"โกลเด้นโกล" : กฎสุดตื่นเต้นที่หายไปจากโลกลูกหนัง

"โกลเด้นโกล" : กฎสุดตื่นเต้นที่หายไปจากโลกลูกหนัง

"โกลเด้นโกล" : กฎสุดตื่นเต้นที่หายไปจากโลกลูกหนัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่มีวิวัฒนาการมาโดยตลอด เช่นเดียวกับกฎของมัน ที่ผ่านการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง และแก้ไข ที่ทำให้กฎบางกฎเพิ่มเข้ามาใหม่ และบางกฎหายไป

หนึ่งในนั้นคือ “โกลเด้นโกล” กฎง่ายๆ ที่มีเงื่อนไขเพียงแค่ว่าในช่วงต่อเวลาพิเศษ ทีมไหนยิงประตูได้ก่อน ทีมนั้นก็จะเป็นผู้ชนะ ที่เคยสร้างความสนุกและตื่นเต้นในโลกลูกหนังมาแล้วนักต่อนัก 

ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ฝรั่งเศสคว้าแชมป์ยูโร 2000 การทำให้ทีมชาติญี่ปุ่น ผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ หรือแม้แต่ทีมชาติไทยเอง ก็เคยสร้างปาฏิหาริย์จากโกลเด้นโกล ในเอเชียนเกมส์เมื่อปี 1998 มาแล้วเช่นกัน

 

อย่างไรก็ดี กฎนี้กลับอยู่ในวงการลูกหนังได้เพียงแค่ 10 กว่าปี ก่อนที่จะหายไป อะไรคือสาเหตุนั้น ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand

ไอเดียจากอเมริกันเกมส์ 

การกำเนิดของเรื่องบางเรื่อง หรือไอเดียบางไอเดีย ที่สร้างปรากฎการณ์บนโลก บางทีอาจจะเป็นแค่เรื่องง่ายๆ และโกลเด้นโกล ก็เป็นหนึ่งในนั้น 

 1

มันมีจุดเริ่มต้นมาจากความสนุกของฟุตบอลที่เริ่มหายไปในการแข่งขันแบบทัวร์นาเมนต์ ที่หลายทีมเอาแต่เล่นแบบรัดกุมในช่วงต่อเวลาพิเศษ ที่เริ่มเด่นชัดในฟุตบอลโลก 1990 ที่อิตาลี ซึ่งหลายเกมต้องตัดสินด้วยการดวลลูกจุดโทษ 

ทำให้สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า หัวเรือใหญ่ของโลกลูกหนัง พยายามคิดและเสาะหาวิธีที่จะแก้ไขปัญหานี้ ที่จะทำให้ฟุตบอลไม่น่าเบื่อเกินไป จนออกมาเป็น “ซัดเดนเดธ” หรือ “โกลเด้นโกล”

มันเป็นกฎที่มีเงื่อนไขไม่ซับซ้อน นั่นก็คือหากเกมเสมอกันใน 90 นาที จะตัดสินด้วยการต่อเวลาพิเศษออกไป 30 นาที และภายใน 30 นาทีนั้น ทีมไหนยิงประตูได้ก่อน ทีมนั้นจะกลายเป็นผู้ชนะทันที 

อันที่จริงโกลเด้นโกล ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะกฎในลักษณะนี้เคยมีมาก่อนในอดีต ไม่ว่าจะเป็นอเมริกันฟุตบอล ที่ใช้มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970 หรือแม้แต่ฟุตบอลเอง ก็เคยใช้ในถ้วยยูดานคัพ ถ้วยเก่าแก่ของอังกฤษ เมื่อ 100 กว่าปีก่อน 

ก่อนที่มันจะหวนคืนสู่วงการลูกหนังในปี 1993 หลังฟีฟ่าแนะนำมันให้สาธารณชนได้รู้จักอย่างเป็นทางการ โดยมีศึกฟุตบอลเยาวชนโลก 1993 ที่ออสเตรเลีย เป็นสังเวียนแรกที่ทดลองใช้ 

“เบื้องหลังไอเดียของโกลเด้นโกลคือเพื่อให้เกิดทัศนคติในการเล่นเกมรุกมากขึ้น ให้ทีมมุ่งไปข้างหน้า เพราะพวกเขารู้ว่าแค่ประตูเดียวก็จะเป็นผู้ชนะ” แอนดรูว์ คูเปอร์ โฆษกของฟีฟ่าในตอนนั้นกล่าว 

 2

อย่างไรก็ดี โกลเด้นโกล กลับไม่ค่อยได้รับการจดจำมากนัก เมื่อตลอดทั้งทัวร์นาเมนต์ มันได้มีโอกาสใช้เพียงครั้งเดียว นั่นคือเกมระหว่างเจ้าภาพออสเตรเลียและอุรุกวัยในรอบ 8 ทีมสุดท้าย ที่กลายเป็นแข้งจิงโจ้ คว้าชัยไปได้จากกฎใหม่นี้  

หลังจากนั้นกฎนี้ยังมีโอกาสเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันสุดแปลกของโลก ในศึกแคริเบียนคัพ ในปี 1994 ที่ทำให้ทีมหนึ่งต้องยิงประตูตัวเองเพื่อผ่านเข้ารอบ 

มันเป็นเกมระหว่าง เกรนาดา และ บาร์บาดอส ที่แม้จะเป็นรอบแบ่งกลุ่ม แต่ก็เอากฎโกลเด้นโกลมาใช้ ในขณะที่ บาร์บาดอส นำ เกรนาดา อยู่ 2-1 ซึ่งจบสกอร์นี้พวกเขาจะตกรอบเพราะต้องยิง 2 ลูกขึ้นไป หลังเสียประตูให้อีกฝ่าย บาร์บาดอสก็ทำสิ่งไม่คาดคิด ด้วยการยิงประตูตัวเอง เพื่อให้มีการต่อเวลาพิเศษออกไป 

เนื่องจากกฎโกลเด้นโกลในทัวร์นาเม้นต์นั้นระบุว่า หากยิงได้ในช่วงต่อเวลา ไม่เพียงแต่จะเป็นผู้ชนะ ประตูที่ทำได้จะถูกนับเป็นสองลูก และบาร์บาดอสก็ทำได้จริง พวกเขายิงโกลเด้นโกลได้ในเกมนั้น พร้อมได้ประตูบวกเป็น 2 ประตู และผ่านเข้ารอบสุดท้ายได้สำเร็จ 

>> ยิงประตูตัวเองเพื่อเข้ารอบ : บาร์บาดอส-เกรนาดา เกมการแข่งขันสุดเพี้ยนของโลก

ทว่า มันก็ไม่ได้ทำให้โลกรู้จักโกลเด้นโกลมากนัก จนกระทั่งยูโร 1996 ได้อุบัติขึ้น

สีสันแห่งโลกลูกหนัง 

หลังจากประเดิมใช้ครั้งแรกในศึกเยาวชนโลก 1993 โกลเด้นโกล ก็ถูกนำไปใช้มากขึ้นในทัวร์นาเมนต์ต่างๆ เช่นเดียวกับ เช่นเดียวกับที่อังกฤษ มันถูกนำไปใช้ในศึก Auto Windscreens Shield (EFL โทรฟีในปัจจุบัน) ปี 1995 ที่ พอล เทธ กลายเป็นฮีโร ของเบอร์มิงแฮม ยิงโกลเด้นโกล ช่วยให้ทีมเอาชนะ คาร์ไลส์ ได้สำเร็จ 

 3

ก่อนที่หนึ่งปีต่อมา โกลเด้นโกล จะเริ่มคุ้นหูในหมู่แฟนบอลมากขึ้น เมื่อมันถูกนำมาใช้ในศึกยูโร 1996 ที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพ และกลายเป็นเครื่องตัดสินแชมป์ หลัง โอลิเวอร์ เบียร์ฮอฟฟ์ พลิกยิงแฉลบกองหลังเช็ก เป็นประตูชัยให้เยอรมันคว้าแชมป์ยูโร สมัยที่ 3 มาครอง 

หลังจากนั้นกฎก็กลายเป็นที่รู้จักเต็มตัว เริ่มตั้งแต่ศึกฟุตบอลโลก 1998 ที่มีส่วนที่ทำให้ฝรั่งเศสเอาชนะ ปารากวัยในรอบ 16 ทีมสุดท้าย ก่อนจะกรุยทางไปถึงแชมป์โลกสมัยแรกในประวัติศาสตร์ และดูเหมือนว่าทัพตราไก่ จะถูกโฉลกกับกฎนี้ เมื่อในอีก 2 ปีต่อมา มันยังทำให้พวกเขาคว้าแชมป์ยูโรได้อีกด้วย

ไม่ว่าจะเป็นจุดโทษของ ซีเนดิน ซีดาน ในรอบรองชนะเลิศ ที่ช่วยให้ฝรั่งเศสเอาชนะโปรตุเกสไปได้ 2-1 หรือลูกวอลเลย์สุดสวยของ ดาวิด เทรเซเกต์ ในนัดชิงชนะเลิศกับอิตาลี ที่ทำให้พวกเขากลายเป็นทีมแรกที่คว้าแชมป์โลก แล้วสามารถคว้าแชมป์ยุโรปต่อได้

 4

ในขณะที่ฝั่งเอเชีย มันเป็นที่จดจำในฐานะประตูที่ทำให้ญี่ปุ่นได้ผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกได้เป็นครั้งแรก หลังเอาชนะอิหร่านด้วยลูกโกลเด้นโกลของ มาซายูกิ โอคาโนะ ในเกมเพลย์ออฟที่มาเลเซีย เมื่อปี 1997 

แต่ที่ลืมไม่ลงสำหรับแฟนบอลชาวไทย น่าจะเป็นฟุตบอลเอเชียนเกมส์ เมื่อปี 1998 เมื่อมันกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ทีมชาติไทยสร้างประวัติศาสตร์ล้มยักษ์อย่างเกาหลีใต้ได้อย่างเหลือเชื่อ

มันเกิดขึ้นในรอบ 8 ทีมสุดท้าย หลังเสมอกัน 1-1 ในเวลาปกติ และต้องต่อเวลาพิเศษออกไป ในนาทีที่ 95 แฟนบอลไทยในสนามราชมังคลากีฬาสถานได้เฮทั้งสนาม เมื่อดุสิต เฉลิมแสน เขี่ยบอลให้ ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล ยิงเสียบคานเข้าไป เป็นประตูโกลเด้นโกลให้ไทย หักด่านเข้าถึงรอบ 4 ทีมสุดท้ายได้สำเร็จ 

“ตอนเจอเกาหลีใต้เป็นรอบ 8 ทีมในเวลาเราเสมอเขา 1-1 ก็ต้องต่อเวลาไปอีกเป็นช่วงโกลเด้นโกล” โค้ชวังกล่าวกับ Fox Sport Thailand 

“ไทยเราตอนนั้นมาเหลือ 9 คนก็ยิ่งเสียเปรียบเขาไปอีก ก่อนจะยิงฟรีคิกลูกนั้นก็ไม่ได้คุยอะไรกับพี่โอ่ง (ดุสิต เฉลิมแสน) หรอก แต่จริงๆ โค้ช (ปีเตอร์ วิธ) เขามอบหมายให้ผมลงไปทำหน้าที่เล่นลูกเซ็ตพีซอยู่แล้ว” 

“ตอนนั้นแน่นอนอยู่แล้วว่าเรื่องรูปร่างเราเสียเปรียบเขา และค่อนข้างจะไกล ฉะนั้นถ้าเราครอสเข้าไปโอกาสจะเสียเปรียบก็ค่อนข้างเยอะ เราก็ต้องพยายามยิงกึ่งยิงกึ่งผ่านถ้าไม่เข้าก็ให้บอลออกดีกว่าเราจะได้กลับไปตั้งรับได้เพราะคนน้อยกว่า ถ้าเราถูกเขาตัดได้จะโดนโต้กลับแน่นอน”

“พอบอลเข้าไปมันก็เป็นเพียงชั่วเสี้ยววินาทีที่ทำให้เราดีใจกันมาก ผมว่ามันเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เราประทับใจมากกับการรับใช้ชาติ และเป็นแมตช์ที่คนดูให้ความสนใจมากที่เจอกับเกาหลีใต้ ซึ่งเขาเป็นยักษ์ใหญ่ในเอเชียก็เป็นความสุขของคนไทยครั้งหนึ่งที่เห็นทีมสามารถล้มยักษ์ได้”

 

จากนั้น โกลเด้นโกล ก็กลายเป็นกฎที่เป็นที่รู้จักสำหรับคนทั่วไป และเป็นสีสันในฟุตบอลแบบน็อคเอาท์หลายรายการ รวมไปถึงเกมระดับสโมสร ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ กาลาตาซาราย พลิกเอาชนะ เรอัล มาดริด ใน ยูฟ่า ซูเปอร์ คัพ เมื่อปี 2000 หรือช่วยให้ลิเวอร์พูล คว้าชัยเหนือ อลาเบส ในนัดชิงชนะเลิศ ยูฟ่า คัพ ปี 2001 

ในขณะเดียวกัน มันก็ยังเป็นหนึ่งในช่วงเวลาสำคัญในฟุตบอลโลก 2002 ที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เจ้าภาพ หลังช่วยให้เกาหลีใต้เฉือนเอาชนะ อิตาลีอย่างสุดช็อก ที่ทำให้ อาห์น จุง วาน คนยิงประตูถูกไล่ออกจากสโมสรเปรูจา และมันยังมีส่วนที่ทำให้ ตุรกี สร้างประวัติศาสตร์ ทะลุผ่านเข้าถึงรอบ 4 ทีมสุดท้าย ด้วยการเอาชนะเซเนกัล ในรอบก่อนรองชนะเลิศ ก่อนจะคว้าอันดับ 3 ในฟุตบอลโลกมาครองได้สำเร็จ

 

อย่างไรก็ดี ทัวร์นาเมนต์ดังกล่าวกลับเป็นทัวร์นาเมนต์สุดท้ายที่โลกได้เห็นกฎนี้

เหล้าเก่าในขวดใหม่ 

“จริงอยู่ที่มันก็ไม่ได้ผลเสมอไป แต่คุณก็ต้องมีวิธีตัดสินเกมอย่างเด็ดขาด และนั่นก็เป็นสิ่งที่โกลเด้นโกลและจุดโทษทำอยู่” คูเปอร์ อดีตโฆษกของฟีฟ่ากล่าว 

 6

แม้ว่าโกลเด้นโกล จะเป็นที่จดจำอย่างมากในฟุตบอลโลก 2002 ในฐานะหนึ่งในเสน่ห์ของเกมลูกหนังที่ช่วยสร้างความตื่นเต้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีเสียงตำหนิในกฏนี้มาโดยตลอด 

สิ่งที่โดนโจมตีหนักที่สุดก็คือ แม้กฎนี้จะมีจุดประสงค์กระตุ้นให้แต่ละทีมเปิดเกมบุกมากขึ้น แต่ในทางกลับกันมันกลับมีความเสี่ยงมากขึ้น เพราะหากเสียประตูก็หมายความว่าจะต้องเก็บกระเป๋ากลับบ้านทันที 

นั่นจึงทำให้นับตั้งแต่นำกฎโกลเด้นโกลมาใช้ หลายเกมเต็มไปด้วยความน่าเบื่อ เมื่อหลายทีมพยายามเล่นอย่างรัดกุมและปลอดภัย หวังเสมอและลุ้นไปยิงจุดโทษแทน 

จากสถิติระบุว่า นับตั้งแต่ยูโร 1996 ศึกชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป มีเกมที่ต้องต้องตัดสินด้วยการดวลจุดโทษถึง 5 ครั้งจาก 8 ครั้ง ในขณะที่ฟุตบอลโลกก็ใกล้เคียงกันเมื่อต้องไปถึงฎีกา 5 ครั้งจากทั้งหมด 9 ครั้ง 

ในขณะเดียวกัน แม้ว่ากฎนี้จะสร้างสีสันให้กับโลกฟุตบอล แต่นั่นก็สำหรับผู้ชนะเท่านั้น เพราะในมุมผู้แพ้มันช่างโหดร้าย พวกเขาแทบไม่มีโอกาสได้แก้ตัวเลยแม้แต่น้อย 

“เราได้คุยเกี่ยวกับปัญหานี้หลายครั้งในคณะกรรมการฝ่ายเทคนิค (ของยูฟ่า)” ไรนุส มิเชล อดีตตำนานทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ที่เคยรั้งตำแหน่งรองประธานกรรมการของยูฟ่ากล่าวกับ uefa.com 

“โค้ชรู้สึกว่าทีมไม่มีโอกาสที่จะทำประตูตีเสมอหรือชนะในเกม มันสนุกสำหรับแฟนๆ และน่าสนใจสำหรับทีมชนะ แต่ไม่ใช่สำหรับทีมแพ้” 

 7

เช่นเดียวกับ ปีเตอร์ คูบา ผู้รักษาประตูทีมชาติเช็กที่โดนเบียร์ฮอฟฟ์ยิงประตูโกลเด้นโกลในนัดชิงยูโร 1996 ก็เห็นตรงกัน ยิ่งไปกว่านั้นกฎนี้ยังได้สร้างบาดแผลในใจเขาไปตลอดชีวิตอีกด้วย 

“ผมรู้ว่ามันดูเหมือนเป็นประตูโง่ๆ ประตูหนึ่งก็ว่าได้” คูบากล่าวกับ FourFourTwo 

“หลังจากนั้นผมก็รู้สึกหดหู่ ผมไม่ได้อยากทำอย่างตลอดสัปดาห์หรอก แม้ว่าเราจะได้รับการต้อนรับเหมือนฮีโร่ตอนกลับมาถึงปราก แต่ผมรู้สึกเจ็บปวดจากข้างใน มันยังคงอยู่กับผมตลอดชีวิต ไม่ว่าจะพยายามลืมมันเท่าไร ทุกคนถามผมตลอด ผมตอบไปว่ามันคือโชคชะตา” 

“กฎ (โกเด้นโกล) ไม่ยุติธรรมและโหดร้าย ปกติถ้าคุณโดนยิงประตูนำ คุณยังจะมีเวลาที่จะบุก แต่ด้วยโกลเด้นโกล คุณจะไม่กล้าเสี่ยงอะไรเลย” 

นั่นจึงทำให้ฟุตบอลโลก 2002 โลกยังมีโอกาสได้เห็นกฎโกลเด้นโกล ในทัวร์นาเมนต์ของฟีฟ่าอีกครั้งในศึกฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก 2003 แค่รายการเดียว ก่อนที่มันจะถูกถอดออกจากกฎของฟีฟ่า 

อย่างไรก็ดี สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า ยังคงเห็นข้อดีของกฎในลักษณะนี้ พวกเขาจึงนำ โกลเด้นโกล มาดัดแปลงใหม่ ในชื่อ ซิลเวอร์โกล โดยหวังว่ากฎใหม่นี้จะช่วยแก้ไขข้อบกพร่องของโกลเด้นโกล แต่ยังคงเพิ่มความสนุกในเกมการแข่งขัน

“ภายใต้ระบบใหม่ ถ้าเกมเสมอกันใน 90 นาที ใน 15 นาทีแรกของช่วงต่อเวลาพิเศษ หากทีมไหนยิงประตูออกนำไปจนจบ 15 นาทีแรก ทีมนั้นจะเป็นผู้ชนะของการแข่งขัน” ยูฟ่าอธิบาย 

“เราเชื่อว่านี่จะดีสำหรับสโมสร นักเตะและแฟนบอล” ไมค์ ลี ผู้อำนวยการฝ่ายการสื่อสารของยูฟ่ากล่าวเสริม 

“เราได้จัดการปัญหาที่เกิดจากโกลเด้นโกล ที่ถูกระบุไว้ในหลายเกม ระบบใหม่จะช่วยส่งเสริมฟุตบอลในเชิงบวกในช่วงต่อเวลาพิเศษ และสร้างความรู้สึกที่สมเหตุสมผลและเป็นธรรมต่อเกมการแข่งขัน” 

 8

อย่างไรก็ดี ซิลเวอร์โกล กลับมีอายุที่สั้นเหลือเกิน มันถูกเริ่มใช้ในศึก ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก และ ยูฟ่า คัพ  ฤดูกาล 2002-03 และถูกนำมาใช้ในทัวร์นาเมนต์อย่างยูโร 2004 ที่กรีซ ยิงซิลเวอร์โกลในรอบรองชนะเลิศที่พบกับเช็ก ก่อนจะทะลุไปคว้าแชมป์ในรายการนั้น

และมันคือรายการสุดท้ายที่ได้เห็นการต่อเวลาพิเศษลักษณะนี้ เนื่องจากซิลเวอร์โกลเองก็ถูกโจมตีไม่ต่างจากโกลเด้นโกล ในฐานะกฎที่ไม่ยุติธรรมไม่ต่างกัน 

ตัวอย่างเดียว แต่ชัดเจนก็คือเกมยูโร 2004 ระหว่างกรีซกับเช็ก ที่กรีซได้ประตูออกนำในช่วงทดเวลาบาดเจ็บของช่วงต่อเวลาพิเศษครึ่งแรก ซึ่งหากเป็นกฎปกติพวกเขาจะยังมีเวลาอีก 15 นาทีเพื่อตีเสมอ แต่สำหรับซิลเวอร์โกล โอกาสนั้นได้หลุดลอยหายไป 

นั่นจึงทำให้หลังยูโร 2004 โกลเด้นโกล และซิลเวอร์โกล จะถูกถอดออกจากกฎในฟีฟ่า ก่อนที่มันจะค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา

ครั้งหนึ่งในความทรงจำ 

นับตั้งแต่ฟุตบอลโลก 2006 เกมการแข่งขันก็กลับมาใช้การต่อเวลาพิเศษตามปกติ 30 นาที ที่ทำให้ โกลเด้นโกล และซิลเวอร์โกล เป็นเพียงหนึ่งในความทรงจำของโลกลูกหนัง 

 9

แม้ว่าในช่วงปี 2010 จะมีกระแสเรียกร้องให้นำกฎนี้กลับมาใช้อีกครั้ง โดยมี เซปป์ แบลตเตอร์ ประธานฟีฟ่าในขณะนั้นเป็นโต้โผ แต่กระแสนี้ก็เงียบหายไปหลังเขาพ้นจากตำแหน่งจากคดีทุจริต 

อย่างไรก็ดี มันก็ไม่ได้หายไปขนาดนั้น เมื่อในปัจจุบันยังสามารถพบเห็นโกลเด้นโกลอยู่บ้างในกีฬาอย่าง อเมริกันฟุตบอลของ NFL หรือ ฮอกกี้น้ำแข็ง ในขณะที่ฟุตบอล ก็ยังถูกใช้ในทัวร์นาเมนต์ระดับมหาวิทยาลัยของอเมริกา ทั้งฟุตบอลชายและฟุตบอลหญิง 

แต่สิ่งสำคัญที่สุดต้องยอมรับว่า แม้ว่ากฎนี้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แต่ครั้งหนึ่งมันเคยสร้างความตื่นเต้นให้กับวงการฟุตบอล รวมไปถึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์มากมาย  

มันจึงทำให้ “โกลเด้นโกล” กลายเป็นกฏที่กลายเป็นที่จดจำ และยังรู้สึกสนุกทุกครั้งที่นึกถึงมัน 

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ "โกลเด้นโกล" : กฎสุดตื่นเต้นที่หายไปจากโลกลูกหนัง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook