"พีรพัฒน์ ถานิตย์" : ประธานสโมสรฟุตบอลที่บอกว่า "แฟนคลับคือเพื่อนแท้ที่ด่าเพราะรักเรา"

"พีรพัฒน์ ถานิตย์" : ประธานสโมสรฟุตบอลที่บอกว่า "แฟนคลับคือเพื่อนแท้ที่ด่าเพราะรักเรา"

"พีรพัฒน์ ถานิตย์" : ประธานสโมสรฟุตบอลที่บอกว่า "แฟนคลับคือเพื่อนแท้ที่ด่าเพราะรักเรา"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“สมุทรปราการ เอฟซี” คือสโมสรฟุตบอลหนึ่งเดียวประจำจังหวัดสมุทรปราการ ที่ยืนหยัดอยู่ในลีกอาชีพมาเป็นระยะเวลานานกว่า 1 ทศวรรษ

แม้ว่าทีมลูกหนังฉายา “ป้อมปราการ” จะไม่มีสนามเหย้าของตัวเอง และไม่เคยเลื่อนชั้นขึ้นลีกระดับที่สูงกว่าเดิมสักครั้งเดียว ตลอด 11 ปีที่ผ่านมา แต่พวกเขาก็ยังคงเป็นสโมสรที่มีแฟนคลับเหนียวแน่น และมีวัฒนธรรมการเชียร์ที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร 

ท่ามกลางการเกิดขึ้น และย้ายถิ่นฐานของหลายๆ สโมสร ที่เข้ามาตั้งรกรากในจังหวัดสมุทรปราการ ทว่าไม่มีทีมไหนเลยที่ให้อารมณ์ ความรู้สึกเหมือนกับ “สมุทรปราการ เอฟซี” เพราะตัวตนความเป็นทีมท้องถิ่นนิยม สโมสรประจำจังหวัดของพวกเขานั้นชัดเจนมากกว่าทีมอื่นๆ

 

นอกจากนี้พวกเขายังมี ประธานสโมสร ที่ไม่ใช่คนที่มีอำนาจทางการเมือง, ไม่ได้ร่ำรวยจากการทำธุรกิจจนมีทรัพย์สินเหลือเอามาทำฟุตบอลแบบสบายๆ แต่เป็นเพียงแค่คนธรรมดาคนหนึ่ง ที่อยากทำฟุตบอลเพื่อให้จังหวัดบ้านเกิดมีทีมเชียร์ และมองว่า “แฟนบอล” คือบุคคลสำคัญที่สุดของสโมสร

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เขาเลือกวางตัวเองกับแฟนบอลเป็นแบบเพื่อน มากกว่าจะเว้นระยะห่างแบบ ประธานสโมสรคนอื่นๆ กับกองเชียร์ของพวกเขา 

การดำรงตำแหน่งเป็นหัวเรือใหญ่ให้กับสโมสร สมุทรปราการ เอฟซี ของ “อาร์ท-พีรพัฒน์ ถานิตย์” ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปี จึงต้องเผชิญกับหลายๆ ประสบการณ์ รวมถึงหลายๆ คำพูดทั้งคำชื่นชม, กำลังใจ, เสียงเชียร์, แรงสนับสนุน ไปจนถึงเสียงตำหนิ, คำด่าทอ จากแฟนๆ ที่เขาเปรียบว่าบุคคลเหล่านั้นคือ”เพื่อนแท้” ที่ทำให้เขายังสู้ต่อเพื่อสโมสรแห่งนี้

สนามซ้อมบ่อปลา 

“ตอนที่เริ่มทำ สมุทรปราการ เอฟซี ผมไม่คิดว่าอีก 10 ปีข้างหน้า มันจะเป็นอย่างไร? ที่ผมตัดสินใจทำ เพราะผมเป็นคนสมุทรปราการ ผมลองเช็คดูแล้ว ในจังหวัด ไม่มีใครทำทีม ก็เลยไปเคาะห้องผู้ว่าราชการฯ โดยที่ไม่ได้รู้จักท่านเป็นการส่วนตัว เพื่อขอสิทธิ์ในการทำทีมและใช้ชื่อว่า ‘สโมสรฟุตบอลจังหวัดปราการ’”

 1

“วันแรกที่เริ่มทำ เราไม่มีอะไรเลยสักอย่าง ไม่มีแฟนบอล ไม่มีผู้เล่น ไม่มีองค์ความรู้ด้านฟุตบอล ไม่มีผู้ใหญ่มาช่วยทำ ไม่รู้ว่าต้องลงทุนไปเท่าไหร่ ก็ต้องเริ่มจากการไปติดต่อนักฟุตบอลจาก ทีมเทศบาลนครสมุทรปราการ เมื่อปีก่อนมาช่วยเล่น จากนั้นก็เริ่มหาพื้นที่สำหรับทำสนามฝึกซ้อม”

“ต้องบอกว่า จังหวัดสมุทรปราการ ที่ดินมันแพงมาก หากจะไปใช้สนามขององค์กรต่างๆ ในจังหวัด ก็ต้องขออนุญาตเยอะมาก จนมาเจอที่ดินตรงหนึ่งเป็นบ่อปลา เราถามราคาเพื่อที่จะขอซื้อ เจ้าของบอกขาย 300 ล้านบาท เราก็ไม่มีเงินขนาดนั้น ก็เลยใช้วิธีการเช่าพื้นที่บ่อปลา แล้วมาปรับเป็น สนามซ้อมเพื่อเป็นฐานทัพของเรา”

อาร์ท - พีรพัฒน์ ถานิตย์ ทบทวนเรื่องราวในอดีต ถึงวันแรกที่คนธรรมดาอย่างเขา ย่างก้าวเข้ามาสู่แวดวงลูกหนังในฐานะ ประธานสโมสรสมุทรปราการ เอฟซี เมื่อ 12 ปีก่อน ที่เวลานั้น เป็นยุคที่มีการรวมลีกและก่อกำเนิด “ลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2” 

พีรพัฒน์ ที่ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัวเกี่ยวกับการค้าขายและจัดอีเวนท์ เริ่มวาดฝันโครงร่างสโมสรแห่งนี้ด้วยตัวเอง ตั้งแต่โลโก้สโมสรที่เขาออกแบบเอง, การใช้โทนสีฟ้าขาวเป็นสีหลักของสโมสร, การจ่ายเงินงบประมาณ ดูแลนักกีฬา สตาฟฟ์โค้ช, ทีมงานฝ่ายต่างๆ  

โดยคาดหวังว่าสักวันหนึ่ง ทีมแห่งนี้จะเติบโตเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ และเป็นทีมฟุตบอลประจำจังหวัดของผู้คนในเมืองอุตสาหกรรม แต่ความเป็นจริงนั้นไม่ได้สวยงามเหมือนภาพที่เขาวาดในฝัน เพราะเขายังขาดจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่จะมาเติมเต็มสโมสรแห่งนี้ นั่นคือ “สนามเหย้า” ที่ผ่านมาตรฐาน 

 2

“ปัญหาที่เราเจอตั้งแต่ปีแรกก็คือ เราไม่มีสนามแข่งขัน สมัยนั้นกฏระเบียบยังไม่เข้มงวดเหมือนทุกวันนี้ เราก็ต้องไปตระเวนหาเช่าสนาม เริ่มจากสนามธนาคารกรุงเทพ อุดมสุข แต่ไปใช้ได้นัดเดียว ฝ่ายจัดฯ ก็ไม่ให้ผ่าน”

“จากนั้นก็ย้ายสนามไปอีกเรื่อยๆ ไปเตะสนามโรงเรียนนายเรือ, สนาม ม.หัวเฉียวฯ, สนาม กกท.บางพลี แต่ก็ใช้ได้สนามละไม่กี่นัด ต้องย้ายอีก เพราะไม่มีสนามไหนผ่านมาตรฐานเลย จนมาจบที่สนามบางมดฯ” 

“ฤดูกาลแรกเป็นปีที่เราทุลักทุเลมาก น่าจะเป็นทีมย้ายสนามมากสุดในไทยแล้ว ฝ่ายจัดฯ ก็ด่าเราตลอด แต่บังเอิญผลงานมันดันสวนทาง เราเกาะกลุ่มอันดับ 1-2 ของโซนตลอด จนได้แชมป์โซนและผ่านเข้าไปเล่นรอบแชมเปียนส์ลีก แฟนบอลเราก็เริ่มเยอะขึ้น ก่อนปิดฤดูกาลเราน่าจะมีหลักพันคน” 

“ผมคิดว่าถ้าตอนนั้นผลงานสโมสรแย่ คงโดนฝ่ายจัดฯ ถอนทีมออกไปแล้ว เพราะเราไม่มีสนามของตัวเอง โดนไล่ให้ย้ายตลอด” 

นอกจากปัญหาเรื่องสนามแข่งขัน ที่ยังไม่มีรังเหย้าของตัวเอง จนต้องไปตระเวนเช่าสนามนอกจังหวัด เพื่อใช้ทำการแข่งขันนัดเหย้า ที่สร้างความหนักใจให้กับ พีรพัฒน์ ถานิตย์ แล้ว  

ด้วยความที่ไร้ประสบการณ์ในการทำธุรกิจฟุตบอล พีรพัฒน์ ก็ยังคงต้องมีเรื่องให้เสียเงินทุกวัน จนจบฤดูกาลด้วยการควักเนื้อไปร่วม 3 ล้านบาท ซึ่งนั่นทำให้เขามีความคิดที่อยากวางมือจากการทำสโมสรฟุตบอล หลังจบฤดูกาลแรกทันที 

 3

“ก่อนหน้าที่ผมจะเป็นประธานสโมสร ผมเคยเป็นสปอนเซอร์ให้กับทีมเทศบาลนครฯ ก็ไม่ได้จ่ายเงินเยอะมาก แต่พอมาทำทีมเอง เราต้องออกเงินอยู่ตลอดเลย ซื้อโน่นซื้อนี้ หมดปีแรกก็เริ่มงง รู้สึกว่าปัญหาที่เจอมันเยอะเกินไป ผมก็เป็นคนธรรมดาไม่ใช่นักการเมือง ไม่ใช่นักธุรกิจที่ร่ำรวย เสียเงินหลักล้านต่อปี ก็ไม่ไหวเหมือนกัน แถมโดนไล่ให้ย้ายสนามตลอดอีก”

“ตั้งใจแล้วว่าจบฤดูกาลจะพอแล้ว ไม่เอาแล้ว แต่ผลงานของทีมมันไม่ให้ผมเลิก เราได้ที่ 1 ของโซน ได้ไปเล่นรอบแชมเปียนส์ลีก กระแสผู้ชมก็เริ่มดีขึ้น จากหลักสิบ เป็นหลักร้อย บอกกันปากต่อปาก จนไปถึง 3,000 กว่าคน ถือว่าเยอะมากนะ สำหรับทีมในลีกภูมิภาคยุคนั้น”

“คราวนี้มันหยุดไม่ได้แล้ว ก็ลุยต่อปีที่สอง โดยที่ก็ต้องย้ายสนามอยู่เป็นระยะๆ เพราะว่าปีต่อมาสนามบางมด ทีมบางกอก เอฟซี เขามายึดไปใช้” บิ๊กบอสสมุทรปราการ เอฟซี ที่ย้ายมาแล้ว 10 สนามกล่าว

ครอบครัวปราการ 

เพียงปีแรกที่ถือกำเนิดลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2 ในฤดูกาล 2009 “สมุทรปราการ เอฟซี” ได้กลายเป็นสโมสรรากหญ้าที่ถูกพูดถึงอย่างมาก ด้วยผลงานของทีมที่จัดเป็นทีมแถวหน้าของลีกภูมิภาค และกองเชียร์ประจำสโมสรที่มี สไตล์การเชียร์ที่ดุดัน ฮาร์ดคอร์ แตกต่างกับหลายๆ สโมสรประจำจังหวัด 

 4

สาวกป้อมปราการเหล่านี้ ขนานนามตัวเองว่าเป็น “ฟอร์เทรสเซียน” (Fortressians) โดยมีการแต่งเพลงเชียร์, เพลงประจำสโมสร รวมถึงสร้างวัฒนธรรมการเชียร์ในแบบฉบับของตัวเอง ภายใต้คอนเซปท์ “90 นาทีไม่มีหยุด ... สุภาพบุรุษสมุทรปราการ”

“อัฒลักษณ์ของแฟนบอลเราคือพวกเขาเกาะกลุ่มกันเป็นครอบครัว อาจมีทะเลาะบ้าง แต่อยู่เป็นครอบครัวจริงๆ หลายๆ คู่มาพบรักแต่งงาน-เลิกรา เพราะเจอกันที่นี่ ถ้าเราไม่ได้ทำฟุตบอล เขาอาจไม่ได้เจอกัน พอคนจำนวนมาอยู่รวมกัน มันก็เกิดเป็นสังคมใหม่” 

“ที่พวกเขาบริหารจัดการทุกอย่างกันเอง ตั้งประธานเชียร์เอง แต่งเพลงเชียร์ แต่งเพลงให้สโมสร สร้างรูปแบบวัฒนธรรมของตัวเอง ถามว่าเราอยากคอนโทรลกองเชียร์ไหม? ก็อยากนะ แต่เราทำไม่ได้ นี่คือสังคมใหม่ของเขาที่ไม่ได้ยึดติดกับใครคนใดคนหนึ่ง เราต้องใช้ความเข้าใจคุยกันกับกองเชียร์ เพราะเราไปสั่งเขาไม่ได้” 

ในขณะที่บางสโมสรในไทย พยายามที่จะคอนโทรลหรือควบคุมให้กองเชียร์อยู่ในขอบเขต หรือในพื้นที่สโมสรจำกัดให้ 

“สมุทรปราการ เอฟซี” เลือกที่จะปฏิบัติกับแฟนคลับเป็นเหมือน “เพื่อน, พี่-น้อง” ที่พูดคุยกันได้อย่างตรงไปตรงมา และเคารพในขอบเขตของกันและกัน

 5

แม้การวางตัวเช่นนี้จะทำให้ พีรพัฒน์ ถานิตย์ ต้องรับแรงเสียดทานจากกองเชียร์ของตนเองบ้าง จากการที่เขาวางตัวเป็นเหมือนคนธรรมดาคนหนึ่งที่ดูแลสโมสรแห่งนี้ แต่เขาก็มองเห็นว่าข้อดีของเป็นคนที่ไม่ได้มีอำนาจบารมีพิเศษจากทางการเมืองหรือธุรกิจ ทำให้แฟนคลับรู้ว่า เขาไม่ได้มาหวังผลประโยชน์หรือกอบโกยอะไรจากศรัทธาที่กองเชียร์มีให้ 

“มันก็อาจจะดีที่เราไม่ใช่นักการเมือง หรืออยู่ขั้วไหน เพราะผมสามารถคุยได้กับทุกคน ทุกฝ่าย ถ้าผมมีอำนาจ แฟนคลับอาจเข้าไม่ถึงเรา เหมือนอย่างที่เราเป็น” 

“แต่พอเราวางตัวเป็นคนธรรมดา เขาก็คุยกับเราได้ทุกเรื่อง บ่นได้ ด่าได้ ซึ่งเราเข้าใจนะที่พวกเขาไม่พอใจ มันเกิดจากความรักในสโมสร เพียงแค่ความคิดเห็นไม่ตรงกันกับเรา เราก็ต้องคุยให้เขาเข้าใจ หรือห้ามปราบบ้างถ้ามันเกินขอบเขต เช่น ไปด่าผู้ใหญ่”

“ตัดเรื่องผลงานสโมสรออกไป ผมกล้าพูดเลยว่า สโมสรเราเป็นทีมที่มีแฟนบอลเหนียวแน่นมากสุด ทีมหนึ่งในไทย แฟนบอลบางคนมันรักสโมสรมาก ถึงขั้นไปตั้งชื่อลูกว่าเด็กชายปราการ, รักทีมมากถึงขนาดไปสักโลโก้สโมสรที่บนร่างกาย, ยอมลาออกจากงานโรงงาน ไปทำอาชีพอื่น เพื่อจะมาเชียร์บอลวันเสาร์ได้” 

 6

“และการที่พวกเขาอยู่ด้วยกันแบบครอบครัวจริงๆ กองเชียร์เราจึงอยู่กันอย่างยั่งยืน ระยะหลังคนดูในสนามอาจลดลงไป แต่มันก็เป็นไปตามผลงานของสโมสร ผมเชื่อว่าเมื่อไหร่ที่เราผลงานดีสัก 5 นัด แฟนบอลหลักพันจะกลับเข้ามาในสนามนี่เป็นเรื่องง่ายเลย เพราะนี่คือสโมสรบ้านเกิดที่เขารัก” 

ความเปลี่ยนแปลงและการคงอยู่ 

สมุทรปราการ เอฟซี ยังคงยืนหยัดและอยู่ในระบบลีกอาชีพได้ตลอดระยะเวลา 1 ทศวรรษ แม้จะมีหลายๆ ทีมจังหวัดที่ล้มหายตายจาก ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงมากมายตามยุคสมัย ภายใต้โจทย์และเงื่อนไขที่ต่างกันออกไปในแต่ละปี

ในอดีตพวกเขาเคยมีสโมสรอย่าง ไทยซัมมิท สมุทรปราการ และ สมุทรปราการ ยูไนเต็ด เป็นคู่แข่งแย่งชิงฐานความนิยมภายในจังหวัดโดยตรงในลีกดิวิชั่น 2 เหมือนเดิม แต่ปัจจุบันพวกเขามี สมุทรปราการ ซิตี้ ทีมศักดินาจากลีกสูงสุด (อาจรวมในอดีตที่เคยมี โอสถสภา, ซุปเปอร์พาวเวอร์ ในไทยลีก) เป็นสโมสรคู่แข่งร่วมจังหวัด ที่โครงสร้างพร้อมกว่า ป้อมปราการ แทบทุกด้าน 

รวมถึงปัญหาด้านเงินลงทุน ที่การหารายได้จากสปอนเซอร์ เป็นสิ่งที่ทำได้ยากลำบาก จนต้องยอมขอโอนย้ายมาเล่นในโซนกรุงเทพและปริมณฑล ในศึกไทยลีก 4 แทน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการทำทีม ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ พีรพัฒน์ ยอมรับว่ายากที่จะทำใจยอมรับ แต่ก็ต้องพยายามปรับตัวเพื่อความอยู่รอด 

 7

“ตั้งแต่วันแรก ผมมีความเชื่อว่าทีมเราจะต้องประสบความสำเร็จ ผมมั่นใจว่าทีมงานหลังบ้านผม ดีและมีคุณภาพไม่แพ้ทีมไทยลีก เราพยายามทำให้ครบทุกเซสซั่น แต่ถามว่ามันสมบูรณ์แบบไหม ก็คงไม่ เพราะเราไม่มีทุนมากขนาดนั้น” 

“แฟนบอลบางคนถามว่า พี่อาร์ท ทำทีมไม่อยากเลื่อนชั้นใช่ไหม? อยากสิ โคตรอยากเลย แต่เบ่งเกินตัวไม่ได้ ผมเคยมีอยู่ปีหนึ่ง ทุ่มเงินเป็น 10 ล้าน อยากเอาเลื่อนให้ได้ แต่สุดท้ายเราทำไม่ได้ ก็ต้องกลับมาเลียแผลหลายปี เพราะเราเป็นคนธรรมดา ไม่ได้มีเงินมากมายขนาดที่สามารถทุ่มแบบนั้นได้ตลอด” 

“บางปีเราเจ็บหนัก เกือบตกชั้นก็มี บางปีโดนสปอนเซอร์หลอก เสียเงิน เสียความรู้สึกไปมาก จนถึงตอนนี้เราเลียแผลไม่ไหวแล้ว ทำได้แค่ประคับประคองให้มันมีชีวิตอยู่” 

“ผมถึงขนาดที่ต้องไปขอย้ายโซนมาเตะ กทม.ฯ เพื่อลดค่าใช้จ่าย ถามว่าบีบหัวใจแฟนบอลไหม? โคตรบีบหัวใจแฟนบอลเลยนะ เพราะเขาอยู่กันแบบครอบครัว ก็อยากไปเที่ยวต่างจังหวัดแบบสมัยก่อน พอย้ายมาเตะโซนกรุงเทพ เจอแต่ทีมมหา’ลัย บอลไม่มัน ไม่สนุก เขาก็เซ็ง ไม่อยากเข้ามาเชียร์ แต่เราก็ต้องทำ เพื่อให้ทีมมันอยู่ได้”

 8

แม้ตัวเขาและทีมงานพยายามวอล์กอินเดินเท้าเข้าไปพูดคุยกับ สปอนเซอร์เจ้าต่างๆ หรือหาคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ผู้ใหญ่ใจดีมากช่วยสนับสนุนสโมสรแล้ว 

แต่เขาก็ไม่อาจหาเม็ดเงินที่มากพอ ในแต่ละปี จะทำให้ความฝันของตัวเขาและกองเชียร์สำเร็จได้สักที ในการพาทีมเลื่อนชั้นสู่ลีกที่สูงขึ้น ซึ่งเขายอมรับว่าสาเหตุหลักเป็นเพราะตัวเขาไม่มีคอนเนกชั่นในระดับสูงมากพอ 

ที่ผ่านมา พีรพัฒน์ มีความคิดที่จะเปิดทางให้ ผู้ใหญ่ที่มีความพร้อมมากกว่าเขา มาบริหารและดูแลทีมจังหวัดต่อจากเขา โดยที่เขาพร้อมจะถอยหลังมาเป็น กองเชียร์และสปอนเซอร์เจ้าหนึ่ง แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีผู้ติดต่อรายใดที่สามารถทำได้ตามเงื่อนไข ที่เขาวางไว้

“มีหลายคนมา ติดต่อขอซื้อทีมจากผมนะ แต่ผมไม่ขาย เอาจริงๆ ผมพร้อมจะให้ได้ทุกตำแหน่ง ประธานสโมสรก็เอาไปได้ โดยที่ผมพร้อมที่เป็นกองเชียร์ที่ดี” 

“แต่เงื่อนไขของผมก็คือ คุณต้องทำทีมฟุตบอลอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการเท่านั้น ห้ามย้ายไปจังหวัดอื่น, ห้ามเปลี่ยนสี ชื่อสโมสร จะมีชื่อต่อท้ายอะไรก็ไม่ว่า, ต้องทำงานร่วมกันได้, ต้องทำให้ผมมั่นใจว่าสามารถดูแลทีมได้ และสุดท้ายต้องรักแฟนบอลผม เพราะทุกอย่างเป็นสิ่งที่ผมหมดเงินสร้างมามากแล้ว มากจนที่บ้านไม่คุยกับผมเรื่องบอลแล้ว”

 9

“ผมจริงใจกับทุกคนจะเข้ามาช่วยสโมสรนี้ แต่ที่ผ่านมาเวลาผมให้ใจไป ผมถูกหลอกตลอด จนมันเฟล ตรงนี้แหละที่ทำให้ผมท้อมากสุด จนอยากเลิก ผมพยายามจะรักษาทีมนี้ให้อยู่กับจังหวัดต่อไป แต่ในขณะเดียวกันผมก็ต้องรักษาความรู้สึกของแฟนบอล คนรอบข้าง ครอบครัว รักษาทุกอย่างไว้จนรักษาไม่ได้แล้ว” 

หัวโขนประธานสโมสร สมุทรปราการ เอฟซี บางครั้งมันก็หนักหนาเกินกว่า ชายธรรมดาอย่าง พีรพัฒน์ จะสวมใส่มัน เขาบอกกับเราว่า ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปี มีหลายครั้งที่เขาคิดจะวางมือและเดินออกไปจากจุดนี้ เพราะคิดว่าตัวเองคงไม่สามารถแบกรับหน้าที่ หรือรักษาความรู้สึกของใครไว้ได้ แต่บางคำพูดและกำลังใจจากแฟนคลับที่เคยบ่น ด่า ไม่พอใจเขา ในช่วงเวลาที่อ่อนไหว กลับมีพลังอย่างเหลือเชื่อที่ทำให้เขาสู้ต่อ 

“ครอบครัวผมก็เคยถามนะว่า ‘จะทำฟุตบอลไปทำไม? เสียเงิน เสียทอง แล้วต้องมาโดนคนด่าอีก’ ส่วนตัว ผมเข้าใจแฟนบอลเรา เขาก็อยากเห็นทีมประสบความสำเร็จ อยากเห็นทีมเลื่อนชั้น  อยากเชียร์บอลสนุก อยากเห็นทีมชนะ พอบอลแพ้มันเป็นไปตามอารมณ์ ตื่นเช้ามา อารมณ์โกรธหายไป เขาก็ทักมาขอโทษผม เจอแบบนี้ประจำจนชิน”

“ผมมีความคิดอยากจะเลิกทำฟุตบอลหลายครั้ง เพราะมันไม่ไหวจริงๆ แต่ทุกครั้งที่ผมเปรยๆ ว่า อยากวางมือ ผมก็จะได้รับกำลังใจดีๆ ข้อความมากมายจากแฟนบอลที่เคยด่าเรานี่แหละ บอกให้เราสู้ต่อ, อย่าทิ้งทีม ทำได้มาก-น้อยไม่เป็นไร ขอแค่ให้มีสโมสรนี้อยู่ต่อไป”

“เวลาเจอหน้ากัน ถ้าเขารู้ว่าผมไม่ไหวแล้ว ก็จะเข้ามากอดผม มีถึงขนาดที่ว่า กลุ่มแฟนบอลเอาดอกไม้มามอบให้นักฟุตบอลและสตาฟฟ์โค้ชทุกคน นี่แหละมันคือกำลังใจที่ทำให้ผมต้องพยายามฮึดทำต่อ แต่ทุกครั้งที่ฮึด ก็จะพูดกับตัวเองเสมอว่า ปีนี้กูเหนื่อยอีกแล้ว (หัวเราะ)” 

 10

“สำหรับผม สมุทรปราการ เอฟซี มันไม่ใช่สถานที่ แต่มันคือ ตัวบุคคลล้วนๆ เพราะจนถึงทุกวันนี้ เราก็ยังไม่มีสนามที่เป็นบ้านของตัวเองจริงๆ แต่แฟนบอล, ทีมงานของสโมสรทุกคน คือกลุ่มคนที่ยังอยู่กับเราเสมอ ไม่ว่าเราจะย้ายไปไหนก็ตาม”

สมุทรปราการ เอฟซี = ชีวิต 

ในซีซั่นที่ 12 ของสโมสรสมุทรปราการ เอฟซี เลือกที่จะใช้แนวทาง “ท้องถิ่นนิยม” และการพัฒนาเด็กเยาวชนในพื้นที่ ทั้งการเปิดอคาเดมีของสโมสร, เซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับสถานศึกษาต่างๆ ตลอดจนการผลักดันดาวรุ่ง และให้โอกาสนักเตะสมัครเล่นในจังหวัด ได้มีพื้นที่แสดงความสามารถให้กับทีมบ้านเกิด

แม้ศักยภาพของผู้เล่น อาจไม่ได้เลิศเลอ หรือแข็งแกร่งเหมือนกับหลายๆ ทีมร่วมลีก แต่ในมุมมองของ พีรพัฒน์ ถานิตย์ เขาเชื่อมั่นว่าแนวทางเหมาะสมที่สุดที่จะทำให้ สโมสรโตอย่างยั่งยืน ดีกว่าทุ่มงบประมาณลงทุนมหาศาล จนสุดท้ายแบกค่าใช้จ่ายไม่ไหว แล้วต้องยุบทีมไป 

 11

“การที่เราเลือกใช้เด็กท้องถิ่น ข้อดีอย่างแรกคือเราได้ลดค่าใช้จ่าย มันคือความจริงที่เราโกหกแฟนบอลไม่ได้ ผมคิดว่าตอนนี้ค่าจ้างของนักฟุตบอลไทยมันเฟ้อไปมาก และยิ่งมีการแบ่งลีกดิวิชั่น 2 ออกเป็น ไทยลีก 3-4 โดยที่ไม่มีการถ่ายทอดสด สโมสรในลีกล่างยิ่งต้องดิ้นรนเหนื่อยมาก ฉะนั้นเราคงไม่มีเงินไปจ้างนักบอลแพงๆ เกรดดีๆ จากต่างจังหวัดมาเล่นให้เรา”

“ผมเชื่อว่าความเป็นท้องถิ่นนิยมนี่แหละที่จะทำให้เราอยู่รอดได้ เพราะถ้าขึ้นชื่อว่าเป็นเด็กสมุทรปราการ ไม่ว่าจะเป็นเยาวชนโครงการช้างเผือก หรือพวกที่เตะบอลเดินสาย ถ้าเล่นให้สโมสรบ้านเกิดตัวเอง ยังไงพวกเขาก็เล่นเต็มที่ เกินร้อยอยู่แล้ว” 

“นักบอลบ้านๆ บางคน เราอาจไม่มีเงินเดือนให้ ได้เป็นรายแมตช์ เขาก็ยินดีที่จะมาช่วยสโมสร ถ้าเขาเล่นตรงนี้ได้ดี เขาก็มีโอกาสต่อยอดของเขา เช่น เด็กบางคนมาเล่นบอลกับเรา เราพาเขาไปได้ทุนเรียนฟรี ได้โควต้าศึกษาต่อ เป็นโอกาสของเขาอีก”

 12

มนุษย์ต่างเติบโตขึ้นจากประสบการณ์และการเรียนรู้ หากนับระยะเวลาที่ พีรพัฒน์ ได้เข้ามาทำสโมสรฟุตบอล เป็นชีวิตของคนๆ หนึ่ง “สมุทรปราการ เอฟซี” ในตอนนี้ก็คงเป็นเด็กชายที่ผ่านร้อน ผ่านหนาว และประสบการณ์ชีวิตในแบบที่ใครหลายคนไม่เคยเจอ 

คุณค่าและศรัทธาที่เรามีต่อสโมสรใดสโมสรหนึ่ง อาจไม่ได้เกี่ยวกับ ความสำเร็จของทีมนั้นเสมอไป อย่างน้อยที่สุด พีรพัฒน์ ถานิตย์ ก็ได้ค้นพบความสุข และมีความยินดีที่จะทำสโมสรบ้านเกิดของตนเองต่อไป แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สโมสรจะไม่เคยเลื่อนชั้น หรือมีรังเหย้าที่แท้จริงของตัวเองเลยก็ตาม 

 13

“สมุทรปราการ เอฟซี สำหรับผมแม่งยิ่งกว่าชีวิตอีก ยิ่งกว่าทุกอย่าง คือไม่รู้จะเลิกกับมันอย่างไร เลิกไม่ได้ ป่วยก็ต้องรักษา ดูแลให้มันเติบโต ถ้าตายก็ขอให้ตายไปตามอายุขัย แต่ตายแล้วก็หวังว่ามันจะมีทายาทมาสืบทอดอุดมการณ์นี้ต่อไป”

“ผมอยากทำให้สโมสรนี้เป็นเหมือนชีวิตของคนๆ หนึ่ง เด็กคนนี้อายุเพิ่ง 10 ขวบ มันยังไม่แข็งแรงหรอก ผมก็อยากเลี้ยงเขาให้ดีกว่านี้ ให้เฟอร์เฟคเหมือนกับพ่อแม่คนอื่นๆ ที่ลูกเขาโตหล่อกันหมด แต่เราไปเร่งโตมากเกินไปไม่ได้ ไม่งั้นก็จะตายเหมือนกับหลายๆ ทีม”

“แต่ไม่ว่ายังไง ผมโชคดีที่ยังมีเพื่อนแท้ นั่นคือแฟนบอล อาจจะบ่นเราบ้าง ไม่เข้าใจเราบ้าง แต่ก็ยังอยู่ข้างเรา” 

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ "พีรพัฒน์ ถานิตย์" : ประธานสโมสรฟุตบอลที่บอกว่า "แฟนคลับคือเพื่อนแท้ที่ด่าเพราะรักเรา"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook