"รอน ซิมมอนส์" : แชมป์โลกมวยปล้ำผิวสีคนแรก ผู้สร้างแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นหลัง
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/sp/0/ud/207/1038301/t.jpg"รอน ซิมมอนส์" : แชมป์โลกมวยปล้ำผิวสีคนแรก ผู้สร้างแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นหลัง

    "รอน ซิมมอนส์" : แชมป์โลกมวยปล้ำผิวสีคนแรก ผู้สร้างแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นหลัง

    2019-11-28T13:06:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    “นักมวยปล้ำผิวดำไม่ต้องการบทบาทหรอก เพราะผิวสีดำนั่นแหละคือบทบาทของพวกเขา”

    คำกล่าวของโปรดิวเซอร์รายหนึ่งใน WWE สะท้อนความเหลื่อมล้ำและแบ่งแยกทางสีผิวในวงการมวยปล้ำได้เป็นอย่างดี 

    นักมวยปล้ำเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน มักได้รับบทบาทเป็นนักมวยปล้ำฝ่ายอธรรม หรือ นักมวยปล้ำตลก เพื่อเรียกเสียงหัวเราจากคนดู ทั้งที่นักมวยปล้ำเหล่านี้ เปี่ยมไปด้วยความสามารถ เกินกว่าที่ใครจะจินตนาการได้

     

    ท่ามกลางการถกเถียงถึงการเลือกปฏิบัติต่อนักมวยปล้ำผิวสี ชายคนหนึ่งได้จารึกหน้าประวัติศาสตร์ไว้หลายสิบปีก่อน พร้อมกับยืนยันให้โลกทั้งใบเห็นว่า นักมวยปล้ำผิวสีก็สามารถขึ้นไปยืนบนจุดสูงสุดของวงการได้เหมือนกัน

    ชายคนนั้นคือ รอน ซิมมอนส์ แชมป์โลกมวยปล้ำผิวสีคนแรก ผู้สร้างแรงบันดาลใจแก่นักมวยปล้ำผิวสีรุ่นหลัง ให้มุ่งมั่นและไม่ยอมแพ้ต่อความไม่เป็นธรรมในวงการมวยปล้ำจนถึงทุกวันนี้

    ตำนานอเมริกันฟุตบอล

    รอน ซิมมอนส์ ไม่ได้ชักพาตัวเองเข้าสู่วงการกีฬาในฐานะนักมวยปล้ำ เขาสร้างชื่อเสียงให้แก่ตัวเอง จากการเล่นอเมริกันฟุตบอลในระดับมหาวิทยาลัย โดยซิมมอนส์ เล่นตำแหน่งเชิงรับอย่าง ดีเฟนซีฟ แท็คเกิล (Defensive tackle) ให้แก่มหาวิทยาลัยรัฐฟลอริดา (Florida State University)

     1

    ตลอดระยะเวลา 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัย (1977-1980) รอน ซิมมอนส์ ประสบความสำเร็จมากมายในสังเวียนคนชนคน เขาเริ่มต้นฤดูกาลแรกในฐานะเฟรชแมน ด้วยการคว้ารางวัลผู้เล่นแห่งเกม 4 ครั้ง และได้รับรางวัลดีเฟนซีฟ ไลน์แมน แห่งปี

    ความแข็งแกร่งจากน้ำหนัก 235 ปอนด์ ผสานเข้ากับความรวดเร็วจากสรีระที่ว่ากันว่าเป็นพรสวรรค์จากพระเจ้าของชาวผิวสี รอน ซิมมอนส์ สร้างตำนานของเขาต่อไป ด้วยการติดทีมออล อเมริกัน (All-American) หรือทีมผู้เล่นแห่งปี ในปี 1979 และ 1980 รวมถึงติดทีมผู้เล่นยอดเยี่ยมของภาคใต้ถึง 3 ครั้ง 

    ผลงานที่กล่าวมาของ รอน ซิมมอนส์ ทำให้เบอร์เสื้อหมายเลข 50 ของเขา ถูกรีไทร์โดยมหาวิทยาลัยรัฐฟลอริดา ถือเป็นนักอเมริกันฟุตบอลคนที่สามในระดับมหาวิทยาลัย ที่ได้รับเกียรติยศอันสูงส่งนี้ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า รอน ซิมมอนส์ จะได้รับการคาดหวังมากแค่ไหน เมื่อก้าวสู่การแข่งขันอาชีพในศึก NFL

    หากแต่เส้นทางของ รอน ซิมมอนส์ บนลีกกีฬาที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก กลับไม่เป็นไปอย่างที่ทุกคนหวัง หลังถูกดราฟต์โดย คลีฟแลนด์ บราวน์ส เขามีส่วนร่วมกับทีมแค่ช่วงก่อนเปิดฤดูกาล และไม่ได้โอกาสลงเล่นแม้แต่นัดเดียวในฤดูกาลจริง

     2

    รอน ซิมมอนส์ ยังคงดิ้นรนบนเส้นทางนักอเมริกันฟุตบอลต่อไป แม้จะล้มเหลวในฤดูกาลรุกกี้ของตัวเอง เขาย้ายไปเล่นในลีกที่ต่ำกว่า NFL อย่าง แคนาเดียน ฟุตบอล ลีก (CFL) และ สหรัฐ ฟุตบอล ลีก (USFL) แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จกับทั้งสองทีมที่เขาเดินทางไปร่วมสังกัด

    เส้นทางการเป็นนักกีฬาของ รอน ซิมมอนส์ คงจะจบลงเพียงเท่านี้ หลังการล่มสลายของ USFL ในปี 1986 หากเขาไม่พบเจอกับ เล็กซ์ ลูเกอร์ เพื่อนร่วมทีมแทมปา เบย์ บันดิทส์ ผู้หันหน้าเข้าสู่วงการมวยปล้ำในปี 1985 ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้ รอน ซิมมอนส์ ทิ้งหมวกเล็กและสนามหญ้า เพื่อก้าวมาทดสอบความสามารถบนสังเวียนมวยปล้ำในเวลาต่อมา

    อุปสรรคจากสีผิว

    รอน ซิมมอนส์ เริ่มต้นอาชีพนักมวยปล้ำในปี 1987 กับสมาคมจิม คร็อกเกต โปรโมชัน หรือ WCW ในเวลาต่อมา เขาใช้เวลาไม่นานที่จะทำให้ผู้ชมประทับใจในความสามารถของเขา ด้วยพละกำลังและความเร็วที่ยังติดตัวซิมมอนส์ เหมือนวันเวลาที่เป็นนักอเมริกันฟุตบอล นักกีฬาผิวสีรายนี้จึงสร้างชื่อเสียงให้แก่ตัวเองได้อย่างรวดเร็ว

     3

    โชคร้ายของรอน ซิมมอนส์ ที่วงการมวยปล้ำไม่ใช่กีฬาร้อยเปอร์เซนต์ แต่เป็นกีฬาพื่อความบันเทิง หรือ Sport Entertainment ที่ต้องพึ่งรูปลักษณ์ของนักแสดง ซึ่งในที่นี้ก็คือ นักมวยปล้ำเป็นส่วนสำคัญ เรื่องดังกล่าวจึงกลายเป็นปัญหาใหญ่แก่ รอน ซิมมอนส์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

    ประเด็นที่ละเอียดอ่อน แต่ต้องยอมรับว่าเป็นเหตุผลสำคัญมากที่สุด ที่ขัดขวางไม่ให้ รอน ซิมมอนส์ ก้าวไปถึงจุดสูงสุดของวงการ คือสีผิวของเขาเอง 

    เห็นได้ชัดจากประวัติศาสตร์ที่ยาวนานเกือบ 50 ปีของวงการมวยปล้ำอาชีพ มีการบันทึกไว้อย่างชัดเจนว่า ไม่มีนักมวยปล้ำผิวดำรายใด ก้าวขึ้นมาคว้าเข็มขัดแชมป์โลกแม้แต่รายเดียว ไม่ว่าจะเป็นสถาบันใดก็ตาม

    ตัวอย่างที่เปรียบเทียบความเหลื่อมล้ำนี้ได้ชัดเจนที่สุด คงหนีไม่พ้น เล็กซ์ ลูเกอร์ อดีตเพื่อนร่วมทีมอเมริกันฟุตบอลของ อรน ซิมมอนส์ ที่นอกจากรูปร่างกำยำและผมสีบลอนด์เงางาม ราวกับหลุดมาจากตำนานกรีกโบราณ ฝีมือการปล้ำของเขาถือได้ว่าย่ำแย่ และถูกสาปส่งจากแฟนรุ่นหลัง ว่าเป็นนักมวยปล้ำที่ถูกผลักดันเกินจริงมากที่สุดคนหนึ่ง

    แต่อย่างที่กล่าวว่า มวยปล้ำคือกีฬาที่บางครั้งภาพลักษณ์สำคัญกว่าฝีมือ ยิ่งย้อนเวลากลับไปช่วงยุค 1980s เรื่องดังกล่าวคือความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ เล็กซ์ ลูเกอร์ ถูกผลักดันให้เปิดศึกกับ เดอะ โฟร์ ฮอร์สแมน (The Four Horsemen) หนึ่งในกลุ่มมวยปล้ำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล ก่อนคว้าแชมป์โลกมาครองได้สำเร็จในปี 1991

    ในช่วงเวลาเดียวกัน รอน ซิมมอนส์ ได้รับการแก้ไขปัญหาของเขา ด้วยสูตรสำเร็จของวงการมวยปล้ำ นั่นคือ เมื่อคุณมีนักมวยปล้ำฝีมือดีแต่รูปลักษณ์ไม่ได้ วิธีการที่จะผลักดันนักมวยปล้ำคนนั้น คือหานักมวยปล้ำฝีมือดีแต่รูปลักษณ์ไม่ได้มาอีกคน แล้วเอาพวกเขามาคู่กันเป็นมวยปล้ำแบบแท็กทีมขึ้นมา

     4

    รอน ซิมมอนส์ จึงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของแท็กทีมที่ชื่อว่า ดูม (Doom) ในปี 1989 ด้วยเคมีที่เข้ากันและความสามารถอันทรงพลัง เขาและคู่แท็กทีมผิวสี บุตช์ รีด กลายเป็นแท็กทีมฝั่งอธรรมที่มาแรง และได้รับความนิยมจากแฟนมวยปล้ำ จนกลายเป็นแชมป์โลกแท็กทีม WCW ทีมแรกในประวัติศาสตร์

    หลังจากนั้นไม่นาน WCW ตัดสินใจผลักดัน รอน ซิมมอนส์ ในฐานะนักมวยปล้ำเดี่ยว เขาแยกจากทีมดูม และพลิกเป็นฝ่ายธรรมะ ก่อนก้าวขึ้สู่จุดสูงสุดของอาชีพนักมวยปล้ำ ด้วยการท้าชิงแชมป์โลก WCW จาก เล็กซ์ ลูเกอร์ ในเดือนตุลาคม ปี 1991

    การปะทะกันระหว่างอดีตเพื่อนร่วมทีมแทมปา เบย์ บันดิทส์ จบลงด้วยชัยชนะของ เล็กซ์ ลูเกอร์
    ตามความคาดหมาย แต่เรื่องราวที่สร้างเสียงอื้อฉาวไปทั่ววงการ คือ บทที่ลูเกอร์เชิญชวนรอน ซิมมอนส์ เข้าเป็นพวกของเขา แต่ไม่ใช่ในฐานะเพื่อนนักมวยปล้ำที่เท่าเทียมกัน ลูเกอร์ต้องการซิมมอนส์ ให้เข้ามารับบาทเป็นโชเฟอร์ส่วนตัวของเขา

    แน่นอนว่าเรื่องดังกล่าว เป็นไปตามบทบาทที่ได้ถูกขีดเขียนไว้ และลูเกอร์ไม่ได้มีเจตนาใดนอกจากดูหมิ่นรอน ซิมมอนส์ ตามหน้าที่นักมวยปล้ำฝ่ายอธรรม

    แต่เรื่องดังกล่าวสะท้อนถึงการเหยียดสีผิวที่แอบแฝงในวงการมวยปล้ำขณะนั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์แล้ว ดูเหมือนว่าจะไม่มีวันที่ รอน ซิมมอนส์ นักมวยปล้ำผิวสีมากฝีมือรายนี้ จะก้าวไปคว้าแชมป์โลกมาครองได้ดั่งที่ควรจะเป็น

    แชมป์โลกส้มหล่น

    หลังพลาดคว้าแชมป์โลก รอน ซิมมอนส์ ต้องกลับมาเป็นนักมวยปล้ำระดับกลางอีกครั้ง เขาใช้เวลาครึ่งปีแรกด้วยการเปิดศึกกับนักมวยปล้ำหน้าใหม่มาแรง แคคตัส แจ็ค โดยทั้งคู่สร้างชื่อให้กับตัวเองจากการเปิดศึกครั้งนี้ และ รอน ซิมมอนส์ กลับมาเป็นที่นิยมของแฟนมวยปล้ำอีกครั้ง

     5

    ในช่วงเวลานั้นเอง WCW กำลังดิ้นรนอย่างหนักเพื่อต่อสู้กับ WWF (WWE ในปัจจุบัน) โดยผู้ที่รับหน้าที่ดูแล WCW ในขณะนั้นคือ บิลล์ วัตตส์ โปรโมเตอร์ชื่อดังในยุค 1980s ที่เคยผลักดันสมาคมขนาดเล็ก วัตตส์ มิด-เซาธ์ เรสลิง (Watts’s Mid-South Wrestling) ให้กลายเป็นหนึ่งค่ายมวยปล้ำที่ร้อนแรงที่สุดในสหรัฐอเมริกามาแล้ว

    การจะเอาชนะ WWF ให้ได้ตามเป้าหมาย WCW จึงจัดการคว้าตัว “เดอะ สเนค” เจค โรเบิร์ตส์ เข้ามาสู่สมาคม และพร้อมเปิดตัวแบบเซอร์ไพรส์แฟนๆ ในโชว์มวยปล้ำแบบไม่ถ่ายทอดออกโทรทัศน์ หรือ เฮาส์โชว์ ประจำวันที่ 2 สิงหาคม 1992 ณ เมืองบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์

    ความต้องการที่จะเปิดตัว เจค โรเบิร์ตส์ ทำให้แผนที่วางมาอย่างเนิ่นนานต้องเปลี่ยนแปลงแบบกะทันหัน บิลล์ วัตตส์ ตัดสินใจให้ สติง ผู้ท้าชิงแชมป์โลก WCW จากเวเดอร์ ถูกลอบทำร้าย จนหมดสิทธิ์ท้าชิงแชมป์โลกในคืนดังกล่าว

    สิ่งที่ บิลล์ วัตตส์ ไม่เคยคิดถึงเลยคือ คู่ชิงแชมป์โลกที่ได้กำหนดเอาไว้ ต้องได้รับผลกระทบจากการหายไปของสติง บิลล์ วัตตส์ ต้องแก้สถานการณ์ด้วยการหานักมวยปล้ำสักคนมาเจอกับเวเดอร์ ก่อนจะถูกฟ้องร้องจะแฟนมวยปล้ำทั้งบัลติมอร์ ในข้อหาโฆษณาหลอกลวง หากไม่แมตช์การปล้ำชิงแชมป์โลกตามที่แจ้งเอาไว้ล่วงหน้า

    ขณะที่วุ่นวายกับการหาตัวแทนที่เหมาะสมที่สุด บิลล์ วัตตส์ จุดประกายไอเดียบรรเจิดในหัวของเขา นอกจากการเปิดตัว เจค โรเบิร์ตส์ แล้ว บิลล์ วัตตส์ จะสร้างความประหลาดใจให้แก่โลกมวยปล้ำแบบคูณสอง ด้วยการเขียนบทให้รอน ซิมมอนส์ เป็นแชมป์โลกผิวสีคนแรกในประวัติศาสตร์

    “คืนนั้นแฟนมวยปล้ำได้เห็นเหตุการณ์ที่มันสมจริงที่สุดในวงการมวยปล้ำ และมันยากมากที่คุณจะได้เห็นเรื่องราวแบบนี้ เพราะว่าไม่มีใครรู้เลยว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้น แม้แต่ผมเองก็ยังไม่รู้เลยว่า ผมจะสามารถคว้าแชมป์โลกได้ในคืนนั้น”

     6

    คำกล่าวด้านบนของ รอน ซิมมอนส์ ไม่ได้เกินความจริงเลยแม้แต่น้อย ภาพของนักมวยปล้ำผิวสีถือเช็มชัดแชมป์โลกสีทองสวยงาม คือภาพที่ไม่เคยเกิดขึ้นตลอดช่วงเวลา 50 ปี นับตั้งแต่วงการมวยปล้ำมีสิ่งที่เรียกว่าแชมป์โลก ไม่มีใครเคยจินตนาการถึงภาพนั้นมาก่อน แม้แต่ รอน ซิมมอนส์ เองก็ตาม

    คนเดียวที่มองเห็นภาพนั้นในหัว คือ บิลล์ วัตตส์ เพราะเขาเคยผลักดันนักมวยปล้ำผิวสี จังก์ยาร์ด ด็อก ให้โด่งดังมาแล้วในช่วง 1980s แต่เหตุผลเดียวที่ จังก์ยาร์ด ด็อก ไปไม่ถึงแชมป์โลก เนื่องจากรูปร่างของเขาที่อ้วนฉุ เมื่อบวกกับผิวสีที่แตกต่าง การฝันถึงแชมป์โลกของจังก์ยาร์ด ด็อก ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย

    อย่างไรก็ตาม รอน ซิมมอนส์ ไม่ได้มีรูปร่างแบบจังก์ยาร์ด ด็อก เขาคืออดีตนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล และมีรูปร่างดูเป็นนักกกีฬาที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะมีได้ บิลล์ วัตตส์ จึงมั่นใจว่า รอน ซิมมอนส์ คือคนที่เขาตามหา และตัดสินใจแบบฉับพลัน มอบตำแหน่งแชมป์โลก WCW ให้แก่ รอน ซิมมอนส์

    วันที่ 2 สิงหาคม 1992 ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในวงการมวยปล้ำจึงได้ถูกจารึก รอน ซิมมอนส์ ใช้ท่าเพาเวอร์สแลม เล่นงานเวเดอร์ ก่อนจับกดนับสาม กลายเป็นนักมวยปล้ำเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันคนแรก ที่คว้าแชมป์โลกมวยปล้ำมาครองอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางเสียงโห่ร้องด้วยความดีใจ ของแฟนมวยปล้ำ 8,000 รายในค่ำคืนนั้น

    “เมื่อผมย้อนกลับไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น และมองไปยังหน้าของแฟนๆที่กำลังมองสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า หากคุณยังไม่รู้สึกอะไร ผมคงต้องบอกว่า คุณมันไม่ใช่มนุษย์แล้ว” รอน ซิมมอนส์ ย้อนความรู้สึกวันประวัติศาสตร์

    “ทุกครั้งที่ผมย้อนกลับไปดูเรื่องราวในวันนั้น ผมพูดตรงๆเลยว่า มันทำให้ผมขนลุกและเกือบจะร้องไห้ออกมาทุกครั้ง”

    แรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่

    ภายหลัง รอน ซิมมอนส์ คว้าแชมป์โลก WCW ได้ไม่นาน ภาพของค่ำคืนประวัติศาสตร์ได้ถูกบันทึกเทป และถ่ายทอดทางโทรทัศน์ ให้แฟนมวยปล้ำทั่วโลกได้จดจำถึงแชมป์โลกผิวสีคนแรกของวงการ เหตุการณ์นี้สร้างแรงสั่นสะเทือนแก่วงการมวยปล้ำ จน รอน ซิมมอนส์ ได้รับรางวัลนักมวยปล้ำผู้สร้างสรรค์แรงบันดาลใจ จากสถาบัน PWI ในปี 1992

     7

    โชคร้ายที่รางวัลดังกล่าว คือความสำเร็จเดียวที่ รอน ซิมมอนส์ ได้จากการเขียนประวัติศาสตร์ เขาไม่ได้รับความนิยมนักในฐานะแชมป์โลก จนเสียแชมป์คืนให้แก่เวเดอร์ในอีก 5 เดือนต่อมา ขณะที่ บิลล์ วัตตส์ ต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจที่ผิดพลาด ด้วยการถูกเด้งออกจาก WCW

    ความล้มเหลวในการถือครองแชมป์โลกของ รอน ซิมมอนส์ กลายเป็นหลักฐานยืนยันว่า นักมวยปล้ำผิวสีดีไม่พอที่จะถือแชมป์โลก โดยคนแรกที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ หนีไม่พ้นรอน ซิมมอนส์ เอง เขาไม่เคยถูกผลักดันกลับสู่ระดับสูงอีกเลย หลังจากเสียแชมป์ จนปี 1994 ซิมมอนส์จึงตัดสินใจออกจาก WCW เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ในสมาคมอื่น

    ปี 1996 รอน ซิมมอนส์ ย้ายสู่ WWF และเปลี่ยนชื่อเป็นฟารุค หัวหน้ากลุ่มเนชัน ออฟ ดอมมิเนชัน (Nation of Domination) ทีมมวยปล้ำฝั่งอธรรมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่ม เนชัน ออฟ อิสลาม (Nation of Islam) กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวมุสลิมในสหรัฐอเมริกา ที่มีแนวคิดสนับสนุนกลุ่มคนผิวสี และเหยียดชาวยิว

    บทบาทที่แสดงออกมาของ รอน ซิมมอนส์ ในนามฟารุค จึงไม่ต่างอะไรจากนักมวยปล้ำแนวคิดเผด็จการ ที่ใช้ความเป็นอื่นทั้งทางเชื้อชาติและศาสนา เข้ามาเรียกเสียงโห่จากคนดู ไม่ต้องสงสัยเลยว่าซิมมอนส์ไม่ประสบความสำเร็จอะไร ในฐานะหัวหน้า Nation of Domination ก่อนถูกเตะออกจากลุ่มไปในที่สุด

    เส้นทางหลังจากนั้น รอน ซิมมอนส์ ลดลงมาเป็นนักมวยปล้ำระดับล่าง เขาจับคู่กับแบรดชอว์ สร้างแท็กทีมที่แฟนมวยปล้ำชาวไทยรู้จักกันดีในนาม APA ก่อนปรากฏตัวแบบเป็นครั้งคราว เพื่อพูดคำว่า “DAMN!” เพื่อเรียกเสียงฮาจากคนดู หลังประกาศเลิกปล้ำในปี 2004

     8

    ยิ่งเวลาผ่านไปมากเท่าใด การจดจำ รอน ซิมมอนส์ ในฐานะแชมป์โลกผิวสีคนแรกยิ่งลดน้อยลงเท่านั้น เช่นเดียวกับการผลักดันนักมวยปล้ำแอฟริกัน-อเมริกัน สู่ตำแหน่งแชมป์โลกที่ถูกมองข้ามเสมอในสมาคมยักษ์ใหญ่อย่าง WWE

    นับตั้งแต่เอาชนะ WCW และขึ้นครองความยิ่งใหญ่ในวงการมวยปล้ำแต่เพียงผู้เดียว WWE แทบจะไม่ผลักดันนักมวยปล้ำผิวสีให้คว้าตำแหน่งแชมป์โลกเลย มีเพียง 2 ครั้งเท่านั้นที่ WWE เลือกนักมวยปล้ำผิวสีเป็นแชมป์โลก คือ คิง บูเกอร์ ในปี 2006 และ มาร์ค เฮนรี่ ในปี 2011

    การคว้าแชมป์ทั้งสองครั้งที่กล่าวมา นักมวยปล้ำผิวสีรับบทบาทเป็นนักมวยปล้ำฝ่ายอธรรม แถมแชมป์โลกที่พวกเขาคว้ามาได้ ยังเป็นแชมป์โลกเฮฟวีเวต อันเป็นเข็มขัดแชมป์โลกเส้นรองของสมาคม

    แม้สุดท้ายความฝันที่นักมวยปล้ำผิวสีรอคอยมาอย่างยาวนานจะเป็นจริง เมื่อ โคฟี คิงสตัน นักมวยปล้ำเชื้อสายกาน่า คว้าแชมป์โลก WWE แชมป์โลกเส้นใหญ่ที่สุดของค่าย มาครองต่อหน้าแฟนมวยปล้ำ 82,265 ราย ในศึกเรสเซิลมาเนีย 35

    แต่การคว้าแชมป์ของ โคฟี คิงสตัน มีเหตุผลมาจากความต้องการที่จะตอบแทนนักมวยปล้ำรายนี้ หลังจากทำงานนักเพื่อสมาคมมากว่า 10 ปี ซึ่งในกรณีของมาร์ค เฮนรี่ ที่คว้าแชมป์โลกเฮฟวีเวตในปี 2011 ก็มีเหตุผลเบื้องหลังการคว้าแชมป์คล้ายกันกับคิงสตัน คือเป็นรางวัลจากการทำงานหนักยาวนานกว่า 10 ปี

    ถึงจะถูกปฏิบัติด้วยมาตรฐานที่ต่ำกว่า แต่นักมวยปล้ำผิวสีไม่เคยย่อท้อที่จะพิสูจน์ตัวเองในวงการมวยปล้ำ นักสู้เชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน ยังคงหลั่งไหลเข้าสู่วงการเพิ่มขึ้นทุกปี โดยหวังว่าจะก้าวไปยืนบนจุดสูงสุดของวงการให้ได้สักครั้ง แม้ว่าจะต้องเจออุปสรรคมากมายแค่ไหน

     9

    การสร้างประวัติศาสตร์ของ รอน ซิมมอนส์ จึงอาจไม่เปลี่ยนภาพลักษณ์ของนักมวยปล้ำผิวสี ในมุมมองของผู้บริหารค่ายมวยปล้ำเท่าใดนัก แต่สำหรับมุมของตัวนักกีฬา พวกเขาเชื่อว่านักมวยปล้ำผิวสี สามารถก้าวไปสร้างความยิ่งใหญ่ 
    และทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเป็นไปได้ เหมือนดั่งที่ รอน ซิมมอนส์ เคยทำเอาไว้ในปี 1992

    “มันคือบางสิ่งที่คุณไม่สามารถลืมได้หรอก และคุณไม่ได้รู้สึกภูมิใจกับความสำเร็จของตัวเองอย่างเดียว มันยังสร้างสิ่งพิเศษให้คนที่เดินมาหาคุณแล้วพูดว่า ‘ขอบคุณที่สร้างแรงบันดาลใจจากการคว้าแชมป์โลกในคืนนั้น ไม่ใช่แค่เพราะผมต้องการเป็นแชมป์โลก แต่มันยังสร้างแรงบันดาลใจให้ผมกล้าทำสิ่งใหม่ในชีวิต’”

    “ตอนนี้ผมรู้สึกว่า ผมไม่สามารถหาคำชื่นชมไหนที่จะยอดเยี่ยมกว่านี้ได้อีกแล้ว” รอน ซิมมอนส์ กล่าวถึงผลลัพธ์ของประวัติศาสตร์ที่เขาเขียนเอาไว้

    อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

    อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ "รอน ซิมมอนส์" : แชมป์โลกมวยปล้ำผิวสีคนแรก ผู้สร้างแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นหลัง