ถอดกลยุทธ์ทำเงิน : ทำไม "ฟลอยด์" จึงเป็นจอมอวดรวยที่ไม่มีวันถังแตก?

ถอดกลยุทธ์ทำเงิน : ทำไม "ฟลอยด์" จึงเป็นจอมอวดรวยที่ไม่มีวันถังแตก?

ถอดกลยุทธ์ทำเงิน : ทำไม "ฟลอยด์" จึงเป็นจอมอวดรวยที่ไม่มีวันถังแตก?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในยุคปัจจุบัน “นักกีฬา” อาจฟังดูเป็นอาชีพที่หอมหวาน น่าอิจฉา เพราะนอกจากจะเป็นบุคคลมีชื่อเสียงในสังคม ได้รับการยกย่องแล้ว รายได้ของอาชีพนี้ก็ถือว่ามหาศาล ถึงขั้นที่ว่าคนธรรมดาทั่วไปอย่างเราๆ ชีวิตนี้คงทำได้แค่ฝันถึง โดยเฉพาะกีฬา “มวยสากล” ที่ถือว่าเป็นชนิดกีฬาที่ทำเงินได้เป็นล่ำเป็นสัน ร่ำรวยกันทั่วหน้าตั้งแต่นักลงทุน โปรโมเตอร์ รวมไปถึงตัวนักสู้บนสังเวียนผ้าใบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักมวยที่มีชื่อเสียงนั้น ต่อการลงนวมหนึ่งครั้งพวกเขาอาจทำเงินได้มากถึงหลักร้อยล้านบาทเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามในทุกความหอมหวานย่อมมียาพิษซ่อนอยู่เสมอ นักมวยเองก็เช่นเดียวกัน ครั้งหนึ่งพวกเขาอาจร่ำรวยเข้าขั้นอภิมหาเศรษฐี ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ โดยไม่ได้คาดคิดว่าสุดท้ายจะต้องลงเอยกลายเป็นคนถังแตกสิ้นไร้ไม้ตอก ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้น ไมค์ ไทสัน สุดยอดนักมวยรุ่นเฮฟวี่เวตระดับตำนาน ที่ครั้งหนึ่งเคยมีทรัพย์สินมากมายถึง 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 12,000 ล้านบาท) แต่กลับต้องลงเอยกลายเป็นบุคคลล้มละลาย มีหนี้สินมากถึง 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 700 ล้านบาท) จากความผิดพลาดในการบริหารการเงิน

 

ส่วนในยุคปัจจุบันนักมวยที่ร่ำรวยที่สุดก็ไม่ใช่ใคร “เดอะ มันนี่” ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ สุดยอดกำปั้นเจ้าของสถิติไร้พ่าย 50 ไฟต์ ผู้มีทรัพย์สินมาถึง 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 18,000 ล้านบาท) หรือบางสื่อรายงานว่าอาจมีมากถึง 700-1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (21,000 ล้านบาท - 30,000 ล้านบาท) 

ด้วยความร่ำรวยระดับนี้เจ้าของฉายา เดอะ มันนี่ ก็ไม่เลือกที่จะปิดบัง ตรงกันข้ามเขากลับอยากประกาศให้ทั้งโลกได้รับรู้ว่าเขาร่ำรวยแค่ไหนผ่านทางไลฟ์สไตล์บ้าระห่ำต่างๆ และเชื่อเหลือเกินว่าด้วยวิถีชีวิตแบบนี้คงมีหลายคนนึกหมั่นไส้ จนแอบภาวนาให้เขาถังแตกในเร็ววัน แต่ใครที่กำลังคิดแบบนั้นอยู่อาจผิดหวัง เพราะ ฟลอยด์ นั้นแตกต่างจากนักมวยชื่อดังหลายคน เขามีกลยุทธ์ในการบริหารเงินของตัวเองเป็นอย่างดี และชาตินี้เราก็อาจไม่ได้เห็นเขาถังแตกล้มละลาย ... กลยุทธ์ที่ว่านั้นเป็นอย่างไร ไปติดตามได้พร้อม Main Stand

ทำไมนักมวยจึงถังแตก?

อย่างที่กล่าวไปว่านักมวยคือหนึ่งในนักกีฬาประเภทที่สามารถทำรายได้ได้มากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นหนึ่งในประเภทนักกีฬาที่มีอัตราส่วนถังแตกเยอะที่สุดเช่นเดียวกัน ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?

 1

คำตอบของคำถามนี้ ทาง สตีฟ ซิลเวอร์แมน จาก Bleacher Report หนึ่งในสื่อกีฬายักษ์ใหญ่ของโลกได้ให้เหตุผลเอาไว้ว่า เพราะกีฬามวยแตกต่างจากกีฬาประเภททีม โดยนักกีฬาในกีฬาประเภททีมนั้น รายได้หลักของพวกเขาคือค่าจ้างรายสัปดาห์ ค่อยๆ เก็บเล็กผสมน้อยไปเรื่อยๆ ซึ่งการมีรายรับในรูปแบบนี้จะช่วยฝึกให้พวกเขามีวินัยทางการเงินไปในตัว ไม่ได้หลงระเริงกับการเป็นมหาเศรษฐีในชั่วข้ามคืน

นอกจากนั้น นักกีฬายังต้องรักษาสภาพร่างกายและระเบียบวินัยของตัวเองให้ดีเพื่อยืนระยะรับสัญญาไปจนถึงเวลาที่สังขารไม่อำนวย และการสังกัดทีมโดยมีระบบลีกดูแลอยู่ก็ช่วยดูแลในเรื่องการเงินได้มาก เช่นในอเมริกันฟุตบอล NFL นักกีฬาหน้าใหม่ทุกคนจะต้องผ่านการอบรมสัมนาว่าด้วยการจัดการการเงิน เป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งที่นักกีฬาได้รับจากลีก

ตรงกันข้ามกับนักมวยโดยสิ้นเชิง พวกเขาไม่มีรายได้รายสัปดาห์ ไม่คุ้นชินกับการค่อยๆ เก็บหอมรอมริบ เพราะรู้ตัวอีกที หลังชกชนะไฟต์หยุดโลกได้สำเร็จก็มีเงินหลายร้อยหลายพันล้านบาทมากองอยู่ตรงหน้า กลายเป็นมหาเศรษฐีในชั่วข้ามคืน ซึ่งด้วยวิถีการเงินแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะควบคุมกิเลสตัวเองไม่ให้หลงระเริงไปกับสิ่งยั่วยุต่างๆ 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคงหนีไม่พ้น ไมค์ ไทสัน ที่ในช่วงที่เขาประสบความสำเร็จสุดขีด ในช่วงนั้นไทสันหมดเงินไปกับความฟุ่มเฟือยของตัวเองนับหมื่นล้านบาทภายในระยะเวลา 20 ปี เพราะคติของเขาในขณะนั้น ถ้าเขาต้องการอะไรแล้วจะไม่มีคำว่า “ไม่” โดยเด็ดขาด มีแต่คำว่า "ผมต้องจ่ายเท่าไหร่สำหรับสิ่งนี้?" เท่านั้น

 2

ซิลเวอร์แมนยังให้เหตุผลต่อไปอีกว่ากว่าที่นักมวยคนหนึ่งจะชนะสักไฟต์นั้น พวกเขาต้องผ่านความลำบากอย่างหนักหน่วง การฝึกซ้อมหรือควบคุมน้ำหนักที่โหดร้ายจินตนาการ ดังนั้นเงินรางวัลที่ได้รับหลังจากชนะจึงเป็นเหมือนสิ่งตอบแทนความยากลำบากเหล่านั้น พวกเขาจึงอยากใช้จ่ายมันให้เต็มที่สมกับความทุ่มเท

อีกหนึ่งเหตุผลคือ ปฏิเสธไม่ได้ว่านักมวยส่วนใหญ่ล้วนมีปูมหลังที่ยากลำบาก มาจากสังคมที่สภาพแวดล้อมไม่ค่อยดีนัก ดังนั้นเมื่อพวกเขาประสบความสำเร็จ ร่ำรวยเงินทอง จึงมีไม่น้อยเลยที่เงินส่วนหนึ่งจะต้องถูกแบ่งไปเพื่อปรนเปรอครอบครัวและคนรอบข้างให้มีชีวิตที่สุขสบายขึ้น บางครั้งก็สุขสบายเกินไปจนคนเหล่านั้นไม่อยากทำงานอีกต่อไป เหมือนกับที่ อีแวนเดอร์ โฮลีฟิลด์ ต้องเลี้ยงดูลูกๆ ถึง 11 คน ผลที่ตามมาคือเงินกว่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่หาได้จากการชกมวยก็ร่อยหรอลงในเวลาอันรวดเร็ว

นอกจากนั้นประเด็นด้านบนแล้ว ราล์ฟ วาร์เนอร์ นักข่าวจากสื่อ Complex บอกว่าการหย่าร้างคืออีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้นักมวยที่ครั้งหนึ่งเคยร่ำรวยมหาศาล ถังแตกได้ในพริบตา ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ ดาริอุส มิเชลซิวกี้ ยอดมวยรุ่นยักษ์ อดีตแชมป์โลกรุ่นไลท์เฮฟวี่เวต 3 สถาบันจากโปแลนด์ ที่สูญเสียเงินกว่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการหย่าร้างสองครั้งในชีวิต

 3

ปิดท้ายด้วยอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญคือ นักมวยถึงแม้จะเก่งเรื่องในสังเวียน แต่เรื่องนอกสังเวียนพวกเขาก็ไม่ค่อยเชี่ยวชาญเท่าไรนัก โดยเฉพาะเรื่องในแวดวงธุรกิจ เพราะบรรดานักมวยที่ได้เงินก้อนใหญ่มา บางคนมักจะอยากนำเงินส่วนนั้นไปลงทุนเพื่อต่อยอดความสำเร็จ แต่สุดท้ายก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะการเป็นผู้ชนะในสังเวียนกำปั้นกับการเป็นผู้ชนะในสังเวียนธุรกิจนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ ก็เช่นเดียวกัน เพราะในเรื่องไลฟ์สไตล์เขาก็ไม่ได้แตกต่างจากนักมวยคนอื่นเลยแม้แต่น้อย

ต้นทุนที่มาจากกำปั้น 

ในอดีต เราอาจจะคุ้นกับ ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ ในฉายา “พริตตี้บอย” เนื่องจากในการชกแต่ละไฟต์เขามักจะเอาชนะโดยปราศจากรอยแผลแล้ว แต่ปัจจุบัน เราจะคุ้นหูเขาในฉายา “เดอะ มันนี่” สาเหตุก็เดาไม่ยาก เพราะในการชกแต่ละไฟต์เขาสามารถทำเงินได้มหาศาลนั่นเอง

 4

นับตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมาที่ฟลอยด์เริ่มกลายเป็นนักชกมีชื่อเสียง เงินทองก็เริ่มไหลมาเทมา โดยในแต่ละปีเขาจะขึ้นสังเวียนเฉลี่ยประมาณ 2 ไฟต์ โดยในแต่ละไฟต์จะสร้างรายได้ให้เขาประมาณ 20-50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (600-1,500 ล้านบาท) นอกจากนั้นยังฟลอยด์ยังมีรายได้จากช่องทางอื่นอีก เช่นการที่เขาไปปรากฎตัวในศึกมวยปล้ำ WWE ในปี 2009 ก็สามารถทำเงินเข้ากระเป๋าได้มากถึง 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (600 ล้านบาท)

20-50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อไฟต์ คืออัตรารายได้ของไฟต์ที่มีความน่าสนใจในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเป็นไฟต์หยุดโลกที่ทุกคนเฝ้ารอแล้วล่ะก็ รายได้ที่ฟลอยด์จะได้รับจะพุ่งสูงขึ้นยิ่งกว่านั้นอีกหลายเท่าตัว

ในเดือนกันยายน ปี 2013 ฟลอยด์มีคิวขึ้นชกกับ ซาอูล “คาเนโล่” อัลวาเรซ นักชกชาวเม็กซิกันเลือดใหม่ไฟแรง ผู้มาพร้อมกับสถิติไร้พ่ายอันน่าเกรงขาม โดนเขานี่แหละคือคนที่สื่อต่างยกว่าจะเป็นผู้หยุดสถิติไร้พ่ายของ เดอะ มันนี่ ได้สำเร็จ นั่นจึงทำให้ไฟต์นี้กลายเป็นที่จับตามองของคนทั่วโลก แต่สุดท้ายหลังระฆังยก 12 ดังขึ้น ชัยชนะก็ยังตกเป็นของฟลอยด์ตามเดิม พร้อมกับกวาดเงิน 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2,250 ล้านบาท) เข้ากระเป๋าไปแบบชิลๆ

 5

หลังจากนั้นอีก 2 ปี ไฟต์หยุดโลกก็เวียนมาบรรจบกับฟลอยด์อีกครั้ง และในครั้งนี้ก็ยิ่งใหญ่กว่าเดิมหลายเท่า เพราะมันคือไฟต์ในฝันที่ทุกคนรอคอย การขึ้นสังเวียนฟาดฟันกันระหว่าง ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ กับ แมนนี ปาเกียว คู่แข่งตลอดกาลที่เกือบจะไม่ได้เจอกัน ซึ่งถึงแม้หลายคนจะมองว่าพวกเขาทั้งคู่เวียนมาบรรจบกันช้าไปหน่อย เหมือนจะเลยจุดสูงสุดในอาชีพกันไปแล้ว แต่ไฟต์นี้ก็ยังยิ่งใหญ่จนสามารถทำเงินกับฟลอยด์ได้มากถึง 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (7,500 ล้านบาท) เลยทีเดียว

และไฟต์สำคัญที่จะไม่พูดถึงคงไม่ได้ เพราะมันคือไฟต์ที่มีเงินหมุนเวียนมากที่สุดในประวัติศาสตร์วงการมวย เมื่อสองสุดยอดจากสองวงการเวียนมาบรรจบกัน หนึ่งคือนักมวยไร้พ่าย ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ ส่วนคู่ต่อสู้คือ คอเนอร์ แมคเกรเกอร์ นักสู้ MMA (ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน) จอมฉาวคนดังแห่งศึก UFC ที่ต่างฝ่ายต่างก็ไม่มีใครกลัวใคร เปิดศึกแลกน้ำลายกันตั้งแต่ก่อนขึ้นชก สร้างเรื่องราวให้ผู้คนได้ติดตาม ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ชัยชนะของฟลอยด์ ในไฟต์นี้จะทำเงินให้เขาสูงถึง 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (9,000 ล้านบาท) 

 6

ด้วยกระแสเงินที่หมุนเวียนระดับนี้ จึงทำให้ฟลอยด์มีทรัพย์สินจากการประเมินของสื่อต่างๆ สูงถึง 650-1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (19,500 - 30,000 ล้านบาท) และด้วยความร่ำรวยระดับนี้ฟลอยด์ก็ไม่คิดจะปิดบัง ตรงกันข้ามเขาอยากประกาศให้โลกรับรู้ว่าเขาร่ำรวยขนาดไหนผ่านไลฟ์สไตล์แสนบ้าระห่ำของเขา ไม่ว่าจะเป็นการมีเครื่องบินส่วนตัว, คอลเลกชั่นรถซูเปอร์คาร์สุดหรูนับสิบคัน, การลงเงินพนันที่เขามักจะถ่ายบิลมูลค่าหลายแสนเหรียญมาโชว์บ่อยๆ, คอลเลกชั่นนาฬิกามูลค่า 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, โชว์เงินสดเป็นฟ่อนๆ และอีกมากมายเกินกว่าจะหยิบมาอธิบายได้หมด

“นี่มันวิถีชีวิตนักมวยที่ในอนาคตจะต้องถังแตกชัดๆ” 

ไม่แปลกที่จะคิดแบบนั้น แต่ ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ นั้นแตกต่างจากนักมวยทั่วไป เพราะเขาแสดงความมั่นใจออกมามากๆ ว่าเขาไม่มีทางที่จะลงเอยกลายเป็นคนถังแตกแน่นอน

ชีวิตและการเงินนอกสังเวียน

“ฟังชัดๆ นะ ถึงคนที่กำลังบอกว่าผมว่าผมขึ้นชกกับ แมคเกรเกอร์ เพราะผมถังแตก กำลังมีปัญหาทางการเงิน ผมจะบอกว่าต่อให้ผมไม่ขึ้นชกไฟต์นี้ ในอีก 20 ปีข้างหน้าผมก็ยังจะใช้เงินแบบนี้ได้ ยังสามารถซื้อรถ ซื้อบ้านใหม่ได้ทุกเดือน ไปได้ในทุกๆ ที่ที่อยากไป และในอีก 30 ปีข้างหน้าผมก็ยังคงสามารถซื้อเครื่องบินเจ็ทลำใหม่ รวมถึงจิลเวอรี่ได้สบายๆ” ฟลอยด์ให้สัมภาษณ์กับ Hollywood Unlocked ตอบโต้เสียงวิจารณ์ว่าเขากำลังถังแตก และที่เขาสามารถพูดอย่างมั่นใจแบบนั้นได้ เพราะฟลอยด์มีกลยุทธ์หลักในการสร้างเม็ดเงินให้งอกเงยด้วยกัน 3 ข้อ 

7

ข้อแรกคือ การเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ

“ทุกครั้งที่ผมไปเจอเหล่าเพื่อนมหาเศรษฐี แทนที่ผมจะพูดกับเขาว่า ‘เรือยอร์ชคุณสวยจังเลย’ หรือ ‘ผมชอบเครื่องบินเจ็ทของคุณนะ’ ผมจะถามพวกเขาแทนว่า ‘คุณมีวิธีหาสิ่งเหล่านี้มาได้ยังไง?’ มากกว่า” ฟลอยด์เผยเคล็ดลับการเรียนรู้ธุรกิจแบบฉบับของเขาเองกับสื่อ Fortune

 8

“ผมเคารพและศึกษาวิธีการทางธุรกิจจากหลายคน แต่ในขณะเดียวกันผมก็ต้องเอามาปรับใช้ให้เข้ากับสไตล์ของผมเอง โฟกัสแค่ในสิ่งที่ผมทำเท่านั้น”

ข้อสองคือ เลือกลงทุนในสิ่งใกล้ตัวและรู้จักมันดี

“มันเป็นเรื่องยากที่จะลงทุนในสิ่งที่คุณไม่รู้จัก แต่ถ้าคุณลงทุนในสิ่งที่คุณรู้จักมันดี คุณจะมีความสุข” 

เรื่องนี้ชัดเจนอยู่ในธุรกิจต่างๆ ที่ฟลอยด์เลือกลงทุน ไม่ว่าจะเป็น Mayweather Boxing + Fitness ธุรกิจโรงยิมครบวงจร ตั้งอยู่ในเมืองลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยได้รับการยกย่องและคะแนนรีวิวจากสื่อต่างๆ ให้เป็นหนึ่งในยิมที่ทันสมัยที่สุดใน แคลิฟอร์เนีย ล้ำถึงขนาดที่ว่ามีการออกกำลังกายในรูปแบบ VR หรือภาพเสมือนจริง และในเร็วๆ นี้จากรายงานของ Forbes Mayweather Boxing + Fitness มีแผนที่จะขยายธุรกิจในรูปแบบของแฟรนไชส์ไปทั่วโลก

 9

นอกจากภาพลักษณ์การเป็นนักมวยแล้ว การเป็นเจ้าพ่อนักปาร์ตี้ก็เป็นหนึ่งในอีกภาพลักษณ์ประจำตัวของพริตตี้บอย ดังนั้นธรุกิจ Girl Collection คลับเปลื้องผ้าชื่อดังในลาสเวกัส ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ทำเงินให้ฟลอยด์อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ถึงจะไม่มีการเปิดเผยเรื่องกำไรออกมาชัดเจน แต่การที่ฟลอยด์ออกมาอัปโหลดรูปแบงค์ 100 ดอลลาร์เกลื่อนพื้น พร้อมแคปชั่นว่า “กำไรจาก Girl Collection” ก็คงพอจะบ่งบอกได้ ยิ่งไปกว่านั้น Girl Collection ยังได้รับการแนะนำว่าเป็นหนึ่งในคลับเปลื้องผ้าที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาลาสเวกัส

นอกจากนั้นก็ยังมี The Money Team แบรนด์เสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาของเขาเอง และ Mayweather Promotions บริษัทจัดการแข่งขันและดูแลสิทธิประโยชน์นักมวย ที่ทำให้เขากลายเป็นโปรโมเตอร์ โดยบารมีของเขา สามารถดึงยอดนักมวยอย่าง เจอร์วอนเท เดวิส แชมป์โลกรุ่นไลท์เวตของ WBA คนปัจจุบันชาวอเมริกัน กับ บาโด แจ็ค อดีตแชมป์โลก 2 รุ่นชาวสวีเดน มาอยู่ในสังกัด รวมถึงเคยจัดมวยไฟต์ดังๆ ในระยะหลัง อย่างเช่นไฟต์ของ ดีออนเต ไวลเดอร์ แชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวต WBC และ แมนนี่ ปาเกียว อดีตคู่ปรับตลอดกาลของเมย์เวทเธอร์เอง ซึ่งปัจจุบันทั้งคู่อยู่ในสังกัดของ อัล เฮย์มอน ผู้จัดการคู่บุญ 

 10

อย่างไรก็ตามนอกจากธุรกิจที่หยิบจับสิ่งใกล้ตัวมาสร้างเป็นเม็ดเงินแล้ว ฟลอยด์ยังชื่นชอบในการลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเขาให้เหตุผลไว้ว่า

“หมอฟันจะทำเงินได้เมื่อเขารักษาฟัน นักมวยก็เช่นเดียวกัน พวกเขาจะทำเงินได้ก็ต่อเมื่อขึ้นสังเวียน แต่ตึกระฟ้าในนิวยอร์กจะทำเงินให้คุณได้ตลอดเวลา แม้คุณจะนอนหลับอยู่ก็ตาม”

“ผมก็อยากจะใช้เงินให้มันหมดๆ ไปนะ แต่โทษทีที่มันเป็นแบบนั้นไม่ได้ เพราะผมได้ลงทุนไว้มากมาย และมันเป็นการลงทุนที่ชาญฉลาด”

“ธุรกิจเหล่านี้มันทำให้ผมตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ผมได้ทำงานมากมายและได้ท่องไปรอบโลก ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเงิน แต่มันยังทำให้ผมได้มีช่วงเวลาที่ดี” ฟลอยด์ปิดท้ายด้วยเหตุผลว่าทำไมเขาถึงชื่นชอบการทำธุรกิจ

ข้อสามคือ ถ่ายทอดความรู้ ส่งมอบต่อลูกๆ

“การนำประสบการณ์ความรู้เหล่านั้นไปถ่ายทอดให้กับลูกๆ มันคือการส่งต่อความมั่งคั่งไปอีกชั่วอายุคน” 

 11

ฟลอยด์เผยว่าถ้าเขาเก็บทุกอย่างไว้กับตัว ความมั่งคั่งนี้ก็หยุดอยู่แค่ตัวเขา แต่ถ้าเขาสามารถส่งมอบมันให้กับลูกๆ ได้ความมั่งคั่งนี้ก็จะไปต่อไปเรื่อยๆ เขาก็จะมั่นใจได้ว่าลูกๆ จะมีชีวิตที่ดี ดังนั้นฟลอยด์นั้นสนับสนุนให้ลูกๆ ของเขานำเงินไปลงทุนด้วยเช่นกัน โดยมีเขาคอยให้คำปรึกษา

นี่แหละคือกลยุทธ์ทำเงินของจอมอวดรวย ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ เชื่อว่าทุกคนน่าจะเข้าใจแล้วว่าทำไมการที่จะเห็นเขาถังแตกเหมือนนักมวยคนอื่นๆ นั้นจึงเป็นเรื่องยาก

อัลบั้มภาพ 98 ภาพ

อัลบั้มภาพ 98 ภาพ ของ ถอดกลยุทธ์ทำเงิน : ทำไม "ฟลอยด์" จึงเป็นจอมอวดรวยที่ไม่มีวันถังแตก?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook