คุยกับ "จ่าสิบเอกสมพร ภูกลาง" : คนเลี้ยงม้า.. อาชีพที่ต้องเอาใจ "คน" ไปใส่ใจ "ม้า"

คุยกับ "จ่าสิบเอกสมพร ภูกลาง" : คนเลี้ยงม้า.. อาชีพที่ต้องเอาใจ "คน" ไปใส่ใจ "ม้า"

คุยกับ "จ่าสิบเอกสมพร ภูกลาง" : คนเลี้ยงม้า.. อาชีพที่ต้องเอาใจ "คน" ไปใส่ใจ "ม้า"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กีฬาขี่ม้า คือหนึ่งในกีฬาไม่กี่ประเภทบนโลก ที่มีลักษณะพิเศษ ผ่านการเล่นกีฬาร่วมกัน ระหว่างมนุษย์กับสัตว์สิ่งมีชีวิต ในฐานะเพื่อนร่วมเล่นกีฬา ไม่ใช่อุปกรณ์ทั่วไป

การจะประสบความสำเร็จในกีฬาขี่ม้า ไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากตัวผู้ขี่จะต้องมีทักษะในการขี่ม้าชั้นยอด ม้าแข่งก็ต้องเป็นอาชาที่พร้อมลงสู่สนามแข่งขัน มีความเพียบพร้อมสมบูรณ์ในทุกด้าน

ด้วยเหตุนี้ การดูแลรักษาม้า จึงเป็นส่วนสำคัญ เพื่อให้ม้าแข่งกลายเป็นม้าชั้นเลิศ ที่เปี่ยมไปด้วยความแข็งแกร่ง ยามต้องแข่งขันกระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง หรือมีความสวยงามในทุกท่วงท่า ขณะที่โชว์ศิลปะการบังคับม้า

 

บุคคลที่อยู่เบื้องหลัง ความสำเร็จของม้าแต่ละตัว คือกลุ่มคนเลี้ยงม้า อาชีพที่อาจดูเหมือนธรรมดา แต่แท้จริงแล้ว มีความสำคัญอย่างมาก ในฐานะเคล็ดลับความสำเร็จ ของการปลุกปั้นม้าแข่งระดับพระกาฬ ที่ออกไปล่าชัยชนะบนสนามแข่ง 

ในประเทศไทย เราอาจจะยังไม่เห็นความสำคัญของอาชีพคนเลี้ยงม้า แต่ในชาติตะวันตก สำหรับคนเลี้ยงม้าฝีมือดี ที่สามารถเลี้ยงและดูแลม้า ได้เป็นอย่างดี สามารถทำรายได้ ไม่ต่ำกว่า 1,000,000 บาทต่อปี

Main Stand จะพาไปพูดคุยกับ จ่าสิบเอก สมพร ภูกลาง แชมป์การแข่งขันสุดยอดผู้ดูแลม้า จากการแข่งขัน Princess’s Cup 2018 จะมาบอกเล่าถึงเคล็ดลับการเลี้ยงม้า ที่บ่งบอกให้เห็นว่าอาชีพนี้ คือ อาชีพที่ต้องเอาใจ “คน” ไปใส่ใจ “ม้า” แค่ไหน…

ทำตัวให้เป็น “เพื่อน” กับม้า 

“ม้าจริงๆแล้ว เขาเป็นสัตว์ที่ไม่ดื้อครับ เพียงแต่ว่าเขาจะรักอิสระ เวลาเขาจะวิ่ง หรือเราจะไปขี่เขา เขาก็จะวิ่งตามใจของเขาเท่านั้นเอง” จ่าสมพร เล่าถึงธรรมชาติของม้า

 1

จากหลากหลายงานศึกษา เปิดเผยถึงธรรมชาติของม้า ด้วยพฤติกรรมที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ม้าเป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในผืนหญ้า และชื่นชอบการวิ่งเล่นอยู่บนทุ่งเขียวขจี...แต่เมื่อม้าต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง กับชีวิตของมนุษย์สมัยใหม่ ไม่ว่าในฐานะสัตว์เลี้ยง หรือเพื่อนคู่ใจในการเล่นกีฬา หน้าที่ของผู้เลี้ยงม้า คือ การปรับตัวเอง ให้เข้ากับธรรมชาติของม้า ที่มีความเป็นอยู่มานาน มากกว่า 50 ล้านปี

“ก่อนที่เราจะมีความคิดที่จะขี่ม้า ก่อนอื่นเราต้องจับม้าให้ได้ก่อน ซึ่งการที่เราจะเข้าหาเขาได้ เราต้องศึกษา รู้จักนิสัยใจคอของเขา” จ่าสมพรกล่าว ถึงเคล็ดลับสำคัญในฐานะคนเลี้ยงม้า ที่ต้องทำให้ม้า เป็นเพื่อนเราให้ได้ก่อน 

สำหรับกีฬาขี่ม้า เราอาจบอกได้ว่า ม้าคืออุปกรณ์ในการเล่นกีฬารูปแบบหนึ่ง ไม่ต่างกับลูกฟุตบอล, ลูกบาสเกตบอล หรือไม้เทนนิส แต่ที่แตกต่างคือม้าเป็นสิ่งมีชีวิต มีจิตใจ 

แตกต่างจากการเล่นกีฬากับอุปกรณ์ที่ไม่มีชีวิต ซึ่งสามารถหยิบจับอุปกรณ์มาเล่น เวลาไหนก็ได้ แต่การขี่ม้า ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ดังนั้นหน้าที่แรกของคนเลี้ยงม้า คือต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง ในชีวิตประจำวันของม้าให้ได้เสียก่อน 

 2

“ถ้าจะให้ผมแนะนำ เทคนิคเริ่มต้นง่ายๆ สำหรับใครที่จะเลี้ยงม้า สำคัญที่สุด คือ เราต้องอยากเลี้ยงเขา เราต้องอยากเป็นคนที่ดูแลม้าจริงๆ เหมือนกับคนที่หากอยากเป็นเพื่อนกับใครสักคนหนึ่ง ก็ต้องมีความจริงใจต่อกัน”

“ถ้าอยากจะเลี้ยงม้า ใครก็เลี้ยงได้ครับ แต่ถ้าจะเลี้ยงให้ดี ก่อนเราจะเลี้ยงเขา เราต้องกลับมาถามตัวเองกันว่า เราใส่ใจเขาได้มากแค่ไหน? เราอยากจะเลี้ยงเขามากแค่ไหน เพื่อให้ม้าออกมาเป็นม้าที่ดีจริงๆ”

ดูแลให้สวยงาม 

จ่าสมพร เปิดเผยว่า ในฐานะคนดูแลม้า เขาใช้เวลากว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่ออยู่ดูแลม้า ตั้งแต่ช่วงเช้าไปจนถึงเย็น สำหรับเขา นี่คือส่วนสำคัญที่สุดของการเป็นคนเลี้ยงม้าที่ดี และทำให้ม้าทุกตัว กลายเป็นม้าที่สมบูรณ์แบบ เราต้องเข้าใจตัวตน และพฤติกรรมของพวกเขาอย่างถ่องแท้ 

 3

“ในความคิดของผม ม้าเป็นสัตว์ที่ต้องการเอาใจใส่ ในฐานะคนเลี้ยงม้า เราต้องมีความคุ้นเคยกับม้า ต้องรู้นิสัยใจคอซึ่งกันและกัน เพราะม้าแต่ละตัว ก็นิสัยไม่เหมือนกัน บางตัวดื้อมาก บางตัวก็สงบ ถ้าเรารู้ว่าเขานิสัยเป็นอย่างไร เราก็จะเลี้ยงดูเขาได้ง่ายขึ้น”

“ผมมองว่าคนเลี้ยงม้า มีความรู้พื้นฐานไม่ต่างกัน แต่ที่ต่างกันคือความดูแลเอาใจใส่ ความคลุกคลีที่เราต้องอยู่กับม้าเป็นประจำ”

สิ่งสำคัญที่เราไม่สามารถลืมได้ คือ ม้าเป็นสิ่งมีชีวิต ไม่ต่างอะไรกับมนุษย์ หลักสำคัญของคนเลี้ยงม้า ที่ต้องเรียนรู้นิสัยใจคอของม้าให้ได้ที่สุด เพื่อเข้าใจพฤติกรรมว่าม้าต้องการอะไร และทำให้เขามีความสุขมากที่สุด 

เนื่องจากหากม้ามีความสุข สภาพจิตใจดี ผู้ที่ได้ประโยชน์คือนักกีฬาขี่ม้า ที่จะได้ม้าอารมณ์เบิกบาน พร้อมโลดแล่นในสนามแข่งขัน และมีรูปร่างที่สวยงาม

 4

“ตอนเช้าๆสัก 8 โมง ผมก็ต้องพาเขาออกมาเดินเล่นครับ แล้วก็ตอนเย็นอีกรอบ รอบละประมาณ 30 นาที” จ่าสมพรเผย “บางทีเราก็ต้องพาเขาออกไปปล่อยแปลง (ปล่อยม้าอยู่ในคอกทุ่งหญ้าตามธรรมชาติ) เพื่อให้เขาได้รู้สึกผ่อนคลาย”

“แต่เราก็ต้องดูสภาพอากาศด้วยครับ ไม่ใช่ว่าอยากจะปล่อยเขาไปวิ่ง ก็ปล่อยเขาไป เพราะว่าม้าพันธุ์ดีส่วนใหญ่ มาจากเมืองหนาว และอากาศบ้านเราร้อนมาก บางทีเขาก็ไม่ชิน”

“ถ้าแดดร้อนๆ เราปล่อยเขาออกไปวิ่ง เขาก็อาจจะเป็นฮีตสโตรก (โรคลมแดด) หน้าที่ของเราก็ต้องคอยดูสภาพอากาศ ถ้าเวลาปกติ เขาออกไปวิ่งไม่ได้ เราก็ต้องหาเวลาอื่นที่เหมาะสมแทน”

“ม้าต่างประเทศ ตอนเขาเข้ามาเมืองไทยใหม่ๆ เราก็ปล่อยเขาไปวิ่งไม่ได้ครับ เพราะเขาไม่ชินกับสภาพอากาศ เราก็มีหน้าที่ ต้องช่วยให้เขาปรับตัวด้วย”

“เรื่องอาหาร ม้าก็ต้องปรับตัวเหมือนกันครับ ตอนแรกเราต้องให้อาหารดั้งเดิม จากถิ่นที่เขามาก่อน แล้วเราจึงค่อยๆปรับเปลี่ยน ให้อาหารจากในเมืองไทย ให้เขากิน”

ไม่ต่างอะไรกับการปรับตัวของมนุษย์ ย้ายต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่กับสภาพแวดล้อมรอบตัวรูปแบบใหม่ ที่ต้องการความคุ้นชิน จากรูปแบบการใช้ชีวิตในพื้นที่เดิม เพื่อป้องกันเรื่องของความเครียด ที่จะเกิดขึ้นกับม้า

เพราะทั้งเรื่องอาหาร และการสร้างความสุขให้กับม้า ลดความเครียด มีผลสำคัญอย่างมากกับการดูแลม้า เพื่อป้องกันปัญหาอาการเจ็บป่วยของม้าที่จะตามมา โดยเฉพาะปัญหาทั่วไปที่คนเลี้ยงม้าต้องพบเจอ คือ อาการม้าเสียดท้อง 

สำหรับอาการม้าเสียดท้อง คือ อาการป่วย ปวดท้อง ไม่สบายท้องของม้า ซึ่งจะทำให้ม้าไม่ยอมกินอาหาร และรู้สึกทรมาน และอาจส่งผลถึงชีวิตของม้าได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที 

 5

“นอกจากปัญหา เรื่องม้าเสียดท้อง ที่พบเจอบ่อยที่สุด สิ่งที่เราต้องป้องกันก็เป็นพวกแมลงต่างๆครับ ที่จะมาทำให้ตัวม้าเป็นตุ่ม หรือเป็นโรค” 

“เรื่องความสะอาดของม้า ก็ถือว่าสำคัญมากๆครับ การดูแลม้าเราต้องทำความสะอาดเขาให้ดีที่สุด ทั้งเรื่องของการอาบน้ำ หรือการดูแลของเครื่องใช้ เกี่ยวกับเขาให้สะอาดอยู่ตลอด”

“อย่างม้า เวลาเขาเครียดๆ หรืออยากนอน ในบางครั้ง เขาก็อาจจะลงไปกลิ้งเกลือกกับพื้นบ้าง เราก็ต้องหาที่นอนสะอาดๆ มารองให้เขา ไม่อย่างงั้นถ้าเขาเจอมด ก็อาจจะถูกกัดทำให้เกิดเป็นตุ่มได้ ซึ่งมีผลต่อความสวยงามของม้า” จ่าสิบสมพร กล่าวเสริม 

อย่างไรหากจะบอกว่าการเลี้ยงม้า เลี้ยงเพื่อความสวยงาม ดูแลให้เขามีความสุขเฉยๆ ก็คงไม่ใช่… เพราะหน้าที่หลักสำคัญของคนเลี้ยงม้า ต้องทำให้พวกเขามีความพร้อมและทำผลงานให้ดีในสนามด้วย

สุดยอดนัก (ม้า) กีฬาเกิดขึ้นได้จากคนเลี้ยงม้า 

ทำไมที่ต่างประเทศจึงมีการแย่งชิงคนเลี้ยงม้า มีการซื้อ-ขาย กันเหมือนตลาดนักฟุตบอล? จ่าสิบเอกสมพร จะทำให้คุณผู้อ่านเห็นภาพ และเข้าใจมากขึ้น… 

 6

“นอกจากเป็นเพื่อน และเข้าใจตัวตนแล้ว เราต้องทำให้เขา (ม้า) เป็นสุดยอดนักกีฬาด้วย” จ่าสิบเอกสมพร กล่าว 

ในเมื่อม้าเป็นสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่เพียงอุปกรณ์ การดูแลจึงจำเป็นต้องเข้าใจในรายละเอียดทุกอย่างเกี่ยวกับ ทั้งภายนอก และภายในของม้า 

“เราต้องคอยสังเกตว่า วันนี้สภาพร่างกายเขาเป็นยังไง ทำไมซ้อมไม่ดี ทำไมดูเปลี่ยนไป ดูเหน็ดเหนื่อยกว่าปกติรึเปล่า อารมณ์เขาเป็นยังไง บางครั้งซ้อมเจอแดดร้อนๆ มามากๆ เขาไม่ยอมกินข้าว กินน้ำ เราก็ต้องรีบสังเกตความผิดปกติ หาวิตามินเสริมเพิ่มเติม วิตามินสำหรับม้า ก็มีทั้งแบบทดแทนน้ำ และเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เหมือนกับคนนั่นแหละ”  

“ทุกๆ วันหลังซ้อมมาหนักๆ เราจะต้องคอยประคบร้อนหรือประคบเย็นให้ข้าทั้งสี่ข้างของเขา ตามความเหมาะสม Cool Pack ของม้าก็มีนะ เราปฏิบัติเหมือนกับเขาเป็นนักกีฬาคนหนึ่งเลย” 

“จุดที่เราต้องดูแลเขาให้ดีมากๆ ก็ คือ ตามข้อ ตามเอ็นขา บริเวณหลัง และบั้นท้าย ก็ใช้มือนวดม้าเหมือนกับนักกายภาพบำบัด (Physiotherapist) คนหนึ่งที่ทำกายภาพบำบัด ให้กับนักกีฬาอาชีพนั่นแหละ สิ่งที่เราทำทุกอย่าง ล้วนส่งผล ต่อผลงานของม้าในสนามแข่งขัน”  

 7

รายละเอียดของการเลี้ยงม้า มีเยอะแยะมากมาย คนเลี้ยงม้าในมุมมองของคนทั่วไป อาจเป็นอาชีพที่ดูไม่มีอะไร ไม่มีความน่าสนใจ ไปมากกว่าการเลี้ยงดูสัตว์ทั่วไป แต่คนเลี้ยงม้า เปรียบเสมือนเพื่อนข้างกาย ผู้อยู่เบื้องหลังที่จะช่วยดูแลทุกอย่างให้เขาเฉิดฉายในสนามแข่งขัน

“ถามผมว่าคนเลี้ยงม้า แต่ละคนเก่งกาจต่างกันยังไง?” จ่าสิบเอกสมพรทวนคำถามกับเรา ก่อนนิ่งไปครู่หนึ่ง...

“มันวัดกันที่ความใส่ใจ ถ้าเราช่างสังเกต ใส่ใจเขามาก ทำเหมือนเขาเป็นเพื่อน และสิ่งมีชีวิตคู่ใจ เอาใจเขามาใส่ใจเราทุกอย่าง นั่นก็คงหมายถึงการเป็นคนเลี้ยงม้าที่ดี” จ่าสิบเอกสมพร กล่าวทิ้งท้าย 

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ คุยกับ "จ่าสิบเอกสมพร ภูกลาง" : คนเลี้ยงม้า.. อาชีพที่ต้องเอาใจ "คน" ไปใส่ใจ "ม้า"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook