กำแพงของความไม่เท่าเทียม : เหตุใดทีมฟุตบอลฝั่งเยอรมันตะวันออกจึงเก่งไม่เท่าฝั่งตะวันตก?

กำแพงของความไม่เท่าเทียม : เหตุใดทีมฟุตบอลฝั่งเยอรมันตะวันออกจึงเก่งไม่เท่าฝั่งตะวันตก?

กำแพงของความไม่เท่าเทียม : เหตุใดทีมฟุตบอลฝั่งเยอรมันตะวันออกจึงเก่งไม่เท่าฝั่งตะวันตก?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

3 ตุลาคม 1990 คือวันประวัติศาสตร์ของประเทศเยอรมัน เพราะเยอรมันตะวันตก และเยอรมันตะวันออก ที่ถูกแบ่งแยกออกจากกัน ได้กลับมารวมเป็นหนึ่งอีกครั้ง

ทุกสิ่งที่เคยแบ่งแยก กลับรวมกันเป็นหนึ่ง อาณาเขตของประเทศ, กรุงเบอร์ลิน, ธงชาติ, ครอบครัว, รวมไปถึงฟุตบอล ที่ลีกของทั้งสองชาติถูกรวมเข้าด้วยกัน ทีมจากเยอรมันตะวันตก และตะวันออก สามารถลงเล่นในลีกเดียวกันได้ในที่สุด

เวลาผ่านไป 29 ปี แม้ฟุตบอลลีกเยอรมันจะรวมเป็นหนึ่ง แต่เรากลับเห็นแต่ทีมจากฝั่งเยอรมันตะวันตก ครองความเป็นใหญ่ ในศึกบุนเดสลีกา ลีกสูงสุดของเยอรมัน ไม่ว่าจะเป็นบาเยิร์น มิวนิค, โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์, ชาลเก้ 04 และอีกหลายทีมมากมายนับไม่ถ้วน 

ขณะที่ทีมจากเยอรมันตะวันออก ส่วนใหญ่ทำได้แค่วนเวียน ในศึกลีกา 2 และลีกา 3 โดยที่ไม่ต้องพูดถึงการคว้าแชมป์ลีกสูงสุด แค่ขึ้นไปเล่นในศึกบุนเดสลีกา ถือเป็นเรื่องที่ยากเต็มกลืนแล้ว สำหรับสโมสรฟุตบอลจากภาคตะวันออก

ทั้งที่เล่นอยู่ในลีกเดียวกัน แต่เหตุใดทีมจากฝั่งตะวันออก ถึงไม่สามารถยืนอยู่ในจุดเดียวกับที่ทีมฟุตบอลฝั่งตะวันตก เราจะพาไปพบกับคำตอบของเรื่องนี้ ซึ่งไปด้วยปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

ต้นทุนที่ไม่เท่ากัน

ก่อนจะพูดถึงการแข่งขัน หลังจากปี 1990 ที่ทั้งสองชาติรวมเป็นหนึ่ง ต้องย้อนไปดูความแตกต่างของวงการฟุตบอล ระหว่างทั้งสองชาติ ที่แตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม ของทั้งสองประเทศ


Photo : mibundesliga.com

เยอรมันตะวันตก ถูกปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม หรือที่เรารู้จักในชื่อทุนนิยม ตามพี่ใหญ่อย่าง สหรัฐอเมริกา 

แม้ว่าประเทศจะเสียหาย จากพิษสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เม็ดเงินที่หลั่งไหล อยู่ในประเทศเยอรมันตะวันตก ผ่านการอัดฉีดของสหรัฐอเมริกา ช่วยพัฒนากีฬาฟุตบอลในทางตรงและทางอ้อม

หลังจากชนะฟุตบอลโลก 1954 ชาวเยอรมันล้วนเชื่อว่า พวกเขาสามารถก้าวขึ้นเป็นใหญ่ ในโลกฟุตบอลได้อย่างแน่นอน ... ประธานสโมสรต่างๆ ในเยอรมัน หันมาร่วมมือกัน สร้างลีกฟุตบอลบุนเดสลีกาขึ้นมา โดยเชื่อว่าจะเป็นหนทางสำคัญ ที่ทำให้ฟุตบอลเยอรมันพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

ซึ่งพวกเขาคิดไม่ผิด หลังจากบุนเดสลีกาถูกก่อตั้ง ก็ได้กลายเป็นลีกกีฬาอันดับหนึ่ง ของชาวเยอรมันตะวันตกอย่างรวดเร็ว ผู้คนเข้ามาชมกันเต็มสนามอย่างแน่นขนัด เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ชมสามารถเสพความบันเทิงผ่านกีฬา ในช่วงสุดสัปดาห์ได้อย่างเต็มที่

ขณะเดียวกัน ค่าจ้างของนักฟุตบอลได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนถึงขนาดว่าสโมสร แฮร์ธ่า เบอร์ลิน ถูกสั่งปรับตกชั้น เพราะจ่ายเงินค่าจ้างให้กับนักฟุตบอล เกินกว่าเพดานที่ลีกกำหนดไว้

แต่นั่นไม่ใช่เรื่องแย่แม้แต่น้อย เด็กเยอรมันตะวันตกจำนวนมาก เริ่มเข้าสู่ระบบสร้างนักฟุตบอลของลีก ก่อนจะออกดอกออกผล เป็นแชมป์โลกในปี 1974 รวมถึงแชมป์ยูโรเปียน คัพ (ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ในปัจจุบัน) 3 สมัยซ้อนของ บาเยิร์น มิวนิค ที่ช่วยปลุกให้กระแสของกีฬาฟุตบอล ขึ้นสู่จุดสูงสุด ในประวัติศาสตร์ลูกหนังเมืองเบียร์


Photo : www.spiegel.de

นับแต่นั้นเป็นต้นมา วงการฟุตบอลเยอรมันตะวันตก ไม่เคยหันมองกลับหลังอีกเลย พวกเขาประสบความสำเร็จอย่างมาก ในฟุตบอลระดับทีมชาติ ขณะที่ในระดับสโมสร เต็มไปด้วยสโมสรที่แข็งแกร่ง ในระดับเวทียุโรป ทั้ง บาเยิร์น มิวนิค, โบรุสเซีย มึนเชนกลัดบัค หรือ ฮัมบวร์ก เอสเฟา และเต็มไปด้วยนักฟุตบอลที่เก่งกาจมากมาย เกินกว่าจะไล่ชื่อได้หมด

แต่หากลองปีนข้ามกำแพงเบอร์ลิน เพื่อดูความเป็นไปของวงการลูกหนังฝั่งตะวันออก มีความแตกต่างกับฝั่งตะวันตกอยู่มาก ซึ่งเป็นภาพสะท้อนจากระบอบการปกครอง และเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน

เยอรมันตะวันออก ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ หรืออันที่จริงคือ เผด็จการแบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งรวบรวมทรัพยากรทั้งหมดไว้ในมือของรัฐ ขณะที่ประชาชนต้องใช้ชีวิตอย่างตามมีตามเกิด

สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของฝั่งตะวันออก รวมถึงความไม่มั่นคงทางการเมือง ทำให้ประชาชนไม่มีจิตใจที่ดีกับการรับชม หรือเล่นกีฬา ซึ่งพื้นฐานเป็นความบันเทิงเพื่อหาความสุข ในเมื่อชีวิตประจำวัน ต้องหาเช้ากินค่ำ หลายคนยอมเสี่ยงตายหนีออกนอกประเทศ 

“ย้อนไปตอนนั้น มีหลายอย่างที่ผมต้องคิดในหัว บางครั้งผมก็แทบไม่ได้คิดเรื่องฟุตบอลเลย” อูเว รอสเลอร์ อดีตกองหน้าของเยอรมันตะวันออก เล่าย้อนถึงสมัยที่เขายังคงเป็นพลเมือง ของประเทศเยอรมันตะวันออก

“ผมเป็นกังวลเกี่ยวกับเพื่อนของผม เกี่ยวกับทุกคนที่ผมรู้จัก เราไม่รู้ว่าความสงบสุข จะหายไปตอนไหน หรือเมื่อไหร่ที่ทหารจะบุกเข้ามาในบ้านของเรา”


Photo : peoplepill.com

ในขณะที่สโมสรฟุตบอลของฝั่งตะวันตก มีงบประมาณเพียงพอ ในการบริหารทีม สโมสรฝั่งตะวันออก กลับต้องเจอปัญหาเรื่องทุนทรัพย์ เพราะงบประมาณแทบทั้งหมดของประเทศ อยู่ในมือของรัฐ สโมสรฟุตบอลที่ก่อตั้งด้วยประชาชน ต้องเจอปัญหายุบทีมทิ้งอยู่บ่อยครั้ง จนขาดความต่อเนื่องในการพัฒนา

ในขณะที่ทีมยักษ์ใหญ่ของเยอรมันตะวันออก ส่วนใหญ่เป็นทีมที่ได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษจากรัฐ เช่น ดินาโม เดรสเดน หรือ ดินาโม เบอร์ลิน ซึ่งมีข่าวลือว่า ทีมของภาครัฐเหล่านี้ มักได้รับการตัดสินที่เอื้อประโยชน์จากกรรมการอยู่บ่อยครั้ง

ทั้งปัญหาคอรัปชั่นในกีฬาฟุตบอล รวมถึงสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ฟุตบอลเยอรมันตะวันออก ไม่สามารถผงาดได้เหมือนฝั่งตะวันตก ทั้งในระดับทีมชาติและสโมสร ขณะที่ผู้เล่นขึ้นชื่อของประเทศ ก็ไม่อาจเทียบเคียงฝีเท้า ได้เท่ากับยอดนักเตะของฝั่งตะวันตก

ฆ่าตัดตอนฝั่งตะวันออก

อดีตคือเรื่องของอดีต ต่อให้ตอนแยกประเทศออกจากกัน ฟุตบอลฝั่งตะวันออก จะเป็นรองฝั่งตะวันตกอยู่หลายก้าว แต่เมื่อรวมเป็นหนึ่ง พวกเขาเปี่ยมด้วยความหวัง ว่าทั้งสองฝั่งจะรวมกันเป็นหนึ่ง และสามารถต่อสู้กันได้อย่างสมศักดิ์ศรี


Photo : dpa/T.Wattenberg

“ผมดูพวกเขาแข่งกัน (บุนเดสลีกา) ผ่านหน้าจอโทรทัศน์เป็น 10 ปี หวังว่าสักวันหนึ่งจะได้ลงเล่น แข่งกับพวกเขา” อูเว รอสเลอร์ อดีตกองหน้าของเยอรมันตะวันออก เล่าถึงความฝันของเขา สมัยยังค้าแข้งอยู่กับ ดินาโม เดรสเดน ก่อนที่การรวมลีกจะเริ่มขึ้น

“มันคือความฝันของผู้เล่นฝั่งตะวันออกจำนวนมาก ที่จะได้เล่นในบุนเดสลีกา” มัธเธอัส ซามเมอร์ ยอดนักเตะอีกคน ที่มาจากฝั่งตะวันออก เผยถึงความรู้สึกแบบเดียวกับรอสเลอร์

อย่างไรก็ตาม ฝันของนักฟุตบอลฝั่งตะวันออกต้องพังทลาย เพราะการรวมลีก ระหว่างบุนเดสลีกา ลีกสูงสุดของฝั่งตะวันตก กับโอแบร์ลีกา ลีกสูงสุดของฝั่งตะวันออก ไม่สวยงามอย่างที่คิด

ในปี 1991 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการรวมลีก มีเพียง 2 ทีมจากโอแบร์ลีกาเท่านั้น ที่ได้เล่นในบุนเดสลีกา นั่นคือ ฮันซา รอสต็อก และดินาโม เดรสเดน ซึ่งเป็นแชมป์และรองแชมป์ ของลีกโอแบร์ลีกา จากฤดูกาล 1990/91

ขณะที่ทีมอันดับ 3 ถึงอันดับ 8 ถูกปรับให้ลงไปเล่นในลีกา 2 และอีก 6 ทีมที่เหลือของศึกโอแบร์ลีกา โดนปรับลดให้เป็นในระดับดิวิชั่น 3 ของเยอรมัน

“มันโคตรไม่แฟร์เลยนะ พวกเขาควรขยายลีกบุนเดสลีกา มันสร้างผลเสียให้กับทีมจากเยอรมันตะวันออกอย่างร้ายกาจ แค่เริ่มต้นก็ทำให้ทีมจากฝั่งตะวันออก ตามหลังไปเป็น 10 ปีแล้ว” มิชาเอล เคมเมล อดีตเจ้าของสโมสร อูนิโอน เบอร์ลิน กล่าวถึงความไม่เป็นธรรม ที่ 12 ทีมจากฝั่งเยอรมันตะวันออก ต้องร่วงจากลีกสูงสุด ทั้งที่ไม่ได้ตกชั้น เมื่อการรวมลีกเกิดขึ้น

การร่วมลีกฟุตบอลของสองประเทศ กลายเป็นฝันร้ายของทั้งสโมสร และนักฟุตบอลฝั่งตะวันออกในพริบตา สำหรับผู้เล่นแล้ว หากพวกเขายังอยากจะเล่นในลีกสูงสุดต่อ มีทางเลือกเดียวให้กับพวกเขา คือการย้ายทีม

“เราต้องคว้าทุกโอกาส ที่เราจะคว้าได้” อูเว รอสเลอร์ เล่าถึงเหตุผลที่เขาต้องย้ายออกจาก ดินาโม เดรสเดน ไปอยู่กับเนิร์นแบร์ก ซึ่งเป็นสโมสรจากฝั่งตะวันตก ในปี 1992

“เราจำเป็นต้องอยู่รอด ตอนผมเล่นให้กับทีมฝั่งตะวันตก ต้องแข่งขันกับเพื่อนร่วมทีม เหมือนกับว่าบางครั้งเราก็ต้องฟันศอกใส่พวกเขาบ้าง เพราะว่าสุดท้ายแล้ว สโมสรฝั่งตะวันตกมีทุกอย่างที่ดีกว่า ฝั่งตะวันออกมี”


Photo : www.reuters.com

ความเป็นจริงที่โหดร้ายของการรวมประเทศ ไม่ได้อยู่ในการรวมลีกฟุตบอลเพียงเดียว แต่เกิดขึ้นกับภาพเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของประเทศ ... เมื่อทั้งสองชาติรวมเป็นหนึ่ง อุตสาหกรรมธุรกิจฝั่งตะวันออก พบกับความจริงว่า พวกเขาไม่สามารถเข้าเป็นหนึ่ง กับระบบเศรษฐกิจของฝั่งตะวันตก ในโลกเสรี ที่ก้าวไปไกลกว่ามาก 

ผลจึงลงเอยด้วย เศรษฐกิจในพื้นที่เยอรมันตะวันออกพังทลาย คนเป็นล้านต้องตกงาน ชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบาก ผลักให้ผู้คนต้องทิ้งถิ่นฐาน ย้ายไปหางานทำในฝั่งตะวันตก และนักฟุตบอลก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น 

“สโมสรฝั่งตะวันออก ไม่มีเงินมากพอที่จ่ายค่าเหนื่อยนักเตะ ที่เหมาะสมกับฝีเท้าของพวกเขา ไม่มีเงินที่จะมาพัฒนาสโมสร หรือปรับปรุงคุณภาพสนาม สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ”

“หลังจากนั้นสโมสรจากบุนเดสลีกาก็เข้ามา ครอบงำทีมฟุตบอลจากฝั่งตะวันออก และล่าหัวของนักเตะฝีเท้าดี ออกไปจนหมด” อูเว รอสเลอร์ กล่าว

มัธเธอัส ซามเมอร์, อูเว รอสเลอร์, ไรเนอร์ เอิร์นส์, สเตฟเฟน ฟรอยด์, อันเดรส ธอม, อุลฟ์ เคียร์สเทน คือตัวอย่างของนักเตะชั้นนำ จากฝั่งเยอรมันตะวันออก ที่ย้ายไปเล่นในฝั่งตะวันตก และสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยม ให้กับต้นสังกัดใหม่ของตัวเอง


Photo : www.sportskeeda.com

จะว่าไปแล้ว นักเตะเยอรมันตะวันออก ถือว่าได้ประโยชน์จากการรวมลีกอยู่ไม่น้อย หลายคนได้รับค่าเหนื่อยที่เหมาะสมกับฝีเท้า มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดี ได้ออกไปค้าแข้งต่างแดน และกลายเป็นตำนานของสโมสรชั้นนำ

ขณะที่สโมสรเยอรมันตะวันตก ได้นักเตะฝีเท้าดีไปใช้งานในราคาถูก และช่วยยกระดับลีก ให้กลับมาแข่งแกร่งอย่างรวดเร็ว ดูได้จากผลงานของบาเยิร์น มิวนิค, ชาลเก้ 04 และโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในเวทียุโรป

มีแต่สโมสรจากฝั่งตะวันออก ที่เป็นผู้เคราะห์ร้าย ต้องจมกับความโหดร้ายที่เกิดขึ้นผ่านการรวมลีก

การบริหารที่ผิดพลาด

นับตั้งแต่รวมลีกกันอย่างเป็นทางการ ผ่านมา 29 ฤดูกาล มีเพียงแค่ 6 ทีมเท่านั้น จากฝั่งเยอรมันตะวันออก ที่เคยเล่นในบุนเดสลีกา คือ ฮันซา รอสต็อค, ดินาโม เดรสเดน, โลโคโมทีฟ ไลป์ซิก, เอเนอร์จี คอตบุส, แอร์เบ ไลป์ซิก และ อูนิโอน เบอร์ลิน ซึ่งแน่นอนว่า ไม่เคยมีทีมไหนได้สัมผัสถาดแชมป์บุนเดสลีกา 


Photo : www.fox16.com

ช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด คงจะเป็นช่วงปี 2009-2016 กว่า 7 ฤดูกาลติดต่อกัน ที่ไม่มีทีมจากฝั่งเยอรมันตะวันออก เล่นในลีกสูงสุดแม้แต่ทีมเดียว

ดูเหมือนเวลายิ่งผ่านไป ช่องว่างระหว่างทีมจากเยอรมันตะวันตก และตะวันออกยิ่งหนีห่างกันไปเรื่อยๆ จริงอยู่ว่า จุดเริ่มต้นของทีมฝั่งตะวันออกในบุนเดสลีกา ถือว่ายากลำบากอย่างมาก แต่หากพวกเขามีการบริการจัดการที่ดี คงสามารถขึ้นมาผงาดในลีกสูงสุดได้เร็ววัน น่าเสียดายที่เรื่องแบบนั้น ไม่เคยเกิดขึ้น

“สโมสรมากมายจากฝั่งตะวันออก ตัดสินใจผิดพลาด ในเรื่องของการเงิน โดยเฉพาะการซื้อนักเตะ มาจากทีมฝั่งตะวันตก ด้วยเงินมหาศาล อันที่จริงพวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่” มิชาเอล เคมเมล นักธุรกิจชาวเยอรมันตะวันตก ที่เคยถือครองสโมสรจากฝั่งตะวันออก เล่าถึงเรื่องราวผ่านมุมมองของเขา

“แน่นอนว่า พวกเขามีการบริหารที่แย่ เพราะสโมสรฟุตบอลจากฝั่งตะวันออก ไม่รู้ว่าต้องทำธุรกิจฟุตบอลอย่างไร ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะว่า พวกเขาไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อน” อูเว รอสเลอร์ กล่าว

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สโมสรฟุตบอลจากเยอรมันตะวันออก บริหารภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสม์มาโดยตลอด ทีมชั้นนำส่วนใหญ่ของลีกเป็นทีมของรัฐบาล ใช้เงินบริหารด้วยเงินสนับสนุนของรัฐ

เมื่อวันหนึ่ง รัฐบาลเยอรมันตะวันออกหายไป สโมสรต้องบริหารงานด้วยตัวเอง พวกเขาไม่มีความรู้เพียงพอ ที่จะหาเงินในแบบฉบับโลกทุนนิยมเสรี ซึ่งรวมถึงสโมสร ที่เป็นทีมของฝั่งประชาชนด้วยเช่นกัน

ยิ่งบริหารผิดพลาด ใช้เงินโดยไม่เกิดประโยชน์ ยิ่งทำให้สโมสรพังยิ่งไปกว่าเดิม ... ตัวอย่างที่เห็นได้ ชัดเจนคือ ดินาโม เดรสเดน อดีตยอดทีมจากฝั่งตะวันออก ที่ได้สิทธิ์ให้เริ่มต้นเส้นทาง ในลีกบุนเดสลีกา ด้วยเหตุนี้ทีมจึงใช้เงินจำนวนมาก มาปรับปรุงทีม เพื่อหวังจะได้เล่นในลีกสูงสุดต่อไป ซึ่งที่มาของเงินเหล่านี้ ก็มาจากการต้องขายนักเตะภายในทีมออกไป เพื่อหวังนำเงินก้อนใหญ่ มาพัฒนาทีมในระยะยาว


Photo : russianfootballnews.com

อย่างไรก็ตาม การซื้อตัวและการบริหารที่ผิดพลาด ทำให้เดรสเดนอยู่บนลีกสูงสุด ได้เพียง 4 ฤดูกาล และตกชั้นในปี 1995 แถมเมื่อตกชั้น พวกเขาถูกสั่งปรับตกให้ไปเล่นในลีกา 3 เพราะไม่ผ่านกฎการเงิน ในการลงเล่นในระดับลีกา 2 ... และนับแต่นั้นเป็นต้นมา เดรสเดนไม่เคยกลับมาเล่นในลีกสูงสุดได้อีกเลย

ดินาโม เดรสเดน เป็นเพียงแค่ตัวอย่าง ของความล้มเหลวในการสร้างทีมของฝั่งเยอรมันตะวันออก พวกเขาไม่สามารถบริหารทีม ให้ขึ้นมาเป็นทีมหัวแถวของประเทศได้ สโมสรอย่าง ฮันซา รอสต็อค หรือ เอเนอร์จี คอตบุส ทำได้เพียงแค่วนเวียน ขึ้นลงระหว่างลีกา 2 กับบุนเดสลีกา

ในขณะที่ทีมจากฝั่งเยอรมันตะวันตก ก้าวขึ้นมาประสบความสำเร็จ และเป็นสโมสรที่มีความมั่นคงทางการเงินอย่างมาก ผ่านการบริหาร การจัดการที่ยอดเยี่ยม


Photo : www.bundesliga.com

เว็บไซต์ Soccerex จัดให้บาเยิร์น มิวนิค กลายเป็นทีมที่มีมูลค่าอันดับ 3 ของโลก และไม่มีหนี้แม้แต่ยูโรเดียว เช่นเดียวกับโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในอันดับ 15 ที่ไม่มีหนี้แม้แต่ยูโรเดียวเช่นกัน 

“เราโทษใครไม่ได้หรอก นอกจากโทษตัวเอง เราเซ็นสัญญาโค้ชและผู้บริหาร ที่มีดีกรีหรูหรา มาจากฝั่งตะวันตก เพียงเพราะว่าพวกเขาเป็นคนจากเยอรมันตะวันตก”

“เราหวังให้พวกเขาเป็นผู้กอบกู้ให้กับเรา แต่พวกเขาเหล่านั้น กลับกลายเป็นคนฝังให้เราจมลึกสู่ก้นมหาสมุทร” เอ็ดวาร์ด เกเออร์ อดีตกุนซือของ ดินาโม เดรสเดน และทีมชาติเยอรมันตะวันออก กล่าว

A NEW HOPE?

ช่วงเวลาที่มืดหม่นของคอลูกหนัง ฝั่งเยอรมันตะวันออก ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนกระทั่งในปี 2016 พวกเขาเหมือนจะมีความหวังอีกครั้ง กับการก้าวขึ้นมาของสโมสร แอร์เบ ไลป์ซิก


Photo : www.irishtimes.com

ทัพกระทิงแดง โผล่ขึ้นมาลุ้นแชมป์ลีกตั้งแต่ฤดูกาลแรก ก่อนจะจบอันดับฤดูกาลในอันดับที่ 2 และนับตั้งแต่ขึ้นลีกสูงสุดมา ไลป์ซิกสามารถพาตัวเองไปเล่นฟุตบอลยุโรป ได้ในทุกฤดูกาล รวมถึงในฤดูกาลล่าสุด ที่กำลังไล่ล่าแชมป์บุนเดสลีกา ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ไลป์ซิกยังสร้างสถิติมากมาย ให้กับทีมและวงการฟุตบอลฝั่งเยอรมันตะวันออก ไม่ว่าจะเป็น การเป็นทีมแรกของฝั่งตะวันออก ที่ได้ไปเล่นฟุตบอลยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก, เป็นทีมแรกของฝั่งตะวันออก นับตั้งแต่ปี 1991 ที่ยึดตำแหน่งจ่าฝูง ในการแข่งขันลีกบุนเดสลีกา และเป็นทีมน้องใหม่ที่สร้างสถิติไร้พ่าย นานที่สุดในประวัติศาสตร์บุนเดสลีกา ด้วยจำนวน 13 นัด

“มันเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์ การได้เห็นไลป์ซิกเป็นส่วนหนึ่งของบุนเดสลีกา และได้ต่อสู้เพื่อตำแหน่งแชมป์ รวมถึงได้เล่นในแชมเปียนส์ ลีก” อูเว รอสเลอร์ เผยถึงความรู้สึกส่วนตัว

ด้าน Soccerex ยังจัดลำดับให้แอร์เบ ไลป์ซิก เป็นทีมที่มีมูลค่ารวมเป็นอันดับ 16 ของโลก เป็นรองทีมจากฝั่งเยอรมันตะวันตก เพียง 3 ทีมเท่านั้น คือบาเยิร์น มิวนิค, ไบเออร์ เลเวอร์คูเซน (อันดับ 14) และ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์

อย่างไรก็ตาม สโมสรความหวังใหม่ของชาวเยอรมันตะวันออก กลับถูกต่อต้านโดยหลายฝ่าย ในวงการฟุตบอลเยอรมัน โดยเฉพาะในแง่ที่สโมสร แอร์เบ ไลป์ซิก เป็นสโมสรที่ถูกถือครองโดยบริษัท เรดบูล บริษัทเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดัง ของประเทศออสเตรีย

ข้อหาทำทีมฟุตบอลเพื่อโปรโมตแบรนด์, ทำทีมฟุตบอลโดยอาศัยช่องว่างของกฎ 50+1 ในลีกฟุตบอลเยอรมัน (กฎที่แฟนบอลต้องถือหุ้นของสโมสรอย่างน้อย 51 เปอร์เซ็นต์) รวมถึงไม่ใช่ทีมที่มีประวัติศาสตร์ดั้งเดิม ร่วมกับวงการฟุตบอลเยอรมันตะวันออก ทำให้หลายฝ่ายมองว่า แอร์เบ ไลป์ซิก ไม่ใช่ความหวังใหม่ที่แท้จริง ของวงการฟุตบอลเยอรมันตะวันออก


Photo : www.bundesliga.com

“แอร์เบ ไลป์ซิก ไม่ใช่ทีมฟุตบอลของชาวเยอรมันตะวันออก” มิชาเอล ชีดลิช อดีตประธานสโมสร ฮัลเอสเชอร์ เอฟเซ ในลีกา 3 ให้สัมภาษณ์กับสื่อ kicker แสดงถึงจุดยืนหนักแน่นว่า บางส่วนไม่ยอมรับการเป็นอยู่ของแอร์เบ ไลป์ซิก ในฐานะความภูมิใจ ของวงการฟุตบอลเยอรมันตะวันออก

หากคิดแบบนั้น ฟุตบอลของชาวเยอรมันตะวันออก ก็ยังดูไร้ความหวัง แม้ว่าในฤดูกาลล่าสุด อูนิโอน เบอร์ลิน จะสามารถเป็นทีมจากยุคแบ่งแยกประเทศ ของฝั่งเยอรมันตะวันออก ที่กลับมาสู่ลีกสูงสุดได้อีกครั้ง แต่คำถามสำคัญต่อไปคือ พวกเขาจะไปต่อบนลีกสูงสุดได้อีกนานแค่ไหน และต้องใช้เวลาอีกนานเท่าใด กว่าจะสามารถขึ้นมาต่อกร กับทีมจากฝั่งตะวันตก ที่ตอนนี้หลายทีมกำลังพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง

“ผมคิดว่าทั้งฟุตบอล และคนในเมืองไลป์ซิกจำนวนมาก ได้ประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้น เศรษฐกิจในเมืองเติบโต มีผับและร้านอาหารเกิดขึ้นรอบๆ สนามฟุตบอล คุณมองไปที่แฟนบอล พวกเขามีชีวิตชีวากับการมาสนามฟุตบอล”

“ต่อให้การมาของทีมจะมีด้านลบ (เป็นทีมโปรโมตแบรนด์) แต่ผมก็เชื่อว่า สุดท้ายคนจำนวนมากได้ประโยชน์ และผมคิดว่าคนอื่นคงไม่เข้าใจ ถ้าไม่ได้อยู่ที่นี่แบบพวกเรา” แฟนบอล แอร์เบ ไลป์ซิก รายหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ในปี 2016 กับ Copa90

“เราไม่ได้มีแฟนบอลอยู่แค่ในเมืองไลป์ซิก แต่เรามีฐานแฟนบอลในพื้นที่ ที่ใหญ่มากๆ (พื้นที่เขตเยอรมันตะวันออก) เพราะแฟนบอลล้วนอยากเชียร์ทีมท้องถิ่น สามารถเชียร์ด้วยการดูเกมในสนามเหย้า ทีมที่เล่นฟุตบอลอย่างมีคุณภาพ” แฟนบอลของไลป์ซิกอีกราย ให้สัมภาษณ์กับ DW ในปี 2018


Photo : vaaju.com

แอร์เบ ไลป์ซิก เปรียบเสมือนยาขม ที่คนเยอรมันตะวันออก จะต้องยอมกลืนกิน หากพวกเขาต้องการเชียร์สโมสรฟุตบอลชั้นนำของประเทศ ยอมเชียร์ทีมที่เป็นทีมโปรโมตแบรนด์ ของบริษัทนายทุน, ทีมที่ใช้เงินซื้อทางลัดความสำเร็จ ให้กับสโมสร, ทีมที่ถูกเกลียดจากแฟนบอลจำนวนมาก ทั้งฝั่งตะวันตก และแฟนบอลทีมตะวันออกดั้งเดิม

กระนั้น แอร์เบ ไลป์ซิก กลับกลายเป็นภาพสะท้อนชั้นดี ถึงชีวิตอันไร้ทางเลือก ของแฟนบอลฝั่งเยอรมันตะวันออก เพื่อก้าวข้ามกำแพงของความไม่เท่าเทียม พวกเขาต้องยอมเชียร์ทีมฟุตบอล ที่เหมือนเป็นทีมวายร้ายของชาวเยอรมัน และไม่ใช่ทีมดั้งเดิมของประเทศเยอรมันตะวันออก 

ยอมเกาะเม็ดเงินของนายทุนต่างชาติ ซึ่งดูทำลายศักดิ์ศรีความภูมิใจของชาวเยอรมัน เพียงด้วยความหวังว่า ทีมตัวร้ายทีมนี้ จะสามารถก้าวขึ้นไปต่อกร และเป็นความภูมิใจของภูมิภาค ได้เหมือนกับภูมิภาคอื่นในเยอรมัน

ขณะเดียวกัน ทีมดั้งเดิมของฟุตบอลเยอรมันตะวันออก หมดสิ้นถึงยุคสมัยอันเรืองรอง การเล่นลีกสูงสุดคือความยากลำบาก ลีกา 2 ลงไปคือที่พวกเขา ไม่ใช่บุนเดสลีกา

สิ่งเดียวที่สโมสรฟุตบอลเยอรมันตะวันออกทำได้ คือการมองดูทีมจากฝั่งตะวันตก ยกถาดแชมป์บุนเดสลีการฉลองครั้งแล้วครั้งเล่า ขณะที่ภาพของความฝันนี้ ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นกับทีมอย่าง ดินาโม เดรสเดน, ฮันซา รอสต็อค, โลโคโมทีฟ ไลป์ซิก, ดินาโม เบอร์ลิน หรือกระทั่ง อูนิโอน เบอร์ลิน ที่เล่นอยู่ในลีกสูงสุดตอนนี้ก็ตาม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook