เทียบ "กลัดบัค" ชุดปัจจุบันกับยุคทองในช่วงปี 70

เทียบ "กลัดบัค" ชุดปัจจุบันกับยุคทองในช่วงปี 70

เทียบ "กลัดบัค" ชุดปัจจุบันกับยุคทองในช่วงปี 70
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จ่าฝูงบุนเดสลีกาทีมปัจจุบัน "โบรุสเซีย เมินเชนกลัดบัค" คือทีมที่มีโอกาสสูงสุดในนาทีนี้ที่จะหยุดสถิติคว้าแชมป์ลีกเยอรมนีต่อเนื่อง 7 สมัยของบาเยิร์น มิวนิค ทำให้เราต้องนึกย้อนไปในช่วงยุค 70 ยุคทองของกลัดบัคที่ผลัดกันคว้าแชมป์บุนเดสลีกากับบาเยิร์นอยู่หลายต่อหลายปี

นักเตะของทีมกลัดบัคในยุคนั้นที่กลายมาเป็นตำนานของวงการฟุตบอลเยอรมัน และเป็นที่คุ้นหูคุ้นตากันดีได้แก่ ยุปป์ ไฮน์เคส และ กึนเทอร์ เน็ตเซอร์

แม้ลูกทีมของมาร์โค โรเซ่อ จะยังต้องต่อสู้ฟาดฟันอีกไกลกว่าจะไปถึงแชมป์บุนเดสลีกาสมัยที่ 6 ของประวัติศาสตร์สโมสร แต่หากพวกเขาทำได้สำเร็จ ก็จะขึ้นแท่นตำนานนักเตะที่คว้าแชมป์ได้เช่นเดียวกันกับแข้งตำนานของพวกเขา มาลองจับเอาแข้งคีย์แมนของทีมสิงห์หนุ่มจากทั้งสองยุคมาวัดกันตัวต่อตัวดูว่าขุนพลกลัดบัคยุคทองปี 70 กับยุคปัจจุบันนั้นจะเหมือนหรือต่างกันสักแค่ไหน

ff

มาร์คัส ตูราม vs ยุปป์ ไฮน์เคส

ไฮน์เคสคือโค้ชหนึ่งในแปดคนที่เคยพาทีมคว้าทริปเปิ้ลแชมป์ (แชมป์ลีกสูงสุดในประเทศ ฟุตบอลถ้วยในประเทศรายการใหญ่ และยูเอฟ่า แชมเปียนส์ลีก) เช่นเดียวกับ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า, โชเซ่ มูรินโญ่ และ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน แต่ทว่าไฮน์เคสนั้นเคยเป็นนักเตะฝีเท้าระดับตำนานอีกด้วยนะ

ไฮน์เคสคือฮีโร่ของทีมบ้านเกิด เขาเล่นให้กลัดบัคตั้งแต่ปี 1965 ถึง 1978 ก่อนจะไปคุมทีมบาเยิร์นกว่าสิบปี ส่วนในการรับใช้ทีมชาติ ไฮน์เคสต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อแย่งชิงตำแหน่งศูนย์หน้าตัวจริงจากตำนานดาวยิงตลอดกาลของบาเยิร์น แกร์ด มึลเลอร์ นั่นเอง ทั้งสองดาวยิงเคยได้รางวัลดาวซัลโวบุนเดสลีการ่วมกันด้วยสถิติ 30 ประตูในปี 1974 ซึ่งบาเยิร์นคว้าแชมป์ลีกได้ในปีนั้น ส่วนกลัดบัคคว้าแชมป์ได้ในฤดูกาลต่อมา พูดได้ว่าหากไม่มีแกร์ด มึลเลอร์ ไฮน์เคสคงจะได้โอกาสสร้างผลงานกับทีมชาติเยอรมนีได้มากกว่านี้ และไม่มีใครมาบดบังรัศมีของเขาในเวทีบุนเดสลีกาได้แน่นอน

tt

ส่วนตูรามนั้นเพิ่งจะมีอายุเพียง 22 ปี แต่เขามีเลือดแห่งแชมเปี้ยนศึกฟุตบอลโลกและฟุตบอลสโมสรยุโรปจาก ลิลิยง ตูราม ผู้เป็นพ่อ การโชว์ฟอร์มลงเล่นให้กลัดบัคในช่วงเวลาปัจจุบันยังเป็นเพียงช่วงต้นอาชีพค้าแข้งของเขาเท่านั้นเอง

ตูรามนั้นไม่ใช่ศูนย์หน้าตัวเป้าที่จะสามารถยิงประตูได้เทียบเท่าสถิติ 195 ประตูในบุนเดสลีกาของไฮน์เคส แต่เขาก็มีอัตราทำประตูสูงถึง 0.68 ลูกต่อเกมและเป็นนักเตะคนสำคัญที่พาทีมสร้างผลงานยอดเยี่ยมติดลมบนอยู่ในขณะนี้

สถิติ 6 ประตูกับ 5 แอสซิสต์จากการลงสนามในลีกสูงสุดเยอรมนีเพียง 13 นัดหมายความว่าเขามีส่วนทำให้ทีมได้ประตูทุกๆ 1.2 นัด มองตามสถิติแล้วหากรักษาอัตราเท่านี้ได้ตลอดไป ก็มีสิทธิ์จะกลายเป็นตำนานอีกคนแห่งทีมสิงห์หนุ่มอย่างแน่นอน

ii

ลาร์ส สตินเดิล vs กึนเทอร์ เน็ตเซอร์

เน็ตเซอร์เกิดที่กลัดบัคเช่นเดียวกับไฮน์เคส เขาเข้าร่วมทีมบ้านเกิดเมื่ออายุ 19 ปี ด้วยบุคลิกหน้าตาที่หล่อเหลาทำให้เขาโดดเด่นกว่าเพื่อนร่วมทีม

แต่เน็ตเซอร์ไม่ได้มีดีแค่นั้น ตำนานเบอร์สิบคนนี้คือหัวใจสำคัญที่พาทีมคว้าแชมป์ลีกหนแรกในประวัติศาสตร์สโมสรสำเร็จในฤดูกาล 1969/70 แถมยังเป็นทีมแรกในประวัติศาสตร์ที่ป้องกันแชมป์บุนเดสลีกาได้สำเร็จในฤดูกาลต่อมา

เน็ตเซอร์คือนักเตะหัวโจกของทีม เขาเป็นปากเสียงให้นักเตะคนอื่นๆ เมื่อเกิดความไม่พอใจในโค้ชหรือสโมสรขึ้น มีครั้งหนึ่งที่เขาถูกจับให้นั่งสำรองในนัดชิงศึกเดเอฟเบคัพฤดูกาล 1972/73 แต่เน็ตเซอร์ไม่สนใจใครทั้งนั้น เขาเปลี่ยนตัวเองลงไปในสนามและสามนาทีหลังจากนั้นก็ยิงประตูชัยช่วยให้ทีมคว้าแชมป์ไปครอง และนั่นคือเกมสุดท้ายที่เขาได้ลงสนามให้กลัดบัค เพราะหลังจากนั้นเรอัล มาดริด ก็มาคว้าตัวเขาไปร่วมทีมเพื่อสู้กับบาร์เซโลน่าที่เพิ่งคว้าตัว โยฮัน ครอยฟ์ ไปเหมือนกัน

นี่แหละคือเรื่องราวอันสุดยอดของเน็ตเซอร์…

imago10703054h

ส่วนลาร์ส สตินเดิล คือกัปตันแห่งทัพสิงห์หนุ่มคนปัจจุบัน เขาอาจไม่ได้เหล่าเหลาเหมือนซูเปอร์สตาร์อย่างเน็ตเซอร์ แต่ลาร์สคือกัปตันที่มีอิทธิพลต่อเพื่อนร่วมทีมสูง อีกทั้งยังมีความรับผิดชอบสูงจนน่าชื่นชม

สมัยยังเล่นอยู่กับฮันโนเวอร์ เขาท้วงไปยังสมาพันธ์ฟุตบอลเยอรมันว่าพวกเขาบันทึกใบเหลืองของตนเองขาดไป 1 ใบ เป็นเหตุให้เขาต้องถูกแบนทันที 1 นัด อย่างไรก็ตามการกระทำเช่นนี้ทำให้เขาถูกยกย่อง ส่วนเรื่องฝีเท้าในสนามลาร์สก็ทำได้ดีไม่แพ้กัน เขาเป็นผู้เล่นที่สามารถจ่ายบอลเชื่อมเกมได้อย่างยอดเยี่ยม อีกทั้งยังมีความคมและแม่นเหมือนจับวางในจังหวะยิงและจ่ายหน้าประตูคู่แข่ง

พูดกันง่ายๆ ก็คือเน็ตเซอร์คือหัวโจกประเภทหัวร้อน ส่วนลาร์สคือผู้นำที่ใจเย็น แต่ฟอร์มเดือดทุกทีที่ฟิตเต็มร้อย

ginter

มัทเธียส กินเทอร์ vs แบร์ตี้ โฟกส์

โฟกส์ก็เป็นอีกคนที่มีชื่อเสียงในการคุมทีมมากกว่าสมัยเป็นนักเตะ แต่เขาก็เป็นคนที่มีประสบการณ์ในบุนเดสลีกาอย่างโชกโชน ลงสนามให้กลัดบัคเพียงทีมเดียวเกินสี่ร้อยนัดตั้งแต่ปี 1965 ถึง 1979 คว้าแชมป์กับต้นสังกัดได้ห้าครั้ง แถมยังลงเล่นให้ทีมชาติเยอรมนีเกือบ 100 นัด ซึ่งก็สามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลยูโรได้ในปี 1972 และแชมป์โลกในปี 1974 อีกด้วย

เช่นเดียวกับโฟกส์ ในช่วงแรกๆ กินเทอร์ก็เล่นตำแหน่งฟูลแบ็คเช่นกัน แต่สุดท้ายเขาก็ได้ค้นพบว่าตำแหน่งที่ตัวเองถนัดที่สุดคือเซ็นเตอร์แบ็ค เขาเป็นนักเตะที่อ่านเกมได้ยอดเยี่ยมและจ่ายบอลดี มีอัตราจ่ายบอลสำเร็จสูงที่สุดในทีมกลัดบัค นอกจากนี้ยังทำฟาวล์ไปเพียงแค่ 4 ครั้งในฤดูกาลล่าสุด ทำให้กินเทอร์กำลังกลายเป็นกำลังสำคัญในแนวรับทีมสิงห์หนุ่ม

imago01680558h

สิ่งหนึ่งที่กินเทอร์มีเหมือนแบร์ตี้ โฟกส์ก็คือ เขาก็มีดีกรีเป็นแชมป์โลกหนึ่งสมัยเช่นกัน…

th

มาร์โค โรเซ่อ vs เฮนเนส ไวส์ไวเลอร์

"ไวส์ไวเลอร์" คือชื่อที่ทุกคนในวงการฟุตบอลเยอรมันต้องรู้จัก ชื่อของเขาถูกนำไปตั้งเป็นตัวมาสค็อตของทีมโคโลญจน์ แถมกลัดบัค ยังได้ฉายาว่า "สิงห์หนุ่ม" ก็เพราะไวส์ไวเลอร์ที่คุมทีมอยู่ในตอนนั้นเลือกใช้บริการแข้งวัยหนุ่มเป็นพลังหลักของทีมอย่างเน็ตเซอร์และโฟกส์นั่นเอง และยังเป็นคนคว้าตัวไฮน์เคสมาร่วมทีมอีกด้วย

ไวส์ไวเลอร์ขึ้นชื่อเรื่องปลุกปั้นนักเตะดาวรุ่ง พลังของทีมสิงห์หนุ่มช่วยให้ทีมก้าวขึ้นมาเล่นในลีกสูงสุดของเยอรมนี และคว้าแชมป์บุนเดสลีกาได้ในไม่กี่ปีต่อมา สิบสองเดือนให้หลัง ไวส์ไวเลอร์ก็สร้างประวัติศาสตร์เป็นชายคนแรกที่พาทีมป้องกันแชมป์บุนเดสลีกาสำเร็จ

imago18997081h

เขาเป็นโค้ชที่ไม่ถือตัว พยายามเข้าถึงและสนิทสนมกับนักเตะเสมอ เขารับฟังความเห็นนักเตะและนำไปใช้ในการพัฒนาทีมอย่างจริงจัง นั่นคือจุดเด่นอันน่าชื่นชมของเขา

ไวส์ไวเลอร์คือโค้ชโนเนมในตอนที่เขาก้าวเท้าเข้ามากุมบังเหียนทีมกลัดบัค ต่างกันกับมาร์โค โรเซ่อ โดยสิ้นเชิง เพราะโรเซ่อเคยพาทีมเร้ดบูลล์ ซัลซ์บวร์ก คว้าแชมป์ลีกออสเตรียมาแล้ว แถมยังพาทีมทะลุถึงรอบรองชนะเลิศศึกยูเอฟ่ายูโรปาลีก และนั่นคือเหตุผลที่กลัดบัคดึงตัวเขามาเพื่อเหตุผลสองข้อ หนึ่งคือเพื่อให้เดินไปข้างหน้าได้ไกลขึ้น สองคือเพื่อให้ทีมเดินกลับหลังไปยิ่งใหญ่ดังในยุค 70...

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook