"Ford v Ferrari" : ภาพสะท้อนความจริงของโลกทุนนิยมผ่านภาพยนตร์แข่งรถสุดระห่ำ

"Ford v Ferrari" : ภาพสะท้อนความจริงของโลกทุนนิยมผ่านภาพยนตร์แข่งรถสุดระห่ำ

"Ford v Ferrari" : ภาพสะท้อนความจริงของโลกทุนนิยมผ่านภาพยนตร์แข่งรถสุดระห่ำ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากพูดถึงภาพยนตร์กีฬาในปี 2019 ไม่มีเรื่องไหนที่จะได้รับกระแสตอบรับ ดีไปกว่า Ford v Ferrari ภาพยนตร์ที่อ้างอิงมาจากเรื่องจริงของ เคน ไมล์ส ยอดนักแข่งรถชาวอังกฤษที่มาแสวงหาโอกาสในสหรัฐอเมริกา กับการแข่งขันรถในรายการ เลอ ม็องส์ 24 ชั่วโมง ในช่วงยุค 60’s

ความยอดเยี่ยมของภาพยนตร์ สามารถรับประกันได้จาก 92 คะแนน จากเว็บมะเขือเน่า (Rotten Tomatoes) ที่ลงคะแนนโดยเหล่านักวิจารณ์ภาพยนตร์ ขณะเดียวกันคอภาพยนตร์จำนวนมาก กล่าวชื่นชมถึงความสนุกสนานของภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั่วโลกโซเชียล

ภายใต้ความสนุก ตื่นเต้น ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ความยอดเยี่ยมที่ทำให้เหล่านักวิจารณ์หลงรัก Ford v Ferrari คือการวิพากษ์วิจารณ์ สังคมทุนนิยมของประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างแนบเนียน จนผู้ชมหลายคนไม่รู้ตัว แต่สามารถทำได้อย่างยอดเยี่ยม และเป็นกระจกสะท้อนชีวิตประจำวัน ที่คนจำนวนไม่น้อย ในสังคมทุนนิยมต้องพบเจอในทุกวัน

 

หมายเหตุ : บทความเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์ หากผู้อ่านไม่ได้รับชมภาพยนตร์มาก่อน และต้องการความตื่นเต้นทางเนื้อเรื่องเต็มที่ ในการชมภาพยนตร์เรื่องนี้ เราแนะนำให้ผู้อ่านชมภาพยนตร์ก่อน แล้วค่อยกลับมาอ่านบทความนี้อีกที

ชนชั้นแรงงานผู้ไร้ทางเลือก

ภาพยนตร์ Ford v Ferrari เล่าเรื่องโดยโฟกัสที่ตัวละครสำคัญคือ เคน ไมล์ส (Ken Miles) ที่รับบทโดยคริสเตียน เบล (Christian Bale) ภาพยนตร์เปิดเรื่องให้เห็น ถึงภาพสะท้อนตัวตน ความเป็นชนชั้นแรงงานของ เคน ไมล์ส อย่างเด่นชัด เขาคือนักแข่งที่มีฝีมือสุดร้ายกาจ ทำให้ผู้ชมเห็นภาพว่า นี่คือตัวละครที่ใช้ทักษะแรงงานแบบผู้ใช้แรงงาน (Blue Collar Worker)

 1

ขณะเดียวกัน ตัวตนของ เคน ไมล์ส ถูกเปิดเรื่องในสภาพหนุ่มที่มีรูปลักษณ์ซอมซ่อ หน้าตาและชุดของเขามีรอยเปื้อนสกปรก และเป็นแบบนี้เกือบทุกฉาก ยิ่งเป็นภาพย้ำถึงความเป็นชนชั้นแรงงานของตัวละครนี้

นอกจากนี้ การวางคาแรคเตอร์ ให้ไมล์ส เป็นคนเอาแต่ใจ อีโก้สูง และไม่ประนีประนอมกับใคร จนทำให้ผู้บริหารของบริษัทรถยนต์ส่วนใหญ่ ไม่ต้องการร่วมงานกับไมล์ส คือภาพสะท้อนว่า ในสายตาของชนชั้นนายทุน ไม่มีใครอยากร่วมงานกับชนชั้นแรงงาน เพราะคนพวกนี้มีภาพลักษณ์ที่ดูแย่ ในสายตาชนชั้นนำ

แต่หลายครั้งที่ชนชั้นนายทุนเลือกจ้างแรงงานชนชั้นล่าง ก็เพราะเห็นว่าชนชั้นแรงงาน สามารถสร้างผลประโยชน์มหาศาล ให้กับตัวเองได้ เหมือนอย่างในภาพยนตร์ ที่บริษัท Ford ยอมจ้างไมล์ส มาทำงาน ก็เพราะเห็นว่ายอดนักแข่งรายนี้ สามารถพัฒนารถแข่ง ให้ทัดเทียมกับทีม Ferrari  

ภาพยนตร์ค่อยๆ พาให้เห็นชีวิตที่ยากลำบาก ของชนชั้นแรงงาน ในวันที่ เคน ไมล์ส แข่งรถชนะอย่างยิ่งใหญ่ อู่ซ่อมรถของเขากลับถูกยึด เพราะตัวเขาถังแตก จนเจ้าตัวตัดสินใจนำถ้วยแชมป์ทั้งหมดที่มี ไปทิ้งถังขยะ แล้วหันไปรับจ็อบเป็นพนักงานซ่อมรถ ในอู่เล็กๆ เพื่อหาเลี้ยงชีพครอบครัว

แม้สุดท้ายหนังจะเริ่มเล่าเรื่องที่สวยงาม ไมล์สจะได้กลับมาเป็นนักแข่งรถอีกครั้ง แต่ที่เขายอมกลับมาทำงานตรงนี้ เพราะว่าเขาจะได้ค่าตอบแทนมหาศาล ที่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ 

 2

เปรียบเสมือนชีวิต ของชนชั้นแรงงานที่ไร้ทางเลือก สามารถทำงานอะไรก็ได้ ที่ให้เงินมากพอ ไม่ว่าจะเป็นยอดนักแข่งให้กับบริษัทรถชั้นนำ หรือคนทำงานในอู่เล็กๆ เพื่อให้ชนชั้นแรงงานอย่าง เคน ไมล์ส และครอบครัวสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

หนังสะท้อนให้เห็น ภาพของชนชั้นแรงงานในฐานะเครื่องมือ ที่แสวงหาผลประโยชน์ ของทั้งชนชั้นนายทุน ผ่านการถูกหลอกเพียงสองครั้งของตัวละคร คือครั้งแล้ว กับครั้งเล่า ... ไมล์สเข้าทำงานกับบริษัท Ford เพราะได้รับคำสัญญาว่า เขาจะได้เป็นหนึ่งในแข่ง ในรายการ เลอ ม็องส์ 24 ชั่วโมง ในปี 1964 แต่สุดท้ายเขากลับถูกคัดออก เพราะ Ford มองว่าภาพลักษณ์ ที่เป็นหนุ่มซอมซ่อ พูดคำสวยหรู สร้างภาพลักษณ์ผ่านสื่อไม่เป็น และตรงไปตรงมา ซึ่งคุณสมบัติที่ทำให้ไมล์สถูกตัดออก คือคุณสมบัติอันเป็นภาพจำของแรงงานชนชั้นล่างทั่วไป

ตลอดทั้งเรื่องเราได้เห็นภาพของไมล์ส ทำงานหามรุ่งหามค่ำ เพื่อพัฒนารถให้กับบริษัท Ford และมีฉากหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า เขาเกือบถูกไฟคลอกตายคารถ เพราะการทำงาน แต่ตลอดระยะเวลา ที่เขาทำงานอย่างหนัก ... บริษัท Ford (ในภาพยนตร์) ได้พยายามทำทุกวิถีทาง ไม่ให้ไมล์ส กลายเป็นนักแข่งรถของทีม ในการแข่งขันรายการ เลอ ม็องส์ ปี 1966

 3

แม้ว่าตัวละคร เคน ไมล์ส จะได้ไปแข่งรายการ เลอ ม็องส์ ปี 1966 ซึ่งมาจากความสามารถของเขาเองอีกครั้ง แต่ในการแข่งขันครั้งสุดท้าย เราจะได้เห็นอุปสรรคของนักแข่งรายนี้ ที่มาจากความต้องการของชนชั้นนายทุน จนนำไปสู่จุดจบในการแข่งขันที่น่าเศร้าของ เคน ไมล์ส และในหัวใจของผู้ชมภาพยนตร์ทุกคน

ภาพยนตร์พยายามจะแสดงให้เห็นว่า สุดท้ายแล้วชนชั้นแรงงาน ก็เป็นได้เพียงแค่เครื่องมือของชนชั้นนำ แสวงหาผลประโยชน์ ในช่วงท้ายของเรื่อง ภาพยนตร์แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ชนชั้นนายทุนได้รับ ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง หรือเกียรติยศ 

ในขณะที่ตัวของ เคน ไมล์ส ที่ทำงานแทบตาย อย่างน้อยก็ตลอดทั้งเรื่องในภาพยนตร์ กลับไม่ได้รับอะไรกลับไปเลย เหมือนกับที่ชนชั้นแรงงาน ต่อให้ทำงานหนักแค่ไหน สุดท้ายน้อยคนนักที่จะเห็นค่า 

และชีวิตของชนชั้นแรงงาน ทำอะไรไม่ได้นอกจากก้มหน้าทำงานต่อไป เหมือนอย่างที่ตัวละคร เคน ไมล์ส พูดถึงการพัฒนารถในการแข่งขันครั้งต่อไปทันที ทั้งที่เพิ่งลงจากรถแข่งได้ไม่เกิน 10 นาที ตามเวลาในโลกภาพยนตร์

เหมือนว่าผู้สร้างภาพยนตร์ จะต้องการให้ผู้ชมเห็นภาพนี้ชัดมากจนจำฝังใจ เพราะเขาเลือกใส่ฉากสำคัญอีกครั้ง คือความตายของ เคน ไมล์ส ที่ประสบอุบัติเหตุ ขณะที่ทำการทดสอบรถ เพื่อพัฒนารถของ Ford ทั้งที่โดนบริษัทยักษ์ใหญ่รายนี้ หักหลังมาแบบเจ็บปวด

 4

สิ่งที่ภาพยนตร์ต้องการจะสื่อ ไม่มีอะไรมากไปกว่า การสะท้อนให้เห็นภาพชีวิตที่ไร้ทางเลือกของชนชั้นแรงงาน ที่ต้องทำงานโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะต่อรอง โดยตลอดทั้งเรื่องเราจะไม่เห็นตัวละคร เคน ไมล์ส พูดคุยกับผู้บริหารของ Ford หลังตัดสินใจร่วมงานกันแม้แต่คนเดียว และทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ แม้จะเป็นอาชีพที่เสี่ยงชีวิตก็ตาม

บทสรุปสุดท้าย การทำงานจนตายของ เคน ไมล์ส ไม่ได้เหลืออะไรไว้ให้ครอบครัวและเพื่อนฝูง นอกจากน้ำตา และความเสียใจเท่านั้น

อเมริกัน ดรีม คือเรื่องเหลวไหล

สิ่งที่ภาพยนตร์เล่า ผ่านตัวละครของ เคน ไมล์ส ดูมีความเศร้า และบทสรุปของภาพยนตร์ ไม่ได้นำเสนอชัยชนะของยอดนักสู้ ที่ฟันฝ่าอุปสรรค จนกลายเป็นผู้ชนะในบั้นปลาย

ประเด็นที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ พยายามนำเสนออย่างน่าสนใจ คือการบอกว่า แนวคิดแบบ อเมริกัน ดรีม (American Dream) ที่บอกว่ามนุษย์ทุกคน มีโอกาส มีสิทธิ์จะประสบความสำเร็จ พบเจอกับความร่ำรวย ไม่มีอยู่จริง โดยเฉพาะกับคนชนชั้นแรงงาน

ในฐานะภาพยนตร์กีฬาเหมือนกัน พอจะบอกได้ว่า ภาพยนตร์ Ford v Ferrari สร้างขึ้นมาเพื่อแสดงภาพอีกด้าน จากภาพยนตร์ชุด Rocky Balboa ภาพยนตร์มวยสากลชื่อดัง ที่เล่าถึงประเด็นแนวคิดอเมริกัน ดรีม ว่าทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้ เหมือนอย่างตัวละคร ร็อคกี บัลโบ

 5

ตัวละครทั้ง ร็อคกี บัลโบ และ เคน ไมล์ส มีคุณสมบัติที่คล้ายคลึงกันหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น ภาพความเป็นตัวแทนของชนชั้นแรงงาน แรงงานฝีมือดีที่ขาดโอกาส ถูกคนดูถูก เป็นมวยรองบ่อน และมีอุปสรรคเข้ามาท้าทายอยู่เสมอ

แตกต่างกันตรงที่ ร็อคกี สามารถเอาชนะอุปสรรคทั้งหมด ก้าวขึ้นไปเป็นแชมป์โลก มีชีวิตการเป็นนักมวยที่สวยงาม เป็นตำนานให้ผู้คนได้จดจำ ทั้งในโลกของร็อคกี หรือในโลกแห่งความเป็นจริง

ขณะที่เรื่องราวของเคน ไมล์ส กลับฉายภาพที่ตรงกันข้าม เราได้เห็นชีวิตที่ล้มเหลวของตัวละครนี้ ในช่วงต้นเรื่อง แต่แทนที่เขาจะคว้าชัยชนะแชมป์ในช่วงท้ายเรื่อง เขากลับพ่ายแพ้อย่างน่าเจ็บใจ

จริงอยู่ว่าในภาคแรกของภาพยนตร์ Rocky ตัวละคร ร็อคกี บัลโบ ก็พ่ายแพ้เหมือนกัน แต่นักชกรายนี้กลับมาคว้าแชมป์โลกอย่างยิ่งใหญ่ในภาคสอง ... ส่วน เคน ไมล์ส ไม่มีโอกาสแบบนั้น เพราะถูกตัดจบทันที ด้วยการเสียชีวิตของเจ้าตัว จากการทำงาน

 6

อีกข้อแตกต่างคือ ร็อคกี บัลโบ เป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมา แต่ เคน ไมล์ส มีตัวตนจริง ในโลกแห่งความเป็นจริง ... สิ่งที่ภาพยนตร์พยายามสะท้อนให้เห็น คือการประสบความสำเร็จแบบอเมริกัน ดรีม ในโลกทุนนิยม ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายดาย แบบที่เห็นในภาพยนตร์ของ ร็อคกี บัลโบ (ที่เป็นเรื่องแต่ง) เพราะชีวิตจริงของ เคน ไมล์ส เขาคือผู้พ่ายแพ้ และไม่ได้อะไรกลับมา ทั้งชัยชนะ เงินทอง และชีวิตอันยืนยาวอย่างเป็นสุข 

ผู้ชนะชื่อ “ชนชั้นนายทุน”

ในโลกที่มีผู้แพ้ย่อมต้องมีผู้ชนะ สำหรับภาพยนตร์ Ford v Ferrari นำเสนอชนชั้นนายทุน หรือในภาพยนตร์คือบริษัท Ford ในฐานะผู้ชนะที่แท้จริงในโลกทุนนิยม 

สำหรับภาพยนตร์ Ford v Ferrari แม้จะเป็นภาพยนตร์แข่งรถ หรือรถแข่งก็ตาม แต่ภาพยนตร์เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น ในช่วงเริ่มต้นด้วยการที่ตัวละคร เฮนรี ฟอร์ด ที่ 2 เจ้าของบริษัทฟอร์ดในเวลานั้น สั่งปิดโรงงานผลิตรถ พร้อมไล่ลูกจ้างแรงงานกลับบ้าน เพื่อเป็นการลงโทษที่ยอดขายของบริษัทตกต่ำ

ผู้สร้างภาพยนตร์ สามารถเริ่มต้นเล่าเรื่อง ด้วยฉากอะไรก็ได้ แต่พวกเขาเลือกที่จะเล่าเรื่องนี้ ในความเป็นจริง ไม่มีการยืนยันว่า การสั่งปิดโรงงานตามที่ภาพยนตร์เล่า เคยเกิดขึ้นจริงหรือไม่ 

 7

แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะสุดท้ายสิ่งที่ผู้กำกับจะเรื่องต้องการจะเล่า เพื่อแสดงให้เห็นภาพ ของชนชั้นนายทุน ที่มองถึงผลประโยชน์เป็นเรื่องสำคัญ ขณะที่ชนชั้นแรงงานเป็นเพียงแค่เครื่องมือ และแพะรับบาปที่แสดงให้เห็นตลอดทั้งเรื่อง ผ่านตัวละครของ เคน ไมล์ส

แม้บริษัท Ford จะถูกโปรโมตผ่านตัวอย่างภาพยนตร์ เปรียบเหมือนบริษัทพระเอก ที่ต้องการเอาชนะ Ferrari แต่ความจริงที่ภาพยนตร์ฉาย Ford กลับกลายเป็นเหมือนบริษัทตัวร้ายของเรื่อง ที่ไม่มีความรู้ ความเข้าใจ และความรักในกีฬารถแข่งแม้แต่น้อย

ตลอดทั้งเรื่อง ฉายภาพว่าสิ่งเดียวที่บริษัท Ford ต้องการ คือภาพลักษณ์ที่ดูดีของแบรนด์ เพื่อหวังกระตุ้นยอดขาย ผ่านเงื่อนไขมากมาย ที่ตัวละครจากบริษัท Ford พยายามบีบบังคับ คนทำงานอย่าง เคน ไมล์ส และ แคร์โรล เชลบี (Carroll Shelby) โดยไม่สนใจว่า การบังคับแต่ละครั้งนั้น จะส่งผลเสียต่อการทำงานของคนทั้งสอง หรือการพัฒนารถของตัวเองอย่างไร

 8

อย่างไรก็ตาม แม้ตลอดภาพยนตร์ ทีมงานของ Ford จะเป็นตัวละครที่ดูร้ายกาจ ทำให้คนดูรู้สึกเกลียดหรือหมั่นไส้ขนาดไหนก็ตาม แต่ผลสุดท้าย บริษัท Ford ได้รับทุกอย่างที่ตัวเองต้องการ ทั้งชัยชนะในการแข่งขันรายการ เลอ ม็องส์, นักแข่งภาพลักษณ์ดีที่บริษัทชื่นชอบ อย่าง บรูซ แม็คลาเรน (Bruce McLaren) ได้เป็นผู้ชนะ รวมไปถึงภาพประวัติศาสตร์ของการแข่งขัน เลอ ม็องส์ ในปี 1966 ที่ยังคงเป็นที่พูดถึง และเป็นที่จดจำของผู้คนจนถึงปัจจุบัน

ภาพยนตร์แสดงให้เห็นถึงความจริง ในโลกทุนนิยม ว่าสุดท้ายผู้ที่มีเงิน มีอำนาจอยู่ในมือ สามารถที่จะได้ครอบครองในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ต่อให้ชนชั้นนายทุนจะไม่มีความรู้ หรือความเข้าใจในสิ่งนั้นแม้แต่น้อย ... แต่หากพวกเขามีเงิน มีอำนาจ ก็สามารถใช้เงินจ้างชนชั้นแรงงาน ให้มาเป็นเครื่องมือ สร้างความฝันที่ต้องการให้เป็นจริง 

สิ่งที่ภาพยนตร์ Ford v Ferrari นำเสนอ ผ่านการแข่งขันรถยนต์ คืออีกหนึ่งข้อความ ที่ผู้ทำภาพยนตร์ต้องการนำเสนอ เพื่อสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ภายใต้บริบทโลกทุนนิยม

อย่างไรก็ตาม ผู้ชมอย่างเรา มีสิทธิ์ที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ เพราะภาพยนตร์คือภาพยนตร์ ทุกเรื่องราวที่บอกออกไปผ่านจอเงิน มีเรื่องราวที่ผู้ทำต้องการจะสื่อ และต่อให้ภาพยนตร์อ้างอิงมาจากเรื่องจริง บางเรื่องผู้สร้างก็สามารถเสริมเข้าไปได้ เพื่อให้ประเด็นที่ต้องการจะสื่อชัดเจนขึ้น 

ไม่ผิดถ้าเราจะยอมรับว่าโลกทุกวันนี้ เต็มไปด้วยความโหดร้าย เหมือนอย่างที่ภาพยนตร์จะสื่อ หรือจะมองว่าทุกคนมีโอกาสเป็นผู้ชนะ แบบแนวคิดอเมริกัน ดรีม เหมือนในภาพยนตร์เรื่อง Rocky

แต่ไม่ว่าจะเชื่อแบบใด Ford v Ferrari คือภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยความสนุก และตื่นเต้น ที่ผู้เขียนเชื่อว่า ทุกคนจะร่วมลุ้นไปกับตัวละครในเรื่องอย่างแน่นอน

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ "Ford v Ferrari" : ภาพสะท้อนความจริงของโลกทุนนิยมผ่านภาพยนตร์แข่งรถสุดระห่ำ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook