ไขข้อข้องใจทำไมตลาดซื้อขายนักเตะต้องมีแค่ 2 ฤดู?

ไขข้อข้องใจทำไมตลาดซื้อขายนักเตะต้องมีแค่ 2 ฤดู?

ไขข้อข้องใจทำไมตลาดซื้อขายนักเตะต้องมีแค่ 2 ฤดู?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตลาดซื้อขายนักเตะฤดูหนาวของยุโรปปิดทำการไปเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นช่วงสำคัญที่ทำให้หลายทีมมีโอกาสได้วางแผนแก้ไข หรือปรับปรุงทีม หลังผ่านการแข่งขันมาแล้วครึ่งฤดูกาล

อย่างไรก็ดี ระบบตลาดซื้อขายนักเตะฤดูหนาวในปัจจุบัน ถือเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในวงการฟุตบอล และมีอายุไม่ถึง 20 ปี เท่านั้น แถมเมื่อก่อนยังไม่มีแม้แต่ตลาดนักเตะฤดูร้อน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ทำให้นักเตะสามารถย้ายทีมได้ตลอดเวลา เว้นแค่ไม่กี่เดือนก่อนปิดฤดูกาล

 

อะไรคือสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้มีระบบนี้ รวมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand

จุดกำเนิดซื้อขายนักเตะ

ในโลกของฟุตบอล การซื้อขายแลกเปลี่ยนนักเตะ ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยให้ทีมประสบความสำเร็จ เพราะบางทีผู้เล่นคีย์แมนเพียงไม่กี่คน ก็สามารถเปลี่ยนแปลงทีมจากหน้ามือเป็นหลังมือ 

 1

แต่ย้อนกลับไปเมื่อ 100 กว่าปีก่อน ในยุคที่ฟุตบอลกำลังตั้งไข่ที่อังกฤษ ชาติแรกๆ ของโลก ที่เริ่มเล่นฟุตบอลอย่างมีระบบ การซื้อขายนักเตะเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นหู เนื่องจากในยุคนั้นผู้เล่นสามารถไปเล่นให้ทีมต่างๆ ได้อย่างอิสระ ตัวอย่างเช่นวันเสาร์ไปเล่นให้กับทีมหนึ่ง อีกอาทิตย์ไปเล่นให้กับอีกทีมก็ทำได้ 

จนกระทั่งในปี 1885 ด้วยความที่สมาคมฟุตบอลอังกฤษ ต้องการทำให้การแข่งขันฟุตบอลมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ต้องการให้เหล่านักเตะอยู่ภายใต้การควบคุม จึงได้นำ “ระบบลงทะเบียนนักเตะ” เข้ามา 

มันคือระบบที่ให้ผู้เล่นต้องลงทะเบียนกับสโมสรทีมใดทีมหนึ่งเพียงทีมเดียวในแต่ละฤดูกาล หากผู้เล่นคนไหนไม่ได้ลงทะเบียน ก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้ลงเล่น ในขณะเดียวกันหากลงทะเบียนกับสโมสรใดไปแล้ว พวกเขาจะไม่สามารถไปลงทะเบียนกับสโมสรอื่นในฤดูกาลเดียวกัน หากไม่ได้รับอนุญาตจากสโมสรที่เคยลงทะเบียนไว้ และสมาคมฟุตบอลฯ 

อย่างไรก็ดี ระบบดังกล่าวกลับมีช่องโหว่ เพราะแม้ผู้เล่นจะลงทะเบียนกับสโมสรใดไว้แล้วก็ตาม แต่มันมีผลผูกพันเพียงแค่ฤดูกาลเดียว ทุกอย่างจะเหมือนรีเซ็ตใหม่เมื่อจบซีซั่น ที่ทำให้นักเตะสามารถย้ายไปอยู่กับทีมไหนก็ได้อย่างอิสระ เพียงแค่ลงทะเบียนให้ทันก่อนเปิดฤดูกาล 

แน่นอนว่ามันส่งผลกระทบตามมา เพราะตามระบบนี้ หากสโมสรต้องการเก็บผู้เล่นไว้ พวกเขาต้องเสนอสัญญาใหม่ด้วยค่าแรงที่สูงขึ้น และถ้าผู้เล่นปฏิเสธ พวกเขาก็สามารถย้ายไปเล่นให้ทีมอื่นได้อย่างง่ายดาย 

สิ่งนี้ทำให้เกิดวัฏจักรปลาใหญ่กินปลาเล็ก เมื่อทีมร่ำรวยสามารถดูดนักเตะไปจากทีมเล็ก โดยใช้ค่าแรงที่สูงกว่าเป็นเครื่องล่อใจ ทำให้ลีกขาดความสมดุล เมื่อเหล่านักเตะฝีเท้าดีต่างไปกองกันอยู่ที่ทีมใหญ่ จนอาจทำให้ลีกล่มสลาย 

และเมื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น พวกเขาจึงนำระบบใหม่ที่ชื่อว่า “Retain transfer” มาใช้ 

 2

ระบบดังกล่าว ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในฤดูกาล 1893-94 โดยหากนักเตะคนใดลงทะเบียนกับสโมสรใดไปแล้ว พวกเขาจะไม่สามารถไปลงทะเบียนกับสโมสรอื่นได้อีก แม้จะเป็นฤดูกาลถัดมา ถ้าไม่ได้รับอนุญาตจากสโมสรที่ลงทะเบียนไว้ตอนแรก

นอกจากนี้ หากนักเตะไม่ต่อสัญญา พวกเขาก็ไม่มีสิทธิ์ย้ายทีม หากสโมสรไม่อนุญาต แถมการไม่ต่อสัญญา ยังทำให้สโมสรไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเดือนให้กับนักเตะเหล่านี้ และไม่สามารถลงเล่นให้ทีมไหนได้เช่นกัน 

ซึ่งวิธีเดียวที่จะย้ายทีมได้ คือการให้ทีมที่สนใจยื่นข้อเสนอจ่ายเงินเป็นค่าคืนสิทธิ์ลงทะเบียนของนักเตะดังกล่าว และมันก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการจ่ายเงินเพื่อซื้อขายนักเตะ โดยมี จอห์น เรย์โนลด์ และ วิลลี โกรฟ ที่ได้รับการบันทึกว่าเป็นนักเตะ 2 คนแรกในประวัติศาสตร์ที่ย้ายทีมแบบมีค่าตัว หลังย้ายจาก เวสต์บรอมวิช อัลเบียน ไปร่วมทีม แอสตัน วิลลา เมื่อปี 1893 ด้วยค่าตัว 50 และ 100 ปอนด์ตามลำดับ 

อย่างไรก็ดี ระบบดังกล่าวกลับเป็นเหมือนสัญญาทาสตลอด 70 ปีต่อมา

ผู้ปฏิวัติ 

ระบบ Ratain transfer เหมือนจะเป็นนโยบายที่ทำให้สโมสรแฮปปี้ เพราะพวกเขาไม่ต้องกังวลว่าจะเสียนักเตะแบบฟรีๆ ตอนจบฤดูกาล และมีส่วนสำคัญที่ทำให้ลีกอังกฤษเติบโตไปพร้อมกัน จากการไม่มีทีมใดทีมหนึ่งผูกขาดความสำเร็จ 

 3

ทว่า ตรงกันข้ามในมุมของนักเตะ เพราะมันเป็นเหมือนโซ่ล่ามพวกเขา แถมการที่สมาคมฟุตบอลฯ ได้นำกฎเพดานค่าเหนื่อยมาใช้ในเวลาต่อมา เพื่อต้องการรักษาสเถียรภาพทางการเงิน ยิ่งทำให้ผู้เล่นถูกกดค่าแรง และไร้อำนาจในการต่อรองมากขึ้น  

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1950 จนถึงต้นทศวรรษ 1960 นักเตะชื่อดังของอังกฤษ อย่าง จอห์น ชาร์ลส์ หรือ จิมมี กรีฟส์ ตัดสินใจย้ายไปค้าแข้งในต่างแดนกับ ยูเวนตุส และ เอซี มิลาน ตามลำดับ เมื่อการเล่นในประเทศทำให้พวกเขาต่างได้รับค่าเหนื่อยกันไม่เกิน 20 ปอนด์ต่อสัปดาห์   

กระทั่งนักเตะชื่อ จอร์จ ฮีสต์แฮม เป็นผู้จุดชนวนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น...

ในปี 1959 อีสต์แฮม ทำผลงานได้อย่างโดดเด่นให้กับ นิวคาสเซิล โดยยิงไป 18 ประตูจาก 42 นัด ผลงานดังกล่าวทำให้สโมสรพยายามจะต่อสัญญากับเขาที่กำลังจะหมดลง แต่เจ้าตัวกลับปฎิเสธ และขอขึ้นบัญชีขาย 

อย่างไรก็ตาม นิวคาสเซิล ก็ไม่ยอมเช่นกัน เขาไม่อนุญาตให้ อีสต์แฮม ย้ายทีม และไม่ยอมคืนสิทธิ์การลงทะเบียน เช่นกัน ทีมสาลิกาดงไม่ขายนักเตะให้ทีมไหน รวมไปถึงไม่จ่ายเงินเดือนให้เขาอีกด้วย

แต่อีสต์แฮมก็ตอบโต้ด้วยการไม่ยอมลงเล่นให้ นิวคาสเซิล ตลอดทั้งฤดูกาล 1960-1961 และเดินทางลงใต้ไปทำงานกับครอบครัวเพื่อนที่ชื่อว่า เออร์นี เคลย์ (ที่ต่อมากลายเป็นประธานสโมสร ฟูแลม) โดยขายจุกไม้ก๊อกเพื่อประทังชีพ 

 4

“สัญญาของพวกเราผูกมัดเราไว้กับสโมสรตลอดชีวิต คนส่วนใหญ่เรียกมันว่า ‘สัญญาทาส’  เราแทบไม่มีสิทธิ์อะไรเลย มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ที่คนอื่นไม่เพียงแต่มีรายได้มากกว่าเรา แม้ว่ามันไม่ใช่เรื่องผิด แต่เขาก็มีอิสระในการย้ายทีมมากกว่าเรา” อีสต์แฮมกล่าวในภายหลัง 

“คนในธุรกิจหรือคนที่สั่งสอนเราสามารถยื่นเจตจำนงและไปที่ไหนก็ได้ แต่เราทำไม่ได้ ซึ่งสิ่งนี้มันผิด” 

การประท้วงของเขาเริ่มเห็นผลในเดือนตุลาคม 1961 หรือเกือบหนึ่งปีต่อมา เมื่อ นิวคาสเซิล ยอมขายอีสต์แฮมให้ อาร์เซนอล ด้วยค่าตัว 47,500 ปอนด์ แต่ อีสต์แฮม รู้สึกว่ามันยังไม่คุ้มค่ากับเวลาที่สูญเสียไป เขาจึงตัดสินใจยื่นฟ้องดำเนินคดีกับ นิวคาสเซิล ต่อศาลสูง โดยมีสมาคมนักฟุตบอลอาชีพเป็นผู้ช่วยจ่ายค่าคดีความให้ 

คดีถูกตัดสินในปี 1963 โดยผู้พิพากษาเห็นด้วยว่าระบบ Retain เป็นระบบที่ไม่สมเหตุผล ทำให้ถึงแม้ว่าศาลจะไม่ได้ให้ นิวคาสเซิล จ่ายเงินค่าเหนื่อยให้กับ อีสต์แฮม ในช่วงเวลาที่เขาประท้วงตามที่เขาร้องขอ เนื่องจากมองว่าเขาไม่ได้ลงเล่นให้สโมสร แต่มันก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ระบบนี้หายไป 

มันถือเป็นข่าวดีซ้ำสอง เพราะก่อนหน้านี้เมื่อปี 1961 กระทรวงแรงงานของอังกฤษ เพิ่งจะยกเลิกระบบเพดานค่าเหนื่อย อันเนื่องมาจากการกดดันของสมาคมนักฟุตบอลอาชีพอังกฤษที่ขู่ว่าจะประท้วงไม่ลงเล่น 

การล่มสลายของพวกมัน ทำให้การซื้อขายนักเตะคึกคักมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นยังพูดได้ไม่เต็มปากว่าอิสระ จนกระทั่งเกิดการต่อสู้ของนักฟุตบอลเบลเยียมคนหนึ่ง

บอสแมนผู้เปลี่ยนโลก 

แม้ว่า อีสต์แฮม จะช่วยปลดแอกเหล่านักเตะจากสัญญาทาส ที่ใช้ต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน แต่ต้องยอมรับว่าการซื้อขายนักเตะทั้งหมด ยังมีข้อผูกมัดอยู่ไม่น้อย แม้แต่นักเตะที่หมดสัญญากับสโมสรก็ตาม

 5

และในปี 1990 ฌอง มาร์ค บอสแมน ก็ต้องมาประสบกับปัญหานี้เช่นกัน เขาในวัย 25 ปี กำลังจะหมดสัญญา กับ อาร์เอฟซี ลีแอช สโมสรในลีกเบลเยียม และได้ลงเล่นไปเพียงแค่ 3 นัด ตลอด 2 ปีที่นั่น จึงวางแผนหาทีมใหม่หลังสัญญาหมดลง

ดันเคิร์ก สโมสรในลีกรองของฝรั่งเศสคือทีมที่ยื่นข้อเสนอเข้ามา ทว่าในตอนนั้นแม้ผู้เล่นจะหมดสัญญา แต่ก็ไม่สามารถย้ายทีมได้ หากสโมสรไม่ยินยอม แถมลีแอช ยังเรียกเงิน 500,000 ปอนด์ จากการย้ายทีมในครั้งนี้ด้วย 

“ผมเป็นเหมือนนักโทษในสโมสรตัวเอง” บอสแมนย้อนความหลังกับ The Guardian 

“ผมหมดสัญญากับลีแอช พวกเขายื่นสัญญาใหม่ให้ผมด้วยรายได้ที่น้อยกว่าเดิม 4 เท่า และจะขายผมให้ดันเคิร์ก โดยเรียกเงิน 4 เท่าจากราคาที่ซื้อผมมา” 

“พูดง่ายๆ คือ พวกเขามองว่าผมเก่งขึ้น 4 เท่าหากย้ายทีม และแย่กว่าเดิม 4 เท่าถ้าผมอยากเซ็นสัญญากับพวกเขาอีกครั้ง”  

แน่นอนว่า ดันเคิร์ก ก็ไม่ยอม จึงทำให้ดีลนี้ต้องล่มลง ผลดังกล่าวทำให้ บอสแมน ถูกแบนจากลีแอช แถมยังถูกลดค่าเหนื่อยลงถึง 75 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 500 ปอนด์ต่อเดือน และถูกกักไว้ที่สโมสรในฐานะพนักงานคนหนึ่ง แม้ว่าหลังจากนั้นเขาจะได้ย้ายทีม แต่เป็นเพียงแค่สโมสรในลีกระดับล่างหรือทีมสมัครเล่นเท่านั้น 

 6

“ผมยอมรับวิธีการแบบนี้ไม่ได้ ที่ถูกมองว่าผมทำผิดกฎหมายอย่างสมบูรณ์ ผมถูกแบนจากสมาคมฟุตบอลเบลเยียมเพราะว่าผมไม่อยากเซ็นสัญญา ถ้าผมไม่เซ็นสัญญาใหม่ ผมก็ยังต้องอยู่กับลีแอช และผมก็ไม่ยอมรับเรื่องนี้ ผมต้องพลาดโอกาสที่จะรายได้มากกว่าเดิมที่สโมสรอื่น” บอสแมนกล่าวต่อ 

แม้ว่ามันจะเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมา ที่สโมสรมีสิทธิ์ในตัวนักเตะ ไม่ว่าจะหมดสัญญาหรือไม่ก็ตาม แต่บอสแมน ก็รู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรม ทำให้หลังจากนั้น เขาได้ยื่นฟ้องดำเนินคดีกับ ลีแอช สมาคมฟุตบอลเบลเยียม และ ยูฟ่า โดยอ้างถึงสนธิสัญญาแห่งกรุงโรมเมื่อปี 1957 ในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐานในกลุ่มสมาชิกชาติยุโรป หรือ สหภาพยุโรป ในปัจจุบัน 

“ยูฟ่าและฟีฟ่าส่งข้อความให้ทุกสโมสรไม่ให้จ้างผม เพราะผมดำเนินการทางกฎหมายกับยูฟ่า ฟีฟ่า สมาคมฟุตบอลเบลเยียม และลีแอช” อดีตกองกลางชาวเบลเยียมอธิบาย

“ในตอนนั้นผมตระหนักได้ว่าชีวิตอาชีพของผมกำลังจะถึงจุดจบ ดังนั้นผมจึงตัดสินใจที่จะดำเนินคดีในเรื่องของสัญชาติ เหตุผลของผมคือผมเป็นพลเมืองยุโรป และควรที่จะย้ายไปไหนมาได้อย่างอิสระเหมือนกับแรงงานคนอื่น” 

หลังใช้เวลาต่อสู้กันอย่างยาวนาน ที่ทำให้เขาตกอยู่ในสภาวะล้มละลาย แถมทำให้ชีวิตคู่ของเขาพังทลาย ในที่สุดศาลยุติธรรมแห่งยุโรป ก็พิพากษาให้ บอสแมนเป็นผู้ชนะ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 1995 ที่ทำให้นักเตะสามารถย้ายทีมได้อย่างอิสระหลังหมดสัญญา และถูกเรียกว่า “กฎบอสแมน” 

และมันก็ทำให้การซื้อขายนักเตะของโลกเปลี่ยนไปตลอดกาล

ตลาดหน้าร้อนหน้าหนาว 

คดีบอสแมน กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ผู้เล่นและเอเยนต์มีพลังมากขึ้น พวกเขาสามารถย้ายทีมได้โดยไม่มีเงื่อนไขหลังหมดสัญญา แถมยังสามารถต่อรองเรียกเงินในการเซ็นสัญญากับทีมใหม่ หรือขอเพิ่มค่าเหนื่อยก่อนหมดสัญญาเพื่อจะได้ไม่เสียพวกเขาไปแบบไร้ค่าตัว 

 7

นอกจากนี้ หลังจากนั้นยูฟ่ายังได้ยกเลิกกฎ 3+2 ที่ก่อนหน้านั้นทุกทีมสามารถส่งผู้เล่นต่างชาติลงในการแข่งขันของยูฟ่าได้ไม่เกิน 3 คน และผู้เล่นจากอคาเดมีอีก 2 คน มาเป็นสามารถส่งผู้เล่นจากชาติอียูได้ไม่จำกัด ที่ทำให้เกิดการซื้อนักเตะนอกประเทศมากขึ้น 

ทำให้หลังจากนั้น ตลาดนักเตะกลับมาคึกคัก มีผู้เล่นชื่อดังมากมายที่ได้ประโยชน์จากกฎบอสแมน ไม่ว่าจะเป็น เอ็ดการ์ ดาวิดส์ ที่ย้ายจาก อาหยักซ์ อัมเตอร์สดัม ไป เอซี มิลาน หลุย เอ็นริเก ที่ปฏิเสธสัญญาฉบับใหม่กับ เรอัล มาดริด เพื่อไปเล่นให้กับคู่แข่งอย่าง บาร์เซโลนา หรือ สตีฟ แม็คมานามาน ที่ย้ายจาก ลิเวอร์พูล ไป เรอัล มาดริด ที่กลายเป็นนักเตะอังกฤษคนแรกที่ใช้กฎนี้ 

อย่างไรก็ดี ด้วยการย้ายทีมอย่างอิสระ ที่สามารถย้ายไปทีมไหน หรือเมื่อไรก็ได้ บวกกับอำนาจในการต่อรองของนักเตะและเอเยนต์ที่เพิ่มมากขึ้น จนทำให้ตลาดนักเตะเกิดการปั่นป่วน ทำให้แนวคิดที่จะใช้ระบบ “ตลาดนักเตะฤดูร้อน-ฤดูหนาว” เกิดขึ้นมา

อันที่จริงระบบนี้ถูกใช้ในบางประเทศของยุโรปอยู่แล้ว และเคยถูกนำเสนอในพรีเมียร์ลีกมาตั้งแต่ปี 1992 แต่ก็ถูกตีตกไป ก่อนที่มันจะถูกพูดถึงในการประชุม 9 ลีกใหญ่ของยุโรป ซึ่งประกอบไปด้วย อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน ฮอลแลนด์ โปรตุเกส เบลเยียม และ สก็อตแลนด์ โดยหวังที่จะบังคับใช้ระบบไปทั่วทั้งทวีปให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน 

 8

“มันจะช่วยควบคุมพวกเอเยนต์ที่คอยเร่ขายนักเตะของตัวเองไปเรื่อยๆ และผมคิดว่ามันจะทำให้สโมสรเริ่มวางแผนไปข้างหน้าอย่างถูกต้อง ผมคิดว่ามันสมเหตุสมผลมากเลย” ปีเตอร์ ลีเวอร์ หัวหน้าผู้บริหารของพรีเมียร์ลีกกล่าวเมื่อปี 1998 

แน่นอนว่า ยูฟ่า ก็เห็นด้วยในเรื่องนี้ พวกเขามองว่า เอเยนต์ มีอำนาจมากเกินไป และทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อทั้งในเรื่องค่าเหนื่อย ค่าย้ายทีม รวมไปถึงการค่าเซ็นสัญญา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมากหลังคดีบอสแมน 

“เราต้องแนะนำระบบนี้ไปทั่วยุโรป เพื่อป้องกันความสับสนอันเนื่องมาจากบอสแมน” เกฮาร์ด อักเนอร์ เลขาธิการของยูฟ่ากล่าวเมื่อปี 1998 

“มันเป็นทางที่ดีในการจำกัดขอบเขตพลังของนักเตะและเอเยนต์ที่รู้ว่าพวกเขาไม่สามารถย้ายทีมได้ในช่วงเวลาพิเศษ” จอห์น บาร์นเวลล์ หัวหน้าสมาคมผู้จัดการทีมลีกอังกฤษ หรือ LMA กล่าวเสริม  

ในขณะที่ ลีเวอร์ กล่าวว่า “มันเป็นความรู้สึกที่เราต้องการความกลมเกลียวกันทั่วยุโรป เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและบางอย่างเราจะคุยกันต่อไป”

 9

อย่างไรก็ดี แม้หลังจากนั้น อังกฤษ จะคัดค้านหลังการลาออกของ ลีเวอร์ รวมไปถึงเยอรมันที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ แต่สุดท้ายยูฟ่าก็พยายามผลักระบบนี้ อย่างจริงจัง 

จนในที่สุดมันได้ถูกใช้ประกาศใช้ทั่วยุโรปอย่างเป็นทางการได้ในฤดูกาล 2002-2003 ในชื่อ “Transfer Window” หรือช่วงตลาดซื้อขายนักเตะ โดยจะแบ่งเป็นสองช่วงคือ หน้าร้อนจะเริ่มตั้งแต่จบฤดูกาล (โดยทั่วไปจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม) ถึงสิ้นเดือนสิงหาคม และหน้าหนาวเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนจนถึงสิ้นเดือนมกราคม

“ประโยชน์มันชัดเจนมาก อย่างหนึ่งก็คือทีมจะเริ่มการแข่งขันด้วยเงื่อนไขเดียวกัน อย่างน้อยก็มาจากเรื่องนี้” เลขาธิการยูฟ่าย้ำ 

แต่ถึงอย่างนั้น ระบบนี้มันดีจริงหรือ?

รักษาไว้หรือยกเลิก? 

แม้ว่าช่วงตลาดนักเตะหน้าร้อนหน้าหนาว จะประกาศบังคับใช้มาเกือบ 20 ปี แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ยอมรับในระบบนี้ พวกเขามองว่าไม่เพียงแต่ไม่ช่วยจำกัดอำนาจในการต่อรองของเอเยนต์ แต่ยังทำให้เกิดการเซ็นสัญญาผู้เล่นแพงเกินเหตุ โดยเฉพาะในวันสุดท้ายก่อนตลาดปิดที่เรียกว่า Panic Transfer ที่เคยทำให้ แอนดี แคร์โรลล์ มีค่าตัวสูงถึง 35 ล้านปอนด์มาแล้ว 

 10

“คุณอาจจะสงสัยว่าเรามีสิทธิ์จริงหรือเปล่ากับช่วงตลาดซื้อขาย มันง่ายกว่าถ้ามันเปิดตลอดเวลา และบางทีอาจจะยุติธรรมกว่าสำหรับนักเตะ” สเวน โกรัน อีริคส์สัน กล่าวกับ Sky Sports 

“ผมแน่ใจมากว่าธุรกิจที่ต้องทำให้เสร็จสิ้นในวันสุดท้ายมันค่อนข้างจะอันตราย และนั่นมันไม่ถูกต้อง ผมคิดว่ามันอาจจะดีกว่าเก่าเมื่อครั้งอดีต แต่ตอนนี้ผมแก่ตัวลง และพบว่ามันไม่เป็นเช่นนั้น” 

นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวยังถูกวิจารณ์ว่าทำให้นักเตะเสียสมาธิ ในช่วงที่ตลาดเปิดควบคู่กับการแข่งขันที่กำลังดำเนินอยู่ และไม่สามารถลงเล่นให้ทีมได้อย่างเต็มที่ เหมือนที่ อลัน พาร์ดิว อดีตกุนซือนิวคาสเซิล เคยไม่พอใจอาร์เซนอล ที่ยื่นซื้อ โยฮัน กาบาย ก่อนลงเตะกับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในตอนที่กำลังเปิดฤดูกาล 2013-14 

“ทำไม (อาร์เซนอล) ถึงไม่เคารพเรา และมันจะเป็นเกียรติมากถ้ารอจนถึงวันอังคารตอนเย็น ซึ่งผมไม่สามารถควบคุมอะไรได้ ค่อนข้างชัดเจนว่าผมเสียใจเรื่องนี้” พาร์ดิวกล่าวกับ BBC เมื่อปี 2013  
  
“มันจึงเกิดข้อเรียกร้องให้ตลาดนักเตะปิดก่อนเปิดฤดูกาลพรีเมียร์ลีก”  

และในฤดูกาล 2018-19 พรีเมียร์ลีก และ กัลโช เซเรียอา ก็กลายเป็นสองลีกนำร่องที่นำระบบตลาดปิดก่อนเปิดฤดูกาลมาใช้ แต่มันก็ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์จากกุนซือโดยเฉพาะในอังกฤษตามมา
“ผมคิดว่ามันคือความผิดพลาดของพรีเมียร์ลีกที่ยอมให้เกิดขึ้น เราเปิดประตูให้สโมสรอื่นในยุโรปเข้ามาสร้างความสับสนให้กับสมาชิกในทีมของเรา” เมาริซิโอ โปเช็ตติโน อดีตกุนซือของ ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ ให้ความเห็นกับ BBC 

“ผมคิดว่าหลังจากผ่านไปสองฤดูกาลที่ใช้แนวทางนี้ พรีเมียร์ลีกจะตระหนักได้ว่าถ้ายุโรปไม่ได้เปลี่ยน เราต้องกลับไปใช้วิธีเดิมและเริ่มต้นใหม่เหมือนที่เราเป็นอยู่ในตอนนี้” ซึ่ง เซเรียอา ได้เปลี่ยนกลับไปใช้รูปแบบตลาดแบบที่ปิดตอนสิ้นเดือนสิงหาคม เหมือนกับลีกยุโรปอื่นๆ ในฤดูกาล 2019-20 หลังใช้ระบบปิดตลาดก่อนเปิดฤดูกาลเพียง 1 ซีซั่นเท่านั้น

 11

ในขณะที่ เจอร์เกน คล็อปป์ เฮดโค้ชของ ลิเวอร์พูล กล่าวว่า “ผมไม่สนหรอกว่ามันจะปิดเมื่อไร แต่มันต้องปิดในช่วงเวลาเดียวกัน นั่นคือไอเดียอย่างแรก” 

“พวกเขาพูดว่าทำให้มันเสร็จสิ้นก่อนเปิดฤดูกาล มันเป็นความคิดที่ดี แต่แค่อังกฤษที่ทำ มันไม่สมเหตุสมผล มันเป็นไอเดียที่ดี แต่ใช้งานไม่ได้” 

ทำให้มันยังเป็นคำถามเรื่อยมาว่าสุดท้ายแล้วระบบตลาดนักเตะฤดูร้อนฤดูหนาว ส่งผลดีหรือผลเสียมากกว่าต่อวงการฟุตบอล รวมไปถึงควรมีอยู่หรือยกเลิกกลับไปใช้ระบบเดิมที่สามารถย้ายทีมได้อย่างอิสระโดยไม่จำกัดเวลา 

แน่นอนว่ามันไม่มีคำตอบที่ตายตัว ขึ้นอยู่ว่ามาจากฝ่ายได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ก็เท่านั้นเอง  

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ ไขข้อข้องใจทำไมตลาดซื้อขายนักเตะต้องมีแค่ 2 ฤดู?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook