ้นในวันนั้น? ร่วมติดตามเรื่องราวไปพร้อมกับ Main Stand

ยอดนักสู้จากสองซีกโลก 

“โบยบินเหมือนผีเสื้อ ต่อยเจ็บเหมือนผึ้ง” คือคำจำกัดความของ มูฮัมหมัด อาลี ราชาเฮฟวี่เวตในยุค 1960-70’s ชาวอเมริกัน

 1

อาลี หรือชื่อเดิมว่า แคสเซียส เคลย์ เริ่มสร้างชื่อด้วยการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกในรุ่นไลท์ เฮฟวี่เวต ที่กรุงโรม ในปี 1960 ก่อนจะเปลี่ยนมาชกมวยอาชีพในปีเดียวกัน และคว้าเข็มขัดแชมป์โลกเส้นแรกในรุ่นเฮฟวี่เวตได้ในปี 1964 ด้วยการเอาชนะ ซอนนี ลิสตัน ไปอย่างเหนือความคาดหมาย 

หลังจากนั้น เขาก็เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม และเปลี่ยนชื่อเป็น มูฮัมหมัด อาลี พร้อมกับสถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นยอดนักชกแห่งยุค จากลีลาการชกที่พลิ้วไหว แต่หนักหน่วง ที่ส่วนใหญ่มักจะจบลงด้วยการส่งคู่ชกไปนอนบนพื้นชนิดไม่ทันครบยก 

แม้ว่าหลังปี 1967 อาลีจะถูกแบนยาวไปถึง 3 ปี หลังถูกตั้งข้อหาไม่ยอมรับการเกณฑ์ทหาร แต่หลังจากต่อสู้คดีจนชนะและกลับมาชกได้ เขาก็ยังคงความเป็น “ราชาเฮฟวี่เวต” ด้วยการไล่น็อคคู่แข่งเป็นว่าเล่น และคว้าเข็มขัดแชมป์โลกมาครองได้หลายสมัย 

ข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งของซีกโลก ณ แดนอาทิตย์อุทัย ก็มียอดนักสู้อีกคนได้ถือกำเนิดขึ้นมา ในยุคเดียวกับอาลี เขาคือนักมวยปล้ำอาชีพที่มีชื่อว่า คันจิ อิโนกิ หรือชื่อในวงการคือ “อันโตนิโอ อิโนกิ”

 2

อิโนกิ คือศิษย์เอกของ ริคิโดซัง บิดาแห่งวงการมวยปล้ำญี่ปุ่น เขามาพร้อมกับร่างกายที่สูงใหญ่ถึง 191 เซนติเมตร อีกทั้งเต็มไปด้วยทักษะการต่อสู้จากหลายแขนง ทั้งมวย ยูโด คาราเต กังฟู ซูโม และแน่นอน มวยปล้ำ 

เขาคือดาราของ สมาคมมวยปล้ำอาชีพโตเกียว ด้วยลีลาการปล้ำที่ดุดันและสุดโหด บวกกับยุคนั้น มวยปล้ำ ถือเป็นหนึ่งในกีฬายอดนิยมทางโทรทัศน์ของชาวซามูไร ยิ่งทำให้เขาเป็นหนึ่งในนักสู้ที่คนญี่ปุ่นภาคภูมิใจ 

และในปี 1976 สองยอดนักสู้จากคนละสองฝั่งซีกโลก มีโอกาสได้มาพบกันเป็นครั้งแรก ซึ่งอันที่จริงต้องเรียกว่ามันเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ เมื่อ อาลี ได้รู้จักกับ อิจิโร ฮัตตะ ประธานสมาคมมวยปล้ำสมัครเล่นญี่ปุ่น ในการพบกันที่สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนเมษายนปี 1975 โดยการเจอกันในครั้งนั้น อาลี ได้คุยว่าคงไม่มีนักสู้จากเอเชียที่จะล้มเขาได้ 

“ไม่มีนักสู้จากเอเชียคนไหนที่จะสู้ผมได้เลยเหรอ? ถ้ามีใครเอาชนะผมได้ ผมจะให้เงินเขา 1 ล้านดอลลาร์” อาลีบอกกับฮัตตะ 

ฟังดูอาจจะเป็นเหมือนแค่คำคุยโวมากกว่า ทว่า คำพูดของอาลี กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งไปทั่วญี่ปุ่น และด้วยศักดิ์ศรีเลือดซามูไร และนักมวยปล้ำ ที่เหมือนถูกลูบคม ทำให้ อิโนกิ ตัดสินใจรับคำท้าของอาลี 

และเป็นจุดเริ่มของไฟต์แห่งประวัติศาสตร์

เดือดตั้งแต่ยังไม่เริ่มชก 

หลังการเจรจาที่กินเวลาเกือบ 1 ปี ในที่สุดไฟต์นี้ก็เป็นรูปเป็นร่างในเดือนมีนาคม 1976 หลังทั้งสองฝ่ายได้เซ็นสัญญากัน โดยรายละเอียดระบุว่า ทั้งอินากิ และ อาลี จะได้เงินที่สูงถึง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากไฟต์นี้ 

 3

พวกเขากำหนดสู้กันในวันที่ 26 มิถุนายน 1976 ที่ นิปปอน บุโดคัง ในกรุงโตเกียว สังเวียนศักดิ์สิทธิ์ของกีฬาศิลปะการต่อสู้ของชาวญี่ปุ่น แน่นอนว่า การพบกับระหว่างสองยอดนักสู้จากคนละฝั่งซีกโลก ทำให้มันถูกตั้งชื่อว่า “การประลองแห่งศตวรรษ” 

แถมในตอนนั้นทั้งคู่กับกำลังมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยม หลังเพิ่งผ่านศึกสำคัญมาไม่นาน อาลี เพิ่งจะเอาชนะ โจ เฟรเซียร์ ในไฟต์ “Thrilla in Manila” ซึ่งเป็นศึกไตรภาคของทั้งคู่ในปี 1975 ในขณะที่ อิโนกิ ก็เพิ่งล้ม วิลเฮม รัสกา นักยูโดชาวเนเธอร์แลนด์ เจ้าของ 2 เหรียญทองโอลิมปิกที่มิวนิค 

นอกจากนี้ ด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตของสองประเทศซึ่งกำลังอยู่ในภาวะตึงเครียด อันเนื่องมาจาก “นิกสันช็อค” ในปี 1971 ที่อเมริกาประกาศเลิกผูกค่าเงินดอลลาร์กับราคาทองคำ จนทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นมาก และสร้างมูลค่าความเสียหายการส่งออกของญี่ปุ่นอย่างมหาศาล บวกกับการเพิ่งคืนเกาะโอกินาวาให้ญี่ปุ่น หลังยึดครองมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ประเด็นเรื่องชาตินิยมถูกนำมาโหมกระพือให้ไฟต์นี้ดุเดือดยิ่งขึ้นไปอีก 

เพราะทันทีที่ อาลี เท้าแตะสนามบินฮาเนดะ กรุงโตเกียว เขาก็ได้รับการต้อนรับจากคนญี่ปุ่นที่มารอเจอด้วยคำว่า “ที่นี่ไม่มี เพิร์ล ฮาเบอร์ มูฮัมหมัด อาลี กลับไปซะ ไม่มี เพิร์ล ฮาเบอร์” จากกรณีที่เครื่องบินญี่ปุ่น โจมตีฐานทัพ เพิร์ล ฮาเบอร์ จนสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 

หรือแม้แต่ตอนแถลงข่าวและชั่งน้ำหนัก ที่กลายเป็นเวทีของการฟาดปากของพวกเขา เมื่ออาลีเปิดก่อนด้วยการเรียกอิโนกิว่า “นกกระทุง” จากคางที่ยาวแหลมของเขา ในขณะที่ อิโนกิ เรียกอาลีว่า “มด” ที่เขาจะเหยียบให้จมดิน และเสนอให้อาลีใช้ไม้ค้ำยันหลังไฟต์นี้

 4

“แทบไม่ต้องสงสัยว่ามันคือการแถลงข่าวที่สนุกที่สุดเท่าที่เคยมีมา” คาเรล ฟาน วูล์ฟเฟเรน ผู้สื่อข่าวภูมิภาคเอเชียตะวันออกของ NRC Handelsblad หนังสือพิมพ์สัญชาติดัตช์ในตอนนั้นกล่าวกับ Japan Times 

“การชั่งน้ำหนักจัดขึ้นในห้องสมุดของสโมสร อาลีมาในชุดกางเกงมวยขาสั้น เขาน้ำหนัก 100 กิโลกรัมพอดี และจ็อกกิ้งอยู่ตลอดเวลา อาลีทำท่าให้ผมขึ้นไปบนตราชั่ง และเมื่อมันโชว์ว่า 95 กิโลกรัม เขาก็ขมวดคิ้วและพูดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ด้วยหุ่นที่ดีแบบนี้’ และเขาก็สั่งให้ผมชั่งอีกครั้ง” 

“‘การแสดงตลก’ มักจะถูกใช้อธิบายในการปรากฎตัวของอาลี แต่ที่เขาทำในสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ มันมากกว่าปกติ เขาเก่งมากในการแสดงออกในที่สาธารณะ”

 

บรรยากาศที่คุกรุ่นทำให้ไฟต์ที่ได้รับความสนใจอยู่แล้ว ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น ที่นั่ง 14,500 ที่ในบุโดคังถูกขายจนหมดเกลี้ยง ว่ากันว่าที่นั่งริงค์ไซด์แบบติดขอบเวที ราคาทะยานสูงถึง 300,000 เยน (ราว 90,000 บาท) เลยทีเดียว 

ทุกคนต่างคิดว่า มันต้องเป็นไฟต์ที่ดุเด็ดเผ็ดมันอย่างแน่นอน แต่พวกเขาก็คิดผิด

ละครตลก 

26 มิถุนายน 1976 คือวันดีเดย์ของ “การประลองแห่งศตวรรษ” อาลี ปรากฏตัวด้วยกางเกงมวยสีขาว และนวมสีแดง ส่วน อิโนกิ มาพร้อมกับกางเกงมวยปล้ำสีดำ ท่ามกลางสายผู้ชมที่แน่นขนัดในบุโดคัง และอีก 1.4 พันล้านคนที่ชมผ่านหน้าจอโทรทัศน์ผ่านการถ่ายทอดสดใน 37 ประเทศ

 6

“ในสังเวียนล้วนเต็มไปด้วยความตื่นเต้นก่อนเกม” โชจิ สึเนะ นักเขียนที่เชี่ยวชาญด้านมวยกล่าวกับ Japan Times  

“ผู้คนกำลังสงสัยว่าเกมจะเป็นแบบไหน และพวกเขาจะสู้กันอย่างไร” 

อย่างไรก็ดี ทันทีที่เสียงระฆังดังขึ้น ผู้ชมกลับพบกับความผิดหวัง เพราะแทนที่จะได้เห็นการสู้กันอย่างดุเดือดของสองนักสู้ พวกเขากลับเจอเพียงการที่ อิโนกิ นอนอยู่กับพื้นแล้วพยายามเตะไปที่ขาอาลี ส่วนอาลี ก็ทำได้เพียงแค่วิ่งหนีไปรอบเวที 

ไฮไลต์สำคัญที่สุดอาจจะเป็นแค่ยก 4 ที่ อิโนกิ ไล่เตะอาลี จนเขาต้องปีนเชือกขึ้นไป หรือยก 6 ที่อาลีพยายามจับขาอิโนกิ แต่พลาด จนโดนอิโนกิ เตะสวนไปที่น่อง หรือในยก 8 ที่ แองเจโล ดันดี เทรนเนอร์ของอาลี ขอให้ อิโนกิ เอาเทปมาพันรองเท้า เนื่องจากตาไก่ที่หลุดออกมา บาดขาอาลี 

 7

แต่ถึงอย่างนั้น มันไม่มีอะไรที่ใกล้เคียงคำว่า “การประลอง” เลยแม้แต่น้อย เมื่อตลอดทั้ง 15 ยก เหตุการณ์ก็ไม่ต่างจากเดิม ซ้ำๆ วนเวียนไปเรื่อยๆ นั่นก็คืออิโนกิ พยายามเตะอาลีอยู่ที่พื้น และอาลี ก็หลบไปแบบนี้จนหมดยก 

“ผมแทบไม่เชื่อในความเลวร้ายที่เกิดขึ้น” โรเบิร์ต ไวท์ติง ผู้เชี่ยวชาญด้านกีฬาญี่ปุ่นกล่าวกับ Japan Times  

“ยกแล้วยกเล่าผ่านไปกับการที่อิโนกิ นอนอยู่กับพื้น อาลีออกหมัดไปแค่หกหมัดเองตลอดทั้งไฟต์ เหมือนกับว่าหนึ่งหมัดต่อสามยก มันเลวร้ายมาก”

 

สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ชมในบุโดคังโกรธและผิดหวัง ทั้งที่อุตส่าห์ยอมจ่ายค่าตั๋วราคาแพงเข้ามาชมถึงในสนาม แม้สุดท้ายแล้วผลการแข่งขัน จะออกมาเสมอกันก็ตาม  

“อิโนกิ นอนลงกับพื้น และอาลีก็ยืนตั้งแต่ต้น มันเป็นเหมือนเดิมตลอดทั้ง 15 ยก มันไม่มีความตื่นเต้นอะไรเลย สิ่งเดียวที่อธิบายมันได้ คือ ละครตลก ผมไม่คิดว่ามีคนไหนที่บอกว่ามันสนุก” สึเนะกล่าวกับ Japan Times  

“แฟนคิดว่ามันน่าเบื่อและส่งเสียงโห่ ตั๋วแพงมากๆ ดังนั้นผู้คนจึงโกรธที่เกมนี้ออกมาแบบนี้” 
ทำให้หลังจบแมตช์ ผู้ชมต่างพากันขว้างปาขยะขึ้นมาบนเวทีด้วยความไม่พอใจ พร้อมกับเรียกร้องให้คืนเงินค่าตั๋ว จนเกิดเป็นความวุ่นวายขนาดย่อม 

 8

“คนทำความสะอาดในบุโดคัง คงต้องใช้เวลาเกือบทั้งวันทำความสะอาดขยะที่ถูกขว้างปาใส่ ‘สองนักสู้’ จากผลการแข่งขันอันต่ำช้าน่าขยะแขยงของพวกเขา” ดอนน์ แดร์เกอร์ ครูสอนศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่น กล่าวถึงเหตุการณ์ในวันนั้น 

อันที่จริงมันควรจะสนุกกว่านี้ เพราะทั้งสองคนต่างเป็นยอดฝีมือ แล้วอะไรที่ทำให้ไฟต์นี้ ออกมาในรูปแบบนี้?

กฎพิเศษ

แม้ว่า “อาลี ปะทะ อิโนกิ” จะถูกโปรโมตในฐานะแมตช์สุดเดือด แต่อันที่จริงมันถูกกำหนดไว้ตั้งแต่วันที่มีการเซ็นสัญญาว่า เป็นเพียงการประลองโชว์ ที่มีการเขียนบทเอาไว้ ซึ่ง อาลี จะได้เงิน 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากแพ้ในเกมนี้ 

 9

จากคำกล่าวอ้างของ จิม เมอร์ฟี นักข่าวสายมวยระบุว่า บทที่เขียนไว้ตอนแรกก็คือตอนจบ อาลี จะต่อยพลาดไปโดนกรรมการจนน็อค และในระหว่างที่เขาเข้าไปดูกรรมการ อิโนกิ จะวิ่งเข้ามาดร็อปคิกจากข้างหลังจนเขาล้มลง ก่อนที่กรรมการจะฟื้นขึ้นมาแล้วนับ 10 ที่ทำให้ อิโนกิ เอาชนะ อาลี ต่อหน้าคนทั้งญี่ปุ่น  

ด้วยวิธีนี้ ทำให้ อิโนกิ เอาชนะ อาลี ส่วนอาลีก็ไม่เสียหน้า เพราะความดีของเขาที่ห่วงกรรมการ ทำให้ถูกเล่นงาน ทว่า อาลี กลับปฏิเสธบทนี้ เขายอมไม่ได้ที่ตัวเองต้องมาแพ้ ทำให้ไฟต์ที่ “เตี๊ยม” เอาไว้ ต้องกลายเป็นไฟต์ที่สู้กันจริงๆ 

แต่ในมุมของอิโนกิ เรื่องราวกลับต่างออกไป เขาบอกว่า อาลี เข้าใจตั้งแต่ตอนเซ็นสัญญาว่าเป็นการโชว์ จนกระทั่ง อิโนกิ ต้องบอกเขาว่ามันเป็นการสู้กันจริงๆ เขาจึงได้รู้ความจริง ซึ่งตรงกับคำยืนยันของ เคน อุรุชิบาระ ล่ามของอิโนกิในตอนนั้น 

“ตอนที่อาลีถึงฮาเนดะ ผมต้องเป็นผู้ติดตามเขา สิ่งหนึ่งที่เขาถามผมคือ ‘เราจะซ้อมกันเมื่อไร?’ ผมตอบไปว่า ‘ซ้อมอะไร?” อุรุชิบาระ กล่าวกับ Japan Times 

“เขาบอกว่า ‘มันต้องมีการซ้อมบท’ ผมจำไม่ได้ว่าเขาพูดอะไรมาบ้าง แต่แน่นอนว่าเขาคิดว่ามันเป็นการโชว์ ดังนั้นผมจึงพูดว่า ‘มันไม่ใช่การโชว์ มันคือการประลองจริง’”

“ผมไม่รู้ว่าอาลี ได้ความคิดว่านี่จะเป็นแค่โชว์มาจากไหน ที่น่าจะเป็นไปได้ อาจจะเป็นบางคนที่ไม่คุ้นเคยกับความตั้งใจของอิโนกิ” 

 10

ไม่ว่ามุมไหนจะเป็นเรื่องจริง แต่สุดท้ายเมื่อต้องสู้กันจริง ทำให้ต้องมีการตั้งกฎพิเศษขึ้นมาใหม่สำหรับไฟต์นี้ ทั้งสองฝั่งเจอกันที่ เคโอ พลาซา และกำหนดข้อห้ามมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่อิโนกิห้ามทำ เช่น ห้ามทุ่ม ห้ามชก ห้ามตะครุบตัว ถ้าจะเตะขาข้างหนึ่งต้องติดกับพื้น 

“กฎถูกแก้ไขใหม่มากมาย เพราะว่าไม่มีการต่อสู้ที่นักมวยกับนักมวยปล้ำเจอกันมานานแล้ว หากไม่มีสิ่งนี้ ไม่มีทางที่จะออกแบบการแข่งขัน และทำให้มันดูน่าเชื่อถือได้” ดอน แดรเกอร์ กล่าวในบทความ Muhammad Ali versus Antonio Inoki เมื่อปี 1976

“อาลีสามารถจับหรือต่อยให้ล้มได้ อิโนกิห้ามพุ่งเข้ารวบขาหรือรวบตัว ส่วนอาลีก็ห้ามใช้หมัดแย็บรัวๆ นี่มันละครตลกอะไรเนี่ย” 

และที่สำคัญ กฎพิเศษเหล่านี้ ต้องเก็บเป็นความลับ และห้ามประกาศให้สาธารณะชนรับรู้ แม้กระทั่งวันสู้จริง จึงไม่แปลกที่ไฟต์ดังกล่าวจะออกมาน่าเบื่อขนาดนี้ ถึงขนาดทำให้อาลี และอิโนกิเอง ก็ต่างรู้สึกหงุดหงิดกับแมตช์นี้ 

“ผมจะน็อคเขาให้ล้มลงได้อย่างไร ถ้าเขาล้มลงนอนอยู่แล้ว ผมไม่สามารถต่อยเขาได้ในขณะที่เขาอยู่บนพื้น” อาลีกล่าวหลังแมตช์ดังกล่าว 

ในขณะที่อิโนกิก็โต้ว่า “เขามีแต้มต่อจากกฎที่บอกว่าห้ามพุ่งเข้าใส่ ห้ามคาราเตช็อป ห้ามต่อยเมื่ออยู่บนพื้น” 

 11

แมตช์ดังกล่าว จึงกลายเป็นไฟต์ที่อยากลืมของ อาลี เพราะเต็มไปด้วยความน่าเบื่อ แถมยังได้รับบาดเจ็บจนเกือบเดินไม่ได้ตลอดชีวิต ในขณะที่ บ็อบ อารัม โปรโมเตอร์ของแมตช์นี้ยอมรับว่า นี่คือจุดต่ำสุดในชีวิตของเขาเลย

“โอเคแหละ มันแย่ มันน่าอาย และอาลีมีเลือดออกที่ขา เขาติดเชื้อและเกือบต้องตัดขา อาลีเกือบพิการไปตลอดชีวิต” อารัมกล่าวกับ The Guardian

อย่างไรก็ดี ในความเลวร้ายมันก็ยังมีข้อดีอยู่บ้าง

จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ 

“การประลองแห่งศตวรรษ” อาจจะจบลงด้วยความผิดหวังของผู้ชม แต่สำหรับอาลี และอิโนกิ กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์อันดีของทั้งคู่ อิโนกิ เอาเพลง The Greatest เพลงเปิดตัวของอาลี มาใช้เป็นเพลงเปิดตัวการสู้ของเขา รวมทั้งเอา Bomaye ประโยคหากินของอาลี ที่ใช้มาตั้งแต่ “The Rumble in the Jungle” ไฟต์ที่พบกับ จอร์จ โฟร์แมน เมื่อปี 1974 มาใช้ (แต่แปลงเป็น Bombaye) เช่นกัน 

 12

“อันโตนิโอ อิโนกิ และแฟนของเขาเชิญอาลีไปงานแต่งงานที่จะจัดขึ้นในปีถัดมา และผมก็ไปเป็นเพื่อนเขาด้วย” อุรุชิบาระกล่าวกับ Japan Times 

“พวกเขากลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน พวกเขากอดกันทุกครั้งที่เจอกัน และได้พบกันหลายครั้ง อาลีเชิญอิโนกิไปดูไฟต์แขวนนวมของเขาด้วย” 

“นั่นคือการพาอิโนกิไปอยู่ในเวทีระดับโลก เขากลายเป็นที่รู้จักในสหรัฐอเมริกา เขากลายเป็นที่รู้จักสำหรับทุกคนที่มองว่า ไฟต์ที่ทั้งคู่พบกันเป็นไฟต์ละครตลก แต่ข้อเท็จจริงคือมันคือบันไดที่เยี่ยมมากสำหรับ อันโตนิโอ อิโนกิ ที่ทำให้ทั้งโลกได้รู้จักเขา” 

อาลีแขวนนวมไปตั้งแต่ปี 1981 ด้วยสถิติชนะ 56 ครั้ง และแพ้ไปเพียง 5 ครั้ง ในขณะที่ อิโนกิ เบนเข็มมาเล่นการเมืองไปพร้อมกับการเป็นนักมวยปล้ำหลังจากนั้น และกลายเป็นตำนานแห่งวงการมวยปล้ำญี่ปุ่น ในฐานะคนที่เคยประลองฝีมือกับอาลี ก่อนที่จะวางมือในปี 1998 โดยอาลี บินไปชมแมตช์นั้นถึงญี่ปุ่น

 13

“ตอนปี 1976 ที่ผมสู้กับ อันโตนิโอ อิโนกิ ที่บุโดคัง ในสังเวียน เราต่างเป็นคู่แข่งสุดโหดของกันและกัน แต่หลังจากนั้น เราก็สร้างมิตรภาพด้วยการนับถือซึ่งกันและกัน ดังนั้นผมจึงรู้สึกเหงาเล็กน้อยในตอนนี้ ที่อันโตนิโอ รีไทร์” อาลีกล่าวในแมตช์สุดท้ายของอิโนกิ 

“มันเป็นเกียรติกับผมมากที่ได้ยืนบนเวทีกับเพื่อนที่ดีมาตลอด 22 ปี อนาคตของพวกเราสดใสและชัดเจน อันโตนิโอ อิโนกิ และผมต่างพยายามอย่างเต็มที่เพื่อทำให้โลกมีสันติสุขผ่านกีฬา เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่ามนุษยชาติ อยู่เหนือความแตกต่างทางเพศ เชื้อชาติ และวัฒนธรรม ผมจึงรู้สึกยินดีที่ได้มาในวันนี้” 

มันคือข้อพิสูจน์ว่าแม้แต่กีฬาที่ใช้กำลังห้ำหั่นกัน มิตรภาพสามารถเกิดขึ้นได้ หากมีความปรารถนาดีต่อกัน 

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ "อาลี VS อิโนกิ" : การประลองจริงแห่งศตวรรษของยอดนักสู้จากสองซีกโลก.. ที่มีแต่เสียงก่นด่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook