ทับซ้อน-ฟ้องร้อง-ฟีฟ่า : เปิดตำนานเลือกตั้ง "นายก ส.บอลไทย" ที่เข้มข้นสุดในประวัติศาสตร์!

ทับซ้อน-ฟ้องร้อง-ฟีฟ่า : เปิดตำนานเลือกตั้ง "นายก ส.บอลไทย" ที่เข้มข้นสุดในประวัติศาสตร์!

ทับซ้อน-ฟ้องร้อง-ฟีฟ่า : เปิดตำนานเลือกตั้ง "นายก ส.บอลไทย" ที่เข้มข้นสุดในประวัติศาสตร์!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

12 กุมภาพันธ์ 2563 สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จะมีการจัดเลือกตั้ง "นายกสมาคมฯ" ขึ้นอีกครั้ง หลังครบวาระ 4 ปีของทีมบริหารสมาคมฯ ชุดนี้ โดยที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ุม่วง จะลงชิงเก้าอี้ประมุขลูกหนังไทยอีกสมัยกับ ดร.ภิญโญ นิโรจน์ อดีตอุปนายกสมาคมฯ

แม้บรรยากาศในการชิงตำแหน่ง นายก ส.บอลไทย ปีนี้จะค่อนข้างเงียบ เนื่องจากผู้ท้าชิงอย่าง วรวีร์ มะกูดี ดีกรีอดีตนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ 4 สมัย ถูกตัดสิทธิ์ลงสมัครไปก่อนหน้านี้ 

แต่หากย้อนเวลากลับไปสักประมาณ 7 ปีที่แล้ว การเลือกตั้งเฟ้นหา ผู้นำองค์กรฟุตบอลไทย ในครั้งนั้น เต็มไปด้วยสีสัน ความดุเดือด ความวุ่นวาย ข่าวคราวดราม่า ไปจนถึงเรื่องราวการฟ้องร้องอุตลุต

 

และผลกระทบจากการเลือกตั้งครั้งนั้น ยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง กับวงการลูกหนังไทย ทั้งในระยะเวลาต่อมา และในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นธรรมนูญการเลือกตั้ง ที่กำหนดจำนวนสโมสรที่มีสิทธิ์ในการโหวต ตลอดจนการเปลี่ยนผ่านจากขั้วอำนาจเดิมสู่ขั้วอำนาจใหม่ 

ถ้าเปรียบการเลือกตั้ง นายกฯ ส.บอล เป็นหนังไตรภาค การเลือกตั้งในปี 2554 และปี 2558 ก็คงเป็นดั่ง หนังภาคปฐมบท และภาคสุดท้าย แต่หากถามว่าภาคไหนมันที่สุด ดุเดือดสุด เข้มข้นที่สุด แน่นอนว่าคำตอบต้องเป็น ภาค 2 ในปี 2556 ...

"วันล้มกระดาน" เกิดอะไรขึ้นก่อนการเลือกตั้งปี 2556

สำหรับปฐมบทมหากาพย์การเลือกตั้ง นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ (ชื่อในอดีต) ปี 2556 นั้น มีจุดเริ่มต้นเรื่องราวนี้ ในสนามการเลือกตั้งปี 2554 

 1

อย่างที่หลายท่านทราบดีว่า “วรวีร์ มะกูดี” อดีตฟีฟ่าเมมเบอร์ และเลขาธิการสมาคมฯ ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง หัวเรือใหญ่ฟุตบอลไทย ต่อจาก วิจิตร เกตุแก้ว ในปี 2550 และตลอด 2 ครั้ง ที่มีการเลือกตั้งทุกอย่างไปเป็นด้วยความราบรื่น เพราะเจ้าตัวไม่มีคู่แข่งจากฝ่ายตรงข้าม ขึ้นมาท้าชิงตำแหน่ง 

จนเมื่อการเลือกตั้ง ปี 2554 “วิรัช ชาญพานิชย์” อดีตผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทย ได้ยื่นใบสมัครเข้ามาเป็น “ผู้ท้าชิง” กับเจ้าของตำแหน่งเดิม 2 สมัยอย่าง วรวีร์ มะกูดี หลังจากก่อนหน้านี้มีเพียง “พิเชฐ มั่นคง” อดีตประธานสโมสร การท่าเรือไทย เอฟซี คนเดียว ที่กระโดดลงมาสู่สนามการเลือกตั้ง

ทำให้ วิรัช ชาญพานิชย์ กลายเป็นคู่แข่งคนสำคัญของ วรวีร์ มะกูดี และเปรียบเสมือนตัวแทนของขั้วใหม่ ที่กำลังจะเกิดขึ้น และทำให้อุณหภูมิของสนามการเลือกตั้งในครั้งนี้ ทวีความร้อนระอุขึ้นมาเรื่อยๆ 

 2

“เหตุผลที่ผมลงสมัคร มาจากสมาชิกแต่ละสโมสรต้องการการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากที่ผ่านมาวงการฟุตบอลไทยมันเริ่มตกต่ำเป็นอย่างมาก และตัวผมเองรู้สึกปฏิเสธยากที่จะอาสาเข้ามาสมัครลงตำแหน่งครั้งนี้ เพราะอย่างที่ผ่านมา รายการซีเกมส์เราไม่เคยเป็นรองใคร และได้เป็นแชมป์ติดต่อมาเป็น 10 ปี แต่ล่าสุดตกรอบแรกอย่างที่ทราบกัน” วิรัช ชาญพานิชย์ ให้สัมภาษณ์กับ ไทยรัฐ เมื่อปี 2554

“บิ๊กก๊อง” ตั้งข้อสังเกตเรื่องระยะเวลาในการจัดเลือกตั้ง เนื่องจากเดิมที “บังยี” ที่หมดวาระตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2553 ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 90 วัน แต่วันเลือกตั้งและประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2553 ก็ถูกเลื่อนออกมา จนล่วงเลยมาถึงวันที่ 6 พฤษภาคม 2554 

ในที่สุด การประชุมใหญ่สามัญฯ และการเลือกตั้งสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ก็ถูกจัดขึ้นขึ้นที่ ศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ หนองจอก ทว่าบรรยากาศในวันนั้น กลับเต็มไปด้วยความวุ่นวาย จนเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น 

 3

ปิติศักดิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์ ผู้สื่อข่าวจาก สำนักข่าว โกล ประเทศไทย (Goal Thailand) บรรยายเหตุการณ์ในวันนั้นให้ Main Stand ฟังว่า “วันนั้นมันไม่ได้มีสัญญาณมาก่อนเลยว่า จะมีการล้มการเลือกตั้ง แต่เราก็เห็นแล้วว่ามีปัญหาตั้งแต่ช่วงเช้า โดยเฉพาะเรื่องใบมอบอำนาจ การสวมสิทธิ์ ของคนที่เป็นตัวแทนสโมสรมาลงคะแนน เพราะบางสโมสรสิทธิ์มันก้ำกึ่งว่า ใครจะเป็นตัวแทน อย่างเช่น บีบีซียู หรืออย่างบางทีมมีใบมอบอำนาจ 2 ใบ”

“พอถึงเวลาที่มีการประชุม ก็จะมีเจ้าหน้าที่จากสมาคมฯ มากั้นทางเข้า เพื่อตรวจสอบ คัดกรองคน ทำให้มี Voter ส่วนหนึ่งเข้าได้ ส่วนหนึ่งเข้าไม่ได้ คนที่เข้าไปใช้สิทธิ์ไม่ได้ ก็แสดงความไม่พอใจ มีการประท้วงกันค่อนข้างวุ่นวาย” 

“กระทั่งช่วงบ่าย ทางสมาคมฯ ก็ประกาศล้มการเลือกตั้ง ด้วยเหตุผลเรื่องใบมอบสิทธิ์ที่ทับซ้อนกัน ซึ่งนักข่าวที่ไปทำข่าววันนั้น รวมถึงสโมสรสมาชิกก็ค่อนข้างงงๆกับสิ่งที่เกิดขึ้น และผู้บริหารสมาคมก็หายตัวไปเลย”

ท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความโกลาหล “ส.บอล ใน ยุคบังยี” ได้ตัดสินใจฝ่าทางออกด้วยการสั่งเลื่อนการประชุมใหญ่ และการเลือกตั้งออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดย สามารถ ทรัพย์พจน์ รองเลขาธิการสมาคมฟุตบอลฯ (ในเวลานั้น) ได้ออกมาชี้แจงถึงเหตุผลว่า

 4

"มีข้อทักท้วงจาก กกท. ในเรื่องผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจเนื่องจากสโมสรสมาชิกไม่สามารถระบุชี้ชัดได้ว่าของใครเป็นฝ่ายที่ถูกต้องโดยแท้จริง อีกทั้งเมื่อการเลือกตั้ง 2 ปีก่อน ข้อบังคับนี้ไม่มีการระบุไว้ในระเบียบการเลือกตั้งในเรื่องของหลักฐานการมอบอำนาจ เกรงว่าหากมีการเลือกตั้งไปแล้วจะเป็นไปอย่างอยุติธรรม ดังนั้นเพื่อความโปร่งใสทางสมาคมฯ จึงตัดสินเลื่อนการประชุมและการเลือกตั้งออกไป"

"อีกทั้งคุณวรวีร์ ติดภารกิจต้อนรับแขกผู้ใหญ่ และภายในสัปดาห์นี้ต้องเดินทางไปประชุมกับสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟา) คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์ ทางสมาคมฯ จะสามารถกำหนดวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2553 และการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลฯ ได้ สำหรับเรื่องที่กลัวแพ้การเลือกตั้งเป็นเพียงข้อสังเกตของอีกฝ่าย ซึ่งผมไม่ขอออกความคิดเห็น ท้ายนี้ฝากขอโทษแฟนบอลและสโมสรสมาชิกอีกครั้งด้วย" 

 5

อย่างไรก็ตาม หลังจากเหตุการณ์วันล้มกระดาน “สมาคมฟุตบอล” ได้จัดการเลือกตั้งขึ้นอีกครั้งในวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554 

ผลการเลือกตั้ง วรวีร์ มะกูดี เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง ได้รับคะแนนโหวต 123 เสียง, วิรัช ชาญพานิชย์ ได้รับคะแนนโหวต 44 เสียง และ  พิเชฐ มั่นคง ได้รับคะแนนโหวต 1 เสียง ส่งผลให้ วรวีร์ มะกูดี ได้ดำรงตำแหน่งเป็น นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เป็นสมัยที่ 3 โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี 

พร้อมคำมั่นสำคัญจาก วิรัช ชาญพานิชย์ ว่าจะตรวจสอบการทำงานของ วรวีร์ มะกูดี อย่างเข้มข้นต่อไป

สนามเลือกตั้งดุเดือดและเข้มข้นที่สุด

“จุดยืนของผมในวันนั้นคือ ผมรับไม่ได้ที่คุณวรวีร์และพวกจะบริหารต่อไป ที่รับไม่ได้เพราะว่าล้มเหลว ผิดพลาด ไม่โปร่งใส ไม่มีธรรมาภิบาล” 

“ผมเป็นคนบาปของฟุตบอลไทย เพราะ 2 ปีที่แล้วที่ล้มการเลือกตั้ง ก็ผมนี่แหละ ถ้าผมไม่มายุ่งตั้งแต่ตอนนั้น คุณวรวีร์ ก็คงไม่สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับแฟนบอลชาวไทย ผมเป็นคนที่อยู่เบื้องหลังการล้มประชุม” 

“ผมใช้ทุกวิถีทาง เท่าที่นักการเมืองคนหนึ่งจะทำ เพื่อเปลี่ยน Voter ที่จะเชียร์ วิรัช ในตอนนั้น กลับมาเป็น วรวีร์ ถ้าวันนั้นไม่ล้มการเลือกตั้ง คุณวิรัช ชนะ 100 กว่าเสียง นี่ผมยอมรับตรงๆว่า ผมเป็นคนบาป ผมก็เฝ้าดูการทำงานตลอดระยะเวลา 2 ปี ว่าสิ่งที่ผมคิดและสิ่งที่เขาพูดกับผม มันจะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์กับฟุตบอลไทย แต่มันไม่เป็นเช่นนั้น”

 6

นี่คือประโยคจากปากของ เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสร บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ซึ่งออกมาเปิดเผยเบื้องหลังเหตุการณ์วันล้มกระดาน ผ่านรายการ “ตอบโจทย์” ทางช่อง ไทย พีบีเอส ... และชายผู้นี้ นับเป็นบุคคลที่สร้างแรงสะเทือนอย่างมาก ให้การเลือกตั้งในปี 2556 เพราะเนวิน ประกาศตัวว่าจะขอยืนตรงข้ามกับ วรวีร์ มะกูดี และเปลี่ยนฝั่งมาสนับสนุน วิรัช ชาญพานิชย์ ที่ตัดสินใจลงชิงชัยเก้าอี้นายกสมาคมฯ อีกสมัย 

แม้ทาง วรวีร์ มะกูดี จะออกมาตอบโต้ว่า คำกล่าวอ้างของ เนวิน นั้นไม่เป็นจริง แต่การเปิดเผยเรื่องดังกล่าวของ เนวิน ชิดชอบ รวมถึงการทวงถามเรื่องสิทธิประโยชน์ เงินสนับสนุนทีม และความโปร่งใสในการบริหารงาน ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ภาพลักษณ์ของ วรวีร์ ค่อนไปทางลบ ในสายตาของแฟนบอลไทยจำนวนไม่น้อย  

 7

และนั่นก็ทำให้ พินิจ งามพริ้ง ประธานชมรม เชียร์ไทย พาวเวอร์ ยื่นใบสมัครลงเลือกตั้งชิงตำแหน่ง นายกสมาคมฯ ด้วยอีกราย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มี ตัวแทนจากภาคแฟนบอล ลงสมัครในตำแหน่งสูงสุดฝ่ายบริหารลูกหนังไทย 

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขสำคัญในการชี้ชะตา การเลือกตั้งนายกสมาคม ไม่ได้อยู่ประชาชนทั่วไป แต่อยู่ที่จำนวนสมาชิกที่มีสิทธิ์การเลือกตั้ง ...

โดยที่ทาง วรวีร์ มะกูดี ซึ่งจะครบวาระสมัยที่ 3 ในวันที่ 16 มิถุนายน 2556 ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงจำนวน Voter ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นไปตามธรรมนูญใหม่ของ ฟีฟ่า ที่ระบุไว้ 72 เสียง จากเดิมให้สิทธิ์กับสโมสรสมาชิกสามัญ ซึ่งมีถึง 184 เสียง เหลือ 72 เสียง และวาระการดำรงตำแหน่งขยายออกไปจาก 2 ปี เป็น 4 ปี พร้อมยืนยันว่าได้แจ้งเรื่องนี้กับสมาชิกมาแล้ว ตั้งแต่ปี 2552

 8

ขณะที่ทางฝั่ง วิรัช ชาญพานิชย์ ก็มองว่าการเปลี่ยนจำนวน Voter อาจส่งผลกระทบต่อฝ่ายพวกเขา เนื่องจากเวลานั้น มีการเปิดเผยว่า สามารถรวบรวมสโมสรที่สนับสนุนขั้วใหม่ได้มากกว่า 120 ทีม

“ส่วนเรื่อง 72 เสียง ผมยืนยันว่า ฟีฟ่า ได้ใช้เวลามาศึกษาระบบการดำเนินงานของฟุตบอลไทยเป็นเวลานาน และมีความเห็นว่าประเทศไทยควรใช้ 72 เสียง โดยทีมจากดิวิชั่น 2 ยังไม่เป็นอาชีพเต็มตัว จึงให้ตัวแทนภาคละ 5 ทีมมีสิทธิ์เลือกตั้ง และที่สำคัญต้องจัดการเลือกตั้งภายใต้ธรรมนูญใหม่ของฟีฟ่าเท่านั้น ก่อนวันที่ 30 ก.ย. โดยไม่สามารถใช้การเลือกตั้งแบบเก่าได้เลย” วรวีร์ ชี้แจงผ่านรายการ เจาะข่าวเด่น ทางช่อง 3 

ช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งฝั่งของ วรวีร์ และ วิรัช รวมถึง พินิจ ได้ออกมาแสดงความเห็น และโต้ตอบกันหลายครั้งผ่านรายการต่างๆ รวมถึงมีการเชิญตัวแทนจาก ฟีฟ่า มาตอบข้อซักถาม และชี้แจงประเด็นต่างๆ ผ่านสื่อมวลชน 

ทำให้ข่าวคราวการเลือกตั้ง นายกสมาคมฟุตบอลฯ ได้รับความสนใจจากแฟนบอล และประชาชนทั่วไป อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน 

 9

ไม่เพียงเท่านั้น อุณหภูมิการเลือกตั้งยิ่งร้อนแรงไปอีก เมื่อสโมสร พัทยา เอฟซี ได้ยื่นฟ้องสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ไม่ให้นำข้อบังคับลักษณะปกครองฉบับแก้ไขใหม่ตามมาตรฐานฟีฟ่ามาเพื่อโหวตรับรองในที่ประชุมใหญ่ ก่อนที่ ศาลจังหวัดมีนบุรี จะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวสโมสร พัทยา เอฟซี

เป็นเหตุให้ สมาคมฯ ส่งหนังสือไปยังฟีฟ่า และสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ ได้ส่งหนังสือกลับมา โดยมีเนื้อหาใจความให้ทาง สโมสร พัทยา เอฟซี ถอนฟ้องภายในวันที่ 24 มิถุนายน 2556 ไม่เช่นนั้น ฟีฟ่า จะแบนสมาคมฯ ทันที 

สุดท้าย 1 วันก่อนครบกำหนด พัทยา เอฟซี ได้ถอนฟ้องต่อศาล และการเลือกตั้งในปี 2556 ก็ได้มีการนำธรรมนูญใหม่ฟีฟ่ามาใช้ 

 10

เท่ากับว่า จะมีเพียง 72 สโมสรเท่านั้นที่มีสิทธิ์โหวตเลือก โดยแบ่งออกเป็น 18 ทีมจากไทยพรีเมียร์ลีก (ไทยลีก 1), 18 ทีม จากลีกวัน (ดิวิชั่น 1), 30 ทีมจากลีกภูมิภาค (ดิวิชั่น 2) และ 6 ทีมจากถ้วยพระราชทานประเภท ข., ค.,ง. 

แต่เรื่องยังไม่จบเท่านั้น เพราะที่มาของ 30 เสียงในลีกภูมิภาค เป็นเรื่องทางฝั่งของ วิรัช ชาญพานิชย์ และสโมสรที่สนับสนุนต่อสู้ต่อไป เนื่องจากมองว่าการที่สโมสรให้ แต่ละโซน จัดการเลือกตัวแทนกันเอง โซนละ 5 ทีมนั้น ไม่ยุติธรรม และต้องการให้ อันดับ 1-5 ของแต่ละโซน เป็นตัวแทนมากกว่า 

 11

“สาเหตุที่ไม่กำหนดอันดับ 1-5 ของทีมจากดิวิชั่น 2 เพราะผมคิดว่าทุกทีมลงทุนไม่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงต้องเปิดโอกาสให้ทุกทีมได้คัดเลือกกันเอง ซึ่งผมคิดว่ายุติรรมที่สุด” วรวีร์ ให้เหตุผลถึงการใช้วิธีการเลือกตัวแทน แทนที่จะใช้ตามอันดับตารางคะแนน ในการหา 30 เสียง จากลีกภูมิภาค

ท้ายที่สุดทางออกของเรื่องนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการหาตัวแทน 30 เสียงลีกภูมิภาค มาใช้เลือก ทีมอันดับ 1-5 ของแต่ละโซนในเลกแรก เป็นทีมที่ได้สิทธิ์การเลือกตั้ง 

โดยมติดังกล่าว ได้รับการรับรองในที่ประชุม จึงเป็นอันว่า ธรรมนูญฟีฟ่าข้อ 21 ที่เกี่ยวกับจำนวนเสียงเลือกตั้งผ่านมติ ที่ประชุมแบบเป็นเอกฉันท์ โดยที่จะมีคณะกรรมการกลาง เป็นผู้ควบคุมการเลือกตั้ง 

ในโค้งสุดท้ายก่อนเข้าสู่วันลงคะแนน พินิจ งามพริ้ง ได้ตัดสินใจถอนตัวออกจากเป็นผู้สมัคร และพร้อมที่จะให้การสนับสนุน วิรัช ชาญพานิชย์ และทีมงานในการเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจากมองว่าเป็น ทีมงานที่เหมาะสมและเป็นไปได้มากสุด เพื่อการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของวงการฟุตบอลไทย 

จนกระทั่ง วันที่ทุกคนรอคอยมาถึง ... 17 ตุลาคม 2556 ที่โรงแรมโกลเดน ทิวลิป ซอฟเฟอรีน การช่วงชิงเก้าอี้ใน นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เดินทางมาถึงวันตัดสิน บรรยากาศคึกคักตั้งแต่ช่วงเช้าเพราะบรรดาตัวแทนสโมสร คนทำทีม คู่พิพาทของทีมที่มีปัญหาเรื่องการทับซ้อนของสิทธิ์ ต่างมาแสดงตัว งัดหลักฐานมายื่นฟ้องร้องกันวุ่นวาย 

 12

“ในภาพรวมการเลือกตั้งปี 2556 มีความเข้มข้นมากกว่าการเลือกตั้งปี 2554 เพราะมีการเปลี่ยนแปลงจำนวน Voter ซึ่งมีผลต่อการแพ้ชนะ รวมถึงปัญหาเดิมๆ เรื่องการสวมสิทธิ์ สิทธิ์ที่ทับซ้อน การยื่นฟ้องร้องกันไปมา บรรยากาศวันนั้นวุ่นวายมากกว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว นักข่าวต้องอยู่ประจำการตั้งแต่เช้าจนถึง 2-3 ทุ่มเลย”

“พอถึงช่วงเวลาเลือกตั้ง ครั้งนี้ นักข่าวไม่สามารถเข้าไปเก็บถ่ายได้ ต้องลอดช่องประตูมอง หรือเก็บภาพได้แค่ไม่กี่นาทีเท่านั้น โดยผลการเลือกตั้งก็ออกมาค่อนข้างสูสีกัน แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน”

ปิติศักดิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์ ผู้สื่อข่าวที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้น เล่าบรรยากาศในเลือกตั้งที่สุดเข้มข้น ซึ่งมีถึง 7 สโมสรที่มีปัญหาเรื่องหนังสือแต่งตั้งตัวแทนสโมสรใช้สิทธิ์เลือกตั้ง แต่ในวันเลือกตั้งกลับมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการอุทธรณ์ จากเดิมที่ต้องมีตัวแทนจากฝั่งของ 2 ผู้สมัครอยู่ในคณะ 

สถานการณ์หลังการเลือกตั้ง จึงเต็มไปด้วยความอลหม่าน ถึงขนาดที่ 3 ใน 5 กรรมการเลือกตั้งสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย แถลงไม่รับรองผลการเลือกตั้ง แต่ท้ายที่สุด วรวีร์ ก็ผ่านสถานการณ์ต่างๆ และได้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 4 

 13

กระทั่งในเดือนตุลาคม 2558 คณะกรรมการด้านจริยธรรมของฟีฟ่า ได้มีคำสั่งพักงาน นายวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ไม่ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมเกี่ยวข้องกับฟุตบอลใดๆ ในระดับนานาชาติเป็นเวลา 90 วัน ทั้งนี้ให้มีผลทันที

ทำให้นายวรวีร์ มะกูดี หมดสิทธิ์ลงชิงตำแหน่งในสมัยที่ 5 เพราะอยู่ในระหว่างติดโทษแบนจาก ฟีฟ่า โดยในการเลือกตั้งสมาคมฟุตบอลฯ เมื่อช่วงต้นเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2559 พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนโหวต 62 เสียงจาก 68 ทีมที่มีสิทธิ์ลงคะแนนในการเลือกตั้ง  

ถือเป็นการสิ้นสุดการครองอำนาจในตำแหน่ง นายกสมาคมฟุตบอลฯ ที่ยาวนานกว่า 8 ปี ของ วรวีร์ มะกูดี และเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนผ่านจากขั้วอำนาจเก่า มาสู่ขั้วอำนาจใหม่

ถอดบทเรียนจากวันนั้น...

ในมุมของนักวิชาการ ที่มีความสนใจและศึกษาด้านการเมือง การปกครอง และฟุตบอลไทย อย่าง “อ.ณัฐกร วิทิตานนท์” อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า

 14

“การที่คุณวรวีร์ สามารถอยู่ในตำแหน่งได้นานหลายสมัย ก็ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า คุณวรวีร์ มีความใกล้ชิดกับพรรคการเมืองที่มีอำนาจบริหารประเทศ ในช่วงเวลานั้น และฐานเสียงของคุณวรวีร์ ก็คือสโมสรสมาชิก ที่อยู่ในเครือข่ายในสภา บรรดานักการเมืองระดับ ส.ส. ระดับท้องถิ่น ที่ตอนนั้นเอื้อให้มีทีมใหม่ๆ เกิดขึ้นหลายๆ ทีม”

“ซึ่งทีมเล็กๆ เหล่านี้ ในเวลานั้น จำเป็นต้องพึ่งพาเงินอุดหนุน และการสนับสนุนจากภาครัฐ  ดังนั้นการเลือกตั้งในปี 2556 หลายๆ สโมสร อาจจะเลือก วรวีร์ ด้วยเหตุผลทางการเมือง หรือได้รับการร้องขอมาจากผู้หลักผู้ใหญ่ที่สนับสนุนคุณวรวีร์” 

“เพราะตอนนั้นก็มีขั้วใหม่ ที่สนับสนุนคุณวิรัช เข้ามาเป็นคู่แข่งขัน และแสดงให้เห็นในการเลือกตั้งครั้งนั้นว่า มีสโมสรจำนวนไม่น้อย ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง คุณวรวีร์ คงไม่สามารถผูกขาดตำแหน่งได้เหมือนในอดีต”

อย่างไรก็ตาม อ.ณัฐกร ชี้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ขั้วเก่าเสื่อมอำนาจ และขั้วใหม่ ที่สนับสนุน พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ชนะการเลือกตั้งไปแบบขาดลอย มาจากปัญหาที่เกิดขึ้นจากภายใน ไม่ใช่อิทธิพลจากฟากการเมือง เพราะสโมสรกีฬามีพัฒนาการมาเป็น ทีมกีฬาอาชีพมากขึ้น 

 15

“สมัยก่อนเวลาเขากระจายอำนาจ เราจะเห็นว่า คนที่มีอำนาจในการบริหารสมาคม เป็นใคร? มาจากกลุ่มก๊วนการเมืองไหน แต่พอหลังจาก คุณวรวีร์ ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งอีกครั้ง ปัญหาที่เรื้อรังอย่างผู้ตัดสินก็ไม่ได้รับความแก้ไข และทีมที่ได้รับผลประโยชน์จากความผิดพลาดของกรรมการ ก็มักเป็นทีมที่อยู่ในเครือข่าย”

“และช่วงเวลา 2 ปีหลังจากนั้น สโมสรต่างๆ เริ่มพัฒนามีความเป็นอาชีพมากขึ้น มองข้ามเรื่องการเมือง และเห็นตรงกันว่า ต้องการเปลี่ยนแปลงยุคสมัย เพื่อให้การแข่งขันลีกมีระบบการจัดการที่ดีขึ้น มีการแบ่งสิทธิประโยชน์ที่เป็นธรรม ตามที่สโมสรควรได้ รวมถึงปัญหาผู้ตัดสิน ที่แทบจะทั้งหมดเห็นตรงกันว่า ควรได้รับการแก้ไขและพัฒนาอย่างเร่งด่วน”

“ขณะที่ขั้วอำนาจใหม่ ก็เลือกที่จะมองหาพันธมิตรจากกลุ่มก๊วนการเมืองที่ต่างกัน หรือคนทำทีมที่เคยสนับสนุนคุณวรวีร์ ให้เข้ามามีบทบาท มีตำแหน่ง คือไม่ได้มีการแบ่งแยกจากความต่างทางการเมือง พอได้มาบริหารงานก็พยายามปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ทั้งหมด พยายามทำให้โปร่งใส ชัดเจน ตรวจสอบได้ มีระบบ อย่างเรื่องทีมเกิดใหม่ ทุกทีมก็ต้องไปเริ่มไต่เต้าจาก อเมเจอร์ ลีก”

 16

การสร้างความไว้วางใจ และพัฒนาอย่างเป็นระบบ มีรูปธรรม โดยไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย น่าจะเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารงานของ คนที่เข้ามาเป็นนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ในยุคสมัยนี้ ที่ไม่ว่าจะเป็น ดร.ภิญโญ นิโรจน์ และ พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง สองผู้สมัคร ต้องนึกถึงไว้

เพราะในอดีตก็เคยมีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า ไม่มีอะไรแน่นอนทั้งนั้นในสนามเลือกตั้ง จากคนที่มีอำนาจ และชนะการเลือกตั้งอย่างขาดลอย วันหนึ่งก็เสื่อมอำนาจลงไปได้ 

ดังนั้นการสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่คนในวงการลูกหนังไทย ด้วยผลงานการบริหารทั้งในและนอกสนามที่เป็นรูปธรรม จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง หากใครสักคนต้องการเข้าบริหารองค์กรฟุตบอลไทย ในระยะยาว

อัลบั้มภาพ 16 ภาพ

อัลบั้มภาพ 16 ภาพ ของ ทับซ้อน-ฟ้องร้อง-ฟีฟ่า : เปิดตำนานเลือกตั้ง "นายก ส.บอลไทย" ที่เข้มข้นสุดในประวัติศาสตร์!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook