"คารีม อับดุล-จาบาร์" : ตำนานยัดห่วงผู้ทำให้ Superstar เป็น Sneakers เบอร์ 1 ตลอดกาล

"คารีม อับดุล-จาบาร์" : ตำนานยัดห่วงผู้ทำให้ Superstar เป็น Sneakers เบอร์ 1 ตลอดกาล

"คารีม อับดุล-จาบาร์" : ตำนานยัดห่วงผู้ทำให้ Superstar เป็น Sneakers เบอร์ 1 ตลอดกาล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตลอดประวัติศาสตร์ของวงการ Sneakers หรือที่หลายคนเรียกติดปากว่า รองเท้าผ้าใบ ที่ยาวนานนับ 100 ปีนั้น มีรองเท้ามากมายหลายคู่ที่ถูกยกให้เป็น "ตำนาน"

แม้การจัดอันดับ คัดสรรว่ารองเท้าคู่ไหนคือ "เบอร์ 1 ตลอดกาล" ดูจะเป็นเรื่องยากที่ทำให้ทุกคนเห็นตรงกัน เพราะความชอบของผู้คนนั้นล้วนแตกต่าง หลายคนชอบ Nike บางคนก็ชอบ Converse... แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งใน Sneakers ตำนานตลอดกาล ย่อมต้องมี "Superstar" จากค่าย Adidas รวมอยู่ด้วย

ทุกตำนานย่อมมีผู้ร่วมขีดเขียน และการที่ Superstar กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ดาวค้างฟ้าของวงการรองเท้าได้นั้น ย่อมต้องมีบุคคลที่ร่วมสร้างชื่อเสียงอย่างไม่ต้องสงสัย

 

ซึ่งการที่เขาคนนี้มาเป็นผู้สร้างตำนาน ถือได้ว่ายิ่งกว่าเหมาะสม เพราะเขาคือซูเปอร์สตาร์แห่งวงการบาสเกตบอลตัวจริงเสียงจริง...

คารีม อับดุล-จาบาร์

เมื่อ Superstar ต้องการซูเปอร์สตาร์

แม้บาสเกตบอลจะเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมและเล่นกันอย่างแพร่หลายในไม่กี่ประเทศนักเมื่อเทียบกับหลากหลายกีฬา แต่ประเทศที่เป็นต้นกำเนิด และเป็นประเทศที่มีคนนิยมชมชอบมากที่สุดอย่าง สหรัฐอเมริกา ก็ถือเป็นประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ว่าแบรนด์ใดๆก็หวังที่จะไปพิชิต

 1

Adidas แบรนด์สามแถบจากประเทศเยอรมนีก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญนั้นคือ ฮอร์สท์ ดาสเลอร์ ลูกชายของ อาดิ ดาสเลอร์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ซึ่งต้องการผลักดันแบรนด์นี้ให้ได้รับความนิยมไปทั่วโลก และในทุกวงการ

เมื่อพูดถึงประเทศสหรัฐอเมริกา คริส เซอเวิร์น ที่ปรึกษาในแดนลุงแซมของฮอร์สท์ให้คำแนะนำว่า แม้บาสเกตบอลจะเป็นหนึ่งในกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ทว่าสำหรับรองเท้าบาสเกตบอล กลับยังไม่มีนวัตกรรมใหม่ที่จะมาพลิกโฉมมานานหลายสิบปี

เพราะแม้กาลเวลาจะล่วงเลยเข้าสู่ยุค 1960's แต่เทคโนโลยีที่ใช้ กลับเป็นสิ่งที่ได้รับการพัฒนามาตั้งแต่ต้นคริสตศตวรรษที่ 20 รองเท้าที่ผลิตจากผ้าใบยังคงได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม แม้รองเท้าเหล่านั้นจะมีการซัพพอร์ตเท้าที่ไม่ดีนัก และทำให้มีนักกีฬาต้องเจ็บเข่า และข้อเท้ามาแล้วมากมาย

ด้วยประสบการณ์ในการพัฒนารองเท้าสำหรับการเล่นเทนนิสอย่าง "Stan Smith" (หรือ "Robert Haillet" ในอดีต) ฮอร์สท์, เซอเวิร์น และทีมพัฒนา จึงได้นำมาต่อยอดและปรับปรุงให้เข้ากับกีฬาแม่นห่วง เริ่มจากการคิดค้นพื้นรองเท้าใหม่ที่เรียกว่า "Shell Sole" ที่ยึดเกาะกับพื้นสนามได้ดีแต่ไม่ทิ้งรอยไว้บนพื้น แถมยังเป็นวัสดุที่เบากว่าเทคโนโลยีเดิมถึง 30% รวมถึงใช้แผ่นหนัง ซึ่งยึดเกาะกับเท้าได้ดีกว่า และให้การปกป้องที่มากกว่าผ้าใบ มาเป็นวัสดุของส่วนที่ห่อหุ้มเท้า หรือ Upper จนได้รองเท้ามา 2 รุ่น คือ "Supergrip" ทรงข้อต่ำ (low cut) และ "Pro Model" ทรงข้อสูง (high cut) ในช่วงปี 1964

อย่างไรก็ตาม การจะเปลี่ยนใจคนจากที่เคยใช้ของเดิมๆ มาใช้ของใหม่นั้นถือเป็นเรื่องยาก "Converse All-Stars" ซึ่งเป็นรองเท้าบาสเกตบอลผ้าใบยอดฮิต ที่วางจำหน่ายครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1920's นั้นยังคงฮิตข้ามกาลเวลา เด็กตั้งแต่ชั้นมัธยมถึงระดับอาชีพยังคงใส่อย่างล้นหลาม 

กระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนเมื่อ แจ็ค แมคมาน เฮดโค้ชของซาน ดิเอโก ร็อคเก็ตส์ (ฮิวส์ตัน ร็อคเก็ตส์ ในปัจจุบัน) ต้องปวดเศียรเวียนเกล้า เมื่อผู้เล่นในทีมเจอปัญหารองเท้าลื่นไม่เกาะพื้น จนลื่นล้มบาดเจ็บไป 3 คนพร้อมๆ กัน Adidas เล็งเห็นถึงโอกาสนี้จึงนำรองเท้าของพวกเขาไปเสนอขายให้สวมใส่ จนทีมอื่นได้เห็นและเริ่มมีผลตอบรับที่ดีขึ้นในเวลาต่อมา

 2

ปี 1969 Adidas ตัดสินใจปรับปรุงรองเท้าบาสเกตบอลของพวกเขาใหม่ ด้วยการเพิ่ม "Shell toe" ส่วนห่อหุ้มปลายเท้าที่ทำจากยาง รูปทรงคล้ายเปลือกหอย ซึ่งพวกเขาเคลมว่านอกจากจะเพิ่มความทนทานแล้ว ยังช่วยปกป้องส่วนปลายเท้าของผู้สวมใส่อีกด้วย โดยเทคโนโลยีดังกล่าว พวกเขาแอบใส่นำร่องกับ Supergrip รุ่นปี 1968 เป็นการชิมลางมาระยะหนึ่ง ก่อนที่จะนำมาใช้อย่างเป็นทางการภายใต้ชื่อรุ่นใหม่ "Superstar"

อย่างไรก็ตาม เซอเวิร์นทราบดีว่า การจะทำให้รองเท้ารุ่นใหม่โด่งดังได้ Adidas จำเป็นต้องมีซูเปอร์สตาร์ที่จะช่วยให้ Superstar นั้นเฉิดฉาย ซึ่งในตอนนั้น มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่คู่ควรสำหรับการเสริมบารมี...

คนนั้นคือ คารีม อับดุล-จาบาร์

ครองวงการด้วยตำนาน "สกายฮุค"

อันที่จริง แววในการเป็นดาวดังของ คารีม อับดุล-จาบาร์ นั้นมีมาตั้งแต่ยังใช้ชื่อเดิมตอนเกิด "ลูว์ อัลซินดอร์" แล้ว เมื่อสื่อดังอย่าง Sports Illustrated ให้คำนิยามเขาในปี 1967 ตอนที่เขาลงสนามครั้งแรกให้กับ UCLA หรือมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอส แอนเจลิส ว่า "ซูเปอร์สตาร์คนใหม่" (The New Superstar)

 3

และหลังจากที่เขาประกาศว่าจะเข้าสู่ระดับอาชีพ โดยเป็น มิลวอกี้ บัคส์ ที่เลือกเขาสู่ทีมด้วยฐานะ "ดราฟต์เบอร์ 1" ในปี 1969 อับดุล-จาบาร์ก็โชว์ฟอร์มสุดยอดจนได้รับรางวัลรุกกี้แห่งปี เพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ ฮอร์สท์ ดาสเลอร์ จับเซ็นสัญญาให้สวมรองเท้าของ Adidas ด้วยสัญญา 25,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดในยุคนั้น

แม้จะได้รับสัญญามูลค่ามหาศาล แต่ทางอับดุล-จาบาร์เองก็ยืนยันว่า เสน่ห์ในตัวของรองเท้า คืออีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาเลือกสวม Superstar

"แรกเห็นผมรู้สึกว่า 'ว้าว! รองเท้าหนังเหรอ?' มันเป็นอะไรที่แตกต่างนะ แต่ผมก็อยากที่จะสวมมัน และผมดีใจที่ผมได้ทำ"

"ผมหลงใหลในความจริงที่ว่า Adidas ทำรองเท้าหนัง ซึ่งต่างจากความนิยมของตลาดในตอนนั้นที่นิยมทำรองเท้าผ้าใบ ผมเชื่อว่าด้วยสิ่งนี้ ทำให้รองเท้าของ Adidas มีความทนทานกว่า และใส่กับเท้าผมได้สบายกว่า ดังนั้นผมจึงชอบใส่รองเท้านี้มาก ไม่ใช่ว่าที่ผมชอบ เพราะ Adidas จ่ายเงินให้ผมใส่นะ แต่ผมรู้สึกจริงๆ ว่าในตอนนั้น นี่คือรองเท้าที่ดีที่สุดในท้องตลาด"

อับดุล-จาบาร์มีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า "การจะโชว์ฟอร์มในการแข่งขันให้ดีที่สุดได้ นักกีฬาต้องเลือกใช้อุปกรณ์ที่ดีที่สุดด้วยเช่นกัน"... และเมื่อได้รองเท้าที่เข้าเท้า การโชว์ฟอร์มสุดยอดก็ตามมา เขาคว้าแชมป์ NBA ได้ถึง 6 สมัย (มิลวอกี้ บัคส์ 1 สมัย, ลอส แอนเจลิส เลเกอร์ส 5 สมัย), คว้ารางวัลผู้เล่นทรงคุณค่า หรือ MVP ในฤดูกาลปกติ 6 สมัย และรอบชิงชนะเลิศ 2 สมัย, ติดทีมออลสตาร์ 19 สมัย รวมถึงเป็นเจ้าของสถิติทำคะแนนใน NBA ฤดูกาลปกติสูงสุดตลอดกาล 38,387 คะแนน ซึ่งเป็นสถิติที่อาจไม่มีใครทำลายได้อีกตลอดกาล

แทบทุกความสำเร็จ, ส่วนตัว หรือแม้แต่ท่าไม้ตายที่ทำแต้มมานับไม่ถ้วนอย่าง "สกายฮุค" ล้วนเกิดขึ้นเมื่ออับดุล-จาบาร์สวมใส่รองเท้า Superstar นั่นทำให้ Adidas สามารถนำชื่อของเขา หรือแม้แต่ท่าสกายฮุค ไปใช้ในการโฆษณาได้อย่างไม่เคอะเขิน จนกลายเป็นรองเท้าระดับ Best Seller ที่แฟนบาสเกตบอลทั่วโลกนิยมซื้อมาสวมใส่ 

 4

แต่ความสุดยอดที่สุดที่ Superstar ได้สร้างขึ้นกับวงการแม่นห่วงคือ ในช่วงพีคของการทำตลาดในฐานะรองเท้าบาสเกตบอล มีนักบาสเกตบอลใน NBA ถึง 75% สวมใส่รองเท้ารุ่นนี้ จนรายได้จากกีฬาบาสเกตบอลของ Adidas คิดเป็น 10% จากรายได้ทั้งหมด และนั่นก็ทำให้อับดุล-จาบาร์รับทรัพย์จาก Adidas ไปไม่น้อย รวมถึงเขายังเป็นนักบาสคนแรกใน NBA ที่มีการทำรองเท้าซิกเนเจอร์ หรือรองเท้ารุ่นเฉพาะตัวในปี 1980 อีกด้วย ซึ่งแน่นอน เกิดขึ้นก่อนที่ ไมเคิล จอร์แดน จะแจ้งเกิดกับ Air Jordan ของ Nike เสียอีก

ความนิยมในตัวรองเท้า ทำให้ Adidas ต้องผลิต Superstar ในหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นข้อต่ำหรือข้อสูง Shell toe แบบเต็มหรือแบบครึ่ง ซึ่งได้รับการพัฒนาในภายหลังเพื่อให้นักกีฬาสามารถขยับปลายเท้าได้อย่างเป็นอิสระมากขึ้น... แต่สำหรับอับดุล-จาบาร์ Superstar ที่เขาพอใจในการสวมใส่เป็นอย่างยิ่ง คือรุ่นข้อต่ำ ต่างจากความนิยมของนักบาสส่วนใหญ่ที่มักนิยมใส่รองเท้าข้อสูง ซึ่งเจ้าตัวมีคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า 

"ผมชอบใส่รองเท้าข้อต่ำลงสนามนะ เพราะถ้าคุณสวมแต่รองเท้าข้อสูงที่มีการซัพพอร์ตข้อเท้าจนชิน ข้อเท้าของคุณจะยิ่งอ่อนแอเพราะมันคุ้นชินกับการมีซัพพอร์ตนั่นไง การซ้อมและลงเล่นบาสเกตบอลในรองเท้าข้อต่ำ ทำให้ข้อเท้าของคุณได้เคลื่อนที่จนคุ้นชินกับการรับแรงกระแทกและแรงช็อก แต่หากข้อเท้าของคุณถูกล็อกด้วยรองเท้า แรงช็อกที่เกิดขึ้นจะไปเกิดกับข้อต่อส่วนที่เคลื่อนที่ได้จุดต่อไป ซึ่งก็คือเข่า นั่นไม่ใช่เรื่องดีเลย ผมจึงมองว่า การสวมรองเท้าข้อต่ำคือทางเลือกอันชาญฉลาดกว่า เพราะมันเป็นการฝึกให้คุณต้องมีข้อเท้าที่แข็งแรง ซึ่งจำเป็นกับกีฬาบาสเกตบอลเช่นกัน"

"แต่เมื่อพูดถึงยุคนี้ ที่รองเท้าบาสเกตบอลข้อสูงมีให้เลือกกันดาษดื่น ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจนักหรอกนะว่า มันเป็นความต้องการของแบรนด์ที่จะขายของหรือเปล่า แต่บางคนก็รู้สึกสบายใจที่จะใส่รองเท้าข้อสูง ที่สุดแล้ว มันก็เป็นทางเลือกเฉพาะของแต่ละคน ว่าใส่แบบไหนแล้วรู้สึกสบายที่สุด เท่านั้นเอง"

คลื่นระลอกที่สองสู่ความนิยมตลอดกาล

ทุกวันนี้ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า วัฒนธรรม Sneakers นั้นได้แผ่ขยายไปทั่วโลก จากวงการกีฬาที่เป็นจุดเริ่มต้น ทุกวันนี้ การสวมใส่รองเท้าผ้าใบในชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่ออกงานสังคม กลายเป็นสิ่งธรรมดาที่พบได้โดยทั่วไป 

 5

หลายคนมองว่า วงการกีฬาที่นับวันยิ่งเติบโต คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรม Sneakers โตขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ทว่าอับดุล-จาบาร์กลับไม่เห็นเช่นนั้น

"ผมไม่คิดว่าการที่รองเท้าสักคู่ได้รับความนิยมจะมาจากผลงานในสนามนะ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือคนที่ใส่มันต่างหาก หากมีนักกีฬาสักคนที่เก่งกาจระดับครองวงการ และมีเสน่ห์ให้คนติดตาม อุปกรณ์ต่างๆ ที่ผู้เล่นคนนั้นใช้ก็จะกลายเป็นที่นิยมเอง"

แน่นอน ฝีมือและผลงานความสำเร็จของตัวอับดุล-จาบาร์เอง คือส่วนสำคัญที่ทำให้ Superstar กลายเป็นรองเท้ายอดนิยม แต่การที่รองเท้ารุ่นนี้ได้รับความนิยมจนกลายเป็นหนึ่งใน Sneakers ที่โด่งดังที่สุดตลอดกาล ปฏิเสธไม่ได้ว่า การสร้างคลื่นระลอกสองเพื่อนำมาซึ่งกระแสนั้น สำคัญไม่แพ้กัน

และผู้ที่สร้างคลื่นแห่งความนิยมระลอกสองของ Adidas Superstar นั้นก็คือ เหล่าศิลปิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปินฮิปฮอปหรือแร็ปเปอร์ โดยเป็น Run-D.M.C. วงฮิปฮอปจากย่านควีนส์แห่งมหานครนิวยอร์ก ที่เริ่มเทรนด์ในการสวมทุกสิ่งที่สวมกันในชีวิตประจำวันขึ้นเวทีคอนเสิร์ต ซึ่งรวมถึงรองเท้า Adidas Superstar ความชื่นชอบในแบรนด์สามแถบของวงนี้ มากเสียจนถึงขนาดปล่อยซิงเกิล "My Adidas" ในปี 1986  

ความรักและภักดีในแบรนด์ Adidas ของ Run-D.M.C. ได้จุดประกายให้แบรนด์สามแถบเปิดตลาดใหม่ นั่นคือการใช้ศิลปินดาราเป็นพรีเซนเตอร์ของแบรนด์ เพื่อผสานวงการกีฬา, บันเทิง และแฟชั่นเป็นหนึ่งเดียว เราจึงได้เห็นเหล่าเซเลบริตี้ที่ตามรอยนักกีฬาสู่การเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ ไม่ว่าจะเป็น มิสซี่ เอลเลียต, ฟาร์เรลล์ วิลเลี่ยมส์, บียอนเซ่ หรือแม้แต่วง Blackpink

และแน่นอน Superstar ก็กลายเป็นรองเท้ารุ่นสำคัญที่เหล่าคนดังสวมใส่ จนกลายเป็นหนึ่งในรุ่นยอดฮิตตลอดกาลในทุกวงการ ที่ไม่ว่าจะไปที่ไหน ก็มักจะพบคนสวมใส่ให้เห็นโดยทั่วไป

ซึ่งแม้แต่อับดุล-จาบาร์เองก็ยอมรับว่า การที่เหล่าดารา นักร้อง เซเลบริตี้ หยิบรองเท้าบาสเกตบอลอย่าง Superstar มาสวมใส่ ทำให้รองเท้าที่มีเขาเป็นผู้สร้างชื่อคนแรกโด่งดังเหนือกาลเวลากระทั่งทุกวันนี้

 6

"ผมคิดว่าเมื่อพูดถึงสไตล์ เมื่อแร็ปเปอร์เริ่มใส่อุปกรณ์กีฬาในฐานะเครื่องแต่งกายที่บ่งบอกถึงสไตล์ มันโดนใจผู้คนมากมายนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาหรือเมืองใหญ่ๆ ผมคิดว่าความจริงที่คนซึ่งอยู่นอกวงการกีฬา ชอบอุปกรณ์กีฬาและใช้มันในฐานะสิ่งที่บ่งบอกถึงสไตล์ มันเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งไปเลย"

"แต่ผมก็ไม่รู้เหมือนกันนะ ว่าทำไมรองเท้าบาสเกตบอลถึงกลายเป็นจุดเริ่มต้น และกลายเป็นเทรนด์ยอดฮิตแบบนี้" อับดุล-จาบาร์ ซูเปอร์สตาร์ที่สร้างตำนานแห่ง Superstar ทิ้งท้ายก่อนจะหัวเราะร่วนอย่างอารมณ์ดี

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ "คารีม อับดุล-จาบาร์" : ตำนานยัดห่วงผู้ทำให้ Superstar เป็น Sneakers เบอร์ 1 ตลอดกาล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook