"ทิงเกอร์ ฮาตฟิลด์" : ถ้าไม่มีเขา Air Jordan คงไม่ยิ่งใหญ่เหมือนทุกวันนี้

"ทิงเกอร์ ฮาตฟิลด์" : ถ้าไม่มีเขา Air Jordan คงไม่ยิ่งใหญ่เหมือนทุกวันนี้

"ทิงเกอร์ ฮาตฟิลด์" : ถ้าไม่มีเขา Air Jordan คงไม่ยิ่งใหญ่เหมือนทุกวันนี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความเจ็บปวดจากสนามกีฬานำพาสู่สนามแฟชั่น

ทิงเกอร์ ฮาตฟิลด์ เกิดและเติบโตในเมืองฮิลส์โบโร รัฐโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในครอบครัวชนชั้นกลางทั่วไปไม่ได้มีอะไรพิเศษ คุณพ่อของ ฮาตฟิลด์ เป็นโค้ชกีฬาระดับท้องถิ่น ซึ่งนั่นทำให้เขาค่อยๆ ซึมซับฝีมือทางด้านกีฬามาโดยไม่รู้ตัว

ในช่วงมัธยม ฮาตฟิลด์ ถือว่าเป็นดาวเด่นด้านกีฬาประจำโรงเรียน Central Linn High School ที่เขาศึกษาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นบาสเกตบอลหรืออเมริกันฟุตบอล ล้วนแล้วแต่มีชื่อของเขาอยู่ในทำเนียบนักกีฬาแทบทั้งสิ้น นอกจากนั้นเขายังได้รับคัดเลือกให้เป็นนักกรีฑาเยาวชนของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

 

“ในตอนนั้นความฝันของผมคือการเป็นนักกีฬาอาชีพ” ฮาตฟิลด์ เล่าย้อนความหลังกับสื่อ COLORBLIND

อย่างไรก็ตามความฝันที่กำลังไปได้สวยของ ฮาตฟิลด์ ในวัยหนุ่มก็ต้องมีอันดับวูบไปอย่างรวดเร็ว เพราะเขาประสบอาการบาดเจ็บอย่างรุนแรงระหว่างการฝึกซ้อม มันเป็นอาการบาดเจ็บหนักถึงขั้นที่ไม่สามารถกลับมาเล่นกีฬาได้เหมือนเดิมอีกต่อไป

 1

“มันเจ็บปวดมากเลย ผมควรจะไปอยู่ในการแข่งขันโอลิมปิกหรือเป็นนักกีฬาอาชีพในอนาคต แต่ด้วยปัญหาเหล่านี้ มันเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว” ถึงจะล่วงเลยมานานมากแล้ว แต่เมื่อ ฮาตฟิลด์ เล่าเรื่องนี้ให้กับ COLORBLIND ฟัง แววตาเขายังเต็มไปด้วยความผิดหวังและเจ็บปวด

เมื่อไม่อาจเดินตามความฝันได้อีกต่อไป ฮาตฟิลด์ ก็จำเป็นต้องค้นหาเส้นทางเดินใหม่ในชีวิต และถือว่าเป็นโชคดีของเขา ที่นอกจากพรสวรรค์ทางด้านกีฬาแล้ว ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่เขาทำได้ดี

“ผมวาดรูปได้ดี”

ด้วยเหตุผลนี้ทำให้เขาตัดสินใจเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่ University of Oregon School of Architecture ในสาขาการออกแบบ

“เพราะผมเกี่ยวข้องกับกีฬามาตั้งแต่เด็กๆ ทำให้ไม่ว่าผมจะออกแบบอะไรมันก็มักจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากกีฬาหรือเกี่ยวข้องกับกีฬาอยู่เสมอ”

ถึงจะไม่เท่ากับการได้เป็นผู้เล่นในสนาม แต่การที่ยังได้อยู่ในโลกของกีฬาก็ช่วยเยียวยาจิตใจของ ฮาตฟิลด์ ที่เคยผิดหวังให้ดีขึ้น การได้ออกแบบอุปกรณ์กีฬาในวิชาต่างๆ ในช่วงชีวิตมหาลัยทำให้เขาได้ปลดปล่อยความเป็นตัวเองและได้ค้นพบว่าเส้นทางต่อไปในชีวิตจะดำเนินไปในทิศทางไหน เพราะหลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ฮาตฟิลด์ ก็ไม่รอช้า ยื่นใบสมัครงานให้กับ ไนกี้ บริษัทอุปกรณ์กีฬายักษ์ใหญ่ทันที 

ในปี 1981 ทิงเกอร์ ฮาตฟิลด์ ได้รับการบรรจุให้เป็นพนักงานของ ไนกี้ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของตำนาน

วันที่พบกับ ไมเคิล จอร์แดน

หลังจากใช้เวลากว่า 5 ปี ในการเป็นพนักงานระดับล่างของไนกี้ ค่อย ๆ เรียนรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่าง ๆ ในที่สุด ฮาตฟิลด์ ก็ได้เลื่อนขั้นให้เป็นดีไซเนอร์เต็มตัวในปี 1985 ผลงานชิ้นแรกของเขาคือการออกแบบ Air Max 1 ซึ่งถือเป็นสนีกเกอร์รุ่นแรกของไนกี้ที่มีเทคโนโลยีที่มีฟองอากาศโปร่งแสง และในช่วงเวลาใกล้เคียงกันเขาก็ได้ออกแบบ Air Trainer 1 สนีกเกอร์ที่มี จอห์น แม็กเอนโร นักเทนนิสระดับตำนานเป็นพรีเซนเตอร์เด่น

 2

“ในตอนนั้นผมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ Air Jordan เลย”

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน แบรนด์ Air Jordan ก็เพิ่งเปิดตัวไปไม่นาน โดย 2 รุ่นแรกคือ Air Jordan I และ Air Jordan II ออกแบบโดย ปีเตอร์ มัวร์ และ บรู๊ซ กิลลอร์ สำหรับรุ่น Air Jordan I นั้นประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย ถึงแม้ว่ามันจะโดนแบนจาก NBA ทำให้ ไมเคิล จอร์แดน โดนปรับ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทุกครั้งที่ใส่ลงทำการแข่งขัน อย่างไรก็ตามไนกี้ก็ไม่สนใจ พวกเขายินดีจ่ายค่าปรับ ซึ่งนั่นคือการตัดสินใจที่ถูกต้องอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ในส่วนของ Air Jordan II นั้นทุกอย่างกลับต่างออกไป เนื่องจากในปี 1986 ที่มีการออกจำหน่าย ไมเคิล จอร์แดน บาดเจ็บ ต้องพักการแข่งขันเป็นระยะเวลานาน ทำให้เขาแทบจะไม่เคยสวมใส่ Air Jordan II ลงแข่งขันใน NBA เลยนอกจากศึก Slam Dunk Contest ในปี 1987 ส่งผลให้ยอดขายของสนีกเกอร์รุ่นนี้ไม่ดีเท่าที่คาดไว้

ในขณะที่แบรนด์ Air Jordan กำลังอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง นอกจากนั้นยังเคราะห์ซ้ำกรรมซัดเมื่อ ปีเตอร์ มัวร์ หนึ่งในหัวเรือสำคัญที่ผลักดันแบรนด์ Air Jordan ตัดสินใจลาออกจากไนกี้ไป ไมเคิล จอร์แดน ก็มีท่าทีจะออกตามไปด้วยหลังจากหมดสัญญา ไนกี้ในตอนนั้นไม่มีทางเลือก พวกเขาจำเป็นต้องใช้ดีไซเนอร์หน้าใหม่ไฟแรงมาออกแบบ Air Jordan III ให้ออกมาดีที่สุด เพื่อเหนี่ยวรั้ง จอร์แดน ให้เซ็นสัญญาต่อไปให้ได้ และคนที่พวกเขาเลือกใช้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ทิงเกอร์ ฮาตฟิลด์ นั่นเอง

 3

“ตอนผมไปพบกับไมเคิล จอร์แดนเป็นครั้งแรก ผมค่อนข้างประหม่ามาก ๆ เพราะผมรู้ว่าเขารู้สึกไม่ค่อยดีนักกับไนกี้ในตอนนั้น” ฮาตฟิลด์ เล่าเรื่องราววันที่เขาไม่มีวันลืมผ่านสื่อ Kicks on Fire

“แต่ทุกอย่างก็ต่างไปจากที่ผมคิด ไมเคิล จอร์แดน เป็นคนที่มีความคิดลึกซึ้งและเขาก็มีสไตล์มากจริงๆ”

การพบกันครั้งนั้นเกิดขึ้น ณ ที่พักส่วนตัวของ จอร์แดน ที่ชิคาโก ฮาตฟิลด์ เล่าว่าภาพแรกที่เขาเห็นเมื่อเปิดประตูเข้าไปคือ จอร์แดน กำลังเล่นปิงปองอยู่กับกลุ่มเพื่อนอย่างเอาเป็นเอาตาย และเมื่อซูเปอร์สตาร์ NBA รู้ว่าแขกผู้มาเยือนเดินทางมาถึงแล้ว การพูดคุยเกี่ยวกับ Air Jordan III ก็เริ่มขึ้น

“ผมอยากได้รองเท้าที่สามารถสวมใส่ได้อย่างสะดวกสบายทันทีที่เอาออกจากกล่อง และที่สำคัญมันต้องสดใหม่ไม่เคยมีมาก่อน” จอร์แดนบอกความต้องการของตัวเอง 

หลังจากรับบรีฟมาเป็นที่เรียบร้อย ฮาตฟิลด์ ก็จากมาพร้อมอาการคิดไม่ตก เขาไม่รู้ว่าจะออกแบบ Air Jordan III ยังไงให้ถูกใจ จอร์แดน และทำให้เขาตัดสินใจเซ็นสัญญากับไนกี้ต่อไปได้

“ในตอนนั้นผมอธิบายความกดดันของตัวเองไม่ออกเลย แต่ผมรู้ว่าสิ่งที่ผมออกแบบออกมานั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากที่แล้วมา” 

หลังจากที่ครุ่นคิดอยู่พักใหญ่ ฮาตฟิลด์ ก็เกิดปิ๊งไอเดียสุดท้าทายและยิ่งใหญ่ออกมาได้ เขาอยากให้รองเท้า Air Jordan III บ่งบอกถึงตัวตนของ ไมเคิล จอร์แดน มากกว่าที่แล้วๆ มา ที่มีแค่ชื่อและสี ฮาตฟิลด์ ตัดสินใจลบ Swoosh หรือโลโก้ในกี้ที่ทุกคนคุ้นตาทิ้งไป พร้อมใส่โลโก้ใหม่อย่าง Jumpman ลงไปแทน ก่อนจะประดับลวดลายด้วยหนังช้าง ขับความเด่นชัดของ Air Unit ให้มากขึ้น ส่งผลให้ Air Jordan III แตกต่างจาก Air Jordan ที่ผ่านมาโดยสิ้นเชิง

 4

“ตอนที่ผมนำดีไซน์ Air Jordan III ไปเสนอ ผมจำได้เลยว่า จอร์แดน นั้นยิ้มตลอด 20 นาทีของการนำเสนอเลย เขาดูถูกใจมาก เขาตอบคำถามผมอย่างอารมณ์ดี” 

ไม่ผิดจากที่ ฮาตฟิลด์ เล่า จอร์แดนถูกใจ Air Jordan III มากจริงๆ เพราะหลังจากนั้นไม่นานเขาก็ตัดสินใจเซ็นสัญญากับไนกี้ต่อ และมันคือการตัดสินใจที่ถูกต้อง Air Jordan III ทำยอดขายถล่มทลาย ก่อนจะขึ้นหิ้งเป็นรองเท้าบาสเกตบอลระดับตำนาน กลายเป็นหนึ่งใน Air Jordan รุ่นที่ได้รับการยกย่องว่าดีที่สุด ถึงแม้เวลาจะล่วงเลยมากว่าสามทศวรรษแล้วก็ตาม

สานต่อความสำเร็จ

หลังจากปรากฏการณ์ Air Jordan III ฮาตฟิลด์ ก็กลายเป็นหัวเรือคนสำคัญชนิดที่ขาดไม่ได้ของแบรนด์ Air Jordan ดังนั้นในรุ่นต่อมาของ Air Jordan  ตั้งแต่ Air Jordan IV ถึง Air Jordan XV, Air Jordan XX, และ Air Jordan XXIII ก็ยังมีชื่อของเขาเป็นดีไซเนอร์ เพียงแต่ว่าในแต่ละรุ่นก็จะได้รับแรงบันดาลใจที่แตกต่างกันออกไป

 5

“การทำงานในส่วนของ Air Jordan ผมจำเป็นต้องมองไปยังอนาคตเสมอ”

“บางครั้งผมก็เหมือนคนเป็นโรคประหลาดเลยล่ะ เพราะไม่ว่าจะไปที่ไหนผมก็มักจะก้มมองรองเท้าที่ผู้คนสวมใส่อยู่เสมอ ดูว่าเทรนด์ในตอนนี้เป็นยังไง และในอนาคตจะเป็นยังไง”

“การหยิบจับสิ่งใกล้ตัวมาเป็นแรงบันดาลใจก็เป็นเรื่องสำคัญ อย่างเช่นในรุ่น Air Jordan VI ผมก็ออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจจากรถสปอร์ตของจอร์แดน หรือในรุ่น Air Jordan XIII ผมก็ออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจจากความรวดเร็วในสนามของจอร์แดน”

การเป็นนักทำนายอนาคตและรู้จักหยิบจับสิ่งต่างๆ มาเป็นแรงบันดาลใจ คือเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้ Air Jordan เป็นรองเท้าที่อยู่เหนือกาลเวลา และยังคงได้รับความนิยมอย่างไม่เสื่อมคลาย ซึ่งนั่นทำให้ ฮาตฟิลด์ กลายเป็นดีไซเนอร์คู่ใจของ จอร์แดน ไม่ใช่แค่เรื่องของธุรกิจ แต่รวมถึงชีวิตส่วนตัวด้วย

จากดีไซเนอร์สู่เพื่อนรัก

ในวันแรกที่ ทิงเกอร์ ฮาตฟิลด์ พบกับ ไมเคิล จอร์แดน ทั้งคู่ยังเป็นเพียงคนแปลกหน้าที่มาพูดคุยกันเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ แต่ในปัจจุบันเมื่อเวลาล่วงเลยมาหลายสิบปี ทั้งคู่คือคนสำคัญซึ่งกันและกัน ต่างฝ่ายต่างเกื้อหนุนให้อีกฝ่ายประสบความสำเร็จในชีวิต

 6

“ผมโชคดีมากที่ได้ร่วมงานกับเขา” ฮาตฟิลด์ กล่าว และมันคือเรื่องจริง เพราะทุกวันนี้เขาคือหนึ่งในดีไซเนอร์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก อีกทั้งยังเป็นรองประธานด้านดีไซน์ของไนกี้ มีทรัพย์สินมากถึง 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนั้นในปี 2019 นี้ ทางไนกี้ได้มีการวางจำหน่าย “Nike React 2019 Tinker Hatfield” สนีกเกอร์จากการดีไซน์ของ ทิงเกอร์ ฮาตฟิลด์ ที่นำชื่อของเขามาตั้งเป็นชื่อรุ่น เพื่อเป็นการยกย่องสิ่งที่ดีไซเนอร์ผู้นี้สร้างสรรค์ให้กับแบรนด์มาโดยตลอด 

เช่นเดียวกับ ไมเคิล จอร์แดน ถ้าวันนั้นเขาไม่ได้เจอกับ ทิงเกอร์ ฮาตฟิลด์ เขาอาจจะตัดสินใจออกจากไนกี้ และมีชีวิตที่ต่างไปจากเดิม ไม่ได้ประสบความสำเร็จด้านธุรกิจมากมายเช่นในปัจจุบัน เพราะจากรายงานจาก Forbes ปี 2019 ไมเคิล จอร์แดน มีทรัพย์สินมากถึง 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถูกจัดให้เป็นอันดับ 3 นักกีฬาที่ร่ำรวยที่สุดตลอดกาล

“นอกจากเรื่องของธุรกิจ จอร์แดน ยังมีอิทธิพลต่อผมในหลายๆ เรื่อง หนึ่งในนั้นคือการขี่มอเตอร์ไซค์” ในวัยเลยเกษียณ เวลาส่วนใหญ่ของ ฮาตฟิลด์ หมดไปกับการขี่บิ๊กไบค์ท่องไปในที่ต่างๆ 

“ตอนที่ผมยังหนุ่มๆ ผมมักจะขี่แค่สกู๊ดเตอร์คันเล็กๆ จอร์แดนมักจะล้อผมเสมอว่ามันไม่เท่เอาเสียเลย นายต้องรู้จักขี่มอเตอร์ไซค์คันใหญ่ ๆ เสียบ้าง”

และในวันเกิดอายุครบ 55 ปีของ ไมเคิล จอร์แดน เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา ฮาตฟิลด์ ก็ได้ให้ของขวัญแสนพิเศษกับเพื่อนรักของเขา นั่นคือ สกีที่เขาทำเองกับมือ

“ผมกับจอร์แดนมักจะไปเล่นสกีด้วยกันเสมอ มันตลกมากที่ได้เห็นเขาล้ม พวกเราสนุกกันมาก”

“ถ้าผมไม่ได้เจอกับจอร์แดนในวันนั้น พูดตามตรงเลยว่าชีวิตผมคงแตกต่างไปจากนี้มาก” ฮาตฟิลด์กล่าวถึงเพื่อนรักของเขาเป็นการทิ้งท้าย

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ "ทิงเกอร์ ฮาตฟิลด์" : ถ้าไม่มีเขา Air Jordan คงไม่ยิ่งใหญ่เหมือนทุกวันนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook