ลมหายใจ ไต คริสต์มาส : ไฟต์สุดท้ายที่แลกกับของขวัญ...และชีวิตของ บิลลี่ มิสก์

ลมหายใจ ไต คริสต์มาส : ไฟต์สุดท้ายที่แลกกับของขวัญ...และชีวิตของ บิลลี่ มิสก์

ลมหายใจ ไต คริสต์มาส : ไฟต์สุดท้ายที่แลกกับของขวัญ...และชีวิตของ บิลลี่ มิสก์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุณอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อของนักมวยที่ชื่อว่า บิลลี่ มิสก์ มาก่อน เพราะเรื่องราวและยุคสมัยอันรุ่งเรื่องของเขาเกิดขึ้นมานานกว่า 100 ปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตามในแง่ของรายละเอียดและลมหายใจของเขาไม่เคยเก่าเลย เรื่องราวของนักสู้จากมินเนโซต้าเป็นอะไรที่สุดแสนคลาสสิก ... ไม่ใช่เพราะการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร แต่มันคือการมอบลมหายใจสุดท้ายเพื่อแลกกับของขวัญให้ภรรยาสุดที่รักและลูกชายของเขา

ติดตามเรื่องราวชีวิตของ บิลลี่ มิสก์ นักชกที่เคยเข้าใกล้การเป็นเบอร์ 1 ของโลก และสู้กับช่วงตกอับในเวลาอันสั้นได้ที่นี่

ผู้ท้าทายยุคสมัยของ "แจ็ค เด็มพ์ซี่ย์" 

ในช่วงปลายยุค 1910-1920 ถือเป็นช่วงเวลาที่มวยสากลเริ่มกลายเป็นกีฬาทำเงินและเป็นที่สนใจในคนหมู่มาก โดยเฉพาะรุ่นเฮฟวี่เวตนั้นจัดว่าเป็นรุ่นรันวงการอย่างแท้จริง ภายใต้โคตรนักมวยที่รวดเร็ว หนักหน่วง และเร้าใจที่สุดนาม แจ็ค เด็มพ์ซี่ย์ 

ย้อนไปในยุคนั้นเรื่องการพัฒนาการกล้ามเนื้อและโภชนาการนั้นไม่ต้องพูดถึงเลย สิ่งที่นักมวยคนหนึ่งจะเก่งกาจและสร้างชื่อเสียงขึ้นมาได้ มันอยู่ที่ฝีมือและเรื่องของจิตใจเท่านั้นว่าจะแกร่งแค่ไหน ตัวของ แจ็ค เด็มพ์ซี่ย์ เองเป็นยอดมวยเฮฟวี่เวตที่เสียเปรียบทุกอย่างหากมองที่สรีระร่างกาย เขาสูงแค่ 185 เซนติเมตร และมีช่วงชกที่สั้นกว่าคนอื่นๆ ไม่น้อยเลยทีเดียว 

อย่างไรก็ตามพลังหมัดของ แจ็ค เด็มพ์ซี่ย์ ภายใต้ท่าไม้ตายที่ชื่อว่า "เด็มพ์ซี่ย์ โรลล์" และ "หมัดแฮนด์ค็อก" มีการกล่าวขานถึงว่า "เบากว่าสิบล้อชนนิดเดียว" ซึ่งวีรกรรมหนึ่งที่ยืนยันเรื่องนี้คือไฟต์ที่พบกับ เจสส์ วิลลาร์ด ที่ เด็มพ์ซี่ย์ ชก วิลลาร์ด เสียหน้ายับเหมือนกับเกิดอุบัติเหตุ จึงทำให้มีการต้องตรวจสอบกันว่าเขาใช้ปูนปลาสเตอร์เคลือบผ้าพันมือหรือไม่ ... ซึ่งหลังจากตรวจสอบก็พบว่าไม่มีการโกงเกิดขึ้น มีแต่พลังหมัดของ แจ็ค เด็มพ์ซี่ย์ ล้วนๆ ที่เป็นปัจจัยของการน็อคเอาต์ครั้งนี้ นั่นทำให้เขากลายเป็นราชาเฮฟวี่เวตแห่งยุค  


Photo : geni.com

เมื่อเข้าสู่ช่วงเข้าใกล้ยุค 1920  นักชกหลายคนเรียงหน้าเข้ามาท้าทายเข็มขัดจากเขา แต่ก็ไม่มีใครทำได้ใกล้เคียงจนกระทั่งเขาได้เจอกับหนึ่งในนักชกที่ต่อยกับเขาได้สูสีที่สุดนามว่า บิลลี่ มิสก์ ... นักชกนอกกฎหมายจาก วิสคอนซิน 

บิลลี่ มิสก์ มีเส้นทางที่ยากลำบากตั้งแต่เด็ก แม้จะเกิดที่เมืองเซนต์พอล รัฐมินเนโซต้า แต่การเติบโตที่ รัฐวิสคอนซิน ซึ่งอยู่ใกล้เคียง อันเป็นสถานที่ที่เป็นแหล่งฟื้นฟูศาสนาคริสต์ มีชื่อด้านการสร้างนักบวชมากกว่านักมวย และในยุคนั้นที่ วิสคอนซิน การชกมวยถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ซึ่งตัวของ บิลลี่ มิสก์ เองก็ได้แต่ชกใต้ดินกินเดิมพันไปวันๆ จนกระทั่งในปี 1915 มีการแก้กฎหมายให้นักมวยสามารถขึ้นเวทีมาตรฐานได้ การเขย่ง ก้าว กระโดดของ บิลลี่ ก็ถือกำเนิดขึ้น

บิลลี่ เป็นนักมวยรุ่นใหญ่ที่มีรูปร่างเล็ก เขาสูงราวๆ 180 เซนติเมตร และมีลีลาการต่อยแบบมวยโบราณโดยตรง ไม่มีสไตล์ที่เซ็กซี่ ไม่มีคำว่าฉูดฉาด มีแต่การอ่านจังหวะแล้วปล่อยหมัดเท่านั้นเอง เพียงแต่ว่าหมัดของเขารวดเร็วและเฉียบขาด จนได้ฉายาว่า "เซนต์พอล ธันเดอร์โบลท์" (สายฟ้าฟาดแห่งเซนต์พอล) และยังเป็นคนตัวเล็กที่ทนหมัดทนนวมได้ดีมาก ว่ากันว่า 1 ในกิจกรรมที่เขาต้องทำทุกวันคือการใช้หมัดเปล่าๆ ต่อยกรามตัวเองวันละ 10 ครั้งต่อวัน เพื่อให้ร่างกายทานทนกับความเจ็บปวดได้ดีที่สุด


Photo : geni.com
 

เมื่อขึ้นเวทีและมีคนได้เห็นการชก บิลลี่ กลายเป็นมวยขวัญใจมหาชน แม้แต่ในดินแดนนักมวยยังมีผู้คนมารอดูการชกของเขามากกว่า 5,000 คน เมื่อ วิสคอนซิน หมดแล้วซึ่งคู่ชกที่สมน้ำสมเนื้อ เขาจึงเริ่มออกเดินทางหาความท้าทายและค้นให้เจอเจ้ายุทธจักรที่แท้จริงเหมือนกับจอมยุทธในหนังจีน โดยไปยัง ฟิลาเดลเฟีย, บรูกลิน และอีกไม่นาน บิลลี่ มิสก์ ก็ขยับรุ่นมาชกในน้ำหนักของ เฮฟวี่เวต และกลายเป็นผู้ท้าชิงมงกุฎเรื่อยมา 

ในวัย 24 ปี บิลลี่ มิสก์ กำลังอยู่ในช่วงที่ร่างกายเข้าที่เข้าทางที่สุด ณ เวลานั้นเขาน่าจะมั่นใจในระดับหนึ่งว่าแม้เขาจะไม่สามารถเป็นนักชกที่ชนะได้ทุกไฟต์ แต่ที่แน่ๆ ไม่มีทางที่ใครหน้าไหนบนโลกนี้จะคว่ำเขาลงได้โดยง่าย ... แม้กระทั่งไอ้หนุ่มหมัดสิบล้อชนอย่าง แจ็ค เด็มพ์ซี่ย์ ก็เถอะ

1918...หมอนี่เอาไม่ลง

ไฟต์ระหว่าง แจ็ค เด็มพ์ซี่ย์ กับ บิลลี่ มิสก์  ไฟต์แรกเกิดขึ้น ที่ เซนต์พอล มินเนโซต้า ถิ่นของ บิลลี่ เอง โดยศึกครั้งนั้นไม่ใช่การชิงแชมป์ แต่เป็นการหาผู้ท้าชิงเพื่อเข้าไปเจอกับ เจสส์ วิลลาร์ด โดยความหมายอีกนัยของไฟต์นี้คือการชกกันของ 2 นักมวยที่มีอนาคตที่สดใสที่สุด และเป็นศึกชิง "ว่าที่" ราชาเฮฟวี่เวตคนต่อไป 


Photo : sporvalues.com

ไฟต์ดังกล่าวในเดือนพฤษภาคม 1918 ชกกันถึง 10 ยก ต่างฝายต่างก็ส่งอีกฝ่ายลงไปกองที่พื้นและเสียนับกันคนละที ทว่าสุดท้ายเมื่อครบ 10 ยก กลับกลายเป็นว่าไม่มีใครกินกันลงและต้องถูกตัดสินให้เป็นการเสมอกัน เนื่องด้วยมวยในช่วงยุคต้นๆ คริสต์ศตวรรษที่ 20 มักมีการตัดสินประเภท "No Decision" (ไม่มีการตัดสิน) ซึ่งหมายความว่าหากไม่ชนะแบบขาดลอยหรือไม่มีการน็อคเอาต์เกิดขึ้น ไฟต์ดังกล่าวจะถูกตัดสินให้เสมอกันเพื่อเลี่ยงจากปัญหาเรื่องการเดิมพันขันต่อในไฟต์ และทางแก้มีเพียงอย่างเดียวคือ ไปตกลงกันใหม่เพื่อหาศึกรีแมตช์กันอีกครั้งนั่นเอง

ตัวของ บิลลี่ นั้นไม่ได้มีความเกรงกลัวแต่อย่างใด หลังจากจบการเสมอที่ค้างคา ทีมงานของเขาและ เด็มพ์ซี่ย์ จัดการนัดแนะกันใหม่ทันที และไม่ต้องรอนานเหมือนมวยสมัยนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ว่า "ขอ 5 เดือน" และจะกลับมาชกกันใหม่ในเดือนพฤศจิกายนปี 1918 

การตกลงชกอันแสนง่ายดายนั้นเกิดจาก วงการมวยในยุคนั้นมีเงินเดิมพันต่ำมาก ว่ากันว่าไม่ต้องไปหวังถึงเงินล้านเลยด้วยซ้ำ แม้แต่นักมวยระดับมีชื่อเสียงก็จะได้ค่าตัวอยู่ที่หลักพันดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น เพราะมวยถือเป็นกีฬาของชนชั้นแรงงานและเป็นสถานที่หย่อนใจของคนมีเงินที่เข้ามาดูไฟต์ต่างๆ อีกทั้งยังไม่มีสมาคมเข้ามาบริหารจัดการแบบเป็นทางการ จึงทำให้กว่าที่นักมวยคนหนึ่งจะมีเงินล้นฟ้าสร้างเนื้อสร้างตัวได้ ต้องใช้เวลาและใช้ใบหน้ารับหมัดอยู่หลายปีเลยทีเดียว 


Photo : boxing247.com

แต่สาเหตุที่ บิลลี่ ไล่คว้าความสำเร็จ ชื่อเสียง และเงินทองแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง นั่นก็เพราะว่าเขาเป็นคนที่มีครอบครัวตั้งแต่ยังหนุ่ม เขาแต่งงานและมีลูกวัยกำลังน่ารัก ดังนั้นหัวอกคนเป็นพ่อและหัวหน้าครอบครัวแล้วไม่มีคำว่าเหนื่อยในพจนานุกรมของเขาเลย 

หลังจากต่างฝ่ายต่างแยกไปฝึกซ้อม ครบกำหนด 5 เดือน การรีแมตช์ระหว่าง เด็มพ์ซี่ย์ และ บิลลี่ ก็ถือกำเนิดขึ้นที่ ฟิลาเดลเฟีย บ้านเกิดของ แจ็ค เด็มพ์ซี่ย์ ทุกคนหวังว่าจะได้เห็นการแลกหมัดที่ดุเดือดเหมือนกับไฟต์ที่ผ่านมา เพียงแต่ว่าต่อให้มันจะยืดเยื้อยันยก 10 ก็ต้องมีผู้ชนะจากการน็อคเอาต์ให้ได้ ... นั่นคือสิ่งที่คนดูหวัง

หากถามว่าไฟต์นั้นดุเดือดแค่ไหน เรียนตามตรงว่า "ไม่มีใครบันทึกไว้ชัดเจน" ไม่มีการบอกว่าใครออกหมัดมากกว่า ใครโดนนับบ้าง มีเพียงแต่การบันทึกไว้ว่า แจ็ค เด็มพ์ซี่ย์ เป็นฝ่ายชนะหลังต่อยครบ 6 ยก โดยการตัดสินออกมาในรูปแบบของ "Newspaper Decision" หรือการให้สื่อจากหนังสือพิมพ์เป็นผู้ตัดสินหลังจากไฟต์ผ่านพ้นไปแล้ว ซึ่งมันชัดเจนว่า บิลลี่ มิสก์ คือมวยฝีมือของจริง แม้แต่ แจ็ค เด็มพ์ซี่ย์ ก็ยังเอาชนะเขาแบบเป็นเอกฉันท์ไม่ได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว


Photo : boxrec 

ด้วยความที่ไม่รู้ว่าไฟต์ดังกล่าวถูกบันทึกไว้ว่าอย่างไร และดุเดือดแค่ไหน กลับมีสิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ว่า บิลลี่ มิสก์ ขึ้นชกด้วยสภาพที่ไม่เต็ม 100% เรื่องดังกล่าวไม่มีใครรู้ เพราะ บิลลี่ เก็บมันไว้เป็นความลับแม้กระทั่งกับครอบครัวของเขาเอง ... เหตุผลก็คือหากความลับนี้หลุดออกไป ชีวิตนักมวยของเขา จบลงแน่นอน

ความจริงของ บิลลี่ มิสก์ 

หลังจากจบศึกกับ แจ็ค เด็มพ์ซี่ย์ ครั้งแรกในเดือนพฤษภาคมปี 1918 บิลลี่ ก็ต้องเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ และคำตอบจากหมอนั้นชัดเจนจนเขาแทบช็อก ... เขาเป็นโรคไตระยะเริ่มต้น จะมีชีวิตอยู่ได้อีก 5 ปี และทางที่ดีควรเลิกชกมวยไปเลยเพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ครบตามโควต้าที่หมอบอกไว้

ปัญหาเดียวในตอนนั้นคือ บิลลี่ มิสก์ คือชนชั้นรากหญ้าที่เติบโตและได้ชีวิตใหม่จากมวย เขาไม่มีวิชา ไม่มีความถนัดในการประกอบอาชีพอื่นเลย ดังนั้นต่อให้หมอจะบอกและบังคับให้เลิกแค่ไหน สุดท้ายเขาก็ต้องยอมรับว่าจริงว่าหากการหยุดชกมวยทำให้เขามีอายุยืนยาวอีก 5 ปี ก็จริง แต่การทำเช่นนั้นจะทำให้เขาไม่มีอาชีพเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวเลยและแบบนั้นมันทรมานเสียยิ่งกว่าตายแน่นอน


Photo : geni.com

และอีกสิ่งหนึ่งที่การันตีแน่ชัดว่าการหยุดชกมวยคือเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในตอนนี้คือ เขาได้กู้เงินก้อนใหญ่มาบวกกับการนำเงินเก็บส่วนหนึ่งมาลงทุนในธุรกิจค้าขายรถยนต์ ซึ่งอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นต่อให้บนเวทีจะเจนจัดขนาดไหน แต่ในสนามชีวิตเขาช่างอ่อนด้อยนัก เขาเสียเหลี่ยมให้กับเซลล์ที่ตัวเองไว้ใจ เขาโดนโกงจนเกลี้ยงและติดหนี้ธนาคาร 100,000 ดอลลาร์ ซึ่ง 1 แสนดอลลาร์ สำหรับ 100 ปีก่อนมันมากมายขนาดไหน ช่างเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการจริงๆ  

"พ่อเป็นคนใจนักเลงเลยล่ะ เขาเป็นคนใจกว้างและเชื่อใจคนอื่นมากๆ จนมันมากเกินไปสำหรับเรื่องธุรกิจ" บิลลี่ จูเนียร์ ลูกชายของเขาเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อเขายังเด็กและได้รับการถ่ายทอดมาจากแม่อีกทอด 

หนี้ 1 แสน ครอบครัวที่ลูกกำลังโต และภรรยาที่เป็นแม่บ้านไม่ได้เรียนหนังสือเหมือนกัน เท่านี้ก็ชัดเจนพอแล้วว่าทำไม บิลลี่ มิสก์ ไม่ยอมเลิก เขาคือคนที่สามารถหาเงินได้คนเดียวในเวลานี้ อย่างน้อยๆ กัดฟันอีกเฮือกหาเงินมาใช้หนี้ให้หมดให้ลูกเมียสบาย แค่นี้ก็น่าจะทำให้เขาพร้อมสำหรับความตายแล้ว ... หากไม่สู้ ก็ต้องตาย ชีวิตลูกผู้ชายอย่างเขามันง่ายๆ แค่นั้นเอง 

สิ่งทีเกิดขึ้นในชีวิตนักมวยของ บิลลี่ หลังจากนั้นไม่เหมือนกับในภาพยนตร์ ที่มักจะบอกว่าพลังใจนั้นคือสิ่งสำคัญอันดับแรก แค่ใจสู้ก็ชนะไปครึ่งหนึ่งแล้ว แต่ความจริงคืออาการป่วยที่ไตของเขาทวีความรุนแรงขึ้นมาก จนส่งผลให้สภาพร่างกายอ่อนแอลงอย่างรวดเร็ว จากนักมวยที่กลายเป็นว่าที่แชมป์โลก กลับกลายเป็นดาวดับไปเลย เพราะหลังจากพ่าย แจ็ค เด็มพ์ซี่ย์ เมื่อปี 1918 บิลลี่ มิสก์ ก็เดินหน้าเข้าสู่ขาลงเต็มรูปแบบ สถิติการชกที่ชนะนั้นแทบจะนับนิ้วได้ ที่เหลือมีแต่แพ้กับเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความพ่ายแพ้แบบหมดรูปในศึกไตรภาคกับเดมพ์ซี่ย์ในปี 1920 ที่หนนี้จอดป้ายตั้งแต่ยก 3 เท่านั้น 


Photo : Si.com

สาธุชนคนดูต่างคิดว่า บิลลี่ มิสก์ เป็นนักชกของปลอม ที่หลังจากโดน แจ็ค เด็มพ์ซี่ย์ จัดการก็กลายเป็นมวยตกรุ่น ทว่าความจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้น "แจ็ค เร้ดดี้" พี่เลี้ยงคนสนิทของเขาคือคนเดียวที่รู้ว่าทำไม บิลลี่ ถึงได้แพ้ตลอด ซึ่ง ณ เวลานั้นร่างกายของ บิลลี่ ยังไม่ได้แสดงอาการออกมามากมายนัก รูปร่างของเขายังดีอยู่ซึ่งทำให้หลายคนยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา

ความพ่ายแพ้ติดๆ กันทำให้ บิลลี่ เริ่มมีชื่อเสียงน้อยลง แถมยิ่งนานวันผ่านไปโรคที่ไม่มีวันรักษาหาย ณ เวลานั้นก็ทำให้ร่างกายของเขาผ่ายผอมลงอย่างรวดเร็ว จนตอนนี้ยากที่จะเอาชนะใครได้ ตัวของ แจ็ค เร้ดดี้ พี่เลี้ยงของเขาก็คอยบอกตลอดว่า "เลิกเหอะ" แต่ทุกครั้งที่เขาบอก บิลลี่ จะปฏิเสธและตอบกลับในแบบที่เขาไม่มีสิทธิ์เถียงว่า

"บิลลี่ เลิกชกมวยเถอะว่ะ ถ้าแกขึ้นเวทีไปด้วยสภาพแบบนี้อีก แกตายห่าคาเวทีแน่นอนน้องชาย" แจ็ค เรดดี้ เล่าให้กับ SI ฟัง ซึ่งคำตอบของ บิลลี่ มิสก์ คือ

"มันต่างกันยังไงวะ? ขึ้นไปตายบนนั้น ยังดีกว่านั่งบนเก้าอี้โยกโง่ๆ แล้วตายไปโดยไม่ได้ทำห่าอะไรเลย" บิลลี่ ตอบ 

เมื่อเจ้าตัวยืนยันว่าพร้อมตาย พี่เลี้ยงอย่าง แจ็ค เร้ดดี้ ก็ไม่ปฏิเสธ เขาบอกให้ บิลลี่ ไปหาทางออกกำลังกายมาให้ได้ ทำให้เขาเห็นว่า บิลลี่ ยังต่อยไหว ซึ่ง บิลลี่ ก็ยังดื้อด้านเหมือนเดิม เขาบอกกับ เรดดี้ ประมาณว่า "ไม่ต้องหรอก เอาผมขึ้นไปชกเลย"

"ผมบอกเขา เฮ้ย บิลลี่ แกไปโรงยิมแล้วลองทำอะไรสักอย่างสิ ถ้าแกออกกำลังกายได้เราค่อยมาคุยกันเรื่องจะชกต่อ" เร้ดดี้เล่าต่อ ซึ่งคำตอบของ บิลลี่ ก็ตอบเขาอย่างหน้าซื่อว่า "ออกกำลังกายไม่ได้ว่ะ"  

เขาไม่ได้กวนประสาทหรือขี้เกียจซ้อม เพราะในความจริงแค่กินข้าว บิลลี่ ยังทำไม่ได้เลยด้วยซ้ำไป อาหารที่ถูกปรุงรสคือสิ่งที่หากลงไปในท้องของเขา จะต้องถูกขย้อนออกมาโดยอัตโนมัติ สิ่งที่เขากินได้คือซุปไก่และปลาต้มเปล่าๆ ดังนั้นการส่งเขาขึ้นเวทีในสภาพนี้ การันตีการแพ้ 100% แน่นอน  

"แจ็ค ขอไฟต์เดียวพอ ฉันไม่มีเอกสารสำหรับขึ้นชกอะไรเลย ตอนนี้ฉันโคตรถังแตกแล้วก็ร้อนใจสุดๆ คริสต์มาสมาถึงแล้วฉันอยากจะซื้อของขวัญให้ลูกเมีย ก่อนที่เช็คค่าตัวจะออก นายต้องจ้างฉันเป็นพนักงานรายวันในโรงยิมนะเข้าใจไหม?" นี่คือสิ่ง บิลลี่ บอกกับ แจ็ค โดยที่แจ็คไม่สามารถปฏิเสธได้ 

Merry X'Mas 

ปี 1923 เดือนพฤศจิกายน อีกเดือนเดียวก่อนคริสต์มาสจะมาถึง แจ็ค เร้ดดี้ จัดการหาคู่ต่อสู้ให้กับ บิลลี่ ตามสัญญา เขาจัดให้ บิลลี่ ชกกับ บิล แบรนแนน นักชกชาวอเมริกันจาก หลุยส์วิลล์ 

แน่นอนว่าแม้จะเป็นพนักงานรายวันของโรงยิม แต่ บิลลี่ ก็ออกกำลังไม่ได้ นั่นหมายความว่าเขาไม่ได้ฝึกซ้อมอะไรมาเลยแม้แต่น้อย ร่างกายของเขาผอมแห้งจนชนิดที่ว่า แบรนแนน ไม่อยากจะชกด้วย 

แต่จะด้วยอะไรก็ตามสุดท้ายการชกในไฟต์นั้น บิลลี่ สามารถเอาชนะ แบรนแนน ได้ (ไม่มีการระบุรายละเอียดชัดเจน)  มีเพียงการบอกว่าการต่อสู้จบลงในยกที่ 4 จากนั้น บิลลี่ มิสก์ ก็ได้เช็คเงินสดจำนวน 2,400 ดอลลาร์ กลับมาเพื่อมอบให้กับครอบครัวของเขาได้อย่างที่ตั้งใจ


Photo : Si.com

"ผมจำได้ว่าพ่อมีเงินสดอยู่ราวๆ 15,000 ดอลลาร์ และตอนนั้นมันมากล้นเลยสำหรับคริสต์มาสที่พิเศษที่สุดของครอบครัวเรา" บิลลี่ จูเนียร์ กล่าว และเงินก้อนนั้นคือเงินก้อนสุดท้ายที่เขาสามารถหาได้จากการชกมวย เพราะนั่นเป็นไฟต์สุดท้ายของเขาด้วย ... หลังจากนั้นเขาก็เสียชีวิตลงด้วยโรคไตตามที่หมอวินิจฉัยในวันที่ 1 มกราคม 1924 ด้วยวัยเพียง 29 ปี 

การจากไปของเขาสร้างความโศกเศร้าให้กับครอบครัว, แจ็ค เร้ดดี้ พี่เลี้ยงคนสนิท และแม้แต่ แจ็ค เด็มพ์ซี่ย์ อดีตคู่ชกชิงบัลลังก์ อย่างไรก็ตามในความโศกเศร้า บุคคลที่กล่าวมาภาคภูมิใจอย่างมากับสิ่งที่เขาทำ โดยเฉพาะ แมรี่ ภรรยา และ บิลลี่ จูเนียร์ ลูกชายของเขาที่ได้พบจดหมายระบุหลังจากการตายของหัวหน้าครอบครัวว่า "หนี้ 1 แสนดอลลาร์ถูกชำระโดย บิลลี่ มิสก์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว"

ส่วนของขวัญในวันที่ บิลลี่ มอบให้ครอบครัวคือ แกรนด์ เปียโน 1 หลัง ซึ่งยังเป็นสิ่งของที่มีชีวิตของครอบครัวมิสก์จนถึงทุกวันนี้ "พ่ออยากให้แม่เป็นนักร้อง อยากให้แม่กลายเป็นดาราโอเปร่า" บิลลี่ จูเนียร์ เล่าต่อ 


Photo : Si.com

แม้สิ่งที่ บิลลี่ มอบให้ แมรี่ อาจจะไม่ได้เป็นไปตามที่เขาหวัง แต่อย่างน้อย บิลลี่ จูเนียร์ ก็ทำหน้าที่สืบทอดเจตนารมณ์ของพ่อได้เป็นอย่างดี ... บิลลี่ จูเนียร์ ที่อายุล่วงเลยอยู่ในช่วงเกษียณมีวงดนตรีกับเพื่อนๆ มีทั้ง เปียโน, ทรัมเป็ต และเมาท์ออร์แกน ในบ้านของเขา และเครื่องดนตรีเหล่านี้คือความสุขของเขา กระทั่งถึงคราวที่ บิลลี่ จูเนียร์ ต้องจากโลกไปในวัย 84 ปีเมื่อปี 2000

"แม่บอกผมเสมอว่าแม่ภูมิใจในสิ่งที่พ่อทำมาตลอดชีวิต แม่เริ่มบอกความจริงทั้งหมดพอตัวผมเริ่มรู้ความมากขึ้น" บิลลี่ จูเนียร์ กล่าวถึงบทสรุปของครอบครัวของเขาในปี 1984 "ทุกวันนี้ผมก็เลยชอบทำตัวยุ่งๆ ... ก็เหมือนพ่อนั่นแหละ พ่อไม่เคยปล่อยให้ตัวเองว่างเลย จนกระทั่งวันที่เขาจากโลกนี้ไป"

การทำตัวยุ่งตลอดชีวิตนอกจากจะทำให้ครอบครัวของเขามีช่วงเวลาที่นำจดจำแล้ว บิลลี่ มิสก์ ยังได้สร้างเรื่องราวที่กลายเป็นแรงบันดาลใจของวงการมวยสากลจนถึงทุกวันนี้ แม้เขาจะไม่เคยได้เป็นแชมป์โลกที่น่าจดจำและเป็นมวยเงินล้านแบบ แจ็ค เด็มพ์ซี่ย์ แต่ความพยายามของเขาถูกยกขึ้นหิ้งไว้ในระดับตำนาน 

ในปี 2010 ชื่อของ บิลลี่ มิสก์ ถูกบรรจุเข้าหอเกียรติยศมวยสากล รัฐมินเนโซต้า เพื่อยกย่องสิ่งที่เขาทำ เรื่องราวของชายที่มีทัศนคติและหัวใจที่ใหญ่กว่าไต และการไม่เคยยอมแพ้จนกว่าเสียงระฆังสุดท้ายของชีวิตจะดังขึ้นก็ตาม ... 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook