จากสงครามชาวเกาะถึง "บรู๊ซ ลี" : ขุดต้นกำเนิด "อาร์นิส" กีฬาที่ไล่เอาไม้ตีหัวกันในซีเกมส์ 2019

จากสงครามชาวเกาะถึง "บรู๊ซ ลี" : ขุดต้นกำเนิด "อาร์นิส" กีฬาที่ไล่เอาไม้ตีหัวกันในซีเกมส์ 2019

จากสงครามชาวเกาะถึง "บรู๊ซ ลี" : ขุดต้นกำเนิด "อาร์นิส" กีฬาที่ไล่เอาไม้ตีหัวกันในซีเกมส์ 2019
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นที่ทราบกันว่า ซีเกมส์ มหกรรมกีฬาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือกีฬาที่เจ้าภาพสามารถบรรจุกีฬาพื้นบ้านที่ตัวเองถนัดได้ตามต้องการ และในซีเกมส์ 2019 ฟิลิปปินส์ ชาติเจ้าภาพเลือกใช้ "อาร์นิส" เป็นกีฬาชูโรงของพวกเขา และมีให้แย่งชิงกันถึง 20 เหรียญทองเลยทีเดียว

และ อาร์นิส นี่เองที่กลายเป็นกระแสในโลกโซเชี่ยลของชาวไทยในตอนนี้ หลังจากมีคลิปการแข่งขันที่เหมือนกับการใช้ไม้ไล่ตีหัวกันเพื่อทำแต้มเหมือนกับเด็กๆ เล่นต่อสู้กันอย่างไรอย่างนั้น...

 

ในขณะที่หลายคนมองว่าแปลก และรู้สึกชวนหัวกับท่าทางการกระโดดไล่ตีหัวกันของนักกีฬา ทว่าความจริงของ อาร์นิส ไม่ได้ตลกอย่างที่หลายคนเข้าใจ  

อาร์นิส คืออะไร มีต้นกำเนิดจากไหน ติดตามได้ที่นี่

อาร์นิส ในซีเกมส์ 2019

ในขณะที่หลายคนแปลกใจว่าทำไม อาร์นิส จึงโผล่มาให้ชิงเหรียญทองในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งนี้ ทว่าความจริงก็คือ อาร์นิส นั้นมีส่วนร่วมกับกีฬาของชาวอาเซียนมาตั้งแต่เกือบๆ 40 ปีก่อน 

 1

เรื่องดังกล่าวต้องย้อนกลับไปปี 1991 ที่ อาร์นิส เคยเป็นกีฬาสาธิต โดยในครั้งนั้น ฟิลิปปินส์ เป็นเจ้าภาพ ก่อนที่จะได้แข่งขันแบบชิงเหรียญทองกันแบบจริงๆ จังครั้งแรกในอีก 14 ปีต่อมา ณ ซีเกมส์ ปี 2005 แน่นอนว่า ฟิลิปปินส์ ก็เป็นเจ้าภาพอีกนั่นแหละ

โดยในการแข่งขันเมื่อปี 2005 นั้น ฟิลิปปินส์ บรรจุการชิงเหรียญของ อาร์นิส ไว้แค่ 6 เหรียญทองเท่านั้น ซึ่ง ฟิลิปปินส์ ก็ได้ไป 3 เหรียญทองกับอีก 3 เหรียญเงิน ซึ่งส่งให้พวกเขาเป็นเจ้าเหรียญทองในการแข่งขันครั้งนั้นไปในท้ายที่สุด

หลังจากว่างเว้นไป 14 ปี อาร์นิส กีฬาที่ใช้ไม้ในมือมาไล่หวดกันและให้กรรมการนับแต้มก็กลับมาแข่งขันกันอีกครั้งในซีเกมส์ 2019 หนนี้ แต่การกลับมาพิเศษยิ่งกว่าเดิมด้วยการเปิดให้ชิงถึง 20 เหรียญทอง และที่สำคัญคือหนนี้จะไม่มีรอบชิงเหรียญทองแดง (ผู้แพ้ในรอบรองชนะเลิศ ถือว่าครองเหรียญทองแดงร่วม) นั่นหมายความว่านักกีฬาจากชาติเหล่านี้จะได้รับเหรียญรางวัลกันถ้วนหน้าในแต่ละประเภท 

 2

ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไม ฟิลิปปินส์ จึงนำโด่งเจ้าเหรียญทองในเวลานี้ เพราะแค่กีฬา อาร์นิส นั้น พวกเขากวาดไปถึง 14 เหรียญทอง 4 เหรียญเงิน และ 2 เหรียญทองแดง จากการส่งนักกีฬาลงแข่งขันทั้งหมด 20 คน และมีเพียง 4 ชาติที่ส่งนักกีฬาลงแข่ง คือฟิลิปปินส์, เวียดนาม, เมียนมา และ กัมพูชา ส่วนไทยไม่ส่งแข่งขันในกีฬานี้

ด้วยความเป็นกีฬาที่เอื้อมาให้เจ้าภาพคว้าเหรียญทอง รวมถึงรูปแบบการแข่งขันที่ดูแปลกไม่คุ้นตา ทำให้หลายคนอาจจะมองว่า อาร์นิส เป็นกีฬาที่เพิ่งคิดค้นขึ้นมาใหม่ๆ เพื่อส่งเจ้าภาพคว้าเหรียญทองเท่านั้น อย่างไรก็ตามประวัติศาสตร์และที่มาของ อาร์นิส นั้นมีอายุยืนยาวและสืบทอดกันมากว่า 500 ปี และเริ่มต้นด้วยระดับความโหดที่ต้องแลกกับชีวิต ชนิดที่ว่าถือมีดและผลัดกันจ้วงเลยทีเดียว

อาร์นิสในประวัติศาสตร์

อาร์นิส หรือ "การประลองแห่งความตาย" คือศิลปะการต่อสู้ประจำชาติของ ฟิลิปปินส์ โดยมีความโดดเด่นอยู่ที่การเคลื่อนไหวและกวัดแกว่งอาวุธพร้อมด้วยเทคนิคในการปัดป้องและหลบลีก 

 3

อาร์นิส ถูกพัฒนาเรื่อยมาตั้งแต่ช่วงปี 1521 ซึ่งในช่วงเวลานั้น อาร์นิส ไม่ได้ดูเป็นกีฬาที่แปลกและดูเป็นกีฬาต่อสู้ที่ปลอดภัยเหมือนในซีเกมส์ 2019 ครั้งนี้ เพราะแรกเริ่มนั้นอาวุธที่อยู่ในมือหาใช่ท่อนไม้และกระบอง ทว่ามันคือมีดสั้น อาวุธที่ชาวฟิลิปปินส์ในยุคนั้นหาได้ง่ายที่สุด  

ซึ่งการฝึกฝนและการต่อสู้แบบฉบับของ อาร์นิส นี่เองที่ชาติชาวเกาะอย่างพวกเขาใช้ต่อสู้กับการรุกรานของ สเปน โดยกองทัพของยอดนักเดินเรืออย่าง เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน ที่ใช้ปืนคาบศิลาเป็นอาวุธ จนสามารถต้านได้ในช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนจะเป็นฝ่ายต้องยอมศิโรราบในภายหลัง

และหลังจากสเปนยึดครองสำเร็จ อาร์นิส ถูกพัฒนาต่อด้วยการนำวิชาดาบแบบสเปนมาผสมผสาน ผลักดันให้เป็นศิลปะการต่อสู้ที่นอกจากจะใช้อาวุธแล้ว ยังต้องใช้ความเร็วของมือในการปัดป้อง รวมถึงความไวของฟุตเวิร์กในการหลบหลีกด้วย เนื่องจากแรงในการเข้าปะทะของ อาร์นิส นั้นไม่ได้เกิดจากการใช้พละกำลัง (ยกตัวอย่างเช่น การง้างหมัดชกแบบสุดแรง) แต่เกิดจากการใช้ท่าทางในการเคลื่อนไหวเข้าโจมตี

 4

และเมื่อโลกหมุนไปข้างหน้าตามกาลเวลา การฆ่าแกงกันเองไม่ใช่เรื่องที่น่าอภิรมย์นัก อาร์นิส จึงค่อยๆถูกปรับเปลี่ยนให้ใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่มีความปลอดภัยไม่ถึงชีวิตมากขึ้น โดยปัจจุบันมีทั้งการสู้แบบมือเปล่า, การสู้แบบใช้กระบอง และ อุปกรณ์ต่างๆ แต่ปัจจัยหลักที่พวกเขายังให้ความสำคัญคือ อาร์นิส ยังคงเป็นกีฬาต่อสู้ที่เน้นในการต่อสู้ระยะประชิดเอาไว้ 

ซึ่งจุดเด่นที่การเคลื่อนที่ และความเร็วของมือและฟุตเวิร์ก ทำให้ อาร์นิส กลายเป็นกีฬาต่อสู้ที่มีท่าทางที่สวยงามหากคู่ต่อสู้สามารถรับส่งจังหวะกันได้พอดิบพอดี จึงทำให้ อาร์นิส เดินทางข้ามทวีปไปไกลถึงอีกซีกโลกที่สหรัฐอเมริกา ... ดินแดนที่หยิบเอา อาร์นิส เข้ามาสร้างเงินทองเข้าประเทศมากมาย

หยิบเอาใช้ให้ถูกทาง

ในขณะที่รัฐบาลฟิลปปินส์ประกาศให้ อาร์นิส เป็นศิลปะการต่อสู้ประจำชาติ อเมริกา พาอาร์นิสไปอีกขั้น นั่นคือการนำมันมาผลิตเม็ดเงินผ่านการถ่ายทำและตัดต่อในภาพยนตร์ และบุคคลที่ช่วยเปิดช่องครั้งนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน บรู๊ซ ลี ดารายอดนักบู๊อันดับ 1 ตลอดกาลนั่นเอง

 5

บรู๊ซ ลี ได้รับการยกย่องให้เป็นนักแสดงที่มีศิลปะการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง เขาเป็นคนนำศิลปะการต่อสู้แบบโลกตะวันออกไปสู่โลกตะวันตกผ่านงานแสดงของเขา และหนึ่งในการต่อสู้ที่มีอิทธิพลต่อสไตล์ของ บรู๊ซ ลี ก็คือ อาร์นิส นั่นเอง

เบื้องหลังของผู้นำ ลี และ อาร์นิส มาพบกันได้คือชายที่ชื่อว่า แดน อิโนซานโต้ ชาวอเมริกันเชื้อสายฟิลิปปินส์ ที่แนะนำศิลปะการต่อสู้แบบ อาร์นิส ให้ บรู๊ซ ลี รู้จัก หลังจากน้ั้น บรู๊ซ ลี ก็ใช้ศิลปะในการใช้มือปัดป้อง รวมถึงการควงกระบองคู่อันเป็นซิกเนเจอร์ของเขาเรื่อยมา

"สิ่งที่เปลี่ยนไปหลังจาก ลี ได้รู้จัก อาร์นิส คือเขากลับมาเน้นการสู้ด้วยมือเปล่า และคุณเองก็คงได้เห็นผ่านหนังของเขาหลายๆ เรื่อง ผลงานชิ้นเอกของเขาอย่าง 'Enter the Dragon' และ 'Game of Death' ก็ได้อิทธิพลในการเข้าคิวบู๊มาจากศิลปะการต่อสู้ของฟิลิปปินส์นั่นเอง" แดน เล่าภายหลัง

โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นตำนานของ บรู๊ซ ลี อย่าง Enter the Dragon หรือ ไอ้หนุ่มซินตึ้ง มังกรประจัญบาน ที่เข้าฉายในปี 1973 นั้น แดน เป็นคนฝึกฝน บรู๊ซ ลี ในการใช้กระบองคู่ด้วยตัวเองกับมือเลยทีเดียว

"แนวคิดดั้งเดิมของ บรู๊ซ ลี ต่อ "การประลองแห่งความตาย" (อาร์นิส) คือเขาต้องการเผยแพร่ให้สาธารณชนได้เห็น ว่าศิลปะการต่อสู้มันมีหลากหลายประเภท และแต่ละชนิดล้วนมีคุณค่า มีความสำคัญตามสภาพแวดล้อมของแต่ละที่ด้วย" 

สิ่งที่ แดน อิโนซานโต้ แนะนำ และแนวคิดของ บรู๊ซ ลี อาจะทำให้เราเข้าใจได้ว่าเหตุใด ฟิลิปปินส์ จึงบรรจุกีฬานี้ลงในซีเกมส์ เพราะอย่างน้อยๆ สำหรับพวกเขามันไม่ใช่เรื่องไร้สาระหรือการโกงกันแต่อย่างใด กลับกันมันคือความภูมิใจในศิลปะการต่อสู้ที่สืบทอดกันมานานกว่า 500 ปี

 

แม้หลายคนจะค่อนข้างประหลาดใจและขำกับรูปลักษณ์การต่อสู้ของ อาร์นิส ในซีเกมส์ 2019 ที่เหมือนกับการว่ายน้ำเข้าใส่กัน เพราะต่างคนต่างถือไม้และไล่หวดกันจนมองไม่ออกว่าใครเป็นใคร 

ทว่าความจริงมันก็เหมือนกับที่ แดน อิโนซานโต้ บอก ศิลปะการต่อสู้ของแต่ละที่นั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และวิวัฒนาการตามชีวิต ความเป็นอยู่ กับสภาพแวดล้อม อาร์นิส เองก็เช่นกัน หากไม่อยู่ในสนามแข่งขันที่ถูกจัดเป็นกีฬาแล้ว พวกเขาก็โหดได้ไม่แพ้ใคร 

ทุกอย่างล้วนแต่ต้องการที่ทางของมัน หากใช้ให้ถูกที่ก็ย่อมเกิดประโยชน์ทั้งนั้น ชาวฟิลิปปินส์ยุคสมัยชาวเกาะใช้ อาร์นิส ปกป้องประเทศและป้องกันตัว, บรู๊ซ ลี ใช้ อาร์นิส เป็นหนึ่งในศิลปะที่สร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองผ่านการฝึกฝนเป็นปีๆ และในปัจจุบันคงไม่แปลกอะไรที่ทีมชาติฟิลิปปินส์ให้ อาร์นิส เพื่อเป็นแหล่งโกยเหรียญทองในซีเกมส์

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ จากสงครามชาวเกาะถึง "บรู๊ซ ลี" : ขุดต้นกำเนิด "อาร์นิส" กีฬาที่ไล่เอาไม้ตีหัวกันในซีเกมส์ 2019

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook