ทำไมการคว้าแชมป์ของ "เชียงราย" จึงน่าจดจำที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยลีก?

ทำไมการคว้าแชมป์ของ "เชียงราย" จึงน่าจดจำที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยลีก?

ทำไมการคว้าแชมป์ของ "เชียงราย" จึงน่าจดจำที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยลีก?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตลอด 23 ฤดูกาลของศึกฟุตบอล โตโยต้า ไทยลีก มีเพียง 12 ทีมเท่านั้นที่เคยก้าวขึ้นไปถึงจุดสูงสุดในตำแหน่ง แชมป์

ทุกๆ ฤดูกาลย่อมมีเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกับการแข่งขันที่ยิ่งสูงขึ้น ตามงบประมาณการลงทุนที่แต่ละบรรดาทีมชั้นนำ ต่างใช้เงินกันอย่างมหาศาลนับ 10 หลัก เพื่อต่อสู้แย่งถ้วยลีกสูงสุดมาครอง 

ช่องว่างระหว่างทีมขนาดเล็ก ขนาดกลาง กับทีมยักษ์ใหญ่ นับวันยิ่งห่างออกไป อย่างที่เห็นว่าตลอด 10 ฤดูกาลที่ผ่านมา มีเพียงแค่ "เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด" กับ "บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด" สองทีมยักษ์ใหญ่ที่สลับผลัดเปลี่ยนกันเป็นแชมป์

 

กระทั่งฤดูกาล 2019 "สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด" ได้ทำให้บทสรุปของฟุตบอลไทย เปลี่ยนแปลงไป พวกเขาพลิกกลับมาคว้าแชมป์ โตโยต้า ไทยลีก ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร ขณะที่เหลืออีกไม่เพียงกี่นาทีก่อนฤดูกาลจะสิ้นสุดลง 

มันคงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ หาก สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด จะครองแชมป์ไทยลีกได้ เมื่อประมาณ 1-2 ปีก่อน เพราะตอนนั้นพวกเขามีความพร้อมสุดๆ ทั้งขุมกำลังผู้เล่นระดับบิ๊กเนม ภายใต้การคุมทัพของกุนซือผู้เลื่องชื่อ รวมถึงงบประมาณการทำทีมที่ทุ่มกันสุดตัว 

 1

แต่ซีซั่นนี้ กว่างโซ้งมหาภัย ทำสำเร็จ ในปีที่พวกเขาเผชิญกับปัญหามากมายทั้งในและนอกสนาม, ปีที่ลดขนาดทีม, ลดงบประมาณการทำทีม, ใช้งานผู้เล่นทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด หลายคนถูกโละมาจากทีมเก่า บางคนถูกดันขึ้นมาจากทีมเยาวชน และนักเตะต่างชาติเกรดรอง 

การคว้าแชมป์ครั้งนี้ จึงมีความพิเศษ และสามารถพูดได้เลยว่าเป็น แชมป์ไทยลีกที่น่าจดจำมากสุดทีมหนึ่ง ในประวัติศาสตร์ฟุตบอล โตโยต้า ไทยลีก 

เพราะประวัติศาสตร์หน้านี้ ถูกบันทึกขึ้น ในยุคที่เกมลูกหนังบ้านเราแข่งขันด้วยทุนนิยมอย่างเต็มตัว แต่เชียงรายกลับพิสูจน์อะไรบางอย่างให้เกิดขึ้นจริงได้?

ลมพายุแห่งความเปลี่ยนแปลง

สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด สโมสรฟุตบอลจากภาคเหนือทีมแรกในประวัติศาสตร์ โตโยต้า ไทยลีก ย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ของการก่อตั้ง 

หลายคนอาจจะจดจำ "เชียงราย" ได้ดี ในฐานะสโมสรทุนหนา ที่มีความทะเยอทะยาน อยากขยับตัวเองจากทีมกลางตาราง ขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ฟุตบอลไทย พวกเขาประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งที่น่าพอใจ เมื่อกวาดแชมป์ฟุตบอลถ้วยทุกรายการในประเทศ ได้ตลอดช่วงปี 2017-2018

แต่นั่นเป็นเพียงเรื่องราวในอดีต ฤดูกาล 2019 เป็นปีที่พวกเขาต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งในและนอกสนาม 

 2

ไล่มาตั้งแต่ระดับผู้บริหาร "มิตติ ติยะไพรัช" ประธานสโมสรตัดสินใจอำลาตำแหน่งกับสโมสรที่เขาสร้างขึ้นมาเองกับมือ ตั้งแต่ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขัน ดิวิชั่น 2 เมื่อปี 2009 โดยมอบส่งตำแหน่งนายใหญ่ให้ "ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช" น้องสาวเข้ามาดูแลทีมแทน ส่วนตัวเองถอยไปเป็น ที่ปรึกษาสโมสร

ขณะเดียวกัน กว่างโซ้งมหาภัย ต้องมาแยกทางกับ อเล็กซานเดร กามา เฮดโค้ชที่ดีสุดนับตั้งแต่สโมสรเคยมีมา 

หลายคนคงเคยคิด ถ้าเชียงรายจะไปถึงแชมป์ไทยลีก? กามา คงเป็นคนที่ใช่สุด สำหรับเป้าหมายนี้ แต่เมื่อเทรนเนอร์ชาวบราซิล ได้รับข้อเสนอที่ยากจะปฏิเสธ ในการเข้าไปคุมทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี สโมสรก็ยินยอมปล่อยตัว กามา ออกไป โดยคนที่เข้ามาแทนคือ โจเซ อัลเวส บอร์จีส กุนซือมากประสบการณ์ที่เคยทำทีม พนักงานยาสูบ เป็นแชมป์ไทยลีกมาแล้วเมื่อปี 2005

 3

ทว่า 1 วันก่อนเกมนัดเพลย์ออฟ "เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก" นัดเจอ ย่างกุ้ง ยูไนเต็ด... "บอร์จีส" ถูกปลดออกจากตำแหน่ง เชียงราย ตัดสินใจดันผู้ช่วยโค้ชอย่าง ไอล์ตัน ดอส ซานโตส ซิลวา ขึ้นมาทำหน้าที่ เฮดโค้ชถาวร ท่ามกลางขุมกำลังที่ไม่เหมือนเดิม 

เชียงราย ในวันนั้น คือสโมสรที่ลดขนาดทีมลงมา ลดงบประมาณ และเพดานค่าเหนื่อย พวกเขาปล่อยตัว 2 ผู้เล่นคนสำคัญ ฉัตรชัย บุตรพรม ผู้รักษาประตูมือหนึ่ง และ วิกเตอร์ คาร์โดโซ กองหลังกัปตันทีม ในตลาดซื้อขายก่อนเปิดฤดูกาล

หลังจากก่อนหน้านี้เคยปล่อย ธนบูรณ์ เกษารัตน์, ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์, ทศวรรษ ลิ้มวรรณเสถียร, มงคล ทศไกร, บดินทร์ ผาลา, วานเดอร์ หลุยส์ และ เอเวอร์ตัน ออกจากทีม

 4

ผู้เล่นใหม่ที่เสริมเข้ามาก็เป็นผู้เล่นเกรดรอง ที่ชื่อชั้นไม่ได้ดีกว่าไปกว่าคนเก่า อย่าง พีรพงศ์ พิชิตโชติรัตน์ ที่ไม่ได้รับการต่อสัญญาจาก บีจี ปทุม ยูไนเต็ด, บรินเนอร์ เอนริเก้ จาก อุบล ยูเอ็มที ยูไนเต็ด, เดชา สอาดโฉม จาก พีที ประจวบ เอฟซี, สมคิด ชำนาญศิลป์ จาก เชียงใหม่ เอฟซี และ กฤษณ เกษมกุลวิไล จาก สมุทรสาคร เอฟซี 

กว่างโซ้งมหาภัย ออกสตาร์ท 5 เกมแรกในลีก ชนะไปเพียงเกมเดียวเท่านั้น ที่เหลือเป็นผลเสมอ 3 แพ้ 1 เก็บได้แค่ 6 คะแนน ซึ่งใครจะไปเชื่อว่าเมื่อสิ้นสุดนัดที่ 30 ของฤดูกาล เชียงราย ทีมเดียวกันนี้ จะขึ้นไปยืนอยู่ในตำแหน่งอันดับ 1 ของตาราง

ม้านอกสายตา 

สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด อาจมีศักดิ์ศรีเป็น "ทริปเปิลแชมป์" บอลถ้วย 3 รายการเมื่อฤดูกาลก่อน และทำผลงานในช่วงปรีซีซั่นได้ดี ด้วยการซิวแชมป์ ลีโอ คัพ 2019 แต่ต้องยอมรับตามความจริงว่า คงไม่มีใครคิดเหมือนกันว่า พวกเขาดีพอยืนระยะไปถึงตำแหน่งแชมป์ไทยลีก 

สายตาของผู้คนและสื่อมวลชน มองไปที่ 3 ตัวเต็งอย่าง บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด แชมป์เก่า, การท่าเรือ เอฟซี และ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด สองทีมที่ลงทุนเสริมผู้เล่นระดับซูเปอร์สตาร์กันอย่างจัดเต็ม ส่วนสโมสรอย่าง เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด กับ สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด ถูกจัดเป็นประเภททีมสอดแทรกเท่านั้น เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงมากมายภายในสองสโมสร น่าจะเป็นข้อเสียเปรียบสำหรับความสม่ำเสมอในระยะยาว

จะว่าไปมันอาจเป็นข้อดีด้วยซ้ำ ที่พวกเขาไม่ถูกจับตามอง หลังจากฤดูกาล 2017 เชียงราย เคยถูกยกให้เป็นเต็ง 1 แชมป์ไทยลีก แต่ก็พลาดเป้าไป เช่นเดียวกับในปี 2018 ทีมจากดินแดนล้านนา ยังถูกจัดอยู่ในข่ายทีมลุ้นแชมป์อย่างเต็มตัว และก็ไปไม่ถึงดวงดาวอีกครั้ง

 5

พอมาเข้าสู่ฤดูกาล 2019 เชียงราย ถูกจับตามองน้อยกว่าเดิม และทำให้พวกเขาไม่ต้องรับแรงกดดัน หรือต้องมาตอบคำถามเดิมๆ อย่างเช่น 2 ปีที่ผ่านมาว่า "คิดอย่างไร? ที่ถูกยกให้เป็นเต็งแชมป์" 

เชียงราย เล่นได้เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ไม่มีความกดดันมากเกินไป ค่อยๆ รักษามาตรฐาน ความสม่ำเสมอ ประกอบกับได้แฟนบอลที่ศรัทธาในความเป็นท้องถิ่นนิยม ยังคงเข้ามาสนับสนุนทีม แม้ในวันที่ไม่ได้มีซูเปอร์สตาร์ ทั้งหมดรวมร่างประกอบกัน ทำให้ผลงานทีมดีวันดีคืน

จนสายตาของผู้คนและสื่อมวลชน เริ่มหันกลับมาสนใจ กว่างโซ้งมหาภัย อีกครั้ง ในฐานะทีมที่วนเวียนอยู่ในกลุ่มลุ้นแชมป์ 

กว่างโซ้งมหาภัย เคยขึ้นไปอยู่บนบัลลังก์จ่าฝูงถึง 2 ครั้งในฤดูกาลนี้ ทว่ามันไม่ได้เป็นช่วงเวลาที่ยืดยาวนักในแต่ละครั้ง โดยเฉพาะช่วงท้ายฤดูกาล เชียงราย เคยทิ้งห่างบุรีรัมย์ 2 คะแนน ขณะเหลือเกมการแข่งขันอีก 5 นัด 

 6

แต่พวกเขาก็มาสะดุดขาตัวเอง บุกไปเสมอกับ แบงค็อก ยูไนเต็ด 1-1 และเสมอกับ พีทีที ระยอง ด้วยสกอร์เดียวกัน สวนทางกับ ปราสาทสายฟ้า ชนะรวดทั้งสองเกม พลิกสถานการณ์กลับมานำ เชียงราย 2 คะแนน ในขณะที่โปรแกรมเหลืออีก 3 นัดเท่านั้น และเชียงราย หล่นไปอยู่อันดับ 3 ของตาราง

ถึงตอนนั้น บุรีรัมย์ กุมความได้เปรียบทุกอย่างและถือแชมป์อยู่ในมือ พวกเขามีโอกาสสูงที่จะคว้าแชมป์ลีกสมัยที่ 7 และใครก็คิดว่าสำหรับ เชียงราย เกมแทบจะโอเวอร์ไปแล้ว พวกเขาไม่เคยมีประสบการณ์ในการเป็นแชมป์ลีก ผู้เล่นหลายคนไม่เคยสัมผัสถ้วยนี้มาก่อน แถมแต้มยังตามหลังตั้ง 2 คะแนน 

พอเป็นฝ่ายตามไม่ต้องแบกแรงกดดัน เชียงราย กลับเล่นได้อย่างเป็นธรรมชาติ ทำหน้าที่ของตัวเองได้ดี เก็บชัยชนะได้ในอีก 2 เกมต่อมา เช่นเดียวกับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ทำให้ระยะห่างของคะแนนยังอยู่เท่าเดิม 

 7

ในเกมนัดสุดท้าย เชียงราย มีหน้าที่แค่ลงไปเล่นให้ดีที่สุด ในการออกไปเยือน สุพรรณบุรี เอฟซี ที่ต้องการคะแนนหนีตกชั้น เพราะโมเมนตั้มอยู่ทางฝั่ง บุรีรัมย์ โดยหวังเพียงแค่ว่า ผลการแข่งขันอีกสนาม ระหว่าง เชียงใหม่ เอฟซี ที่ตกชั้นไปแล้วเจอกับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จะเป็นใจ

และทุกอย่างก็เป็นใจจริงๆ เชียงราย บุกไปชนะ สุพรรณบุรี เอฟซี ขาดลอย 5-2 ส่วน บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่มีคะแนนนนำ กว่างโซ้ง 2 แต้มก่อนเกมนัดสุดท้าย ถูกเจ้าถิ่น เชียงใหม่ เอฟซี ตีเสมอ 1-1 ในนาทีที่ 88 และจบเกมด้วยสกอร์นี้ 

58 คะแนน คือแต้มที่ เชียงราย และ บุรีรัมย์ ทำได้เท่ากัน เมื่อจบฤดูกาล 2019 แต่เมื่อเทียบผล เฮดทูเฮด ปรากฏว่า เชียงราย ดีกว่า เพราะชนะเกมเหย้า 4-0 เสมอเกมเยือน 0-0 ผงาดคว้าแชมป์ไทยลีก สมัยแรกของสโมสรไปครอง อย่างเหนือความคาดหมาย 

 8

การที่ เชียงราย เป็นทีมที่มีเฮดทูเฮด ดีที่สุดในบรรดา 3 ทีมลุ้นแชมป์ (เชียงรายมีเฮดทูเฮดเหนือ การท่าเรือ ที่มีลุ้นแชมป์ถึงนัดรองสุดท้ายด้วยเช่นกัน) เป็นสิ่งหนึ่งที่บ่งชี้ได้ว่า กว่างโซ้งมหาภัย ที่อยู่นอกสายตาของใครหลายคน ให้ความสำคัญกับการเจอทีมระดับลุ้นแชมป์มากแค่ไหน? 

เพราะสุดท้ายตัวแปรสำคัญที่พาพวกเขาประสบความสำเร็จไปถึงแชมป์ ก็คือ ผลเฮดทูเฮดที่มาจากความมุ่งมั่นตั้งใจในการเล่นให้ดีที่สุดแบบนัดต่อนัด มากกว่ามานั่งแบกรับแรงกดดันกับคำว่า "ทีมเต็งแชมป์"

เพราะระบบสำคัญกว่าบุคคล 

หากไล่เรียงดูรายชื่อนักฟุตบอลสโมสร สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด ในช่วง 3 ฤดูกาลหลังสุด คงต้องเขียนกันตามตรงว่า ชื่อเสียงเรียงนามของ บรรดานักเตะในฤดูกาล 2019 เป็นรองขุมกำลังชุดปี 2018 และ 2017 

แต่จุดสำคัญที่ทำให้ เชียงราย เวอร์ชั่นที่ลดขนาดทีม และลดงบประมาณ ก้าวมาถึงตำแหน่งแชมป์ไทยลีก นั่นเป็นเพราะสโมสรแห่งนี้ขับเคลื่อนด้วยระบบฟุตบอล มากกว่าเน้นที่ตัวบุคคล

ในวันที่พวกเขาใช้เงินเติบกวาดผู้เล่นบิ๊กเนมเข้ามาเสริมทัพ หลายคน อาจยังมองไม่เห็นถึงสิ่งที่ เชียงราย กำลังก่อร่างสร้างทีม อย่างเช่น อคาเดมีสโมสร, การดึงแข้งดาวรุ่งจากสโมสรอื่น รวมถึงการไปสเกาท์ผู้เล่นโนเนมที่เข้ากับระบบการเล่นของสโมสร มาร่วมทีม 

 9

นักฟุตบอลอย่าง ศิวกรณ์ เตียตระกูล, ชัยวัฒน์ บุราญ, พิธิวัตต์ สุขจิตธรรมกุล, สุริยา สิงห์มุ้ย, ชินภัทร์ ลีเอาะ พัฒนาตัวเองจากแข้งดาวรุ่ง ขึ้นมาเป็น ผู้เล่นคีย์แมนที่ยกระดับทีมในฤดูกาลนี้ เช่นเดียวกับสองผลผลิตจากอคาเดมีอย่าง เอกนิษฐ์ ปัญญา และ อภิรักษ์ วรวงษ์ ที่เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในปีนี้ 

นักเตะจอมเก๋าอย่าง ธนะศักดิ์ ศรีใส, พีระพงศ์ พิชิตโชติรัตน์, ปิยพล ผานิชกุล ต่างทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างดีเยี่ยม ขณะที่ แข้งต่างชาติทุกคน อย่าง บิลล์ โรซิมาร์, วิลเลียน เอนริเก, บรินเนอร์, อี ยองแร อาจไม่ได้มีชื่อชั้นดีกรีเท่านักบอลต่างชาติคนเก่าๆ แต่พวกเขาก็พิสูจน์แล้วว่า ชื่อชั้นไม่สำคัญเท่ากับการเล่นให้เข้าระบบ 

นี่ยังรวมถึงไปแข้งเกรดรองที่สโมสรไปสเกาท์เข้ามา ด้วยความเชื่อที่ว่า นักเตะพวกนี้ สามารถเล่นเข้ากับระบบทีมได้ อย่าง อัครวินท์ สวัสดี, สมคิด ชำนาญศิลป์ และ ศราวุธ อินแป้น ก็เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ทำให้ เชียงราย มีขุมกำลังดีพอจะยืนระยะตลอดทั้งฤดูกาล 2019

 10

เชียงราย เปลี่ยนแปลงนักเตะก็จริง เสียผู้เล่นหลักไปหลายคน แต่หากสังเกตให้ดี รูปแบบการเล่น โครงสร้างทีมยังคงเหมือนเดิม กว่างโซ้งมหาภัย ยังคงเล่นบอลริมเส้นได้น่ากลัว มีจังหวะสวนกลับที่รวดเร็ว ผู้เล่นแดนบน ใช้ความสามารถเฉพาะตัวสร้างความแตกต่างให้เกม และมีแท็คติกการเข้าทำที่เด็ดขาด ส่วนแนวรับและแดนกลาง วิ่งบีบกดดันคู่แข่ง เคลื่อนที่กันตลอดเวลา 

ยกตัวอย่าง ในวันที่ ฐิติพันธ์ และ ธนบูรณ์ ย้ายออกไป พวกเขาก็ยังมีผู้เล่นอย่าง พิธิวัตต์ ที่ก้าวมาทดแทน, การจากไปของ ฉัตรชัย ก็มีผู้รักษาประตูหนุ่มอย่าง อภิรักษ์ ที่ยกระดับตัวเองมาสานต่อหน้าที่อย่างไร้ที่ติ หรือผู้เล่นอย่าง เอกนิษฐ์ ปัญญา ในตอนนี้เขาสามารถสร้างความแตกต่างให้ทีม ไม่ต่างเหล่าแข้งต่างชาติที่เคยอยู่กับทีมด้วยซ้ำ 

ความสำเร็จของ เชียงราย จึงมีรากฐานสำคัญมาจากการยึดมั่นในระบบ และโครงสร้าง มากกว่าตัวบุคคล สิ่งที่พวกเขาค่อยๆต่อเติมขึ้นในแต่ละปี จนมาเริ่มลงล็อกลงตัวในปีนี้ ผู้เล่นไทยยังบลัด เติบโตขึ้น สโมสรก็โตขึ้นตาม ผู้เล่นต่างชาติที่ฐานเงินเดือนไม่สูงนัก สามารถเล่นได้ตอบโจทย์ความต้องการของทีม และช่วยลดรายจ่ายไปมาก 

 11

พวกเขาอาจสูญเสียผู้เล่นระดับซูเปอร์สตาร์, นักเตะเกรดเอ ออกไปบ้าง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ ระบบนำตัวบุคคล พวกเขาก็แค่ต้องหาคนที่สามารถไปได้กับระบบการเล่นของทีม และมีศักยภาพที่พัฒนาได้ มาทดแทน 

ทำไม สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด และ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่เสียผู้เล่นระดับคีย์แมนออกไป ยังคงยืนระยะลุ้นแชมป์มาถึงวินาทีสุดท้าย ในขณะที่ทีมอื่นๆ ค่อยๆ หายจากเส้นทาง คำตอบก็คือ เพราะทั้งสองสโมสรยึดมั่นในระบบมากกว่าตัวบุคคล

หลายทีมที่มีกำลังทรัพย์มาก พยายามใช้เงินเพื่อไปตามหาของแพงในตลาด แต่สุดท้ายความลงตัว ความสม่ำเสมอ กลับไม่มี และจบฤดูกาลด้วยความว่างเปล่า 

 12

การคว้าแชมป์ลีกของ สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด จึงเป็นเรื่องที่น่าจดจำในหลายๆ มิติ และเหมาะสำหรับเป็น กรณีศึกษาของการทำทีมฟุตบอลไทยสมัยใหม่ 

ในแง่ที่ว่า ก่อนที่จะนึกถึงความสำเร็จ ถ้วยแชมป์ลีก สิ่งที่จำเป็นมากสุดของการทำทีม อาจจะต้องเริ่มจากการวางระบบและโครงสร้างให้แข็งแรงเสียก่อน เมื่อไหรก็ตามที่ใช้บุคคลนำระบบ มันคงยากจะที่ประสบความสำเร็จ 

ไม่มีความบังเอิญสำหรับทีมที่เป็นอันดับ 1 ในลีก ... เพราะถ้วยแชมป์ มีไว้ให้สำหรับทีมที่พร้อมมากสุด และทำผลงานได้ดีที่สุดในฤดูกาลเท่านั้น 

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ ทำไมการคว้าแชมป์ของ "เชียงราย" จึงน่าจดจำที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยลีก?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook