เหตุใดจึงแทบไม่มีนักมวยปล้ำจาก "แอฟริกา" ในเวทีระดับโลก?

เหตุใดจึงแทบไม่มีนักมวยปล้ำจาก "แอฟริกา" ในเวทีระดับโลก?

เหตุใดจึงแทบไม่มีนักมวยปล้ำจาก "แอฟริกา" ในเวทีระดับโลก?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มวยปล้ำ เป็นหนึ่งในกีฬาที่ได้รับความนิยมไปหลายพื้นที่ทั่วโลก ไม่ว่าจะใน สหรัฐอเมริกา, เม็กซิโก, อังกฤษ, เยอรมัน, อินเดีย, จีน, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย... ชาติเหล่านี้สร้างนักมวยปล้ำขึ้นมามากมาย หลายคนคือสุดยอดฝีมือของวงการ ก้าวจนขึ้นไปอยู่ในระดับแชมป์โลก

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางยุคทองของกีฬามวยปล้ำ ทวีปแอฟริกากลับถูกหมางเมินจากวงการนี้ น้อยครั้งที่เราจะได้เห็นนักมวยปล้ำจากแอฟริกา เฉิดฉายบนสังเวียนผ้าใบ บางครั้งนักมวยปล้ำที่มาจากทวีปแอฟริกาบนหน้าจอโทรทัศน์ ไม่ใช่นักมวยปล้ำที่มาจากทวีปแอฟริกาจริงๆด้วยซ้ำไป

 

มวยปล้ำในทวีปแอฟริกา ดูจะตามหลังวงการมวยปล้ำจากพื้นที่อื่นของโลกอยู่มาก ด้วยปัจจัยภายในและภายนอก ที่ถูกหมางเมินจากคนในวงการมวยปล้ำ 

จนทำให้นักมวยปล้ำจากแอฟริกา เป็นของสำคัญหายาก ในเวทีมวยปล้ำระดับโลก ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา

แอฟริกาสัญชาติปลอม

การจะบอกว่า วงการไม่มีพื้นที่ให้กับนักมวยปล้ำแอฟริกา คงไม่ถูกต้องนัก เพราะยุคหนึ่งคาแรคเตอร์ของนักมวยปล้ำจากทวีปแอฟริกา ถือว่าขายดิบขายดี นำมาใช้บนเวทีอย่างหลากหลาย 

 1

ซาบา ซิมบา (Saba Simba) กับบทบาทยอดนักรบจากประเทศอูกานดา, ปาปา แชงโก (Papa Shango) ในบทบาทหมอผีเหนือธรรมชาติ, คามาลา (Kamala) กับบทบาทคนป่าจากแอฟริกา หรือ อับดุลลาห์ เดอะ บุชเชอร์ (Abdullah the Butcher) นักมวยปล้ำสายฮาร์ดคอร์จอมป่าเถื่อน ผู้ไม่พูดภาษาอังกฤษ

ทั้งรูปลักษณ์ เรื่องราวคาแรคเตอร์ที่ดูน่าสนใจ ทำให้ช่วงต้นยุค 90’s เป็นยุคทองของคาแรคเตอร์ของนักมวยปล้ำจากแอฟริกา...อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีนักมวยปล้ำคาแรคเตอร์จากทวีปแอฟริกา เต็มหน้าจอโทรทัศน์ แต่นักมวยปล้ำที่รับบทบาทเหล่านี้ ไม่มีใครเป็นนักมวยปล้ำ ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา แม้แต่คนเดียว

เพราะนักมวยปล้ำเหล่านี้ ส่วนใหญ่คือชาวสหรัฐอเมริกา หรือไม่ก็แคนาดา ที่ถูกสมาคมมวยปล้ำจับมาสร้างบทบาทให้ใหม่ ด้วยการใช้นักมวยปล้ำผิวสี ของคนแอฟริกัน-อเมริกัน มาเชื่อมโยงกับทวีปแอฟริกา ปรับเปลี่ยนใส่คาแรคเตอร์คนแอฟริกาเข้าไป

ถึงจะเป็นแอฟริกันทำเหมือน แต่ถ้าได้รับบทบาทออกหน้าจอโทรทัศน์ เป็นนักมวยปล้ำระดับแถวหน้า ปลุกกระแสมวยปล้ำในทวีปแอฟริกาให้เติบโต ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย น่าเสียดายที่ทุกอย่างกลับตรงกันข้าม

น่าเสียดายที่เหล่านักมวยปล้ำที่มีคาแรคเตอร์จากแอฟริกา เป็นได้เพียงแค่นักมวยปล้ำตลก เรียกเสียงตลกจากผู้ชมชาวอเมริกา หลายคนถูกใช้เป็นเครื่องมือ ในการสร้างนักมวยปล้ำที่สมาคมต้องการผลักดันเท่านั้น 

เมื่อถึงจุดหนึ่งที่คาแรคเตอร์ของนักมวยปล้ำเหล่านี้ ดูไม่แข็งแกร่งอีกต่อไป สมาคมจะทำการเปลี่ยนคาแรคเตอร์ให้กับนักมวยปล้ำ ไปรับบาทอื่นต่อไป

นอกจากจะไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน สำหรับนักมวยปล้ำแอฟริกาทำเหมือน...คาแรคเตอร์ที่แอฟริกาที่นักมวยปล้ำ หลายคนได้รับ ยังได้รับเลือกให้ติดลิสต์ สุดยอดคาแรคเตอร์เหยียดผิวตลอดกาล หรือคาแรคเตอร์สุดห่วยจากหลากหลายเว็บไซต์มวยปล้ำ

 2

ยกตัวอย่าง ปาปา แชงโก ด้วยคาแรคเตอร์หมอผี ที่เล่นงานคู่ต่อสู้ด้วยการร่ายเวทมนตร์ ซึ่งในสายตาของแฟนมวยปล้ำ นี่คือคาแรคเตอร์ที่ไม่สามารถทำให้แฟนมวยปล้ำเชื่อได้เลย ว่าเขาคือผู้มีอำนาจจริง แตกต่างจากนักมวยปล้ำคาแรคเตอร์คล้ายกันอย่าง ดิ อันเดอร์เทคเกอร์ (The Undertaker) 

ทำให้ ปาปา แชงโก ได้รับรางวัลนักมวยปล้ำคาแรคเตอร์ยอดแย่ และนักมวยปล้ำน่าอาย ประจำปี 1992 จาก WON นิตยสารมวยปล้ำที่โด่งดังที่สุดในโลกไปครอง

หรือนักมวยปล้ำอย่าง คามาลา ด้วยความสูงมากกว่า 200 เซ็นติเมตร กับน้ำหนัก 380 ปอนด์ ไม่ใช่เรื่องยากที่จะปั้นนักมวยปล้ำรายนี้ให้ดูแข็งแกร่ง แต่ด้วยคาแรคเตอร์คนป่าจากแอฟริกัน ทำให้บทบาทที่เขาต้องเล่นคือนักมวยปล้ำที่เก่งแต่ว่าโง่ เช่น เมื่อคามาลาเล่นงานคู่ต่อสู้จนหมดสภาพ เขาจะไม่จับกดคู่ต่อสู้ เพราะว่าเขาไม่รู้วิธีการจับกดนับสาม!

 3

ภาพของนักมวยปล้ำแอฟริกัน กลายเป็นเหมือนเครื่องมือเหยียดผิว ต่อคนผิวสี ในการฉายภาพความเชื่อ ภาพจำต่างๆของคนผิวสี ที่มีในความคิดของคนเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน ผ่านสังเวียนมวยปล้ำเท่านั้น

“ผมอาจจะเคยได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำร้ายคนดำไปบ้าง แต่ผมยืนยันว่า ผมไม่เคยคิดจะทำร้ายชนชาติใดทั้งสิ้น” เจมส์ แฮร์ริส ชายชาวสหรัฐอเมริกา ผู้รับบทเป็นคามาลา บนสังเวียนมวยปล้ำ กล่าวถึงคาแรคเตอร์ของตัวเอง

ไม่ตอบโจทย์ทางธุรกิจ

การจะปลุกกระแสมวยปล้ำในแต่ละพื้นที่ นักมวยปล้ำคือส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างกระแสได้ ยิ่งมีนักมวยปล้ำที่ภาพลักษณ์ดีเยี่ยม สามารถเป็นต้นแบบ เป็นแรงบันดาลใจ ให้กับแฟนมวยปล้ำ ยิ่งช่วยทำให้กีฬาประเภทนี้ เติบโตได้อย่างรวดเร็ว

 4

ในขณะที่สหรัฐอเมริกามี ฮองค์ โฮแกน (Hulk Hogan), แคนาดามี เบรท ฮาร์ท (Bret Hart), อังกฤษมีคู่แท็กทีม บริติช บูลด็อก (British Bulldog), ญี่ปุ่นและเม็กซิโก มีการสร้างนักมวยปล้ำท้องถิ่น ที่ได้รับความนิยมภายในชาติจำนวนมาก แต่ทวีปแอฟริกากลับไม่มีนักมวยปล้ำฮีโร่ของตัวเองอยู่เลย ผ่านกระบวนการของสมาคมมวยปล้ำ ต่อคาแรคเตอร์นักมวยปล้ำจากแอฟริกา

เมื่อไม่มีกระแส ก็ไม่มีธุรกิจ อันเป็นแรงผลักดันสำคัญ ในการพัฒนาวงการกีฬามวยปล้ำให้ก้าวไปข้างหน้า ไม่ต่างจากวงการกีฬาประเภทอื่น การจะพัฒนานักกีฬาต้องอาศัยปัจจัยหลายองค์ประกอบ เงินทุน,บุคลากร, องค์ความรู้, สิ่งอำนวยความสะดวก 

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว มวยปล้ำ คือหนึ่งในกีฬาท้องถิ่นของทวีปแอฟริกา เป็นศิลปะการต่อสู้มาตั้งแต่โบราณของคนในทวีปนี้ ผ่านหลักฐานบันทึกโบราณของอารยธรรมอียิปต์...แม้กระทั่งในปัจจุบันที่ประเทศเซเนกัล บางชนเผ่าใช้กีฬามวยปล้ำ เป็นเครื่องมือตัดสินว่า ใครควรจะได้เป็นหัวหน้าเผ่าคนต่อไป รวมถึงนักมวยปล้ำที่เก่งก็ได้ยังรับเชิดชูให้เป็นซูเปอร์สตาร์ระดับชาติอีกด้วย 

 5

อาจบอกได้ว่ากีฬามวยปล้ำ อยู่ในสายเลือดของคนแอฟริกา แต่เมื่อทวีปแอฟริกา ไม่ใช่พื้นที่นิยมกีฬาประเภทนี้ ของดีที่พวกเขามีอยู่ในตัว จึงไม่สามารถถูกนำมาพัฒนา ต่อยอดในระยะยาว 

ไม่มีเหตุผลใดที่สมาคมมวยปล้ำระดับโลก จะต้องไปนำตัวนักมวยปล้ำจากแอฟริกามาฝึกฝน ปั้นให้เป็นสุดยอดนักมวยปล้ำซุปเปอร์สตาร์ ในเมื่อสุดท้ายลงทุนไป ก็ไม่ได้ผลตอบรับที่ดีกลับมา

นักมวยปล้ำจากทวีปแอฟริกา ที่โด่งดังที่สุด คือโคฟี คิงสตัน (Kofi Kingston) เขาคือชาวกานาโดยกำเนิด และควรเป็นความภูมิใจของชาวแอฟริกา...แต่ย้อนไปเมื่อตอนที่โคฟี เปิดตัวกับ WWE เขาไม่ได้รับบทนักมวยปล้ำจากกานา แต่รับบทเป็นนักมวยปล้ำจากจาไมกา ประเทศจากทวีปอเมริกากลาง แทนที่บ้านเกิดของเขา 

เหตุผลที่โคฟีต้องรับบทเป็นนักมวยปล้ำมาจากจาไมกา แทนที่จะเป็นกานา เพราะ WWE เชื่อมั่นว่า หากเปิดตัวโคฟี คิงสตัน ในฐานะนักมวยปล้ำจากแอฟริกา เขาจะไม่ได้รับความสนใจจากคนดูอย่างแน่นอน เพราะคำว่า “มวยปล้ำ” กับ “แอฟริกา” เป็นสิ่งที่ห่างไกลกัน เกินกว่าที่ผู้ชมจะโยงทั้งสองสิ่งเข้าด้วยกันได้

 6

“ผมเข้าใจในสิ่งที่สมาคมทำ มันเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะทำให้ผู้ชมจดจำผมได้” โคฟี กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องทำให้เขาสวมบทเป็นคนจาไมกา ในช่วงแรกเริ่มของอาชีพ 

แม้ว่าในภายหลัง โคฟีจะได้เปลี่ยนเรื่องราวของตัวเอง ว่าเป็นหนุ่มที่มาจากกานา ไม่ใช่จาไมกา แต่เรื่องราวการสร้างคาแรคเตอร์ของโคฟี ในช่วงเริ่มต้น คือภาพสะท้อนอย่างดี ว่าเหตุใด นักมวยปล้ำยอดฝีมือจากแอฟริกา จึงถูกหมางเมินจากสมาคมมวยปล้ำยักษ์ใหญ่ทั่วโลก เพราะสุดท้ายมวยปล้ำคือธุรกิจ ถ้านักมวยปล้ำไม่สามารถสร้างรายได้ให้สมาคมได้ คงไม่มีเหตุผลที่จะต้องจ้างพวกเขาเข้ามาทำงาน

ขาดความเป็นตัวของตัวเอง

นอกจากจะไม่เป็นที่นิยมจากสมาคมยักษ์ใหญ่ ภายในทวีปแอฟริกาพวกเขาต้องพบปัญหาเรื่องกระแสนิยมของกีฬามวยปล้ำด้วยเช่นกัน เพราะสมาคมมวยปล้ำท้องถิ่น ไม่สามารถสร้างกระแสให้กับกีฬาประเภทนี้ ได้เหมือนกับที่สหรัฐอเมริกา, เม็กซิโก หรือญี่ปุ่น

 7

แอฟริกา เรสริง อัลไลแอนซ์ หรือ AWA (Africa Wrestling Alliance) คือสมาคมมวยปล้ำที่ใหญ่ที่สุดจากทวีปแอฟริกาใต้ ที่มีอายุยืนยาวมากว่า 24 ปี แต่สมาคมแห่งนี้ ไม่สามารถผลักดันตัวเอง ให้กลายเป็นสมาคมแถวหน้าของโลก และทำได้เพียงเป็นสมาคมที่ปล้ำในแถบตอนใต้ของทวีปแอฟริกาเท่านั้น

ทั้งที่สมาคมแห่งนี้ ได้แรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนค่าย ทั้งในเรื่องบทบาท สไตล์การปล้ำบนเวที รวมถึงการบริหารค่ายมวยปล้ำ จากทางสหรัฐอเมริกา 

อีกทั้งพวกเขายังมีความตั้งใจที่จะผลักดันสมาคมของตัวเอง ให้ได้รับความนิยม ทั้งการลงทุนเม็ดเงิน วิ่งไล่หาสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุน เพื่อปลุกกระแสกีฬามวยปล้ำเหมือนในชาติอื่น

แต่พวกเขากลับไม่สามารถสร้างชื่อให้กับตัวเองได้ รวมถึงไม่สามารถสร้างพันธมิตรที่แข็งแกร่ง กับสมาคมมวยปล้ำจากชาติอื่น ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่จะทำให้ค่ายมวยปล้ำดูน่าเชื่อถือ และสร้างชื่อเสียงในวงกว้างได้ง่ายมากขึ้น

อย่างไรก็ดี มีการค้นคว้าทางวิชาการ ที่บอกว่า การสร้างความนิยมให้กีฬามวยปล้ำ ไม่ได้มีเเค่เรื่องธุรกิจเพียงอย่างเดียว

แดน เกลนเดย์ (Dan Glenday) อาจารย์ด้านสังคมศาสตร์ชาวแคนาดา ได้ศึกษางานวิจัยของตัวเองถึงปัจจัยที่จะทำให้มวยปล้ำ ได้รับความนิยมในแต่ละพื้นที่...งานเขียนของเขาเปิดเผยว่า กีฬามวยปล้ำเป็นกีฬาที่มีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง และแต่ละวัฒนธรรมจะแตกต่างออกไปในแต่ละท้องถิ่น 

สมาคมมวยปล้ำที่ดี คือ สมาคมมวยปล้ำ ที่สามารถสร้างวัฒนธรรมของตัวเอง ผ่านการประยุกต์วัฒนธรรมท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ เข้ากับกีฬามวยปล้ำได้อย่างลงตัว

นอกจากนี้ สไตล์การปล้ำมวยปล้ำของแต่ละพื้นที่ ต้องมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เพื่อให้เป็นที่จดจำของแฟนมวยปล้ำ เช่น มวยปล้ำของทวีปยุโรป ที่เน้นการใช้เทคนิคเป็นหลัก, มวยปล้ำจากญี่ปุ่นที่มีความหนักหน่วง รุนแรงสมจริง ผสมผสานกับศิลปะการต่อสู้แบบ MMA หรือเม็กซิโก ที่เป็นมวยปล้ำเหินหาว แบบนักมวยปล้ำหน้ากาก ดังที่แฟนมวยปล้ำคุ้นตากันดี

สิ่งที่สมาคมมวยปล้ำในแอฟริกาขาดหาย คือเอกลักษณ์ของตัวเอง แม้พวกเขาจะมีความตั้งใจจริง ที่จะทำให้สมาคมมวยปล้ำของตัวเอง มีความเป็นสากล ด้วยการลอกเลียนแนวทาง จากสหรัฐอเมริกา 

แต่สุดท้ายคนที่อยากดูมวยปล้ำของทวีปแอฟริกา ย่อมอยากเห็นอะไรที่แตกต่างไปจากมวยปล้ำของทวีปอื่น หากมวยปล้ำแอฟริกาเหมือนกับมวยปล้ำของ WWE คงไม่มีเหตุผลที่แฟนมวยปล้ำ จะต้องติดตามค่ายมวยปล้ำจากแอฟริกา 

เพราะสุดท้ายแค่ชม WWE ทุกอย่างก็จบ ได้ดูนักมวยปล้ำที่เก่งกว่า แสงสีเสียงอลังการมากกว่า แมทช์การปล้ำมีคุณภาพมากกว่า

 8

จุดนี้เป็นจุดสำคัญ ที่สามารถทำให้นักมวยปล้ำต่อยอดอาชีพของตัวเอง ไปสู่สมาคมยักษ์ใหญ่ด้วย ยกตัวอย่างเช่น นักมวยปล้ำสายเทคนิคจากอังกฤษหลายคน ได้ย้ายไปปล้ำกับสองสมาคมยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง WWE และ NJPW เพราะพวกเขาสามารถสร้างคาแรคเตอร์ที่น่าสนใจให้ตัวเอง ผ่านแนวทางการปล้ำอันเป็นเอกลักษณ์ ในแบบฉบับอังกฤษ และมีแฟนมวยปล้ำคอยติดตาม ทั้งแฟนมวยปล้ำจากอังกฤษ และแฟนมวยปล้ำที่ชื่นชอบในการปล้ำแนวเทคนิคจับล็อค

น่าเสียดายที่ทวีปแอฟริกา ไม่มีใครริเริ่มนำเอกลักษณ์มวยปล้ำหรือศิลปะการต่อสู้ท้องถิ่น เข้ามาสร้างเอกลักษณ์ในการทำมวยปล้ำอาชีพ จนไม่สามารถพัฒนาวงการมวยปล้ำ ให้ทัดเทียมกับชาติมวยปล้ำระดับแถวหน้า

ขณะเดียวกันสมาคมมวยปล้ำที่มีเงินทุนแน่นหนา ก็ไม่สนใจที่จะเปิดตลาดในแอฟริกา เพราะมองว่าไม่คุ้มค่าทางธุรกิจ ทำให้สุดท้ายวงการมวยปล้ำในแอฟริกา ยังคงตามหลังวงการมวยปล้ำในพื้นที่อื่นของโลก แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ เหตุใดจึงแทบไม่มีนักมวยปล้ำจาก "แอฟริกา" ในเวทีระดับโลก?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook