"โจเซฟ บิสคาน" : นักเตะที่ยิงประตูได้มากที่สุดในโลก ผู้ถูกลืมเลือนในประวัติศาสตร์

"โจเซฟ บิสคาน" : นักเตะที่ยิงประตูได้มากที่สุดในโลก ผู้ถูกลืมเลือนในประวัติศาสตร์

"โจเซฟ บิสคาน" : นักเตะที่ยิงประตูได้มากที่สุดในโลก ผู้ถูกลืมเลือนในประวัติศาสตร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ใครคือนักเตะที่ยิงประตูได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์?"

ก่อนจะตอบคำถามนี้ ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า ประตูที่จะถูกนับเป็นสถิติต้องเป็นประตูที่ทำได้ในแมตช์อย่างเป็นทางการ ทั้งในระดับสโมสรและระดับทีมชาติ เพราะมีนักเตะหลายคนอ้างว่าตัวเองทำประตูได้มากมาย แต่กลับไม่มีสถิติจดบันทึกไว้ (หนึ่งในนั้นคือ “เปเล่” ตำนานแห่งบราซิลที่อ้างว่าตัวเองยิงประตูได้มากกว่า 1,000 ประตู)

ชื่อของ เปเล่ หรือสุดยอดนักเตะในยุคปัจจุบันอย่าง ลีโอเนล เมสซี่ กับ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ อาจผุดขึ้นมาเป็นตัวเลือกแรกๆ ในคำตอบของคำถามดังกล่าว

 

แต่นั่นไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง

เพราะจริงๆ แล้วนักเตะที่ยิงประตูได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์โลกฟุตบอลมีชื่อว่า “โจเซฟ บิสคาน” ซึ่งสามารถทำประตูได้มากถึง 805 ประตู จากการลงเล่นทั้งหมด 530 นัดตลอดการค้าแข้ง โดยสถิตินี้ได้รับการยืนยันโดย Rec.Sport.Soccer Statistics Foundation หรือ RSSSF องค์กรที่เก็บสถิติฟุตบอลอย่างเป็นทางการ

โจเซฟ บิสคาน คือใคร? ทำไมเขาถึงเป็นจอมถล่มประตูที่ถูกผู้คนลืมเลือน? ติดตามเรื่องราวของเขาได้ที่ Main Stand

ยอดนักเตะจากไฟสงคราม

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 25 กันยายน ปี 1913 หรือกว่า 107 ปีที่แล้ว คือวันที่ โจเซฟ บิสคาน ลืมตาดูโลกเป็นครั้งแรก ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย บิสคานมีพ่อเป็นชาวเช็ก ส่วนแม่เป็นชาวออสเตรีย นั่นทำให้เขาซึมซับทั้งสองวัฒนธรรมไว้ในตัว

 1

เช่นเดียวกับนักฟุตบอลอีกหลายคน พ่อของ บิสคาน เองก็เป็นนักฟุตบอลเช่นเดียวกัน โดยเล่นให้กับทีม แฮร์ธ่า เวียนนา (ASV Hertha Wien ในปัจจุบัน) แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวคือช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 1 กำลังคุกรุ่น ชายฉกรรจ์อย่างพ่อของ บิสคาน จึงโดนเกณฑ์ให้เข้าสู่สนามรบ ถึงแม้ว่าสุดท้ายเขาจะมีชีวิตรอดกลับมา และได้กลับมาเล่นฟุตบอลที่ตัวเองรักอีกครั้ง แต่ดูเหมือนว่าความตายจะไม่ยอมปล่อยเขาไปง่ายๆ เพราะท้ายที่สุดชายที่รอดชีวิตจากสงครามโลกได้กลับต้องเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บบริเวณ “ไต” ที่เกิดขึ้นระหว่างทำการแข่งขัน ทำให้ในวัยเพียง 8 ขวบ บิสคานก็ต้องสูญเสียเสาหลักของครอบครัวไปอย่างกะทันหัน

จากครอบครัวที่พอมีพอกิน การสูญเสียครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างมหาศาล สถานะทางครอบครัวของ บิสคาน ดิ่งลงอย่างรวดเร็ว กลายเป็นครอบครัวสุดยากจนแร้นแค้น ถึงแม้แม่ของ บิสคาน จะทำงานอย่างหนักเพื่อหาเงินมาจุนเจือ แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้นที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากไฟสงคราม เงินที่หามาได้จึงไม่เพียงพอเท่าไร

ในส่วนของ บิสคาน ยามว่างเขามักจะออกมาเตะฟุตบอลกับเพื่อนๆ ที่ข้างถนนเป็นประจำ ความรักในเกมชนิดนี้เหมือนถูกถ่ายทอดผ่านทางสายเลือด ถึงแม้ว่าเขาจะยากจนเกินกว่าจะมีรองเท้าใส่หรือมีลูกฟุตบอลเตะ แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา เด็กยากจนรู้จักการเอาตัวรอดเสมอ บิสคาน และเพื่อนๆ แก้ปัญหาโดยเอาเศษผ้าขี้ริ้วมาผูกรวมกันเป็นก้อนกลมๆ และเตะมันทั้งเท้าเปล่านั่นแหละ

“ข้อดีอย่างเดียวของสงครามและความยากจนคือมันช่วยหล่อหลอมให้ บิสคาน กลายเป็นยอดนักเตะโดยไม่รู้ตัว การต้องเล่นฟุตบอลโดยวัสดุแปลกๆ อยู่เสมอ และเล่นมันทั้งเท้าเปล่าทำให้ทักษะการควบคุมลูกฟุตบอล การยิง การเลี้ยง ของ บิสคาน นั้นยอดเยี่ยมยิ่งกว่าการฝึกฟุตบอลในสนามจริงๆ เสียอีก” Debojyoti Chakraborty นักข่าวจาก Golden Times ให้ความเห็น

ฝีเท้าของการเล่นฟุตบอลข้างถนนของ บิสคาน นั้นโดดเด่นจนสโมสร แฮร์ธ่า เวียนนา ซึ่งเป็นอดีตสโมสรต้นสังกัดของคุณพ่อดึงตัวเข้าไปใน แฮร์ธ่า เวียนนา II ซึ่งเป็นทีมระดับเยาวชนของสโมสร ซึ่งที่นี่พรสวรรค์ของ บิสคาน ก็ยังฉายแสงอย่างต่อเนื่อง เขาทำประตูได้เป็นกอบเป็นกำทุกครั้งเมื่อได้ลงสนาม

 2

“ความสามารถในการทำประตูของเขานั้นเกินจินตนาการ” หนึ่งในผู้สนับสนุนหลักของสโมสร แฮร์ธ่า เวียนนา ณ ขณะนั้น กล่าวชื่นชม เขารู้สึกประทับใจในตัวของ บิสคาน เป็นอย่างมาก ถึงขั้นที่ว่าทุกครั้งที่ บิสคาน ทำประตูได้ เขาจะมอบเงินรางวัลพิเศษให้ นี่จึงเป็นครั้งแรกที่ บิสคาน และครอบครัวเริ่มลืมตาอ้าปากได้ และมีความหวังว่าฟุตบอลนี่แหละจะทำให้ชีวิตเขากับครอบครัวดีขึ้น

หลังจากโดดเด่นในชุดเยาวชนของสโมสร แฮร์ธ่า เวียนนา แต่เมื่อ บิสคาน อายุได้ 15 สโมสร Schustek กลับเป็นตาอยู่มาจับเขาเซ็นสัญญาเป็นนักเตะอาชีพ และถึงแม้ บิสคาน จะก้าวสู่สนามการแข่งขันที่ยากขึ้น แข็งแกร่งขึ้น แต่มันก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะไม่ว่าจะเป็นที่ Schustek หรือ Farbenlutz สโมสรอาชีพลำดับที่สองในชีวิต บิสคาน ก็ยังถล่มประตูได้เป็นกอบเป็นกำ มากกว่าจำนวนนัดที่เขาลงเล่นด้วยซ้ำ จนในที่สุดเขาก็ถูก “ราปิด เวียนนา” สโมสรมหาอำนาจแห่งออสเตรียคว้าตัวไปร่วมทัพ ในขณะที่เขามีอายุได้เพียง 18 ปี

ณ สโมสร ราปิด เวียนนา บิสคาน ได้พิสูจน์ตัวเองอย่างกระจ่างแจ้งแล้วว่าไม่มีใครหยุดเขาได้อีกต่อไป เด็กหนุ่มคนนี้ยังเดินหน้าทำประตูอย่างบ้าคลั่ง ด้วยการลงเล่นเกมลีกไป 49 นัด ยิงได้ถึง 52 ประตู 

ชีวิตของ บิสคาน เหมือนกำลังจะถึงจุดที่รุ่งโรจน์ที่สุด แต่แล้วก็มีอุปสรรค์เกิดขึ้น ในปี 1937 เขาจำเป็นต้องอพยพออกนอกประเทศออสเตรียเพื่อหนีผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กำลังจะปะทุขึ้น จุดหมายปลายทางของเขาคือประเทศสาธารณรัฐเช็ก บ้านเกิดของผู้เป็นพ่อ โดยเขาได้เริ่มต้นเส้นทางนักฟุตบอลอาชีพในประเทศนี้กับ “สลาเวีย ปราก” หนึ่งในมหาอำนาจลูกหนังแห่งเช็ก 

และที่นี่เองชื่อของ โจเซฟ บิสคาน ก็ได้กลายเป็นตำนาน เพราะเขาค้าแข้งอยู่กับทีมนี้ยาวนานถึง 11 ปี ลงเล่นเกมลีกไป 217 นัด ยิงได้ถึง 395 ประตู! หลังจากนั้นเขาก็ตระเวนค้าแข้งให้กับสโมสรอื่นๆ ในประเทศเช็กอีก 2 สโมสร ก่อนจะกลับมาค้าแข้งกับ สลาเวีย ปราก อีกครั้งในช่วงปลายอาชีพ และแขวนสตั๊ดกับสโมสรแห่งนี้ในปี 1955 ด้วยวัย 42 ปี 

 3

805 ประตู จากการลงเล่นทั้งหมด 530 นัด คือสิ่งที่ บิสคาน ได้จารึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ลูกหนัง มันคือสถิติที่มหัศจรรย์จนแทบไม่น่าเชื่อว่าจะมีมนุษย์คนไหนทำได้ และถึงแม้ว่าในช่วงที่ บิสคาน ค้าแข้งอยู่นั้นแทบจะยังไม่มีวิดิโอบันทึกเหตุการณ์เอาไว้ จึงเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการว่าสไตล์หรือรูปแบบการเล่นของเขาเป็นอย่างไร แต่จากที่ Debojyoti Chakraborty นักข่าวจาก Golden Times ได้รวบรวมบทความที่เขียนถึง บิสคาน จากหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้น ก็พอที่จะทำให้เห็นภาพขึ้นมาบ้างว่า โจเซฟ บิสคาน เป็นอย่างไรเมื่ออยู่ในสนาม

 4

“โจเซฟ บิสคาน คือนักเตะที่ทรงพลัง มีความดุดัน เขาควบคุมลูกฟุตบอลได้อย่างยอดเยี่ยม ยิงประตูได้อย่างเฉียบขาด ไม่ว่าจะเป็นการเข้าฮอสหรือวอลเล่ย์จากระยะ 30 หลา และมีบันทึกที่บอกสถิติเอาไว้ว่า จากโอกาสทำประตู 20 ครั้ง เขาจะพลาดเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น”

“บิสคาน สามารถวิ่ง 100 เมตร ภายในระยะเวลาเพียง 10.8 วินาที ซึ่งเป็นเวลาที่ไม่น้อยหน้านักวิ่งอาชีพเลยทีเดียว”

“หนึ่งในการซ้อมของบิสคานคือการวางขวดน้ำ 10 ขวดเรียงกันไว้บนคานประตู ก่อนจะยิงลูกฟุตบอลจากบริเวณกรอบเขตโทษไปที่ขวดน้ำลงไปทีละขวด และส่วนใหญ่เขาก็ไม่เคยพลาดเกินหนึ่งครั้งเลย”

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยกันใช่ไหมว่า ถ้าเขาเก่งขนาดนั้นจริงๆ ทำไมชื่อเสียงของ โจเซฟ บิสคาน ถึงไม่โด่งดังเท่าที่ควร จะว่าเพราะเป็นนักเตะในยุคเก่าก็ไม่น่าใช่ เพราะ “เฟเรนซ์ ปุสกัส” ก็เป็นนักฟุตบอลในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน แต่ชื่อเสียงของเขากลับได้รับการยกย่องมาถึงปัจจุบัน 

คำถามนี้มีคำตอบ แต่จุดเริ่มต้นของมันต้องย้อนกลับไปในสมัยที่ บิสคาน ยังค้าแข้งอยู่กับทีม ราปิด เวียนนา...

ผู้ไม่ยอมก้มหัว

โจเซฟ บิสคาน มีชื่อติดทีมชาติออสเตรียครั้งแรกในสมัยที่ค้าแข้งอยู่กับสโมสร ราปิด เวียนนา ปี 1933 ซึ่งในขณะนั้นทีมชาติออสเตรียถือเป็นมหาอำนาจลูกหนัง เต็มไปด้วยบรรดานักเตะซูเปอร์สตาร์ จนได้รับการขนานนามว่า “Wunderteam” หรือทีมฟุตบอลมหัศจรรย์ มีสุดยอดกุนซืออย่าง “ฮูโก้ ไมส์” (Hugo Meisl) บัญชาเกมอยู่ข้างสนาม โดยสไตล์ของเขานั้นจะให้ลูกทีมเน้นที่การต่อบอลอย่างรวดเร็วเป็นหลัก

 5

บิสคาน ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Wunderteam โดยเขาคือกองหน้าคนสำคัญที่พาทีมสู้ศึกฟุตบอลโลกปี 1934 ที่ประเทศอิตาลี และเมื่อทัวร์นาเมนต์เริ่มต้นขึ้น (ฟุตบอลโลกในครั้งนั้นมีทีมเข้าร่วมเพียง 16 ทีม) ทีมชาติออสเตรียก็โชว์ฟอร์มได้สมราคาเต็งแชมป์ พวกเขาเอาชนะทีมชาติฝรั่งเศสในรอบแรกได้ แม้จะหืดจับหลังเกมยืดเยื้อสู่ช่วงต่อเวลาด้วยสกอร์ 3-2 ซึ่ง บิสคาน ยิงได้ 1 ประตูในเกมดังกล่าวอีกด้วย ก่อนที่ในรอบต่อมา “เดอะ แม็กย่าร์” ทีมชาติฮังการี ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งมหาอำนาจลูกหนังที่น่าเกรงขามในเวลานั้นจะกลายเป็นเหยื่อทีมต่อไป โดยทีมชาติออสเตรียเอาชนะไปด้วยสกอร์ 2-1

เข้าสู่รอบรองชนะเลิศ ทีมชาติออสเตรียโคจรมาเจอกับทีมชาติอิตาลี เจ้าภาพการแข่งขันครั้งนี้ ซึ่งถ้าวัดกันตามหน้าเสื่อ ทีมชาติออสเตรียถือว่าเหนือกว่าพอสมควร แต่การจะผ่านทีมชาติอิตาลีเข้าสู่รอบต่อไปนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ ณ ขณะนั้น ประเทศอิตาลีถูกปกครองด้วย “เบนิโต มุสโสลินี” (Benito Mussolini) ผู้นำพรรคชาตินิยมฟาสซิสต์ ซึ่งจอมเผด็จการคนนี้ต้องการให้ประเทศอิตาลีเป็นแชมป์ฟุตบอลโลก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณาชวนเชื่อ สร้างความยิ่งใหญ่เกรียงไกรให้ชาติอื่นๆ หวาดกลัว

โดยก่อนการแข่งขันรอบรองชนะเลิศจะเริ่มขึ้น มีรายงานว่า “อีวาน เอกลินด์” (Ivan Eklind) ผู้ตัดสินชาวสวีเดนซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ในเกมระหว่าง อิตาลี กับ ออสเตรีย ถูก มุสโสลินี เรียกเข้าไปรับประทานอาหารเย็นด้วยเป็นการส่วนตัว

ถึงแม้จะไม่มีใครทราบว่าทั้งคู่พูดคุยอะไรกัน แต่เมื่อการแข่งขันรอบรองชนะเลิศนัดดังกล่าวเริ่มต้นขึ้น คำตอบก็เหมือนได้รับการเฉลยผ่านเหตุการณ์ในสนาม เมื่อผู้รักษาประตูของทีมชาติออสเตรียคว้าลูกฟุตบอลไว้ในการครอบครอง ห่างจากปากประตูประมาณ 3 เมตร เป็นการครอบครองโดยสมบูรณ์แบบ แต่เขากลับถูก “เอ็นริเก้ กูเอต้า” (Enrique Guaita) กองหน้าทีมชาติอิตาลีกระแทกเข้าเต็มๆ จนทำบอลหลุดออกจากมือ และสุดท้าย กูเอต้า ก็ส่งลูกฟุตบอลผ่านปากประตูโล่งๆ เข้าไปอย่างง่ายดาย 

แน่นอนว่าผู้เล่นทีมชาติออสเตรีย รวมถึงตัว บิสคาน ประท้วงผู้ตัดสินอย่างหนัก แต่ก็ไม่เป็นผล ซึ่งนั่นคือประตูเดียวที่เกิดขึ้นในเกมดังกล่าว ทีมชาติอิตาลีเอาชนะไปด้วยสกอร์ 1-0 และสุดท้ายพวกเขาก็คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งดังกล่าวได้สำเร็จ สมใจ มุสโสลินี ส่วนออสเตรีย จบเพียงอันดับ 4 เท่านั้น หลังพ่ายเยอรมันในรอบชิงอันดับ 3

ทางด้าน บิสคาน รู้สึกแย่กับเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างมาก เขาคิดว่าทีมชาติออสเตรียถูกปล้นชัยชนะโดยระบอบเผด็จการ และความรู้สึกนี้ก็ติดค้างอยู่ในใจเขาไปตลอด 

เมื่อฟุตบอลโลก 1934 จบลง เค้าลางแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อจักรวรรดินาซีเยอรมันบุกเข้ายึดครองประเทศออสเตรีย และหลังจากนั้นในศึกฟุตบอลโลกปี 1938 ทีมชาติออสเตรียก็ได้เข้าร่วมทัวร์นาเมนต์อีกครั้ง แต่ครั้งนี้พวกเขาต้องลงเล่นภายใต้การควบคุมของจักรวรรดินาซีเยอรมัน

 6

บิสคาน ปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่ขอเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีม เขาไม่อยากมีส่วนในการสนับสนุนความยิ่งใหญ่ของระบอบเผด็จการ ถึงแม้ว่ามันจะต้องแลกด้วยการต้องหนีออกนอกประเทศก็ตาม ซึ่งนั่นทำให้ฟุตบอลโลก 1934 เป็นฟุตบอลโลกเพียงครั้งเดียวที่ บิสคาน ได้เข้าร่วม เนื่องจากหลังจบฟุตบอลโลก 1938 การแข่งขันนี้ก็ต้องหยุดพักไปถึง 12 ปี จากภัยสงคราม กว่าจะกลับมาแข่งกันอีกครั้งในปี 1950 บิสคานก็เข้าสู่ช่วงปลายอาชีพที่สภาพร่างกายโรยราแล้ว

การไม่ได้เข้าร่วมศึกฟุตบอลโลก จนทำให้ความสามารถไม่เป็นที่เฉิดฉายในวงกว้าง คือหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ชื่อของ โจเซฟ บิสคาน ไม่ได้รับการพูดถึงเท่าที่ควร นอกจากนั้นอีกเหตุผลคือการที่เขาไม่ยอมย้ายไปเล่นในสโมสรที่ยิ่งใหญ่ในยุโรป

“ยูเวนตุส” คือหนึ่งในสโมสรที่อยากได้ตัวของ บิสคาน พวกเขาพยายามหลายต่อหลายครั้งที่จะชักชวนจอมถล่มประตูคนนี้ไปร่วมทัพ แต่ไม่ว่าจะกี่ครั้ง บิสคาน ก็ปฏิเสธทุกข้อเสนอเสียงแข็ง ซึ่งเหตุผลของเขาก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการไม่อยากย้ายไปอยู่ที่อิตาลี ซึ่งเป็นประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยปล้นชัยชนะของเขาและเพื่อนไป

การไม่ยอมก้มหัวสิโรราบต่ออำนาจเผด็จการ จึงเป็นคำตอบของคำถามที่ว่าทำไมชื่อของ โจเซฟ บิสคาน เหมือนจะถูกลืมเลือนไปในประวัติศาสตร์และได้รับการยกย่องน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

เกียรติยศที่คู่ควร

ในช่วงที่ โจเซฟ บิสคาน ค้าแข้งอยู่นั้น ทุกคนรู้ดีว่าเขาคือนักเตะที่ยอดเยี่ยม ยิงประตูได้เป็นว่าเล่น แต่กว่าที่โลกจะรู้ว่า บิสคาน ไม่ใช่แค่ยอดเยี่ยม แต่เขาคือผู้เล่นที่ทำประตูได้มากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์เวลาก็ล่วงเลยมาหลายสิบปีแล้ว

 7

International Federation of Football History & Statistics หรือ IFFHS คือองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1984 จุดประสงค์คือการเก็บสถิติฟุตบอลต่างๆ มาบันทึกเป็นฐานข้อมูลอย่างเป็นทางการ และนั่นคือครั้งแรกที่โลกได้รู้ความสุดยอดของ บิสคาน

805 คือจำนวนประตูที่ถูกบันทึกลงสถิติ ทำให้ บิสคาน กลายเป็นนักเตะที่ทำประตูได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ถึงแม้ว่าตัวของ บิสคาน เองจะยืนกรานว่าจริงๆ แล้วเขานั้นทำประตูได้มากกว่านี้พอสมควร แต่ด้วยสภาพสังคมในช่วงเวลานั้นที่คุกรุ่นด้วยไฟสงคราม จึงมีหลายประตูที่เขาทำได้ แต่บันทึกกลับสูญหายไป 

 8

อย่างไรก็ตาม 805 ประตูนั้นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เขาได้รับรางวัลเกียรติยศอย่าง “Golden Ball” ซึ่งทาง IFFHS มอบให้ในปี 2001 เพื่อเชิดชูว่าเขาคือจอมทำประตูที่ดีที่สุดแห่งศตวรรษ เช่นเดียวกับทาง RSSSF ที่รับรองสถิติการทำประตูดังกล่าว นอกจากนั้นในปีเดียวกันทางสโมสร สลาเวีย ปราก ก็ได้มอบรางวัล “Freedom of Slavia Prague” เพื่อเป็นที่ระลึกว่าครั้งหนึ่ง โจเซฟ บิสคาน คือตำนานของสโมสรและเมืองแห่งนี้

ถึงแม้ว่าบรรดารางวัลดังกล่าวจะมาช้ากว่าที่ควรจะเป็นไปหลายสิบปี บิสคาน ต้องขึ้นเวทีรับรางวัลในสภาพที่แก่ชรา เส้นผมบนศีรษะขาวโพลน แต่ก็ถือว่าโชคดีที่ยังทันเวลา อย่างน้อยเขาก็ได้รับเกียรติที่เขาควรจะได้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะเพียงไม่นานหลังจากนั้น ในเดือนธันวาคม ปี 2001 โจเซฟ บิสคาน ก็สิ้นลมอย่างสงบด้วยวัย 88 ปี ปิดตำนานจอมสังหารประตูที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

 9

บทสุดท้ายของเรื่องราวนี้ ถึงแม้ โจเซฟ บิสคาน อาจจะไม่ได้รับการยกย่องเท่าที่ควร แต่ชื่อของเขาก็ยังคงถูกจารึกไว้ในฐานะนักเตะที่ทำประตูได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ อย่างน้อยก็ในช่วงที่กีฬาฟุตบอลได้ถือกำเนิดอย่างเป็นทางการเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้วถึงปัจจุบัน จนกว่าจะมีใครก้าวข้ามกำแพงอันสูงชันที่เขาสร้างเอาไว้ได้...

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ "โจเซฟ บิสคาน" : นักเตะที่ยิงประตูได้มากที่สุดในโลก ผู้ถูกลืมเลือนในประวัติศาสตร์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook