"ดอร์ทมุนด์" มีวิธีเจรจาอย่างไร จึงได้ดาวรุ่งฝีเท้าดีร่วมทีมไม่ขาดสาย?

เออร์ลิง ฮาลันด์ ถูกสโมสรระดับท็อปมากกว่า 10 สโมสรรุมแย่งตัว แต่สุดท้ายเขาเลือก ดอร์ทมุนด์...
2 ปีก่อน จาดอน ซานโช่ ถูกกุนซือที่ดีที่สุดในโลกอย่าง เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ขอร้องให้ต่อสัญญากับ แมนฯ ซิตี้ แต่เขาก็ปฎิเสธ และเลือก ดอร์ทมุนด์ เหมือนกันกับ ฮาลันด์
นี่คือตัวอย่างที่ยกมาแค่ 2 เคสเท่านั้นที่ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ทีมดังแห่ง บุนเดสลีกา เยอรมัน สามารถปิดดีลกับดาวรุ่งฝีเท้าดีได้ในราคาถูกแสนถูก ... เมื่อถึงเวลาพวกเขาจะขายเพื่อทำเงิน และซื้อนักเตะดาวรุ่งด้วยวิธีเดิมเข้ามาใหม่ วนไปวนมาอย่างนี้
อะไรที่ทำให้ระบบการซื้อ-ขายนักเตะของเสือเหลืองเฉียบขาด ปิดเกมไว เซอร์ไพรส์ได้เสมอ ... ติดตามได้ที่นี่
ไม่เจ็บ... ไม่รู้สึก
ว่ากันว่าบทเรียนที่ดีที่สุด ไม่ใช่การเรียนรู้จากหลักสูตรใดหรืออาจารย์คนไหน หากแต่คือการที่เราได้รู้จักเจ็บด้วยตัวเอง... และสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการเจ็บก็คือ เราจะจำมันอย่างแม่นยำ และรู้ว่าต้องทำอย่างไรที่จะไม่ให้เรื่องราวที่ผิดพลาดแบบนี้เกิดขึ้นอีกครั้งกับชีวิต
โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ คือหนึ่งในสโมสรที่ได้รับบทเรียนนั้น เมื่อวันหนึ่งพวกเขากลายเป็นนกน้อยที่หวังจะสร้างรังที่เทียบเท่ากับพญาอินทรี ... พวกเขาแหงนหน้าขึ้นมองทีมที่อยู่เหนือขึ้นไปอย่าง บาเยิร์น มิวนิค มหาอำนาจของแท้และดั้งเดิมแห่งวงการลูกหนังแดนอินทรีเหล็ก และเชื่อว่าสามารถก้าวข้ามจุดนั้นได้ด้วยการ "ทุ่มทุน" สำหรับนักเตะระดับคุณภาพที่สามารถใช้งานได้ทันที
โทมัส โรซิคกี้ 15 ล้านปอนด์, เอวานิลสัน 15 ล้านปอนด์ รวมถึงเหล่าแข้งอย่าง แยน โคลเลอร์, เอเวอร์ตัน, ซันเดย์ โอลิเซห์, เฟร็ดดี้ โบบิช และอีกมากมาย คือเหล่านักเตะที่ ดอร์ทมุนด์ ต้องการเพิ่มศักยภาพให้ทีมโดยด่วนที่สุดในช่วงยุค 2000's
หากจะพูดให้ถูกคือพวกเขาคิดถูกแค่ครึ่งเดียว พวกเขาสามารถเอาชนะ บาเยิร์น ได้จริงด้วยการคว้าแชมป์ บุนเดสลีกา ในฤดูกาล 2001-02 ทว่าพวกเขาลืมคิดถึง "ทางยาว" นั่นคือจะเอาอย่างไรต่อหลังจากนั้น และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการตกหลุมพรางของทีมจอมทุ่มหน้าใหม่ เพราะหลังจากที่คว้าแชมป์ครั้งนั้นได้ พวกเขาไม่สามารถยืนระยะได้เหมือนกับที่ บาเยิร์น ทำ ดังนั้นแชมป์บุนเดสลีกาของ ดอร์ทมุนด์ ครั้งนั้น จึงเป็นเหมือนอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ถึงแม้จะทำให้ได้กินของอร่อยในระยะเวลาที่รวดเร็ว แต่ปลายทางคือจุดเริ่มต้นของโรคร้ายที่มาจากอาหารขยะเหล่านั้น
"เราเกือบจะล้มละลายแล้วจริงๆ ในเวลานั้น มันใกล้เคียงกับคำนั้นมากๆ" มิชาเอล ซอร์ก ผอ.กีฬาของดอร์ทมุนด์ ที่ครั้งหนึ่งคือตำนานนักเตะของทีมว่าไว้ในช่วงปี 2004
ณ เวลานั้นมูลค่าหุ้นของ ดอร์ทมุนด์ ตกลงถึงร้อยละ 80 จากผลงานที่ย่ำแย่และผลประกอบการที่เสียมากกว่าได้ จนทำให้ผู้ถือหุ้นกว่า 400 คนต้องจัดประชุมฉุกเฉินเพื่อหามาตรการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
ยุทธวิธีแรกคือ นักเตะดอร์ทมุนด์ในตอนนั้นต้องยอมลดค่าเหนือยลงมาร้อยละ 20 จากที่เคยได้ นอกจากนี้เสือเหลือง ต้องขายชื่อสนาม เวสต์ฟาเลน สตาดิโอน เปลี่ยนเป็น ซิกนัล อิดูน่า พาร์ค ตามชื่อบริษัทประกันท้องถิ่นที่เข้ามาสนับสนุนการเงินของสโมสร...
ยังไม่จบเท่านี้ ยังมีสิ่งที่แสบสันต์ยิ่งกว่า เมื่อ ดอร์ทมุนด์ อยู่ในสภาพที่ส่อล้มละลาย กลับกลายเป็นว่าคู่แข่งที่พวกเขาพยายามแทบตายเพื่อก้าวข้ามอย่าง บาเยิร์น กลับกลายเป็นทีมที่ให้พวกเขายืมเงินจำนวน 2 ล้านยูโร เพื่อนำไปชำระหนี้ส่วนหนึ่ง ... เรียกได้ว่าเป็นการยอมรับความช่วยเหลือที่เจ็บจี๊ดเข้าไปที่หัวใจบอร์ดบริหารของเสือเหลืองอย่างแท้จริง จะไม่เอาก็ไม่ได้ พวกเขาเหมือนคนที่กำลังจะจมน้ำ เมื่อมีคนยื่นมือช่วยก็ต้องคว้าเอาไว้ก่อน ไม่ว่ามือคู่นั้นจะเป็นมือของศัตรูก็ตาม
"สถานการณ์ทางการเงินของเราในเวลานี้ นับเป็นเรื่องคุกคามต่อการอยู่รอดของพวกเรา" บอร์ดบริหารของดอร์ทมุนด์แถลงในช่วงเดือน กุมพาพันธ์ ปี 2005 ณ เวลานั้นพวกเขาติดหนี้อีก 27 ล้านยูโร หลังจากนั้นเทศกาลเทกระจาดขายนักเตะก็เริ่มขึ้น
นักเตะที่พอขายได้เงินก้อนก็โดนปล่อยออกจากทีมไป เช่นเดียวกับนักเตะที่ค่าเหนื่อยสูง ที่เมื่อหมดสัญญาก็จะถูกปล่อยออกจากทีมไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ จนสุดท้ายดอร์ทมุนด์ก็กลายเป็นยักษ์หลับอยู่หลายปี ... ทั้งหมดนี้คือบทเรียนที่ทำให้พวกเขาต้องเปลี่ยนการเดินหมากครั้งใหม่ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนกว่าที่เคยเป็นให้ได้
เสริมอย่างฉลาด ทำตัวอย่างให้เห็น
เรื่องมันง่ายนิดเดียว หากไม่มีเงินซื้อนักเตะเกรดเอ สิ่งที่สามารถทำได้นอกเหนือจากนั้นคือการซื้อดาวรุ่งหรือผู้เล่นระดับกลางๆ สักคนหนึ่ง เพื่อนำพวกเขามาสร้างและภาวนาว่าแข้งเหล่านั้นจะกลายเป็นผู้เล่นระดับเกรดเอได้ในอนาคต
แต่สิ่งที่ยากคือการหาใครสักคนที่มีวิสัยทัศน์ในการเลือกนักเตะเหล่าที่ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ และสามารถพัฒนาให้ถึง (หรือแม้แต่เกิน) ศักยภาพที่นักเตะมีมาร่วมทีม ซึ่งสุดท้าย ดอร์ทมุนด์ ก็มาเจอกับชายชื่อว่า เจอร์เก้น คล็อปป์ กุนซือของ ไมนซ์ 05 ผู้ที่ทำให้บอร์ดบริหารแน่ใจว่าการปั้นดาวรุ่งไปพร้อมกับการคว้าแชมป์คือเรื่องที่ไปพร้อมกันได้
คล็อปป์ เข้ามาคุมดอร์ทมุนด์ในฤดูกาล 2008-09 หลังจากการปลดกุนซือชื่อ โทมัส โดล ที่ทำทีมได้อันดับ 13 ในฤดูกาลก่อนหน้านี้ การเข้ามาของ คล็อปป์ คือจุดเปลี่ยนอย่างแท้จริง แค่ปีแรกเขาปล่อยนักเตะออกจากทีมไปถึง 17 คน ส่วนใหญ่เป็นนักเตะอายุเยอะอย่าง โรเบิร์ต โควัช รวมถึงอีกหลายๆ คนที่สามารถพอขายทำเงินได้ เพื่อเอามาบวกเพิ่มกับงบเดิมที่มี
คล็อปป์ ค่อยๆ ประกอบทีมทีละนิดๆ นำเงินจากการขายนักเตะเก่ามาซื้อดาวรุ่งโนเนม ณ เวลานั้นอย่าง เนเวน ซูโบติช, สเวน เบนเดอร์, มัทส์ ฮุมเมลส์ ผสมผสานกับดาวรุ่งที่ปั้นมาเองอย่าง นูริ ซาฮิน ... นักเตะเหล่านี้ถึงแม้จะเด็กและมีราคาถูก แต่ทุกคนล้วนเป็นนักเตะที่คล็อปป์เชื่อมั่นในศักยภาพ และเด็กๆ เหล่านี้มีสิ่งที่ซูเปอร์สตาร์ไม่มี นั่นคือความมุ่งมั่น, ปราศจากอีโก้ และพร้อมทำตามคำสั่งของ คล็อปป์ อย่างไม่มีเงื่อนไข
ดอร์ทมุนด์ กลายเป็นทีมที่ดีขึ้น จากการจบอันดับเกินที่ 10 พวกเขาเริ่มขยับเข้ามาใกล้เป็นที่ 6 และที่ 5 จนสุดท้ายในฤดูกาล 2010-11 ก็หักปากกาเซียนด้วยการคว้าแชมป์ บุนเดสลีกา ได้สำเร็จและเป็นคว้าแชมป์ครั้งแรกในรอบ 9 ปี ...
สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ นอกจากจะทำให้บอร์ดบริหารมั่นใจในแนวทางการสร้างทีมแบบเน้นแข้งดาวรุ่งมีศักยภาพแล้ว ดอร์ทมุนด์ ได้ส่งสัญญาณไปยังดาวรุ่งทั่วโลกว่า หากคุณดีจริง ไม่ว่าคุณจะซ่อนตัวอยู่ในลีกที่ไกลแค่ไหน ที่ ดอร์ทมุนด์ มีโอกาสมอบให้คุณเสมอ ... ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้น ชินจิ คางาวะ นักเตะวัย 20 ปี ที่เดิมทีเล่นในลีกระดับดิวิชั่น 2 ของ ญี่ปุ่น อย่าง เซเรโซ โอซากา แต่สุดท้าย คางาวะ ก็กลายเป็นตัวหลักในทีมดอร์ทมุนด์ได้อย่างไร้ที่ติ ด้วยราคาแค่เพียง 350,000 ปอนด์เท่านั้น
โอกาส
ในยุคของ เจอร์เก้น คล็อปป์ ดอร์ทมุนด์ กลายเป็นทีมที่ดีที่สุดระดับท็อป 5 ของยุโรปอย่างไม่ต้องสงสัย และอย่างที่กล่าวไป เขาแสดงให้เห็นแล้วว่าใช้เด็กก็แชมป์ได้ และแสดงให้เด็กๆ เห็นว่า พวกเขาจะไม่เสียเวลาไปเปล่าๆ แน่หากเลือกย้ายมาเป็นผู้เล่นของดอร์ทมุนด์
นโยบายดังกล่าวยังคงอยู่กับทีมต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ถึงแม้ว่า คล็อปป์ จะย้ายออกไปคุมทีม ลิเวอร์พูล ในตอนนี้แล้วก็ตาม สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือถึงแม้ว่ายุคสมัยปัจจุบันจะเป็นยุคที่ทีมยักษ์ใหญ่พร้อมทุ่มแย่งนักเตะกัน แต่สุดท้าย ดอร์ทมุนด์ มักจะเป็นทีมที่ได้ของดีราคาถูกไปเสมอ
อิลคาย กุนโดกัน, ปิแอร์ เอเมอริก โอบาเมยอง, อุสมาน เดมเบเล่ และ คริสเตียน พูลิซิช คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน นักเตะเหล่านี้มีข่าวกับทีมยักษ์ใหญ่ก็ไม่น้อย แต่สุดท้ายพวกเขาก็เลือก ดอร์ทมุนด์ ซึ่งนอกเหนือเหตุผลด้านโอกาสลงสนามที่ง่ายกว่าทีมใหญ่อื่นๆ แล้ว ดอร์ทมุนด์ ยังเป็นทีมที่ไม่ได้รับความกดดันและการจับตามองจากทุกสายตาในทุกวินาที (อย่างน้อยก็น้อยกว่าคู่ปรับร่วมลีก ที่มักจะดูดนักเตะที่ดีที่สุดของทีมต่างๆ ในเยอรมันอยู่เสมออย่าง บาเยิร์น แน่ๆ) และนี่คือสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับนักเตะอายุน้อยๆ อย่างแท้จริง
"การเซ็นสัญญานักเตะอายุน้อยๆ หมายความว่าคุณจะยังไม่ได้นักเตะที่สมบูรณ์แบบรอบด้าน คุณต้องทำใจไว้ก่อนเลย พวกเขาจะต้องแสดงความผิดพลาดออกมาให้เห็นในบางเกม แต่คุณก็ต้องชั่งน้ำหนักเอา ประเมินหาความสมดุลและเส้นทางการพัฒนาพวกเขา ทุกการเสี่ยงมีรางวัลรออยู่ข้างหน้าเสมอ" มาร์คุส ปิลาว่า หัวหน้าแมวมองของทีมกล่าวถึง DNA ของ ดอร์ทมุนด์ ยุคนี้
ขณะที่ มิชาเอล ซอร์ก ผอ.ของสโมสรบอกถึงนโยบายของทีมเสมอว่า ดอร์ทมุนด์ เปรียบเสมือนรถ ฟอร์ด มัสแตง ขณะที่ทีมระดับโลกที่มีงบประมาณมากมายเหมือนกับ เฟอร์รารี่ นั่นก็เพราะว่าแม้มัสแตงจะมีแรงม้าไม่น้อย แต่สุดท้ายมันก็ยากที่จะขับแซง เฟอร์รารี่ ได้ เนื่องจากองค์ประกอบส่วนอื่นๆ นั้นไม่เหมือนกัน
ดังนั้นพวกเขาพร้อมจะเปลี่ยนอะไหล่รถชิ้นเก่าเสมอ ถึงแม้ว่ามันจะทำงานได้ดีอยู่แล้ว เพื่อลองหาอะไหล่ชิ้นใหม่และเสี่ยงดูว่ามันจะดีกว่าเดิมหรือไม่ ซึ่งหากเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดๆ ก็คือ ดอร์ทมุนด์ ไม่เคยรั้งนักเตะให้อยู่กับทีมแบบหัวชนฝา หากราคาดี เงินถึง และพวกเขามีตัวแทนที่พร้อมจะเอามาเสี่ยงรออยู่ พวกเขาก็พร้อมจะปล่อยออกจากทีมเพื่อหาเงินเข้ามาเสริมในส่วนที่ยังขาด เหมือนกับที่เราเห็นการย้ายทีมของ เดมเบเล่, พูลิซิช, โอบาเมยอง และคนอื่นๆ อีกมากมายนั่นเอง
เรียกได้ว่าดอร์ทมุนด์เป็นสโมสรที่เข้า-ออก ได้อย่างสะดวก เมื่อดาวรุ่งย้ายเข้ามา พวกเขาจะได้โอกาสลงสนามโดยปราศจากความกดดันหากเทียบกับทีมใหญ่อื่นๆ และวันใดที่พวกเขาปีกกล้าขาแข็งพอและต้องการความต้องการที่มากกว่า พวกเขาก็จะได้รับโอกาสให้โบยบินเช่นกัน
ล่าสุดเป็นอีกครั้งที่ ดอร์ทมุนด์ สามารถคว้าตัวนักเตะดาวรุ่งที่มีทีมยักษ์ใหญ่แย่งกันทั่วยุโรปอย่าง เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ ได้สำเร็จ น่าแปลกที่ก่อนที่การย้ายทีมจะสิ้นสุด มีข่าวว่า แมนฯ ยูไนเต็ด พร้อมให้ค่าเหนื่อยดาวยิงวัย 19 ปีชาว นอร์เวย์ ถึงสัปดาห์ละ 150,000 ปอนด์ ขณะที่ มิโน่ ไรโอล่า เอเย่นต์ของนักเตะก็บอกว่า ยูไนเต็ด คือทีมที่มีโอกาสได้คุยกับนักเตะมากที่สุด แต่ทำไมสุดท้าย ดอร์ทมุนด์ จึงคว้าตัว ฮาลันด์ ปาดหน้าทีมอื่นได้?
แม้ไม่มีการเปิดเผยเงินเดือนค่าเหนื่อย แต่แน่นอนว่า ดอร์ทมุนด์ ไม่มีทางจ่ายได้มากกว่าหรือเทียบเท่ากับที่ ยูไนเต็ด หรือทีมอื่นๆ ให้ได้แน่ ดังนั้นสิ่งที่ ดอร์ทมุนด์ จะให้กับ ฮาลันด์ ได้คือข้อมูลทั้งหมดที่เรากล่าวมาในข้างต้น ได้โอกาส, ความกดดันน้อย และพร้อมจะขายเมื่อถึงเวลา ซึ่งทั้งหมดคือสิ่งที่เงินไม่สามารถซื้อได้
ฮาลันด์ ให้สัมภาษณ์กับ ESPN และบอกว่าการย้ายมาดอร์ทมุนด์คือ "เพอร์เฟ็กต์ สเต็ป" หรือย่างก้าวที่สมบูรณ์แบบของเขา เท่านั้นก็น่าจะพอบอกอะไรได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
และหากจะย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น 2 ปี จาดอน ซานโช ว่าที่นักเตะ 100 ล้านปอนด์คนต่อไป ก็ให้สัมภาษณ์ไปในทิศทางเดียวกัน เขาใกล้จะหมดสัญญากับ แมนฯ ซิตี้ และมีทีมมากมายสนใจ ทว่าสุดท้าย จาดอน ซานโช ก็เลือกจะเชื่อว่าถิ่น ซิกนัล อิดูน่า พาร์ค คือ ก้าวที่สมบูรณ์แบบของเขานั่นเอง
"ทำไมต้อง ดอร์ทมุนด์ น่ะเหรอ? ทุกอย่างมันก็บ่งบอกในตัวของมันเองอยู่แล้ว พวกนักเตะอายุน้อยๆ ที่นี่ต่างได้รับโอกาส ซึ่งคุณก็ต้องขอบคุณ ดอร์ทมุนด์ ด้วย เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยจริงๆ กับทีมที่มีแฟนบอลเข้ามาชมเกมถึง 80,000 คนในทุกๆ แมตช์ และเชื่อมั่นในตัวนักเตะอายุน้อยๆ มันบ้าบอมากๆ ที่หลายสโมสรต้องการผม มันเป็นการแสดงให้เห็นว่าคุณทำได้ดีแค่ไหน แต่ผมก็รู้สึกมาตลอดว่า ดอร์ทมุนด์ คือสโมสรที่ใช่สำหรับผม" ซานโช เปิดใจกับ โฟร์โฟร์ทู
เล่นกับปัจจัยภายนอกให้ได้... งานง่ายขึ้นเยอะ
สำหรับนักเตะอายุ 17-21 ปี พวกเขาไม่ได้ผ่านโลกฟุตบอลและสัมผัสกับตลาดซื้อขายรวมถึงการต่อรองที่ช่ำชอง ดังนั้นพวกเขาจึงต้องมีคู่คิดที่เรียกว่า "เอเย่นต์" ซึ่งแข้งดาวรุ่งบางคนก็ให้คนในครอบครัวรับตำแหน่งนี้ และบางรายก็จ้างมืออาชีพมาทำงานแทนเลย
การจะบอกว่า ดอร์ทมุนด์ ให้โอกาสดาวรุ่งจนสามารถดึงตัวแข้งเหล่านี้มาร่วมทีมได้นั้นถูกต้องอย่างที่สุด แต่มันไม่ใช่ปัจจัยเดียวเท่านั้น มีปัจจัยเสริมอีกหลายอย่าง และหนึ่งในนั้นคือการ "เป่าหูคนสนิท" หรือเอเย่นต์ เพื่อทำให้การเจรจานั้นลุล่วงง่ายขึ้น
ว่ากันว่าในดีลการคว้า จาดอน ซานโช่ จาก แมนฯ ซิตี้ เมื่อฤดูกาล 2017-18 นั้นทำให้ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า หัวเสียเป็นอย่างมาก เพราะตัวของเขาต้องการให้นักเตะอยู่กับทีมต่อไปและบอกให้บอร์ดสโมสรยื่นข้อเสนอค่าเหนื่อยกว่า 30,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ ซึ่งถือเป็นค่าจ้างแพงสุดสำหรับนักเตะระดับเยาวชน ซึ่งตอนแรกนั้น ซานโช่ ตกลงเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะเซ็นสัญญาฉบับนี้ แต่สุดท้ายคดีก็พลิกไปอีกตลบจากการยุแยงโดยเอเย่นต์ของตัวนักเตะเอง
"เราตกลงสัญญากับ ซานโช่ ได้แล้ว ยื่นสัญญากับมือเอง ซึ่งถือเป็นค่าจ้างมหาศาล แล้วหวังให้เขาเซ็นซะ จะได้บินไปปรีซีซั่นที่สหรัฐฯ เพื่อร่วมซ้อมกับทีมชุดใหญ่ ทว่าฝั่งนักเตะปฏิเสธ ... ทีมพยายามรั้งตัวตัวเขาเต็มที่ ไปคุยกับพ่อเขา, คุยกับเอเยนต์ รวมถึงคุยกับนักเตะ แต่คำตอบที่ได้มาคือ ไม่, ไม่ และ ไม่ แล้วจะให้ทีมทำยังไง?" เป๊ป กล่าวอย่างหัวเสีย
เรื่องทั้งหมดเกิดจากการเดินเกมของ มิชาเอล ซอร์ก ซึ่งจัดการสอบถามไปยังเอเย่นต์ของ ชานโช่ ที่ชื่อว่า เอเมก้า โอบาซี่ และได้ข้อมูลทั้งหมดไป ก่อน ซอร์ก จะจัดการปิดเกมอย่างเฉียบขาด ด้วยการให้เงินกินเปล่ากับ โอบาชี่ 600,000 ปอนด์ และให้ค่าเหนื่อย ซานโช่ ราว 40,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ เพื่อแสดงให้นักเตะเห็นว่าที่ ดอร์ทมุนด์ เขาจะไม่ใช่ดาวรุ่ง แต่เขากำลังจะได้เป็นผู้เล่นชุดใหญ่ของทีม ... สุดท้าย ดอร์ทมุนด์ ได้ตัวเขาไปร่วมทีมที่ราคาราว 10 ล้านปอนด์ เท่านั้นเอง
ตัดกลับมาที่ดีลปัจจุบันกับ ฮาลันด์ นั้นก็ไม่น่าจะแตกต่างกันนัก กัซเซตต้า เดลโล่ สปอร์ต บอกว่า มิโน่ ไรโอล่า ได้เงินกินเปล่าจากดีลนี้ถึง 15 ล้านยูโร (ตัวเลขยังไม่ได้รับการยืนยันที่ชัดเจน) ซึ่งจะจริงหรือไม่นั้น ชื่อเสียงของ ไรโอล่า ก็ขึ้นชื่อเป็นอย่างดี เขาเองก็เคยใช้วิธีนี้ในการทำให้ เฮนริค มคิทาร์ยาน ย้ายจาก ดอร์ทมุนด์ ไป แมนฯ ยูไนเต็ด มาแล้วเมื่อ 3 ปีก่อน
เรียกได้ว่าการเจรจาคว้านักเตะของ ดอร์ทมุนด์ นั้นมีทั้งพระเดชและพระคุณอย่างแท้จริง พวกเขามีระบบรองรับและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักเตะ นอกจากนี้ยังจัดการมอบสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ที่สามารถทำให้งานสำเร็จลุ่วงอีกต่างหาก... และด้วยกลยุทธ์เช่นนี้ จะทำให้พวกเขาไม่ต้องเป็นเดือดเป็นร้อนมากนัก กับโลกลูกหนังที่บ้าคลั่งไปแล้วสำหรับราคานักเตะในปัจจุบันนี้
อัลบั้มภาพ 9 ภาพ