"รุย คอสตา" : อัจฉริยะยุค 90's ที่แฟนบอลชาวไทยชื่นชอบจากตัวละครบนน้ำหมึก

"รุย คอสตา" : อัจฉริยะยุค 90's ที่แฟนบอลชาวไทยชื่นชอบจากตัวละครบนน้ำหมึก

"รุย คอสตา" : อัจฉริยะยุค 90's ที่แฟนบอลชาวไทยชื่นชอบจากตัวละครบนน้ำหมึก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รุย คอสตา คือเพลย์เมคเกอร์ที่มีฝีเท้าฉกาจที่แฟนบอลทั่วโลกต้องรู้จัก ทว่าในมุมมองของคอบอลไทยหลายคน รุย คอสตา มีความหมายมากกว่าแค่ในสนามฟุตบอล

เรื่องราวมันเริ่มจากหนังสือการ์ตูนจากญี่ปุ่นที่ชื่อ Viva Calcio และตัวละครเอกที่ชื่อว่า โย ชิอินะ (โย ชีน่า) ที่ทำให้ รุย คอสตา มีชีวิตอยู่ในโลกอีกใบที่แต่งเติมด้วยลายน้ำหมึก

 

นี่คือเรื่องราวโลก 2 ใบของ รุย คอสตา ในวันที่เขาย้ายมาอยู่ในอิตาลีเป็นปีแรก และในยุคที่การถ่ายทอดสดฟุตบอลเซเรีย อา นั้นหาดูได้ยากเย็น รุย คอสตา ฉบับการ์ตูนสร้างอิมแพ็คอย่างไรให้กับคอบอลบ้านเราบ้าง? ติดตามได้ที่นี่

ยุคทองของอิตาลีที่คนไทยเข้าถึงยาก

ช่วงยุค 90's เป็นช่วงเวลาที่ฟุตบอลอังกฤษเริ่มยุทธศาสตร์ตีตลาดทั่วโลก ด้วยการเปลี่ยนชื่อลีกสูงสุดเป็น พรีเมียร์ลีก ในฤดูกาล 1992-93 และในช่วงนั้นวงการโทรทัศน์บ้านเรา (ประเทศไทย) ก็มีพื้นที่นำเสนอให้กับฟุตบอลอังกฤษมากขึ้น

 1

แม้การถ่ายทอดสดจะไม่ได้มีมาก และยังหาดูยากในช่วงเวลานั้น แต่สิ่งที่คนไทยได้สัมผัสจากฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในช่วงดังกล่าวคือเริ่มมีการถ่ายทอดเทปบันทึกการแข่งขัน และมีรายการวิเคราะห์ เจาะลึก รวมถึงการนำเสนอไฮไลต์ฟุตบอลอังกฤษที่อยู่ในความทรงจำของคอบอลบ้านเรา คือรายการ "เจาะสนาม" ซึ่งดำเนินรายการโดย เอกชัย นพจินดา หรือ "ย.โย่ง" เจ้าของฉายา คัมภีร์ฟุตบอล ของประเทศไทย 

ขณะเดียวกันฝั่ง กัลโช เซเรียอา อิตาลี นั้นเป็นลีกที่รวมซูเปอร์สตาร์ และถือเป็นยุคทองของฟุตบอลอิตาลี เพราะนอกจากจะมีลีกที่แข็งแกร่งแล้ว เรื่องเงินค่าจ้างค่าตัวนั้นจัดว่ามาเป็นอันดับ 1 ของยุคจนมีคำกล่าวในหมู่นักฟุตบอลว่า "ไปโกยเงินลีร์" (ค่าเงินของอิตาลี ก่อนเปลี่ยนมาใช้ ยูโร)

 2

แต่สำหรับคอบอลชาวไทยนั้น เซเรียอาถือว่าเป็นลีกที่จับต้องยากมากกว่าพรีเมียร์ลีกพอสมควร เพราะการถ่ายทอดสดมีเพียงช่องเคเบิลทีวี ที่มีราคาสมาชิกต่อเดือนสูงมากในยุคนั้น  

ดังนั้น รุย คอสตา จึงเป็นนักเตะที่คอบอลไทยส่วนน้อยจะเคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนาม หรือรู้ว่าพิษสงในสนามของเขาเป็นอย่างไรในตอนนั้น เพราะในฤดูกาล 1994-95 ที่เขาย้ายจากลีกโปรตุเกสมาค้าแข้งใน เซเรีย อา ก็เป็นการย้ายมาอยู่กับทีมระดับกลางๆ อย่าง ฟิออเรนติน่า ซึ่งยิ่งอยู่ห่างจากแฟนบอลไทยมากกว่าเดิมเข้าไปอีก

รุย คอสตา ในโลกแห่งความจริง 

ถึงแม้ในช่วงต้นยุค 90's คอสตาจะดังขนาดไหน แต่เขาก็ยังดังแค่ในโปรตุเกสเท่านั้น ซึ่งไม่ต้องพูดถึงว่าในบ้านเรานั้นหาดูแทบไม่ได้ และเมื่อมาถึงอิตาลี ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้แฟนบอลจดจำนักเตะระดับสตาร์ตัวเป้งๆ อย่าง โรแบร์โต บาจโจ, รุด กุลลิต, มาร์โก ฟาน บาสเทน หรือแม้กระทั่ง เปาโล มัลดินี มากกว่า.. รุย คอสตา จึงเป็นเหมือนตัวละครลับในสายตาคอบอลบ้านเราในช่วงที่เขามาอิตาลีเป็นครั้งแรก 

 3

อย่างไรก็ตาม ผลงานของ รุย คอสตา นั้นสวนทางกับการเป็นที่รู้จัก เพราะเขาคือคำนิยามของคำว่าเพลย์เมคเกอร์อย่างแท้จริง ไม่ว่าเทคนิคที่เหลือร้าย, สายตาที่เฉียบแหลม และความเข้าใจเกมในระดับที่สูงส่ง จึงทำให้เมื่อ รุย คอสตา ได้จับคู่กับ กาเบรียล บาติสตูตา ก็สามารถเห็นได้ถึงความแตกต่างทันที 

เดิมที ฟิออเรนติน่า นั้นจะเรียกว่าทีมระดับกลางค่อนล่างก็ยังได้ เพราะนับตั้งแต่เข้ายุค 90's เป็นต้นมาอันดับก็อยู่ในโซนหนีตายมาโดยตลอด รวมถึงในปี 1992-93 ที่หนักข้อถึงขั้นตกชั้นไปเลยก็มี แม้ว่าในยุคนั้นจะมีบาติสตูตาที่ว่ากันว่าเป็นเบอร์ 9 ที่ครบเครื่องที่สุดแห่งยุคก็ไม่อาจจะสร้างความแตกต่างได้เพียงลำพัง 

จนกระทั่ง คอสตาเข้ามา มันก็คำนิยามที่ว่า "เคมีเข้ากัน" อย่างที่สุดคอสตาวิสัยทัศน์ในการอ่านเกมและออกบอลของเขาเปลี่ยนแปลงให้บาติสตูตากลายเป็นดาวซัลโวของเซเรียอา ในปี 1994-95 ทันที และการเข้าคู่กันของ บาติโกล และ คอสตา ก็กลายเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ใครหลายคนเริ่มหันมามองทีมม่วงมหากาฬจากเมืองฟลอเรนซ์มากขึ้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ค่อนข้างน่าน้อยใจคือในโลกฟุตบอลนั้นผู้ยิงประตูนั้นมักจะเป็นที่จดจำมากกว่าเสมอ แม้ทั้งคู่จะทำงานร่วมกันอย่างแข็งขันและสำคัญกับทีมพอๆกัน ทว่า บาติสตูตากลับกลายเป็นคนที่ถูกจดจำมากกว่าในฐานะกองหน้าที่อันตรายที่สุดในโลก ขณะที่ รุย คอสตา นั้นรับบทเป็นนักแสดงสมทบชายมากกว่านักแสดงนำเสียเป็นส่วนใหญ่ 

 4

แม้จะได้รับคำชมมากมายจากเพื่อนร่วมทีมและคู่แข่ง แต่ด้วยความที่โลกยุคนั้นมันยังแคบ ไม่ได้เชื่อมต่อกันเหมือนยุคอินเตอร์เน็ตในทุกวันนี้ ดังนั้นสำหรับแฟนๆในบ้านเรา หากใครที่ไม่ใช่คอบอลกัลโช่จริงๆ ก็ยากที่จะรู้จัก รุย คอสตา มากกว่าแค่ชื่อเสียงเรียงนาม.. แต่ไม่เป็นไรหรอก ยังมีโลกอีกใบสำหรับเขาที่ทำให้เขาเป็นขวัญใจ และมีเสน่ห์อยู่ในความทรงจำของคอบอลในยุคนั้นอยู่ดี

และสองจักรวาลมาบรรจบกันที่ Viva Calcio การ์ตูนญี่ปุ่นที่ให้นักเตะโปรตุเกสกลายเป็นขวัญใจคอบอลชาวไทยที่เป็นนักอ่านนั่นเอง

ศูนย์รวมจักรวาล Viva Calcio 

สึคาสะ ไอฮาระ คือชายผู้เริ่มเขียนเรื่อง Viva Calcio และออกวางขายในช่วงปี 1993 เป็นต้นมา เรื่องราวดังกล่าวว่าด้วยเรื่องราวของเด็กญี่ปุ่นวัย 16 ปี ที่ชื่อว่า โย ชิอินะ ที่บินมาล่าฝันที่อิตาลี จนกระทั่งความอัจฉริยะด้านฟุตบอลของพระเอกของเรื่องได้นำเขามาสู่สโมสรทรงเสน่ห์อย่าง ฟิออเรนติน่า

 5

มันเป็นธรรมดามากสำหรับการ์ตูนญี่ปุ่น เพราะส่วนใหญ่แล้วพระเอกนั้นจำเป็นจะต้องเริ่มจากต้นจากจุดเล็กๆก่อน เพราะเรื่องมันจะได้ดำเนินไปในรูปแบบของการผจญภัยท้าทายสิ่งที่ใหญ่ขึ้นไปทีละขั้นๆ จนสุดท้ายผู้อ่านก็จะได้เห็นพัฒนาการของตัวละครเอกรวมถึงสิ่งประกอบรอบๆตัวของเขาด้วย และการเลือก ฟิออเรนติน่า ก็เป็นการจับคู่ที่ถูกที่ถูกเวลาเสียเหลือเกิน

อย่างที่ได้กล่าวไป สไตล์ของฟิออเรนติน่าในยุคนั้นเป็นบอลบุกยิงแหลก แม้อันดับในตารางจะไม่ได้ติดอันดับท็อป 3 ท็อป 5 หนักไปทางทีมหนีตายเสียด้วยซ้ำ ทว่าจุดเด่นของตัวละครภายในทีมนั้นมีอะไรให้เล่นเยอะ แน่นอนว่า บาติสตูตา, สเตฟาน เอฟเฟนแบร์ก, ไบรอัน เลาดรูป และ รุย คอสตา ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย 

ที่สำคัญคือ เรื่องนี้ยังแหกขนบประเพณีมังงะญี่ปุ่น ซึ่งมักจะมีการแปลงชื่อตัวละครที่มีที่มาจากคนที่มีตัวตนจริงๆเพื่อหลีกเลี่ยงลิขสิทธิ์ ด้วยการใช้ชื่อนักเตะจริงแบบดื้อๆอย่างนั้นเลย นั่นจึงทำให้ตัวละครมีมิติ มีอะไรให้เล่นมากขึ้น คนที่รู้จักนักฟุตบอลเหล่านี้ดีอยู่แล้วก็ชอบใจ (คนญี่ปุ่นคลั่งฟุตบอลอิตาลี จากการที่ "คาซู" คาซุโยชิ มิอูระ ไปเล่นให้กับ เจนัว ในปี 1994) ขณะที่คนที่ไม่เคยได้รู้รายละเอียดเกี่ยวกับนักเตะเหล่านี้ก็จะได้ติดตามเรื่องราวทั้งในการ์ตูนและในโลกแห่งความจริงไปพร้อมๆกันด้วย 

 6

"ส่วนสำคัญที่ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้ได้รับความนิยม น่าจะเป็นเพราะเป็นเรื่องที่ตัวละครเกือบทุกตัวเป็นผู้เล่นที่มีอยู่จริง และอ้างอิงจากเหตุการณ์จริงในบางส่วน" ปิติศักดิ์ โชติพิบูลทรัพย์ ผู้สื่อข่าว โกล ประเทศไทย กล่าวกับ Main Stand ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่ความชอบฟุตบอลอิตาลีของเขาโดยเฉพาะตัวละครในเรื่องที่อยู่รอบๆตัวพระเอกด้วย 

"ผมชอบบาติสตูตา ชอบรุย คอสตา รู้จักสเตฟาน เอฟเฟนแบร์ก โดยที่ไม่เคยเห็นเขาเล่นจริงๆเลยด้วยซ้ำ"  

ไม่ใช่ที่ไทยเท่านั้น แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็ได้การ์ตูนเรื่องนี้เปิดโลกทัศน์ขึ้นด้วย พวกเขาเปิดใจให้กับสโมสรฟิออเรนติน่า สโมสรที่ยังไม่มีนักเตะญี่ปุ่นอยู่กับสโมสรเลยสักคนในโลกแห่งความจริงตอนนั้น ทว่าแค่นักเตะอย่าง รุย คอสตา หรือคนอื่นๆก็สามารถเปลี่ยนแปลงพวกเขาได้แล้ว

 7

"เมื่อผมได้อ่านการ์ตูนเรื่องนี้ มันทำให้ผมอยากเข้าไปในโลกของฟุตบอลจริงๆเลย นักเตะอย่าง รุย คอสตา หรือ โรแบร์โต บาจโจ ทำให้ผมรู้ว่าอาจารย์ไอฮาระ (ผู้เขียน) นั้นคลั่งฟุตบอลอิตาลีขนาดไหน และนั่นมันส่งผ่านมายังความรู้สึกส่วนตัวของผมด้วยเช่นกัน" บล็อกเกอร์ชาวญี่ปุ่นเขียนบรรยายความชอบของเขาที่มีต่อเรื่อง Viva Calcio ผ่านเว็บไซต์ soccermanga.com 

รุย คอสตา ในโลกน้ำหมึก

ในโลกแห่งความจริงนั้น รุย คอสตา คือมันสมองของฟิออเรนติน่า และเป็นผู้ที่ทำให้เกมรุกของทีมลื่นไหลและสวยงามอย่างที่ไม่มีใครปฎิเสธได้ ทว่าในโลกแห่ง Viva Calcio นั้น ความสามารถของเขาถูกบดบังจนหมดเกลี้ยงด้วยรัศมีของ โย ชิอินะ พระเอกของเรื่องนั่นเอง 

หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ โย ชิอินะ เป็นเหมือน ลิโอเนล เมสซี ในยุคนี้ เรียกได้ว่าความสามารถของเขากดเพื่อนร่วมทีมจนมิด ความเป็นผู้นำของเขาดียิ่งกว่าที่เอฟเฟนแบร์กเป็น, การยิงประตูของเขาเฉียบขาดยิ่งกว่าบาติสตูตา และ มุมมองการสร้างสรรค์เกมของเขาเหนือยิ่งกว่า รุย คอสตา ด้วย 

บทของ รุย คอสตา ในเรื่องจึงเป็นเหมือนลูกหาบให้กับชิอินะ นักเตะตำแหน่ง "เอซ" ของทีม ที่ไม่ว่าชีน่าจะบอกอะไร เพื่อนๆในทีมก็จะต้องรับฟังแต่โดยดี จะเรียกว่าเป็นลูกน้องของพระเอกก็คงไม่ผิดนัก

 8

แม้บทบาทจะดูแสนต่ำต้อย แต่คอสตาก็เป็นหนึ่งในตัวละครที่นักอ่านหรือแม้กระทั่งคอบอลที่ได้อ่านชื่นชอบมากที่สุด เขาเป็นเหมือนนักเตะดาวรุ่งที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาจากพระเอกของเรื่อง และกลายเป็นนักเตะที่ดีขึ้นในทุกๆหน้ากระดาษ

ชิอินะนั้นมักจะบอก จะสอน ในเรื่องของเทคนิค หรือแม้แต่การเตรียมตัวและสภาพจิตใจให้กับ รุย คอสตา เพื่อช่วยให้คอสตาสามารถก้าวข้ามขีดความสามารถที่ตัวเองมี 

มีเกมๆหนึ่งที่ รุย คอสตา เล่นไม่ออก จ่ายบอลผิดพลาดไปหมดเพราะไม่สามารถรับมือกับความกดดันได้ สุดท้าย ชิอินะที่อายุแค่ 17 ปี ก็แค่เดินมาบอกว่า รุย คอสตา จะต้องมีสมาธิและเชื่อในเซนส์บอลของตัวเองให้มากกว่านี้แล้วทุกอย่างก็จะดีเอง หลังจากนั้นภาพก็ตัดมาที่ รุย คอสตา คิดทบทวนถึงสิ่งที่ชีน่าพูด ก่อนที่เขาจะดวงตาเห็นธรรมและกลายเป็นพระเอกที่มีส่วนสำคัญกับทีมในพาร์ทดังกล่าว

หากใครเคยอ่าน Viva Calcio มักจะมีบทพูดของ ชิอินะ (หรือ ชีน่า ตามการแปลไทย) ที่กระตุ้นเพื่อนอย่าง "ไปเลย บาตี้" (บาติสตูต้า) "ไปเลย รุย" (คอสต้า) ซึ่ง 2 นักเตะระดับโลกก็จะมีบทตอบกลับที่เหมือนกับล็อกไว้นั่นคือ "ได้เลย ชีน่า!" 

 9

เห็นได้ชัดว่านี่คือเรื่องราวที่สุดเว่อร์แต่ก็ช่างมีรสชาติเสียจริงๆ รุย คอสตา ย้ายเข้ามาเล่นในอิตาลีปีแรกกับทีมที่เคยหนีตกชั้น จากนั้นเขาก็ได้ชีน่าผลักดันจนกลายเป็นนักเตะที่ดีกว่าที่เคยเป็น และสุดท้ายการ์ตูนจะแสดงให้เราเห็นถึงบทบาทการต่อสู้แบบ อันเดอร์ด็อก (หมาจนตรอก) ในการดวลกับทีมใหญ่อย่าง เอซี มิลาน และ ยูเวนตุส หรือกระทั่งนักเตะที่เป็นเหมือนบอสของเรื่องอย่าง บาจโจ

แม้เราจะเดาตอนจบได้ว่ามันจะออกมาเป็นแบบไหน (ฟิออเรนติน่า ในยุค รุย คอสตา, กาเบรียล บาติสตูตา และ ชิอินะ ทีเป็นกัปตันทีม คว้าแชมป์ลีกแบบหักปากกาเซียน) แต่ด้วยความที่เรื่องไล่ลำดับและแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของนักเตะฟิออเรนติน่า หลังชิอินะเข้ามา ก็ทำให้อดใจลุ้นที่จะเชียร์ตามไม่ได้ ซึ่งตามธรรมชาติของคนเรานั้น ยังไงเสียก็ชื่นชอบในการเชียร์บอลรองอยู่แล้ว เพราะมันสนุก, ได้ลุ้น, ได้รับความรู้สึกของความยิ่งใหญ่ของชัยชนะนั่นเอง ที่ทำให้ Viva Calcio ถูกพูดถึงในบ้านเราจนกระทั่งทุกวันนี้แม้เวลาจะผ่านมาเกือบ 20 ปีแล้วก็ตาม 

หลังจากที่การ์ตูนเรื่องนี้จบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง รุย คอสตา ในโลกแห่งความจริงก็มีอันต้องย้ายจากฟิออเรนติน่าในปี 2001 เนื่องจากทีมประสบปัญหาทางการเงิน จากนั้นเขาก็ได้รับความยิ่งใหญ่ที่คู่ควรด้วยการนำ เอซี มิลาน คว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ในฤดูกาล 2002-03 ก่อนคว้าสคูเด็ตโต้ในปีถัดมา

 10

มาถึงยุคนี้หลายคนคงมีโอกาสได้รู้จัก รุย คอสตา กันมากขึ้นและกลายเป็นขวัญใจของใครหลายคน เพราะการถ่ายทอดสดเริ่มเข้าถึงคนไทยได้ง่ายกว่าแต่ก่อน รวมถึงเป็นยุคเริ่มแรกของอินเตอร์เน็ตที่มีข้อมูลให้ค้นคว้ามากมาย 

อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสำหรับแฟนบอลยุคเก่าๆที่ได้อ่าน Viva Calcio และได้รู้จัก รุย คอสตา ในโลกน้ำหมึกนั้นจะรู้สึกยินดีและผูกพันกับนักเตะคนนี้มากแค่ไหน

เพราะในความคิดของพวกเขานั้น รุย คอสตา รับสองบทบาทอย่างยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเป็นเพลย์เมคเกอร์ระดับเวิลด์คลาสในโลกแห่งความจริง และลูกหาบที่กลายเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการ์ตูนที่อยู่ในใจตลอดกาลนั่นเอง

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ "รุย คอสตา" : อัจฉริยะยุค 90's ที่แฟนบอลชาวไทยชื่นชอบจากตัวละครบนน้ำหมึก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook