JUEGO TODO : เมื่อศิลปะต่อสู้พื้นบ้าน วิวัฒนาการสู่การต่อสู้แสนป่าเถื่อนในกรงเหล็ก

JUEGO TODO : เมื่อศิลปะต่อสู้พื้นบ้าน วิวัฒนาการสู่การต่อสู้แสนป่าเถื่อนในกรงเหล็ก

JUEGO TODO : เมื่อศิลปะต่อสู้พื้นบ้าน วิวัฒนาการสู่การต่อสู้แสนป่าเถื่อนในกรงเหล็ก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กีฬาศิลปะการต่อสู้ชนิดใด ที่คุณคิดว่าป่าเถื่อนและโหดร้ายมากที่สุด?

หลายคนอาจเห็นเป็น มวยไทย หลายคนอาจคิดว่า ศิลปะการต่อสู้ผสมผสาน แต่ไม่ว่าความเห็นของคุณจะเป็นกีฬาใด ศิลปะการต่อสู้ในกรงเหล็ก ล้วนมีหนึ่งจุดที่เหมือนกันคือ “ไม่ใช้อาวุธ”

แต่ห่างออกไปยังเมืองที่ตั้งอยู่เหนือสุด ของเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ มีกีฬาแนวศิลปะการต่อสู้แบบใหม่ถือกำเนิดขึ้นมา และมันคือกีฬาที่ป่าเถื่อนมากที่สุด เท่าที่โลกเคยรู้จัก

จะมีกีฬาชนิดใดที่อนุญาติให้คนเอาท่อนไม้มาฟาดกันแบบไม่ผิดกฏกติกา แถมยังห้ามไม่ให้ใส่ชุดป้องกัน ภาพของท่อนไม้ฟาดกระทบซี่โครง และเสียงโอดครวญจากนักกีฬา คือเรื่องปกติของกีฬาชนิดนี้

Main Stand พาคุณไปรู้จักกับ Juego Todo (ฆวยโก โตโด) กีฬาที่วิวัฒนาการจากศิลปะการต่อสู้พื้นบ้านของชาวฟิลิปปินส์ สู่กีฬาที่โหดร้ายและป่าเถื่อน แบบที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน

ศิลปะที่ถูกมองข้าม

จุดกำเนิดของ Juego Todo เริ่มต้นมาจากความคิดของ เฟอร์ดินานด์ อบาดิญญา มันสายัค (Ferdinand Abadilla Munsayac) หนุ่มใหญ่วัย 55 ปี ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Underground Battle Mixed Martial Arts (UGB MMA) ค่ายศิลปะการต่อสู้แบบผสมในประเทศฟิลิปปินส์


Photo : dojodrifter.com

ก่อนจะก้าวใส่สูทผูกเน็คไทเป็นผู้บริหาร ย้อนกลับไปในวันที่เฟอร์ดินานด์อายุ 24 ปี เขาเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังอีกฝากของมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นทหารเรือในกองทัพสหรัฐอเมริกา

ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่เฟอร์ดินานด์ใช้ชีวิตอยู่ในแดนลุงแซม วัฒนธรรมจากบ้านเกิดที่ใกล้ตัวเขามากที่สุดไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกจาก “อาร์นิส” ศิลปะการต่อสู้ประจำชาติของฟิลิปปินส์ ที่ถูกนำมาประยุกต์สอนทหารเรือในกองทัพ หรือแม้กระทั่งก้าวไปไกลถึงฮอลลีวูด จนปรากฏเห็นเด่นชัดไปทั่วโลกผ่านจอภาพยนตร์

“Juego Todo ถือกำเนิดขึ้นเพราะศิลปะการต่อสู้ของฟิลิปินส์มันยอดเยี่ยมมาก” เฟอร์ดินานด์เริ่มต้นกล่าวถึงกีฬาประจำชาติด้วยความภูมิใจ

“อาร์นิสคือศาสตร์ที่ยอดเยี่ยม มันถูกประยุกต์ใช้ในฉากต่อสู้ของหนังระดับฮอลลีวูด มันถูกใช้ฝึกทหารในหน่วยงานระดับสูงของสหรัฐอเมริกา”

“แต่เมื่อผมมองกลับมาที่บ้านของตัวเอง ศิลปะพวกนั้นมันอยู่ตรงไหนกัน?”

เฟอร์ดินานด์พบเจอคำตอบของคำถามดังกล่าว เมื่อเขาปลดประจำการจากกองทัพ และเดินทางกลับสู่ประเทศฟิลิปปินส์ในปี 2008 เพื่อเปิดยิมฝึกสอนมวยสากล ตามรอยความโด่งดังและกระแสนิยมของ แมนนี ปาเกียว นักชกฮีโร่ของชาติในขณะนั้น

สวนทางกัน ความนิยมของศิลปะการต่อสู้ฟิลิปปินส์ ถูกแช่แข็งนิ่งอยู่กับที่และไม่มีการพัฒนา เฟอร์ดินานด์เห็นถึงปัญหาตรงไหน เขาเปลี่ยนยิมมวยสากลเป็นสมาคมศิลปะการต่อสู้แบบผสม เพื่อพัฒนาศิลปะต่อสู้พื้นบ้านและต่างชาติ ให้เติบโตมากขึ้นในฟิลิปปินส์


Photo : sports.mb.com.ph

“คุณสามารถเห็นคนฝึกอาร์นิสในสวนสาธารณะ และเมื่อพวกเขามีการแข่งขัน พวกเขาก็พากันไปแข่งขันในสนามบาสเกตบอล ซึ่งมันไม่สมเกียรติเอาซะเลย”

“ผมเข้าใจนะว่าทำไมมันเป็นแบบนั้น ปัญหาหลักคือ คนทั่วไปในฟิลิปปินส์ยากจนมาก และอุปกรณ์ป้องกันตัวที่จะใช้ฝึกอาร์นิสก็แพงมาก เขาไม่มีทางที่จะซื้อทุกสิ่งที่อย่างได้ด้วยตัวเอง ถ้าไม่มีใครช่วยเหลือตรงนี้”

“หลายคนตัดสินใจหันไปหามวยสากลด้วยเหตุผลนี้ มันไม่ต้องใช้อุปกรณ์และเสียค่าใช้จ่ายมาก นั่นคือเหตุผลหลักที่ศิลปะการต่อสู้ฟิลิปปินส์ไม่เติบโต เพราะไม่มีใครกล้าลงทุน เพื่อผลักดันตรงนี้”

“ผมตัดสินใจเปิดค่ายของผมขึ้นมา (UGB MMA) เพื่อที่จะให้นักสู้ได้ต่อสู้ในกรงเหล็กที่มีคุณภาพ และแสดงศักยภาพของของพวกเขาออกมา ผมตั้งใจให้ค่ายผมเป็นบันไดเพื่อพัฒนานักสู้ที่ไม่มีโอกาส ให้สามารถก้าวไปสู่ระดับที่สูงกว่า และสามารถเข้าสู่ธุรกิจนี้ได้จริง”

  สู้ด้วยทุกสิ่ง

นับจนถึงวันนี้ ค่าย UGB MMA ของเฟอร์ดินานด์ เปิดตัวมาได้มากกว่า 5 ปีแล้ว พวกเขาเปิดสอนศิลปะการต่อสู้มากมายหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น ศิลปะการต่อสู้แบบผสม, มวยสากล, มวยไทย หรือ บราซิลเลียนยิวยิตสู โดยทั้งหมดเปิดสอนฟรี ไม่คิดค่าใช้จ่าย


Photo : UGB MMA GYM

ไม่เพียงเท่านั้น UGB MMA ยังจัดการแข่งขันเพื่อประลองฝีมือของนักสู้ในค่าย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อพัฒนาฝีมือของนักสู้อย่างต่อเนื่องแบบไม่หยุดพัก

จึงไม่น่าแปลกใจนักหากค่ายจะสามารถพัฒนานักสู้ท้องถิ่นก้าวสู่ระดับโลกได้ เหมือนดั่งที่พวกเขาผลักดัน เจเรมี มิอาโด (Jeremy Miado) นักสู้มวยไทยสู่การแข่งขัน ONE Championship

ความสำเร็จในการผลักดัน เจเรมี มิอาโด สู่ระดับสากล กลายเป็นกระจกที่สะท้อนให้เฟอร์ดินานด์ ตระหนักถึงศึกยภาพที่แท้จริงของชาวฟิลิปปินส์ ที่สามารถประสบความสำเร็จได้ ในศาสตร์การต่อสู้ต่างชาติอย่างมวยไทย แต่กับกีฬาประจำชาติอย่างอาร์นิส พวกเขายังคงเดินอยู่กับที่ และไม่พัฒนาไปไหน ตลอดหลายปีที่ผ่านมา


Photo : JUEGO TODO

“หลังจากผมเปิดค่ายได้ราวสองปี ผมคิดว่ามีคนกลุ่มหนึ่งถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง และคนพวกนั้นคือกลุ่มศิลปะต่อสู้ฟิลิปปินส์” เฟอร์ดินานด์เริ่มเล่าถึงข้อจำกัดที่ฉุดรั้งศิลปะการต่อสู้ฟิลิปปินส์เอาไว้

“ศิลปะการต่อสู้ฟิลิปปินส์ แท้จริงแล้วมันสมบูรณ์แบบมาก เราไม่ได้มีแค่อาร์นิสอย่างที่หลายคนเข้าใจ เรามีศิลปะพื้นบ้านหลายอย่างทั้ง สิการาน (sikaran), บูโน(buno), ปานันทูกาน(panuntukan), ดูมอก(dumog) หรือ ยอวยาน(yaw-yan)”

“ถ้าคุณเรียนศิลปะการต่อสู้ทั้งหมดของฟิลิปปินส์ คุณคือนักสู้ที่สมบูรณ์แบบ คุณใช้อาวุธได้ คุณเตะได้ คุณต่อยได้ คุณมีความสามารถทางมวยปล้ำ จะรวบหรือทุ่มใครก็ได้ แต่ปัญหาคือทุกอย่างนี้ ไม่เคยเข้าไปอยู่ในกรงเหล็กแบบมวยไทย”

“ผมคงไม่เรียกว่าข้อจำกัด เพราะมันเป็นหัวใจหลักของอาร์นิส แต่อย่างที่คุณเห็นในซีเกมส์ อาร์นิสสู้กันแค่บนเบาะเท่านั้น และเมื่อนักกีฬาหลุดออกจากเบาะไป พวกเขาจะรีสตาร์ทการต่อสู้ใหม่”

“นั่นไม่ใช่การต่อสู้ที่นักสู้ควรจะได้รับ เขาควรจะได้ต่อสู้ในการต่อสู้ที่ดีกว่านั้น เพราะฉะนั้น มันง่ายนิดเดียว คุณจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง ผมเอาพวกเขาไปใส่ในกรงเหล็ก เหมือนศิลปะการต่อสู้ชนิดอื่น คราวนี้พวกเขาหนีไม่ได้ สิ่งที่พวกเขาทำได้มีเพียงอย่างเดียว คือฟาดกันให้แหลกไปข้าง”

Juego Todo เป็นภาษาสเปน มีความหมายแปลตรงตัวว่า “สู้ด้วยทุกสิ่ง” คำดังกล่าวเป็นวลีติดปากชาวฟิลิปปินส์ ที่ใช้ศิลปะอาร์นิสในยามออกรบ ตั้งแต่สมัยที่ตกเป็นอาณานิคมของสเปน ในช่วงปี 1521 ถึง 1898

ทุกวันนี้ นักสู้อาร์นิสคงไม่ได้หยิบจับอาวุธเพื่อไปฆ่าใครเหมือนในสมัยก่อน แต่เจตนารมณ์ของคำว่า Juego Todo ยังอยู่ในสายเลือดนักสู้อาร์นิสทุกคน และมันจะถูกแสดงออกมาอีกครั้ง ในการแข่งขันศิลปะการต่อสู้ชนิดใหม่ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นที่ไหนมาก่อน


Photo : JUEGO TODO

“Juego Todo เราจำกัดความด้วยคำว่า การต่อสู้ที่ใช้อาวุธในกรงเหล็ก มันคือศิลปะการต่อสู้ฟิลิปปินส์แบบไฮบริด” 

“มันคือการต่อสู้แบบกลาดิเอเตอร์ของชาวฟิลิปปินส์ ที่เกิดขึ้นในโลกยุคใหม่ เพราะพวกเขาคือนักสู้อาร์นิส ที่ถูกจับไปใส่ในสนามประลองของโลกยุคใหม่ นั่นก็คือกรงเหล็ก”

กฎกติกาของ Juego Todo มีอยู่ว่า นักสู้สองคนต้องเข้าไปในกรงเหล็กแปดเหลี่ยม กำหนดการชกสามยก ยกละ 3 นาที วิธีการเอาชนะคือน็อคเอาท์คู่ต่อสู้ ทำซับมิชชัน หรือ นับคะแนน โดยกติกาในแต่ละยกจะแตกต่างกันออกไป

ยกแรก นักสู้จะใช้ศิลปะการต่อสู้แบบอาร์นิส คือ ใช้กระบองเป็นอาวุธทั้งสองมือ และสามารถโจมตีคู่ต่อสู้ได้ด้วยเท้า โดยผู้เข้าแข่งขันจะใส่เพียงอุปกรณ์ป้องกันที่ศีรษะ ส่วนช่วงลำตัว จะไม่มีอุปกรณ์ใดลดแรงปะทะระหว่างเนื้อกับกระบองไม้เลย

ยกที่สอง นักสู้จะใช้กระบองได้เพียงข้างเดียว เพื่อเปิดโอกาสให้ใช้ทักษะการต่อสู้มือเปล่ามากขึ้น โดยสามารถใช้ได้ทั้งหมัด ศอก เข่า ไม่ต่างจากมวยไทย ส่วนยกสุดท้าย อาวุธจะถูกนำออกไปทั้งหมด เพื่อเปิดโอกาสให้นักสู้ แสดงความสามารถศิลปะการต่อสู้ฟิลิปปินส์แบบมือเปล่า

“ผมคิดว่า Juego Todo จะเป็นการแข่งขันที่ไม่เหมือนใคร คุณลองคิดดูว่า ถ้านักสู้คนหนึ่งถูกปลดอาวุธ แล้วเขาต้องสู้ด้วยมือเปล่า ในขณะที่คู่ต่อสู้ยังมีกระบองอยู่ในมือ นั่นแหละความหมายของคำว่า Juego Todo”

ป่าเถื่อนอย่างมีความหมาย

Juego Todo เริ่มต้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2018 และเพิ่งหาแชมป์ Juego Todo คนแรกของโลกไปเมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่แสดงถึงการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของศิลปะการต่อสู้ฟิลิปปินส์


Photo : www.mmaphil.com

อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ Juego Todo ยังไม่ถูกยอมรับในวงกว้าง แม้กระทั่งในประเทศฟิลิปปินส์ มันยังคงเป็นการต่อสู้กระแสรอง ที่สามารถพบเห็นได้แค่ในค่าย UGB MMA ของเฟอร์ดินานด์ ที่ตั้งอยู่ห่างจากกรุงมะนิลา ไปมากกว่า 600 กิโลเมตร

“Juego Todo ยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างเต็มตัว เพราะว่ามันเป็นการต่อสู้ที่บริสุทธิ์เกินไป” เฟอร์ดินานด์เปิดเผยมุมมองของเขาเกี่ยวกับ Juego Todo

“เราถูกวิจารณ์ เพราะว่ามันป่าเถื่อนเกินไป หลายคนบอกว่ามันเป็นการต่อสู้ที่ไม่ให้ความเคารพคู่ต่อสู้ แต่สิ่งที่ผมจะบอกกับพวกเขา คนที่วิจารณ์เรื่องเหล่านี้ว่า Juego Todo คือวิวัฒนาการ”

“พวกเขาจำเป็นต้องยอมรับว่า บางครั้งเราต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราเคยทำมา เพราะถ้าเราไม่เริ่มที่จะเปลี่ยน เราก็ไม่สามารถก้าวไปไกลกว่านี้ได้”

เฟอร์ดินานด์เปิดเผยว่า ในปีหน้าการแข่งขัน Juego Todo จะดุเดือดยิ่งขึ้น ด้วยการเปิดศึกระหว่างนักสู้ชาวฟิลิปปินส์ กับ นักสู้ชาวอิตาลี เป็นสงครามระหว่างชาติ ที่เฟอร์ดินานด์หวังว่าจะยกระดับความดุเดือด และสร้างกระแสในวงกว้างได้ ผ่านการต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีของชาวฟิลิปปินส์


Photo : JUEGO TODO

“มวยไทยเป็นของคนไทย เช่นกัน การต่อสู้แบบอาร์นิสก็เป็นของชาวฟิลิปปินส์ สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะอย่างไร ครูของวิชามวยไทย ก็คือคนไทย ถูกต้องไหม”

“สำหรับผม สุดท้ายแล้วอาร์นิสก็คือศิลปะพื้นบ้าน ตอนนี้มีชาวต่างชาติ ชาวอิตาลี ให้ความสนใจ Juego Todo และเขาพร้อมที่จะต่อสู้กับชาวฟิลิปปินส์ ในศาสตร์การต่อสู้แบบฟิลิปปินส์ ผมคิดว่ามันจะต้องเป็นสงคราม เป็นสงครามที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน”

หากเปรียบ Juego Todo เป็นทารก กีฬานี้คงเป็นดั่งทารกแรกเกิด พวกเขายังอยู่ในช่วงหัดเดิน และอาจล้มลุกคลุกคลานอีกหลายก้าว แต่สิ่งที่เฟอร์ดินานด์เชื่อมั่นว่าใน Juego Todo จะสามารถก้าวไปได้ไกล เป็นเพราะเขาเชื่อมั่นในความสามารถของชาวฟิลิปปินส์ ผู้มีสายเลือดนักสู้อยู่เต็มสายเลือด

คนทั่วโลกรู้จัก แมนนี ปาเกียว และ คนจำนวนมากได้เห็นนักชกมวยไทยชาวฟิลิปปินส์ โชว์ลวดลายศาสตร์แห่งอาวุธทั้ง 8 บนเวทีสากล แต่สำหรับกีฬาประจำชาติอย่าง อาร์นิส กลับกลายเป็นกีฬาสร้างเสียงหัวเราะไปทั่วภูมิภาค จากการแข่งขันในซีเกมส์ ซึ่งมันห่างไกลจากคำว่าอาร์นิสที่แท้จริงไปมาก

Juego Todo อาจเป็นหนึ่งในกีฬาต่อสู้ที่ป่าเถื่อนที่สุด แต่รากฐานของกีฬาต่อสู้ มาจากสัญชาติญาณของมนุษย์ และมันสะท้อนความเป็นจริงของโลกได้ดีที่สุด Juego Todo คือกีฬาที่นำเอาสัญชาติญาณนักสู้ชาวฟิลิปปินส์กลับมาอีกครั้ง และยิ่งไปกว่านั้น คือมันกำลังจะแสดงให้คนทั้งโลกเห็นในไม่ช้านี้


Photo : JUEGO TODO

“ผมอาจจะสร้าง Juego Todo เพราะแค่อยากมีมรดกบางอย่างทิ้งไว้ให้โลก แต่ทั้งหมดทั้งมวล ผมเชื่อว่า Juego Todo จะสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับวงการศิลปะการต่อสู้ได้ ไม่ใช่แค่ในฟิลิปปินส์ แต่เป็นทั่วโลก”

“ผมต้องการช่วยเหลือนักสู้ศิลปะต่อสู้ฟิลิปปินส์ พาเขาออกไปสู่ระดับโลก เหมือนที่ผมเคยทำกับนักสู้มวยไทย อย่างน้อยแค่คิดว่าสิ่งที่ผมทำ จะช่วยให้ชาวฟิลิปปินส์มีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าที่เขาเป็นอยู่ได้ แค่นั้นผมก็พอใจแล้ว” เฟอร์ดินานด์กล่าวทิ้งท้ายถึงเป้าหมายของ Juego Todo

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook